เปิดตัว “ช่างอุ๊น” จากชาวนาสู่เศรษฐี รถเกี่ยวข้าว ระดับชาติ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประเทศไทย คือ อู่ข้าวอู่น้ำ มาช้านาน ผลิตข้าวส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในอดีตการทำนาปลูกข้าวจะใช้แรงงานคนเป็นหลัก ตั้งแต่กระบวนการปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยอาศัยวิธีการ ลงแขก ช่วยกันเกี่ยวข้าวเป็นฟ่อน ตากแดด 2-3 วัน แล้วรวบรวมมาสีเป็นเมล็ดข้าวผ่าน “เครื่องนวดข้าว” กระทั่งปรับมาสู่การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร “ รถเกี่ยวข้าว ” ชนิดรองกระสอบ ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวรวดเร็วขึ้น แต่ยังคงใช้แรงงานคน 2-3 เพื่อรองเมล็ดข้าวและมัดปากกระสอบ ปัจจุบันพัฒนามาเป็นรถเกี่ยวข้าวแบบมีถังเก็บและท่อลำเลียงข้าวเปลือกใส่รถบรรทุก ลดการใช้แรงงาน และรวดเร็วในการเก็บเกี่ยว

1.คุณจันทร์ ปานเจริญ
1.คุณจันทร์ ปานเจริญ

การรับจ้างเกี่ยวข้าว

คุณจันทร์ ปานเจริญ หรือ “ช่างอุ๊น” ผู้ผลิตรถเกี่ยวข้าวคุณภาพ เครื่องแรง แข็งแกร่ง ทนทาน ใช้งานได้ยาวนาน เหมาะกับทุกสภาพพื้นที่ ในนาม “ปานเจริญการช่าง” ด้วยประสบการณ์ในอาชีพรับจ้างเกี่ยวข้าวมานานกว่า 33 ปี เห็นทุกมิติในวงการ และเข้าใจสภาพการใช้งานจริง เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวไม่สามารถเลือกพื้นที่ทำงานได้ รถจึงต้องเกี่ยวข้าวได้ทุกสภาพพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นการผลิตรถเกี่ยวให้มีความแข็งแกร่ง แข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้ยาวนาน และคุ้มค่า เพื่อรองรับการใช้งานอันแสนโหด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โหล่ม พื้นที่ราบ พื้นที่ลุ่ม

“ผมเริ่มต้นจากอาชีพทำนา ช่วยพ่อปลูกข้าวเอง 200 ไร่ เรียนจบ ป.6 ก็ออกมาเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง 3 ฝูง อยู่ 4 ปี และอายุ 18 ปี จึงซื้อตู้นวดข้าวแบบยัดฟ่อนมารับจ้าง เมื่ออายุครบ 21 ปี จึงจับใบแดงไปเป็นทหารเกณฑ์ และปลดจากทหารเกณฑ์แล้ว จึงมาทำนา ซึ่งแรงงานเริ่มหายากขึ้น ในปี 2531 เริ่มมีรถเกี่ยวข้าวแบบรองกระสอบเกิดขึ้น จึงไปซื้อรถเกี่ยวข้าวของผู้ใหญ่รมย์มาในราคา 3 แสนกว่าบาท และยึดอาชีพรับจ้างเกี่ยวข้าวมาตลอด ไม่ใช่เจ้าของอู่ผลิตตั้งแต่แรก” คุณจันทร์ให้ข้อมูลถึงจุดเริ่มต้นเข้าสู่อาชีพรับจ้างเกี่ยวข้าว

2.รถเกี่ยวข้าวปานเจริญ เครื่องแรง แข็งแกร่ง ทนทาน
2.รถเกี่ยวข้าวปานเจริญ เครื่องแรง แข็งแกร่ง ทนทาน

การผลิตรถเกี่ยวข้าว

ซึ่งคุณจันทร์ยอมรับว่าเป็นเส้นทางที่หิน โหด ไม่ใช่ว่ามีเงินซื้อรถเกี่ยวข้าวแล้วจะราบรื่น เพราะเวลาออกพื้นที่เกี่ยวข้าว เมื่อเกิดปัญหารถเสีย อะไหล่หายาก ราคาแพง ช่างซ่อมมีน้อย เป็นเหตุทำให้คุณจันทร์ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากเชื่อมเหล็กไม่เป็น ไม่รู้ว่าต้องเร่งไฟแค่ไหน ก็เรียนรู้ถูกผิดเรื่อยมา อาศัยวิชาครูพักลักจำ และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง จนประสบความสำเร็จ และเป็นประสบการณ์

จากเดิมมีรถเกี่ยว 2 คัน เพิ่มเป็น 6 คัน และเปิดอู่เพื่อผลิตรถเกี่ยวแบบรองกระสอบ ส่วนรถเกี่ยวคันเก่าก็ขายซากทิ้งไป และผลิตคันใหม่ขึ้นมาทดแทน ควบคู่กับออกรับจ้างเกี่ยวข้าวในพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก และออกรับจ้างในพื้นที่ภาคอีสานเกี่ยวข้าวนาปี

เมื่อก่อนผมรับจ้างเกี่ยวข้าวภาคกลางได้ แต่พอไปเกี่ยวข้าวแถวอีสานและแถบเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร เป็นพื้นที่โหด นักรับจ้างเกี่ยวข้าวจะรู้ดี ถ้าเหล็กเล็ก ปีเดียว หัก พังหมด เราจึงออกแบบจนเหล็กไม่งอ ไม่หัก และใช้ทนทาน โดยเฉพาะ เครื่องล่าง โซ่ ล้อขับ ล้อนำ ลูกกลิ้งโซ่บน ลูกกลิ้งโซ่ล่าง และตีนตะขาบ คุณจันทร์กล่าวถึงการออกแบบและผลิตรถเกี่ยวข้าว เพื่อให้ทนทานต่อการใช้งานในสภาพพื้นที่ต่างๆ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขณะเดียวกันก็ขยับมาเป็นผู้ผลิตรถเกี่ยวข้าวแบบรองกระสอบจำหน่าย ก็ไม่ได้กำไรมากนัก เพราะเป็นน้องใหม่ และคิดค้นพัฒนารถเกี่ยวข้าวจากประสบการณ์การใช้งานจริง หลังจากผลิตรถเกี่ยวแบบรองกระสอบได้ไม่นาน ก็พบว่ารถเกี่ยวแบบรองกระสอบเกือบถึงทางตันแล้ว เพราะเกิดวิกฤติแรงงาน หาคนงานติดรถยาก หลายอู่ต้องปิดตัวและเลิกกิจการไป

“ผมมีรถเกี่ยว 6 คัน ต้องใช้คนงานขับ 1 คน คนรองกระสอบ 3 คน ใช้คนงาน 4 คน/คัน มี 6 คันใช้ 24 คน /วัน ถึงจะได้ออกไปทำงานได้ เช้ามาผมมีรถ 6 คัน จะเกี่ยวได้แค่ 4 คัน อีก 2 คัน ไม่ได้ออกงาน เพราะไม่มีคนขับ หรือมีคนขับแต่ไม่มีคนรองกระสอบก็จบ พอได้คนรองกระสอบมาต้องใช้คนลากข้าว คนงานไม่มีอีก พอฝนตกเกี่ยวทิ้งไว้ ข้าวก็เสีย คนงานรุ่นเก่าอายุเกิน 50 ก็ทำไม่ไหวแล้ว เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่เอา กลุ่มผู้รับจ้างเกี่ยวข้าวก็กำลังจะถอดใจ หาคนงานไม่ได้ ไปต่อไม่ได้ ตอนนั้นถอดใจกันแล้ว” คุณจันทร์อธิบายถึงจุดเปลี่ยนของวงการรถเกี่ยวข้าว

3.การทดสอบสมรรถนะความสูญเสียโดยรวมไม่เกินร้อยละ 3
3.การทดสอบสมรรถนะความสูญเสียโดยรวมไม่เกินร้อยละ 3

จุดเริ่มต้นการผลิตรถเกี่ยวข้าว

ประมาณปี 2540 เริ่มมีการคิดค้นและผลิตรถเกี่ยวแบบถังอุ้ม เพื่อลดการใช้แรงงานลง และสะดวกต่อการลำเลียงข้าวใส่รถบรรทุก ซึ่งต้นกำเนิดอยู่ทางนครสวรรค์ คุณจันทร์จึงได้ไปดูงานแล้วนำมาต่อยอดผลิตรถเกี่ยวข้าวแบบถังอุ้มในปี 2547 เป็นต้นมา

ผมเกิดได้เพราะรถเกี่ยวแบบอุ้ม เห็นแล้วถูกใจเลย แต่ยังกลัวว่าต้นทุนจะสูงไหม ก็ลองเอามาต่อเป็นรถเกี่ยวมีอุ้มตั้งแต่ปี 47 ก็ขายได้ ผมเกิดได้เพราะรถเกี่ยวอุ้มจริงๆ ก่อนนี้ยังไม่มีใครต่อเลย เพราะทุกคนคิดว่ามันจะคุ้มทุนไหม การแบกข้าวเปลือกอยู่บนถังอุ้มนั้น รถจะรับน้ำหนักไหวไหม แต่อย่าลืมนะถังจุข้าวเปลือก 2.5 ตันจริง แต่ไม่ใช่ใส่รถจะบรรทุกข้าวเปลือกน้ำหนัก 2.5 ตัน ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเกี่ยวข้าวแล้วทยอยเข้าถังอุ้มทีละน้อยๆ จนกว่าจะถึง 2.5 ตัน รถใช้เวลาแบกน้ำหนักนิดเดียว” คุณจันทร์อธิบายถึงจุดเริ่มต้นผลิตรถเกี่ยวแบบถังอุ้ม

“เราผลิตรถเกี่ยวให้มีความแข็งแรง จะสะเทินบก สะเทินน้ำ ความแข็งของรถ เราออกแบบโครงสร้างให้ใช้ได้เป็น 10 ปี คัดเลือกตั้งแต่ ชุดช่วงล่างของรถเกี่ยวข้าว เพราะเป็นตัวที่รับน้ำหนักตัวรถทั้งหมด และยึดเกาะทุกสภาพพื้นที่ โครงเครื่องล่าง โซ่ ล้อขับ ล้อนำ ลูกกลิ้งโซ่บน ลูกกลิ้งโซ่ล่างและตีนตะขาบ ตัวเครื่องยนต์ ถังอุ้มพักข้าวเปลือก ลูกคุ้ย เครื่องนวด ฯลฯ” คุณจันทร์กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการผลิตรถเกี่ยวข้าว เนื่องจากรถเกี่ยวมีราคาค่อนข้างสูง 2.4-2.5 ล้าน/คัน ฉะนั้นรถเกี่ยวข้าวจะต้องตอบโจทย์ทุกมิติ เพื่อการลงทุนคุ้มค่า และขายต่อได้ในราคา

โดยรถเกี่ยวข้าวรุ่น ปานเจริญการช่าง 2555 ได้รับการทดสอบสมรรถนะ ด้านความสูญเสียในปีการเพาะปลูก 2555/56 พบว่ามีความสูญเสียโดยรวมไม่เกินร้อยละ 3 ตามผลการทดสอบเลขที่ 17/2556 ออกโดยศูนย์วิจัยเครื่องจักรกลการเกษตรและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วินิต ชินสุวรรณ (ผู้อำนวยการ) และ นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ด้วยความชอบในอาชีพ และกัดฟันสู้ อดทน ไม่หวั่นไหว เพราะรักในอาชีพนี้มาก จึงเป็นแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง คิดค้นและพัฒนารถเกี่ยวข้าว ทำให้เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้ดี จากผลิต 5 คัน/ปี ในห้องแถวเล็กๆ ติดกัน 5 คูหา เงินทุนหมุนเวียนล้านกว่าบาท ถามว่าต้องรักในอาชีพนี้มากขนาดไหน? ต้องรักมากๆ เพราะเริ่มต้นจากไม่มีความรู้ เงินทุนน้อย ลงทุนซื้อของ 4-5 หมื่นบาท ก็หมดเงินแล้ว ต้องกัดฟันทนกว่าจะได้มาแต่ละอย่าง

และช่วงแรกๆ ที่มาผลิตรถเอง ยอดขายก็ไม่ดี คุณจันทร์ถือคำสอนของพ่อว่าจะไม่ทำธุรกิจแบบกู้เงินแบงก์มาลงทุนเด็ดขาด เพราะการกู้เงินมาทำธุรกิจ เท่ากับว่าขาดทุนตั้งแต่เริ่มคิดเลย นอกจากกู้แบงก์มาผลิตรถเพื่อรอลูกค้ามารับแล้ว ยังมีดอกเบี้ยแบงก์ตามมาอีก จึงผลิตรถเกี่ยวตามกำลังเงินของตนเอง ค่อยๆ ขยายควบคู่ไปกับการจัดทำ “ไฟแนนซ์” ให้ลูกค้าเอง ในวงเงินที่ทำไหว จากผลิต 5 คัน/ปี และขยายกำลังการผลิตมาเรื่อยๆ

4.รถเกี่ยวข้าวรุ่น ปานเจริญการช่าง รุ่น 2022
4.รถเกี่ยวข้าวรุ่น ปานเจริญการช่าง รุ่น 2022

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายรถเกี่ยวข้าว

กระทั่งปี 2564 ผลิตรถเกี่ยว 60 คัน แต่กำลังความสามารถผลิตรถได้ถึง 200 คัน/ปี แต่ต้องผลิตแค่ 60 คัน เพราะวินัยทางการเงิน ไม่ต้องไปเอาเงินแบงก์มาใช้ก่อน โดยให้ลูกค้าวางมัดจำจองรถ 50,000 บาท/คัน และจัดเรียงการผลิตตามคิวจอง หรือถ้าลูกค้ามีปัญหาเรื่องเงินไม่สามารถมารับรถได้ก็จะคืนเงินมัดจำให้ ไม่ยึดหรือกินเงินมัดจำจองรถเด็ดขาด

แต่ถ้าลูกค้าพร้อม เมื่อผลิตรถเสร็จลูกค้าวางเงินจ่ายอีก 50% ของราคาขาย และผ่อนต่อ 2 ปี ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน ตอนนี้ปล่อยดอกเบี้ย 1.5% เพื่อให้ลูกค้าอยู่รอด ถ้าต่ำกว่านี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่มีลูกค้าประจำที่ให้ผ่อนยาว 4-5 ปี ก็มี โดยการผลิตรถเกี่ยวข้าวแต่ละรุ่นแต่ละปีจะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอะไหล่ หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ง่ายในการบำรุงรักษา เปลี่ยน ซ่อม บางปีถ้ามีลูกค้าจองรถใหม่น้อย ตอนต้นปีจะนำรถเก่าของลูกค้ามาซ่อม  เพื่อมีงานเลี้ยงลูกน้องให้อยู่รอด

5.ต้นกระท่อม ให้ผลผลิต 100-300 กก.ต่อสัปดาห์
5.ต้นกระท่อม ให้ผลผลิต 100-300 กก.ต่อสัปดาห์

การบริการหลังการขาย

การตั้งราคาขายรถ 2,400,000-2,500,000 บาท/คัน แต่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นเกือบ 100% โดยเฉพาะราคาเหล็ก แผ่นสแตนเลส ที่ต้องใช้จำนวนมากในการผลิตรถ 1 คัน ซึ่งค่า สแตนเลส เบอร์ 304 ปลายปี 2563 ราคาอยู่ที่ 2,300-2,400 บาท/แผ่น ปี 2565 ขึ้นราคาเป็น 4,500 บาท/แผ่น ทำให้ผลประกอบการในปี 64-65 มีกำไรไม่มาก เมื่อรับจองออเดอร์ไว้ล่วงหน้า 1 ปี ก็ต้องผลิตให้ลูกค้าให้เสร็จ แม้ว่าต้นทุนจะปรับสูงขึ้นก็ตาม แต่คุณจันทร์ถือว่าแม้ขาดทุนก็ต้องทำ เสียคำพูดกับลูกค้าไม่ได้

“ผมมองว่าการกัดฟันสู้ในปี 2565 ดีกว่ายุคที่ผมเริ่มต้น ต่างกันเพราะว่าตอนนี้กัดฟันที่เราไม่ได้เงิน แต่เมื่อก่อนเรากัดฟันเพราะไม่มีเงิน และไม่มีประสบการณ์ วันนี้ผมขยายกิจการมาได้พอสมควรแล้ว เติบโตมาได้ระดับหนึ่งเกินความคาดหมายของเราแล้ว พอมาถึงตรงนี้แล้วมนุษย์ทำอะไรก็อยากได้กำไร ก็หวังทำกำไรทั้งนั้น ถึงจะทำกำไรยังไงต้องเอาสัจจะเป็นหลัก นิสัยผมเป็นคนอย่างนั้น ไม่ใช่จะเอาแต่เงิน ไม่ได้เงินไม่เอา ก็จะเสียลูกค้า” คุณจันทร์ ให้ความเห็นถึงจุดยืนทางธุรกิจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อลูกค้าซื้อรถเกี่ยวไป สามารถคืนทุนภายใน 2 ปี ในอดีตเมื่อก่อนรถเกี่ยวข้าวนาปีอีสาน 1 คัน เกี่ยวได้  1,000-1,500 ไร่/ฤดูกาล แต่ปัจจุบันได้เกี่ยวได้น้อยลง 500-1,000 ไร่/ฤดูกาล ก็ถือว่าเยอะแล้ว ส่วนพื้นที่นาปรังมีรถเกี่ยวเยอะ เคยเกี่ยว 5,000 ไร่ ในภาคกลาง ใช้รถเกี่ยว 6 คัน พอเกี่ยว แต่ปัจจุบันต้องใช้รถเพิ่มเป็น 10 คัน เพื่อกันไม่ให้ลูกค้าแตกไปทางอื่น เวลาฝนตกคุมได้ 10 คัน เกี่ยว 500 ไร่ต่อฤดูเท่านั้น ซึ่งถือว่าเกี่ยวได้น้อยมาก ณ วันนี้รายใหญ่อยู่ได้ รายเล็กที่มีรถเกี่ยว 1-2 คัน ต้องใช้ฝีมือในการหาลูกค้าเพิ่มขึ้น

6.ปลูกอินทผลัม
6.ปลูกอินทผลัม

การปลูกผลไม้ผสมผสาน

แม้ว่าธุรกิจผลิตรถเกี่ยวจะดำเนินไปได้ด้วยดี สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคุณจันทร์ จนกระทั่งซื้อที่ดินจำนวน  10 ไร่ และซื้อที่ดินเพิ่มเรื่อยๆ เพื่อนำมาขยายอู่ต่อรถเพิ่มแล้ว คุณจันทร์ยังไม่ทิ้งอาชีพดั้งเดิม คือ “การทำนา” จำนวน 100 ไร่  และรับจ้างเกี่ยวข้าวอีก 10 คัน และมีรถตีดินเพื่อรับจ้างตีดินอีก 2 คัน ด้วยราคาข้าวที่ผันผวน และราคาปุ๋ยแพง จึงลดการทำนาลง และหันมาลงทุนปลูกกระท่อม 3,000 ต้น ปลูกอินทผลัมพันธุ์ บาฮี  จำนวน 400 ต้น ปลูกทุเรียนหมอนทอง ที่กาญจนบุรี 600 ต้น และปลูกมะม่วงเบาอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังทำธุรกิจห้องพักให้เช่า และทำตลาดให้เช่าแผงขายของอีกด้วย

ติดต่อได้ที่ ช่างอุ๊น อู่ปานเจริญการช่าง 22 ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย นนทบุรี 11150 โทร.081-817-9015, 02-090-0071

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 29