การปลูกลำไย
ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวน “ลำไย” กำลังตื่นตัวกันเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเพื่อให้ลำไยออกดอกนอกฤดู เพราะปกติแล้วการออกดอก ติดผล ของลำไย จะต้องมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม กล่าวคือ ช่วงก่อนการออกดอก ใบ และยอด จะต้องหยุดการผลิใบ มีการสะสมอาหารเพียงพอ ใบอยู่ในสภาพแก่ทั้งต้น มีอุณหภูมิหนาวเย็นประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส ช่วงหนึ่งก่อนการออกดอก เมื่อมีการใช้สารเคมีทำให้ลำไยออกดอกได้ แล้วความหนาวเย็นก็จะไม่มีความจำเป็นต่อการออกดอกของลำไยอีกต่อไป
ถึงลำไยจะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของภาคเหนือ แต่ก็ยังสามารถปลูกได้ในหลายภูมิภาคในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรีที่หลายพื้นที่มีการปลูกลำไยกันขยายเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกษตรกรมีการเรียนรู้เรื่องการปลูกลำไยทั้งในฤดู และการทำลำไยนอกฤดู ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ
จุดเริ่มต้นการปลูกลำไย
คุณวันเพ็ญ ขันธ์สุวรรณ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยชาวจังหวัดราชบุรี และยังเป็นผู้นำในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ปลูกลำไยที่ตนดูแลอยู่ รวมทั้งมีการดูแลลูกไร่ที่เข้าร่วมในกลุ่มปลูกลำไยในหลายพื้นที่ในจังหวัดราชบุรีเอง และจังหวัดใกล้เคียง
เดิมทีคุณวันเพ็ญเป็นเกษตรกรไร่อ้อย แต่เนื่องจากน้าชายได้พันธุ์ลำไยมาจากจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ปรากฏว่าในช่วงฤดูหนาวผลผลิตของลำไยที่ออกมานั้นมีปริมาณที่มาก สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง จึงเริ่มหันมาปลูกต้นลำไยควบคู่กับการปลูกอ้อยไปด้วย จนกระทั่งมีการผลิตลำไยนอกฤดู โดย “สารโพแทสเซียมคลอเรต” เป็นตัวควบคุมในการออกดอก ออกผล ได้
“เริ่มแรกที่ปลูกลำไยนิดหน่อยประมาณ 15 ไร่ และก็มีปลูกฝักควบคู่กันไปด้วย ปลูกอ้อยด้วย พอมีสารเข้ามาทำให้ลำไยออกนอกฤดู ก็ทิ้งหมดทุกอย่าง หันมาปลูกลำไยอย่างเดียว ต่อมาจึงมีการตั้งกลุ่มผู้ปลูกลำไยขึ้นได้ประมาณ 10 ปี กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปทำของตัวเอง กลุ่มตรงนี้ก็ต้องปิดลง แต่พี่ก็ยังเหลือลูกน้องที่ต้องดูแล ลูกไร่ที่ต้องช่วยเหลือ เพราะพี่เป็นทั้งตัวแทนรับซื้อผลผลิต และรับราดสารโพแทสเซียมคลอเรตให้ลูกไร่ตามที่ต่างๆ ถึงไม่มีกลุ่มแต่เราก็ยังต้องทำต่อไป” คุณวันเพ็ญกล่าวให้ทีมงานฟัง
สภาพพื้นที่การปลูกลำไย
หลังจากคุณวันเพ็ญมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการทำลำไยให้ออกนอกฤดู และการบังคับการออกดอกของต้นลำไยแล้ว จึงนำไปปฏิบัติให้กับลูกไร่ของตน โดยการนำสารโพแทสเซียมคลอเรตมาหว่านในพื้นที่ปลูกลำไย ทางลูกไร่ในแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการจะผลิตลำไยนอกฤดู
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสภาพภูมิอากาศ ว่าเหมาะสมในการขาดสารเพื่อบังคับในการเกิดดอกของลำไยหรือไม่
คุณวันเพ็ญจะดูแลลูกไร่ โดยการนำคนงานเข้าไปดูแลสวนให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกไร่ ที่ไม่มีคนงาน อาทิเช่น แต่งกิ่ง เก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น ทำแบบครบวงจร รวมถึงรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรลูกไร่ของตน โดยให้ราคารับซื้อเท่ากับตามท้องตลาด
