การปลูกมังคุด
จังหวัดระยองนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วยังเป็นเมืองแห่งผลไม้หลากหลายชนิด เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน สละ ลองกอง เป็นต้น ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาลผลผลิตจะมีนักท่องเที่ยวจากหลายพื้นที่มุ่งหน้าสู่จังหวัดระยอง เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อมาลิ้มรสผลไม้ที่นี่ปีละหลายล้านคนต่อปี รวมไปถึงสวนมังคุดแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านนา อ.แกลง จ.ระยอง ที่มีกระบวนการผลิตมังคุดให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เป็นราชินีผลไม้ที่มีรสชาติดี หอม หวานอมเปรี้ยวนิดๆ จึงทำให้มังคุดเป็นที่นิยมของตลาดและผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ผ่านการส่งออก ซึ่งในปี 2557-2558 มีการส่งออกมังคุดเพิ่มขึ้น จาก 111,451 ตัน มูลค่า 2,059.88 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 185,000 ตัน มูลค่า 4,810 ล้านบาท ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.70 และร้อยละ 24.24 ต่อปี ตามลำดับ โดยตลาดการส่งออกหลักๆ ได้แก่ เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น เป็นต้น
เช่นเดียวกับ คุณทิพวัลย์ ถนอมศรี หรือ “น้องแอน” หนึ่งในสมาชิก Young Smart Farmer Rayong หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ระยอง ที่ยึดอาชีพการทำสวนมังคุดต่อจากครอบครัว เป็นอาชีพที่รักและหวงแหน เพราะเห็นครอบครัวทำสวนมังคุดมาตั้งแต่เด็กๆ รวมไปถึงได้ช่วยครอบครัวดูแลสวนมังคุดตลอดเวลาที่ผ่านมา
น้องแอนเล่าว่า เดิมทีสวนมังคุดบนเนื้อที่ 35 ไร่ แห่งนี้ เป็นของเจ้านายเก่า ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯแล้วอยากสร้างสวนมังคุด โดยมีครอบครัวของน้องแอนเป็นผู้ดูแลสวนมังคุดแห่งนี้ให้ ซึ่งพ่อของน้องแอนเริ่มดูแลที่นี่ตั้งแต่
เริ่มปลูกมังคุด เตรียมดิน เตรียมพื้นที่ การวางแผนผังสวนมังคุด วางระยะการปลูกเป็น 2 แปลง ทั้งการปลูกในระยะ 8×10 เมตร ที่มีการปลูกทุเรียนแซมในช่วงแรก โดยมังคุดทุกต้นปลูกด้วยความรัก และเฝ้าดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ ต้นมังคุด เจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และให้ผลผลิตที่ดี
ด้านตลาดผลผลิตมังคุด
ซึ่งในปีที่ผ่านมาผลผลิตมังคุดที่ทางสวนนั้นค่อนข้างน้อย เพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ มังคุดออกผลผลิตน้อยกว่า จากปกติทุกปีจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 25 ตัน/ปี แต่ปีที่แล้วให้ผลผลิตเพียง 13-15 ตัน เท่านั้น โดยจะแยกผลผลิตออกเป็น 3 เกรด ซึ่งเกรด 1 ก็จะเป็นมังคุดผิวมัน ลูกใหญ่ สวย ส่วนลูกลายก็จะตกไซส์ และลูกสุกทางสวนก็จะแยกออกมาขายต่างหาก เพราะว่าถ้าส่งล้งราคาจะได้น้อยกว่าขายปลีกทั่วไปมาก
ส่วนผลผลิตที่ส่งล้งส่วนใหญ่จะส่งมังคุดผลห่ามๆ เกือบสุก ให้สีผิวออกแดงนิดหน่อย เพราะล้งจะส่งออกประเทศจีน ซึ่ง
- เกรด A ทางล้งจะรับซื้อประมาณกิโลกรัมละ 190 บาท
- รองลงมาก็จะอยู่ที่ 150 บาท/กก.
