รวยกันอีกครั้ง….สำหรับคนในวงการไม้ใบอย่าง อโกลนีมา..!! น่าแปลกใจว่าทำไมข่าวลือถึงไม่แพร่สะพัดเหมือน “ยุคทอง” ของอโกลนีมาเมื่อครั้งก่อน..?? ต้นอโกลนีมา
แต่ทีมงานนิตยสารไม้ดอกไม้ประดับไม่เชื่อว่านี่คือการ “ปิดข่าว”..!! อาจเป็นเพราะอโกลนีมายุคนี้ราคาไม่สูงถึงใบละหมื่นเหมือนเมื่อก่อน ข่าวคราวจึงไม่ค่อยจะแพร่สะพัดไปถึงคนนอกวงการ
แต่เชื่อไหมว่าออเดอร์แต่ละครั้งแทบจะไม่ต่ำกว่าหมื่นต้น เมื่อคิดเป็นมูลค่าโดยรวมแล้วเกษตรกรไทยกวาดเงินจากกระเป๋าต่างชาติไปแล้วหลายล้านบาท..!!
การปลูกเลี้ยงอโกลนีมา
หลังจากทีมงานนิตยสารพลังเกษตร คอลัมน์ไม้ดอกไม้ประดับ ได้ยินเรื่องราวการซื้อขายอโกลนีมา “ล็อตใหญ่” ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ จึง “รุด” ไปยังสวนอโกลนีมา ของ คุณอุทัย คำอินทร์ (ติ่ง ไทรน้อย) และคุณโกวิท เพชรไพบูลย์ (ปุ๋ย ระยอง) สองผู้ผลิตอโกลนีมาที่มีชื่อเสียงในวงการ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับสภาวะตลาดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
คุณอุทัยและคุณโกวิทให้ข้อมูลตรงกันว่าตลาดอโกลนีมาเคยรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด ชนิดว่าแรงไม่หยุด แต่ตลาดหลักเป็นตลาดต่างประเทศ เมื่อตลาดเริ่มลดความนิยม เกษตรกรไทยจึงต้องประสบภาวะวิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่วงที่ตลาดเดินดี เกษตรกรทุ่มทุนผลิตเชิงปริมาณจำนวนมากเพื่อความอยู่รอด เกษตรกรต้องหาทางออกให้กับตัวเอง จึงขายสินค้าในราคาถูก เพื่อให้ระบายสินค้าได้อย่างทันท่วงที เพราะยิ่งมีของติดมือมากเท่าไหร่ โอกาสขาดทุนยิ่งมีมากเท่านั้น ชื่อราชาไม้ใบ อย่าง อโกลนีมา จึงแทบจะหายไปจากวงการนักสะสม และกลายเป็นไม้เศรษฐกิจในที่สุด
ตลาดหลักของผู้ผลิตอโกลนีมา
คุณโกวิทเล่าว่า เดิมทีผลิตไม้ใบประดับเพียง 3 สายพันธุ์ ที่ตลาดต้องการ แต่ตลาดหลัก คือ พ่อค้า แม่ค้า ตลาดนัดที่ต้องการได้สินค้าหลายๆ ชนิดจากการเข้าสวนเพียงครั้งเดียว เขาจึงเพิ่มประเภทสินค้าในสวนเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า “มีช่วงหนึ่งที่ว่าต่างประเทศอิ่มตัว ทำให้สวนเล็กอย่างเราเดินค่อนข้างลำบาก อย่างไม้ผมทั้งเล้าทำไม้อยู่แค่ 3 ชนิด ชนิดละแค่หลักพันต้น พอเราขายตลาดนัด แม่ค้าตลาดนัดก็ไม่อยากมา เพราะเรามีไม้แค่ 3 ชนิด
“แม่ค้าตลาดนัดแต่ละร้านต้องการไม้ดอกไม้ประดับโดยเฉลี่ย 50 ต้น/ชนิด เท่านั้น เขาเข้าสวนผมก็ได้ต้นไม้กลับไปแค่ 150 ต้น เขาจึงสั่งให้เราทำไม้ 100 ชนิด ซื้อชนิดละ 50 ต้น รวมเป็น 5,000 ต้น/ล็อต นี่คือลักษณะของตลาดไทย ส่วนตลาดต่างประเทศต้องการหลักหมื่นต้น/ล็อต” คุณโกวิทกล่าว
ตลาดต่างประเทศ
คุณโกวิทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าตลาดไม้ใบสี อย่าง อโกลนีมา แม้ว่าราคาจะลดลง แต่ตลาดต้องการเชิงปริมาณมากขึ้น เขายกเครดิตให้อโกลนีมา ตัวเก่าที่ชื่อว่า “อัญมณี” เป็นหลัก แม้ว่าไม้ตัวนี้จะเคยราคาลดลงจนถึง 5-10 บาท/ต้น แต่ปัจจุบันราคา 20-25 บาท/ต้น และมีความต้องการเชิงปริมาณมากขึ้น
“อัญมณียังเป็นตัวที่ขายดีที่สุด ณ วันนี้ถ้าบอกว่ามี 100,000 ต้น ก็ขายวันเดียว แต่ของไม่มี ถ้าผมรู้ก่อนหน้านี้ผมก็คงทำอัญมณีทั้งแปลง” เจ้าของสวนกล่าว พร้อมกับเล่าต่อไปว่าเขาขายส่งไม้อโกลนีมาแทบทุกสายพันธุ์ให้กับพ่อค้า ทั้งชาวไทย และต่างชาติ
- ถ้าขายให้ต่างชาติจะส่งอย่างน้อยราคา 25 บาท/ต้น
- ส่วนไม้สวยส่ง 30 บาท/ต้น
- พ่อค้าชาวไทยส่ง 20 บาท/ต้น เพื่อให้เขาไปขายต่อให้กับต่างชาติ หรือทำกำไรได้อีก 5 บาท เพราะคนไทยกลุ่มนี้จะเป็นคนเดินไม้ ถ้าต้นทุนของเขา 30 คน เดินไม้ ก็จะไม่มีกำไร
“เราต้องมีส่วนต่างตรงนี้ไว้ให้เขา เขาเดินไม้ให้เรา ในขณะที่เราไม่ต้องไปดิ้นรนหาตลาดเอง พวกนี้ส่วนใหญ่เขาจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง หรือรู้จักกันในวงการนักซื้อ-ขายเจ้าใหญ่ๆ “ถ้าจะให้ผมไปทำแบบนั้น ผมก็ทำไม้จำนวนไม่ได้ เพราะเราจะบริหารเวลาลำบาก ถ้าไม่มีคนคอยดูแลไม้ให้เรา แล้วเราก็จะขยายสวนลำบาก มันต้องแบ่งบทกันเล่น เราทำทุกอย่างเองคนเดียวไม่ได้” คุณโกวิทกล่าว
เริ่มเข้ามาในวงการ ในยุคที่อโกลนีมากำลังอยู่ในขาขึ้นอย่างสุดขีด
ส่วนอุทัยที่เริ่มเข้ามาในวงการ ในยุคที่อโกลนีมากำลังอยู่ในขาขึ้นอย่างสุดขีด เล่าให้ทีมงานฟังว่า ยุคนั้น ทรัพย์สยาม 15,000 บาท/ต้น เทียร่า 15,000 บาท/ต้น เลกาซี่ 1,200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก เมื่อเทียบกับไม้ใบระดับชนิดอื่นๆ
“ผมมาคิดว่าต้นไม้บ้าอะไรราคาเป็นพัน เป็นหมื่น แล้วผมก็ไปยืนดูเขาขายไม้ตัวนี้อยู่ประมาณ 1 เดือน แม้ว่าจะเป็นไม้ประดับราคาแพง แต่ก็ถูกทยอยขายออกไปไม่ขาดสาย ผมเห็นคนอินโดนีเซียมาซื้อ เลกาซี่ไปเป็นร้อยกิ่ง ราคากิ่งละ 1,000 บาท ผมแปลกใจมากว่าเขาซื้อไปทำอะไร แต่ในที่สุดผมจึงตัดสินใจซื้ เลกาซี่มา 50 กิ่ง ราคา 60,000 บาท แล้วก็ลองซื้ออัญมณี วาเลนไทน์ ตอนนั้นหมดไป 2 แสนกว่าบาท” คุณอุทัยพูดถึงตัวเองในวันวาน
เมื่อลองปลูกและขายดูปรากฏว่าการค้าเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ลองผิด ลองถูก แม้จะตายบ้าง รอดบ้าง แต่เมื่อมองในภาพรวมถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย คุณอุทัยจึงขยับขึ้นมาซื้อไม้ที่ราคาสูงขึ้น อย่าง เทียร่า และทรัพย์สยาม ปรากฏว่าเป็นช่วงที่ตลาดเริ่มลง เลกาซี่ไซส์ราคา 500 บาท ลดเหลือเพียง 100 บาท เท่านั้น
