การปลูกเลี้ยงทิลแลนด์เซีย
พูดถึงการพัฒนาสายพันธุ์ ในวงการไม้ดอกไม้ประดับถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ผลิต ผู้ค้า อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า เพราะเหตุใด “บรีดเดอร์” ของเมืองไทยจึงมีไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนอื่นๆ ในวงการไม้ดอกไม้ประดับ..??
เพราะในความเป็นจริงแล้วงานพัฒนาสายพันธุ์ไม่ใช่แค่การนำไม้สวยๆ 2 ต้น มาเข้าคู่ผสมกัน เพราะกระบวนการนี้มีเรื่องราวมากกว่านั้น..ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ ที่สามารถผสมแล้วให้ลูกที่ดีได้
ไม้ 1 ต้น ที่เห็น เราว่ามีลักษณะสวยแบบนี้ เด่นแบบนี้ แต่เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าแท้จริงแล้วมีสายเลือด หรือลักษณะพันธุกรรมใดผสมอยู่บ้าง ซึ่งสิ่งที่เรามองไม่เห็นนี่แหละเป็นตัวกำหนดรูปทรง สี ลักษณะใบ ดอก ของรุ่นต่อๆ มา
คุณพัฒนพงศ์ พชรพงศ์ นักพัฒนาสายพันธุ์ทิลแลนด์เซีย จ.สุพรรณบุรี
วันนี้ทีมงานหมุนล้อมาจนถึง จ.สุพรรณบุรี เพื่อพูดคุยกับ คุณพัฒนพงศ์ พชรพงศ์ หรือนก สุพรรณ ในฐานะนักพัฒนาสายพันธุ์ทิลแลนด์เซีย ที่เชื่อว่าคนในวงการต้องรู้จักเขาแน่นอน
“ผมมีความเห็นว่าทิลแลนด์เซียเป็นสินค้าใหม่ ที่ก่อนหน้านี้หากต้องการปลูกเลี้ยงต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น และในยุคแรกๆ การทดลองปลูกเลี้ยง ขยายพันธุ์ เพื่อเป็นธุรกิจการค้าในประเทศไทย จำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มนักสะสมเท่านั้น
“แต่ในหลายปีที่ผ่านมาทิลแลนด์เซียเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในฐานะไม้ประดับของคนรุ่นใหม่ และตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติได้อย่างลงตัว ทั้งเรื่องของรูปทรง สีสัน การดูแลที่ง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่หลงรักในความเป็นทิลแลนด์เซียเช่นกัน” นก สุพรรณ พูดถึงจุดเริ่มต้นของทิลแลนด์เซียในประเทศไทย
การขยายพันธุ์ทิลแลนด์เซีย
บนเส้นทางของการทำธุรกิจ การที่ต้องนำเข้าสินค้าอยู่ตลอดเวลา สำหรับคุณพัฒนพงศ์แล้วคิดว่าไม่ใช่ความยั่งยืนที่แท้จริง และไม่สามารถนำมาเป็นแนวทางที่สร้างความเป็นตัวของตัวเองของสินค้าได้อย่างมั่นคง จึงเริ่มคัดสายพันธุ์ทิลแลนด์เซียจากต่างประเทศมาพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการปลูกเลี้ยงในประเทศ และฝันอยากให้ได้มีแบรนด์เฉพาะเป็นของตัวเอง
“ส่วนตัวผมเองมองเห็นว่าเราจะยืนอยู่บนเส้นทางการนำเข้าเฉพาะจากต่างประเทศมาเพื่อทำธุรกิจ ไม่น่าจะเป็นอะไรที่ยั่งยืน จึงทดลองหันมาพัฒนาสายพันธุ์เองบ้าง ในอนาคตจะได้รับความนิยมในตลาดโลกได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่มีใครตอบได้ แต่ผมและทีมงานก็ได้ตั้งใจลงมือทำงานชิ้นนี้อย่างเต็มความสามารถ”
ด้วยการเริ่มเก็บรวบรวมสายพันธุ์ทิลแลนด์เซียจากแหล่งธรรมชาติ ของประเทศเม็กซิโก, อเมริกา และพื้นที่ๆ เป็นแหล่งเฉพาะ โดยมีคุณแกรี่ แฮมเมอร์ (Mr. Gary Hammer เพื่อนชาวอเมริกัน ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว) ผู้ที่มีความสามารถในเรื่องการเก็บสายพันธุ์ทิลแลนด์เซีย และไม้หายากอื่นๆ รวมทั้งลูกผสมสายพันธุ์ต่างๆ ที่โดดเด่น จากนักสะสมทั้งในและต่างประเทศ มาไว้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการศึกษา การเลี้ยงดู การเจริญเติบโต ทดลองขยายพันธุ์ เพื่อต่อยอดในการพัฒนาสายพันธุ์ และเพื่อให้เป็นไปตามปณิธานที่ได้ตั้งไว้ คือ อยากให้ทิลแลนด์เซียเป็นไม้ประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นแบบอย่างของตัวเอง
“เมื่อพัฒนาไม้ขึ้นมาแล้วเราต้องการเทสให้ชัวร์ เราเป็นคนพัฒนาไม้ต้นนี้ขึ้นมาก็จริง แต่ยังไม่รู้จักเค้าดีเลย ไม่รู้ว่าจนถึงที่สุดแล้วฟอร์มจะเป็นอย่างไร ดอกเป็นอย่างไร ออกดอกแล้วต้นเป็นอย่างไร พอเราได้รู้ ได้เห็น แล้วว่าที่สุดของไม้ต้นนี้เป็นอย่างไร เราถึงจะปล่อยออกมา”
แนวทางในอนาคตของทิลแลนด์เซีย
