สภาพพื้นที่ปลูกมะม่วง
วันนี้ต้องยอมรับว่า “มะม่วงไทย” กลายเป็น “มะม่วงส่งออก” อย่างเต็มตัวไปแล้ว ด้วยศักยภาพของชาวสวนผลไม้ไทยที่ได้มีการพัฒนาตนเองภายใต้องค์ความรู้ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง จึงนำมาซึ่งผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เป็น “ผลผลิตพรีเมียมเกรด” ที่ตลาดโลกต้องการผลผลิตเป็นจำนวนมากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับชาวบ้านชุมชนโป่งตาลองที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกมะม่วงส่งออกรายใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทย ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้สามารถผลิตมะม่วงออกมาได้คุณภาพตรงตามที่ตลาดมากที่สุด ที่มีผลผลิตป้อนตลาดได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่เป็นการปลูกมะม่วงนอกฤดูมากกว่า 80% และเป็นผลผลิตจากมะม่วงในฤดูอีกเพียง 20% เท่านั้น โดยนิตยสารเมืองไม้ผลและพืชสุขภาพจะนำพาทุกท่านไปรู้จักกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ว่ามีจุดเด่นและจุดแข็งอย่างไร จึงสามารถพัฒนาชาวสวนในกลุ่มให้มีศักยภาพและได้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับชาวสวนของไทย
การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งออกมะม่วงบ้านโป่งตาลอง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งออกมะม่วงบ้านโป่งตาลอง-เขาใหญ่ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยความร่วมมือระหว่าง คุณมนตรี ศรีนิล และคุณไพฑูรย์ มาไพศาล ที่ได้ช่วยกันรวบรวมสมาชิกในชุมชนบ้านโป่งตาลองขึ้นมาเพื่อรวมกันผลิต และรวมกันขายผลผลิตให้กับลูกค้าและผู้ส่งออก จากเดิมที่ชาวสวนมะม่วงบ้านโป่งตาลองมีการตลาดแบบต่างคนต่างปลูก ต่างคนต่างขายมากกว่า ซึ่งมักมีปัญหาในเรื่องการ “ขายผลผลิตไม่ได้ราคา” หรือ ชาวสวนขายราคาตัดกันเอง บ้างก็ขายแบบเหมาสวนให้กับพ่อค้า โดยที่พ่อค้าจะมาห่อมะม่วงเอง และเก็บเอง ในขณะที่คุณมนตรีและคุณไพฑูรย์ได้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกอยู่แล้ว แต่ในสมัยนั้นราคาผลผลิตยังถูกมากเพียง 50-60 บาท/กก. เท่านั้น ทั้งๆ ที่จังหวัดอื่นขายได้ราคาสูงมาก จึงเป็นคำถามกลับไปยังบริษัทส่งออกที่รับซื้อมะม่วง ซึ่งคำตอบที่ได้ ก็คือ ทางโป่งตาลองสามารถผลิตมะม่วงให้กับบริษัทได้จริง แต่ผลผลิตยังมีปริมาณไม่มากพอกับความต้องการของบริษัท เนื่องจากเป็นการขายใครขายมัน ไม่มีกลุ่มรองรับ จึงไม่มีอำนาจต่อรองนั่นเอง
คุณมนตรีและคุณไพฑูรย์จึงได้ชักชวนชาวสวนในชุมชนให้หันมาจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต และสร้างอำนาจต่อรองด้านราคาให้เกิดขึ้น “ผมชักชวนชาวสวนมะม่วง ทั้งหมดในบริเวณนี้มารวมกลุ่มกันเป็นรัฐวิสาหกิจ ช่วงแรกชาวสวนก็ไม่เข้าใจเรื่องการรวมกลุ่มเพื่ออะไร แต่เราก็อธิบายไปว่าเพื่อเราจะได้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้า ทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น” คุณไพฑูรย์กล่าว
