ลักษณะโดดเด่นของแวนด้า
“แวนด้า” เป็นหนึ่งในตระกูลกล้วยไม้ที่มีความหลากหลายทางด้านสายพันธุ์ ดอกมีขนาดใหญ่ สีสันสดใส นำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบต้นติดดอก และไม้ตัดดอก โดยเฉพาะประเภทต้นติดดอก ตลาดมีความต้องการ ทั้งในและต่างประเทศ แต่แวนด้าประเภท “ไม้ตัดดอก” ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะคุณสมบัติของดอกที่มีขนาดใหญ่ กลีบดอกหนา สีสด และมีความหลากลาย ใช้งานทนทาน จึงนิยมนำไปใช้ในงานตกแต่งดอกไม้ระดับพรีเมียมเกรด ราคาจึงค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อนของไทย
เพียงแต่การปลูกเลี้ยง กล้วยไม้แวนด้า ค่อนข้างจำกัด เพราะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ทั้ง โรงเรือน และต้นพันธุ์ ที่สำคัญ คือ ธรรมชาติของแวนด้าเป็นกล้วยไม้ปี ออกดอกปีละ 2-3 ครั้ง เท่านั้น ปริมาณผลผลิตจึงจำกัด เมื่อเทียบกับกล้วยไม้หวาย
หากแต่มูลค่าสูงนี่เอง ทำให้มีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งอาศัยความชำนาญ ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตระกูลนี้เป็นไม้ตัดดอกอย่างจริงจัง โดยมีการคัดเลือกพันธุ์ที่ออกดอกเก่ง ให้ดอกต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงปรับรูปแบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับการเลี้ยงเพื่อส่งออก เป็นกล้วยไม้เกรดบน แข่งขันกับกล้วยไม้ตัดดอกเมืองหนาว อย่าง ซิมบิเดียม และฟาแลนอปซิส เป็นต้น
จุดเริ่มต้นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้แวนด้าตัดดอก
คอลัมน์เด่นจากปกฉบับที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ จึงนำเสนอการปลูกเลี้ยง กล้วยไม้แวนด้า ตัดดอกเพื่อส่งออก เพื่อเป็นแนวทางแก่ชาวสวนกล้วยไม้ที่ต้องการทำกล้วยไม้เกรดคุณภาพราคาสูง และน่าจะเป็นกล้วยไม้ของไทยเพียงไม่กี่ชนิดที่จะใช้ต่อกรกับกล้วยไม้คุณภาพในตลาดโลก
เขาใหญ่ออร์คิดส์ หนึ่งในผู้ปลูกเลี้ยงแวนด้าตัดดอก บนพื้นที่ที่ว่ากันว่าเหมาะสำหรับเลี้ยงกล้วยไม้ชนิดนี้ นั่นคือ กาญจนบุรี
คุณฉัฏฐา สายสะอาด ให้ข้อมูลว่า เริ่มต้นปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาตั้งแต่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ปัจจุบันขยายพื้นที่ปลูกรวม 13 ไร่ สวนแห่งนี้เริ่มต้นจากการรวบรวมสายพันธุ์จากสวนต่างๆ ทั้งซื้อต้น และไม้ขวดมาเพาะ เพื่อเลี้ยงขายต้นติดดอก จากนั้นก็คัดพันธุ์โดยเลือกต้นให้หน่อง่าย ออกดอกเก่ง ดอกใหญ่ สีสด แล้วนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีนี้จะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดี โดยไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาสายพันธุ์
