พรมญี่ปุ่น หลายคนคงเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างแล้ว หรือมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ พรมกำมะหยี่ ” เป็นไม้ประดับที่มีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ทั้งไม้แขวน ไม้กระถาง หรือไม้จัดสวน และยังมีลูกเล่นหลากหลาย เช่น สีใบ สีดอก ขอบใบ ลวดลายทั้งบนใบและบนกลีบดอก เป็นต้น
คุณสรรพสิริ – คุณธัญญพัทธ์ พลอยมีรัศมี สามีภรรยาผู้ผลิตพรมญี่ปุ่นแห่งสวนพดด้วง อ.สามพราน จ.นครปฐม มีจุดขายจุดแข็งด้านพัฒนาสายพันธุ์ในแบบฉบับของตนเอง กระทั่งมีชื่อเสียงและโดดเด่นในวงการพัฒนาสายพันธุ์พรมญี่ปุ่น
วันนี้ทีมงานจึงบุกไปที่สวนพดด้วงเพื่อล้วงเทคนิคการพัฒนาสายพันธุ์พรมญี่ปุ่นของพวกเขา เป็นอย่างไร…ไปดูกัน
ขั้นตอนการผสมเกสร
1.ขั้นแรกให้ดูพ่อแม่พันธุ์ก่อนโดยอนุมานว่าจะให้ต้นรุ่นลูกเป็นลักษณะอย่างไร และพยายามให้พ่อแม่พันธุ์มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน เพื่อให้ได้พันธุ์ลูกผสมใหม่เกิดขึ้น
“เราเพาะจากผล ผลหนึ่งมีหลายสิบเมล็ด เมื่อเพาะแล้วแต่ละเมล็ดจะมีความแตกต่างทางพันธุกรรม โดยเริ่มแรกเราได้แต่อนุมาน สมมุติว่า ถ้านำต้นใบสีแดงมาผสมกับต้นใบสีขาวก็จะได้ใบสีชมพู หรือต้นใบเขียวที่มีลายสีขาวชัดเจนถ้านำสีแดงใส่เข้าไปในต้นนี้ก็อาจจะได้ลายสีเงินใบแดง นี่ก็เป็นเพียงจินตนาการ” สรรพสิริพูดการคาดคะเนการผสมเกสร
2.ตรวจสอบต้นพ่อพันธุ์โดยดูว่ามีอับละอองเกสรตัวผู้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่พรมญี่ปุ่นจะมีเกสรเพศเมีย
3.เมื่อได้เกสรเพศเมียมาแล้วให้ดึงกลีบดอกออก และจะเห็นยอดเกสรเพศเมีย (stigma) จากนั้นให้เด็ดเกสรเพศผู้มาป้ายหรือแตะยอดเกสรเพศเมีย
4.นำถุงซิปคลุมยอดเกสรเพศเมีย เพื่อป้องกันการผสมซ้ำ เนื่องจากพรมญี่ปุ่นมีความเซนซิทีฟสูง อีกทั้งเพื่อไม่ให้เมล็ดปลิวหายไปเมื่อเมล็ดแก่แล้ว และยังเก็บเมล็ดง่ายอีกด้วย
ดอกที่เหมาะสมในการผสม คือ ดอกพรมญี่ปุ่นสามารถทำการผสมได้ 2 วันหลังจากดอกบาน แต่ดอกบานวันแรกจะดีที่สุด มีโอกาสผสมติดสูง
การคัดเลือกต้น
ด้วยรูปแบบที่ออกมามีมากเป็นหลักหมื่นต้น และมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการคัดเลือกพันธุ์ โดยคัดเฉพาะต้นที่มีลักษณะดีเด่นตรงตามความต้องการ เช่น มีความทนต่อโรค ต้นแข็งแรง สีของใบและดอกสวย เป็นต้น
เมื่อผสมเสร็จจะสามารถเก็บเมล็ดได้ภายใน 60 วัน และนำมาเลี้ยงอีก 7-10 วัน เราก็จะรู้ โดยการจะคัดได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน จึงจะครบกระบวนการ ต้นมีการเติบโตเต็มที่ โดยทางสวนจะพยายามคัดพันธุ์ที่มีความอ่อนแอต่อโรคทิ้งไป และเก็บเฉพาะต้นแข็งแรง ทนโรค ฉะนั้นลูกค้าซื้อไปจะสบายใจได้ ปลูกเลี้ยงง่าย ดูแลรักษาง่าย เพราะต้นแข็งแรงอยู่แล้ว
“ระยะหลังเราพอจะรู้คร่าวๆ แล้วว่าสีอะไรผสมสีอะไรแล้วหน้าตาจะออกมาเช่นไร จึงเริ่มเลือกเฉพาะไม้ตัวเด่นๆ ของสวนมาได้ 2-3 แบบ เพราะระยะแรกที่ทำไม่ได้เลือกต้นเลย”
การปลูกเลี้ยง
สรรพสิริ บอกเทคนิคการปลูกเลี้ยงพรมญี่ปุ่นว่า ไม้ประเภทนี้ไม่ชอบน้ำแฉะหรือมีน้ำขังเพราะต้นจะเน่าตาย ต้องการแสงแดดรำไร หรือเลี้ยงในที่ร่มรำไร และต้องเลี้ยงไม่ถูกน้ำฝนตกกระแทกแรง เพราะจะทำให้ใบแตกเสียหาย เชื้อโรคเข้าทำลายง่ายจากบาดแผล หากต้นไหนอ่อนแอก็จะตายง่าย
วัสดุปลูกจึงควรมีคุณสมบัติระบายน้ำและอากาศได้ดี โดยสวนพดด้วง จะใช้มะพร้าวสับและขุยมะพร้าว ใช้อัตราส่วน 1:1 แต่การใช้ขึ้นกับขนาดกระถางด้วย
อย่างถ้าปลูกในกระถางขนาด 3 นิ้ว จะใช้เพียงขุยมะพร้าวอย่างเดียว จากนั้นให้ตัดไหลมาปักชำลงกระถางได้เลย
ถ้าเป็นกระถางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ขนาด 5.5 นิ้ว จะใช้ขุยมะพร้าวผสมมะพร้าวสับ เพราะกระถางขนาดใหญ่ต้องให้มีการระบายน้ำที่ดี โดยรดน้ำให้วัสดุปลูกเปียกชุ่มสักครู่ก่อน จากนั้นให้ทำช่องเพื่อนำกิ่งมาปักชำ และให้รดน้ำอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับผู้ปลูกเลี้ยงทั่วไป เจ้าของสวนแนะนำว่า ควรเลี้ยงในดินผสมใบก้ามปู จะทำให้ต้นเจริญเติบโตแข็งแรง และมีลวดลาย สีสันสวยงามมากกว่าแบบใช้ขุยมะพร้าวและมะพร้าวสับ
ระยะเวลาการงอกของรากประมาณ 10 วัน ส่วนใหญ่มีอัตราการรอดสูง
ปัญหาจากแมลง มีเต่าแตง กัดกินใบ และหนอน คือหนอนคืบ และหนอนหนังเหนียว ป้องกันกำจัดโดยหมั่นเฝ้าระวัง หรือกำจัดด้วยการฉีดพ่นยาไซเพอร์เมทติน ประเภทถูกตัวตาย
โรคที่เป็นสุดยอดปัญหา คือโรครากเน่า โรคใบจุด โรคใบจุดตากบ และโรคแอนแทรคโนส ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา เกิดจากมีความชื้นในอากาศสูงเชื้อโรคเจริญเติบโตเร็ว ป้องกันกำจัดโดยฉีดยาป้องกันเชื้อรา
ขอขอบคุณ
คุณสรรพสิริ – คุณธัญญพัทธ์ พลอยมีรัศมี
สวนพดด้วง 101 ม.5 ต.คลองใหม่ อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110
โทรศัพท์ 08-2455-1642
tags: พรมญี่ปุ่น ต้นพรมญี่ปุ่น ไม้ประดับ พรมกำมะหยี่ สวนพดด้วงพัฒนาพันธุ์ การปลูกเลี้ยงต้นพรมญี่ปุ่น พรมญี่ปุ่น ต้นพรมญี่ปุ่น ไม้ประดับ พรมกำมะหยี่ พรมญี่ปุ่น
[wpdevart_like_box profile_id=”328462947197738″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]