การเพาะเห็ด
“เห็ด” คือ พืชสุขภาพชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน เนื่องจากเห็ดเป็นพืชที่สามารถทานได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หารับประทานง่าย ราคาไม่แพงมาก บวกกับปัจจุบันกระแสรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมีมากขึ้น เห็ดจึงเป็นตัวเลือกชั้นดีที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ เมื่อตลาดมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น หัวเชื้อเห็ด
ด้วยเหตุนี้จึงมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากหันมาเพาะเห็ดขาย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไป แต่เห็ดกลับมีมากมายหลากหลายชนิด ให้เกษตรกรเลือกปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเพาะเห็ดเศรษฐกิจทั่วไป เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้าภูฐาน เห็ดขอน เป็นต้น
เพาะเห็ดฟาง และ หัวเชื้อเห็ด หลากหลายชนิด
ขอแนะนำเกษตรกรผู้เพาะเห็ดคุณภาพที่มากด้วยประสบการณ์ และความรู้มากมาย นั่นคือ คุณนรินทร์ มณีวงษ์ เจ้าของ “ฟาร์มเห็ดเพชรสุพรรณ” แห่งเมืองสุพรรณบุรี ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเพาะเห็ดฟางคุณภาพ และ หัวเชื้อเห็ด คุณภาพหลากหลายชนิด
“ฟาร์มเห็ดเพชรสุพรรณ” เริ่มต้นจากการที่คุณนรินทร์เป็นลูกเกษตรกรชาวนา แต่เนื่องจากตนเองได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือที่วิทยาลัยเกษตร จึงชื่นชอบการทำเกษตร แต่ก็ไม่อยากทำนา เพราะการทำนามีรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ทำให้เกษตรกรชาวนาหลายรายเป็นหนี้เพราะราคาข้าวตกต่ำ เมื่อได้มีโอกาสไปเรียนจนจบกลับมา ด้วยฐานะทางบ้านจึงทำให้คุณนรินทร์เรียนจบเพียง ปวส.
จากนั้นจึงออกมาหางานทำ ที่หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยสุพรรณบุรี และได้มีโอกาสไปเรียนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ด้วยสมัยนั้นกระแสผักไฮโดรโปนิกส์มาค่อนข้างแรง เป็นความรู้ใหม่ และคาดว่าตลาดมีความต้องการสูง แต่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้นต้องใช้ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง จึงล้มเลิกความคิดที่จะปลูกผักขาย
จนสุดท้ายคุณนรินทร์ตัดสินใจเพาะเห็ดขาย เนื่องจากต้นทุนต่ำ อีกทั้งเห็ดเป็นพืชที่สามารถเพาะง่าย ขายง่าย ตลาดมีความต้องการสูง และด้วยความรู้เรื่องเห็ดที่มีค่อนข้างมาก จากการเรียน ปวส จึงทำให้คุณนรินทร์ตัดสินใจเพาะเห็ดเพื่อขายดอกเห็ดส่งตลาด
แต่เมื่อมาปรึกษาทางบ้านกลับไม่มีใครเห็นด้วย เนื่องจากบรรพบุรุษปลูกข้าวมาโดยตลอด จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยความเชื่อมั่น ในตัว “เห็ด” คุณนรินทร์จึงพยายามเพาะเห็ดขาย เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้ทางบ้านเห็นว่าอาชีพเพาะเห็ดขายนั้นสามารถเลี้ยงตัวได้ และดีกว่าการทำนา โดยคุณนรินทร์ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี ควบคู่กับการทำงานประจำ และช่วยครอบครัวทำนา
จุดเริ่มต้นการเพาะเห็ด
ในการพิสูจน์ตัวเองครั้งนี้เริ่มต้นจากขอยืมทุนจากทางบ้านจำนวน 40,000 บาท นำมาสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด 2 โรงเรือน พื้นที่ 6×10 พื้นที่ชั้นเพาะ 60 ตารางเมตร และขยายมาจนถึง 14 โรงเรือน ด้วยระยะเวลาเพียง 8 ปี เท่านั้น โดยคุณนรินทร์เลือกที่จะเพาะเห็ดฟาง เนื่องจากมีราคาขายสูง
ซึ่งขณะนั้นโรงเรืองเห็ดแต่ละโรงสามารถสร้างรายได้ให้คุณนรินทร์ได้ถึงวันละ 3,000 บาท เลยทีเดียว ทำให้ครอบครัวเริ่มเชื่อมั่นว่าการเพาะเห็ดนั้นสามารถสร้างรายได้ที่ดีได้ จึงเลิกทำนา และหันมาช่วยคุณนรินทร์เพาะเห็ดอย่างเต็มตัว
การจำหน่ายดอกเห็ดและก้อนเชื้อเห็ด
เมื่อความต้องการเห็ดมีมากขึ้น นอกจากต้องขยายโรงเพาะเห็ดเพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ “ก้อนเชื้อเห็ด” ในช่วงแรกคุณนรินทร์เพาะเห็ดเพื่อจำหน่ายดอกเป็นหลัก ยังไม่ได้ทำก้อนเชื้อเองจึงต้องสั่งซื้อก้อนเชื้อจากสระบุรีมาใช้เป็นจำนวนมาก ต้นทุนด้านการขนส่งค่อนข้างสูง แต่เมื่อจำหน่ายเห็ดไปได้สักระยะ ก็เริ่มมีลูกค้าที่สนใจเพาะเห็ดเพิ่มมากขึ้น
คุณนรินทร์จึงทดลองนำก้อนเชื้อเห็ดมาขาย ประกอบกับน้องสาวเรียนจบกลับมา จึงให้น้องเป็นคนดูแลเรื่องขายก้อนเชื้อเห็ดเป็นหลัก มีการเปิดหน้าร้าน ทำให้ฟาร์มเห็ดเพชรสุพรรณนอกจากขายดอกเห็ดฟางแล้ว ยังจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดอีกด้วย เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่ง โดยใช้กำไรจากการขายก้อนเห็ดมาเป็นค่าขนส่งแทน
แต่การผลิตดอกเห็ดขายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อผลผลิตออกมาแล้วก็ต้องเก็บให้ทันก่อนที่ดอกเห็ดจะบาน แต่เมื่อฟาร์มเห็ดคุณนรินทร์มีมากถึง 14 โรงเรือน จึงเริ่มมีปัญหาในเรื่องของแรงงานเก็บเห็ด ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังขายได้ราคาต่ำอีกด้วย
“การผลิตดอกมันเร่งการขาย เพราะเห็ดมันไม่หยุดโต เก็บแล้วมันก็ยังบาน ราคามันก็ลดลง เราต้องเร่งกับเวลา เมื่อก่อนทำน้อย 2 โรงเรือน เก็บตี 4 ตี 5 ก็ทัน แต่เมื่อมันมีเป็น 10 โรงเรือน ก็เริ่มเก็บไม่ทัน ผลผลิตเริ่มเสียหาย หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดของเสียหายอีก” คุณนรินทร์กล่าว
ด้านตลาดก้อนเชื้อเห็ด
เหตุนี้จึงเป็นที่มาของการหันมาทำก้อนเชื้อเห็ดขาย เนื่องจากการขายก้อนเห็ดที่หน้าร้านเริ่มมีลูกค้ามากขึ้น บวกกับปัญหาการเพาะดอกเห็ดเริ่มมีปัญหา คุณนรินทร์จึงหันมาทำก้อนเชื้อเห็ดเอง จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา จากการทดลองทำเชื้อเห็ดใช้เองในฟาร์ม แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี
จนทำให้ปัจจุบัน ฟาร์มเห็ดเพชรสุพรรณผลิตก้อนเชื้อเห็ดเป็นหลัก ภายใต้ชื่อสินค้า “เพชรสุพรรณ”, “ดาวบ้านนา” และ “เด่นชัย” โดยมีแหล่งจำหน่ายหลัก คือ เขตภาคใต้ และเขตภาคอีสาน โดยมีตัวแทนจำหน่ายที่ภาคอีสานโดยตรง
การผลิตก้อนเชื้อเห็ด
“การทำก้อนเห็ดค่อนข้างทำยากกว่าเปิดดอกนะ เพราะว่าถ้าทำก้อนออกมาไม่ดี เราไม่ควบคุมคุณภาพก้อนตั้งแต่ทีแรก ผลผลิตมันก็จะออกมาไม่ดี คนที่เราขายก้อนออกไปเขาก็มาซื้อแค่ครั้งเดียว เราต้องใส่ใจคุณภาพของเราให้ดีที่สุด”
ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ด
เริ่มต้นจากการนำเปลือกถั่วมากองรวมกัน จากนั้นนำน้ำมาราด และใช้รถไถเล็กบดทับกลับไปมาให้เปียกทั้งกอง ทิ้งไว้ 1 คืน วันรุ่งขึ้นนำเศษฝ้ายมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำผ้าใบมาคลุมกอง ทิ้งไว้ 3 คืน เพื่อเลี้ยงเชื้อราให้โต เมื่อครบ 3 วัน เปิดผ้าใบออก และให้คนงานเริ่มบรรจุก้อนโดยใช้เครื่องตอก 8 หัว ที่สั่งซื้อมาจาก จ.สระบุรี
จากนั้นนำเข้าตู้นึ่ง ฟาร์มเห็ดเพชรสุพรรณจะไม่ใช้เตาบอยเลอร์ในการนึ่ง เนื่องจากมักเกิดปัญหาเรื่องราเขียว ด้วยเหตุนี้ทางฟาร์มจึงใช้การนึ่งแบบโบราณ คือ การนึ่งแบบขนม ใช้ไอร้อนในการนึ่ง โดยใช้เตานึ่งก้อนของเห็ดนางฟ้ามานึ่ง
ซึ่งใช้เวลานึ่งประมาณ 3 ชั่วโมง ในอุณหภูมิ 95 องศา และใช้แก๊สในการนึ่งเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่คงที่ เพียงเท่านี้ก็จะได้ก้อนเห็ดฟางคุณภาพ เมื่อก่อนเห็ดเย็นลงจะเริ่มหยอดเชื้อเห็ด โดยทางฟาร์มจะผลิตเชื้อเห็ดฟางใช้เองอีกด้วย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และยังสามารถควบคุมคุณภาพได้อีกด้วย
ปัจจุบันฟาร์มเห็ดเพชรสุพรรณมีกำลังการผลิตก้อนเชื้อเห็ดอยู่ที่ 3-4 หมื่นก้อนต่อเดือน เพื่อรองรับความต้องการสินค้า แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะลูกค้าในโซนภาคอีสานที่มีออเดอร์มากที่สุด
การให้ความรู้ในการเพาะเห็ด ผลิตเชื้อเห็ด และทำก้อนเชื้อเห็ด
นอกจากฟาร์มเห็ดเพชรสุพรรณจะผลิตก้อนเชื้อเห็ดหลากหลายชนิดแล้ว ยังเปิดรับนักศึกษาที่ต้องการเข้ามาฝึกงาน หรือเข้ามาเรียนรู้การทำเห็ด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งเด็กๆ ที่สนใจจะได้รับความรู้ ทั้งการเพาะเห็ด การผลิตเชื้อเห็ด การทำก้อนเชื้อ ซึ่งคุณนรินทร์จะเป็นผู้มอบความรู้ทั้งหมดนี้ด้วยตัวเอง โดยผู้ที่สนใจมาศึกษาจะมาแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือมานอนค้างที่ฟาร์มได้
โดยทางฟาร์มจะมีที่พักเตรียมพร้อมให้เสมอ และยังมีค่าแรงให้อีกด้วย ในอัตราก้อนละ 50 สตางค์ เป็นการตอบแทน เรียกว่ามาศึกษาเรื่องเห็ดนอกจากได้ความรู้แล้ว ยังได้เงินกลับบ้านอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีน้องนักศึกษาฝึกงานของ วิทยาลัยเกษตร สิงห์บุรี เข้ามาฝึกงานทุกอาทิตย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณนรินทร์ มณีวงษ์ 74/6 หมู่ 6 ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โทร.080-662-2252