ปรีดา ยังสุขสถาพร ปั้น “ องค์การสะพานปลา ” เป็นรัฐวิสาหกิจเกรด A
ยอมรับว่า อุตสาหกรรมประมง ของไทย ตะวันตกดินอยู่ในช่วงขาลง ทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในรุมเร้า ทั้งประมงนอกน่านน้ำ ประมงชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน และประมงเพาะเลี้ยง เตี้ย ต่ำ ตม ตาม ๆ กันไป
ภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหา และร่วมพัฒนากับภาคเอกชน แต่แพ้ยับเยิน เพราะรัฐไทยมองว่า อุตสาหกรรมประมงเป็น “ตัวประกอบ” ในละครเศรษฐกิจของชาติ
บทบาทของ องค์การสะพานปลา กรุงเทพฯ
จึงไม่แปลกใจ ที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ “ องค์การสะพานปลา ” (อสป.) ถูกตั้งขึ้นมาด้วย พ.ร.บ. จัดระเบียบกิจการแพปลา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2496 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกิจประมงเป็นหลัก พร้อมทั้งส่งเสริมชาวประมงให้อยู่รอด โดยมี “รายได้” ส่วนใหญ่ จากค่าธรรมเนียมขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น มี สะพานปลา 4 แห่ง ได้แก่ สะพานปลากรุงเทพ สะพานปลาสมุทรปราการ สะพานปลาสมุทรสาคร และสะพานปลานครศรีธรรมราช กับ ท่าเทียบเรือประมง 13 แห่ง มี ทร.ตราด ทร.อ่างศิลา ทร.หัวหิน ทร.ชุมพร ทร.หลังสวน ทร.ระนอง ทร.ภูเก็ต ทร.สตูล ทร.สุราษฎร์ธานี ทร.สงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) ทร.ปัตตานี ทร.นราธิวาส
ปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เจอกับ อุปสรรค มากมาย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ โครงสร้างรายได้ไม่ดีนัก เพราะเก็บค่าธรรมเนียมสัตว์น้ำถูกมาก

แต่ อสป. ดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับสะพานปลา ตลาดสินค้าสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมประมง เป็นนิติบุคคล รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากวันนั้นถึงวันนี้ อสป. ได้ใช้วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำในการบริหารจัดการแหล่งขนถ่าย และซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ ที่ถูกสุขอนามัย ทันสมัยได้มาตรฐานสากล พันธกิจหลัก ได้แก่ บริหารจัดการ “สะพานปลา” ท่าเทียบเรือ ให้ได้มาตรฐาน จัดเก็บค่าใช้บริการสะพานปลา สนับสนุนส่งเสริมความรู้ และเทคโนโลยีแก่ชาวประมง และพัฒนาระบบบริหารองค์การ และระบบการเงินด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ให้มีประสิทธิภาพ 72 ปี อสป. มี สะพานปลา 4 แห่ง และ ท่าเทียบเรือประมง 13 แห่ง ได้กระจายอยู่ 2 ชายฝั่งทะเล ทั้งริมฝั่งอ่าวไทย และริมฝั่งอ่าวอันดามัน ได้ขยายบทบาทการดำเนินงานส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาอีกหลายประการ เช่น การให้สินเชื่ออุปกรณ์การประมง เป็นต้น ตามนโยบายของรัฐบาลพร้อม ๆ กับการดำเนินการธุรกิจประมงให้ประสบความสำเร็จโดยมี ผู้อำนวยการ และ รองผู้อำนวยการ 3 ท่าน ร่วมบริหาร และจัดการตามนโยบายของคณะบอร์ด อสป.

72 ปี มีผู้บริหารหลายชุดที่มี ผลงาน มากน้อยต่างกันแต่ อสป. เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทตะวันตกดิน เมื่อ 10 กว่าปี ที่ผ่านมาถึงขนาดจะต้องถูกยุบทิ้ง
สัมภาษณ์พิเศษ นายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการ อสป.

