คุณธนทัต ปัญญาดิลก เกษตรกรผู้ปลูก ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา จ.ชัยนาท มานานนับ 10 ปี แต่ก่อนเมื่อสมัยยังไม่ได้ปลูกส้มโอ การทำอาชีพทำนา ปลูกข้าว และได้เข้าไปช่วยน้องเขยทำสวนส้มโออยู่หลายปี แต่เพราะความจน และอยากมีเงินส่งลูกเรียน จึงคิดที่จะทำสวน ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา เพราะประสบการณ์ที่ช่วยน้องเขยทำสวนส้มโอก็มีเยอะพอสมควร ตอนแรกที่เริ่มทำปลูกส้มโออยู่ 4 ไร่ ประมาณ 200 ต้น ปลูกได้ประมาณ 1 ปี ทุนที่ทำก็หมด
จึงปลูกพืชผสมผสานในแปลงส้มโอร่วมด้วย อาทิเช่น มะนาว มะละกอ พริก เป็นต้น เพื่อนำผลผลิตจากพืชเหล่านี้ไปขาย และนำเงินมาเลี้ยงส้มโออีกที เพราะกว่าส้มโอจะให้ผลผลิตก็ 5-6 ปี ระหว่างนี้ก็ต้องหาพืชตัวอื่นมาแซมเลี้ยง ทั้งคนงาน และเลี้ยงสวนไปพร้อมกัน
“เริ่มทำปีแรก พ.ศ.2546 ในพื้นที่ 4 ไร่ และขยายเพิ่มมาเรื่อย จนตอนนี้มีพื้นที่ปลูกส้มโอประมาณ 10 ไร่ แล้ว ปลูกส้มโอปีแรกเราไม่ได้ลูก ต้องปลูกพืชตัวอื่นแซมในแปลงด้วย จะได้มีผลผลิตขายในระหว่างรอส้มโอมีลูก เงินที่ได้ก็สามารถเลี้ยงลูกน้อง และเลี้ยงสวนส้มโอได้อีกทาง การเรียนรู้เริ่มจากการที่ไปช่วยสวนน้องเขยทำมาก่อน จึงสามารถมาพัฒนาทำที่สวนของเราได้” คุณธนทัตกล่าว
ลักษณะของ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา
“ส้มโอขาวแตงกวา” ถือว่าเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อ และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดชัยนาท ด้วยรสชาติความฉ่ำหวานซ่อนเปรี้ยวกำลังเหมาะรับกับเนื้อส้มโอสีน้ำผึ้งทองและเนื้อแห้ง บ่งบอกได้ถึงความเป็นส้มโอเกรดดี จึงเป็นที่ถูกปากผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาด
จนทำให้ส่งเสริมเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้มีผลผลิตออกมารองรับให้เพียงพอกับความต้องการ เพราะบางครั้งปริมาณส้มที่ผลิตออกสู่ตลาดในแต่ละปีมีไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสหวานแหลมนำ อมเปรี้ยวเล็กน้อย นุ่ม ไม่แฉะน้ำ ไม่มีรสขมติดลิ้น ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
จังหวัดชัยนาทมีการปลูกส้มโอมาตั้งแต่ปี 2350 โดยนายทอง (ไม่ทราบนามสกุล) ได้นำส้มโอมาปลูกเป็นครั้งแรก สำหรับส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวามีประวัติว่า นางผึ้ง (ไม่ทราบนามสกุล) ได้นำส้มโอจากแหล่งพันธุ์ใดไม่ปรากฏมาปลูกบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และตั้งชื่อว่า “ขาวแตงกวา”
ซึ่งได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นพันธุ์ส้มโอประจำท้องถิ่น นับว่าเป็นผลไม้ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสมบัติคู่เมืองชัยนาท โดยสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่เกษตรกรจังหวัดชัยนาท เนื่องจากรสชาติอร่อย เปลือกหนา เหมาะแก่การขนส่งทางไกล
สภาพพื้นที่ปลูกส้มโอ
ช่วงแรกปรับสภาพดินโดยขุดรากไม้ออกให้หมด เว้นระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 4 วา ระหว่างร่องประมาณ 3 วา โดยขุดหลุมปลูกกลางแปลงดิน ผสมดินปนปุ๋ยหมัก (ขี้ค้างคาว ขี้วัว แกลบ รำละเอียด ผักตบชวาแห้ง กากน้ำตาล สาร EM ผสมกัน หมักไว้ 1 เดือน) แล้วกลบลงไปในหลุมจนเต็มปากหลุม นำกิ่งพันธุ์ส้มโอที่เตรียมไว้ปลูกตรงกลางหลุม โดยให้ระดับของดินอยู่เหนือตุ้มกาบมะพร้าวเล็กน้อย แล้วใช้ไม้หลักปักให้ถึงก้นหลุมเพื่อกันลมโยก รดน้ำให้ชุ่ม
การให้น้ำและปุ๋ยส้มโอ
ในระยะที่ปลูกส้มโอใหม่ๆ ต้องหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอจนกว่าจะตั้งตัวได้ เมื่อส้มโอเจริญเติบโตดีแล้วให้น้ำเป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็น ทีนี้ใช้วิธีการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ พอช่วงที่มีผลผลิตควรให้ 2-3 วัน ต่อครั้ง เพราะจะอยู่ในฤดูร้อน หน้าดินจะแห้งเร็ว และควรใส่ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันไป
ในช่วงแรกๆ จะให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 และปุ๋ยหมักผสมผสานกัน เมื่อต้นส้มโอเริ่มแตกแขนงก็ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 เพื่อช่วยให้การเจริญเติบโตของต้นส้มโอดีขึ้น ช่วงดึงออกให้ใช้ปุ๋ยสูตร 10-4-10 และ 13-20-13 เพื่อให้ต้นส้มโอได้มีการสะสมตาดอก การใส่ปุ๋ยจะแตกต่างกันไปตามช่วงของต้นส้มโอเอง
การตัดแต่งกิ่ง
ส่วนการตัดแต่งกิ่งควรตัดแต่งช่วงเดือนพฤศจิกายน ให้ออกดอกช่วงธันวาคม และไม่ควรให้น้ำ 20 วัน-1 เดือน เพื่อให้ต้นเริ่มสะสมอาหาร ตัดแต่งกิ่งที่ขึ้นแข่งกับลำต้นให้หมด รวมทั้งกิ่งที่ไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่มีโรคและแมลงทำลายออกทิ้ง หลังจากตัดแต่งกิ่งควรใช้ยากันเชื้อราหรือปูนแดงผสมน้ำ ทำตรงรอยแผลที่ตัดเพื่อกันแผลเน่า เนื่องจากเชื้อรา
การป้องกันกำจัดโรค-แมลง และศัตรูพืช
ในสวนส้มโอทุกแห่งมักจะมีปัญหาจากวัชพืชที่ขึ้นรบกวน ถ้ามีจำนวนมากก็จะก่อให้เกิดผลเสียหาย เพราะนอกจากจะแย่งน้ำและอาหารแล้วยังเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลงอีกด้วย จึงต้องคอยควบคุมอย่าให้วัชพืชมีมาก แต่การกำจัดวัชพืชให้หมดไปเลยก็ไม่ดี ควรให้มีเหลืออยู่บ้าง จะช่วยยึดดินไม่ให้หน้าดินพังทลาย รวมทั้งช่วยป้องกันการระเหยของน้ำได้อีกด้วย
ส้มโอเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนมาก ชาวสวนจึงต้องให้ความสนใจในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงให้ดีที่สุด โรคและแมลงที่รบกวนสวมส้มโอมีดังนี้