- ส่วนตกไซส์ก็จะได้กิโลกรัมละ 80 บาท
ภายในสวนที่นี่จะเน้นที่ระบบการให้น้ำ และไม่มีการเร่งเปิดตาดอก แต่จะอาศัยแค่ว่าการใส่ปุ๋ยและบำรุงต้น ควบคู่กับการให้น้ำให้ตรงเวลา และเหมาะสมเท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว
การบริหารจัดการสวนมังคุด
จนกระทั่งเจ้าของสวนมังคุดไม่คิดที่จะลงทุนทำสวนมังคุดต่อไป จึงคิดจะปล่อยให้เช่า ทางครอบครัวน้องแอนจึงผันตัวจากลูกน้องคอยดูแลสวนมาเป็นผู้นเช่า สวนมังคุด ต่อจากนายจ้างบนเนื้อที่ 35 ไร่ มานานกว่า 8 ปี รวมอายุ ต้นมังคุด ในสวนนี้ก็ร่วม 27 ปีแล้ว ภายใต้การลงทุนและการบริหารจัดการสวนมังคุด ด้วยแรงงานในครอบครัว ควบคู่กับการใช้เครื่องจักรเป็นหลัก
การดูแลสวนมังคุด
น้องแอนย้ำว่าเห็นครอบครัวทำ สวนมังคุด มาตั้งแต่เด็ก จึงเกิดการซึมซับและอยากจะเดินตามรอยครอบครัว จึงหันกลับมาเป็นเกษตรกร เป็นชาวสวนมังคุด เต็มตัว ภายใต้การดูแลสวนมังคุด ที่เริ่มต้นขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วประมาณต้นเดือนกรกฎาคม จะเริ่มตัดแต่งกิ่งมังคุด เน้นตัดแต่งกิ่งให้ต้นโปร่ง ตัดกิ่งหัก กิ่งแห้ง และกิ่งที่ส่วนยอดออก เพื่อให้แสงแดดส่องถึงอย่างพอเหมาะ ลำต้นไม่สูงมากจนเกินไป ส่งผลดีต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และทำให้ต้นไม้ส่งผลดีต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ส่วนกิ่งและใบที่ตัดแต่งลงมาจะหมักไว้ที่โคนต้นเพื่อคลุมหญ้าวัชพืช และป้องกันความชื้น และเกิดการย่อยสลาย และเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้ดี รวมไปถึงการเน้นตัดหญ้า และให้เป็นปุ๋ยพืชสดในร่องมังคุดด้วย
การให้ปุ๋ยและน้ำ ต้นมังคุด
หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วก็จะเข้าสู่หน้าฝน ที่ ต้นมังคุด จะเริ่มแตกใบอ่อนเมื่อได้รับความชื้น และเน้นให้ปุ๋ยทางดินเพื่อปรับสภาพดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุได้เป็นอย่างดี เน้นบำรุงทางรากอย่างเดียว เมื่อย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนหากสภาพอากาศไม่แปรปรวนเหมือนปีที่ผ่านมาก็จะปล่อยให้ ต้นมังคุด โศกก่อน หรืองดการให้น้ำกับ ต้นมังคุด
จนกระทั่ง ต้นมังคุด เริ่มขาดน้ำ ใบเริ่มเหี่ยว ก็จะเริ่มให้น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ ลดปริมาณลงมาเรื่อยๆ ให้เหลือเพียง 30 และ 20 นาที ตามลำดับ จากนั้นมังคุดจะเริ่มแตกใบอ่อน 2 ครั้ง จะเปลี่ยนจากใบอ่อนเป็นใบเพสลาด และใบแก่ ได้ภายในระยะประมาณ 2 เดือน ควบคู่ไปกับการให้ปุ๋ยอินทรีย์ทางดิน 3 ครั้ง/ปี รวมไปถึงการใส่ปุ๋ยคอกทีละหลายตัน/ปี
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
เมื่อมังคุดแตกใบอ่อนจะไม่มีการฉีดยา แต่จะปล่อยให้มังคุดสมบูรณ์ แต่จะเริ่มฉีดพ่นสารเคมีจำพวกไซเปอร์เมทริน และอะบาเม็กติน ร่วมกัน ก่อนจะผสมน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้ 1 คืน แต่ใช้ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปกติ ฉีดพ่นในช่วงหน้าแล้ง หรือช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อป้องกันโรคและแมลง
