สุรินทร์ แสงสาย ชาวสวนลำไยรุ่นบุกเบิกที่โป่งน้ำร้อน มุ่งผลิตลำไยคุณภาพเพื่อการส่งออก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สุรินทร์  แสงสาย ชาวสวนลำไยรุ่นบุกเบิกที่โป่งน้ำร้อน มุ่งผลิตลำไยคุณภาพเพื่อการส่งออก

1.สวนลำไย
1.สวนลำไย

การปลูกลำไย

“ลำไย” คือไม้ผลที่นิยมส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่นิยมชื่นชอบลำไยจากเมืองไทยด้วยจุดเด่นทั้งเนื้อแน่น เนื้อเยอะ รสชาติหวาน กรอบ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการปลูกลำไยให้ได้คุณภาพ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงสามารถส่งออกลำไยไปขายยังต่างประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศแต่ละปีนับพันล้านบาท ทำให้ชาวสวนลำไยสามารถลืมตาอ้าปากได้ ส่งผลให้ลำไยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว ที่สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรเรื่อยมา อีกทั้งในปัจจุบันชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ยังมีองค์ความรู้ที่ดีในการจัดการสวนลำไยได้เป็นอย่างดีจนกระทั่งสามารถผลิต “ลำไยนอกฤดู” ป้อนตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าลำไยได้เป็นอย่างดี และยังเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง และน้ำลำไยเพื่อสุขภาพ ฯลฯ  ที่มีตลาดภายใน และตลาดต่างประเทศ รองรับสินค้าเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก

Advertisement-Banner-by-บริษัท-โซตัส-อินเตอร์เนชั่นแนล-จำกัด-www.sotus.co.th
Advertisement-Banner-by-บริษัท-โซตัส-อินเตอร์เนชั่นแนล-จำกัด-www.sotus.co.th

แม้เกษตรกรไทยจะพยายามทำลำไยให้ได้คุณภาพมากแค่ไหนก็ตาม ชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ก็มักจะเสียรู้และเสียเปรียบให้กับกลุ่มพ่อค้าจากเมืองจีน หรือล้งจีน ที่มักจะกดราคาผลผลิตของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการตั้งเงื่อนไขต่างๆ มากมายในการรับซื้อลำไยเพื่อการส่งออก ที่ทำให้ชาวสวนตกเป็นเบี้ยล่างให้กับพ่อค้าจีนเหล่านี้ทุกครั้งไป ซึ่งเกษตรกรตาดำๆ ของเมืองไทยก็ทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับชะตากรรมต่อไป เนื่องจากไม่มีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มพ่อค้า จึงทำได้เพียงแค่พยายามผลิตลำไยให้ได้คุณภาพ และได้ขนาด ได้มาตรฐาน ตามที่พ่อค้าต้องการเท่านั้น

2.คุณสุรินทร์-แสงสาย-กับสวนมังคุดคุณภาพ
2.คุณสุรินทร์-แสงสาย-กับสวนมังคุดคุณภาพ

คุณสุรินทร์ แสงสาย ผลิตลำไยนอกฤดู จ.จันทบุรี

เช่นเดียวกับ คุณสุรินทร์ แสงสาย รองนายกเทศมนตรีตำบลโป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ที่นอกจากจะเป็นทั้งนักการเมืองท้องถิ่นแล้วยังเป็นเกษตรกรชาวสวนลำไยรุ่นบุกเบิกในพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อน ที่เน้นการทำผลผลิตให้ได้คุณภาพอย่างต่อเนื่องทุกปี ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน “ผมทำสวนมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีสารบังคับออกนอกฤดูอีก เมื่อสมัย พ.ศ.2520 กว่าๆ แถวนี้มีสวนลำไยแค่ 3 สวน เพราะว่าสมัยนั้นยังไม่มีการทำสารบังคับออกผล ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำพืชไร่ เช่น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  มันสำปะหลัง เป็นต้น แล้วราคาของลำไยก็ไม่สูงเหมือนสมัยนี้ รับซื้อประมาณ 18-30 บาท ซื้อกันเป็นกำปุ๊บแล้วก็เอาไปขายที่จังหวัดราชบุรีซะส่วนใหญ่ ที่ส่งออกก็ยังไม่เยอะ เพราะไม่มีพ่อค้า รับซื้อมีแค่ไม่กี่เจ้า คนจีนก็ยังไม่เข้ามา มีแต่พ่อค้าคนไทยนี่ล่ะที่ซื้อไปขายให้เขา ไม่เหมือนสมัยนี้ ทั้งจีน ทั้งไทย เยอะไปหมด” ท่านรองฯ สุรินทร์กล่าวถึงที่มา และการรับซื้อลำไยของเมืองไทยในสมัยก่อน