เมื่อมีการให้คนงานเข้าไปดูแลภายในสวนลำไยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ซึ่งคุณวันเพ็ญจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ที่เกษตรกรลูกไร่ต้องเสียให้ก่อน ในกรณีที่ยังไม่มีทุนแต่จะหักภายหลังที่เก็บเกี่ยวผลผลิตโดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยใดๆ ทั้งสิ้น
คุณวันเพ็ญเผยว่า “ถ้าเป็นเกษตรกรลูกไร่ตนจะดูแลทุกอย่าง ทุนไม่มีเราออกทุนให้ แต่จะหักค่าใช้จ่ายหลังจากขายผลผลิตได้ โดยไม่คิดดอกเบี้ย คนงานที่ทำจะเป็นลูกน้องตน เพราะต้องหางานให้พวกเขามีงานตลอด งานที่สวนลำไยของคุณวันเพ็ญก็ต้องพึ่งคนงานพวกนี้ พอหมดงานที่สวนของตนก็ต้องให้เขามีงานอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างไรการใช้แรงงานก็จะมีอย่างสม่ำเสมอ โดยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ทิ้งทั้งเกษตรกรลูกไร่ และไม่ทิ้งแรงงานของตน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายรับผลประโยชน์ร่วมกัน
การบำรุงดูแลรักษาต้นลำไย
ในการผลิตลำไย นอกจากจะมุ่งผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณของผลผลิตแล้ว ผู้ผลิตควรจะต้องคำนึงถึงการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพทางการตลาดด้วย ซึ่งในการเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตนั้น เกษตรกรต้องมีความรู้และความเข้าใจในปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของต้น เพื่อการออกดอก ติดผล ตลอดจนการจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณ และปรับปรุงคุณภาพผลผลิต เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการผลผลิตลำไยให้มีคุณภาพ เพื่อให้การลงทุนทำสวนลำไยนั้นได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมคลอเรตที่ใช้ในการราดต้นลำไยเพื่อเป็นตัวเร่งให้ลำไยออกดอก ออกผล ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าหากจะให้ลำไยออกดอก ออกผล ให้เป็นไปตามธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก สาเหตุนั้นก็จะมาจากหลายสาเหตุ เช่น สภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงไป ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความสมบูรณ์ของต้นลำไย เป็นต้น
การบริหารจัดการสวนลำไย
แต่ในปัจจุบันได้มีการค้นพบว่าได้มีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเป็นตัวเร่งให้ลำไยสามารถออกดอก ออกผล ได้
1.การเตรียมความพร้อมของต้นลำไย
1.1 เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรตัดกิ่งมีโรคและแมลงทำลายออกไปเพื่อให้ลุกลาม
1.2 ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก บำรุงต้น สะสมอาหารให้ได้มากพอ
1.3 เพื่อให้ยอดแตกมาใหม่ สมบูรณ์ พร้อมออกดอก ควรป้องกันกำจัดโรคและแมลงในช่วงแตกใบอ่อน เช่น โรคราน้ำค้าง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และแมลงปีกแข็ง เป็นต้น
2.การปฏิบัติในการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต
2.1 การให้ทางดิน โดยการหว่านสารราดลำไยภายในทรงพุ่มแล้วให้น้ำตาม หรืออาจทำให้เป็นร่องรอบทรงพุ่ม แล้วให้สารโพแทสเซียมในร่อง แล้วให้น้ำตาม หรือใช้สารละลายน้ำแล้วราดสารในทรงพุ่มก็ได้ (ปริมาณขึ้นอยู่กับอายุและทรงพุ่มของต้นลำไย)
การผสมน้ำราด มีข้อดี คือ มีการกระจายตัวของสารอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่ไม่มีฝนตก แต่จากการสังเกตวิธีการให้สารโดยผสมน้ำราดในช่วงที่ฝนตกมักไม่ค่อยได้ผล แต่การให้สารโดยการหว่านกลับได้ผลดีกว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสารค่อยๆ ละลายออกมาไม่ถูกชะไปกับน้ำฝน ในทางปฏิบัติก่อนการให้สารควรทำความสะอาดบริเวณทรงพุ่ม โดยการกำจัดพืช และกวาดวัสดุคลุมดินออกจากโคนต้น หว่านสารหรือราดสารบริเวณชายพุ่มแล้วให้น้ำตามพอชุ่ม เพื่อให้รากดูดสารเข้าสู่ลำต้นให้มากที่สุด ในช่วง 15 วันแรกของการให้สาร ควรรักษาความชื้นอย่างสม่ำเสมอ
2.2 การให้ทางใบ ใช้ความเข้มข้น 2,000 มล./ล. โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม ควรเน้นบริเวณปลายยอด สามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ การให้สารวิธีนี้มีข้อดี คือ ใช้สารในปริมาณที่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทางดิน แต่มีข้อจำกัด คือ ใบลำไยบางส่วนจะร่วง
ในช่วงฤดูฝน ถ้ามีฝนตกควรมีการพ่นสาร 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน การพ่นสารในช่วงก่อนฤดูกาล หรือให้ลำไยออกนอกฤดูกาล หรือหลังฤดูกาล ไม่เกิน 2 เดือน จะทำให้ต้นลำไยมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกสูง
3.ปัจจัยที่มีผลต่อการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต
3.1 อายุของใบลำไย ระยะที่เหมาะสมในการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต คือ ใบอายุประมาณ 45 วัน ต้นลำไยจะตอบสนองต่อสารได้ดีในระยะใบแก่ ส่วนใบอ่อนคาดว่าน่าจะมีสารยับยั้งการออกดอก ซึ่งเวลาใช้สารโพแทสเซียม คลอเรตไปแล้วอาจได้ผลไม่ดีเท่าระยะใบแก่
3.2 ฤดูกาลในการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต ควรกำหนดปริมาณสารให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพราะฤดูกาลมีผลต่อการตอบสนองของต้นลำไยต่อสารที่ให้ ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคมซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ต้นลำไยสามารถตอบสนองต่อสารได้ดี แม้ใช้สารในปริมาณที่น้อย แต่ในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกมากที่สุด จะออกดอกได้น้อยกว่า นอกจากนี้ไม่ควรให้สารราดลำไยกับต้นลำไยที่มีอายุมากในฤดูฝน เพราะจะตอบสนองไม่ดีเท่ากับลำไยที่มีอายุน้อย
3.3 แสง ต้นลำไยที่ให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในสภาพที่มีแสงจะออกดอกได้ดีกว่าในสภาพครึ้มฟ้า ครึ้มฝน และควรหลีกเลี่ยงการใส่สารราดลำไยในช่วงฝนตกชุก
ถึงแม้ว่าจะมีการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตกับลำไยได้ถึง 2 วิธี ที่กล่าวมา แต่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมให้สารนี้ทางดินมากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลดี
ข้อควรพิจารณาในการผลิตลำไยนอกฤดู
1.ต้นลำไยควรมีความสมบูรณ์ แตกใบอ่อนแล้วประมาณ 2 ครั้ง และใบแก่เต็มที่
2.ควรมีแหล่งน้ำพอเพียงตลอดช่วงออกดอก ติดผล เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ
3.มีตลาดรองรับผลผลิต และมีเงินทุน เพราะมีต้นทุนการผลิตสูง
4.มักมีโรคและแมลงเข้าทำลายมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ และโรคจากเชื้อรา
5.เกษตรกรมีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลรักษาสวน และใช้ปัจจัยการผลิต
ด้านตลาดผลผลิตลำไย
ด้านการหาตลาดคุณวันเพ็ญจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรลูกไร่ โดยให้ราคาตามท้องตลาด และนำไปขายให้พ่อค้า แม่ค้า ที่รับซื้ออีกที
คุณวันเพ็ญเผยให้ทีมงานฟังว่า ตลาดที่ส่งผลผลิตลำไยตนจะเป็นผู้หาเอง และบางช่วงจะมีพ่อค้า แม่ค้า มาติดต่อขอรับซื้อในช่วงที่มีผลผลิตมากๆ แต่นั่นไม่ใช่ผลดีเสมอไป เพราะบางรายซื้อขายจนเกินความเชื่อใจ แต่สุดท้ายก็นำผลผลิตไปโดยที่ไม่จ่ายเงินก็มี ทำให้ผลผลิตลำไยตรงนั้นสูญเปล่า แต่คุณวันเพ็ญก็แสดงความรับผิดชอบโดยนำเงินส่วนที่โดนโกงมาจ่ายให้เกษตรกรลูกไร่แทน เงินส่วนนี้ก็เป็นส่วนตัวของคุณวันเพ็ญเอง
ส่วนตลาดที่นำผลผลิตของลำไยไปส่งนั้นจะเป็นตลาดใหญ่ตามจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง เช่น นครปฐม ราชบุรี เป็นต้น โดยเกรดของลำไยที่ส่งจะมี 2 เกรด คือ ลูกใหญ่ กับลูกเล็ก
ในปีนี้ราคาลำไยถือว่าตกต่ำพอสมควร อาจมีขึ้น มีลง แต่ก็ไม่สูงมากนัก จนทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยมีรายได้ลดลง แต่ค่าปุ๋ย-ยาที่ใช้อาจเท่าเดิม หรือบางรายอาจเพิ่มขึ้น เพราะการผลิตลำไยในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคมีความต้องการน้อย ผลผลิตที่ออกมาจึงทำให้ราคาของลำไยลดลงอยู่ที่ประมาณ 12-20 บาท (ลูกใหญ่) และ 5-8 บาท (ลูกเล็ก)
แต่ถึงอย่างไรการผลิตลำไยนอกฤดูก็ยังสามารถทำให้มีตลาดเพียงพอที่รับซื้อลำไยเพื่อไปขายให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
การจำหน่ายผลผลิตลำไย
ต้นทุนการผลิตลำไยนั้นสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ต้นทุนแปรผัน และต้นทุนคงที่ โดยที่ต้นทุนแปรผันนั้น จะประกอบไปด้วยค่าแรง ค่าใช้จ่าย ค่าวัสดุทางการเกษตร และค่าเสียโอกาสเงินลงทุน ส่วนต้นทุนคงที่ จะประกอบด้วยค่าเช่าที่ดิน และค่าเสื่อมอุปกรณ์ แต่เราพบว่าต้นทุนในการผลิตลำไยส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของต้นทุนแปรผัน ซึ่งจะอยู่ในส่วนของค่าแรง และค่าปุ๋ย-ยา ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบำรุง หรือเสริมสร้างให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์มากที่สุด
“ราคาลำไยในปีนี้มีหลายราคาแล้วแต่ช่วงฤดูกาล ถ้าแพงก็แพงเลย แต่ถ้าถูกก็ถูกเลย ลูกไร่บางคนลงทุน 40,000-50,000 บาท/ไร่ แต่ผลผลิตบางช่วงได้น้อย บางช่วงได้มาก อย่างบางต้นอายุประมาณ 10 ปี จะได้น้ำหนักประมาณ 30-50 กิโลกรัม/ต้น 1 ไร่ จะได้ประมาณ 7-8 ต้น ถ้าลำไยกิโลกรัมละ 15 บาท ก็จะได้ 100,000 กว่าบาท แต่ถ้าลำไยได้ราคาสูง ลูกไร่ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไปอีก” คุณวันเพ็ญกล่าวถึงรายได้ที่เกษตรกรลูกไร่จะได้รับ
สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณวันเพ็ญ ขันธ์สุวรรณ 32 ม.1 ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000
โทร.08-6162-2829
และขอขอบคุณ ภาพจากสวนลำไยจาก คุณสำเริง กิตติภัทเมธา 189 ม.10 อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 70150