การรวมตัวของเกษตรกรในรูปขององค์กรเกษตรกร เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง อย่างเช่น สหกรณ์การเกษตร เมืองลับแลฯ
โดยวันนี้ทีมงานพลังเกษตรอยากขอนำเสนอการรวมกลุ่มกันของสหกรณ์ๆ หนึ่ง ที่จากจุดเริ่มต้นเพียงเพื่อต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ ให้แก่คนในชุมชน แต่ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ ดังกล่าว ประกอบกับการบริหารจัดการ ซึ่งกำหนดรูปแบบและเป้าหมายอันชัดเจน ทำให้ปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตร ณ เมืองโบราณแห่งนี้ ที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสลับซับซ้อนเติบโตอย่างมั่นคง และแข็งแรง
การจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตร เมืองลับแล จำกัด
สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นครั้งแรกในท้องที่อำเภอลับแล เมื่อ พ.ศ..2472 โดยตอนนั้นเรียกกันว่า “สหกรณ์หาทุน” ได้รับจดทะเบียนครั้งแรกจำนวน 2 สหกรณ์ มีสมาชิกแรกตั้ง 24 คน ใช้ทุนดำเนินงานเมื่อแรกตั้ง 16,150 บาท
สหกรณ์รุ่นนี้ ได้แก่ สหกรณ์ทุ่งยั้ง ไม่จำกัดสินใช้, สหกรณ์ไผ่ล้อม ไม่จำกัดสินใช้ ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 ซึ่งมีบทบัญญัติให้สหกรณ์ชนิดเดียวกันตั้งแต่สองสหกรณ์ขึ้นไปอาจควบเข้ากันได้
สหกรณ์จึงมีมติให้ควบรวมกันระหว่างสองสหกรณ์เป็นสหกรณ์เดียว คือ สหกรณ์การเกษตรลับแล จำกัด กับ สหกรณ์การเกษตรทุ่งยั้ง จำกัด ควบกันเป็น สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด โดยได้รับจดทะเบียนเมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2518
การบริหารงานของ สหกรณ์การเกษตร เมืองลับแล
ปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ได้แยกการบริหารงาน และการบริการสมาชิก ออกเป็น 5 สาขา คือ
1.สาขาสำนักงานใหญ่
2.สาขาไผ่ล้อม
3.สาขาหัวดง
4.สาขาตลิ่งต่ำ
5.สาขาชัยจุมพล
มีสมาชิกทั้งหมด 8,450 คน บริหารงานภายใต้การนำของประธานกรรมการ คือ คุณจวน แก้วกุลศรี และคุณรังสรรค์ ดีณรงค์ ในฐานะผู้จัดการใหญ่
ภาพรวมการดำเนินงานในด้านธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อ จัดหาสินค้าจำหน่าย แปรรูปสินค้าการเกษตร ธุรกิจปุ๋ยสั่งตัด ทุนดำเนินงาน 2,440,000 บาทโดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกิจของสหกรณ์ถือว่ารุดหน้าจากเดิมมากทีเดียว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทั้งในด้านของเงินทุน สถานที่ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นต่างๆ
การส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์
และไม่เพียงได้รับการส่งเสริมที่ดีเท่านั้น การบริหารงานของสหกรณ์ ณ เมืองลับแลแห่งนี้ยังมีจุดแข็งอยู่ที่การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิก มีตลาดกลางในการรวบรวมและเป็นจุดศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าการเกษตรให้กับสมาชิก และผู้คนทั่วไปในชุมชน ยกตัวอย่าง ธุรกิจข้าว
การส่งออกของสหกรณ์ 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันส่งออกข้าวไปถึง 7,683 ตัน มูลค่า 162 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนในประเทศอยู่ที่ 4,648 ตัน มูลค่า 63 ล้านบาท
นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลยังส่งเสริมให้สมาชิกทำข้าวอินทรีย์ในโครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐ ซึ่งสหกรณ์มีการดูแลให้ตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการบริหารจัดการแบบครบวงจร กำหนดมาตรฐานขึ้นมาโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารพัฒนาข้าวครบวงจร ในชื่อโครงการผลิตข้าวครบวงจร 5GTS (5 Good To Success)
- Good Field การจัดการแปลงนาที่ดี
- Good Warehouse การจัดเก็บและรักษาวัตถุดิบที่ดี
- Good Factory การจัดการโรงงานที่ดี
- Good Data & Documents การมีข้อมูลที่ดี
- Good Connection การปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงาน
โครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรม หรือนาแปลงใหญ่นี้ ต้องการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน โดยพันธุ์ข้าวที่นี่มีทั้ง พันธุ์พิษณุโลก2 กข49 และกข47 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์เมล็ดยาว
สภาพพื้นที่ปลูก ผัก ผลไม้ ข้าว
อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของอำเภอลับแล ทำให้ผู้คนในชุมชุนมีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จะขอยกตัวอย่างการประกอบอาชีพของแต่ละสาขา ได้แก่
-สาขาสำนักงานใหญ่ จะเน้นอาชีพทำนากับหอมแดง หอมแบ่ง
-สาขาไผ่ล้อม เป็นโซนนาข้าว
-สาขาหัวดง จะเน้นปลูกผลไม้ อาทิ ลองกอง ลางสาด ทุเรียน และมะยงชิด
-สาขาตลิ่งต่ำ ปลูกข้าว โรงสีนาแปลงใหญ่
ส่วนชัยจุมพลให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจ อย่าง หอมแบ่ง และปลูกข้าวบางส่วน ซึ่งความหลากหลายเช่นนี้ส่งผลให้สหกรณ์มีผลไม้ที่หลากหลาย มีพืชทุกฤดูกาล รวมถึงรายได้ที่เข้ามาทั้งปี นอกจากนี้การที่สหกรณ์มีประเภทธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ ธุรกิจปุ๋ยสั่งตัด ที่ช่วยลดต้นทุนไปกว่า 2 ล้านบาท ทำให้การเติบโตทั้งในแง่ของผลผลิต และรายได้ ของสหกรณ์เมืองลับแลแห่งนี้เป็นไปอย่างมั่นคง และรุดหน้าจากเดิม
การจัดตั้งฟาร์มผักปลอดภัย
“ช่วงผลกระทบจากโควิด-19 แล้วยังต้องเจอกับสภาวะภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา ไม่มีน้ำปลูกหอม เราจึงมานั่งคิดกันว่าจะช่วยเหลือสมาชิกด้านไหนได้บ้างที่ไม่ใช้น้ำเยอะ ปัจจัยการผลิตและเงินทุนที่มากมาย จุดนี้จึงนำมาซึ่งการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชระยะสั้น ซึ่งก็คือ การปลูกผักปลอดภัย” คุณอุมาพร พลูใจ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลสาขาชัยจุมพล เล่าถึงที่มาของการจัดตั้ง “ฟาร์มผักปลอดภัย” บนพื้นที่ของสาขาชัยจุมพล
สำหรับสหกรณ์เกษตรสาขาชัยจุมพลมีสมาชิกทั้งหมด 1,057 คน สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดภัย 43 คน โดยสหกรณ์จะลงทุนนำร่องให้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การจัดตั้งโรงเรือน เปิดอบรมความรู้ให้ จะมีเพียงค่าน้ำ-ไฟ และอุปกรณ์สิ้นเปลืองอื่นๆ ที่สมาชิกจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ผักออแกนิค และเมล่อน
จากวันแรกที่เริ่มทดลองปลูก 6 โรงเรือน (ผักไฮโดรโปนิกส์ 2 โรงเรือน-ผักออแกนิค 6 แปลง) บนพื้นที่ 5 ไร่ ของสหกรณ์สาขาชัยจุมพล ได้เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาขึ้นมาเพิ่มอีกทั้งหมด 16 โรงเรือน แบ่งเป็นฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ 6 โรงเรือน ผักออแกนิค 6 โรงเรือน และเมล่อนเพิ่มมาอีก 4 โรงเรือน
โดยผักไฮโดรโปนิกส์ก็จะมีผักสลัด กรีนโอ๊ค เร้ดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด, ฟาร์มออแกนิค มีพริกขี้หนู มะเขือเทศ 2 สายพันธุ์ สีดากับเอ็กซ์ตร้า และสตรอเบอร์รี่ พันธุ์ 80 ด้านระบบน้ำใช้น้ำบาดาล โดยใช้วิธีใส่เครื่องกรอง ดักสี ดักกลิ่น พักน้ำ และก็กรองน้ำ
ปัญหาและอุปสรรค การทำฟาร์มผักปลอดภัย
คุณอุมาพรกล่าวว่าในช่วงแรกๆ ของการทำฟาร์มผักปลอดภัยต้องประสบปัญหาทั่วๆ ไป อย่างเช่น เรื่องของตลาดรองรับสินค้า รวมถึงแผนการผลิต
“เริ่มแรกเรายังไม่เข้าใจแน่ชัดถึงความต้องการของผัก ตลาดต้องการอะไรมาก อะไรน้อย ระยะเวลาของผักด้วยว่าสมควรจะเก็บช่วงก่อนหน้าหรือหลัง อย่าง ผักไฮโดรโปนิกส์ ปกติใช้เวลาที่ 35-40 วัน บางครั้ง 35 วัน ก็เก็บได้ทั้งโรง แรกๆ ก็ลำบากอยู่” คุณอุมาพรให้ความเห็น
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ผักไฮโดรโปนิกส์
อย่างไรก็ตามหลังจากดำเนินการพัฒนาและศึกษาข้อมูลในเรื่องตลาดอย่างละเอียด มีการเปิดช่องทางจำหน่ายออนไลน์ผ่านหน้าเพจ เฟซบุ๊ค ที่ชื่อ “สหกรณ์ลับแลไฮโดรฟาร์ม” เพิ่มเข้ามา รวมถึงบริการจัดส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้ช่องทางจำหน่ายเห็นผลขึ้นอย่างชัดเจน
ผลผลิตที่ได้ทางสหกรณ์ได้นำไปจำหน่ายผ่านศูนย์กระจายสินค้าของสหกรณ์เอง โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตของ 5 สาขา เครือข่ายร้านค้าที่รับสินค้าของสหกรณ์ไปวางจัดส่งให้สถานที่ราชการ ทั้งโรงพยาบาลค่ายพระยาพิชัยดาบหัก และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
แนวโน้มในอนาคต
ขณะที่ทิศทางอนาคตสหกรณ์เตรียมผลักดันการจำหน่ายทางออนไลน์เพิ่มการไลฟ์สดขายสินค้า การสั่งสินค้าและชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของสหกรณ์ ส่วนอีกด้านที่ต้องการต่อยอดจากเดิม ได้แก่ การพัฒนาและรักษาคุณภาพของสินค้า เตรียมพัฒนาเรื่องของตู้เก็บสินค้าที่มีมาตรฐานเพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และการขยายตลาดโดยอาศัยตลาดกลางสินค้าด้านเกษตรพื้นที่เขตภาคเหนือ ที่ปกติเป็นทางผ่านของหลายภาค เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น
เห็นได้ชัดว่าสหกรณ์แห่งนี้มีเครื่องมือหรือปัจจัยทางการผลิตพืชเศรษฐกิจครบวงจร จึงส่งเสริมสมาชิกในการทำธุรกิจได้เต็มที่
สนใจรายละเอียดติดต่อสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ที่อยู่ 206 หมู่ 13 ถนนอินใจมี ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 53130 โทรศัพท์ 055-431-032, Facebook : ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด-CDC