แต่วันนี้มี นายปรีดา ยังสุขสถาพร มาเป็นผู้อำนวยการ ปรากฏว่าบริหาร อสป. ให้ยิ่งใหญ่ เป็นรัฐวิสาหกิจเกรด A ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับ พายัพ ยังปักษี บรรณาธิการอาวุโส นิตยสารสัตว์น้ำ และเลขาธิการสมัชชาพลังเขียวสร้างชาติ ด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อนักการเมือง นักธุรกิจ และรัฐบาล เป็นต้น คุณปรีดา กล่าวว่า ตอนเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อสป. มีปัญหา และอุปสรรคมากมาย เพราะโครงสร้าง “รายได้” ไม่ดี เก็บค่าธรรมเนียมสัตว์น้ำเป็นหลัก “สตางค์/กิโลกรัม” ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับอดีต ดังนั้น ปี 2564-2565 จึงใช้นโยบายการบริหาร ด้วยการลดค่าใช้จ่ายองค์กรให้ได้ ขณะเดียวกันก็หาวิธีการเพิ่มรายได้ควบคู่กันไปด้วย “ 4 ปี ที่ผ่านมาหลัก ๆ ที่ผมทำคือ เรื่องเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก หลัก ๆ มีเท่านี้ แต่ได้บุกเบิกตลาดต่างประเทศด้วย เพราะสัตว์น้ำมีมูลค่า ผ่านท่าเราตลอดหากเราเก็บค่าธรรมเนียมอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำการค้าด้วย ” คุณปรีดาให้ความเห็น ถึงกลยุทธ์การบริหาร
พบว่า อสป. เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ได้เอาสัตว์น้ำไปขายที่กัมพูชา ส่วนในประเทศเปิดตลาดที่อีสาน จึงไม่แปลกใจ วันนี้ คุณปรีดา ลุยตลาด สปป.ลาว โดยเฉพาะที่เวียงจันทน์ ได้ ร้านหมูกระทะ เป็นเอเย่นต์รายใหญ่ขายเป็น เงินสด อย่างเดียว แต่ที่ คิงส์โรมัน แม้จะมีอำนาจซื้อสูงแต่ คุณปรีดาไม่ขายเพราะเป็น ทุนเทา นั่นเอง
นอกจากอาหารสดแล้ว อสป. ได้ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ สะพานปลา เป็นปลาแมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศ เป็นปลาคุณภาพในทะเลไทยของกลุ่มประมงชายฝั่งที่ อสป. สนับสนุน ได้รับความนิยมมากเพราะรสชาตินุ่ม และขายราคาไม่สูง
อสป. ภายใต้การบริหาร คุณปรีดา ยังสุขสถาพร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
นอกจาก อสป. จะลุยทำตลาดทั่วประเทศ รวมทั้ง สปป.ลาว จนมีรายได้ต่อปีหลายล้านบาทแล้ว เรื่องใหญ่ก็คือ ได้ปฏิรูป “บุคลากร” ครั้งใหญ่ด้วยการไล่ออกพนักงานทุจริต ถูกดำเนินคดีหลายคน โดยไม่ได้หวั่นไหว “ลูกปืน” แต่อย่างใด ส่วนคนที่ยังอยู่จะต้องเข้ารับการอบรมเรื่องกฎระเบียบพื้นฐาน เรื่อง IT เพื่อการใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็น เพราะพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้จบปริญญาตรี มีการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาพม่าออนไลน์ ปรากฏว่าแต่ละคนมีรายได้มากขึ้น แม้แต่ รปภ. ก็ถูกพัฒนาให้มีคุณภาพจาก C4 เป็น C8 เป็นหัวหน้ามีดาวประดับยศ เมื่อเกษียณก็ถูกจ้างต่อให้มาช่วยงานใน อสป. เป็นต้น

ดังนั้น สะพานปลากรุงเทพ วันนี้แม้มีพื้นที่ 8 ไร่ 3 งาน 36.98 ตารางวา แต่ถูกทำให้มีราคา อสป. มีรายได้ต่อปี แบบก้าวกระโดด “แพปลา” ทั้งหลายที่อยู่กับ อสป. กรุงเทพ วันนี้หลายรายยังอยู่ตรงนี้เพราะเขามีรายได้ มีความผูกพันกันมานาน แม้ อสป. จะใช้พื้นที่ที่เคยจอดรถ ทำให้เป็นตลาดเก็บค่าเช่าแต่ละเต็นท์ ตอนแรกก็มีเสียงบ่น แต่ตอนหลังเสียงมันหายไปเพราะเจ้าของแพปลาขายปลาได้มากขึ้น และนักท่องเที่ยวมานั่งกินอาหารทะเลของร้านอาหารที่ อสป.ให้เช่าพื้นที่ นั่นเอง จึงเห็นได้ว่าการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาสถานที่ให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจ แพปลาได้ประโยชน์ ทำให้ค่าใช้จ่ายของ อสป.ลดลง แต่รายได้ และกำไรมากขึ้น อีกอย่าง สะพานปลากรุงเทพ มีแห่งเดียวในกรุงเทพ แม้ไม่มีเรือบรรทุกปลามาขึ้นเหมือนในอดีต แต่มีรถขนปลามาส่ง ราคาค่าขนส่งถูกกว่า และเร็วกว่า ประกอบกับพนักงาน 190 คน มีศักยภาพในการให้บริการที่มากขึ้น
ปลากระป๋อง แบรนด์ “สะพานปลา” ผลิตภัณฑ์แปรรูปของ อสป.

วันนี้ อสป. มีสินค้าซีฟู้ด ทั้งแบบสด แช่แข็ง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อย่างปลากระป๋องเพื่อให้ง่ายกว่าของสด และแช่แข็ง เก็บได้นานไม่ถูกบีบด้วยเงื่อนเวลา “ เรื่องการแปรรูป ผมพูดมา 4 ปีแล้ว จนปัญหาสุกงอม ประจวบเหมาะกับทีมงานเข้าใจเหตุผล วันที่ 1 มกราคม 2568 จึงได้ปลากระป๋องมาขาย ถนอมอาหารได้ ทำราคาได้ ทำให้แมสได้ เราส่งแค่ 12 บาท เขาไปขาย 15 บาท เราไม่เข้าโมเดิร์นเทรด เราพยายามจะขายให้สหกรณ์ ชาวบ้านจะได้บริโภคของดีราคาถูก” คุณปรีดา เปิดเผย ถึงที่มาของปลากระป๋องแบรนด์ สะพานปลา ซึ่งเวลานี้สหกรณ์ ในโคราช อ่างทอง สิงห์บุรี มีจำหน่าย แม้แต่การยางแห่งประเทศไทย กยท. ก็เป็นลูกค้าขาประจำ
ถามว่าสินค้าตัวไหนที่เป็นรายได้หลัก “มาจากทุกตัว ปีที่แล้วผมขายปลาได้มา 9 ล้านกว่าบาท ปลากระป๋องเดือนกว่า ๆ ขายได้แสนกระป๋อง รายได้เฉลี่ยล้านสอง” คุณปรีดา ยืนยัน ทุกตัวทำรายได้ทั้งหมด

โดยเฉพาะ ปลากระป๋อง แบรนด์ สะพานปลา ถือว่าเป็นโปรดักส์สำคัญ เพราะมีสตอรี่ หรือมีที่มาจับต้องได้เป็นรูปธรรมนั่นเพราะทุกปี อสป.ได้ถวายปลากระป๋องแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อมอบให้ชาวเขาตามโครงการพระราชดำริแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีน มาหลายปี ซึ่งซื้อมาจากบริษัทอื่น ทำให้คุณปรีดาตัดสินใจต้องผลิตเอง จึงออกแบบเป็นปลากระป๋องฉลากสีฟ้า หรือสีทะเล มีภาพเรือประมงของแท้อยู่ที่จุดเช็คอินของ อสป. รูปสมอเรือ ก็เป็นของจริงจากมหาชัย ส่วนที่ตั้งสะพานปลาของ อสป. อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เขตสาธร มีปลาสด ๆ ทุกวัน แห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร ปลากระป๋องจึงมีอัตลักษณ์ไม่เหมือนใครซึ่งจะถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วงเดือน กันยายน หรือตุลาคม ทุกปี
การทำธุรกิจประมงของ อสป. 72 ปี ล้วนสั่งสมประสบการณ์ผิดถูกมาตลอด แต่พออยู่ในมือการบริหารของ คุณปรีดา และรอง ผอ.ทั้ง 4 ที่บริหารตามหลักอิทัปปัจจยตา คือเหตุเกิดที่ไหน ก็ดับที่นั่น ปรากฏว่าองค์กรมี ”กำไร” แบบก้าวกระโดด เพราะใช้การตลาดนำการผลิต ไร้ทุจริต พัฒนาบุคลากร และพัฒนาโปรดักส์

