การปลูกองุ่น
พูดถึง “องุ่น” หลายคนมองว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นอีกระดับของผลไม้เมืองไทย แน่นอนว่าถูกยกให้อยู่ในฐานะที่คนทั่วไปมองว่าเป็นตลาดระดับกลาง ไม่ได้หมายความว่าองุ่นเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงเกินกว่าจะซื้อได้ แต่ที่เอามาเป็นประเด็นในการกำหนดมาตรฐานของคนทั่วไปอยู่ที่ “การปลูก” มากกว่า หลายคนมองว่าการปลูกองุ่นเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับคนที่มีต้นทุนสูงเท่านั้น เพราะการปลูกองุ่นไม่สามารถทำได้ในพื้นที่น้อยๆ องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา
เนื่องจากเป็นผลไม้ขนาดเล็ก ต้องการในเชิงปริมาณที่มากในตลาดซื้อขาย ดังนั้นการปลูกจึงต้องค่อนข้างดูแลและใส่ใจมากเป็นพิเศษ รวมถึงปัจจัยด้านอากาศ ที่มองกันว่าองุ่นต้องคู่กับอากาศเย็นๆ เท่านั้น
สภาพพื้นที่ปลูกองุ่น
ด้วยเหตุนี้ในภาคเกษตรกรเอง ถ้าให้เลือกปลูกไม้ผลสักอย่าง หลายคนบอกว่าอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่องุ่น ทั้งที่ความจริงองุ่นไม่ได้เป็นไม้ผลที่อยู่เหนือจินตนาการมากขนาดนั้น เพียงแต่เกษตรเองควรมีความรู้ มีประสบการณ์ มีเงินทุนบ้าง การปลูกองุ่นก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการสร้างรายได้
เพราะราคาจำหน่ายในตลาดส่วนมากจะค่อนข้างดีทีเดียว และเพื่อตอกย้ำให้เห็นภาพว่าองุ่นเป็นไม้ผลที่มีคุณค่ามากเพียงใด วันนี้ทีมงานเมืองไม้ผลนำทุกท่านมาชมสวนองุ่นของ คุณวิวัฒน์ ลีวัฒนาถาวรชัย ที่ดำเนินสะดวก ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกองุ่นที่สำคัญในภาคตะวันตก ในโซนนี้องุ่นปลูกกันมาก ถ้าไม่นับที่นี่ก็ยังมีที่สามพราน นครไชยศรี รวมถึงบ้านแพ้ว ในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วย
องุ่นเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี สันนิษฐานตามข้อมูลประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ รอบโลก คาดว่ามีการปลูกกันมากกว่า 5,000 ปี ในพื้นที่ต่างๆ กระจายทั่วไป องุ่นแท้ที่จริงสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตหนาว เขตกึ่งร้อนกึ่งหนาว และเขตร้อน สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาในสมัยใด
แต่พอจะเชื่อได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้นำพันธุ์ไม้แปลกๆ จากต่างประเทศ ที่ได้เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทย และเชื่อว่าในจำนวนพันธุ์ไม้แปลกๆ เหล่านั้นน่าจะมีพันธุ์องุ่นรวมอยู่ด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้าง แต่ผลองุ่นที่ได้มีรสเปรี้ยว การปลูกองุ่นจึงซบเซาไป
ต่อมาในปี 2493 ได้เริ่มมีการปลูกองุ่นอย่างจริงจัง โดยหลวงสมานวนกิจได้นำพันธุ์มาจากแคลิฟอร์เนีย และปี 2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ ได้นำพันธุ์มาจากยุโรป ซึ่งปลูกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นับแต่นั้นมาการปลูกองุ่นในประเทศไทยจึงแพร่หลายมากขึ้น
ปัจจุบันในประเทศไทยมีการปลูกองุ่นกันอย่างแพร่หลายกระจายตัวไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บ้างเล็กน้อย แต่ระยะหลังเกษตรกรบางรายได้เปลี่ยนจากองุ่นเป็นพืชอื่น เนื่องจากมีโรค-แมลงระบาดมาก และแมลงดื้อยาไม่สามารถกำจัดได้ ทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นเริ่มลดลงไปบ้าง และถึงแม้ว่าราคาจะเป็นแรงจูงใจ แต่ปัญหาเรื่องโรค-แมลงระบาดมาก ทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นจึงไม่ค่อยขยายเท่าที่ควร
ปัญหาและอุปสรรคในการปลูกองุ่น
คุณวิวัฒน์เริ่มต้นอาชีพเกษตรมาตั้งแต่ปี 2520 เริ่มต้นด้วยการปลูกพริกหอม แต่เนื่องจากราคาตลาดไม่ค่อยดีนัก แล้วเป็นการปลูกพืชที่ต้องอาศัยการดูแลมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพืชล้มลุก จึงต้องมีการปลูกบ่อย ทำได้อยู่ประมาณ 5 ปี ก็เริ่มหันมามองพวกไม้ยืนต้น ประมาณปี 2525 จึงมาเริ่มที่การปลูกองุ่นในพื้นที่ดำเนินสะดวก
ช่วงประมาณปี 2525-2530 เป็นช่วงที่เกษตรกรมีการปลูกองุ่นกันอย่างแพร่หลาย ด้วยราคาตอนนั้นถือว่าค่อนข้างดีเพราะมีความต้องการในตลาดค่อนข้างสูง แต่ในระยะหลังประสบกับปัญหาเรื่องผลผลิตไม่ได้คุณภาพ การดูแลรักษาเริ่มยาก รวมถึงปัญหาทางด้านแรงงาน ที่ต้องเป็นแรงงานที่มีความรู้ในการดูแล จึงหาแรงงานได้ค่อนข้างยาก หลายปัจจัยรวมเข้าทำให้เกษตรกรที่ปลูกองุ่นก็เริ่มลดน้อยลงไป
ส่วนตัวของคุณวิวัฒน์เองก็เจอกับปัญหาต่างๆ เช่นกัน แต่ด้วยพื้นฐานที่รักในการเรียนรู้ แสวงหาความรู้เพิ่มเติมใหม่ๆ ประกอบกับความคิดตั้งต้นที่ว่าองุ่นเป็นผลไม้ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ขอเพียงให้อดทน และเข้าใจการปลูกอย่างแท้จริง ก็จะสามารถสร้างรายได้ที่ดี ปัจจุบันนี้ในพื้นที่ 14 ไร่ คุณวิวัฒน์มีองุ่นมากกว่า 2,000 ต้น ให้ผลผลิตหมุนเวียนได้ตลอด เมื่อรวมกับพืชหมุนเวียนตัวอื่นที่ปลูกแซมในพื้นที่ด้วยแล้ว ตลอดทั้งปีจึงมีรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นอย่างดี
สายพันธุ์ องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา
คุณวิวัฒน์เล่าที่มาของการเลือกสายพันธุ์ที่ต้องเป็น “ องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา ” ก็เพราะองุ่นที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 2 พันธุ์ ด้วยกัน พันธุ์แรก คือ พันธุ์ไวท์มะละกา เป็นพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้ามากที่สุด และในปัจจุบัน องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา นี้ยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
โดยทั่วไปปลูกง่าย และเจริญเติบโตดี มี 2 ชนิด คือ ชนิดผลกลม และผลยาว มีลักษณะช่อที่ใหญ่ยาว การติดผลดี ผล องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา ที่ได้จะมีสีเหลืองอมเขียว รสหวาน เปลือกหนา และเหนียว ในผลหนึ่งๆ มี 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง ในเวลาหนึ่งปีให้ผลผลิต 2 ครั้ง และในการเก็บผลผลิตแต่ละครั้งจะได้ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น
