หากถามถึงผู้ผลิตและจำหน่าย มะม่วง ส่งออกรายใหญ่ของเมืองแปดริ้ว ชื่อ คุณลุงสุวิทย์ คุณาวุฒิ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2551 เจ้าของสวนมะม่วง “เพชรสำโรง” อ.แปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา จะต้องถูกกล่าวถึงเป็นรายชื่อแรกๆ
การบริหารจัดการสวนมะม่วง
บนพื้นที่กว่า 250 ไร่ รายล้อมด้วย มะม่วง หลากหลายสายพันธุ์อาทิ น้ำดอกไม้ เขียวเสวย ฟ้าลั่น และพันธุ์ขายตึก โดยต้นมะม่วงทุกสายพันธุ์ที่ตั้งตระหง่านรอวันให้เก็บผลผลิตในสวนที่อำเภอแปลงยาวแห่งนี้รับผิดชอบและวางแผนการเก็บเกี่ยวทุกขั้นตอนจากคุณลุงสุวิทย์ซึ่งผ่านประสบการณ์ในตลาดมะม่วงไทยมาอย่างโชกโชน
“ช่วงนี้ดีทุกพันธุ์เพราะสภาพอากาศค่อนข้างดี น้ำดอกไม้ เขียวเสวย ฟ้าลั่น ขายตึก กำลังเป็นลูกเท่าหัวแม่มือตอนนี้ก็ได้เริ่มห่อมา 10 วัน แล้ว คาดไว้ว่าจะห่อสัก 40 วัน” คุณลุงสุวิทย์ เล่าถึงภาพรวมของผลผลิตในสวนซึ่งเป็นผลผลิตมะม่วงชุดที่ 2 ของฤดูกาลผลิตปีนี้
สำหรับฤดูกาลผลิตเที่ยวล่าสุด สวนเพชรสำโรงได้เก็บเกี่ยวชุดแรกหมดไปตั้งแต่พฤศจิกายน ปี 63โดยรอบนั้นต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องของฟ้าฝนซึ่งตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ตัวเลขของผลผลิตตกอยู่ที่ประมาณ 400-500 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งปกติเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนๆ ผลผลิตจะมีปริมาณมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามสำหรับชุดการผลิตเที่ยวที่สอง คุณสุวิทย์มั่นใจว่ามะม่วงที่สวนจะให้ผลผลิตดีกว่าทุกปี เพราะตั้งแต่เริ่มรอบการผลิต มะม่วงออกดอก ติดผลดก แทบจะทุกต้น โดยปัจจัยที่เอื้อให้ผลดกเป็นเพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“รุ่นนี้แทบไม่เจอฝนเลย แล้วมีอากาศเย็นมาร่วมด้วย ทำให้ติดผลผลิตดี ปัจจัยหลักๆ อยู่ที่อากาศ ฝนเยอะตอนตุลาคม พอพฤศจิกายนมีฝนมานิดหน่อย แต่พอหยุดก็หยุดไปเลย พวกอาหารเสริมพืชช่วยได้นิดหน่อย เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เรื่องอากาศ 70% ช่วงนี้ไม่ได้ใส่ปุ๋ย ใส่ตั้งแต่หน้าฝนไปแล้ว เราไม่ได้ให้ระบบน้ำ ให้ตั้งแต่หน้าฝนให้กินให้อิ่มเลย ให้ไปแล้ว 2 ครั้ง พอใช้แล้ว”
สำหรับการจัดการสวนในช่วงนี้ คุณสุวิทย์เน้นไปที่เรื่องของการห่อผลมะม่วง ถ้าเป็นน้ำดอกไม้กับพันธุ์ขายตึกจะเน้นการห่อเป็นพิเศษ
ถ้าเขียวเสวยกับฟ้าลั่น พวกนั้นไม่ห่อ จะปล่อยตามธรรมชาติ ฉีดยาประมาณ 10 วันต่อครั้ง เพื่อกันหนอน กันแมลง ทำผลผลิตเสียหาย
สำคัญเรื่องห่อผล
เทคนิคการห่อผลมะม่วง สวนของคุณลุงสุวิทย์ไม่มีอะไรมาก เน้นใช้ถุงห่อที่มีคุณภาพ อย่าห่อลูกโต ระยะเวลาเกิน 70-80 วัน ลูกมันใหญ่ เปลี่ยนสียาก ต้องห่อตั้งแต่เล็ก ตอนที่ขนาดเท่าหัวแม่มือ
“ห่อผลแต่เล็กจะเปลี่ยนสีดี ผิวสวยส่งออกได้เยอะ” คุณสุวิทย์ให้ความเห็นเมื่อถูกถามถึงผลลัพธ์ของการห่อ
กังวลเรื่องส่งออก/ค่าระวางสูงมาก
เมื่อถามถึงเรื่องของตลาดมะม่วง ณ ตอนนี้ คุณสุวิทย์ยอมรับตามตรงว่ากังวลกับตลาดเที่ยวนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เล่นเอาทุกภาคส่วนประสบปัญหาหนัก
ฤดูกาลผลิตปีที่แล้ว คุณสุวิทย์ เผยว่าโดนผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ 20% มาเล่นงานในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. แต่ปีนี้ปัญหาไวรัสดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ต้นปีฤดูกาลผลิต โดยเฉพาะการขนส่งซึ่งไม่มีเที่ยวบิน พอไม่มีคน ราคาก็ถีบตัวขึ้นสูง
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ผลผลิตมะม่วง
ตอนนี้มีแต่แอร์คาร์โก (Air Cargo) เครื่องบินที่มารับของอย่างเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายค่าระวางสินค้าทางอากาศ (Air Freight) ขึ้นไป 95-96 บาท/กิโลกรัม ราคาแพงสูงมากกว่า 2 เท่า จากเดิมที่เคยเสีย 29 บาท/กิโลกรัม เมื่อค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการกดราคามะม่วงจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงในสถานการณ์เช่นนี้
สำหรับสัดส่วนส่งออกกับในประเทศก่อนช่วงโควิด-19 ของสวนเพชรสำโรง จะแบ่งเป็นส่งออก 30% ภายในประเทศ 70% แต่หลังจากเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด คุณสุวิทย์เคยพูดคุยกับพ่อค้าใหญ่บางรายเตรียมเปลี่ยนแผนการขนส่ง โดยจะใช้ตู้คอนเทนเนอร์แล้วขนส่งไปทางเรือ แต่ปัญหา คือ พอไปถึงปลายทางผลผลิตเสียหายถึงประมาณ 40% เพราะขนส่งทางเรือ อย่างไปญี่ปุ่น เกาหลี ใช้เวลา 10-15 วัน แต่ข้อดี คือ ค่าขนส่งถูกลง 20 กว่าบาท/กิโลกรัม
เตรียมแปรรูปเป็นหลัก
ราคามะม่วง ถ้าเป็นช่วงขาดตลาดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 90-100 บาท ต่างกับช่วงฤดูกาลผลิตก.พ.-มี.ค.จะออกมาพร้อมกันหมด เรื่องนี้คุณสุวิทย์มองว่ากลายเป็นปัญหาตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมยังต้องเจอโควิดหนักๆ กลัวจะเสียหายกันหนักสำหรับชาวสวนมะม่วง
คุณสุวิทย์เล่าถึงแผนการรับมือ แต่ละสวน แต่ละกลุ่ม ต้องหาช่องทางระบายผลผลิตไปทางอื่นบ้าง อย่าหวังที่ส่งออกอย่างเดียว สถานการณ์ตอนนี้มีปัญหาแน่นอน ต้องเตรียมมองหาช่องทางส่งแปรรูปในโรงงาน “ปีนี้ก็มีติดต่อมาหลายบริษัท ราคารับซื้อจะถูกหน่อย 20 -30 บาท/กิโลกรัม แต่เน้นรับซื้อในปริมาณมาก ปีที่แล้วตอนไม่มีตลาดช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ส่งโรงงานได้เป็น 100 ตัน อย่างตอนนี้ต้องวางแผนไว้เลย ออกซ้าย ออกขวา ยังไง เขียวเสวยปีนี้เวียดนามก็มาซื้อเยอะ เอา 10 ล้อ มาใส่ที่สวนเลย ไม่รู้ด่านจะปิดขนาดไหน”
