การปลูกเงาะ และทุเรียน
“ศรีสะเกษ” นับเป็นจังหวัดแรกของภาคอีสานที่มีการทดลองทำ “ สวนเงาะ ” และ “ทุเรียน” ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และผู้บริโภค โดยเงาะที่นิยมปลูกนั้นจะเป็นเงาะพันธุ์โรงเรียน และพันธุ์สีทอง ส่วนทุเรียนจะเป็นพันธุ์หมอนทอง ปัจจุบันพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่อำเภอกันทรลักษ์ และขุนหาญ
จังหวัดเล็กๆ อย่าง ศรีสะเกษ ที่มีพื้นที่ติดกับชายแดน อย่าง ประเทศกัมพูชา และเคยถูกขนานนามว่าเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ พื้นดินปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นเพราะแห้งแล้ง จนดินแตกระแหง จนเป็นที่มาของคนในพื้นที่ ว่าถึงกับต้องขุดดินกินใบไม้เพื่อประทังชีวิตในการอยู่รอดของสมัยนั้น
แต่ในวันนี้ดินแดนของความแห้งแล้งและความยากจนนั้นกลับกลายเปลี่ยนไป เพราะนอกจากจะเป็นเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอมโบราณที่ยิ่งใหญ่ อย่าง นครวัด-นครธม ในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แล้ว
ตามที่กล่าวข้างต้นจังหวัดศรีสะเกษยังเป็นศูนย์รวมของสวนผลไม้และไม้เศรษฐกิจนานาชนิดจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน มังคุด จากภาคตะวันออก สะตอ ลองกอง ยางพารา จากภาคใต้ ลำไย ลิ้นจี่ จากภาคเหนือ มะปรางหวาน กระท้อน ส้มโอ มะม่วง จากภาคกลาง
นอกจากนี้ยังมีผลไม้ประจำถิ่นตามฤดูกาลอีกมากมายหลายชนิด ที่ให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดตลอดทั้งปี จนทำให้เกษตรกรชาวสวนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นกอบเป็นกำ เกษตรกรศรีสะเกษวันนี้พลิกฟื้นชีวิตใหม่ และหันหลังให้กับความยากจน ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษจึงได้ถูกขนานนามใหม่ว่า “เป็นดินแดนมหัศจรรย์” เพราะสามารถปลูกผลไม้ให้ได้คุณภาพ มีลักษณะที่ดี แตกต่างไปจากทางภาคตะวันออก และภาคใต้
จุดเริ่มต้นการทำเกษตรผสมผสาน
คุณสรารีย์ โทชัย เกษตรกรผู้ปลูกเงาะ และทุเรียน บ้านซำตารมย์ ต.ตระกาจ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ยึดอาชีพเป็นชาวสวนผลไม้มานานนับ 10 กว่าปี ซึ่งก่อนหน้านั้นคุณสรารีย์เพียงปลูกไร่ข้าวโพดเพื่อเลี้ยงชีพเท่านั้น ปัจจุบันคุณสรารีย์มีพื้นที่ปลูกผลไม้ประมาณ 13 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกเงาะ 4 ไร่ และพื้นที่ปลูกทุเรียนอีก 9 ไร่
ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้คุณสรารีย์เล่าให้ทีมงานนิตยสารเมืองไม้ผลฟังว่า จุดเริ่มต้นของการทำสวนผลไม้เกิดจาก คุณยายพวง กฐินเทศ ซึ่งเป็นคุณแม่ของคุณสรารีย์ ได้ไปรับซื้อผลเงาะที่จังหวัดจันทบุรีเพื่อมาจำหน่าย จนมีความคิดว่าอยากเห็นต้นและใบของเงาะ ในปี พ.ศ.2513 จึงนำต้นเงาะจากจันทบุรีมาลองปลูกในพื้นที่ 2 ต้น รวมทั้งทุเรียนอีก 2 ต้น
หลังจากที่เงาะและทุเรียนที่นำมาปลูกได้ผลผลิต ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัดศรีสะเกษก็มาสนับสนุนให้ปลูกเพื่อการค้าในปี พ.ศ.2533 จากต้นเงาะและทุเรียนอย่างละ 2 ต้น เพียงความคิดแค่อยากเห็นใบ ก็กลับกลายมาเป็นวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านซำตารมย์ได้ยึดอาชีพเป็นชาวสวนผลไม้ ที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าผลไม้ที่ปลูกจากที่นี่นั้นมีคุณภาพ และรสชาติถูกปากผู้บริโภคไม่แพ้ภาคใดในประเทศ เมื่อมีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ ก็หันมาปลูกและทำสวนผลไม้กันเยอะขึ้น จากความยากจนก็ทำให้เกษตรผู้ปลูกมีรายได้ และสามารถเลี้ยงครอบครัว ส่งลูก หลาน เรียนจนจบในระดับสูง โดยไม่ต้องอาศัยการกู้ยืมเงิน สร้างหนี้ อีกต่อไป
สภาพพื้นที่ทำ สวนเงาะ
คุณสรารีย์นำต้นเงาะจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูกในพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 100 ต้น โดยนำมาปลูกอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์โรงเรียน และพันธุ์สีทอง ในช่วงเวลานั้นซื้อต้นพันธุ์มาเพียง 20 บาท การปลูกเงาะคุณสรารีย์บอกว่าไม่ยากเท่าใดนัก ควรขุดหลุมโดยไม่ต้องรองก้นหลุมด้วยขี้วัว เพราะจะทำให้ดินเค็มเกิน ควรใส่ขี้วัวตอนรากต้นเงาะเดินลงดิน แล้วจะทำให้รากดูดขี้วัวไปใช้เป็นอาหารได้อย่างเต็มที่และเหมาะสม
ต้นเงาะควรเว้นระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 8×8 เมตร หรือ 10×10 เมตร ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกในแต่ละพื้นที่ หรือความสะดวกในการจัดการภายในสวน
การให้น้ำต้นเงาะ
และปัจจัยที่สำคัญของการปลูกเงาะ คือ การให้น้ำ พืชชนิดนี้จะชอบน้ำ ต้องให้น้ำในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะเป็นพิเศษ โดยที่นี่จะให้น้ำในระบบสปริงเกลอร์ ช่วงยังไม่มีผลผลิตจะให้น้ำ 2 วัน/ครั้ง แต่เมื่อผลผลิตของเงาะเริ่มออกจะเปลี่ยนมาให้น้ำแบบวันเว้นวัน ซึ่งในแต่ละครั้งที่ให้น้ำจะให้นานประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที
การให้น้ำในช่วงที่เงาะมีผลผลิตใกล้เก็บเกี่ยว และก่อนจะเข้าฤดูฝน ควรให้น้ำในปริมาณที่มากกว่าช่วงอื่นๆ เพราะถ้าผลเงาะโดนน้ำฝน ผลจะแตก หรือที่ชาวสวนเรียกว่า “ตื่นฝน” ดังนั้นจึงต้องให้น้ำในปริมาณที่เยอะ เพื่อให้ต้นเงาะปรับสภาพในการรับน้ำจากน้ำฝน ผลผลิตที่ได้ก็จะไม่เสียหายอีกด้วย
การใส่ปุ๋ยต้นเงาะ
ในเรื่องของการให้ปุ๋ย ต้นเงาะที่นี่จะเน้นให้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่เจ้าของนั้นทำการหมักขึ้นเอง โดยทำการทดลองนำมาใช้ใน สวนเงาะ ที่ปลูก แล้วได้ผลผลิตที่ดี อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตได้อีกทางหนึ่ง ในช่วงต้นเงาะยังไม่มีผลผลิตควรใส่แค่ปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงต้นเท่านั้น ประมาณ 3 ปี เงาะก็จะมีผลผลิตเพื่อให้ได้เก็บเกี่ยว
เมื่อเงาะมีผลผลิตออกมาบ้างแล้ว ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 บำรุงต้นให้พร้อมที่จะออกดอก หลังจากเงาะจะมีดอกควรใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อให้อาหารไปสะสมที่ตาดอกก่อนมีผลผลิต ดังนั้นปุ๋ยสูตร 8-24-24 ชาวสวนจะเรียกว่า “ปุ๋ยเอาลูก” ซึ่งจะใส่ตอนปลายฝน หรือก่อนหมดฤดูฝน นั่นเอง จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ในตอนนั้นดอกของเงาะก็จะออกมาพอดี การให้ปุ๋ยควรให้ตาทรงพุ่มของต้นเงาะประมาณต้นละ 1-2 กิโลกรัม
การฉีดพ่นปุ๋ยชีวภาพก็ควรฉีดพ่นในตอนต้นเงาะกำลังมีดอกเช่นกัน เพื่อบำรุงดอก ซึ่งสูตรปุ๋ยของที่นี่จะมีหลายสูตร เช่น ปุ๋ยชีวภาพจากผลไม้ ปุ๋ยหมักขี้วัว และปุ๋ยเอนไซม์จากสัตว์ เป็นต้น “ช่วงพลิกลูกเงาะเราจะหมักเอนไซม์จากสัตว์ คือ นำรกหมูมาหมักใส่กากน้ำตาล ฉีดพ่นช่วงเงาะเป็นดอก กำลังติดผล จะทำให้ดอกไม่ร่วง และติดผลดี” คุณสรารีย์กล่าว
เมื่อเงาะใกล้เก็บผลผลิตควรใส่มูลค้างคาว และปุ๋ยสูตรหวาน 13-13-21 หรือสูตร 0-6-0 เพื่อให้ต้นเงาะสะสมไปไว้ที่ผล เพิ่มความหวาน เมื่อเก็บเกี่ยวก็จะได้ผลเงาะที่มีความหวานถูกปากผู้บริโภค ซึ่งใน สวนเงาะ ของคุณสรารีย์จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริมในการผลิตเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนเข้าไปดูแลคุณภาพผลไม้ภายในสวนเพื่อการส่งออกอีกด้วย จึงมั่นใจได้ว่าผลไม้ในจังหวัดศรีสะเกษ หรือในสวนของคุณสรารีย์ ต่างมีความปลอดภัยไร้สารเคมีตกค้างแน่นอน
ในเรื่องของรสชาติก็ไม่แพ้กับการปลูกในพื้นที่อื่นๆ เพราะสภาพพื้นดินมีความสมบูรณ์ เหมาะกับการปลูกไม้ผล และพืชยืนต้น อีกทั้งมีการสนับสนุนในเรื่องของการใช้สารเคมีให้น้อยลง เพื่อลดต้นทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่ากินผลไม้จังหวัดศรีสะเกษปลอดภัย แถมรสชาติยังอร่อยติดปากอีกด้วย
ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก
“สูตรปุ๋ยหมักที่นี่จะทำใช้กันเอง มี 2 สูตร คือ ขี้วัวหมัก และปุ๋ยชีวภาพจากผลไม้ วิธีทำก็ไม่ยาก ปุ๋ยหมักขี้วัวก็จะใช้ขี้วัวกับ พด.1 มาผสมหมักเข้าด้วยกัน สูตรนี้กันเชื้อราในดินได้ดี เพราะต้นเงาะจะชอบขี้วัว ส่วนปุ๋ยชีวภาพจากผลไม้จะมีวัตถุดิบ เช่น กล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก ฟักทอง เป็นต้น ทุกอย่างผสมรวมกันให้ได้ 10 กิโลกรัม
จากนั้นสับให้ละเอียด ผสมกากน้ำตาล 10 กิโลกรัม/น้ำ 40 ลิตร หมักใส่ถังไว้ประมาณ 3 เดือน ก็นำปุ๋ยที่หมักมาใช้ได้ โดยใช้อัตราปุ๋ยชีวภาพ 500 cc./น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นภายในสวนได้เลย” คุณสรารีย์กล่าวการทำปุ๋ยหมักใช้เองภายในสวน
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
โรคและแมลงในเงาะที่สำคัญนั้นมีระบาดน้อย ยังอยู่ในช่วงที่สามารถป้องกันและกำจัดได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีมากเท่าไหร่นัก จึงจัดว่าเงาะที่สวนของคุณสรารีย์มีความปลอดภัยสูง โรคและแมลงที่มักพบระบาดมาก ได้แก่
1.หนอนเจาะขั้วเงาะ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีสีน้ำตาลดำ ปลายปีกสีเหลือง ยาวประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ตัวหนอนสีขาว หัวสีน้ำตาลอ่อน ขนาด 8-12 มิลลิเมตร เมื่อฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในผลเงาะบริเวณขั้วผล เมื่อพบการระบาดควรเก็บผลเงาะที่ถูกทำลาย และร่วงหล่น นำไปทิ้ง หรือเผาทำลาย เพื่อป้องกันการระบาดในฤดูถัดไป และพ่นด้วยสารเคมีผสมกับน้ำหมักไล่แมลง ซึ่งอัตราในการผสมของสารเคมีจะใช้ในส่วนที่น้อยมาก และหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 10 วัน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการระบาดของหนอนเจาะขั้วเงาะว่ามีมากน้อยเพียงใด
2.แมลงวันทอง หรือแมลงวันผลไม้ เป็นแมลงที่มีแถบสีดำบนปีก คล้ายคลึงกับแมลงวันในวงศ์อื่นๆ แต่มักมีแถบสีเหลืองที่ส่วนอกของแมลง ปีกหางใสสะท้อนแสง การป้องกัน คือ รักษาแปลงปลูกให้สะอาด และเก็บผลที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้นให้สะอาด และใช้สารล่อเมทิลยูจินอลชุบสำลีนำไปไว้ในขวดน้ำ จากนั้นจึงนำไปห้อยบริเวณต้นเงาะ แมลงวันทองเมื่อได้กลิ่นสารล่อก็จะเข้ามาตายภายในขวดน้ำที่คุณสรารีย์ทำไว้ เป็นการป้องกันแมลงวันทองเข้าไปฟักไข่ สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตเงาะได้เป็นจำนวนมาก
การเก็บเกี่ยวผลผลิตเงาะ
เงาะจะให้ผลผลิตหลังการปลูกค่อนข้างเร็วประมาณ 3-4 ปี ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตดีจะอยู่ที่ 7 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยแล้วเงาะจะให้ผลผลิตประมาณ 100-150 กิโลกรัม/ต้น
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวของเงาะในภาคตะวันออกจะอยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน ภาคใต้ประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน แต่สำหรับภาตะวันออกเฉียงเหนือ หรือในแถบจังหวัดศรีสะเกษ ผลผลิตเงาะจะออกในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งผลผลิตของเงาะที่ออกมาในแต่ละภาคนั้นจะไม่ชนกัน ทำให้ราคาซื้อขายไม่ต่ำ และสูง จนเกินไป เกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคก็สามารถซื้อกินได้
เงาะจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 20 วัน หลังจากผลเริ่มเปลี่ยนสี ผลเงาะถ้าเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 12-13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95% จะเก็บรักษาได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ เลยทีเดียว
การบริหารจัดการต้นเงาะ
-การตัดแต่งกิ่ง ก่อนการใส่ปุ๋ยควรตัดแต่งกิ่งที่แห้ง กิ่งเป็นโรค ตัดก้านผลที่เหลือค้างออกให้หมด เพื่อให้มีการแตกยอดใหม่ที่ดี การตัดแต่งกิ่งควรควบคุมทรงต้นให้มีความสูงประมาณ 2 เมตร
-การจัดการเงาะให้มีการแตกใบอ่อนอย่างน้อย 2 ชุด และรักษาใบอ่อนที่แตกออกมาให้สมบูรณ์
-การดูแลใบอ่อน และการชักนำการออกดอก หลังจากเงาะแตกใบอ่อน 2-3 ครั้ง เมื่อใบชุดสุดท้ายแก่สามารถชักนำการออกดอก ต้นเงาะมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับการออกดอก
-กำจัดวัชพืชทุกครั้งก่อนใส่ปุ๋ย เพื่อไม่ให้วัชพืชแย่งอาหาร
-เฝ้าระวังกำจัดศัตรูพืช
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตเงาะ
คุณสรารีย์บอกถึงแนวโน้มผลผลิตของเงาะในปีนี้ให้ฟังว่าผลผลิตที่กำลังออกมาสู่ท้องตลาดนั้นเต็ม 100% เพราะผลผลิตมีเยอะ ราคาที่ออกจากหน้าสวนก็เป็นที่น่าพอใจ และการลงทุนในปีนี้ก็มีการลงทุนที่น้อย เพราะปุ๋ย ยา ทำเองเกือบทั้งหมด ดังนั้นรายได้จากการจำหน่ายเงาะในปีนี้ค่อนข้างจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งคุณสรารีย์คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะได้อยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท/ปี
นอกจากการจำหน่ายผลผลิตเงาะให้กับพ่อค้า แม่ค้า ที่มารับซื้อถึงหน้าสวนแล้ว ทางสวนของคุณสรารีย์ยังเปิดให้มีการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้กลุ่มคนที่สนใจเข้ามาดู สวนเงาะ และทุเรียน ของตน และยังสามารถรับประทานเงาะบุฟเฟ่ต์ในราคาย่อมเยาต่อหัวอีกด้วย ส่วนทุเรียนจะจำหน่ายเป็นกิโลกรัมให้กับผู้ที่สนใจซื้อไปเป็นของฝาก หรือนำกลับไปรับประทานที่บ้านอีกด้วย
โดยกิจกรรมต่างๆ ที่เกษตรกรผู้ปลูกเงาะ และทุเรียน ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีผลผลิตเพื่อออกมาจำหน่ายได้นั้น เป็นการส่งเสริมและได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทุกปีจึงมีการจัดงาน “เทศกาลเงาะ-ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ” ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตในสวนของตนออกไปจำหน่ายงาน เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรของตนได้ และเป็นการต่อยอดตลาดที่เข้ามารับซื้อผลผลิตในอนาคตอีกด้วย
หากท่านใดสนใจผลผลิต เงาะ ทุเรียน หรืออยากมาท่องเที่ยวในเชิงเกษตรในจังหวัดศรีสะเกษ สามารถติดต่อได้ที่ คุณสรารีย์ โทชัย 132 ม.7 บ้านซำตารมย์ ตำบลตระกาจ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ 33110 โทร.08-0474-2113
อ้างอิง : นิตยสารเมืองไม้ผล ฉบับที่ 172