เช่นเดียวกับการปลูกเลี้ยงแวนด้าตัดดอก พันธุ์ เป็นหนึ่ง “หัวใจ” แท้ กล้วยไม้สกุลนี้จะมีหลากหลาย แต่ ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาเลี้ยงเป็นกล้วยไม้ตัดดอกได้ทั้งหมด ต้องผ่านการคัดสรรแล้วว่าเป็นพันธุ์เลี้ยงง่าย ให้ดอกเก่ง และต้านทานโรค เป็นต้น ยิ่งให้ดอกได้ตลอดทั้งปีได้ยิ่งดี สายพันธุ์แวนด้าตัดดอก เช่น ดร.เอนก พชรบลู สันทรายบลู และโรเบิร์ต บลู เป็นต้น
การบริหารจัดการโรงเรือน
กล้วยไม้แวนด้า ขึ้นชื่อเรื่อง “เลี้ยงยาก” อยู่แล้ว ต้องอาศัยหลายปัจจัยแวดล้อมหลายทาง จึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ อากาศ และน้ำ เป็นต้น นี่คือปัจจัยทางธรรมชาติที่ขาดไม่ได้สำหรับแวนด้าตัดดอก ส่วนเรื่องปุ๋ยและยามีความสำคัญรองลงมา “แวนด้าทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันเลี้ยงยาก เป็นโรคง่าย” หากขจัดปัญหาเหล่านี้ได้จึงจะสะกดคำว่าประสบความสำเร็จได้
นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว เรื่อง “ต้นทุน” ยัง “โหด” สำหรับคนเลี้ยงแวนด้า เพราะลงทุนค่อนข้างสูงทีเดียว อย่างการลงทุนของสวนแวนด้าแห่งนี้ต้องสร้างโรงเรือนสูงกว่าปกติ จาก 4 เมตร เป็น 5 เมตร เพื่อให้ลมและอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลังคาโรงเรือนมุงซาแรนแบบต่างระดับสลับฟันปลา เพื่อให้ลมพัดผ่านเข้ามาจากด้านบนได้ ความสูงของโรงเรือนยังแก้ปัญหาอากาศร้อนสูงกว่าปกติในบางช่วงได้อย่างดี
ด้านราวแขวนกล้วยไม้ หากให้ท่อเหล็กแป๊บ ต้นทุนจะสูงมาก ไร่ละ 5-6 แสนบาท แต่หากหันมาใช้สายไฟเบอร์ออฟติก ต้นทุนจะเหลือเพียง 3 แสนบาท/ไร่ เท่านั้น เมื่อรวมกับต้นพันธุ์แล้ว กล้วยไม้ชนิดนี้จึงลงทุนสูง ทำให้มีผู้ปลูกเลี้ยงไม่มากนัก
เมื่อผู้ผลิตไม่มาก ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของผู้ผลิต ตลาดจึงมีความต้องการสูง ทั้งต้น และตัดดอก เช่นเดียวกันก็สูงด้วยเช่นกัน “ตลาดแวนด้า ดีทั้งต้นและดอก ของไม่พอขาย” ทั้งนี้การออกดอกของ กล้วยไม้แวนด้า แต่ละพันธุ์ไม่เหมือนกัน แต่ปกติจะให้ดอก 3-5 ช่อ/ปี ขณะที่มีบางพันธุ์ อย่าง “พชรบลู” สามารถให้ดอกถึง 5 ช่อ/ปี ขณะที่ลักษณะของดอกแวนด้าที่ตลาดต้องการคือ ช่อตั้งตรง ดอกใหญ่ ช่อยาว
ความละเอียดของการเลี้ยงแวนด้าตัดดอก คือ ต้องใช้ถุงพลาสติกครอบช่อดอกทั้งช่อ เพื่อป้องกันความเสียหายจากแมลงต่างๆ และศัตรูที่สำคัญ คือ นก จิกดอก จิกเกสร จะทำให้เสียหาย ขายไม่ได้ แม้ตลาดในประเทศ นอกจากนั้นยังต้องทำให้ก้านช่อตั้งตรง ที่ผ่านมาจะใช้วิธีใช้ไม้ดามให้ตรง แต่ติดปัญหาต้นทุนและแรงงาน จึงหันมาใช้วิธีหันตาช่อดอกตามแสงแล้วจึงคลุมถุงพลาสติก ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีช่อที่ไม่ได้มาตรฐานส่งออกมากพอสมควร ดอกไม้กลุ่มนี้จะถูกขายตลาดในประเทศ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแวนด้า ทั้งในและต่างประเทศ
สวนแห่งนี้สามารถตัดสัปดาห์ละ 1,000 ช่อ หรือเดือนละ 3,000-4,000 ดอก ส่งขายในประเทศและต่างประเทศ
ด้านราคาตลาดส่งออกอยู่ระหว่าง 30-50 บาท/ช่อ ส่วนราคาในประเทศขายตามจำนวนดอกๆ ละ 3 บาท ทั้งนี้ตลาดดอก กล้วยไม้แวนด้า มีตลาดหลักอยู่ต่างประเทศ จัดอยู่ในกลุ่มกล้วยไม้พรีเมียมราคาสูง เจ้าของสวนใช้คำว่าเป็นดอกไม้สำหรับ “คนรวย”
แต่อย่างไรก็ตามยังมีตลาดในประเทศรองรับ อย่าง ปากคลองตลาด เป็นต้น ซึ่งเป็นศูนย์รวมของดอกไม้เมืองไทย แต่ก็ยังถือเป็นดอกกล้วยไม้ที่มีราคาสูง ใช้ในงานจัดดอกไม้โรงแรม งานจัดช่อดอกไม้บูเกต์
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงแวนด้า
ปัญหาของการปลูกเลี้ยง กล้วยไม้แวนด้า ในช่วงที่ผ่านมา คือ เรื่องน้ำ และอากาศ
โดยเฉพาะน้ำ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของกล้วยไม้ แต่ช่วงกว่าครึ่งปีที่ผ่านมาน้ำจากคลองชลประทานแห้งขอดมาตลอด จนต้องหันมาใช้น้ำประปารดกล้วยไม้อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ต้นทุนค่อนข้างสูง
ขณะที่อากาศร้อนผิดปกติในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ สร้างผลกระทบต่อกล้วยไม้ ทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ดอกไม่ค่อยออก หรือออกมาก็ไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการลงทุนขุดบ่อน้ำบาดาล ใช้เงินลงทุนหลักแสนบาท แต่ก็เป็นทางเดียว และทำให้สวนแห่งนี้อยู่รอดมาได้
อีกปัญหาหนึ่งของแวนด้า คือ หากถูกโรคทำลายจะมีอาการ “แก้ผ้า” คือ ใบเหลืองหลุดร่วง ต้นขาดความสมบูรณ์ ต้องใช้สารเคมีราคาแพงฉีดพ่น แต่ภายหลังหันมาใช้ไตรโคเดอร์มาฉีดป้องกัน สามารถแก้ปัญหาโรคต่างๆ ได้ดี จนสามารถลดต้นทุนสารเคมีกำจัดแมลงลงได้มาก
“ไตรโคเดอร์มาฉีดแล้วมันจะช่วยให้ต้นกล้วยไม้ทีความต้านทานสูง โรคเข้าทำลายได้ยาก และยังช่วยให้ต้นกล้วยไม้กินอาการได้มาก ส่วนแมลงเราก็ลดสารเคมีลง หันมาใช้พวกน้ำส้มควันไม้ฉีดไล่ แต่พวกเพลี้ยไฟยังต้องใช้สารเคมี”
การปลูกเลี้ยง กล้วยไม้แวนด้า ตัดดอก