ส่วนจะให้เป็นธุรกิจในอนาคตได้อย่างลงตัวหรือไม่นั้น ก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ในตอนนี้ แต่รู้อย่างเดียวว่าต้องลงมือทำ และเรียนรู้กับมันเสียก่อน จึงจะรู้ว่าอะไรคืออุปสรรค อะไรคือปัญหา อะไรคือทางเรียบ อะไรคือทางขรุขระ ที่เราต้องพบเจอ ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็ร่วมไปกว่า 9 ปีไปแล้ว
นก สุพรรณ ให้ความเห็นว่าแนวทางพัฒนาต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ขนาด รูปทรง สีสัน องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เช่น บางประเทศอาจมีความชอบเป็นพิเศษในเรื่องของสีสันสดใส หรือในเรื่องของขนาด และรูปทรง (form & composition) เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่อยู่อาศัย รวมถึงการนำไปใช้ในการตกแต่งอาคาร และสถานที่
ด้านตลาดทิลแลนด์เซีย
ในปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปมาก มีแต่ความรีบเร่งในทุกๆ ด้าน จึงน่าจะต้องการอะไรที่เรียบง่าย สะดวก ดูดี ตรงกับวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ ไม่เว้นแม้แต่การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ก็ต้องมีความง่ายขึ้นเช่นกัน พร้อมกับตอบโจทย์ในทุกมุมมองของการพักผ่อนหย่อนใจ
แม้จะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ใหญ่มาก เช่น ทาวน์เฮาส์ อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดทิลแลนด์เซียเกือบทั้งหมดเติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองใหญ่ๆ ของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังมาในหลายรูปแบบ ขนาด และรูปทรง ทำให้สามารถสร้างความลงตัวให้กับพื้นที่เล็กๆ หรือสวนในแนวตั้งได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ผู้พัฒนาสายพันธุ์ควรต้องคำนึงถึงความง่ายในการปลูกเลี้ยงขยายพันธุ์ เพราะต้องขยายด้วยหน่อเท่านั้น เพื่อให้สะดวกในการทำปริมาณ และตอบโจทย์กับภูมิอากาศได้กว้างขวาง พร้อมทั้งลดการใช้พลังงาน แรงงาน ในอนาคต และน้ำในการรด
แต่ยังคงความแข็งแรง ทนทานต่อโรค แมลง โดยลดการใช้สารเคมีในการดูแลรักษาน้อยที่สุด เหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบที่ทีมนักพัฒนาสายพันธุ์ใช้เป็นแนวคิดหลักในการคัดเลือกสายพันธุ์ โดยไม่ได้คิดแค่เพียงความสวยงาม หรือหายาก แต่เพียงอย่างเดียว ยังมีองค์ประกอบอีกมากที่ควรคำนึงถึง
ข้อดีของ ทิลแลนเซีย
ข้อดีอีกส่วนหนึ่งของ ทิลแลนเซีย คือ ความหลายหลากทางสายพันธุ์ในธรรมชาติ (Tillandsia spp.) ซึ่งมีมากกว่า 800 ชนิด ไม่รวมลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ที่ผสมในธรรมชาติ (Natural Hybrids) และการผสมโดยมนุษย์(Man-made Hybrids) อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งนี่คือข้อได้เปรียบในการที่เราสามารถเลือกคุณลักษณะโดดเด่นเหล่านี้มาใช้อย่างไม่จบสิ้น นับเป็นคุณสมบัติที่หาไม่ได้ง่ายในไม้ประดับประเภทอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม นก สุพรรณ ไม่ได้มองการพัฒนาทิลแลนด์เซียตัวใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว แต่เชื่อว่ายังสามารถคัดเลือกไม้เก่าที่มีศักยภาพมาขยายพันธุ์เป็นการค้าได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการต่อยอดสิ่งที่ดีๆ อยู่แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้แตกต่างจากของเดิมๆ
“ยังมีอีกหลายแง่มุมที่เรายังต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น วิธีการปลูกเลี้ยงในเชิงการค้า การดูแลรักษาในระดับการผลิต การตลาด เป็นต้น ที่สำคัญเราอาจต้องเรียนรู้ไปกับไม้ประดับชนิดนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้าโชคดีในระยะอันใกล้นี้เราอาจจะมีทิลแลนด์เซียที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ สำหรับผู้ปลูกเลี้ยง และใช้ผลิตในเชิงการค้าได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานเราหวังเป็นอย่างยิ่ง” นก สุพรรณ กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ คุณพัฒนพงศ์ พชรพงศ์, คุณชวินทร์ หงษ์สุนิรันดร, คุณจานิต บริกุล