ปัจจุบันชาวสวนได้หันมาปลูก องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา สายพันธุ์ผลยาวกันมากขึ้น เพราะมีรสหวาน กรอบ และสีเหลืองสดใสกว่าองุ่นพันธุ์ผลกลม ส่วนอีกพันธุ์หนึ่ง คือ พันธุ์คาร์ดินัล องุ่นพันธุ์นี้จะมีสีม่วงแดง หรือดำ (ตามที่เราเห็นกันทั่วไปในท้องตลาด) รสชาติหวาน กรอบ เปลือกบาง จึงทำให้แตกง่าย เมื่อผลแก่อยู่ในช่วงฝนตกชุก องุ่นสายพันธุ์นี้ราคาค่อนข้างถูก ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยมปลูกกันเท่าใดนัก
การปักชำและการตอนกิ่งองุ่น
การปลูกในปีแรกๆ เริ่มต้นการปลูกด้วย “ตอหวาน” หมายถึง การชำต้นแล้วปลูก การทำช่วงนั้นอากาศยังพอเอื้ออำนวยให้ทำได้ แต่ในระยะหลังอากาศไม่เอื้ออำนวย รวมถึงการปลูกแบบตอหวานเหล่านี้ ต้นก็ไม่มีความแข็งแรง ต้านทานโรคได้ยาก ที่สำคัญ คือ ให้ผลผลิตต่ำ
จึงเปลี่ยนวิธีปลูกมาใช้ตอป่า แล้วเอาตามาติดที่ตอ ตอป่าสามารถหาซื้อมาจากร้านที่ชำตอป่าจำหน่าย (ติดตามาเป็นที่เรียบร้อย) ราคาประมาณ 10 บาท/ตอ ปริมาณการปลูกครั้งแรกประมาณ 1,000 ต้น ในพื้นที่ 14 ไร่ รวมถึงมีการปลูกพืชหมุนเวียนตัวอื่นในพื้นที่ควบคู่กันไปกับการปลูกองุ่นประมาณ 2,000 ต้น (พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกองุ่นได้ประมาณ 120-150 ต้น ระยะร่องประมาณ 6 เมตร ระยะห่างในการปลูกประมาณ 1.5-2.0 เมตร) หลังจากที่ได้ต้นพันธุ์หลักๆ มาแล้ว การขยายพันธุ์ในปีต่อๆ ไปก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ ของผลผลิต
องุ่นเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย และรวดเร็ว สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการปักชำและการตอน
-การปักชำ เป็นวิธีการที่ง่าย และเหมาะสมวิธีหนึ่ง กิ่งที่ใช้ปักชำควรเป็นกิ่งที่มีอายุประมาณ 7-12 เดือน กิ่งที่แก่หรืออ่อนเกินไปจะออกรากไม่ค่อยดี ควรเลือกกิ่งขนาดไม่ใหญ่ หรือเล็กเกินไป มีข้อถี่ๆ และมีตาโปนเห็นเด่นชัด เวลาทำการปักชำให้ตัดกิ่งองุ่นเป็นท่อนๆ ยาว 15-20 เซนติเมตร หรือมีข้อประมาณ 4-5 ข้อ ปักชำลงในกระบะทรายผสมขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1:1) ถ้ามีฮอร์โมนช่วยในการเร่งราก ควรนำกิ่งปักชำมาจุ่มเสียก่อน จะช่วยให้ออกรากได้มาก และแข็งแรง แล้วจึงปักชำในวัสดุที่เตรียมไว้ลึก 1 ใน 3 ของกิ่ง
รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หลังจากการปักชำแล้วประมาณ 15-20 วัน กิ่งที่ปักชำจะเริ่มแตกราก และแตกใบอ่อน เมื่ออายุประมาณ 1 เดือน ก็นำลงปลูกได้ นอกจากการปักชำในกระบะแล้ว ใต้ต้นองุ่นในแปลงปลูกมีร่มรำไรอยู่เสมอ สามารถปรับปรุงใช้เป็นแปลงปักชำกิ่งองุ่นได้ดีเช่นเดียวกัน