พราวออร์คิดส์ ดำเนินธุรกิจปลูกเลี้ยง กล้วยไม้แวนด้า ตัดดอก และจำหน่ายต้นมานานถึง 30 กว่าปี จากอาชีพพนักงานโรงงานผันตัวเองมาปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่เกินความสามารถของเธอ
คุณนัทธ์ลทัย เชื้อพงษ์ เล่าว่า แม่เป็นคนบุกเบิกสวนกล้วยไม้ในเมืองกาญจน์เป็นรุ่นแรก ตอนนั้นเธอยังไม่มีอาชีพอะไร เห็นแม่ทำสวนกล้วยไม้แล้วได้เงินดี จึงเริ่มสนใจ และเริ่มมองว่าการปลูกกล้วยไม้เป็นอาชีพที่สามารถสร้างความมั่นคงได้ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
เธอจึงไปซื้อกล้วยไม้แวนด้าสีม่วงมาทดลองปลูก ในขณะที่เลี้ยงกล้วยไม้เธอก็ยังทำงานโรงงานไปด้วย ให้เหตุผลว่าหากเลี้ยงกล้วยไม้เพียงอย่างเดียว คงตายทั้งคนและกล้วยไม้ เพราะจะไม่มีเงินสำรองไว้หมุน กระทั่งสามีของเธอกลับจากต่างประเทศ ทั้งคู่จึงช่วยกันสร้างธุรกิจสวนกล้วยไม้แวนด้าอย่างจริงจัง และขยายพื้นที่เพิ่ม จนปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 13 ไร่กว่า เน้นทำกล้วยไม้แวนด้าเป็นหลัก เช่น แวนด้าวิรัตน์, พชรบูล และสันทรายบูล เป็นต้น และมีแอสโคเซนด้าบ้างเล็กน้อย
แวนด้าเป็น 1 ใน 5 ของสกุลกล้วยไม้ที่มีการปลูกในสวนกล้วยไม้มากที่สุด เพราะว่ามีดอกที่งดงามมากที่สุดในบรรดาพืชวงศ์กล้วยไม้ ดอกแวนด้าที่เรียกว่าสวย ดอกต้องผึ่งกางออก ฟอร์มดอกกลม ก้านช่อต้องแข็งและยาว ก้านดอกสั้น ลวดลายบนดอกชัดเจน แต่การจะเลี้ยงแวนด้าให้ออกดอกสวยดั่งใจยากยิ่ง
สภาพพื้นที่เลี้ยงแวนด้า
สภาพของโรงเรือนมีผลต่อความสมบูรณ์ของแวนด้าด้วย เนื่องจากแวนด้าเป็นกล้วยไม้ที่มีความเซนซิทีฟสูงมาก โรงเรือนจึงต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก เสาโรงเรือนจึงต้องสูงประมาณ 4.5 เมตร โดยทางสวนจัดวางเสามีระดับสูงต่ำสลับฟันปลา ให้ลมผ่านสะดวก ระบายอากาศได้ดี
ซาแรนขึ้นอยู่กับว่าเป็นไม้ตัดดอก หรือไม้ขายต้น จะใช้ต่างกัน โดยความเข้มของซาแรนที่ใช้เลี้ยงไม้ขายต้นจะกรองแสง 40% ถ้าเป็นไม้ตัดดอกซาแรนกรองแสง 70% เนื่องจากแวนด้าเป็นไม้ที่ไม่ชอบอากาศร้อน หากอากาศร้อนมากจะไม่ออกดอก หรือมีขนาดดอกเล็กลง
การบำรุงดูแลรักษาแวนด้า
น้ำมีความสำคัญมากต่อการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้แวนด้า ความเป็นกรด-ด่างของน้ำต้องเป็นกลาง ไม่มีหินปูน เพราะถ้าหากน้ำไม่เหมาะสมรากจะไม่ออกเล็บ หรือภาษากล้วยไม้เรียกว่า หมวกราก จะกุดด้วน เปราะแตกหักง่าย น้ำที่สวนใช้จะสูบมาจากคลองชลประทาน
การให้น้ำจะใช้สปริงเกลอร์ โดยให้ช่วงเช้าของทุกวัน ทั้งนี้ต้องดูโรงเรือนและทิศทางลมด้วย การรดน้ำต้องรดจนชุ่มโชก หากวันใดมีลมแรงมากจะเพิ่มการให้น้ำเป็น 2 รอบ เช้าและเย็น เพราะถ้าต้นได้รับน้ำไม่เพียงพอ ดอกจะเหี่ยวแล้วจะฟื้นยาก เพราะแวนด้าเป็นไม้รากอากาศ จะไม่มีเครื่องปลูกพยุงต้น น้ำจะระเหยได้เร็ว
การให้ปุ๋ยจะให้ 7 วัน/ครั้ง เป็นปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ ฉีดให้ทั่วรากและใบ ใช้สูตรเสมอ คือ 21-21-21 และสูตร 16-21-27 เพื่อเร่งดอกและบำรุงต้นให้สมบูรณ์ แข็งแรง มีการใช้อาหารเสริม เกอมาร์ นาโน บริษัท โซตัส เพื่อเพิ่มคุณภาพดอกกล้วยไม้
โรคส่วนใหญ่ที่พบ คือ โรคเชื้อรา จะใช้ยากำจัดเชื้อรา โดยฉีดยาทุก 7 วัน หรือรักษาตามอาการ ในกรณีฝนตกจะใช้สารจับใบช่วยเกาะยึดดีขึ้น
แมลงพบเพลี้ยไฟ ช่วงเปลี่ยนฤดู ป้องกันและกำจัดโดยใช้สารเคมีคาร์โบซัลแฟน และเมทิโอคาร์บ ใช้สลับกัน
สถานการณ์กล้วยไม้แวนด้าตัดดอก
ท่ามกลางช่วงเวลายากลำบาก ไม่ว่าจะเกิดจากพิษภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทุกวันมีแต่ข่าวเลิกจ้าง ปลดพนักงาน ปิดกิจการ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ยังคงติดลบถ่ายทอดออกมาเป็นกราฟทางเศรษฐกิจที่ลูกศรทิ้งดิ่งลงมาอยู่ตลอดเวลา
ผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นเริ่มส่งผลลัพธ์เป็นรูปธรรมชัดเจน เมื่อหลายสวนกล้วยไม้ชั้นนำพบว่ากำไรลดต่ำกว่าที่คาดการณ์ ความหวังสุดท้ายของหลายๆ สวนยังคงน่าเป็นห่วง เพราะมรสุมเศรษฐกิจครั้งนี้ผู้ประกอบการต่างยอมรับว่า “ยากเกินกว่าจะคาดการณ์ได้” ไม่พ้นแม้กระทั่งในธุรกิจสวนกล้วยไม้
การจำหน่าย กล้วยไม้แวนด้า ตัดดอก
คุณนัทธ์ลทัยให้ข้อมูลว่ายอดขายตลาดในประเทศจาก 100% เหลือประมาณ 10% เพราะเศรษฐกิจฝืด จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง การซื้อขายจึงน้อยลงมาก ยิ่งไปกว่านั้นดอกที่ออกมาไม่ได้คุณภาพสำหรับส่งออก ต้องขายปากคลองตลาดที่ราคาถูกกว่า
สวนแพรวออร์คิดส์จึงต้องเร่งปรับปรุงและดูแลเอาใจใส่ลูกค้าให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเดิมที่เป็นรายได้หลักเอาไว้นั่นเอง
ราคากล้วยไม้แวนด้าตัดดอกอยู่ที่ 30-50 บาท ราคาเหมือนเดิม ไม่ได้ขยับขึ้นหรือลง “ถ้าเป็นต้นติดดอกจะเป็นตลาดในประเทศเกือบจะ 100% แต่ถ้าเป็นต้นรุ่นจะส่งออก ของไม่พอขาย เศรษฐกิจแย่ คนไม่กล้าลงทุนมาก ทำให้ตลาดหยุดชะงัก” คุณนัทธ์ลทัยพูดความเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
สภาพเศรษฐกิจตลาดโลกส่งผลกระทบต่อแวนด้าหรือไม่
