การพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้
ครั้งหนึ่งวงการกล้วยไม้ไทย กระแสกล้วยไม้ป่ามาแรง นักเล่น นักสะสม คนใด ไม่มีสะสมในเรือนรัง ถือว่าตกเทรนด์ยุคนั้นกล้วยไม้ป่า หรือกล้วยไม้พันธุ์แท้ 100% ถูกรื้อถอนมาจากป่าธรรมชาติ ไม่มีการขยายพันธุ์ หรือผลิตเชิงธุรกิจ จะมีก็แต่พ่อค้าจ้างวานให้ชาวบ้านเก็บเอาตามป่าเขา ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ไม่ต้องมีต้นทุนการเลี้ยงดู ขายเป็นกล้วยไม้สดๆ ดิบๆ จากป่าว่ากันว่ากล้วยไม้ป่านั้นเลี้ยงยากนักหนา เป็นงานท้าทาย ใครเลี้ยงได้ ออกดอกดี ถือว่าสุดยอด เพราะส่วนใหญ่จะเอาไปเลี้ยงตายเสียมากกว่า ถ้าไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต ไม่ออกดอก ไม่ให้ผลผลิต
มีนักเล่นส่วนหนึ่งหวงแหนและพยายามอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าของไทยเอาไว้ ด้วยการนำมาฝึกเลี้ยงแบบกล้วยไม้บ้าน เพิ่มปริมาณ ก่อนจะนำกลับคืนสู่ป่าบางส่วน เพื่อคงสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ บ้างก็ถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้สวยงาม และเลี้ยงง่ายขึ้น
แต่คำว่า “พันธุ์แท้” ก็ยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจให้หลายคนอยากเก็บสะสมไว้ในคอลเลคชั่นอยู่ ทางออกเดียว คือ การเร่งขายพันธุ์กล้วยไม้ป่าให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ก่อนจะหมดป่าไปเสียก่อน
คุณณรงค์ ครองชนม์ สวนเล็กออร์คิด จ.พังงา เจ้าของตำนาน “เอื้องปากนกแก้ว” และ “ว่านเพชรหึง” หรือ “กล้วยไม้หางช้าง” พูดถึงการผลิตกล้วยไม้ป่าเชิงปริมาณ พร้อมกับคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของกล้วยไม้ประจำถิ่น จ.พังงา
คุณณรงค์เท้าความให้ฟังว่า เอื้องปากนกแก้ว ว่านเพชรหึง และ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ไม้หลัก 3 ชนิด ในสวนของเขาเป็นพืชประจำท้องถิ่น พบแทบทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชายป่า บนเขา บนเกาะ แม้แต่ป่าพรุ หรือทุ่งหญ้า ที่คนในท้องที่ไม่เห็นคุณค่านัก ซ้ำยังเป็นวัชพืชในแปลงเกษตร ต้องถูกทำลายทิ้ง
ไม้ป่าพวกนี้เกิดเองตามธรรมชาติ ในสภาพแวดล้อมค่อนข้างสมบูรณ์ มีทั้งที่เกิดอยู่ตามคบไม้ อยู่บนต้นไม้ ในลำธารก็มี เดินไปตรงไหนก็เจอ เต็มไปหมด คนแทบอยากจะตัดทิ้ง เป็นเหมือนวัชพืชดีๆ นี่ล่ะ
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว พื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม สวนยาง พอกล้วยไม้ป่ามีชื่อเสียงก็ถูกเก็บจากป่าแบบไร้จิตสำนึก
“วันนี้เราหาไม้พื้นเมืองแบบนี้ในธรรมชาติไม่ได้แล้ว เราต้องขยายพันธุ์เอง การผลิตให้ได้ปริมาณเดี๋ยวนี้ทำไม่ยากแล้ว เพราะมีเทคโนโลยีด้านการเกษตร
“อย่างการส่งฝักกล้วยไม้ไปเพาะเลี้ยงในแลป เราก็จะได้ต้นกล้ากล้วยไม้ที่เกิดจากการเพาะเมล็ด มีความหลากหลาย เหมือนกับการเพาะเมล็ดพืชทั่วไป วิธีนี้ช่วยให้การพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ได้ด้วยต้นกล้าจากเมล็ด จะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหนต้องลุ้นเอา
“ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นการขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน แต่ต้นใหม่ที่ได้จะเหมือนกับต้นแม่ทุกประการ มีโอกาสกลายพันธุ์น้อยกว่าการเพาะเมล็ด
“เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ การโคลนนิ่ง ช่วยให้การขยายพันธุ์พืชได้สะดวก และรวดเร็ว ขึ้น โดยไม่ต้องไปซ้ำเติมธรรมชาติ” คุณณรงค์พูดถึงความสุ่มเสี่ยงการสูญพันธุ์ของกล้วยไม้พื้นเมือง พร้อมกับแนะนำวิถีเกษตรแบบอนุรักษ์
สรรพคุณของว่านหางช้าง
ว่านเพชรหึง มีชื่อเรียกในท้องถิ่นภาคใต้ว่า ว่านหางช้าง เป็นกล้วยไม้ใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นกล้วยไม้หายาก จนบางคนคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของ จ.พังงา ที่พบมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉลี่ยแล้วพบทุกตารางไร่เลยก็ว่าได้ บางจุดในพื้นที่ 1 ไร่ พบ 30-40 กอ
เปรียบเสมือน “ช้างเผือก” จากป่าใหญ่ ที่คุณณรงค์นำออกสู่ท้องตลาด เผยให้ดอกกล้วยไม้ได้ยลโฉม ด้วยลักษณะพิเศษ คือ ฟอร์มต้น และดอกขนาดใหญ่ สีขาวบริสุทธิ์ ประกอบกับมีสรรพคุณและประโยชน์ทางการแพทย์ ในชนบทปรุงเป็นยาต้ม ยาระบาย และแก้ระดูพิการในผู้หญิง คนเลือดลมไม่ดี ให้นำลำต้นแก่จัด (สังเกตว่าไม่มีใบแล้ว) มาหั่นเป็นแว่น ผึ่งแดดให้แห้ง สามารถเก็บไว้ได้นาน
ควรต้มให้มีสีแบบสีชาอ่อนๆ ช่วยให้ไตทำงานดีขึ้น อย่าต้มนานจนสีเข้มเกินไป เพราะตัวยามีสรรพคุณสูงมาก เป็นอันตรายกับคนที่เป็นโรคไต เพราะทำให้ไตทำงานหนัก ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 15 วัน ให้เว้นระยะไว้ แล้วค่อยกลับมากินใหม่อีกรอบ
ตามตำราแพทย์แผนโบราณว่ากันว่าว่านหางช้างสามารถใช้แก้โรคที่เกิดจากทางไสยศาสตร์ ลมเพลมพัด ได้ด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า
- ต้น แก้คุณอันบุคคลกระทำทาง หนัง
- ใบ แก้คุณอันบุคคลกระทำทาง เนื้อ
- ดอก แก้คุณอันบุคคลกระทำทาง ผม
- ราก แก้คุณอันบุคคลกระทำทาง กระดูก
นอกจากนั้นว่านหางช้างยังนิยมปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคลในบ้าน มีลำต้นที่สูงยาว สีเหลืองเปรียบเสมือนทอง มีความโดดเด่นสวยงาม มีช่อดอกขนาดใหญ่ ดอกสวยงาม มีหลายสี ส่วนใหญ่พื้นดอกเป็นสีเหลืองอมส้ม หรือน้ำตาล มีลายประสีน้ำตาลแดง บ้างก็ออกอมม่วงตามกลีบดอก ลวดลายของแต่ละต้นแตกต่างกันออกไป
แต่เป้าหมายของเรา คือ ว่านหางช้างเผือก ที่เจ้าของสวนกำลังผลิตป้อนตลาดต่างหาก..!! กำลังจะผลิดอกบานในต้นเดือน กรกฎาคมของทุกปี
นักเล่น นักสะสม กล้วยไม้ป่าตัวยง ต่างทราบดีว่า เล็กออร์คิด เป็นรังกล้วยไม้ที่มีต้นแม่ว่านหางช้างเผือกอยู่แล้ว เขาก็นำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนประสบความสำเร็จ และได้ปริมาณมากจำนวนหนึ่ง สำหรับป้อนนักเล่นที่ต้องการไม้แปลก ไม้หายาก
คุณณรงค์มีประสบการณ์จากเมื่อครั้งที่นำกล้วยไม้ป่าออกไปจำหน่าย จนไม้นั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้กล้วยไม้ป่าถูกถกถอนแทบสูญพันธุ์
“การที่เราจะหาไม้ป่า จิตสำนึกเราต้องมี หาในเชิงอนุรักษ์ เลือกต้นที่อยู่ต่ำ ตามต้นไม้สูงๆ ก็เหลือไว้บ้าง ให้เขาได้ขยายพันธุ์ ออกลูก ออกหลาน
“แต่หากในเชิงทำลาย ไม่นานกล้วยไม้จะหมดป่า ต่อไปในธรรมชาติจะไม่มีกล้วยไม้ให้เห็น” เจ้าของเล็กออร์คิดเผยความในใจตามประสาคนรักษ์ธรรมชาติและไม้พื้นเมือง ด้วยท่าทีจริงจัง
แม้รู้สึกต่อต้านค่านิยมการหากล้วยไม้เชิงทำลายธรรมชาติ แต่เมื่อเขาเป็นหนึ่งในผู้ปลูกเลี้ยงและจำหน่ายกล้วยไม้พื้นเมือง จึงหาทางออกให้ตนเอง และระบบนิเวศน์ด้วยการผสมเกสรให้ติดฝักแล้วส่งให้แลปเพาะเป็นต้นอ่อน จากนั้นนำมาเลี้ยงให้ได้ขนาดก่อนจำหน่าย
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ว่านหางช้างเผือก
หลังจากที่เขาได้กล้วยไม้ว่านหางช้างเผือกมา ก็ใช้วิธีการที่ถนัด คือพยายามขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แต่ด้วยหลักการแล้ว หากเพาะเมล็ดจะมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย ลูกไม้ที่ได้ไม่นิ่ง คุณณรงค์จึงหันมาใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้ว่านหางช้างเผือกชุดหลังมีความนิ่งสูง
สำหรับกล้วยไม้ว่านหางช้างเผือกที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ กว่าจะจำหน่ายได้ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี อยู่ในกระบวนการเพาะเลี้ยงในแลป 2-3 ปี จากนั้นนำมาเลี้ยงอนุบาลด้วยตัวเอง 1 ปี และปลูกเลี้ยงอีก 1 ปี กว่าจะได้ไซส์กระถาง 4 นิ้ว พร้อมจำหน่าย
“ตอนนี้หางช้างพร้อมจำหน่ายแล้ว และคิดว่าจะต้องเปลี่ยนไซส์ให้ใหญ่ขึ้น แล้วปรับราคาตามไซส์กระถาง” เจ้าของสวนเล็กออร์คิด กล่าว
การเลี้ยงกล้วยไม้หางช้าง
สำหรับวิธีการเลี้ยงกล้วยไม้หางช้าง ของสวน เล็กออร์คิด ง่ายสุดๆ เพราะปกติกล้วยไม้พื้นเมืองเลี้ยงง่ายอยู่แล้ว แต่การเลี้ยงให้ออกดอกสมบูรณ์จะค่อนข้างยาก เพราะสภาพแวดล้อมป่ากับเมืองแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ แสงแดด ปริมาณน้ำฝน ความชื้น เป็นต้น
แต่กล้วยไม้พื้นเมืองที่ผ่านการเลี้ยงในสวนจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่อื่นๆ ด้วย คุณณรงค์ให้ข้อมูลว่า เขาใช้กาบมะพร้าวสับเพียงอย่างเดียว เป็นวัสดุปลูกกล้วยไม้หางช้าง เพราะกาบมะพร้าวสับเก็บความชื้นได้ดี แต่ไม่อมน้ำมากนัก เหมาะสำหรับเป็นวัสดุปลูกกล้วยไม้กึ่งรากอากาศ อย่าง กล้วยไม้หางช้าง
ส่วนปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตร 3 เดือน/ครั้ง ใส่ทุกครั้งที่เปลี่ยนกระถาง ระยะเวลาการละลายของปุ๋ยถือว่าเหมาะเจาะกับการเปลี่ยนไซส์กระถางพอดี จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการให้ปุ๋ยมากนัก
โชคดีที่หางช้างเป็นกล้วยไม้เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีโรค-แมลงรบกวนมากนัก อาศัยว่าเลี้ยงตามธรรมชาติให้แข็งแรงด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้สารเคมี หรือสารกำจัดแมลง และปลูกเลี้ยงกลางแจ้ง ไม่มีซาแรน และโรงเรือน กล้วยไม้จึงค่อนข้างแกร่งทนทาน แข็งแรง
ที่สำคัญสาเหตุที่คุณณรงค์ไม่ใช้สารกำจัดแมลงเป็นเพราะในสวนของเขามี ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง อยู่ด้วย
“ในสวนของผมมี ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง และไม้กินแมลงอื่นๆ อย่าง กาบหอยแครง หยาดน้ำค้าง และซาราซีเนีย อยู่ด้วย แล้วไม้กลุ่มนี้ไวต่อสารเคมีมาก พอเขากินแมลงที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้าไป เขาจะค่อยๆ ตายไปในที่สุด” คุณณรงค์ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรง
การเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ในสวน เล็กออร์คิด ส่วนใหญ่เป็นลูกผสมจากต่างประเทศที่เขานำมาพัฒนาให้เลี้ยงง่าย และมีความสวยงาม แปลกตา มากขึ้น ใช้ทั้งพันธุ์ต่างประเทศ และพื้นเมือง เป็นพ่อ-แม่พันธุ์
ในธรรมชาติพืชกินแมลงส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในดินที่มีธาตุอาหารต่ำ หลายชนิดพบในที่ชื้นแฉะ และมีน้ำไหลเวียน พาเอาธาตุอาหารสำคัญออกไปเกือบหมด ดังนั้นพืชเหล่านี้ จึงมีวิวัฒนาการแตกต่างจากพืชอื่นๆ เพื่อให้สามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ โดยเปลี่ยนรูปใบเป็นกับดักล่อเหยื่อ แล้วย่อยสลายเพื่อดูดซับธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในเมืองกรุง หรือผลิตในเชิงธุรกิจ จึงใช้ขุยมะพร้าว และกาบมะพร้าวสับ เป็นวัสดุปลูก เพราะมีความโปร่ง กักเก็บความชื้นได้ดี ใส่ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเสมอ สูตร 3 เดือน/ครั้ง ทุกครั้งที่เปลี่ยนกระถาง เป็นการให้อาหารทางราก ส่วนทางใบพืชประเภทนี้จะดักจับแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร
“แต่ก่อนในสวนนี่ทั้งหมด ทั้งแมลงเยอะมาก กิ้งก่าก็เยอะ เพราะตามมากินแมลง อยู่ๆ ไป ทั้งมด แมลง กิ้งก่า เริ่มลดน้อยลง บางทีเผลอๆ กิ้งก่าตกไปในหม้อก็มี ถ้าขึ้นไม่ได้ก็กลายเป็นอาหารอยู่ในนั้น นี่เป็นกลไก เป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ” เจ้าของสวนพูดพลางหัวเราะชอบใจ
คุณสมบัติของหม้อข้าวหม้อแกงลิง
มาทำความรู้จักหม้อข้าวหม้อแกงลิงกันซักนิด…
หม้อคือส่วนของใบ ไม่ใช่ดอก
หม้อข้าวหม้อแกงลิง หรือ Nepenthes เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่เป็นไม้เลื้อย มีใบเดี่ยว รูปขอบขนาน ถึงรูปไข่ ปลายเรียวแหลม เส้นกลางใบนูนเป็นสันแข็ง ด้านท้องใบ และยืดยาวออกเป็นสาย เรียกว่า มือพัน (tendril) หรือที่ผู้ปลูกเลี้ยงเรียกกันว่า สายดิ่ง ส่วนปลายพองออกเป็นกระบอกดักเหยื่อ (pitcher) ที่ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมเรียกว่า หม้อ
หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชที่มีดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน (Dioecious) และส่วนใหญ่พบว่าให้ดอกเพศผู้มากกว่าดอกเพศเมีย ช่อดอกเป็นช่อกระจะ (raceme) หรือช่อแยกแขนง (panicle) แต่ละแขนงย่อยมี 1-3 ดอก ยกเว้นบางชนิด เช่น N. Bicalcarata มีมากกว่า 10 ดอก แต่ละดอกมีเฉพาะกลีบเลี้ยง 4 กลีบ
สำหรับดอกเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียอยู่บนรังไข่รูปรี ส่วนช่อดอกเพศผู้มีขนาดใหญ่ และมีจำนวนดอกมากกว่าช่อดอกเพศเมีย อับเรณูอยู่ส่วนปลาย เมื่อพร้อมผสมจะแตกออก ภายในมีละอองเรณูสีเหลือง
เมื่อดอกเพศเมียได้รับการผสมเกสรจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นฝักรูปรีเรียวยาว ฝักแก่มีสีน้ำตาล และแตกออกเป็น 4 พู ภายในมีเมล็ดเล็กๆ คล้ายเส้นด้ายประมาณ 50-500 เมล็ด สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้
ลักษณะเด่นของหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ปัจจุบันคุณเล็กได้มีการพัฒนาพันธุ์เป็นพันธุ์ลูกผสมใหม่ เช่น N. rafflesiana และ N. ampullaria ความพิเศษของทั้ง 2 ชนิดนี้ คือ หม้อกลมใหญ่ ปากหม้อหนา มีสีสันและลวดลายเป็นลายขว้างที่ปากหม้อ ซึ่งมีลักษณะโดดเด่น และปลูกเลี้ยงง่ายกว่าพันธุ์แท้
เนื่องจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงมีดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน จึงต้องนำเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียจากคนละต้นมาผสมกันจึงจะสามารถติดเมล็ดได้ ซึ่งเป็นเหตุให้มีไม้ลูกผสมเกิดขึ้นมากมาย และถึงแม้มีแม่พันธุ์-พ่อพันธุ์ชนิดเดียวกันก็ยังให้ลูกที่แตกต่างกันได้ เพราะหม้อข้าวหม้อแกงลิงแต่ละต้นมักให้หม้อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเพาะเมล็ดเป็นวิธีขยายพันธุ์ที่ให้ต้นจำนวนมาก
เลี้ยงอย่างไรให้มีหม้อ
ความจริงแล้วหลายชนิดโดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง เช่น N. ampullaria, N. mirabilis และ N. thorelii ค่อนข้างแข็งแรงทนทาน เลี้ยงง่าย และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
แม้แต่พืชกินแมลง สวนเล็กออร์คิด ก็ยังปลูกเลี้ยงกลางแจ้ง เว้นแต่ต้นเล็ก หรือไม้ที่เพิ่งเพาะเมล็ด คุณณรงค์อธิบายว่า เขาพยายามเลี้ยงไม้ทุกต้นให้ใกล้เคียงกับการเจริญเติบโตตามธรรมชาติมากที่สุด เพราะจะทำให้ไม้แกร่ง ลูกค้าที่ซื้อไปขาย หรือซื้อไปเลี้ยง ก็ไม่ต้องกังวลว่าเลี้ยงแล้วตาย
หม้อข้าวหม้อแกงลิงส่วนใหญ่จะเจริญได้ดีในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ และบางชนิดอยู่ในแหล่งน้ำตื้นๆ แต่เมื่อนำมาปลูกเลี้ยง ควรใช้วัสดุปลูกที่มีคุณภาพและระบายน้ำได้ดี เพื่อช่วยให้พืชเจริญเติบโตและมีระบบรากแข็งแรง
อย่างที่ปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับเจริญเติบโตดี และมีระบบรากแข็งแรง ทั้งยังไม่มีปัญหาเรื่องแมลงรบกวนที่อาศัยอยู่ในดินที่เป็นวัสดุปลูก อย่างไรก็ตามกาบมะพร้าวไม่มีธาตุอาหาร จึงควรให้ปุ๋ยแก่พืชบ้างตามความเหมาะสม
ผู้ปลูกเลี้ยงบางท่านอาจใช้กาบมะพร้าวสับผสมดินใบก้ามปู ขุยมะพร้าวผสมทรายหยาบ พีทมอสผสมเพอร์ไลต์ หรือสแฟกนัมมอส ซึ่งสามารถปลูกเลี้ยงได้งดงามเช่นเดียวกัน
หม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายชนิดต้องการความชื้นในอากาศสูง เช่นเดียวกับเฟิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้พืชผลิตหม้อ และให้หม้อขนาดใหญ่ หากได้รับความชื้นไม่เพียงพอ ส่วนปลายใบที่เป็นติ่งเล็กๆ จะชะงักการเจริญเติบโตไม่พัฒนาเป็นหม้อ แต่ถ้าบริเวณบ้านมีต้นไม้อื่นๆ อยู่มากพอสมควรแล้ว ก็สามารถเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้ โดยไม่ต้องติดตั้งระบบน้ำ
แม้ว่าเราจะเลือกปลูกชนิดที่เลี้ยงง่ายแล้ว แต่ก็ยังไม่ผลิตหม้อให้เห็น ควรสังเกตว่าต้นได้รับแสงแดด และมีความชื้นในอากาศเพียงพอหรือไม่ รวมถึงการรดน้ำ และปริมาณอาหารที่พืชได้รับ พบว่า ต้นที่รากเต็มกระถางมักไม่ผลิตหม้อ เนื่องจากได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ
นอกจากนี้วัสดุปลูกยังมักแห้งง่าย เพราะรากดูดน้ำเร็ว เมื่อต้นขาดน้ำจะทำให้หม้อหยุดการเจริญเติบโต เรียกว่าหม้อฝ่อ ต้องบำรุงให้ต้นสมบูรณ์ จึงจะแตกใบใหม่ที่ให้หม้อได้อีกครั้ง
ประเภทหม้อข้าวหม้อแกงลิง
คุณณรงค์อธิบายการจำแนกหม้อข้าวหม้อแกงลิงสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- กลุ่มโลว์แลนด์ พบตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงพื้นที่สูงไม่เกิน 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล เช่น N. ampullaria, N. rafflesiana เป็นต้น
2. กลุ่มไฮแลนด์ พบในพื้นที่สูงตั้งแต่ 1,000-3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีสภาพเป็นภูเขาสูง อากาศเย็น ฝนตกชุก และมีความชุ่มชื้นสูง หม้อข้าวหม้อแกงลิงในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีรูปทรงและสีสันงดงามกว่ากลุ่มโลว์แลนด์ ทั้งยังพบในธรรมชาติมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมดที่พบบนโลก เช่น N. adrianii, N. spectabilis, N. ventricosa เป็นต้น
การปลูกเลี้ยงทั้งสองกลุ่มจึงแตกต่างกัน อย่างไม้ไฮแลนด์เครื่องปลูกชอบความโปร่ง ไม่ชอบน้ำมาก ถ้าปลูกกับดินมันจะเน่า ควรเสริมด้วยหินภูเขาไฟ และชอบอากาศเย็น แต่ถ้าไม้กลุ่มโลว์แลนด์ ต่ำกว่า 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลลงมา จะชอบน้ำ และแดดจัด
การจำหน่าย ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ในครั้งนี้สวนเล็กออร์คิดเปิดจำหน่าย ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง รวมๆ มากกว่า 30 สายพันธุ์ ลูกผสมเป็นส่วนใหญ่ มีหลากรูปแบบ ทั้งทรงกลมใหญ่ ทรงยาว ปากใบหนา หม้อปากลาย หม้อสีดำเข้ม สีแดง
“แต่ที่นิยมตอนนี้ปากลายและปากหม้อต้องหนาด้วย หรือไม่ก็สีดำไปเลย นั่นก็หายาก สีแดงยังพอหาได้ ความใหญ่ของหม้อ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่วัดได้ประมาณขวดโค๊ก ยาวประมาณ 1 ฟุต
“คนนิยมเล่นหม้อที่มีปากใบลาย ปากหม้อลายสีเข้มๆ ประโยชน์ของมัน คือ สามารถนำมารับประทานได้ทั้งยอดและหม้อ ส่วนใหญ่ที่เขาใส่ข้าวเหนียวกันไง ไม่มีพิษ” คุณเล็กพูดถึงชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่นักสะสม เส้นทางสายเกษตรของคุณณรงค์ เจ้าของสวนกล้วยไม้ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ยังไม่จบเพียงเท่านี้เขาต้องการเป็นสวนเกษตรเชิงอนุรักษ์ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติในสวนเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา ปลูกไม้กินแมลงหลายชนิด ทั้งไม้พื้นเมือง และไม้ต่างประเทศ เช่น ซาราซีเนีย หยาดน้ำค้าง กาบหอยแครง และ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง บริเวณทุ่งหญ้า ริมน้ำ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมธรรมชาติ และตั้งแคมป์ปิ้ง
ส่วนกล้วยไม้หางช้าง และหางช้างเผือก ไม้เด่นของเขา จะจัดไว้ตามที่ต่างๆ ทั้งในกระถาง ตามพื้นดิน หรือแม้แต่บนต้นไม้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับอรรถรสในการชมกล้วยไม้เหมือนกับที่อยู่ในธรรมชาติจริงๆ
“คนที่ทำสวนต้นไม้ ต้องรักต้นไม้ด้วย ของแบบนี้ถ้าไม่รักทำไม่ได้หรอก พอทำแล้วมันก็จะออกมาดี คนที่เข้ามาชมก็จะมีความสุขไปกับเรา” คุณเล็กกล่าวทิ้งท้าย
สนใจเยี่ยมชมสวนเล็กออร์คิด คุณณรงค์ ครองชนม์ (เล็ก)
57/16 ม. 1 ถ.เพชรเกษม ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โทร.08-4101-1385