-การตอน เป็นวิธีการที่ชาวสวนนิยมทำกันมากอีกวิธีหนึ่ง เพราะสะดวก รวดเร็ว และตรงตามพันธุ์ กิ่งที่ใช้ตอนนั้นควรเป็นกิ่งที่ไม่อ่อน ไม่แก่ เกินไป กิ่งที่เหมาะสมในการตอนควรมีอายุประมาณ 3 เดือน ควรเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ขนาดเท่าแท่งดินสอ ปราศจากโรคและแมลง ในกิ่งเดียวกันสามารถตอนได้หลายช่วง โดยแต่ละช่วงมีระยะห่างประมาณ 3-4 ข้อ เป็นอย่างน้อย
วิธีการปลูกองุ่น
การปลูกองุ่นสามารถแบ่งตามพื้นที่ได้ 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ดอน (น้ำท่วมไม่ถึง) กับพื้นที่ลุ่ม (ต้องมีการยกร่อง) ซึ่งที่ไร่องุ่นของคุณวิวัฒน์ใช้ลักษณะการปลูกในแบบพื้นที่ลุ่ม ซึ่งต้องมีการเตรียมพื้นที่โดยการยกร่องให้แปลงมีขนาดกว้าง 6 เมตร ความยาวร่องแล้วแต่ขนาดของพื้นที่
ส่วนความสูงของร่องให้อยู่สูงกว่าแนวระดับน้ำประมาณ 50 เซนติเมตร (ป้องกันน้ำท่วม) ขนาดร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร ก้นร่องน้ำกว้าง 0.5-0.7 เมตร การปลูกควรปลูกแถวเดียวตรงกลางแปลง เว้นระยะระหว่างหลุมให้ห่างกันประมาณ 3-3.50 เมตร หลังจากทำการปลูกเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาที่สำคัญมากในการปลูกองุ่นก็คือ “การทำค้าง”
การทำค้างในการปลูกองุ่น
การทำค้างจะทำหลังจากที่ปลูกองุ่นแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งต้นองุ่นจะสูงพอดีที่จะขึ้นค้างได้ ค้างต้นองุ่นมีหลายแบบด้วยกัน แต่แบบที่นิยมกันมาก คือ ค้างแบบเสาคู่ แล้วใช้ลวดขึง มีวิธีการและขั้นตอนดังนี้
การเลือกเสาค้างอาจใช้ได้ทั้งเสาซีเมนต์ และเสาไม้ ซึ่งก็มีจุดเด่น-ข้อด้อยแตกต่างกันไป ถ้าเป็นเสาปูนก็มีราคาแพงกว่า การทำค้างต้องเสียแรงงานในการทำมากกว่า แต่มีความทนทานมากกว่าเสาไม้ที่ราคาถูกกว่า และไม่เสียเวลาในการทำมากนัก
การปักเสาจะให้ปักเป็นคู่ 2 ข้าง ของแปลงในแนวเดียวกัน โดยให้เสาห่างกัน 2 เมตรระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ค้างไม้รวกช่วยค้ำไว้เป็นระยะๆ ซึ่งก็สามารถใช้ได้ และประหยัดดี แต่เกษตรกรก็ต้องคอยเปลี่ยนค้างไม้รวกบ่อยๆ ด้วยเช่นกัน จากนั้นก็เป็นการ “ขึงลวด” ควรใช้ลวดขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของพวงองุ่น ในกรณีที่ติดผลผลิตทีละมากๆ
หลังจากขึงลวดเสร็จแล้วให้ตรวจดูว่าลวดหย่อนตกท้องช้างหรือไม่ ถ้าหย่อนมากให้ใช้ไม้รวกขนาดใหญ่ปักเป็นคู่ตามแนวเสาค้าง แล้วใช้ไม้รวกอีกอันหนึ่งพาดขวางผูกด้านบนในลักษณะเดียวกับค้าง เพื่อช่วยรับน้ำหนักเป็นระยะๆ ไปตลอดทั้งแปลง เพราะเมื่อต้นองุ่นขึ้นค้างจนเต็มแล้วจะมีน้ำหนักมาก จำเป็นต้องช่วยรองรับน้ำหนัก หรือค้ำยันไว้ไม่ให้ค้างหย่อน
การตัดแต่งกิ่ง ช่อดอก และผลองุ่น
คุณวิวัฒน์ให้ข้อมูลทีมงานเมืองไม้ผลว่าองุ่นเป็นพืชที่เจริญเติบโต และมีการแตกกิ่งก้านสาขาเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นองุ่นเจริญเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้นองุ่นที่ปลูกเสร็จแล้วจึงควรมีไม้รวกปักขนาบลำต้นแล้วผูกต้นชิดกับเสาเพื่อบังคับให้ต้นตั้งตรง ในระหว่างนี้ตาข้างจะเจริญพร้อมกับตายอด ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การเจริญเติบโตส่วนยอดลดลง