คุณนัทธ์ลทัยให้ข้อมูลว่าตลาดต่างประเทศไม่มีปัญหา เพราะลูกค้ามีกำลังซื้อ เพียงแต่สวนผลิตเชิงปริมาณไม่ได้ เพราะอากาศร้อน ทำให้กล้วยไม้ไม่ออกดอก ราคาแวนด้ายังคงที่เท่าเดิม ก็ยังขายได้อยู่ เพราะเป็นไม้ที่มีดอกใหญ่สวยงาม ผู้ซื้อใช้จึงเป็นคนที่ค่อนข้างมีฐานะ ทำให้การใช้แวนด้าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
อากาศร้อน การออกดอกมีปัญหา ต้นชะงัก ไม่ออกดอก ทำให้ดอกตูมเน่า และเมื่อต้นมีดอกต้องใช้ถุงพลาสติกคลุมดอก ยิ่งทำให้อากาศภายในถุงอบอ้าว ดอกตูมเน่า และบางต้นดอกบานก็เน่าฉ่ำน้ำ แต่ถ้าไม่คลุมถุงให้ดอก ก็มีปัญหาเรื่องนกและกระรอกกัดกินดอก
แวนด้ามีเท่าไหร่ขายหมด เนื่องจากมีสวนที่ปลูกเลี้ยง กล้วยไม้แวนด้า น้อย หรือถ้าจะเริ่มเลี้ยงใหม่ใช้ระยะเวลานาน ใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 ปี อีกทั้งเลี้ยงยาก บางสายพันธุ์อ่อนแอต่อโรคและแมลง
ปัญหาและอุปสรรคเรื่องแรงงาน
ปัญหาเรื่องแรงงาน อาชีพใช้แรงงานตามสวนมักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนทั่วไปที่มีความรู้และประสบการณ์ จึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่น่าหนักใจของผู้ประกอบการ ทำให้ขาดแรงงานฝีมือในการทำงาน และพนักงานที่เข้ามาใหม่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่ากับเงินเดือนที่ต้องจ่าย
ทางแก้ปัญหา คือ ผู้ประกอบการอาจต้องยอมจ่ายค่าแรงสูงขึ้น เพื่อจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์และความรู้ที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน โดยต้องมีข้อเสนอพร้อมทั้งสวัสดิการที่น่าสนใจมากเพียงพอจะดึงดูดให้มาร่วมงานได้ หรือการเพิ่มทักษะและความรู้ใหม่ๆ ให้กับพนักงานอยู่เสมอ จะช่วยให้พนักงาน 1 คน สามารถช่วยทำงานทดแทนในงานบางอย่างได้ โดยที่ไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่มในส่วนนี้ จะสามารถเพิ่มผลผลิตให้กับธุรกิจให้มากขึ้นได้ด้วย
พลังใจอันเข้มแข็งและการปรับแต่งรูปแบบการบริหารกิจการให้เหมาะสมกับช่วงเวลา ด้วยการสังเกตและปรับตัวอย่างเข้าใจ จะสามารถเปลี่ยนความซับซ้อนให้กลายเป็นจุดแข็งของกิจการได้ และผลตอบแทนที่ได้ แม้ว่าจะออกดอก ออกผล ทันที หรือช้าสักหน่อย แต่เชื่อว่าผลที่คุณจะได้คุ้มค่าในระยะยาวอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณ
คุณฉัฏฐา สายสะอาด
เขาใหญ่ออร์คิดส์
78 หมู่ 3 ต.โคกตะบอง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
โทรศัพท์ 08-1294-5964, 08-6311-2721
คุณนัทธ์ลทัย เชื้อพงษ์
พราวออร์คิดส์
36 ม.2 ต.ท่าไม้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120 โทรศัพท์ 08-9990-6600, 08-1309-8800