นั่นคือที่มาของการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นในชุมชนโป่งตาลอง ที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังทำมะม่วงแบบผสมผสานอยู่ และในช่วงแรกของการรวมกลุ่มสมาชิกยังมีจำนวนน้อย เนื่องจากชาวสวนยังไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมกลุ่ม ต่อมาไม่นานหลังจากที่ชาวสวนเริ่มมองเห็นข้อดีของการรวมกลุ่มแล้วก็เริ่มเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งออกมะม่วงบ้านโป่งตาลอง-เขาใหญ่” ที่มีคุณไพฑูรย์ มาไพศาล ดำรงตำแหน่งเป็นประธานนั้น ยังมีสมาชิกอยู่มากกว่า 31 ราย และเป็นชาวสวนคุณภาพทั้งหมดรวมพื้นที่หลาย 100 ไร่ อีกทั้งกลุ่มยังมีปริมาณผลผลิตมากถึง 100 กว่าตัน/ปี “หลังจากที่คุณมนตรีได้ลาออกจากประธานกลุ่มแห่งนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ผมก็ต้องทำหน้าที่เป็นประธานต่อจากคุณมนตรี เพราะเรารักในอาชีพนี้ เราสร้างมันมากับมือ เราเห็นการพัฒนาของกลุ่มที่มีศักยภาพขึ้นมาจนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เราก็ดีใจและภูมิใจมาก ผมจึงยังอยากให้กลุ่มเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและไม่หยุดยั้ง ภายใต้การรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างนี้ตลอดไป ด้วยเป้าหมายจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ทางกลุ่มได้ยึดถือมาตลอด นั่นก็คือ การทำของดี มีคุณภาพป้อนตลาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภคตลอดมา” คุณไพฑูรย์ให้เหตุผลในการเข้ามารับตำแหน่งประธานกลุ่มฯ โดยมี คุณสราวุธ มาไพศาล ซึ่งเป็นลูกชายของคุณไพฑูรย์ฯ เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการควบคุมการผลิตและการตลาดให้กับทางกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการดูแลด้านการเงินให้กับกลุ่มที่ยึดผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นที่ตั้ง ด้วยการหักทุก 2 บาท/กก. ของผลผลิตจากสมาชิกเข้าสู่กลุ่ม เพื่อนำมาบำรุงรักษาและพัฒนากลุ่มให้มีประสิทธิภาพทุกด้าน อีกทั้งยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติค่อนข้างกว้างไกลกว่าคนรุ่นเก่า ทำให้การตลาดของกลุ่มไปได้ค่อนข้างดี นำมาซึ่งความมั่นใจของสมาชิกทุกคนที่ได้ให้ความไว้วางใจด้านการขายผลผลิตให้กับสมาชิกทุกคนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อดำเนินงานจนครบปีคุณสราวุธก็จะมีการเรียกประชุมใหญ่เพื่อแจ้งยอดผลผลิต จำนวนผลผลิต ราคาผลผลิต รวมทั้งรายได้ทั้งหมดของกลุ่ม ให้สมาชิกทุกท่านรับทราบ ภายใต้การตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน และเป็นไปอย่างโปร่งใสมากที่สุด
การปลูกและจัดการดูแลรักษามะม่วง