ดังนั้นจึงต้องตัดตาข้างทิ้งเสมอๆ และผูกให้ยอดองุ่นตั้งตรง เมื่อต้นองุ่นเติบโตจนมีความสูง 1.5 เมตร หรือจากยอดถึงระดับค้าง หรือเสมอระดับลวด ต้องตัดยอดทิ้ง จัดกิ่งให้อยู่ตรงข้ามกัน เพื่อให้ตาข้างที่อยู่บริเวณยอดเจริญออกมา 2 ยอด ตรงข้ามกัน ซึ่งจะเอาไว้ทั้ง 2 กิ่ง หรือกิ่งเดียวกันก็ได้ ถ้าเอาไว้ 2 กิ่ง ให้จัดกิ่งทั้งสองอยู่ตรงข้ามกัน
แต่การไว้ทั้ง 2 กิ่ง มักพบปัญหา คือ กิ่งทั้ง 2 เจริญเติบโตไม่เท่ากัน ทำให้การกระจายของผลไม่สม่ำเสมอกัน จึงมักนิยมไว้กิ่งเพียงกิ่งเดียว คือ หลังจากที่ตัดยอด และตาแตกออกมาเป็นกิ่งแล้ว ให้เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไว้เพียงกิ่งเดียว อีกกิ่งหนึ่งตัดออก
กิ่งที่คงค้างไว้ของทุกต้นให้จัดกิ่งหันไปในทิศทางเดียวกัน คือ หันไปทางหัวแปลง หรือท้ายแปลง หลังจากที่จัดกิ่งให้หันไปในทิศที่ต้องการแล้ว เมื่อกิ่งนั้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ตัดยอดออก กิ่งนั้นจะแตกตาใหม่ เติบโตเป็นกิ่งใหม่ 2 กิ่ง ให้คงเหลือไว้ทั้ง 2 กิ่ง และเมื่อกิ่งใหม่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ก็ตัดยอดอีก และเหลือไว้ทั้ง 2 กิ่ง เช่นเดียวกัน ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งองุ่นเต็มค้าง จึงหยุดการตัดยอด
ระยะเลี้ยงเถา
ในระหว่างที่ตัดยอดให้กิ่งแตกใหม่นั้นจะต้องจัดกิ่งให้กระจายเต็มค้างอย่างทั่วถึงอย่าให้ทับกัน หรือซ้อนกันมาก จัดให้กิ่งอยู่บนค้างเสมอ อย่าให้กิ่งชูโด่งขึ้นไปด้านบน หรือห้อยย้อยลงด้านล่าง การจัดกิ่งให้อยู่ในที่ที่ต้องการอาจจะใช้เชือกกล้วยผูกมัดกับลวดก็ได้ เพราะเชือกกล้วยจะผุเปื่อยเร็ว ทำให้การตัดแต่งกิ่งในครั้งต่อไปทำได้สะดวก กิ่งเหล่านี้เรียกว่า “เคน” ซึ่งเป็นกิ่งที่ใช้ตัดแต่งเพื่อการออกดอกต่อไป ช่วงการเจริญเติบโตของต้นองุ่นตั้งแต่ปลูก ตัดแต่งทรงต้น จนต้นมีอายุพอที่จะตัดแต่งกิ่งได้ เรียกว่า “ระยะเลี้ยงเถา” ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน
หลังจากจัดกิ่งเรียบร้อยแล้ว ช่อดอกจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งต้นองุ่นออกดอกมากเกินไป ถ้าปล่อยไว้ทั้งหมดจะทำให้ต้นโทรมเร็ว จึงแนะนำให้ตัดแต่งช่อที่ติดเป็นผลเล็กๆ แล้ว โดยเลือกช่อที่เห็นว่ามีขนาดเล็ก รูปทรงไม่สวย ติดผลไม่สม่ำเสมอ มีแมลงทำลาย และเหลือช่อที่มีรูปทรงสวยไว้ให้กระจายอยู่ทั่วทุกกิ่งอย่างสม่ำเสมอ
การตัดแต่งผลเพื่อให้องุ่น
เมื่อองุ่นเริ่มติดผล เกษตรกรต้องมีการตัดแต่งผลเพื่อให้องุ่นในช่อไม่แน่นเกินไป เพราะจะทำให้ผลเล็ก และคุณภาพไม่ดี การตัดแต่งผลออกจากช่อมักทำ 1-2 ครั้ง เมื่อผลโตพอสมควร วิธีการให้ใช้กรรไกรขนาดเล็กสอดเข้าไปตัดที่ขั้วผล อย่าใช้มือเด็ดหรือดึง เพราะจะทำให้ช่อผลช้ำเสียหาย ฉีกขาด และมีส่วนของเนื้อผลติดอยู่ที่ขั้วทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย ข้อควรระวังเมื่อองุ่นติดผลแล้ว ผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในสวนต้องสวมหมวก หรือโพกศีรษะเสมอ อย่าให้เส้นผมไปโดนผลองุ่น จะทำให้ผลองุ่นเน่าเสียได้