1.เพลี้ยอ่อน จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอดอ่อน ซึ่งมีผลทำให้ใบนั้นหยิกและงอ ต้นแคระแกร็น การเจริญเติบโตหยุดชะงัก เพลี้ยอ่อนจะขับสารออกมาจากร่างกายเป็นน้ำหวาน ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะในการเจริญเติบโตของราดำที่กิ่งและใบอีกด้วย
2.เพลี้ยไฟ จะเจาะเข้าไปในผิวใบ และดูดกินน้ำเลี้ยงของใบส้ม ผลที่อ่อนเพลี้ยไฟจะเจาะตรงส่วนที่อยู่ใกล้กับกลีบดอก เมื่อผลโตก็จะเจาะบริเวณใกล้เคียงกับขั้ว ทำให้บริเวณที่ถูกเจาะนั้นมีรอยเป็นสะเก็ดสีเทา ส่วนใบที่ถูกทำลายนั้นก็จะแคระแกร็น และหงิกงอ นอกจากใบและผลแล้วเพลี้ยไฟยังทำลายกิ่งอ่อนและดอกอีกด้วย
3.ไรแดง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ผล และกิ่งอ่อน ของต้นส้ม ซึ่งจะทำให้บริเวณที่ถูกทำลายนั้นเห็นเป็นจุดสีอ่อนๆ ซึ่งต่อมาจะค่อยๆ ขยายตัวออกไปทั่วจนมีสีเทา หรือสีตะกั่ว ในกรณีที่พบระบาดมากๆ ก็จะทำให้ใบและผลร่วงหล่นได้ และอาจจะทำให้ผลที่ถูกทำลายมีลักษณะแคระแกร็น และคุณภาพเสื่อมลง มักระบาดมากในฤดูแล้ง
การป้องกันกำจัด
1.ฉีดพ่นด้วยน้ำให้ทั่วทรงพุ่มในระยะที่มีระบาด
2.กำจัดมดซึ่งเป็นพาหะของเพลี้ย
3.ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น คาร์โบซัลแฟน กับอะบาเม็กติน ในระยะที่ระบาด
โรคของส้มโอ
1.โรครากเน่า โคนเน่า โรคนี้เกิดจากเชื้อราชนิดเดียวกับโรคยางไหล มักจะเกิดบริเวณโคนต้นใกล้ผิวดิน เริ่มจากเปลือกจะเป็นจุดๆ แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเน่า เปลือกอ่อนหลุดออกมาได้ง่าย ถ้าอากาศชื้นทิ้งไว้ 1-2 วัน จะเห็นเส้นใยของราปูขาวขึ้นมา อาการเน่าจะลุกลามออกไป เปลือกที่เน่าจะมียางสีน้ำตาลไหลออกมา เมื่อเน่ารอบโคนต้น ส้มจะตาย อาการที่รากจะเป็นเช่นเดียวกับที่โคนต้น ในระยะนี้ใบจะเหลืองซีดร่วงหล่น กิ่งเริ่มแห้งและตายในที่สุด
2.โรคแคงเกอร์ โรคนี้มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดในระยะที่ใบอ่อนและผลที่ยังอ่อน แรกๆ จะเห็นเป็นจุดใสๆ ขนาดเล็กๆ เท่ากับหัวเข็มหมุด สีเหลืองอ่อนหรือขาวกระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาจะขยายโตขึ้น นูนทั้งด้านบนและด้านล่าง ใบแผลจะกลายเป็นสีเหลือง ภายในแผลมีลักษณะขรุขระ ถ้าเป็นมากจะทำให้ใบร่วง บางครั้งอาจมียางไหลออกมาด้วย อาการที่กิ่งจะเป็นแผลตกสะเก็ดที่เปลือก ถ้าเป็นมากทำให้กิ่งตายได้
การป้องกันกำจัด
1.อย่าปล่อยให้น้ำขังหรือท่วมบริเวณต้นส้มโอเป็นเวลานานๆ ควรทำการระบายน้ำอย่าให้ขัง หรือชื้นแฉะ
2.ส้มที่ตายแล้ว หรือส่วนของส้มที่ตัดทิ้ง นำมารวมกันเผาทำลาย
3.ฉีดพ่นด้วยสารเคมีเมื่อพบการระบาด
การเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอ
เป็นที่รู้กันว่าการปลูกส้มโอกว่าจะให้ผลผลิตไม่ได้ใน 1-2 ปีแรก กว่าจะได้ผลผลิตก็ต้อง 3 ปีขึ้นไป ระหว่างนั้นคุณธนทัตก็ปลูกมะนาวและผักสวนครัวที่สามารถขายได้ เพื่อหาทุนทำสวนส้มโอมาเรื่อยๆ และยังทำให้พื้นที่ที่ว่างในสวนไม่เสียเปล่าอีกด้วย ได้รายได้ถึง 2-3 ทาง เลยทีเดียว และปีที่ 3 ที่ส้มโอให้ผลผลิต 1 ต้น จะมีลูกอยู่ประมาณ 2-3 ลูก ปีที่ 5 ก็จะเพิ่มมาเป็นประมาณ 10-15 ลูก ต่อต้น พอเข้าปีที่ 8 จะได้ผลผลิตประมาณ 20-30 ลูก ต่อต้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาด้วย
การเก็บเกี่ยวส้มโอมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นส้มโอ
–ใช้มีดตัด ในกรณีที่ผลส้มโออยู่ต่ำ และเมื่อเอื้อมถึง แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องปีน หรือใช้บันไดช่วยบ้าง การเก็บด้วยวิธีนี้ส้มโอจะมีใบและขั้วติดมา และดูสวยงาม แต่ไม่สะดวกในการโยกย้ายบันได
–ใช้กรรไกรแบบตัด หรือหนีบ จะตัดได้ต่ำหรือสูงขึ้นอยู่กับความยาวของด้าม กรรไกรแบบนี้จะตัดขั้วผลและหนีบผลติดอยู่กับกรรไกร การใช้กรรไกรแบบนี้ต้องปฏิบัติอย่างนุ่มนวล ไม่เช่นนั้นจะทำให้ส้มโอหลุดจากปากหนีบแล้วร่วงสู่พื้น ทำให้เกิดความเสียหายได้
–ใช้ขอตัดแบบเชือกกระตุกต่อด้าม ใช้เก็บเมื่อผลอยู่ในที่สูงๆ วิธีการนี้ใช้คน 2 คน คนหนึ่งใช้ขอตัดขั้วผลส้มโอ อีกคนหนึ่งคอยเอาสวิงรองรับ
ด้านตลาด ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา
ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ส่วนหนึ่งเขาจะเน้นขายที่งานเกษตรศาลากลางจังหวัดชัยนาท ขายได้ต่อวันประมาณ 500 กิโลกรัม หลังจากที่ไม่มีงานก็ขายตามออเดอร์สั่งซื้อจากลูกค้าที่เคยซื้อ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา แล้วชื่นชอบในรสชาติ บางครั้งก็เป็นลูกค้าที่บอกกันมาอีกที ทำให้มีลูกค้าโทรมาสั่งซื้อผลผลิตอยู่ตลอดแบบไม่ขาดสาย จนบางครั้งผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย
เพราะสวนส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาของคุณธนทัตเน้นคุณภาพทุกลูก ไม่ขายส้มโอเปรี้ยว เน้นส้มโอหวาน บางครั้งก็จะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อไปขายด้วย “ทำของดี ทำอะไรก็ขายได้หมด เวลาตัดส้มโอเราต้องกระเดาะลูกหนักทุกลูก เบาไม่เอาทิ้งไป ขายของไม่ซี้ซั้ว เขาให้เรามาเต็ม เราขายได้ทุกลูก แต่เค้าจะขายได้ทุกลูกหรือเปล่า เราต้องให้เค้าได้กำไร เพราะถ้าเค้าขายได้กำไร หรือขายดี เค้าก็กลับมาซื้อหรือสั่งเราอีก เราต้องได้มาตรฐาน ลูกค้าจะได้เชื่อถือเรา ช่วงส้มโอเปรี้ยวเราก็ไม่ขาย ผ่าออกลูกนี้เปรี้ยวก็ไม่ขาย ขายแต่ส้มโอหวาน แบรนด์ของเราต้องหวานเท่านั้น ซื้อไปไม่หวานเอาเปลี่ยนได้ทุกลูก” คุณธนทัตกล่าวอย่างภูมิใจ