แม้แต่สะพานปลาในจังหวัดต่าง ๆ ที่เช่าที่ดิน กรมธนารักษ์ ก็ถูกพัฒนา อย่างปัตตานี 95 ไร่ 50 ปี อสป.ไม่เคยทำสัญญาเช่า จึงถูกทวงค่าเช่ามาตลอด คุณปรีดาตัดสินใจทำสัญญา และจ่ายค่าเช่าเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท “จะอยู่ให้รอดมันต้องมีศักดิ์ศรี เราจ่ายแสดงว่าเรามีความเข้มแข็ง ผมไล่จ่ายจนเหลือที่กรุงเทพที่เดียว ใกล้จะเรียบร้อยแล้ว จะเป็นองค์กรที่ไม่มีภาระแล้ว” ผอ. นักสู้ เปิดเผยถึงการสร้างศักดิ์ศรี และเครดิตในสายตากรมธนารักษ์
ท่าเรือปัตตานี 95 ไร่ ก่อนโควิดทำรายได้ GDP ให้จังหวัดถึง 60% แต่เมื่อประมงซบเซาเหลือ 40% อสป.ได้พัฒนาให้เหมือน “ตลาดทะเลไทย” ของเอกชน จึงมีแพปลา 300 กว่าล็อค และมีตลาดเกษตร ทั้งพืชผัก เนื้อแพะ แกะ ไม่มีสุกร เพราะเป็นเมืองมุสลิม มีสุเหร่าไว้ทำละหมาด โดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท ทุกอย่างมีความสะอาดเป็นระเบียบ เหมือนของเอกชนนั่นเอง
ท่าประมงภูเก็ต ก็เป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่ อสป. จะต้องพัฒนาให้นักท่องเที่ยวได้ชมแล้วซื้ออาหารทะเลไปกินตามเกาะต่าง ๆ ซึ่งจะต้องขุดลอกคลองที่ตื้นให้ลึกพอที่เรือจะเข้ามาโดยมี กรมเจ้าท่า ขุดให้โดยใช้งบหลายล้านบาท จากนั้นจะพัฒนาให้เป็นท่าเรือประมงปลาทูน่า เรือทูน่าจากประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน ก็จะมาใช้บริการ เพราะ อสป.ได้จับมือกับแพปลาของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน อยู่แล้ว ทำธุรกิจกันมานาน

ในด้านความสัมพันธ์กับเจ้ากระทรวง อสป. ยุคคุณปรีดาได้สนองนโยบายทุกเรื่องหากองค์กร เกษตรกร แพปลา และผู้บริโภคได้ประโยชน์ทุกฝ่าย อย่างเช่น วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 คุณปรีดา คุณทัศนาพร และคณะผู้บริหารได้เข้าร่วมงาน ปิดอ่าวช่วงฤดูปลาวางไข่ ที่ท่าเทียบเรือประมงจังหวัดชุมพร และปล่อยพันธุ์ปลา 302,200 ตัว สู่ทะเลชุมพร โดยมี นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตร เป็นประธาน เป็นต้น
เคยมีคำถามว่าทำไม อสป.ไม่จัดตั้ง “บริษัท” เพื่อให้เกิดความคล่องตัว คุณปรีดา ให้ความเห็นว่า ไม่มีกฎหมายอนุญาต “จริง ๆ แล้วรัฐวิสาหกิจดีหรือไม่ดีอยู่ที่ผู้บริหาร เสียเปรียบเอกชนตรงที่เขาไม่ต้องมีกฎหมายจัดซื้อ จัดจ้าง ขั้นตอนไม่เยอะ เป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจยากกว่าเป็นอธิบดี เรามีสหภาพ ราชการไม่มี เรามีบอร์ด ราชการไม่มี แต่ถ้าเราตั้งใจทำ ย่อมทำได้หมด อย่าไปคิดเรื่องผลประโยชน์เยอะ” ดังนั้น เขาจึงต้องบริหาร อสป. ให้มีกำไรจนได้รัฐวิสาหกิจดีเด่นเป็นหลักฐาน

เมื่อถามว่า ต้องการทำเรื่องอุตสาหกรรมประมงที่มันท้าทาย เขาตอบว่าจุดแข็งของไทย คือมี ท่าเรือประมงมาตรฐาน ที่ประเทศอาเซียนไม่มี ที่ไทยมีเพราะถูกสนับสนุนจาก FAO จึงไม่แปลกที่ อธิบดีกรมประมงมาเลเซีย และนายกสมาคมประมงมาเลเซีย มาดูงานของไทยหลายครั้ง เวียดนามแม้มี เรือประมง เยอะแต่ท่าเรือ และโลจิสติกส์สู้ไทยไม่ได้ มาเลเซียน่านน้ำเยอะ แต่คนเขามีวันหยุดเยอะ เลยไม่มีเวลาทำประมง ส่วนอินโดนีเซียทะเลกว้าง แต่ไม่มีคนทำสัมปทานการจับปลา ตรงกันข้ามกับ ชาวประมงไทย ที่เก่งการออกเรือไปจับปลา แต่ขาด เงินทุน ซื้อเรือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้น คุณปรีดา ต้องการทำเรื่องนี้ แต่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ทั้ง ๆ ที่ชาวประมงมีรายได้ “ ผมอยากสร้างอาชีพนี้ไปให้ไกลทำ Fleet เรือปลาทูน่า ไทยทำสัญญาแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย กรมประมงจ่ายเงินตลอด แต่ไม่มีเรือไทยไปจับปลาตามโควต้า ผมได้คุยกับกรมประมง แต่เรือต้องลงทุนร้อยกว่าล้าน ต้องใช้เรือใหญ่ที่จับปลาได้เป็นพันตันมันถึงจะคุ้มค่า” คุณปรีดาให้แง่คิด และมองมุมใหม่ว่าต้องเริ่มจากเรือลำเล็ก จับปลาในทะเลใกล้ ๆ โดยครอบครัวชาวประมงฝึกลูก ๆ ให้เรียนรู้การจับปลาก่อนที่อาชีพประมงพื้นบ้านจะหายไป
ประวัติการทำงานของ คุณปรีดา ยังสุขสถาพร ก่อนมารับ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ อสป.
ปรีดา ยังสุขสถาพร อดีตรองผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย 5 ปีเต็ม ๆ ที่ทำงานด้านนี้ เมื่อมาเป็นผู้อำนวยการ อสป. เป็นงานท้าทาย เพราะไม่มีพื้นฐานด้านประมงมาก่อน หลังจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับราชการที่กระทรวงมหาดไทย จากนั้นได้เรียนนิติศาสตร์พร้อมได้ทุนโคลัมเบียจากรัฐบาล ไปต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย พอจบก็มาทำงานใช้ทุนที่สำนักนายกฯ จากนั้นย้ายไปกระทรวงวิทยาศาสตร์ และอีกหลายกระทรวงต่อมา ซึ่งประสบการณ์ต่างๆ ถูกนำมาประยุกต์ใช้ที่ อสป. อย่างได้ผล
คนทำงานตั้งแต่อายุย่าง 21 ปี เพราะเรียนจบไว ย่อมได้เปรียบในการบริหารงานที่ยาก ๆ
สุดท้ายภายในปีนี้เขาต้องอำลา อสป. ปล่อยให้เงินหลายล้านบาทจากกำไรทางธุรกิจให้คนอสป.ดูแลแทน
สอบถามรายละเอียด องค์การสะพานปลา กรุงเทพ ได้ที่
เลขที่ 149 ถ.เจริญกรุง 58 แขวงยานนาวา: เขตสาทร: กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์: 0-2211-7300, 0-2212-4490
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับ 426 (ก.พ 68)