หากพูดถึงการพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดสี เชื่อว่าหนึ่งในใจของทุกท่านต้องนึกถึง “Pallada Garden” ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ การขยายพันธุ์สับปะรดสี
คุณปัลลพ รุ่งรัศมี หรือรู้จักในนาม จ๊อบ เกษตรกรหนุ่มระดับปรมาจารย์ในวงการสับปะรดสี และนักปรับปรุงพันธุ์สับปะรดสีแนวหน้าของเมืองไทย ดีกรีบัณฑิต สาขาพืชสวนประดับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
การปลูกเลี้ยงสับปะรดสี
เริ่มต้นเก็บสะสมสับปะรดสีตั้งแต่สมัยเรียน หลังจากเรียนจบเข้าทำงานเป็นผู้จัดการสวนกล้วยไม้ ก่อนจะมาศึกษาสับปะรดสีอย่างจริงจัง ตั้งแต่การดูแลรักษา การปลูกเลี้ยง และการพัฒนาสายพันธุ์ โดยมีความรู้พื้นฐานจากสาขาที่เรียน และค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ หรือรายงานต่างประเทศ ว่าวิธีการผสมพันธุ์ทำอย่างไร ต้องใช้พ่อแม่พันธุ์แบบไหน ศึกษามาเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้
จากจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ตั้งแต่ปลูกเป็นงานอดิเรก โดยอาศัยองค์ความรู้ที่เคยศึกษามาประยุกต์ใช้ กอปรกับความชื่นชอบและใจรักในสิ่งที่ทำ ทำให้เขาพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดสีเรื่อยมา
สายพันธุ์สับปะรดสี
คุณจ๊อบเล่าถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาพันธุ์ว่า “ผมมองว่าสับปะรดสีเป็นพืชที่มีความน่าสนใจในรูปทรง และสีสันที่แปลก ตั้งแต่แรกเริ่มปลูก ระยะแรกสวนมีพ่อแม่พันธุ์ไม่มาก และไม่ค่อยสวยเท่าไร จึงเสาะหาต้นพันธุ์ในประเทศ และได้นำเข้าสายพันธุ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของต้นลูกผสม
“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมสามารถผสมข้ามสายพันธุ์แล้วเกิดลักษณะตามต้องการได้บางส่วน โดยระยะเริ่มต้นคลำทางสู่การพัฒนาพันธุ์ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกผสมออกมาเป็นไม้ด่างเหมือนพันธุ์ของต่างประเทศ
“ผมพยายามหาหนทางเรื่อยมา จน 8 ปีที่แล้ว ผมค้นพบว่าต้องใช้แม่พันธุ์แบบไหนถึงได้ต้นลูกด่าง พบว่าต้นพ่อพันธุ์ไม่สำคัญเท่าต้นแม่พันธุ์ ผมสังเกตเห็นว่าถ้าต้นแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์ โอกาสได้ต้นลูกด่างเปอร์เซ็นต์มีสูงมาก จากนั้นคัดเลือกต้นสวยตามความต้องการ” คุณจ๊อบเล่าจุดเริ่มต้นการพัฒนาพันธุ์
ในฐานะนักสะสม เขาจึงมีสับปะรดสีอยู่เกือบทุกสกุล เช่น สกุลนีโอเรเจลยา (Neoregelia), สกุลบิลเบิร์กเอีย (Billbergia), สกุลแอคเมีย (Aechmea), สกุลรีเซีย (Vriesea), สกุลดิคเคีย (Dyckia) และสกุลคริพแทนธัส (Cryptanthus) เป็นต้น
สับปะรดสี ไม้ประดับใบสวยงาม ที่มีทั้งใบลายด่าง และสีสันฉูดฉาด เป็นหนึ่งในไม้ประดับที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยภาพลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ทั้งรูปร่าง ขนาด และสีสัน หลากหลาย เช่น บางชนิดใบมีสีเขียวขลิบเหลือง ริ้วเหลือง บางชนิดใบสีม่วงแต้มชมพูเป็นปื้นตามใบ หรือมีจุดประ เป็นต้น
เดิมสับปะรดสีเป็นไม้ประดับราคาค่อนข้างสูง เพราะส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ กระทั่งเริ่มมีการพัฒนาลูกผสม ลักษณะดี สวยทั้งสี และฟอร์ม จนเกิดความหลากหลาย
“สับปะรดสีมีความหลากหลายทางด้านสายพันธุ์สูง ทำให้เราสามารถนำพันธุ์ใดมาพัฒนาก็ได้ เมื่อพัฒนาแล้วอาจถูกใจตลาดในขณะนั้นก็เป็นได้ แต่สวนของเราจะพัฒนาพันธุ์สับปะรดสีทุกกลุ่ม เน้นสร้างความหลากหลายเป็นหลัก”
เทคนิคการพัฒนาสายพันธุ์
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ สวนปัลลดาเน้นการพัฒนาสายพันธุ์นีโอฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสีสันสดใส เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ง่าย อีกทั้งมีความสวย คงทนต่อการใช้งานจัดสวน สายพันธุ์นีโอฯ มีการแบ่งลักษณะเด่นเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มไม้สี (Colorful),
- กลุ่มไม้มีลายเป็นแถบ หรือลายเสือด่าง (Stip and Band),
- กลุ่มมีหนามใหญ่ (Spines) เช่น Neo.carcharodon เป็นต้น และ
- กลุ่มไม้จุดประ (Spot and Dot)
และมีการแบ่งกลุ่มการด่างเป็น 4 แบบ ได้แก่
- การด่างที่ขอบใบ หรือเรียกว่า ด่างนอก (albo-marginated ),
- การด่างที่กลางใบ (variegated),
- ด่างเป็นเส้นๆ (Stiata) และ
- ด่างแบบแถบสี (Mediopicta)
ตัวอย่างวิธีการสังเกตลวดลาย ด่างเส้น ให้ดูจากฝั่งใบด้านหนึ่ง และดูฝั่งใบอีกด้านหนึ่ง จะต้องมีลายทั้ง 2 ข้าง ไม่เหมือนกันในขอบใบเดียวกัน ไม้ประเภทนี้บางต้นสามารถใช้เป็นแม่พันธุ์ได้ดี และมีโอกาสให้ลูกไม้ด่างค่อนข้างสูง
ในฐานะนักพัฒนาสายพันธุ์ ถ้าต้องการต้นลูกไม้มีขนาดใหญ่ จะใช้ต้นแม่สายพันธุ์ขนาดใหญ่ ส่วนเรื่องสีสันต่างๆ จะใช้ต้นพ่อที่มีสีสันฉูดฉาด หลักการจำง่ายๆ “พ่อสี แม่ฟอร์ม”
ส่วนไม้ลายเสือ (Tiger) คุณจ๊อบเล่าว่า “ประเภทลูกผสมกลุ่มลายเสือ เมื่อมาสังเกตคู่ผสมแล้วต่างประเทศจะใช้พ่อพันธุ์เป็นลายเสือ ซึ่งจะไม่ถ่ายทอดลักษณะที่เป็นลายเสือ เมื่อผสมออกมาจะได้เพียงแค่หนาม ส่วนความเป็นลายเสือจะไม่มีลาย หรืออาจจะมีได้บ้างเล็กน้อย
“ฉะนั้นถ้าเราต้องการลายเสือจะต้องใช้ต้นแม่พันธุ์ที่เป็นลายเสือเท่านั้น หากใช้ต้นพ่อเป็นลายเสือโอกาสที่จะได้ลายเสือมีน้อยมาก ผมดูจากสิ่งที่ต่างประเทศทำ และสังเกตจากที่ศึกษาเองด้วย” คุณจ๊อบพูดวิธีการเลือกพ่อแม่พันธุ์ลายเสือ