ผลผลิต ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ปีแรก คุณธนทัตบอกว่าสามารถเก็บได้ 10 กว่าตัน ได้เงินประมาณ 3 แสนกว่าบาท ขายกิโลกรัมละ 25-30 บาท แต่เมื่อปี 2556 ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ราคาดีขายได้กิโลกรัมละ 40-50 บาท เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2554 ทำให้ผลของส้มโอหลุดร่วง และบางสวนก็จมอยู่ใต้น้ำ ทำให้สวนล้มเลยก็มี ก็เลยทำให้ผลผลิตของ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา น้อยลง แต่สวนไหนที่ผลิตได้ก็ได้ราคาดีไปตามๆ กัน
เทคนิคการเลือกซื้อส้มโอให้มีคุณภาพ
1.การดูต่อมน้ำมันที่เป็นจุดๆ บนผิวส้มโอนั้นจะขยายหรือห่างออกจากกัน แสดงว่าส้มโอลูกนี้รับประทานได้ แต่ถ้าต่อมน้ำมันมีลักษณะถี่ๆ หรือชิดกัน ไม่มีการขยายออก แสดงว่าส้มโอลูกนี้ยังไม่สามารถนำไปรับประทานได้
2.สังเกตที่สีของผลส้มโอที่แก่ คือ ส้มโอที่แก่ หรือพร้อมที่นำมารับประทาน สีของเปลือกด้านนอกของส้มโอจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีเหลือง
3.สังเกตจากก้นของส้มโอ ถ้าเป็นส้มโอที่เหมาะสำหรับการนำไปรับประทานจะมีลักษณะก้นบุ๋มลงไป เมื่อกดลงตรงก้นจะมีลักษณะนิ่มๆ และบุ๋มลงไปนั่นเอง
4.น้ำหนักของส้มโอต้องหนักตามขนาดของผล ถ้าน้ำหนักเบาแต่ผลของส้มโอใหญ่ แสดงว่าเนื้อข้างในทานไม่ได้ หรือไม่อร่อย
ปัญหาและอุปสรรคในการทำสวนส้มโอ
ปัญหาคงหนีไม่พ้นเรื่องโรคและแมลงที่เจอภายในสวนส้มโอ เพราะถ้าไม่มีการเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาหรือป้องกันกำจัดให้เป็น เกษตรกรที่ทำสวนส้มโอก็จะได้ผลผลิตไม่ดี และไม่มีคุณภาพ ราคาก็จะลดลงมาด้วย อีกเรื่องหนึ่ง คือ เงินลงทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญในการประกอบการทุกอย่าง ไม่ใช่จำเพาะต่อการทำสวนส้มโอเท่านั้น เพราะเมื่อปลูกส้มโอกว่าจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ก็ประมาณ 2-3 ปี แต่ถ้าหากอดทนได้ เมื่อส้มโอมีผลผลิต เมื่อนั้นเกษตรกรก็สามารถคืนทุนผลกำไรได้แล้ว
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
การปอกเปลือกส้มโอที่พบเห็นกันอยู่โดยทั่วไปมักจะใช้มีดกรีดผลจากขั้วผลลงมา 5-6 รอย แล้วจึงลอกเอาเปลือกออก โดยใช้นิ้วมือสอดไประหว่างเปลือกและกลีบผล วิธีนี้จะทำให้ต่อมน้ำมันที่เปลือกแตกเลอะมือ เมื่อลอกเอาเนื้อออกส่วนล่างของเนื้อจะติดกับน้ำมันของเปลือกที่ติดมืออยู่ ทำให้มีกลิ่นเหม็น และเสียรสชาติไป ทีมงานจึงมีวิธีการปอกเปลือกส้มโอให้ได้เนื้อที่มีคุณภาพดี ดังนี้
1.ใช้มีดปอกส่วนของเปลือกที่เป็นสีเขียวออกจนหมด
2.ลอกเปลือกสีขาวซึ่งจะทำให้ลอกออกได้ง่าย และไม่มีกลิ่นของน้ำมันที่ผิวเปลือกติดออกมา
3.เมื่อเหลือแต่เปลือกหุ้มกลีบ จึงลอกเอาเปลือกหุ้มออกทีละกลีบ จะได้เนื้อที่เป็นกลีบสวยงาม และมีรสชาติดี
หากเกษตรกรหรือผู้อ่านท่านใดอยากทราบรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณธนทัต ปัญญาดิลก (สวนตาเบิ้มขนส่ง) 46 ม.8 ต.หาดท่าเสา อ.เมือง จ.ชัยนาท 17000 โทร.08-1886-5977