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.สวนลำไยแบบผสมผสาน
3.สวนลำไยแบบผสมผสาน
ต้นทุเรียนในสวนผสมผสาน
ต้นทุเรียนในสวนผสมผสาน
ต้นมังคุดในสวนผสมผสาน
ต้นมังคุดในสวนผสมผสาน
ต้นลองกองในสวนผสมผสาน
ต้นลองกองในสวนผสมผสาน
ต้นลิ้นจี่ในสวนผสมผสาน
ต้นลิ้นจี่ในสวนผสมผสาน

การผลิตลำไยนอกฤดูแบบผสมผสาน

บนพื้นที่การทำสวนลำไยของท่านรองฯ สุรินทร์ที่มีอยู่ทั้งหมด 18 ไร่ ที่เน้นการทำสวนลำไยแบบผสมผสานเพื่อให้มีไม้ผลหลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ภายในพื้นที่เดียวกัน โดยไม้ผลหลัก คือลำไย ที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับท่านรองมานาน ภายใต้ต้นลำไยที่มีอายุตั้งแต่เริ่มปลูก 2 ปี ไปจนถึงอายุ 35 ปี หรือมีจำนวนต้นลำไยที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากกว่า 300 ต้น ซึ่งแต่ละปีสวนลำไยแห่งนี้สามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่ท่านรองฯ สุรินทร์นับล้านบาท เน้นการผลิต “ลำไยนอกฤดู” เป็นหลัก และยังเป็นสวนแรกๆ ในพื้นที่ด้วย วิธีการทำให้ต้นลำไยโทรมก่อนเพื่อเร่งให้ต้นออกดอกใหม่“ช่วงแรกที่ผมทำลำไยออกนอกฤดูได้นะ ที่สวนก็จัดงานใหญ่เลย มีผู้ว่ามาเป็นประธานเปิดงาน ชาวสวนหลายจังหวัดก็มาศึกษาดูงานที่นี่เยอะมาก แต่ผมยอมรับว่าที่ผมทำนอกฤดูได้ไม่ใช่ว่าเก่ง เพียงแต่มันมาถูกที่ ถูกเวลา ทั้งสภาพอากาศที่เอื้อต่อการออกผลผลิต เรียกว่าเป็นโชคของผมดีกว่า” ท่านรองฯ สุรินทร์กล่าวในฐานะชาวสวนลำไยนอกฤดูรุ่นแรกๆ หรือเมื่อประมาณปี พ.ศ.2538 ได้มีผู้นำ “สารโพแทสเซียมคลอเรต เข้ามาจำหน่ายให้กับชาวสวนลำไยในราคากิโลกรัมละ 500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก แต่ชาวสวนลำไยก็ยังจำเป็นต้องซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตมาใช้ เพื่อต้องการทำลำไยนอกฤดูที่ขายผลผลิตได้ราคาค่อนข้างดีมากในช่วงนั้น แต่ไม่มีความชำนาญเรื่องการผลิตลำไยนอกฤดู จึงได้ไปเที่ยวชมสวนลำไยของคนอื่นว่าเขาทำกันอย่างไรถึงให้ลำไยออกนอกฤดูได้ดี  ถึงขั้นต้องแอบขโมยดินใต้ต้นลำไยที่ราดสารแล้วมาเพื่อทำการตรวจวิเคราะห์กันเลย แต่ก็ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ทราบว่าสวนลำไยนั้นใช้สารอะไรบ้าง ต่อมาภายหลังด้วยความที่ชาวสวนก็อยากทราบสูตร เพราะซื้อสารราคาแพงไม่ไหว จนกระทั่งได้ทราบว่ามีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อการผลิตลำไยนอกฤดูได้ดี  “ผมยอมรับว่าการราดสารเมื่อก่อนใช้สารแค่ครึ่งกิโลต่อครั้ง ต้นลำไยก็สามารถออกดอกได้แล้ว แต่ในปัจจุบันต้องใช้ถึง 5-6 กิโลกรัม/ต้น ลำไยถึงจะออกดอก ที่เรียกว่าคุณภาพของสาร เมื่อก่อนราคาสูง แต่ใช้ในปริมาณนิดเดียว แต่เดี๋ยวนี้ต้องใช้เยอะขึ้น แต่ราคาก็ถูกลงไปด้วย และต้องใช้ปริมาณมากขึ้นต่อต้น” ท่านรองฯ สุรินทร์ ชี้แจงถึงการผลิตลำไยนอกฤดู

4.การฉีดพ่นสารบำรุงต้นลำไย
4.การฉีดพ่นสารบำรุงต้นลำไย

การบำรุงดูแลรักษาต้นลำไย

โดยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 โดยการทำใบให้ได้ 2 ชุด ก่อนจะทำการราดสารทุกครั้ง เพื่อให้ได้ลำไยคุณภาพทุกต้น  เมื่อทำใบได้ 2 ชุด แล้ว จะต้องรอให้ใบลำไยกลายเป็นใบเพสลาดก่อน แล้วค่อยทำการ “ตัดแต่งกิ่ง” ให้โปร่ง เพื่อการสังเคราะห์แสงที่ดี โดยท่านรองฯ สุรินทร์ จะทำการราดสารในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อให้ลำไยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงสารทจีน (เช็งเม้ง) หรือในเดือนเมษายนของทุกปี  เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องการผลผลิตมากที่สุด และขายได้ราคาดีที่สุดด้วย

5.แหล่งน้ำที่ใช้ในระบบการจัดการสวน
5.แหล่งน้ำที่ใช้ในระบบการจัดการสวน
ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ในสวนผสมผสาน
ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ในสวนผสมผสาน

การให้ปุ๋ยและน้ำต้นลำไย

โดยท่านรองฯ สุรินทร์ มีขั้นตอนในการผลิตลำไย หลังจากราดสารไปแล้วจะเริ่มบำรุงต้นลำไย โดยการใส่ปุ๋ย และฮอร์โมนต่างๆ เพื่อให้ต้นลำไยแทงช่อดอก “การแทงช่อดอกของต้นลำไยมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเกษตรกรจะบำรุงดีแค่ไหน หรือใส่ปุ๋ย-ยามากแค่ไหน ตรงนี้คือแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนที่สำคัญ คือ เรื่องของสภาพอากาศด้วย  ต่อให้เกษตรกรดูแลใส่ปุ๋ย-ยาดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าสภาพอากาศฝนฟ้าไม่เป็นใจ เกษตรกรก็ต้องทำใจ หากลำไยไม่ “แทงช่อดอก” ท่านรองฯ สุรินทร์กล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการทำสวนลำไย และช่วงลำไย “ออกดอก” แล้ว จะต้องฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อรา และเพลี้ยไฟ ไรแดง เนื่องจากในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อนมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นที่เหมาะกับการออกดอกของลำไย อีกทั้งยังมีหมอกค่อนข้างหนา ทำให้เชื้อราและเพลี้ยเข้าทำลายช่อดอกลำไยได้ง่าย จากนั้นประมาณ 4-5 เดือน ต้นลำไยเริ่มขึ้นลูกเท่าเมล็ดถั่วจะเริ่มสลัดลูกทิ้ง ในช่วงนี้ที่จำเป็นต้องทำการ “ตัดแต่งช่อลำไย” ให้ได้เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพทุกช่อ ซึ่งท่านรองฯ สุรินทร์ย้ำว่าการตัดแต่งช่อช่วงนี้สำคัญมาก “บางสวนเขาก็ไม่ตัดแต่งช่อลำไย แต่ถ้าไม่แต่งลูกลำไย ลูกก็จะไม่โต เพราะลูกมากเกินไป แย่งอาหารกัน แล้วในปีต่อๆไปพ่อค้าก็จะไม่ซื้อลำไยจากสวนที่ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เพราะลูกมันเล็ก ไม่ได้ขนาด อีกอย่างพ่อค้าเองเขาก็อยากจะได้ลำไยลูกสวยๆ ลูกใหญ่ๆ ไม่มีใครอยากได้ลูกเล็กๆ ไม่มีคุณภาพแน่นอน แต่สวนผมจะจ้างแรงงานเข้ามาตัดแต่งลูกทุกๆ ปี ประมาณ 20,000-30,000 บาท เพี่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้ขนาดตามที่พ่อค้าต้องการทุกช่อ ขายได้ราคาทุกช่อด้วย”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.ผลผลิตลำไยคุณสุรินทร์
6.ผลผลิตลำไยคุณสุรินทร์

การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย

โดยผลผลิตของท่านรองฯ สุรินทร์นั้นจะมีล้งประจำเข้ามารับซื้อผลผลิตทุกปี เริ่มตั้งแต่การซื้อใบเอาไว้ก่อน ตั้งแต่ผลผลิตยังไม่ออกทุกปีที่ได้วางมัดจำเอาไว้ล่วงหน้าด้วย ซึ่งท่านรองฯ สุรินทร์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า“พอลำไยเริ่มเก็บได้ ทางล้งจะเอาคนงานมาเก็บลำไยทั้งหมดเอง เราไม่ต้องยุ่งเลย แค่เดินดูเขาเก็บผลผลิตให้ดีแค่นั้น การขายลำไยจะแบ่งผลผลิตออกไปตามขนาดต่างๆ ที่จะมีคนงานคัดลำไยลงตะกร้าอีกที ส่วนตัวเราก็จะรอนับจำนวนของตะกร้าอย่างเดียว” ซึ่งผลผลิตของที่นี่ส่วนใหญ่จะได้ขนาดเบอร์ 1,2 เป็นส่วนมาก ส่วนเบอร์ 3 และ 4 จะมีบ้างแบบรวมๆ กัน และขายได้ในราคา 45 บาท/กก. เนื่องจากในสัญญารับซื้อผลผลิตจะบังคับให้ลำไยต้องมีขนาดเบอร์ 1,2,3,4 ซึ่งท่านรองฯ สุรินทร์ก็ยอมรับว่าจริงๆ แล้วทางล้งจะเก็บผลผลิตแค่เบอร์ 1,2,3 ส่วนเบอร์ 4 จะตีเป็นลูกร่วงหมด ในอนาคตอาจจะเก็บถึงแค่เบอร์ 2 เท่านั้น เพราะตอนนี้ล้งจีนค่อนข้างกดดันเกษตรกรว่าต้องทำให้ได้ผลผลิตที่ดีเท่านั้นถึงจะรับซื้อ หรือผลผลิตออกมาไม่ดี ไม่สวย ล้งก็จะทิ้งสวนลำไยไปดื้อๆ เลย เรียกว่าลอยแพเกษตรกรที่สร้างความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่องทุกปี อีกทั้ง “ล้งจีน” ในวันนี้จะเข้ามาทำสวนเอง 60-70% หรือส่งเสริมให้ชาวสวนทำ แล้วแบ่งผลประโยชน์กันแบบ 60:40 ที่เป็นแบบนี้เพราะล้งจีนกลัวว่าเกษตรกรไทยจะทำผลผลิตคุณภาพให้เขาไม่ได้ ในขณะที่ล้งได้รับออเดอร์มาแล้ว และกลัวว่าจะหาลำไยตามออเดอร์ให้ลูกค้าไม่ได้ ที่สำคัญคนจีนเดี๋ยวนี้จะเลือกทำสัญญากับเกษตรกรที่มีสวนลำไยที่สามารถให้ผลผลิตได้ดี มีคุณภาพ มีแหล่งน้ำดี ดินดี เท่านั้น ถึงจะทำสัญญาเหมาสวนให้ หรือซื้อใบอ่อนเอาไว้ตั้งแต่ต้นฤดูกาล 

7.จำหน่ายลำไยสู่ท้องตลาด
7.จำหน่ายลำไยสู่ท้องตลาด

ด้านอนาคตของลำไย

สมัยนี้ “ถ้าเกษตรกรไม่ดีจริง หรือไม่เก่งจริง ทำลำไยคุณภาพไม่ได้ ก็จะลำบาก เพราะไม่มีที่ขายผลผลิต โดยเฉพาะสวนเล็กๆ ที่ไม่มีการรวมกลุ่ม ก็จะไม่มีอำนาจต่อรองกับล้ง ก็จะเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการรวมกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวสวนลำไย” ท่านรองฯ สุรินทร์กล่าวถึงอนาคตของลำไย และประโยชน์ของการรวมกลุ่ม ในฐานะอดีตประธานกลุ่ม “เกษตรกรทำสวนโป่งน้ำร้อน” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 70 คน มีพื้นที่สวนลำไยทั้งหมด 10,000 กว่าไร่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรชาวสวนลำไยโป่งน้ำร้อน เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับเหล่าพ่อค้าคนจีน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำสวนของสมาชิกแต่ละคน เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพของลำไยในอนาคตต่อไป อีกทั้งการรวมกลุ่มนอกจากการมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้า การแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกในกลุ่มแล้ว ยังช่วยในเรื่องของเงินทุน และปุ๋ย-ยา ได้เป็นอย่างดีด้วย การกู้ยืมจากสหกรณ์ใหญ่ๆได้ นี่คือประโยชน์ และพลังที่แท้จริงของการรวมกลุ่มเกษตรกร ปัจจุบันนอกจากท่านรองฯ สุรินทร์จะเป็นชาวสวนลำไยหัวก้าวหน้าที่สามารถสร้างสวนลำไยให้ได้มาตรฐาน ผลิตลำไยคุณภาพ ขายผลผลิตได้ราคาดีแล้ว รองฯ สุรินทร์ยังดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีตำบลโป่งน้ำร้อน โดยมีบทบาทหน้าที่ในการบริหารพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของสาธารณูปโภค เช่น ปัญหาภัยแล้ง การจัดหารถวิ่งส่งน้ำให้กับประชากรในพื้นที่ ในช่วงภาวะภัยแล้งที่ผ่านมา เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อนต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและสอบถามเพิ่มเติม คุณสุรินทร์ แสงสาย รองนายกเทศมนตรีตำบลโป่งน้ำร้อน บ้านเลขที่ 95/6 ม.6 ต.โป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โทร.089-938-3781