ให้มังคุดมีความพร้อมที่จะออกลูก สลับกับการใช้โปรวาโดในอัตราส่วนต่อน้ำ 1,000 ลิตร เช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้โรคและแมลงเกิดการดื้อยา จะช่วยป้องกันเพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ ซึ่งจะฉีดพ่นสารเคมีตัวนี้เฉพาะในช่วงที่มีดอกและมีลูกเท่านั้น หรือไม่เกิน 8 ครั้ง/ปี
การบำรุงดูแลรักษามังคุด
ส่วนการเปิดตาดอกมังคุด ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นขึ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เริ่มจากการงดน้ำ เมื่อกระทบกับสภาพอากาศหนาวเย็นแล้วค่อยให้น้ำไปกระแทก จะทำให้มังคุดเปิดตาดอกได้ดี ก่อนจะเริ่มออกดอกตั้งแต่ต้นเดือนไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน
ซึ่งมังคุดแต่ละปีจะให้ผลผลิตประมาณ 1-3 รุ่น เมื่อเห็นดอกมังคุดก็จะรู้เลยว่ามังคุดแต่ละรุ่นจะให้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน แล้วนับจากวันที่ดอกบานไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เมื่อมังคุดเปลี่ยนเป็นสีเลือดก็คือ ครบ 90 วัน แต่ในปีนี้คาดว่าจะมี 4 รุ่น
“โดยเฉพาะในช่วงมังคุดแทงช่อดอกออกมาแล้ว ก็จะเน้นการฉีดพ่นสารอาหารจำพวกแมกนีเซียม โปแตสเซียม และโบรอน ช่วยบำรุงให้ดอกมังคุดสมบูรณ์ในช่วงที่เป็นดอกปริ่มๆ ที่มังคุดจะมีทั้งดอกและใบออกมาพร้อมกัน ก่อนจะฉีดพ่นอีกครั้งในช่วงดอกมังคุดบาน หรืออีกประมาณ 1 เดือน จะเริ่มเห็นผลมังคุดออกมา
หลังจากนั้นไม่เกิน 15 วัน มังคุดก็จะเริ่มทิ้งกลีบดอก ซึ่งในช่วงนี้ต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดี ด้วยการฉีดพ่นอะบาเม็กติน กับไซเปอร์เมทริน เพื่อป้องกันเพลี้ยไฟเข้าทำลาย เนื่องจากเพลี้ยไฟจะชอบเข้ามารบกวนมังคุดในช่วงนี้ หรือประมาณ 1 ครั้ง/เดือน หลังจากนั้นมังคุดจะเปลี่ยนเป็นผลที่มีการดูแลน้อยลง แต่ต้องเน้นการให้น้ำควบคู่กันมา ตั้งแต่เริ่มฉีดพ่นสารเคมีมาจนถึงช่วงนี้ที่ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอประมาณ 2 วัน/ครั้ง
ช่วงลูกเล็กจะต้องรดน้ำประมาณ 20 นาที/ครั้ง เมื่อผลเริ่มใหญ่ขึ้นจะรดน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 30 นาที/ครั้ง เมื่อผลเริ่มเป็นลูกแก้วก็จะต้องบำรุงโดยการจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์เคมีประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ต้น ซึ่งช่วงระยะเวลาของมังคุดหลังจากออกดอกไปจนถึงเป็นลูกจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน ผลมังคุดจะเปลี่ยนเป็นสีเลือดก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตมังคุดได้ ภายใต้การบริหารจัดการที่ต้องใช้ทั้งเครื่องจักร และแรงงาน แบบผสมผสานกัน”
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมังคุด
การเก็บผลผลิตจะเน้นใช้เทคนิคการมองดูผลผลิตแต่ละรุ่นของมังคุด โดยการดูที่ดอกมังคุดในรุ่นแรก หากมีอยู่ประมาณ 10-20% ก็จะใช้แรงงานเพื่อเก็บผลผลิตเพียง 3 คน/วัน เพราะการหาแรงงานมันก็ต้องค่อยๆ หา ค่อยๆ ติดต่อ จึงจะได้แรงงานที่พอดีกับช่วงเก็บมังคุดพอดี ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ผลผลิตรุ่นที่ 2 จะเริ่มมีปริมาณมากขึ้นราว 50-60% ก็จะใช้แรงงานในช่วงนี้เป็นจำนวนมากประมาณ 10-15 คน/วัน โดยปกติทางสวนจะคิดค่าจ้างให้แบบกิโลกรัมๆละ 3 บาท หรือมีรายได้ราว 350 บาท/วัน หรือเฉลี่ยเป็นกิโลกรัมก็ตกที่ 9 บาท/กก. ซึ่งแรงงานบางคนอาจมีรายได้มากกว่า 300-600 บาท/วัน ก็มี
การจำหน่ายผลผลิตมังคุด
ขณะที่ต้นทุนการทำสวนในปีนี้ คุณแอนเผยว่าทางสวนมีต้นทุนอยู่ที่ 150,000 บาท/ปี มีพื้นที่กว่า 35 ไร่ ซึ่งในสวนจะมีการลดต้นทุนเป็นหลัก ในเรื่องของการใช้แรงงานให้พอดีกับงานในสวน และเพียงพอต่อช่วงงานที่ทำ ส่วนผลผลิตที่สุกแล้วทางสวนจะนำไปขายเองประมาณกิโลกรัมละ 30 บาท
แต่เมื่อเทียบกับสมัยก่อนๆ ยอมรับว่าผลผลิตลดลงไปครึ่งต่อครึ่ง เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งผลกระทบจากน้ำและแมลงด้วย ซึ่งตอนนี้ทางสวนก็กำลังดำเนินการให้ สวนมังคุด แห่งนี้ให้เป็นมังคุดที่ได้มาตรฐาน GMP เพื่อเป็นเครื่องการันตีถึงผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค พร้อมกับย้ำว่าทางสวนไม่เคยใส่ปุ๋ยเคมีเลย แต่จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์แทน
เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้วยังทำให้รสชาติมังคุดดี และอร่อยกว่า เห็นได้จากการส่งมังคุดของทางสวนเข้าประกวด และได้รางวัลที่ 2 กลับมานั่นเอง ซึ่งมังคุดมีเสน่ห์ด้านรสชาติ สีสันที่สวยงาม และเป็นผลไม้ที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า อีกทั้งยังรู้สึกผูกพันกับ สวนมังคุด มาตั้งแต่เด็ก ที่สำคัญข้อดีของมังคุดที่นี่ก็คือ ผลผลิตออกก่อน ราคาจะค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ
ภายใต้การรวมกลุ่มของเกษตรกรชาว สวนมังคุด ในรูปของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย ส่งผลผลิตขายให้กับล้งจีนในพื้นที่ โดยมีสัดส่วนของผลผลิตซึ่งเป็นเกรด A ที่ 60% หรือขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย โดยที่ทางสวนจะมีค่าเช่าพื้นที่ สวนมังคุด แห่งนี้ร่วม 80,000 บาท/ปี
ฝากถึงผู้ที่คิดจะทำ สวนมังคุด
สุดท้ายขอฝากถึงชาว สวนมังคุด หรือผู้ที่คิดจะเริ่มต้นทำ สวนมังคุด ต้องบริหารจัดการให้ดี ทั้งการตัดแต่งกิ่ง การดูแลเอาใจใส่ การใส่ปุ๋ย การรดน้ำ การจัดการผลผลิต และก็ต้องมีการจดบันทึกประจำวัน ตั้งแต่การออกดอกของมังคุด และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เทคนิคการดึงแรงงานให้เหมาะสมกับผลผลิต อยากให้ชาวสวนมองถึงอนาคต โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการใช้สารเคมีอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด
สอบถามเพิ่มเติม ทิพวัลย์ ถนอมศรี (น้องแอน) เลขที่ 58/2 หมู่ 5 ต.บ้านนา อ.แกลง จ.ระยอง โทร.090-105-5188