เกาหลีใต้จะกลายเป็นตลาดหลัก
คุณสุวิทย์เห็นว่าปีนี้ดูจะมีข่าวดีขึ้นมาบ้าง ตรงที่มะม่วง “พันธุ์มหาชนก” ทางรัฐบาลเกาหลีใต้อนุญาตให้นำผลสดเข้าไปขายได้แล้ว ตอนนี้ตลาดพันธุ์มหาชนกค่อนข้างแคบ แต่ความต้องการในตลาดปรากฏเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกาหลีใต้ 1 ปี ส่งออกไป 3-4 พันตัน เปรียบเทียบกับเมื่อก่อนที่ญี่ปุ่นครองอันดับ 1 ตัวเลขส่งออกยังอยู่ที่ 2 พันกว่าตันเท่านั้น แต่เกาหลี 6-7 ปีหลังสุด แตะระดับ 4-5 พันตันแล้ว
ด้านตลาดมะม่วงน้ำดอกไม้ เกาหลีใต้อันดับ 1 ประมาณ 4-5 พันตัน/ปี ส่วนญี่ปุ่น 1-2 พันตัน ตลาดไม่โตเท่ากับเกาหลีใต้ที่ถีบตัวสูงในช่วงหลัง
ส่วนในไทยมะม่วงน้ำดอกไม้ไปได้เรื่อยๆ เพราะผู้คนนิยมรับประทานกันอยู่แล้ว ช่วงนอกฤดูจะไม่มีปัญหาเรื่องตลาดเพราะของน้อย คุณสุวิทย์กังวลรุ่นที่ 2 ช่วง ก.พ. รุ่นนี้มาพร้อมกันหมดทั้งประเทศ ปกติแล้วคนมีวิชาจะทำกันก่อน อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ เก็บตั้งแต่สิงหาคมไปถึงพฤศจิกายน ทางปากช่องก็เร็ว ส่วนทางฉะเชิงเทราจะมาเก็บช่วงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ทยอยๆ กันออก สามารถที่จะทำให้ผลผลิตออกมาไม่พร้อมกัน
เรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าเป็นน้ำดอกไม้จะหยุดประมาณ 3-4 เดือน ถ้ามะม่วงเปรี้ยวมีทั้งปี ทวายเดือน 9 โชคอนันต์ ทยอยออกไปเรื่อย อันนั้นจะเป็นเอาไปทำอาหาร
น้ำดอกไม้ 1 ปี เก็บผลผลิต ได้ 2-3 ครั้ง ออกผล เพราะอากาศมันหนาว ถ้าเรื่องออกดอกแทบไม่ต้องไปทำอะไรเลย ถ้าอากาศหนาวก็ออกเองเลย แต่ปัญหาเรื่องติดลูก สิ่งที่กลัวที่สุดสำหรับมะม่วงนอกฤดู คือ ฝน เพราะทำให้ดอกเน่าเสียหมด ฉีดยาก็สู้ไม่ไหว
มะม่วงพันธุ์ขายตึก มะม่วงเศรษฐกิจตัวใหม่
หลังจากเปิดใจถึงมะม่วงสายพันธุ์ที่นิยมในท้องตลาดไปแล้ว คุณสุวิทย์ก็ไม่ลืมที่จะกล่าวถึงมะม่วงสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีมาแต่อดีตของฉะเชิงเทรา ซึ่งมะม่วงพันธุ์นี้คนจะคุ้นหูในชื่อของพันธุ์ขายตึก
ความโดดเด่นของมะม่วงพันธุ์ขายตึก นอกจากเรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ การออกดอก ติดผล ถือว่าน่าสนใจทีเดียว 1 ปีได้ 2-3 ครั้ง ออกดอกเมื่อไหร่เป็นต้องติดผล แถมตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างขอการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI หลังจากก่อนหน้านี้ฉะเชิงเทรามีสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปแล้ว อย่าง มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า ตอนนี้ที่กำลังอยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียน ได้แก่ มะม่วงพันธุ์ขายตึก และมะม่วงแรด
สำหรับความเป็นมาของมะม่วงพันธุ์ดั้งเดิมนี้ คุณลุงสุวิทย์เล่าย้อนความว่า “พันธุ์นี้ญาติผมเป็นคนปลูกรุ่นแรกๆ น่าจะมีมาเป็น 100 ปี พันธุ์ดั้งเดิมเป็นขายตึก ลูกเล็ก ตรงก้นมะม่วงจะบุ๋ม ลูกจะเล็กประมาณ 5-6 ลูก/กิโลกรัมโดยพื้นที่ปลูกเริ่มแรกอยู่ที่คลองบางกระเสน ซึ่งกั้นระหว่างอำเภอคลองเขื่อนกับอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา โดยพื้นที่ปลูกอยู่ทางฝั่งอำเภอเมือง
แต่ในช่วง 25 ปีหลังมานี้ มีคนนำไปปลูกแบบเพาะเมล็ดไว้ 20 ไร่ ปรากฏมีอยู่ 1 ต้น กลายพันธุ์ออกมาเป็นขายตึกลูกใหญ่ คุณภาพเนื้ออร่อยเหมือนเดิม เนื้อเหลืองเหมือนเดิม แต่ขนาดของลูกใหญ่ขึ้น ก้นไม่บุ๋ม แล้ว น้ำหนักของลูกใหญ่ๆ 300-400 กรัม เฉลี่ย 3 ลูก/กิโลกรัม เวลานี้ติดตลาดหมด ช่วงฤดูกาลสามารถส่งตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ได้สบาย”
ตอนนี้ตลาดพันธุ์ขายตึกกำลังอยู่ในทิศทางที่ดีมากทีเดียว เพราะผลผลิตยังไม่พอกับความต้องการ คุณสุวิทย์แนะนำให้พี่น้องเกษตรกรขยายพันธุ์นี้ เพราะว่าผลผลิตติดดี ออกง่าย โดยที่สวนของตัวเองก็ขยายเพิ่มเป็น 30 ไร่ แล้วในปัจจุบัน ขณะที่บางสายพันธุ์อาจต้องลดไป เช่น “ทวายเดือน 9” ที่เจอปัญหาตลาดอย่างหนักจากการเจอ “แก้วขมิ้น” เข้ามาตีตลาด ราคาของทวายเดือน 9 ตอนนี้เหลือกิโลกรัมละ 4-6 บาท
สวนทางกับพันธุ์ขายตึก ที่คุณสุวิทย์ยืนยันขายได้ไม่ต่ำกว่า 40-50 บาท/กิโลกรัม คนซื้อไปขายต่อราคาสูง 70-80 บาท ส่วนใหญ่คนชอบที่เนื้อในสีเหลือง มีสารเบต้าแคโรทีน เนื้อจะกรอบ มันอมเปรี้ยว อมหวาน ชวนกิน ถ้าจิ้มน้ำปลาหวานหรือพริกเกลือยิ่งเหมาะเลย
เน้นปลูก 6 สายพันธุ์
ในฐานะเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ คุณสุวิทย์ได้ปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ขายตึก 30 ไร่น้ำดอกไม้ 100 ไร่ เขียวเสวย 30 ไร่, ฟ้าลั่น 20 ไร่ มะม่วงอาทูอีทู มะม่วงออสเตรเลีย 60 ไร่ และมะม่วงมหาชนก 30 ไร่
แนวโน้มตลาดมะม่วง
สุดท้ายคุณสุวิทย์ให้ความเห็นว่าตลาดมะม่วงไทยช่วงหลังๆ ปลูกกันเยอะทั่วประเทศ ตลาดค่อนข้างขาลง ถ้าพูดตรงๆ ไม่เหมือนทุเรียน ตอนนี้ขาขึ้น ราคาสูงขึ้นๆ ความต้องการสูงขึ้น อย่างมะม่วงออกพร้อมกันเลย อย่างคนเก่าๆ แก่ๆ ไม่มีปัญหา ยังจัดการได้ แต่คนที่ปลูกใหม่ๆ มีปัญหาเรื่องตลาด ใครทำออกมาก่อน ทำนอกฤดูไม่มีปัญหา แต่มะม่วงปีเมษายนนี้กำลังจะออกล้นตลาด กินใช้ไม่หมด ไม่รู้จะเอาไปไหน ต้องให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจึงจะไปรอด