พอเอ่ยนาม “ ขนุน ” คนไทยร้องอ๋อ เพราะบ่อยครั้งที่ต้องบริโภค ทั้งในรูปของคาว และของหวาน
ในอนาคตขนุนจะเป็น “ไม้ผล” ที่ถูกใช้ทดแทน “เนื้อสัตว์” มากขึ้น ซึ่งสากลเริ่มยอมรับ
ประเทศไทยมีการปลูกขนุนหลายสายพันธุ์ แต่นิยมปลูกกันมากที่สุด คือ “ทองประเสริฐ” เพราะเป็นขนุนเศรษฐกิจ นำเงินตราเข้าประเทศปีละหลายล้านบาท
การส่งเสริมการปลูกขนุน
ด้วยเหตุนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร ในฐานะผู้ควบคุมคุณภาพด้วยมาตรฐาน GAP และ กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะผู้ส่งเสริม
แต่ทั้ง 2 กรม มีข้อจำกัดในการทำงาน จึงต้องมีภาคเอกชนขันอาสาเข้ามาสนับสนุนชาวสวนขนุนให้ได้มาตรฐาน GAP นั่นคือ บริษัท เรนคอทตอน จำกัด อันมี คุณเซียนแสง ตันติศรียานุรักษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ
ได้จับมือกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ฉะเชิงเทรา และชุมพร ผลักดันให้ชาวสวนขนุนในจังหวัดฉะเชิงเทรา และในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าสู่กระบวนการ GAP ด้วยการบันทึกการปฏิบัติงานในสมุด เพื่อให้ศูนย์วิจัยฯ ตรวจสอบในการให้มาตรฐาน GAP
โดยเริ่มจากกำหนดสายพันธุ์ที่ปลูก แผนการผลิต ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ตั้งแต่เรื่องการตัดแต่งกิ่ง การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การชักนำให้ออกดอก การตัดแต่งผล การห่อผล และการเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ละเดือนจะต้องปฏิบัติตามโปรแกรมที่กำหนด ซึ่งการผลิตขนุนถูกแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ขนุนเล็กที่ยังไม่ให้ผลผลิต และขนุนโตที่ให้ผลผลิตแล้ว
การบริหารจัดการภายในแปลง ขนุน
จะดูแล ขนุน เล็ก (1-3 ปี) อย่างไร??
การปลูกขนุนระหว่างต้น-ระหว่างแถว มีความหลากหลาย ขึ้นกับสภาพแปลงปลูก และการวางแผนจัดการแปลงปลูก บางแปลงระยะปลูก 5-6 เมตร และระหว่างแถว 8-10 เมตร ขึ้นอยู่กับการวางเป้าหมายของแต่ละคน
ที่สำคัญ ก็คือ ขนุนเล็กต้องให้ปุ๋ย 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงฤดูฝน ช่วงฤดูหนาว และช่วงฤดูร้อน
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ทุก 15 วัน ในปริมาณที่ดูจากทรงพุ่มเป็นหลัก พอเข้าเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ใส่สูตร 20-8-6, 25-10-10, 25-7-7 และพอเข้าฤดูร้อน เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ใส่สูตร 46-0-0, 15-0-0 พร้อมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเก็บความชื้นในดิน
การป้องกันและกำจัด โรค แมลง ต้นขนุน
เรื่องโรค-แมลง ที่ทำลายขนุนเล็กที่ใบ และลำต้น ก็ต้องหมั่นตรวจแปลง จำแนกประเภทแมลงให้ถูกต้อง ก่อนใช้สารเคมี
เมื่อขนุนแตกใบอ่อน โดยเฉพาะเริ่มผลิใบใหม่ ให้ใช้สารกำจัดเพลี้ยไฟ พร้อมให้ปุ๋ยเกล็ด หรือปุ๋ยน้ำทางใบ สูตร 12-3-5, 25-10-10 และธาตุอาหารเสริม 10 ชนิด
พอเข้าระยะใบเพสลาด (20 วัน หลังใบผลิ) ต้องใช้สารกำจัดเพลี้ยไฟ ให้ปุ๋ยเกล็ด หรือปุ๋ยน้ำทางใบ สูตร 6-6-8+2 mg., 20-20-20 พร้อมธาตุอาหารเสริม 10 ชนิด
ต้องตัดแต่งกิ่งกระโดงที่เบียดสูงแข่งขันกันในต้น ไว้กิ่งหลักขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์ 3-4 กิ่ง ต้องตัดแต่งต้นฤดูฝนดีที่สุด
เมื่อขนุนโตให้ผลผลิต ต้องดูแลขนาด รูปทรง สีผิว ขั้วผล และน้ำหนัก ให้ได้มาตรฐานส่งออก และดูแลคุณภาพเนื้อ เช่น ความหนา เปอร์เซ็นต์ความหวาน ความกรอบของเนื้อ และรูปทรง ยวง ต้น ใบ และราก ของขนุน ต้องสมบูรณ์
การบำรุงดูแล ต้นขนุน
โดยมี “ขั้นตอน” การดูแล ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง การสะสมอาหาร และการชักนำให้ออกดอก การตัดแต่งผล การบำรุงผล หลังการตัดแต่ง และการฟื้นฟูต้นหลังการเก็บเกี่ยว
การตัดแต่งกิ่งแห้ง และกิ่งแขนง กระโดง ในต้น ไม่ให้ขนุนทึบเกินไป ให้แสงส่องรำไรถึงโคนต้น ภายหลังการตัดแต่งกิ่งให้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น สารคาร์เบนดาซิม
ในระยะการสะสมอาหารชักนำ ใส่ปุ๋ยสูตร 10-20-20, 8-24-24 1-2 กก./ต้น ทุกๆ 15 วัน และฉีดปุ๋ยน้ำ 30 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร หรือฉีดปุ๋ยเกล็ด 0-5, 2-34 อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร และอะมิโนแอซิด 10 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ฉีดทุกๆ 10 วัน จนกว่าขนุนจะแทงช่อใหม่
ฉีดอะมิโนแอซิด 10 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร แคลเซียม 20 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร และปุ๋ย 13-0-46 อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
เมื่อขนุนออกดอก และติดผลอ่อน ให้ปุ๋ยน้ำ 20 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร หรือปุ๋ยเกล็ด 20-20-20 อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และแคลเซียม 5 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ธาตุซิลิก้า 5 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร และให้ปุ๋ยทางเดิน 15-15-15, 16-16-16
หลังตัดแต่งผลขนุนทุกครั้ง ต้องฉีดสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมื่อบำรุงผลขนุน ผลโต (ผลผิวสีเขียว รูปทรงกลม ตาไม่แดง) ใช้อะมิโน 10 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร และให้ธาตุบำรุงผิวเขียว 20 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร และแคลเซียม 10 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร
สนใจแนวทางการทำขนุน GAP ติดต่อ โทร.083-979-9456, 085-070-8661