“ไม่ว่าเราจะปลูกอะไรก็ตาม หรือปลูกอย่างไร เหมือนทุกอย่างเรากลับมาลองผิดลองถูก แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาคิดว่าอะไรที่มันทำงานง่าย ใช้แรงงานน้อยลง ลงทุนสูงไม่เป็นไร ถ้าทำแล้วมันคุ้มทุน ยอมลงทุนสูงให้งานมันง่ายเข้าไว้” คือคำกล่าวของ ธานี เชยกลิ่นเทศ เกษตรกรผู้ผลิตดาวเรืองตัดดอกยุคใหม่ ที่ไม่ปิดกั้นตัวเองด้วยความเชื่อ และความกลัว
เขา “กล้า” จะทดลองเทคนิคใหม่ๆ โดยหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตพร้อมกับเพิ่มผลผลิตและผลกำไรดาวเรืองให้สูงขึ้นไปพร้อมกัน ด้วย วิธีปลูกดอกดาวเรือง แบบยุคใหม่
เราลองมาดูวิธีคิดของธานี เชยกลิ่นเทศ ภายใต้ภาวะที่ต้นทุนการผลิตสูงว่าเขามีแนวความคิดอย่างไร ในคอลัมน์นี้มีคำตอบ
จุดเริ่มต้นของ สวนดาวเรือง เริ่มมาจากการเป็นสวนกล้วยไม้เพื่อการตัดดอก และห้องแล็บเกี่ยวกับฟาแลนอปซิสมาก่อนเมื่อหลายปีมาแล้ว เขามองว่าธุรกิจกล้วยไม้นับวันราคาจะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ด้วยความนิยม และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จึงมองย้อนกลับมาคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนอาชีพจะทำอะไรดี เพราะเราเคยมีคนงานทั้งในไร่ และในแล็บ ถึง 150 คน
จนในปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ คิดว่าคงไม่กลับมาปลูกกล้วยไม้ตัดดอกแล้ว แต่ยังมีห้องแล็บ กล้วยไม้กระถาง กล้วยไม้เมืองหนาว ที่รอดจากเหตุการณ์น้ำท่วมรวมพื้นที่ได้ 60-70 ไร่
คนงานส่วนหนึ่งก็หายไปตอนน้ำท่วม อีกส่วนหนึ่งที่ยังจงรักภักดีก็อยู่กันมา พอตลาดกล้วยไม้ยุบตัวลง แรงงานก็ยังเหลือ 50-60 คน ต้องกระจายงานกันไป เขาจึงนำที่นาที่เคยปล่อยให้คนอื่นเช่ามาทำสวนต่างๆ เช่น มะเขือเทศราชินี และ ดาวเรือง
เขาบอกว่า ที่คิดมาปลูกเพราะคิดว่าปลูกอะไรดี จึงปลูกตามสภาพของท้องถิ่นนั้น เพียงแต่ว่าถ้าจะปลูกอะไรก็ตาม ต้องคิดว่าปลูกอย่างไร ให้ใช้แรงงานน้อยลง
“ถ้าผมปลูกเป็นร่องสวน ความวุ่นวายก็จะเหมือนของชาวบ้านทั่วไป ก็เลยมาลงทุนสร้างโต๊ะ ทำโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ลงทุนไป 7 แสนกว่าบาท เนื้อที่ 4.5 ไร่ เนื่องจากตอนแรกเขาตั้งใจปลูกมะเขือเทศจึงทำโครงสร้างเป็นโต๊ะ แต่เมื่อปลูกไปแล้วลุ่มๆ ดอนๆ บางครั้งไม่ได้ราคา จึงกลับมาคิดว่าต้องหาพืชตัวใหม่ๆ มาทดลองดู”
เขาจึงมีแนวคิดต้องการหนีฤดูกาลที่ราคาถูก ไม่ว่าจะมะเขือเทศ หรือ ดาวเรือง ถ้าหากเขาทราบล่วงหน้าว่าฤดูกาลไหนจะราคาถูก เขาจะไม่ปลูก เพราะปลูกแล้วไม่คุ้มเหนื่อย ให้พยายามหางานให้หลากหลายดีกว่า อย่างเช่น มะเขือเทศบ้าง ดาวเรืองบ้าง มะลิบ้าง ปลูกส้มเขียวหวาน หรือมะละกอ
“เหมือนทุกอย่างเรากลับมาลองผิดลองถูก แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาคิดว่าหาอะไรที่มันทำงานง่าย ลงทุนสูงไม่เป็นไร ถ้าทำแล้วมันคุ้มทุนนะ ยอมลงทุนสูงให้งานมันง่ายเข้าไว้” ธานีกล่าว
ดาวเรือง เป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดี เนื่องจากปลูกง่าย โตเร็ว คงทนต่อสภาพแวดล้อม มีสีสัน
สดใส สามารถให้ดอกได้ในระยะเวลาสั้น ทำให้นิยมปลูกกันทั่วไป
แต่อุปสรรคที่พบในปัจจุบันคือ ดาวเรือง เป็นพืชที่ไม่สามารถปลูกซ้ำพื้นที่เดิมได้ เพราะปลูกไปดินจะเสื่อม และสะสมเชื้อโรค เป็นพืชที่ต้องการการหมุนเวียนอยู่ตลอด
“ปลูกปีนี้แล้ว ปีหน้าก็ปลูกไม่ได้แล้ว ถ้าจะปลูกต่อก็ต้องท่วมน้ำ โดยทำให้น้ำขังแล้วปล่อยให้แห้ง ต้องปรับปรุงดินเป็นการใหญ่ ค่อนข้างยุ่งยาก แล้วก็ละเอียด ในหนังสือคู่มือชี้ชวนให้ ปลูกดาวเรืองขาย การเตรียมดินนั้นไม่ง่ายเลย ทั้งไถดะ ลงปุ๋ย ตากดิน ปั้นโคก สารพัด”
แต่ด้วยนวัตกรรมการปลูกเช่นนี้ ในพื้นที่ 4.5 ไร่ สามารถปลูกได้ 8,500 – 9,000 ถุง ปัจจุบันปลูกลงถุงละ 2 ต้น เพิ่มเป็นเท่าตัว ประมาณ 17,000-18,000 ต้น
“ตอนนั้นผมปลูกต้นเดียวผมได้เงินมาตั้งเยอะ ตอนนี้ก็เริ่มงกเลยปลูก 2 ต้น ดูแล้วที่มันยังโล่งเราเลยปลูกรอบนี้แบบเท่าตัว พอลองปลูก 2 ต้น เราก็ประสบปัญหาคือพุ่มแน่นเกินไป ต่อไปอาจจะปลูกถุงละต้นพอ เพราะนี่แค่ออกดอกแรก พุ่มก็แน่นซะแล้ว”
เทคนิคที่ไม่ใช่ความลับของเกษตรกรรายนี้คือ การสร้างระบบ การปลูกดอกดาวเรือง ยุคใหม่ เริ่มจาก ปลูกดาวเรืองในถุงดำขนาดใหญ่ แทนการปลูกในดิน
วิธีปลูกดอกดาวเรือง
เครื่องปลูก ทางสวนใช้เพียงขี้เถ้าแกลบผสมทราย เพราะหาง่าย ราคาถูก ที่สำคัญมีน้ำหนักเบา และมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อวัสดุปลูกมีสภาพเป็นด่าง สามารถลดปัญหาโรคพืชทางดินลงได้ และไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค หากเปรียบเทียบกับขุยมะพร้าว เมื่อใช้นานวันจะเริ่มมีการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ต่างๆ ทำให้ดินเป็นกรด แล้วส่งผลให้รากเน่า เกิดเชื้อรา
เมื่อเราใส่ปุ๋ยซึ่งมีความเป็นกรดเข้าไป จะกลายเป็นกลางหรือกรดอ่อนๆ จะพอดีกัน เพราะต้นไม้ต้องการสภาวะความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ที่ 5.5-6
“ตอนที่เราผสมน้ำ จะ pH ประมาณ 5.3-5.4 พอไปเจอขี้เถ้าแกลบที่เป็นด่างก็จะขึ้นมา 6 กว่าๆ ซึ่งกำลังดี แต่ข้อควรระวังคืออย่างให้วัสดุปลูกที่เป็นแกลบแห้ง”
นอกจากนี้วัสดุปลูกเหล่านี้เมื่อสิ้นอายุ ต้นดาวเรือง แล้วยังสามารถนำกลับใช้ซ้ำได้ โดยกลับหน้าดินขึ้นมาตากแดดบ้าง เพราะอาจมีเชื้อโรคสะสมอยู่ และสามารถนำต้นพันธุ์ลงปลูกได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเตรียมแปลงใหม่ และทำให้สวนสามารถส่งผลผลิตป้อนตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
การให้น้ำ ใช้เป็นระบบน้ำหยด รดน้ำวันละ 4-5 รอบ ครั้งละ 4-5 นาที
“เราจะตั้งเป็นระบบอัตโนมัติ หรือ Manual ก็ได้ แต่เราชอบที่จะสอนคนให้เปิดมือมากกว่า ถ้าทุกอย่างเราตั้งอัตโนมัติหมด พอเกิดปัญหาคนก็จะทำอะไรไม่เป็น และ/หรือถ้าวันหนึ่ง manual เราเบื่อ เราก็เอา Timer มาติดได้ มันก็จะทำงานอัตโนมัติของมันเอง
“เพราะถ้าเผื่อไม่สอนเรื่อง Manual ไว้ พอเกิดปัญหาก็จะแก้อะไรกันไม่ได้ มันเป็นเรื่องการสอนให้คนทำงานเป็น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็จะแก้ไขได้ทันท่วงที”
การให้ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยดาวเรืองในระบบน้ำหยด จะใช้หลักการเดียวกันกับแบบไฮโดรโปรนิก ต้องศึกษา ทำความเข้าใจว่า ดาวเรือง ต้องการธาตุอาหารประมาณไหน ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง จากนั้นเราก็ปรุงส่วนผสมตามอัตราต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของพืช
สิ่งที่สวนแห่งนี้ยังพบอยู่ คือ อาการต้นแตก เขาเล่าว่า ในตำราบอกว่าเกิดจาการขาดธาตุโบรอน เนื่องจากอาการขาดโบรอนส่งผลกระทบนอกจากต้นจะแตกแล้ว ฐานรองดอกยังแตกอีกด้วย เกิดความเสียหายอย่างมาก
“แต่เนื่องจากว่าที่เราทำมันเป็นของใหม่ ยังไม่มีคนทำ จากข้อมูลที่เราศึกษา ในตำราเขาเขียนว่า ถ้าต้นแตก ฐานรองดอกแตก แสดงว่าขาดแคลเซียม โบรอน แล้วเรามากำหนดว่าต้องใส่อะไรเท่าไหร่/ไร่ ก็ยังไม่ได้เพราะเมื่อเราทำระบบน้ำหยด รูปแบบการให้ปุ๋ยให้น้ำก็ต้องไปใช้ของไฮโดรโปรนิก แต่พอเราปลูกในแกลบดำผสมทรายมันก็มีแร่ธาตุต่างๆ อยู่ในดินบ้าง ก็ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้กันไป
“ส่วนลำต้นตรงที่แตกจะมีกิ่งใหม่แตกออกมา พอต้นแตกก็ส่งอาหารไปเลี้ยงยอดไม่เพียงพอ จึงแตกกิ่งขึ้นมาอีก พอรักษาหายแล้วบ้างก็แตกตุ่มรากออกมา
“ชุดแรกผมก็ยอมเหมือนกันนะ ถ้ารักษาไม่หาย ต้นจะกลวงและเน่า ก็มาจากขาดโบรอนแล้วต้นแตก ส่วนต้นกลวงระยะหลังเราก็ต้องฉีดเสริมเอา” ธานีบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของสวน
ปัญหาศัตรูพืช
แมลงที่พบบ่อยจะมีเพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาวเป็นหลัก จะคอยดูดน้ำเลี้ยง พวกนี้เราจะไม่เห็นตัว จะรู้ตัวก็ตอนที่ต้นแสดงอาการแล้ว นั่นหมายความว่าเกิดการระบาดไปแล้ว
วิธีป้องกันและกำจัด ควรหมั่นสังเกต แมลงเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนยอดอ่อนๆ ลองนำกิ่งมาเคาะๆ ลงบนกระดาษสีขาว ดูว่ามีแมลงเดินบนกระดาษหรือไม่ หากพบเห็นให้รีบฉีดยาเพลี้ยไฟ เขาบอกว่า ดาวเรือง ถ้าเป็นช่วงออกดอกจะฉีด 3 วันครั้ง
ส่วนพวกหนอนมีบ้าง แต่ยังสามารถป้องกันและกำจัดได้ง่ายกว่า
“เรายังไม่เคยทำมาก่อน พวกเรื่องโรคและแมลงบางทีเราก็ยังไม่รู้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบางทีเราคาดการณ์ไม่เป็น หมายความว่า ต้องให้เห็นอาการแล้วค่อยรู้ เมื่อเรามีประสบการณ์แล้วครั้งต่อไปก็จะดีขึ้น”
วิธีปลูกดอกดาวเรือง แบบนี้ทำให้ง่ายต่อการจัดการกำจัดวัชพืช สามารถฉีดยาฆ่าหญ้าได้ เพราะปลูกบนโต๊ะ วัชพืชก็จะอยู่ข้างล่าง แต่ถ้าอยู่กับพื้นอาจจะต้องดายอย่างเดียวเลย กลายเป็นว่าต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก
ธานีบอกว่า การฉีดยากำจัดวัชพืชก็ต้องฉีดเป็น โดยฉีดผ่านๆ เป็นละอองฝอย และให้ฉีดต่ำๆ ไม่ต้องไปเน้นมาก
ข้อควรระวัง คือ อย่าให้ละอองยาถูกดอก เพราะจะทำให้ดอกไหม้เสียหาย
ปัจจุบันสวน ดาวเรือง แห่งนี้ปลูกพันธุ์ดอกสีส้ม และดอกสีเหลือง
เขากำลังทดลองปลูกทั้งแบบโรงเรือน และแบบกลางแจ้ง จากการทดลองเขาเล่าว่า การปลูกในโรงเรือน ลำต้นจะยืดยาว โดยปกติพันธุ์นี้ต้นจะเตี้ย พุ่มแน่น ซึ่งสาเหตุมาจากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ และอาจเกิดจากนำพันธุ์ธรรมดามาปลูก ไม่ได้คัดตัวที่เหมาะสำหรับปลูกโรงเรือน
การคัดพันธุ์ ให้ดูว่าสายพันธุ์ไหนตอบสนองดี และเลือกปลูกพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เช่น พันธุ์ดอกสีเหลือง เป็นต้น
“จริงๆ ปลูกพันธุ์ไหนเขาก็รับซื้อทั้งนั้นแหละ แต่อันนี้เราปลูกตามใจผู้รับซื้อ คือเขาขายเมล็ดพันธุ์ แล้วยินดีรับซื้อดอกคืน”
ส่วนเรื่องราคาตามกลไกตลาด ดอกดาวเรือง ราคาเริ่มต้นที่ 15 สตางค์เป็นต้นไป ราคาของ ดอกดาวเรือง จะขึ้นอยู่กับฤดูกาล และขนาดของดอก ราคาเคยขึ้นไปถึงดอกละ 3 บาท เป็นไซส์ดอกใหญ่ ราคาหน้าสวนเลย
ดาวเรือง ที่เห็นกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าในตลาดหรือตามบ้านเรือนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ดอกเล็กกับดอกใหญ่ ชนิดดอกเล็กนิยมปลูกเพื่อใช้ทำพวงมาลัย ส่วนชนิดดอกใหญ่นิยมปลูกเพื่อตัดดอก มีสีเหลืองสดใสกว่าพันธุ์ดอกเล็ก
“ราคาเฉลี่ยประมาณ 50 สตางค์/ดอก ผมก็อยู่ได้แล้ว เพราะต้นหนึ่งได้เป็นร้อยดอก
“รอบที่แล้วผมได้มา 2 แสนบาท เป็นช่วงที่ดอก ดาวเรืองขาย ไม่ค่อยได้ราคาเท่าไหร่ ทั้งหมด 8 แสนดอก 8,000 ต้น เฉลี่ยต้นละ 100 ดอก คนอื่นอาจผลิตได้เยอะกว่านี้”
เนื่องจากธานีจะเลือกฤดูกาลในการปลูก อย่างฤดูหนาว เป็นช่วงที่เหมาะสมใน การปลูกดาวเรือง มากที่สุด ซึ่งราคาจะถูก เขาจึงเลี่ยงมาปลูกในฤดูร้อน และฤดูฝนแทน จะได้ราคาสูงกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของดอกด้วย
“ การปลูกดอกดาวเรือง ถ้าผมประสบความสำเร็จในการปลูกฤดูหนาว ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในฤดูร้อน เทคนิคในฤดูร้อนไม่เหมือนฤดูหนาว ผมอยู่กับกล้วยไม้มาตลอดชีวิต ผมยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเลย” ธานีกล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ
คุณธานี เชยกลิ่นเทศ
โทรศัพท์ 09-6915-5956
ดาวเรือง, การปลูกดาวเรือง, การปลูกดอกดาวเรือง, วิธีปลูกดอกดาวเรือง, ปลูกดอกดาวเรือง, วิธีปลูกดาวเรือง, ปลูกดาวเรืองขาย