คุณไพฑูรย์เผยถึงที่มาของการเริ่มต้นผลิตมะม่วงนอกฤดูคุณภาพไว้ว่า เมื่อก่อนการ “ทำมะม่วงนอกฤดู” หรือ “มะม่วงราดสาร” ยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวสวนเท่าไรนัก จะรู้เพียงแค่ว่าผลผลิตขายได้ราคาสูง แต่กระบวนการจัดการของชาวสวนนั้นยังไม่ทราบ ตลอดจนวิธีการปลูกที่ดีและถูกต้อง ต่อมาคุณไพฑูรย์จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรเข้ามาให้ความรู้และสอนวิธีการทำมะม่วงคุณภาพ รวมไปถึงขั้นตอนการปลูก การดูแลรักษา และการจัดการ การห่อผล การเก็บเกี่ยวผลผลิต จนทำให้ชาวสวนในกลุ่มหันมาทำมะม่วงนอกฤดูมากขึ้น โดยมุ่งเน้นคุณภาพของผลผลิตเป็นหลักเพื่อสร้างมาตรฐานของกลุ่ม
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีนโยบายให้สมาชิกทุกรายสร้างมาตรฐานของผลผลิต โดยสมาชิกทุกคนต้องมีใบรับรองคุณภาพ “GAP” ทุกราย และจะต้องมีการจดบันทึกการใช้สารเคมีในแต่ละช่วง เพื่อคุณภาพของผลผลิตที่ดีที่สุด นั่นคือ ที่มาของผลผลิตที่ดีของ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งออกมะม่วงบ้านโป่งตาลอง-เขาใหญ่” ที่มุ่งเน้นการปลูกมะม่วง “สายพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้สีทองเบอร์ 4 เพื่อการส่งออก” ซึ่งเป็นที่นิยมมากของตลาดต่างประเทศสำหรับมะม่วงทานผลสุก ด้วยคุณสมบัติของผลผลิตที่มีสีผิวที่สวย ผิวสีเหลืองทอง ผลใหญ่ เนื้อหอมและรสชาติหวาน โดยเฉพาะตลาดใหญ่ อย่าง ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่มักจะนำมะม่วงไปไหว้เจ้า เพราะมีสีผิวที่สวยงามเปรียบดั่งทองคำ “สมัยก่อนชาวสวนไม่รู้ระยะเก็บเกี่ยวที่แน่นอน จะใช้เพียงสายตามองดู ทำให้เก็บมะม่วงที่ยังไม่แก่จัดลงมา เพราะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะมีผิวสีเหลืองตั้งแต่ขนาดลูกยังเล็ก จึงทำให้คนเก็บสับสน แต่ปัจจุบันชาวสวนได้มีการห่อผล และจดบันทึกเวลาไว้ชัดเจน ทำให้ชาวสวนเก็บเกี่ยวมะม่วงได้อย่างถูกต้อง มีคุณภาพมากขึ้นทั้งหมด” คุณไพฑูรย์ยืนยัน
คุณสราวุธอธิบายเพิ่มเติมในฐานะเลขาและฝ่ายการเงินของกลุ่มที่ได้ทำการตลาดควบคู่ไปด้วย โดยการมองหาบริษัทที่รับซื้อมะม่วงทั้งในฤดูและนอกฤดูที่มีความมั่นคงและแน่นอนโดยจะไม่ผูกขาดกับบริษัทไหนเป็นหลัก แต่จะยึดถือการทำตลาดแบบตรงไปตรงมา ให้ราคาที่ยุติธรรมต่อทั้งชาวสวนและผู้ส่งออกด้วย เพื่อให้เป็นคู่ค้าที่ดีต่อกันไปนานๆ “คุณภาพของมะม่วงที่นี่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว ซึ่งบริษัทต่างๆ จะเชื่อในคุณภาพของมะม่วงโป่งตาลอง ใครก็อยากจะมาซื้อมะม่วงที่นี่ แต่กลุ่มจะไม่ขายมั่วๆ แต่จะขายให้เฉพาะบริษัทที่มั่นคงและแน่นอน เพื่อป้องกันการโกง ที่อาจทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงนั่นเอง” คุณสราวุธชี้แจง
ด้านตลาดผลผลิตมะม่วง
ที่สำคัญกลุ่มจะทำการตลาดล่วงหน้า ตั้งแต่ช่วงที่มะม่วงเริ่มติดผลอ่อนเท่าไข่ไก่ที่เริ่มห่อผลผลิตได้จากทุกสวน และสมาชิกทุกคนเพื่อให้ทราบถึงปริมาณผลผลิตที่แน่นอนที่จะออกมาในแต่ละเดือน แต่ละฤดู และผลผลิตโดยรวมของกลุ่ม ก่อนจะนำยอดผลผลิตที่ได้แจ้งต่อไปยังผู้ส่งออกเพื่อทำการหาตลาดล่วงหน้าซึ่งเป็นตลาดปลายทางก่อนจะถึงมือผู้บริโภค เพื่อนำยอดการสั่งซื้อล่วงหน้าย้อนกลับมาสู่กลุ่มเพื่อทำการบริหารจัดการผลผลิตและราคาผลผลิตที่ได้ในแต่ละช่วงอย่างชัดเจน ทำให้ผลผลิตที่นี่ขายได้ทุกลูก มีตลาดทุกส่วนรองรับที่มั่นคง นี่คือข้อได้เปรียบของการรวมกลุ่มกันที่สามารถขายสินค้าล่วงหน้าได้ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ประกอบกับผลผลิตของทางกลุ่มยังมีป้อนให้กับตลาดได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่ค่อนข้างดี มีความเย็นตลอดทั้งปี มีระบบน้ำรองรับ บวกกับความชำนาญของชาวสวนมะม่วงโป่งตาลองที่สามารถผลิตมะม่วงนอกฤดูได้ทุกฤดูกาล ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตเกรดเอ หรือเกรดพรีเมียม ได้มาตรฐาน GAP แบบ 100%
แต่ผลผลิตของกลุ่มค่อนข้างน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้มะม่วงติดผลน้อย และมีมะม่วงออกมาหลายเกรด ทั้งA, B และ C ที่มีผลต่อราคาผลผลิตเป็นอย่างมาก ในขณะบริษัทที่รับซื้อผลผลิตเพื่อการส่งออกจะชอบมะม่วงเกรด A มากกว่า เพราะตลาดปลายทางมีความต้องการสูงมาก แต่เนื่องจากปีนี้มะม่วงมีน้อยจึงต้องรับซื้อไว้ทั้ง 3 เกรด อีกทั้งตลาดปลายทางต้องการมะม่วงเป็นจำนวนมาก หากส่งออกไปเฉพาะเกรด A จะทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการเสียโอกาส เสียลูกค้าได้นั่นเอง นอกจากนี้ทางกลุ่มจะแบ่งการขายผลผลิตออกเป็น 2 ราคา เนื่องจากทางกลุ่มมีทั้งผลผลิตจากมะม่วงในฤดู และนอกฤดู โดยราคาผลผลิตในฤดูจะอยู่ที่120-125 บาท/กก. ส่วนผลผลิตมะม่วงนอกฤดูช่วงเปิดตลาดฤดูกาลแรกราคาจะสูงถึง 200-210 บาท/กก. เนื่องจากคุณภาพของมะม่วงโป่งตาลองเป็นที่รู้จักของกลุ่มบริษัทส่งออกอยู่แล้ว จึงทำให้เปิดตลาดในราคาที่สูงได้ แต่จะมีเพียงรอบแรกรอบเดียวเท่านั้น จากนั้นราคาผลผลิตในฤดูกาลอื่นๆ ก็จะลดลงมาตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้น เพราะราคามะม่วงส่งออกจะขึ้นอยู่กับราคาซื้อขายในประเทศประกอบด้วย ส่วนมะม่วงเกรด B ราคาจะถูกลงมาอยู่ที่ 80-90 บาทต่อกิโลกรัม “มะม่วงของกลุ่มจะห่อผลทุกลูก เนื่องจากมะม่วงค่อนข้างมีราคาสูง ถึงแม้ผลผลิตจะตกเกรดหรือส่งออกไม่ได้ก็ตาม โดยนับจากวันที่ดอกบานมา 45 วัน ผลมะม่วงจะมีขนาดเท่าไข่ไก่ ความยาวของผลอยู่ที่ประมาณ 7 ซม. และต้องนับวันต่อไปอีกประมาณ 45-50 วัน ก็จะเริ่มเก็บผลผลิตได้ ที่จะได้ผลผลิตที่สุกกำลังดี และย้ำว่า “ส่วนมะม่วงตกเกรดทางกลุ่มจะมีตัวแทนนำไปขายที่ตลาดค้าส่งเอง กลุ่มจะไม่ขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อที่หน้าสวน เนื่องจากมักมีปัญหาเวลาที่ราคาผลผลิตตกต่ำ หรือมีจำนวนมากเกินความต้องการ พ่อค้าเหล่านี้จะกดราคาให้ต่ำมาก ทางกลุ่มจึงตัดปัญหาตรงนี้โดยไม่รับพ่อค้าคนกลาง และนำมะม่วงไปขายเอง”
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วง
ซึ่งคุณไพฑูรย์ยืนยันว่า “หัวใจสำคัญ” ของการได้มาซึ่งผลผลิตที่ดี ก็คือ “ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต” ที่ทางสวนจะมี “ทีมเก็บผลผลิตมืออาชีพ” ประจำกลุ่มที่มีความชำนาญด้านการเก็บมะม่วงโดยเฉพาะ รู้วิธีการเก็บที่ถนอมผลผลิตในคราวเดียวกันได้ จึงทำให้ผลผลิตของกลุ่มเสียหายน้อยมาก หรือแทบไม่มีผลผลิตที่เสียหายเลย “ผิวมะม่วงที่ผิวค่อนข้างบาง ทำให้เวลาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจำเป็นต้องใช้คนงานที่มีประสบการณ์ในการเก็บ เพราะหากเก็บไม่ดี ผิวมะม่วงจะเสียหรือเนื้ออาจจะช้ำ ทำให้ไม่สามารถส่งขายได้ ทางกลุ่มจึงตัดปัญหาเรื่องนี้ไป โดยจะจ้างแรงงานที่เป็นมืออาชีพ และจ้างสมาชิกภายในกลุ่ม ให้ช่วยกันเก็บมะม่วง โดยการสลับหมุนเวียนกันเก็บผลผลิตของกลุ่มในแต่ละสวน ก่อนจะทำการคัดเกรด คัดขนาด และคัดมะม่วงเพื่อการส่งขายภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก ให้กับบริษัทในเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งมอบผลผลิตให้บริษัทต่อไป เพื่อให้การทำงานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น”
การบริหารจัดการสวนมะม่วง
ด้านการบริหารจัดการผลผลิตของกลุ่ม คุณสราวุธจะแบ่งออกเป็นแปลงๆ อย่างเป็นระบบ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงการตัดแต่งกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ขึ้นไป โดยจะทยอยตัดแต่งกิ่งจนเสร็จหมดทุกสวนภายใน 3-4 เดือน เพื่อให้ได้ผลผลิต หรือ “มะม่วงนอกฤดู” ทยอยออกสู่ได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี เพื่อให้ได้ผลผลิตนอกฤดูตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ประกอบกับการผลิตมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออกค่อนข้างที่จะใช้ปุ๋ย-ยา รวมทั้งสารเคมี ในการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันโรคและแมลงค่อนข้างมากพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มความหวานให้กับผลผลิต เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากจนเกินไปจะเข้าไปเจือปนในผลผลิต จนทำให้รสชาติผลผลิตไม่หวานเท่าที่ควร อีกทั้งการทำสารให้มะม่วงออกนอกฤดูต้องเร่งสร้างตาดอกให้สมบูรณ์ ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ “สารเคมี” ที่ตกค้างในผลผลิต ที่ทางกลุ่มจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ และเป็นนโยบายหลักของทางกลุ่มที่สมาชิกทุกรายต้องมีใบรับรองคุณภาพผลผลิตที่ได้มาตรฐาน GAP ที่สามารถตรวจสอบได้ ควบคู่ไปกับการจดบันทึกการทำงานของชาวสวนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่วันเริ่มต้นฉีดพ่นสารเคมี ใช้สารเคมีชนิดประเภทใด ระยะเวลาที่ฉีดพ่น และปริมาณสารเคมีที่ใช้ “การใช้สารเคมีในมะม่วงเพื่อการส่งออก ทางต่างประเทศไม่ได้ห้ามไว้ เพียงแต่อย่าให้สารเคมีตกค้างหลังจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งจำเป็นมากที่ชาวสวนต้องรู้ว่าสารเคมีแต่ละชนิดมีอายุตกค้างนานกี่วัน หากมีความจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ต้องใช้สารเคมีที่ใช้แล้ว ต้องสลายตัวเร็วที่สุด หรือเป็นสารอินทรีย์แทนได้จะยิ่งดีมาก เพราะการทำมะม่วงนอกฤดูจะยุ่งยากกว่าการทำมะม่วงในฤดู ยิ่งปีนี้การออกดอกของมะม่วงนอกฤดูจะออกไม่พร้อมกัน ทำให้ได้ผลผลิตหลายรุ่น ดังนั้นการใช้สารเคมีในมะม่วงนอกฤดูต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ”
การจำหน่ายผลผลิตมะม่วง
ด้านการเงินของกลุ่มวันนี้ค่อนข้างเข้มแข็งมาก เพราะหลังจากที่คุณสราวุธได้ส่งมอบผลผลิตให้กับผู้ส่งออกแล้ว ไม่นานทางบริษัทผู้ส่งออกก็จะโอนเงินเข้ามาที่กลุ่มทันที หลังจากกลุ่มหักค่าบริหารทุก 2 บาท/กก. เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่แล้ว ก็จะทำการส่งมอบเงินทั้งหมดให้กับสมาชิกต่อไป พร้อมกับหลักฐาน ทั้งใบเสร็จ และรายละเอียดอย่างครบถ้วน บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์และการซื่อตรงต่อกันเป็นหลัก
นี่คือบทบาทของกลุ่มชาวสวนมะม่วงที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ที่มุ่งมั่นพัฒนาชาวสวนไทยไปพร้อมๆ กับการพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP อย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งรายได้ที่ดีและอาชีพที่มั่นคงตลอดไป ที่เกิดจากการรวมพลัง ทั้งแรงกายและแรงใจ ของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ดังนี้
รายชื่อสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มส่งออกมะม่วง บ้านโป่งตาลอง-เขาใหญ่
1.นายไพฑูรย์ มาไพศาล ประธาน, 2.นายปรีชา คนขำ รองประธาน, 3.นางสุมาลี คำขำ เลขานุการ, 4.นางอัญชลี คำพลกรัง ผู้ช่วยเลขานุการ, 5.นางสมใจ มาไพศาล การตลาด, 6.นายประสงค์ คำพลกรัง ผู้ช่วยการตลาด, 7.นายสราวุธ มาไพศาล เหรัญญิก, 8.นางพัฒน์นรี ภู่พารา ผู้ช่วยเหรัญญิก, 9.นายประเทือง ชัยสวัสดิ์ ประชาสัมพันธ์, 10.นายมานิตย์ คนขำ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์, 11.นายจันทร์ปี ไพรศรี กรรมการ, 12.นายอนันต์ โพธิ์เย็น กรรมการ, 13.นายสุชาติ แสงดี กรรมการ, 14.นายมาโนช คนขำ กรรมการ, 15.นายธรยศ ทองมี กรรมการ, 16.นายประวิทย์ ภู่พารา ที่ปรึกษาอาวุโส, 17.นาย ณรงค์ ดำรงกิจมั่น ที่ปรึกษาอาวุโส, 18.นางจำรูญ มาไพศาล สมาชิก, 19.นายมานพ ศรียา สมาชิก, 20.นายไฉน สีดา สมาชิก, 21.นายพานธนบูรณ์ ภู่พารา สมาชิก, 22.นายโสภณวิชย์ โพธิ์เย็น สมาชิก, 23.นางเบญจวรรณ เหลืองรุ่งทรัพย์ สมาชิก, 24.นางเครือวัลย์ ทองมี สมาชิก, 25.นายชัชชัย ทองมี สมาชิก, 26.นางนิรมล โพธิ์ศรี สมาชิก, 27.นายสุระกริด คนขำ สมาชิก, 28.นายพิศณุ ชมลาภ สมาชิก, 29.นางสุดธิดา สิงห์ตัน สมาชิก, 30.นางยุพิณ ประจันนวล สมาชิก, 31.นางอรทัย ทองมี สมาชิก
ติดต่อสอบถาม
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งออกมะม่วงบ้านโป่งตาลอง-เขาใหญ่
คุณไพฑูรย์ มาไพศาล ประธานกลุ่ม
คุณสราวุธ มาไพศาล เลขา และฝ่ายการเงิน
89 ม.1 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 Facebook : สวนทูลใจ Café, Line : mangotj ,โทร : 088-116-6005