เทคนิคการปลูกสนทราย
ถ้าพูดถึงไม้เงินล้าน คงไม่มีใครปฏิเสธ ไม้บอนไซ ไม้ประดับทรงคุณค่าที่อยู่ในใจทุกคนเสมอมา เพราะมีความสวยงามเป็นอมตะในตัวเอง ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์รวมในต้นเดียว ไม้ที่นำมาประดิษฐ์บอนไซแต่ละชนิดให้เสน่ห์น่าหลงใหล และสวยงาม แตกต่างกันไป
หากแต่มูลค่าสูงนี้เอง ทำให้คนในวงการกลุ่มหนึ่งพากเพียรหาไม้ประดับมาตอบโจทย์ความคลาสสิก โดยอาศัยความชำนาญในการปลูกเลี้ยง สนทราย และนำมาสร้างเป็น ไม้บอนไซ อย่างจริงจัง เพราะคุณสมบัติของสนทรายที่มีโครงสร้างลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก แม้กิ่งจะเรียวยาว แต่ยิ่งตัดทดข้อยิ่งถี่กระชับ ลีลาอ่อนช้อย ใบเล็ก ละเอียดอ่อน สวยงาม เพียงแต่การปลูกเลี้ยงสนทรายค่อนข้างจำกัด เพราะมีแหล่งต้นพันธุ์น้อยมาก ที่สำคัญสนทรายเป็นไม้ที่มีความเซนซิทีฟสูง การปลูกเลี้ยงต้องอาศัยความอดทน และความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
ทางเราจึงนำเสนอวิธีการปลูกเลี้ยง “ สนทราย ” หรือที่คนนครศรีธรรมราชเรียกว่า “สนสร้อย” เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ที่สนใจ ไม้บอนไซ สนทราย หรือเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการศึกษา และน่าจะเป็น ไม้บอนไซ ของไทยเพียงไม่กี่ชนิดที่จะใช้ต่อกรกับบอนไซคุณภาพในตลาดโลกได้
คุณธีระยุทธ จันทร์ช่วย หรือพี่หลุบ ให้ข้อมูลว่า เริ่มต้นปลูกเลี้ยงคู่กับพี่อัมพร หนูคง จากการชอบท่องเที่ยวในป่าจนได้พบกับต้นสนทราย ช่วงที่พบเจอใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้จักว่าเป็นต้นอะไร คิดเพียงว่าต้นมีลีลาน่าสนใจดี จึงขุดมาทดลองปลูกเลี้ยงแบบลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนกระทั่งมีญาติจากหาดใหญ่แวะมาเยี่ยมที่บ้านแล้วเห็นต้นไม้นี้ แล้วเล่าให้ฟังว่าไม้ประเภทนี้ที่ประเทศมาเลเซียเขาเล่นเป็น ไม้บอนไซ กันมาเป็น 10 ปีแล้ว เป็นไม้ประกวด
จึงเกิดคำถามว่าทำไมในประเทศไทยคนไม่นิยมเล่น และไม่เป็นที่รู้จัก เขาจึงมาสอนวิธีการจัดแต่งรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระยะแรกคุณธีระยุทธทำเป็นงานอดิเรกควบคู่กับการขายของตามตลาดนัด โดยเริ่มจากทำเป็นไม้ช่อ เพราะยังไม่มีความเข้าใจในวิธีการทำ ไม้บอนไซ จนมาพบอาจารย์ที่จังหวัดเพชรบุรีมาสอนการทำ ไม้บอนไซ ให้ ทั้งการเข้าลวด คัดหน้าไม้ การแต่งกิ่ง ด้วยความชื่นชอบและรักต้นไม้เป็นทุนเดิม จึงเริ่มทำเป็นอาชีพเสริม และตระเวนไปตามงานประกวดไม้ในหลายๆ เวที เพื่อให้คนได้รู้จักสนทรายมากขึ้น จนปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว
ความเก๋าของสนทราย คือ ใบมีขนาดเล็ก ยิ่งตัดยิ่งเล็กละเอียด การแตกกิ่งก้านสาขาถี่กระชับ เปลือกมีผิวพรรณสีน้ำตาลอ่อน กิ่งแตกเป็นเนื้อมีขนสีน้ำตาลแดง ลำต้นอ่อนช้อย ลีลาลู่ตามลม มีความสวยเป็นธรรมชาติ ในประเทศไทยพบได้ทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้ ตามป่าไม่ผลัดใบ ป่าหญ้า ป่าชายหาด ป่าเสม็ดที่เป็นทุ่งหญ้า ตามยอดเขาที่เป็นหินทรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามที่โล่งบนยอดเขาทางภาคใต้ หรือในดินปนทรายตามแนวชายฝั่งทั่วไป
เทคนิคการปลูกสนทราย
- ทุกครั้งที่ทำการขุดจะต้องใช้เครื่องมือที่คม เพื่อไม่ให้เกิดแผลฉีกขาดบริเวณราก
- ต้องสลัดดินที่ติดมากับรากออกให้หมด
- ต้องล้อมตุ่มให้กว้าง อัตราการรอดสูง
จะใช้ขุยมะพร้าวล้วนอย่างเดียว หากใช้ดินพอเลี้ยงนานๆ ไปดินจะเริ่มแน่น การระบายน้ำไม่ดี โอกาสรอดมีต่ำ “คนส่วนใหญ่มักคิดว่าต้องใช้ดินเดิมจากต้นในการปลูก แต่เราทดลองแล้วโดยเปรียบเทียบสนทราย 2 ต้น ขุดมาพร้อมกัน ปลูกในดินคนละชนิดกัน คือ ต้นที่หนึ่งปลูกในดินเดิมจากในป่า ต้นที่สองปลูกในขุยมะพร้าว เลี้ยงแบบกลางแจ้ง ไม่รดน้ำ ผลปรากฏว่าทั้ง 2 ต้น ไม่ตาย แต่การเจริญเติบโตจะแตกต่างกันมาก ขุยมะพร้าวต้นโตดีกว่า รากเดินเร็ว” คุณธีระยุทธพูดประสบการณ์ตรงในการทดลองปลูก
วิธีการปลูก
วิธีการปลูก คือ เตรียมกะละมังที่เจาะรูก้นเรียบร้อยแล้ว และนำขุยมะพร้าวลงไปประมาณครึ่งกะละมัง เมื่อตัดแต่งรูปทรงเสร็จให้นำต้นสนทรายตั้งตรงกลางกะละมัง จากนั้นกลบขุยมะพร้าวตาม โดยกดให้แน่นกระชับ ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งไม้แตกยอดใช้ระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ เมื่อต้นแตกยอดแสดงว่าต้นนี้รอดแน่นอน และทางที่ดีขณะปลูกพยายามอย่าทำให้รากขาด เพราะต้นจะชะงักการเจริญเติบโต เมื่อต้นจะแตกยอด สามารถสังเกตลำต้นจะเป็นลักษณะปุ่มๆ พร้อมจะแทงยอด
ลักษณะของสนทราย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Baeckea frutescens L.
ชื่อวงศ์ : Myrtaceae
ชื่อท้องถิ่น : สนหางสิงห์ (เลย), สนดง สนหิน เสียวน้อย (อุบลราชธานี), สนหอม (จันทบุรี), สนขี้ไก่ (กาญจนบุรี), ปอโฮ่งรุห์ สนเล็ก สนสร้อย (นครศรีธรรมราช), สนนา (สุราษฎร์ธานี), ก้านถินแดง สน (พังงา) และสนเทศ (ปัตตานี)
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มจำพวกสน แตกกิ่งก้านสาขาเป็นจำนวนมาก มีความสูงของต้นประมาณ 5 เมตร ลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล มีความแข็งแรง ทนทาน กิ่งแตกเป็นเนื้อมีขนสีน้ำตาลแดง ลักษณะของกิ่งมักลู่ลง กิ่งมีสีน้ำตาลอ่อน เรียวยาว เปลือกแตกเป็นขุย เขตการกระจายพันธุ์ในเอเชีย และโอเชียเนีย ประเทศอินเดีย พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เกาะบอร์เนียว สุมาตรา และนิวกินี
จุดเริ่มต้นการปลูกสนทราย
“เราไปขุดมาจากป่าดินทราย แต่ไม่ใช่ป่าแนวชายฝั่ง คนทั่วไปเรียกว่า สนทราย แต่คนในพื้นที่ หรือคนในวงการ เรียกว่า สนสร้อย ตามธรรมชาติกิ่งมีลักษณะเรียวยาว พลิ้วไหวลู่ลม” ก่อนขุดขึ้นมาต้องคิดล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่าต้องการทำไม้รูปทรงลักษณะใด โดยเลือกต้นที่มีกิ่งเมนใหญ่ และโคนต้นใหญ่
การขุดจะใช้เสียม โดยขุดรอบต้นห่างจากโคนประมาณ 1 คืบ จากนั้นให้งัดต้นขึ้นมา และสลัดดินออกให้หมด เมื่อดินออกหมดแล้วจึงนำมาปลูกด้วยขุยมะพร้าวล้วนอย่างเดียว หากยังไม่พร้อมลงปลูกในกระถาง สามารถนำมาแช่น้ำไว้ก่อนได้ แต่อย่าทิ้งไว้นานจนเกินไป ต้นอาจตายได้
“เพราะผมเคยทดลองใช้ดินทรายที่ขุดขึ้นมากับต้นปลูกแล้ว ปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไปต้นไม่เจริญเติบโต ใบเหี่ยว และตายในที่สุด อาจเกิดจากเรารดน้ำทุกวัน และดินทรายกดทับกันแน่นขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสนทรายเป็นรากอ่อน ชอบชอนไช เมื่อรากไม่เดิน หาอาหารไม่ได้ก็ตาย หากอยู่ตามธรรมชาติของมันสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าขุดมาจากธรรมชาติแล้วใช้ดินธรรมชาติปลูก ต้นก็ตายเหมือนกัน ต้องมาเลี้ยงในขุยมะพร้าวใหม่เท่านั้น” คุณธีระยุทธพูดถึงการลองผิดลองถูกในช่วงระยะแรกเริ่มปลูกสนทราย ที่สำคัญจะไม่ขุดในช่วงฤดูฝน เพราะรากเดินไม่ดี เน่าตายง่าย แต่ฤดูฝนต้นแตกยอดดีมาก
การบำรุงดูแลรักษาสนทราย
เนื่องจาก ไม้บอนไซ เป็นการปลูกเลี้ยงบนพื้นที่จำกัด บางต้นปลูกในถาดมีวัสดุปลูกน้อยมาก ทำให้ต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี บำรุงรักษาต้นอยู่ตลอด
การใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 และ 20-10-10 ใส่ครั้งละ 1 หยิบมือ/ต้น ทุกๆ 2 สัปดาห์ และเมื่อต้นเริ่มแตกยอดและมีใบจริงแล้ว จะใส่ปุ๋ยมูลค้างคาวครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ/ต้น ส่วนการให้น้ำทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง ช่วงเช้าจะดีที่สุด เพื่อใช้สังเคราะห์แสง
สำหรับแสงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หากได้รับแสงแดดตลอดทั้งวันจะทำให้ต้นแข็งแรง ผิวพรรณดี การเจริญเติบโตดี ถ้าได้รับแสงแดดไม่เต็มที่จะทำให้ลำต้นจะอ่อน ยอดไม่สวย ใบหงิกงอ ไม่ฟู นอกจากจะปลูกเลี้ยงสนทรายด้วยความชอบแล้ว ยังต้องมีพื้นที่โล่ง แดดส่องถึงทั้งวัน
การป้องกันกำจัดโรคระบาด
ที่สำคัญต้องคอยระวังเรื่องโรคเชื้อรา โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน มีความชื้นในอากาศสูง เชื้อราแพร่ระบาดได้ง่าย ป้องกันและกำจัดโดยฉีดพ่นยากันเชื้อราเป็นประจำ กรณีพุ่มแน่นมากต้องหมั่นสังเกตอาการต้นอยู่ตลอด จะเกิดเชื้อราได้ง่าย เช่น อาการไม้เป็นสีแดง ตรวจดูว่าเกิดจากอะไร ฝนตกมาก เกิดจากเชื้อราหรือไม่ หรือมีพืชสะสมโรคอยู่บริเวณใกล้เคียง หากไม่ดูแลรักษาตั้งแต่ระยะแรก เชื้อโรคอาจลามไปต้นอื่นได้
การขยายพันธุ์สนทราย
“ สนทราย เลี้ยงไม่ยาก แต่ต้องทำความเข้าใจนิสัย หรือเลี้ยงตามที่เราบอก สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด เนื่องจากเมื่อต้นโตเต็มที่จะมีดอก และติดฝัก สามารถนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อได้ ส่วนการตอนกิ่งผมยังไม่ได้ทดลองจริงจังว่ารากจะเดินหรือไม่ เราต้องทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาให้ สนทราย ติดเกรดอันดับต้นๆ ของบอนไซ” คุณธีระยุทธพูดการขยายพันธุ์ สนทราย เพื่อเตรียมขยายตลาดในอนาคต
การสร้างฟอร์ม
เมื่อปลูกเสร็จแล้วนำมาตัดเลาะกิ่งย่อยบางกิ่งออก เหลือเฉพาะกิ่งที่ต้องการ เพื่อให้ต้นนำอาหารมาเลี้ยงกิ่งที่ต้องการเท่านั้น ส่วนตำแหน่งการวางกิ่งขึ้นกับจินตนาการของแต่ละบุคคลว่าต้องการรูปทรงต้นแบบใด และพื้นฐานของไม้ต้องเลี้ยงโคนต้นให้ใหญ่ก่อน ให้มีลักษณะคล้ายต้นไม้ใหญ่ในป่าธรรมชาติ โดยให้กิ่งใหญ่สุดเป็นกิ่งเมน และกิ่งตาไม้เป็นกิ่งย่อย เป็นวิธีการทำโครงสร้างไม้
การตัดเลาะกิ่งให้ตัดหน้าเรียบ คนในวงการเรียกว่า “ตัดหัวเขียง” เมื่อตัดแล้วไม่ต้องทาปูนแต่อย่างใด แล้วสามารถแต่งไล่เรียงกิ่งจากใหญ่ไปเล็ก เมื่อไม้เริ่มตั้งตัวได้ เนื้อไม้จะค่อยๆ คลุมกลืนบาดแผล เรียกว่า “อมเขียง” ลักษณะคล้ายตาไม้ ให้ความรู้สึกถึงความเก๋า สมมุติว่าต้องการเล่นไม้ซากก็ไม่ต้องตัด แต่จะเน้นซากปลายยอด สร้างทรงต้นให้มีลีลาอ่อนช้อย “ผมจะเลี้ยงไม้แบบภาคกลาง เป็นแบบไม้สากล สามารถประกวดได้ทั่วโลก” คุณธีระยุทธแสดงความมุ่งมั่นที่จะปั้น สนทราย ให้เกิดในวงการบอนไซ
การแต่งกิ่งสนทราย
สนทราย เป็นไม้ที่แตกกิ่งก้านละเอียด แน่นกระชับ จึงต้องคัดเลือกว่าจะเอากิ่งใดไว้บ้าง และต้องมีความแน่ใจว่าต้องการกิ่งใดเป็นกิ่งที่หนึ่ง กิ่งที่สอง และกิ่งที่สาม ไปเรื่อยๆ เป็นการเลี้ยงลักษณะเดียวกันกับ ไม้บอนไซ แต่ใช้ไม้ต่างชนิดกัน หากเป็นต้นเล็กจะเลี้ยงกิ่งไว้น้อยๆ แต่เมื่อต้นเติบโตขึ้นก็สามารถเพิ่มกิ่งได้ตามขนาดต้นนั้นๆ และถ้าต้นเล็ก คัดกิ่งไว้เยอะ เติบโตมาต้นจะไม่สวย เพราะกิ่งเบียดกันแน่น จะทำให้แต่งไม้ยาก
การแต่งกิ่งต้องพยายามมองภาพรวมของไม้ให้ทุกด้าน ทุกมิติ เราต้องดูลักษณะกิ่งว่าเป็นไปในลักษณะใดได้บ้าง เช่น ทรงลู่ลม หรือทรงเอนชาย เป็นต้น พยายามเลือกทรงที่เข้ากับไม้มากที่สุด โดยสังเกตที่โคนต้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร และสังเกตหน้าไม้ให้รอบด้านว่าด้านไหนดูแล้วสวยกว่ากัน เช่น ต้นนี้มีกิ่งบิดออกข้าง แต่เราต้องการดึงกิ่งมาอีกด้านหนึ่งให้เข้าลวดเพื่อบังคับกิ่ง เป็นต้น
“การตัดแต่งไม่ต้องกลัวต้นตาย เพราะตราบใดที่มีรากอยู่อย่างไรก็ไม่ตาย”
การเข้าลวด สนทราย ไม้บอนไซ
การเข้าลวดถ้าวันไหนจะเข้าลวด วันนั้นห้ามรดน้ำเด็ดขาด ถ้ารดน้ำไม้จะฉ่ำน้ำ ทำให้กิ่งเปราะแตกหักง่าย จะปล่อยให้ต้นแห้ง ถ้าฝนตกให้นำมาตั้งไว้ในร่มก่อน และการพันลวดต้องใช้ลวดเส้นเดียว ทั้งกิ่งหน้า และกิ่งหลัง โดยนวดกิ่งไปเรื่อยๆ เพื่อให้กิ่งโค้งเข้ารูป
ข้อควรระวัง คือ การพันลวดพยายามอย่าพันลวดถูกตาไม้ และขนาดของลวดกับขนาดของกิ่งต้องใกล้เคียงกัน หรือเท่ากันเลยยิ่งดี
ฝากถึงสำหรับคนฝึกใหม่
คุณธีระยุทธแนะนำให้เริ่มต้นด้วยไม้ต้นเดี่ยว คือ การเล่นไม้ทรงต้น อันดับแรกต้องเลี้ยงกิ่งเมนให้โตสมดุลกับลำต้นประมาณ 50% ของลำต้น จากนั้นก็ตัดเพื่อให้ต้นแตกตายอดใหม่ ต่อมาเลี้ยงกิ่งย่อยให้โตประมาณ 50% ของกิ่งเมน และตัดกิ่งย่อยนั้นเพื่อต้นแตกยอดใหม่อีกทำเป็นกิ่งสาขา ต่อจากนั้นจะคัดกิ่งซ้าย-ขวา เมื่อได้กิ่งย่อย 4 ชั้น ถือว่ากำลังดี พุ่มไม่เลยกระถางมาก แล้วตัดเป็นทรงพุ่ม การแต่งกิ่งควรให้ยอดและโคนต้นสมดุลกัน
10 ปีผ่านไป ไม้เป็นพุ่มใหญ่แล้ว ถ้ายังไม่อยากจบสามารถตัดกิ่งให้ย่อยลงไปอีกได้เรื่อยๆ ไม้ที่มีอายุมากเลี้ยงนานจะยิ่งเกร็ง ยิ่งเล็ก ยิ่งแกร่ง และไม้ที่ไว้กิ่งเยอะถี่ละเอียดมาก เมื่อไม้จบแล้วพุ่มจะแน่นสวย ขายได้ราคาดี
การเลือกซื้อควรเน้นโคนต้นใหญ่ๆ เพราะไม้สำคัญที่โคน ไม้ด้านบนจะทำอะไรก็ได้ แต่โคนไม่สามารถทำอะไรได้เลย หากกิ่งไหนไม่ถูกใจสามารถตัดทิ้ง รอแตกยอดใหม่ได้เรื่อยๆ ฉะนั้นการเลือกไม้ตอสำหรับทำ ไม้บอนไซ ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หากท่านใดยังไม่ชำนาญ สามารถปรึกษาคนที่เล่นมาก่อนได้ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง และยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพใหม่ๆ ในวงการอีกด้วย
ขอขอบคุณ คุณธีระยุทธ จันทร์ช่วย 30 ม.1 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 09-3770-5642 (พี่หลุบ), 08-0085-4434 (พี่เปิ้ล)