การพัฒนาไม้ทนต่อแสงแดด คุณจ๊อบบอกว่าเมื่อพัฒนาพันธุ์แล้วควรทดสอบปลูกกลางแจ้งในทันที และคอยสังเกตดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละฤดูกาล เช่น ฤดูหนาวจะมีแสงแดดจ้า และร้อน แต่มีอุณหภูมิต่ำ ทำให้ต้นไม่เป็นไร ในทางกลับกันฤดูร้อนอุณหภูมิสูง ทำให้มีใบไหม้น้ำแห้งเหลือง จึงไม่สามารถนำมาใช้งานจริงได้ เป็นต้น
“การคัดเลือกลูกไม้ตั้งแต่ต้นที่มีขนาดเล็กๆ ให้เลือกต้นที่มีใบกลม แผ่นใบกว้าง เพราะจะได้ลูกไม้ที่มีลักษณะใบกว้างใหญ่เมื่อโตขึ้นมา จากนั้นดูลาย โดยเลือกต้นที่มีลายคมชัดเจน ทั้งหน้าใบ และหลังใบ ถ้าเลือกได้ลักษณะตามนี้โอกาสที่จะได้ไม้ที่มีลักษณะดีมีสูง” คุณจ๊อบยืนยัน
การขยายพันธุ์สับปะรดสี
ปัจจุบันสวนปัลลดาพัฒนาพันธุ์โดยคัดเลือกเฟ้นหาสับปะรดสีใบมัน เมื่อถูกน้ำจะมีสีขึ้นเด่นชัด สะท้อนแสงสวยงาม และมีการใช้งานด้านสวนแนวตั้งที่หลากหลาย จึงพยายามปรับปรุงพันธุ์ให้สีสดใส สามารถอยู่ได้ทุกสภาพอากาศ ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง
“การพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดสี ทำให้ผมเป็นเจ้าของไม้ที่มีหนึ่งเดียวในโลกหรือแห่งเดียวในไทย เปรียบได้กับผมอยู่บนจุดสุดยอดของสามเหลี่ยมพีระมิด สามารถกำหนดราคาขายได้ ไม่ต้องทำเชิงปริมาณแข่งกับใคร” คุณจ๊อบกล่าวจุดแข็งของสวน
เทคนิคการผสมพันธุ์ หากเห็นว่าต้นแม่พันธุ์ หรือพ่อพันธุ์ มีความสมบูรณ์ แข็งแรง พอจะออกดอกได้ สามารถใช้เอทิฟอนช่วยให้ต้นออกดอกพร้อมกัน และผสมดอกได้ทันทีเมื่อดอกสมบูรณ์
“สับปะรดสีเป็นพืชที่สามารถบังคับควบคุมได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ทำให้ออกราก ออกดอก หรือบังคับให้มีหน่อมาก หรือน้อย ก็ได้”
การแยกหน่อ เมื่อแยกหน่อแล้ววางทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ รอแผลแห้งสนิท จากนั้นนำหน่อไปจุ่มบนโคนกาบใบที่มีน้ำขังของต้นแม่พันธุ์ หรือต้นพันธุ์อื่น ให้มิดคอรากเล็กน้อย ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้หน่อแตกราก
คุณจ๊อบให้ข้อมูลว่าในกาบใบมีสารช่วยเร่งการเจริญเติบโต ผมอ้างอิงจากรายงานของต่างประเทศ จากประสบการณ์ให้จุ่มทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ให้รากยาวประมาณ 1 ซม. และมีราก 3-5 เส้น สามารถนำปลูกต่อได้ วิธีนี้ทำให้ง่ายต่อการจัดการสวนอีกด้วย
