เกษตรจังหวัด ยืนยัน “ขายตึก” มะม่วง สายพันธุ์ดั้งเดิมเมืองแปดริ้วมีอนาคต
หากพูดถึงสินค้าไม้ผลที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indications หรือ GI) ของจังหวัดฉะเชิงเทรา หลายคนต้องนึกถึง มะม่วง น้ำดอกไม้สีทอง และมะพร้าวน้ำหอมบางคล้า แต่อนาคตข้างหน้าสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ของที่นี่ อาจจะไม่ได้มีแค่ผลไม้ 2 ชนิดนี้อีกต่อไป
สภาพพื้นที่ปลูก มะม่วงขายตึก
“มะม่วงขายตึกเดิมเป็นมะม่วงพื้นบ้านที่ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก ต่อมาพัฒนาจนมีผลใหญ่ขึ้น อีกทั้งสีสันและรสชาติดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น” คุณดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของมะม่วงสายพันธุ์โบราณที่ชื่อว่ามะม่วงขายตึกซึ่งมีถิ่นกำเนิดในฉะเชิงเทรา
ในฐานะเกษตรจังหวัด คุณดนัยเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกมะม่วงสายพันธุ์นี้กันมากขึ้น จากเดิมมีแค่ไม่กี่ร้อยไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ไร่ โดยที่มาของชื่อสายพันธุ์ก็น่าสนใจไม่น้อย เมื่อผู้คนเปรียบเปรยถึงรสชาติของ มะม่วง สายพันธุ์นี้ ที่อร่อยถึงขั้นต้องยอมขายบ้าน ขายตึก มาซื้อหารับประทานกันเลยทีเดียว
สายพันธุ์มะม่วง
“รสชาติดี หวานอมเปรี้ยว เนื้อสีเหลือง กรอบ แก่จัดจะออกรสมัน” คุณดนัยพูดถึงรสชาติของสายพันธุ์ มะม่วงขายตึก ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยรับประทานได้ ทั้งแบบผลสุก และผลดิบ แต่ที่นิยมส่วนมากจะเน้นรับประทานแบบผลดิบ โดยชาวสวนแปดริ้วจะปลูกมะม่วง หลายสายพันธุ์เพื่อลดความเสี่ยงในแง่ผลผลิต
การบริหารจัดการ มะม่วงขายตึก
ในภาพรวมสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรามีการส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรมาต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของกระบวนการผลิตที่เน้นเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practices : GAP) การปลูก การดูแลรักษา การกำจัดโรคแมลงต่างๆ จนถึงการเก็บเกี่ยวให้ถูกต้อง ปลอดภัย แก่ผู้ผลิต และผู้บริโภค
เมื่อกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน สิ่งที่ต่อยอด คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรในจังหวัด ด้วยการเดินหน้าขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพิ่มเติมให้กับมะม่วงพันธุ์ขายตึก กับมะม่วงแรด หลังจากก่อนหน้านี้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และมะพร้าวน้ำหอมบางคล้า เป็นสินค้า 2 ชนิด ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้ว
หลังจากดำเนินการไปเกินครึ่งทาง ทั้งการรวบรวมข้อมูลเอกสารต่างๆ ความคืบหน้า ณ เวลานี้ เหลือเพียงรอการตรวจสอบย้อนกลับของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้ข้อมูลบางส่วนเพิ่มเติมเท่านั้น ปัจจุบันแนวโน้มมะม่วงพันธุ์ขายตึกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย มะม่วงขายตึก
อีกทั้งเกษตรกรให้ความสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพของผลผลิต ซึ่งเกษตรจังหวัดทราบดี จึงได้ส่งเสริมในด้านการหาตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายมาโดยตลอด อาทิ การจัดประชาสัมพันธ์ผลผลิตการเกษตรด้านต่างๆ ตลาดออนไลน์ ตลาดในท้องถิ่น และตลาดห้างสรรพสินค้าต่างๆ
“แปดริ้วของเรามีงานมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว แต่ช่วงปีที่ผ่านมาเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องเตรียมตัวมาวางแผนเพิ่มเติมกันใหม่ ก่อนหน้านี้เราจัดพื้นที่ให้พี่น้องมาจำหน่ายผลผลิตด้วยตัวเอง ให้ผู้ผลิตพบผู้บริโภคโดยตรง จัดมา 50 ปีแล้ว ในช่วงต้นเดือนเมษายนก่อนสงกรานต์ ปีนี้ถ้าช่วงนั้นสถานการณ์โควิดไม่บานปลายก็คงได้จัดตามปฏิทินเดิม นอกจากนี้เรายังมีงานมะม่วงระดับอำเภอ ทั้งอำเภอบางคล้า อำเภอพนมสารคาม”
ฝากถึงผู้ที่สนใจ มะม่วงขายตึก
มะม่วงขายตึก จะกระจายกันปลูกในหลายพื้นที่ อยู่ในอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางคล้า, คลองเขื่อน พนมสารคาม แปลงยาว และสนามชัยเขต ซึ่งจุดเด่น จุดแข็ง ของแต่ละสวนก็ต่างกันไป
ทั้งนี้หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ คุณดนัย ในฐานะเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงอยากขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาชม และชิม มะม่วงขายตึกพันธุ์พื้นเมืองของแปดริ้ว ที่รสชาติดี คุณภาพมาตรฐาน ถูกปากคนทั่วไป ได้ที่หน้าสวนของพี่น้องเกษตรกรของจังหวัด หรือติดตามข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา
สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา 65 ถนนยุทธดำเนิน ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038-511-635, E-mail : [email protected], Facebook :สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา