การปลูกเลี้ยง บอนไซสนทราย
คุณอัมพร หนูคง สุดยอดมือโปรฯ สนทรายบอนไซ และประธานชมรมบอนไซนครศรีธรรมราช เล่าว่า เดิมรับราชการอยู่อนามัยตำบลชะอวด ใช้เวลาว่างจากการทำงานมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับขาย กระทั่งช่วงเศรษฐกิจซบเซาลง จึงหันมาเลี้ยงสนทรายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะเป็นคนชื่นชอบปลูก และสะสม บอนไซมาตั้งแต่สมัยเด็ก บอนไซสนทราย
เขาเห็นว่าสนทรายเป็นพืชใหม่ รูปร่างแปลก น่าสนใจ จึงศึกษาหาความรู้เรื่องบอนไซจากการไปชมงานประกวดบอนไซต่างๆ และศึกษาจากผู้มีความรู้ ความชำนาญ ด้านเทคนิคการประดิษฐ์บอนไซ เพื่อสร้างความชำนาญในการปลูกเลี้ยงมากขึ้น จนสามารถพัฒนาเป็นรายได้เสริมในครอบครัว
ทำไมต้องสนสร้อย หรือ สนทราย..??
อัมพรให้เหตุผลว่า เมื่อก่อนก็ไม่สนใจเลย รู้สึกเฉยๆ แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปเห็นสนทรายของประเทศมาเลเซีย ที่มีโครงสร้างงดงาม ที่สำคัญต้นหนึ่งมีราคาสูงมากถึงหลักล้านบาท จึง “จุดประกาย” ความคิด
“เราจึงใช้ระยะเวลาศึกษาด้านนี้ประมาณ 3 ปี กว่าจะรู้เทคนิคการปลูกเลี้ยงในกระถางว่าทำอย่างไร ต้นจะไม่ตาย และการทำให้ต้นเจริญงอกงาม”
เหตุผลอีกประการ คือ ต้นทุนต่ำ ต้นพันธุ์จะขุดจากในป่าในพื้นที่
เมื่อเทียบกับไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป มีข้อเสียที่ว่าลูกค้าจะเลือกซื้อเฉพาะต้นที่มีดอก ถ้าต้นไหนไม่มีดอกจะขายไม่ค่อยได้ ทำให้มีต้นทุนในการบำรุงต้นให้ออกดอกสูง แต่หากเป็นบอนไซจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ปลูกมา 2 เดือนแล้ว แทบจะไม่ต้องฉีดพ่นยาอะไรเลย วัตถุดิบก็ไม่ต้องซื้อ ช่วยลดต้นทุนลงได้มาก ใช้เพียงวิชาความรู้ในการปลูกเลี้ยง วิธีการประดิษฐ์บอนไซ ว่าทำอย่างไรให้ต้นสวยงาม
การทำโครงสร้างไม้
สไตล์การเล่นไม้ พี่อัมพรให้ข้อมูลว่าจะเน้นทำโครงสร้างไม้เป็นหลัก แนวไม้ระยะยาว ที่มีกิ่งเมน และกิ่งรอง รายละเอียดต่างๆ พยายามทำโครงสร้างไม้ให้สวยไว้ก่อน โตมายังไงก็สวย เพราะโครงสร้างหลักมีอยู่แล้ว เป็นไม้ประกวดในภาคกลาง คล้ายไม้สไตล์ของมาเลเซีย หากเลี้ยงถึง 5 ปี ทุกต้นจะมีราคาดีทั้งหมด
ปัจจุบันกำลังจะทำการทดลองแนวใหม่ คือ การแกะไม้ซาก หรือตัดเลาะเปลือกไม้เป็นเกลียวรอบต้น เพื่อความสวยงาม เราต้องพยายามค้นคว้าอยู่เรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่กับที่ ให้ความสำเร็จ “สร้าง” ความสำเร็จไปเรื่อยๆ
ไม่ยอมหยุดอยู่กับที่ ถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จไปแล้ว เขาจะใช้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นสร้างความสำเร็จต่อไปไม่หยุดสิ้น
การคัดเลือกต้น
ให้สังเกตโคนต้นใหญ่ที่พอจะมีอนาคตสามารถนำมาทำบอนไซได้ เพราะต้นตอไม้ในป่ามีจำนวนมาก เช่น มีอยู่ 100 ต้น คัดเลือกมาได้เพียง 10 ต้น โดยเลือกต้นที่มีโคนเหมาะแก่การทำบอนไซ เมื่อเลี้ยงนานๆ จะยิ่งได้ราคาดี เนื่องจากมีระยะเวลาการเลี้ยงดูแลค่อนข้างยาวนาน
เทคนิคการปลูกเลี้ยง บอนไซสนทราย
พี่อัมพรเล่าว่าการเล่นสนทราย ข้อควรปฏิบัติขั้นแรกต้องรู้วิธีการปลูกเลี้ยงให้ต้นอยู่รอดก่อน
เริ่มจากเมื่อขุดไม้มาจากธรรมชาติจะมีดินติดมาด้วย ให้สลัดดินนั้นออกให้หมด และนำมาปลูกลงขุยมะพร้าวอย่างเดียว พี่อัมพรบอกว่าถ้าปลูกด้วยดิน หรือทราย รากจะไม่เดินหาอาหาร มีโอกาสตายสูง หลังจากปลูกเสร็จแล้วนำมาวางไว้ในที่ร่มรำไร จนกว่าต้นจะแตกยอด และมีใบจริง ใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นต้นอ่อน หรือต้นแก่ จะใช้ระยะเวลาต่างกัน เมื่อต้นแตกยอดแล้วสามารถย้ายให้ต้นถูกแสงแดดร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ ยิ่งถูกแดดทั้งวันยิ่งต้นงาม
“ระยะแรกทางสวนทดลองปลูกจากดินธรรมชาติ หลังจากปลูก 3 เดือนแล้ว จะมีการแตกยอด และเมื่อผ่านไปอีก 3 เดือน ใบเหี่ยวทั้งต้น ทำให้ต้นอยู่รอดยาก”
การให้น้ำและปุ๋ยสนทราย
การให้น้ำ วันละ 2 ครั้ง รดน้ำทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น เพราะหากต้นมีอาการขาดน้ำแล้วใบจะเหี่ยว และถ้าจะเลี้ยงให้ต้นกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งจะยากมาก เต็มที่ขาดน้ำได้ 2 วัน หากไม่มีเวลาจริงๆ ให้หล่อน้ำก้นกระถางก็ได้
“ถ้าจะเลี้ยงสนทรายต้องอย่าไปกลัวว่าต้นจะตาย ก่อนเลี้ยงก็ต้องศึกษาให้ดีว่าวิธีไหนเลี้ยงแล้วต้นไม่ตาย ต้นของผมรับประกันทุกต้น เลี้ยงมา 1 ปี ต้นยังโตสมบูรณ์ ไม่มีตาย” อัมพรยืนยัน
ปุ๋ย จะให้มูลค้างคาว ทุกๆ 10 วัน/ครั้ง ต้นละประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ
“ผมรับรองเลยว่า ผ่าน ต้นรอดชัวร์ ไม่มีตาย ไม่ต้องไปผสมดินปลูกอะไรทั้งนั้น เพียงแค่ปลูกด้วยขุยมะพร้าวและใช้มูลค้างคาวเท่านั้น ตอนนี้สินค้าผมกระจายไปทั่วประเทศแล้ว” อัมพรรับประกันคุณภาพทุกต้น
การให้ความรู้การปลูกเลี้ยงบอนไซ
การทำไม้ประกวด แนะนำให้ดูทรงไม้ว่าเขาประกวดไม้ทรงใดบ้าง และควรทำให้เป็นรูปแบบสากล นำประกวดได้ทั่วโลก เพราะเมื่อก่อนทำไม้แล้วขายแทบไม่ได้เลย จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ บอนไซสนทราย ใหม่ ให้ความเป็นสากลมากขึ้น
การที่จะ “ประสบความสำเร็จ” ในระดับหนึ่งแล้วไม่ได้หมายความว่า คุณควรหยุด “เรียนรู้” และนี่คือสิ่งที่คนเหล่านี้มี พวกเขารักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต กระทั่งมีการตั้งเป็นชมรมบอนไซจังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นมา จัดประชุมสัมมนาเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเปิดรับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ การทำบอนไซ ให้ความรู้การปลูกเลี้ยง การเข้าลวด ให้กับผู้ที่มีใจรักบอนไซ แต่ยังไม่มีความเข้าใจ สามารถสอนพื้นฐานกันได้ เช่น วิธีการขุดไม้ ก่อนจะขุดต้องคิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะทำรูปทรงอย่างไร ต้องเป็นคนมีจินตนาการ เช่น การทำไม้สวนป่าจะต้องมีการไล่ระดับไม้แต่ละต้นให้สวยงาม เป็นต้น
ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 70 กว่าคน มีทุกรุ่น ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่
“ถ้าเด็กรุ่นใหม่เริ่มเล่นบอนไซตั้งแต่เด็กๆ เติบโตไปพร้อมกับบอนไซ เท่ากับมีเงินออมสำหรับอนาคตไว้แล้ว ยิ่งเลี้ยงนานยิ่งมีราคาสูงตามอายุปี ถ้าเอาบอนไซไปขายก็ได้เงินแล้ว คล้ายกับการเลี้ยงวัว นี่คือการวางแผนชีวิต” อัมพรกล่าว
ไอเดียดีๆ จะมาจากที่ไหน เวลาไหนก็ได้ การเปิดรับตลอดเวลา คือ สิ่งที่ “ฉลาด” ที่สุด
ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่กลัวที่จะ “ล้มเหลว”
ขอขอบคุณ คุณอัมพร หนูคง 143 ม.8 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
โทรศัพท์ 09-0870-9121
อ้างอิง : นิตยสารไม้ดอกไม้ประดับ ฉบับที่ 224