การคัดเพื่อขยายพันธุ์ สวนปัลลดาจะมีการทำลายยอด เพื่อเร่งให้ต้นแตกหน่อ ก่อนจะนำต้นมาขยายพันธุ์ควรทำการคัดเลือกต้นมาอย่างดี ว่าสับปะรดสีต้นนี้มีศักยภาพมากพอ เช่น ทนแดด สีสวย มีลายจุด ใบใหญ่ โดยให้มองภาพรวมทั้งหมดเป็นหลัก และทดสอบการปลูกเลี้ยงแล้วว่ามีความทนทานด้านใดบ้าง หรือทดสอบสี ต้นเล็กมีสีเข้ม เมื่อต้นใหญ่สีจะจางลงหรือไม่ บางต้นจะมีความสวยงามขณะต้นแก่ เป็นต้น สามารถทดสอบและสังเกตได้หลายขั้นตอน
“คนไทยเมื่อผสมได้จะเก็บไว้ทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วบางส่วนไม่สวยก็ต้องทำลายทิ้ง เพราะมีพื้นที่จำกัด จะต้องมีการคัดเลือกที่เฉียบขาด ไม่รักพี่เสียดายน้อง”
การพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดสี
คุณจ๊อบเล่าให้ฟังว่าปีนี้ผลิตลูกไม้ได้ค่อนข้างมาก ประมาณหลักแสนต้น เช่น นีโอฯ แอคเมีย บิลเบิร์กเอีย ดิคเคีย และริเซีย ทุกตัวที่มีโอกาสผสมได้ทั้งหมด เนื่องจากลูกไม้ผสมขึ้นมาใหม่ อย่างไรลักษณะก็ต้องดีกว่าต้นแม่ และผมมองว่าสามารถเลือกมาทำประโยชน์ได้ทั้งสิ้น
ปัจจุบันสวนมุ่งพัฒนาพันธุ์ที่มีลักษณะใบมัน สีสวย ต้นใหญ่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง บางคนจะมีลักษณะการเลือกไม้ที่ต่างกัน ไม่สามารถบังคับให้ใครเลือกชอบไม้ประเภทใดได้ สวนจึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดสีทุกกลุ่มให้ครอบคลุมทั้งหมด
การบริหารจัดการสับปะรดสี
หัวใจหลักในการปลูกเลี้ยงสับปะรดสี เพื่อให้มีสีสันสด สวยงาม ลักษณะฟอร์มสวย ใบยาวสม่ำเสมอกัน
วัสดุปลูกควรระบายน้ำและอากาศได้ดี การปลูกใช้กาบมะพร้าวสับเพียงอย่างเดียว
การให้น้ำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือรดทุกวันก็ได้ โดยรดตรงกลางยอดให้น้ำล้นออกเพื่อล้างคราบสกปรกบนใบ
การใส่ปุ๋ย ตามธรรมชาติของสับปะรดสี เมื่อใส่ปุ๋ยต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ทางสวนจะไม่ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอโดยเด็ดขาด ยกเว้นกรณีต้องการบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมแตกหน่อ ถ้าต้องการให้ต้นใดมีสีสัน จะใช้ปุ๋ยสูตรที่มีตัวกลาง และตัวท้ายสูง หรือปุ๋ยละลายช้า เช่น ออสโมโคท พลัส
ถ้าถามว่า..จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่จะใส่ปุ๋ย หรือต้องเปลี่ยนกระถาง
คุณจ๊อบบอกว่าถ้าปลูกเลี้ยงในกระถางขนาด 4 นิ้ว สังเกตเห็นรากแน่นจนทะลุกระถางออกมา หรือทดสอบโดยการบีบกระถาง ถ้าบีบแล้วมีเสียงรากขาด แสดงว่ารากเกาะเต็มกระถางแล้ว โดยเมื่อเปลี่ยนกระถางแล้วจะใส่ปุ๋ยครั้งหนึ่ง สูตรคือ “เปลี่ยนกระถาง 1 ครั้ง ใส่ปุ๋ย 1 ครั้ง” แล้วต้นจะสวยงามด้วยตัวเอง
การไล่ใบล่างทิ้ง ปกติสับปะรดสีมีต้นทรงกลม เมื่อต้นเติบโตขึ้น ขนาดของทรงต้นจะขยายตาม จะสังเกตเห็นใบล่างรอบทรงต้นปริออก เราสามารถช่วยดึงใบล่างนั้นออกได้ ต้นจะยิ่งโต และออกรากเร็ว
โรคและแมลงที่พบบ่อย คือ เพลี้ยหอย และตั๊กแตน วิธีป้องกันใช้ยาประเภทดูดซึม เช่น สตาร์เกิล จี โรยบริเวณโคนต้น และใส่ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนกระถาง
สตาร์เกิล จี เป็นยาประเภทดูดซึมที่มีความปลอดภัย และเป็นเสมือนเกาะป้องกันจากแมลง
“เราต้องมีการจัดการที่ดี ขยายพื้นที่เพิ่ม โดยแรงงานเท่าเดิม เช่น การรดน้ำ อาจจะวางระบบน้ำ หรือการถากหญ้าใช้พลาสติกปูพื้น และใช้หินเกร็ดโรยทับไม่ให้หญ้าขึ้นในสวน รวมไปถึงการปลูกหน่อ สวนของเราจะไม่ปลูก หากต้นยังไม่มีราก”
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายสับปะรดสี
ปัจจุบันมีปริมาณการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น นิวแคลิโดเนีย และอัฟริกาใต้ เป็นต้น
ช่องทางจำหน่าย ส่วนใหญ่ติดต่อสั่งซื้อทางเว็บไซต์ และมีหน้าร้านอยู่ที่ตลาดคำเที่ยง จ.เชียงใหม่
“ทุกวันนี้ตลาดมาเร็วกว่าที่คิด เช่น ตลาดจีนมีความต้องการใช้งานไม้เล็ก ฟอร์มสวยกะทัดรัด จำนวนมาก สั่งซื้อครั้งหนึ่งเป็นพันต้น สวนผลิตไม่ทัน” คุณจ๊อบพูดถึงความต้องการของตลาดจีน
หลักการทำตลาดในมุมมองนักปรับปรุงพันธุ์ “ทำจำนวนน้อย แต่เน้นคุณภาพ ขายได้ราคาดี” ไม้ที่ผ่านการพัฒนาหรือคัดเลือกต้นที่ดีที่สุดแล้ว สามารถส่งขายแบบยกล็อตได้ เรียกการซื้อขายแบบนี้ว่า “การขายลิขสิทธิ์” ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาตามความพึงพอใจได้ ในตลาดนักปรับปรุงพันธุ์ต่างประเทศจะซื้อขายกันเช่นนี้
รูปแบบการใช้ประโยชน์
การปลูกประดับสวน เนื่องจากสับปะรดสีแทบทุกสายพันธุ์เป็นรากเกาะยึด การปลูกจึงไม่จำเป็นต้องใช้ดิน สามารถนำมาผูกติดต้นไม้ ขอนไม้ ก้อนหิน หรือวัตถุอื่นๆ ให้สวยงามได้ไม่ยาก
การปลูกประดับเป็นไม้กระถาง นับเป็นวิธีการที่แพร่หลายที่สุด ความงามของสีและรูปลักษณ์ของใบสับปะรดสีจะช่วยให้บรรยากาศมีชีวิตชีวามากขึ้น สามารถเคลื่อนย้ายไปตั้งประดับที่ต่างๆ ได้สะดวก ทั้งยังควบคุมการดูแลรักษาง่าย
การปลูกเป็นไม้ดอก สับปะรดสีมีทั้งใบและดอกที่สวยงาม บางสายพันธุ์ออกดอกได้นานหลายเดือน แม้จะออกดอกเพียงปีละ 1 ครั้ง ถือว่าคุ้มค่า สีของดอกฉูดฉาด สวยงาม บางพันธุ์เมื่อกลีบดอกโรยไปแล้วยังติดผลที่สวยงามแปลกตา เช่น มีผลคล้ายผลสับปะรดทั่วไป แต่ผลมีขนาดเล็ก เป็นต้น
ขอขอบคุณ คุณปัลลพ รุ่งรัศมี สวนปัลลดา 117/6 ม.5 หมู่บ้านป่าม่วง ถ.น้ำตกแม่สาสายเก่า ต.แม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
โทรศัพท์ 08-8266-5387, 08-9114-1387 E-mail : [email protected] Facebook : Job Pallada Garden, Id.line : jobatpallada
อ้างอิง : นิตยสารไม้ดอกไม้ประดับ ฉบับที่ 223