“ตอนนั้นเราเริ่มรู้สึกว่าชักจะไม่ดีแล้วล่ะ ก็มานั่งคิดดูว่าตลาดอินโดนีเซียเขาซื้ออย่างไร เราก็สังเกตเห็นว่าเขาไม่ได้ซื้อเฉพาะไม้ที่ตลาดเขาเล่นกัน แต่เขาซื้อตัวที่แปลกใหม่ด้วย ซึ่งไม้ตัวใหม่ๆ นี่ล่ะที่ขายได้ราคาดี ผมก็มานั่งคิดต่ออีกว่า แล้วจะไปหาไม้แปลกใหม่อย่างว่านี้ได้ที่ไหน แล้วใครเขาจะมาขายให้เรา ลูกไม้เขาขายกันต้นละเป็นหมื่น แล้วเราจะซื้อได้หรือ กว่าจะผลิต กว่าจะทำจำนวนอีก ในที่สุดผมก็มาคิดว่าเราต้องพัฒนาสายพันธุ์ ผลิตลูกไม้เอง แล้วก็เริ่มหาซื้อทั้งลูกไม้สำหรับขยาย และตั้งพ่อแม่พันธุ์”
ลักษณะของค้ำคูณ
จนได้มาพบอโกลนีมา ชื่อ “ค้ำคูณ” ที่เจ้าของเดิมตั้งราคาไว้ 700,000 บาท“ค้ำคูณนี่สวยมาก แต่ราคาก็แพงมาก เหมือนกัน แค่ได้ยินราคาผมก็ปวดไปถึงฟันแล้ว เลยได้แค่เก็บไปเพ้อ และตัดใจว่าคงเป็นไปไม่ได้” คุณอุทัยพูดติดตลก หลังจากนั้นอโกลนีมาราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง 2 ปีต่อมา เขากลับไปเจอค้ำคูณอีกครั้ง และซื้อกลับมา 20 กว่ากิ่งในราคาประมาณ 100,000 บาท
ค้ำคูณเป็นลูกผสมโพธิสัตว์ ใบมี 2 สีหลัก คือ ขอบเป็นสีเขียวเข้ม ตัดกับลายด้านในสีชมพูสด เลี้ยงง่าย ทนทาน ต่อทุกสภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงอากาศหนาวที่ผ่านมาอโกลนีมาหลายสายพันธุ์ทนสภาพอากาศไม่ไหว และเน่าตาย ทดลองทุกวิธีไม่ว่าจะงดน้ำ หรือฉีดยา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ค้ำคูณกลับยังสวยงามต่างจากอโกลนีมาบางสายพันธุ์
ปัจจุบันค้ำคูณยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทั้งไทย และต่างประเทศ จำหน่ายตั้งแต่ราคา 200-1,000 บาท แต่เจ้าของตั้งใจทำให้ราคาอยู่ที่ประมาณ 300-500 บาท จะเป็นราคาที่เดินได้ดี ทั้งตลาดไทย และตลาดนอก “ค้ำคูณตอนนี้ไม่พอขาย ผมส่งไม้กระถาง 8 นิ้ว 400 บาท/กระถาง ขนาดพ่อค้าชาวญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าใหญ่ยังไม่อยากเชื่อว่าจะขายได้ราคาขนาดนี้ ถ้าตอนนี้เรามีของเวียดนามรับหมด” คุณอุทัยยืนยัน
การพัฒนาสายพันธุ์อโกลนีมา
ทั้ง 2 คน มี “ตลาด” ต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาสายพันธุ์ ผลิต และจำหน่าย อโกลนีมาให้ได้ทั้งจำนวนมาก และคุณภาพดี โดยเฉพาะเป้าหมายเรื่อง การพัฒนาสายพันธุ์ ดูจะเป็นวัตถุประสงค์หลักที่นำไปสู่การ “อัพเกรด” อโกนีมา ให้เป็นมากกว่าไม้ใบราคาถูก ที่เกือบจะถูกลืมเลือนไปจากสายตานักเล่น
ลูกไม้เกิดใหม่แต่ละตัวมีที่มาต่างกัน ความยากง่ายกว่าจะได้มาก็ต่างกัน ฉะนั้นการกำหนดราคาก็ต้องแตกต่างกันตามเหตุตามผล ปกติลูกไม้จะราคาสูงกว่าไม้เก่าทั่วไป แต่ถ้าลูกไม้นั้นมาจากพ่อ-แม่พันธุ์ต่างประเทศ ยิ่งส่งผลให้ลูกไม้นั้นราคาสูงขึ้นไปอีก
คุณโกวิทสะท้อนมุมมองในฐานะนักพัฒนาสายพันธุ์ว่าบางคนอาจจะมองลูกไม้นั้นๆ ราคาสูง แต่ถ้าคิดในมุมกลับ หากลูกไม้ราคา 30,000 บาท ถ้านำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 1,000 ต้น หรือ 10,000 ต้น ราคาต้นทุนต่อต้นจะยิ่งลดน้อยลง และเขามั่นใจว่า “ถ้าถึงจุดนี้แล้ว อย่างไรก็ได้กำไร..!!”
สิ่งสำคัญในการสร้างผลกำไร คือ การลดต้นทุน รักษาคุณภาพให้คงที่ หรือดีขึ้น คนในวงการหลายๆ ท่านเชื่อว่าอโกลนีมาที่จะเดินได้ดีในตลาดล่าง หรือเป็นไม้เศรษฐกิจต้องราคาไม่เกิน 100 บาท ราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท น่าจะเป็นราคาที่ไม่สูงจนเกินไป แล้วผู้ผลิตยังได้กำไร แต่ถ้าราคา 10 บาท เกษตรกรจะขาดทุน
ทีเด็ดของสวน หรือร้านค้า คือ ความหลากหลาย เพราะต่อให้มีไม้ตัวที่ขายดีที่สุดอยู่ แต่เชื่อเถอะว่าผู้บริโภคไม่ซื้อต้นไม้แบบเดียว สีเดียวกัน มาปลูกทั้งหมด ความหลากหลาย ต่างหากที่จะดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้
ในขณะที่คุณอุทัยเองก็เห็นด้วยว่าหากจะเพิ่มมูลค่าให้กับอโกลนีมาในปัจจุบัน ต้องเริ่มจากการพัฒนาสายพันธุ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดก่อน เช่นเดียวกับในอดีตที่เขานั่งมองลูกไม้ใหม่ราคาสูง แต่ยังไม่สามารถซื้อได้ เพราะราคาสูงเกินไป ทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสายพันธุ์อโกลนีมาเอง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นบรีดเดอร์ของเขา
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออโกลนีมา
ทั้ง 2 เปิดใจว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีความสำคัญกับการผลิตอโกลนีมาเชิงปริมาณ เพราะเป็นวิธีที่รวดเร็วกว่าการแยกหน่อ
ในกรณีที่ผู้ปลูกเลี้ยงมีต้นแม่จำนวนมากอยู่แล้ว การแยกหน่อเป็นวิธีขยายพันธุ์ได้ผลผลิต และจำหน่ายได้รวดเร็วที่สุด ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อช่วยให้ได้จำนวนมากก็จริงอยู่ แต่มีข้อเสีย คือ ได้ต้นกล้าขนาดเล็ก และต้องใช้เวลาปลูกเลี้ยงอีกนานกว่าจะได้จำหน่าย นอกเสียจากว่าจะจำหน่ายเป็นไม้นิ้ว หรือไม้ออกขวด
“ต้องยอมรับว่าตอนนี้มันไม่เหมือนกับอดีตที่ต้องมานั่งแยกหน่อ เพราะปัจจุบันมันมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้ามา จริงๆ เราห้ามไม่ได้หรอก แต่ถ้าคนทำไม้สามัคคีกัน ตั้งราคาให้คงที่ มันจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าต่างคนต่างขาย แล้วตัดราคากัน ราคาจะลดลงอย่างรวดเร็ว
“ถ้ามองในมุมบวกมันก็ดีเหมือนกัน คนอื่นปั่นเนื้อเยื่อ เราก็ทำได้ ไม่ต้องมานั่งแยกหน่อเอง เราก็ไม่ทันเขา ลูกไม้บางตัวผมส่งปั่นเลย เราไม่ต้องมาเหนื่อยมาก ราคามันอาจจะลดลง แต่ถ้าเราขายเชิงปริมาณ เราก็ได้เงินก้อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนทำไม้ก็ต้องสามัคคีกัน” คุณโกวิทแสดงความคิดเห็น
ด้านตลาดอโกลนีมา
ส่วนคุณอุทัยเองก็เช่นกัน เขามองว่าการส่งลูกไม้ หรือไม้ที่ผลิตเชิงปริมาณได้ยาก ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นผลดีกับเกษตรกร แต่เกษตรกรต้องรู้จักควบคุมปริมาณไม่ให้ล้นตลาด และตั้งราคาให้เหมาะสม
อโกลนีมาที่เขาตัดสินใจใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ ไม้เด่นของสวนอย่างค้ำคูณ เพราะตลาดทั้งไทย และต่างประเทศ กำลังต้องการมาก จะมารอเวลาแยกหน่ออาจทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสด้านการค้าได้
“ค้ำคูณตลาดไทย และตลาดนอก กำลังต้องการ เพราะเป็นไม้ที่ยิ่งโตก็ยิ่งสวย แต่เราไม่มีทางจะผลิตค้ำคูณให้ได้จำนวนในระยะเวลาสั้นๆ ผมจึงตัดสินใจใช้วิธีการเพาะเนื้อเยื่อ เพราะเรามีต้นพันธุ์น้อย กว่าจะตั้งแม่พันธุ์ กว่าจะตัดมัน อาจจะไม่ทันตลาด ผมจึงใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่ผมกำหนดปริมาณไว้เพียงหลักพันต้น/ล็อตเท่านั้น” คุณอุทัยกล่าว
การจำหน่าย ต้นอโกลนีมา
คุณอุทัยมีหน้าร้านอยู่ในตลาดนัดจตุจักร เขามีโอกาสสัมผัสกับลูกค้า ทั้งไทย และต่างประเทศ มากหน้าหลายตา หน้าร้านที่ตลาดจตุจักรจึงเปรียบเสมือนประตู่สู่ขุมทรัพย์ ในขณะที่คุณโกวิทไม่มีแม้แต่หน้าร้านของตัวเอง แต่นั่นกลับไม่ใช่อุปสรรคในการโกยเงินเข้ากระเป๋าเลยแม้แต่น้อย
คุณอุทัยเจ้าของสวนอโกลนีมาย่านนนทบุรี พูดถึงแนวทางการสร้างชื่อให้ไม้ของเขาว่า “ผมสร้างชื่อให้กับไม้ด้วยการส่งเข้าเวทีประกวด แต่ก่อนที่ผมจะยกไม้ลงสนาม ผมต้องทำจำนวนให้ได้ 10,000-20,000 ต้น เพื่อว่าเมื่อมีออเดอร์เข้ามาเราจะมีของพร้อมรองรับทันที” แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจอย่างยิ่งยวดว่าไม้ทุกเบอร์ที่คุณอุทัยส่งประกวดจะกลายเป็นไม้อนาคตที่ถูกจับตามองในกลุ่มนักเล่น และมีแนวโน้มว่าจะเดินได้ดีในตลาด ทั้งไทย และต่างประเทศ
ส่วนคุณโกวิทเลือกผลิตไม้ที่ตนเองชื่นชอบ และมีความถนัด ในการปลูกเลี้ยงดูแลเป็นหลัก เขาเชื่อว่าการผลิตไม้ที่เจ้าของมีความถนัดจะส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด “ผมไม่ได้ทำไม้ตามใจลูกค้าไปเสียหมด แต่เลือกทำตัวที่ถนัด เรามีพื้นฐานไม้ตัวไหนเราก็ทำตัวนั้นก่อน ถ้าเป็นไม้ที่เราชอบ เราจะมีกำลังใจในการทำ และเลือกทำไม้แปลกที่ราคาสูงในตลาด” คุณโกวิทผู้ผลิตและพัฒนาสายพันธุ์อโกลนีมาแสดงแนวคิดการเลือกผลิตไม้
คนในวงการรู้ดีว่าทั้ง 2 สวนนี้ไม่ใช่สวนใหญ่ มีพื้นที่ปลูกเลี้ยงอโกลนีมาประมาณ 3 ไร่ เท่านั้น แต่เป็นตัวอย่างสวนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ และผลิตอโกลนีมาคุณภาพระดับประเทศ และมีเทคนิคในการสร้างมูลค่าให้กับอโกลนีมาได้อย่างน่าชื่นชม
ขอขอบคุณ คุณอุทัย คำอินทร์ โทร.08-1647-8938 คุณโกวิท เพชรไพบูลย์ โทร.08-4567-0044