การฉีดพ่นฮอร์โมนให้ต้นองุ่น
สารฮอร์โมนที่ใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ช่อดอกยืดยาวขึ้น ทำให้ช่อโปร่ง ผลไม่เบียดกันมาก ประหยัดแรงงานในการตัดแต่งผล นอกจากนี้ยังช่วยให้ผลยาว ผลโตขึ้นสวยงาม รสชาติดี สีสวย หวาน กรอบ ผลองุ่นที่ชุบด้วยฮอร์โมนจึงขายได้ราคาดี
ฮอร์โมนที่ใช้ คือ สาร “จิบเบอร์เรลลิน” ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาด (ชื่อทางการค้าต่างๆ กัน) อัตราที่ใช้ได้ผล คือ 20 พีพีเอ็ม (คือตัวยา 20 ส่วน ในน้ำ 1 ล้านส่วน) นิยมใช้ 1-2 ครั้ง คือ ครั้งแรกหลังจากดอกบาน 7 วัน (ดอกบาน 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งช่อ) ส่วนครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกประมาณ 7 วัน
ข้อควรระวัง ในการใช้ฮอร์โมน อาจเป็นโอกาสที่จะทำให้โรคต่างๆ ระบาดจากช่อหนึ่งไปยังอีกช่อหนึ่งได้ง่าย ถ้าเป็นช่วงที่โรคกำลังระบาดอยู่ ควรเติมยากันราลงไปในฮอร์โมนนั้นด้วย และการใช้ฮอร์โมนต้องระวังเกี่ยวกับการเตรียมสารให้ได้ความเข้มข้นที่กำหนด การผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้ผลองุ่นหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น
การให้ปุ๋ยต้นองุ่น
ปุ๋ยนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะองุ่นเจริญเติบโตทั้งปี ให้ผลผลิตมาก ดังนั้นจึงต้องใช้ธาตุอาหารต่างๆ ในการบำรุงค่อนข้างมาก ปุ๋ยที่ใช้ ได้แก่
1.ปุ๋ยอินทรีย์ ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ทุกปีๆ ละอย่างน้อย 1 ครั้งๆ ละ 5-10 กิโลกรัม/ต้น แต่ต้องคำนึงเสมอว่าปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมัก ที่จะนำมาใส่นั้นต้องเป็นปุ๋ยที่มีการย่อยสลายหมดแล้ว โดยเฉพาะปุ๋ยมูลค้างคาวจะใช้ได้ผลดีที่สุด
2.ปุ๋ยเคมี แบ่งใช้ในหลายระยะ เริ่มตั้งแต่ระยะเลี้ยงเถาไปจนถึงระยะให้ผล ระยะเลี้ยงเถาเป็นการให้เพื่อบำรุงรักษาต้นให้เจริญเติบโต ส่วนมากเป็นสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 อัตราส่วนประมาณต้นละ 50 กรัม/ต้น ใส่ทุกๆ 1 เดือน จนถึงเดือนที่ 3 เพิ่มเป็น 100 กรัม/ต้น ทุกเดือน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นองุ่นที่ปลูกด้วย ส่วนในระยะที่องุ่นให้ผล แบ่งการให้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
–ระยะที่ 1 หลังการเก็บเกี่ยวมีดแรกใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตราขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นเพื่อบำรุงต้น พร้อมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก
–ระยะที่ 2 หลังตัดแต่งกิ่ง 7-15 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อบำรุงยอด ใบ และดอก ที่ผลิขึ้นมาใหม่
–ระยะที่ 3 หลังตัดแต่งกิ่ง 45 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17 หรือ 4-16-24-4 ใส่เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของผลประมาณ 100 กรัม/ต้น
–ระยะที่ 4 หลังตัดแต่งกิ่ง 75 วัน ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยที่มีโปแตสเซียมสูง ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 หรือ 13-13-21 ประมาณ 100 กรัม/ต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลองุ่น สีผิว และรสชาติ
นอกจากนี้ยังมีพวกธาตุอาหารเสริมที่ควรให้เพื่อพัฒนาต้นให้สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว นิยมเป็นพวกปุ๋ยเกร็ดสูตร 15-30-15 หรือ 10-20-30 หรือ 20-20-20 ที่มีธาตุอาหารรอง และธาตุปริมาณน้อย อัตรา 60 กรัม ผสมกรดฮิวมิค 100-200 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณใต้ทรงพุ่มให้ทั่วทุกสัปดาห์ รวม 3 ครั้ง หรือฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบสูตร “ทางด่วน” ซึ่งประกอบด้วยสารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ครอปไจแอน โพลีแซค มอลตานิค และฟลอริเจน เป็นต้น
การห่อผลป้องกันแมลง และศัตรูพืช ของ องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา
หลังจากตัดแต่งผลแล้วควรห่อผลเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย เช่น เพลี้ยแป้ง แมลงวันทอง อีกทั้งยังทำให้ผลองุ่นผิวสวย ลูกโตกว่าปกติ และป้องกันความเสียหายจากเส้นผมของผู้ปฏิบัติงานไปโดนผลองุ่นอีกด้วย วัสดุที่ใช้ห่อผลองุ่นอาจทำเองโดยใช้กระดาษ เช่น กระดาษ กระสอบปูน ซึ่งทนต่อน้ำฝน ไม่ค่อยเปียกน้ำ และเมื่อถูกน้ำจะแห้งเร็ว ทำให้ไม่ฉีกขาดง่าย
แต่ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์จะใช้ได้ไม่นาน เพราะกระดาษหนังสือพิมพ์เมื่อโดนน้ำแล้วจะซับน้ำ และเปื่อยยุ่ยได้ง่าย หรืออาจจะซื้อวัสดุห่อผลองุ่นแบบสำเร็จรูปก็ได้ ปัจจุบันจะมีบริษัทผลิตจำหน่ายหลายแบบ แต่ก่อนห่อผลจะต้องฉีดพ่นยากันเชื้อราก่อน หรือใช้วิธีการจุ่มช่อผล เหมือนกับการจุ่มฮอร์โมนยืดช่อดอกก็ได้ เพื่อป้องกันโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย
การเก็บเกี่ยวผลผลิต องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา
การเก็บเกี่ยวผลองุ่นเป็นขั้นตอนที่สำคัญตอนหนึ่ง เพราะองุ่นเป็นผลไม้บ่มไม่ได้ การเก็บผลองุ่นจึงต้องเก็บในช่วงที่ผลแก่เต็มที่ แต่ไม่แก่จนเกินไป ซึ่งผลองุ่นที่ยังไม่แก่เต็มที่จะมีรสเปรี้ยว รสฝาด คุณภาพของผลไม่ดี สีไม่สวย ส่วนผลองุ่นที่แก่เกินไป จะหวานจัดเกินไป เน่าเสียง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน ผลหลุดร่วงง่าย เป็นต้น
ผลองุ่นที่แก่จัดสังเกตได้หลายอย่าง เช่น การนับอายุตั้งแต่ตัดแต่งจนถึงแก่จัด ซึ่งพันธุ์ไวท์มะละกาจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน-3 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตามการกำหนดการแก่ของผล โดยการนับอายุตั้งแต่ตัดแต่งนี้มีข้อสังเกตบางประการ เช่น ผลองุ่นที่ใช้ฮอร์โมนจะสุกเร็วกว่าผลที่ไม่ใช้ฮอร์โมนหลายวัน และฤดูกาลก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น ฤดูแล้ง ผลจะสุกเร็วกว่าฤดูฝน เป็นต้น จึงต้องใช้อย่างอื่นประกอบด้วย เช่น สีของผลที่แก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองใน
สำหรับองุ่นที่ปลูกอยู่ในแปลงเดียวกันจะแก่ไม่พร้อมกัน การเก็บจำเป็นต้องเก็บหลายครั้ง โดยเลือกเก็บเฉพาะช่อที่แก่เต็มที่ก่อน และทยอยเก็บไปเรื่อยๆ จนหมด การเก็บใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผลแล้วบรรจุลงเข่ง หรือลังไม้ที่บุ หรือรองด้วยกระดาษห่อฝอย หรือใบตอง เพื่อป้องกันการชอกช้ำในขณะขนส่ง การขนส่งก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ชอกช้ำมาก
จำนวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต จุดคุ้มทุน และกำไร
ในรอบการเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา ไร่องุ่นของคุณวิวัฒน์พื้นที่ 14 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้กว่า 40,000 กก. เฉลี่ยไร่ละประมาณ 3,000 กก. ถือว่าได้ปริมาณค่อนข้างมาก เพราะจากการคำนวณเบื้องต้น จุดคุ้มทุนที่จะทำให้ชาวไร่องุ่นอยู่รอดได้ในพื้นที่อย่างน้อย 10 ไร่ ควรได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20,000 กก. รวมถึงราคาในการรับซื้อที่ไม่ควรต่ำกว่า 30 บาท
ซึ่งเป็นจุดที่พอทำให้เกษตรกรมีกำไร เพราะต้นทุน/ไร่ โดยเฉลี่ยจะตกอยู่ประมาณ 100,000 บาท แยกเป็นรายจ่ายพวกปุ๋ยเคมี อาหารเสริม ค่าแรงงาน และวัสดุอุปกรณ์ในการทำค้าง หรือการซ่อมบำรุงพื้นที่ในการเพาะปลูกต่างๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่เกษตรกรบางคนปลูกองุ่นและอยู่รอดได้ กับที่บางคนปลูกแล้วไปไม่รอด
ส่วนหนึ่งเพราะขาดความรู้ ความชำนาญ ในการทำให้องุ่นได้ปริมาณ และคุณภาพที่ดี ในส่วนของตลาดนั้นมีกำลังการรับซื้อที่ค่อนข้างมาก เพราะสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้อย่างหลากหลาย พูดได้ว่าถ้าเกษตรกรมีกำลังในการปลูกให้ได้คุณภาพ และผลผลิตดีๆ ไร่องุ่นจะกลายเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาลในทางเกษตรกรรมเลยทีเดียว
คุณวิวัฒน์ทิ้งท้ายให้ทีมงานฟังว่าการปลูกองุ่นเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องศึกษาเทคนิควิธีการต่างๆ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง การปลูกองุ่นแม้ดูว่ายาก แต่ในทางกลับกันก็ทำให้มีคู่แข่งที่น้อย การกำหนดราคาก็ง่าย ได้กำไรสูง สามารถพัฒนาให้กลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่สนใจต้องแน่ใจว่ามีความตั้งใจจริง ไม่ใช่แค่อยากทำเล่นๆ เพราะการลงทุนสูง แต่ก็คุ้มค่า ถ้าผลผลิตดี คุณภาพดี เกษตรกรมีกำไรมหาศาลแน่นอนครับอ
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ คุณวิวัฒน์ ลีวัฒนาถาวรชัย (ผู้ช่วยเทียม) 144 ม.5 ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 70130 โทร.08-9914-9449 องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา