ทีมงานนิตยสารไม้ดอกไม้ประดับได้พูดคุยกับ คุณปาริชาติ ทิพย์อัปสร หรือ คุณหมวย เจ้าของ สวนสับปะรดสี ชื่อ สวนเกษตรจอมพล ที่ “วงใน” ผู้ผลิตสับปะรดสี ทั้งไม้จัดสวน และไม้สะสม รู้จักเป็นอย่างดี
การปลูกเลี้ยงสับปะรดสี
คุณปาริชาติให้ข้อมูลว่าสับปะรดสีนอกจากมีความสวยงามแล้ว ยังปลูกเลี้ยงง่ายอีกด้วย ใช้กาบมะพร้าวสับเป็นวัสดุปลูกเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นไม้รากอากาศ หน้าที่หลักของราก คือ ใช้ยึดเกาะวัสดุปลูก จึงใช้เกาะกับขอนไม้ หรือปลูกในกาบมะพร้าวสับได้
นอกจากนั้นยังมีความหลากหลายทางสายพันธุ์สูง แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสี รูปทรงใบ ทำให้นักเล่นเลือกเก็บสะสมได้เรื่อยๆ ยิ่งเป็นไฮบริด (Hybrid) หรือลูกผสม ยิ่งมีความหลากหลายเป็นพิเศษ
สายพันธุ์สับปะรดสี
ปัจจุบันนักเล่นสับปะรดสีบางส่วนมุ่งเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งสี และฟอร์ม คนในวงการต่างทราบดีว่าทุกวันนี้สับปะรดสีพัฒนาไปไกลมาก แม้ว่าสายพันธุ์ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ด้วยฝีมือของบรีดเดอร์ไทย กลับทำให้ต่างชาติทึ่งในความสามารถ และหันมาซื้อสับปะรดสีลูกผสมจากเมืองไทยไปไม่น้อย
เธอให้ความสนใจสับปะรดสี สกุลนีโอเรเจยา (Neoregelia) หรือนีโอ เป็นพิเศษ แม้จะไม่มีดอก แต่เป็นไม้ฟอร์มสวย ใบมีลวดลาย สีสัน แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ ปาริชาติจึงค่อยๆ เก็บสะสม และเสาะหาสายพันธุ์ใหม่ไปเรื่อยๆ
สับปะรดสีที่เป็นไม้สะสม หรือไม้คอลเลคชั่น ของสวนเกษตรจอมพล ถือว่าเป็นที่ยอมรับด้านความสวยงาม แปลก และค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากเจ้าของสวนมีความมุ่งมั่นเก็บสะสมแทบทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น
–สกุลนีโอเรเจยา (Neoregelia) เป็นสับปะรดสีโชว์ใบ สีสันหลากหลาย ใบออกเวียนเป็นวงกลม มีดอกขนาดเล็ก สีม่วงจมอยู่ใต้น้ำกลางยอด การเลี้ยงสับปะรดสีกลุ่มนี้ควรให้มีน้ำหล่อบริเวณกลางยอดเสมอ เพื่อให้ต้นดูสดชื่น และช่วยในการผสมเกสรให้ติดเมล็ดตามธรรมชาติ
–สกุลแอคเมีย (Aechmea) ส่วนใหญ่เป็นสับปะรดสีชนิดมีดอกที่มีโครงสร้างใหญ่ ใบใหญ่ และแข็ง ใบตั้ง ส่วนใหญ่ปลายใบโค้งมน บางชนิดมีลวดลายบนใบ บางสายพันธุ์เลี้ยงกลางแจ้งได้ จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักจัดสวน
ดอกมีรูปแบบหลากหลาย เช่น ก้านไม้ขีด (Aechmea gamosepala) และสับปะรดสี Aechmea fasciata หรือชื่อไทยว่า แจกันเงิน เป็นต้น
–สกุลกุซมาเนีย (Guzmania) เป็นหนึ่งในสับปะรดสีที่นิยมใช้ในการจัดสวน และราคาย่อมเยา สับปะรดสีชนิดนี้มีขนาดฟอร์มเล็ก-ขนาดกลาง ใบยาว ปลายใบเรียวแหลม ใบนิ่ม ไม่มีหนาม โตเร็ว ให้ดอกง่าย รูปทรงดอกคล้ายดอกกระเจียว หรือดอกของพืชตระกูลขิง เช่น สวิทช์ (Guzmaniaswitch), ซูเลโด (Guzmaniasoledo) และลูน่า (Guzmanialuna) เป็นต้น
–สกุลรีเซีย (Vriesea) สับปะรดสีที่มีขนาดฟอร์มเล็ก-ขนาดกลาง ใบยาว ใบกว้างกว่าสกุล Guzmania ปลายใบเรียวแหลมน้อยกว่า ใบนิ่ม ไม่มีหนาม โตเร็ว ให้ดอกง่าย ใบประดับเรียงซ้อนแบบประกบคู่ฟันปลาจากล่างขึ้นบน รูปทรงดอกคล้ายดอกเฮลิโคเนีย เช่น พัดแดง พัดเหลือง พัดม่วง เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่นักเล่นเรียกว่า เสือ หรือไทเกอร์ (Tiger) เป็นไม้สะสมราคาสูง มีเสน่ห์ที่ลวดลาย เส้นบนใบคล้ายลายเสือ ยิ่งลายสวย ชัดเจน และสีแปลก ก็ยิ่งมีราคาสูง และสับปะรดสีที่นักสะสมเรียกว่า เสือดาว มีลวดลายบนใบเป็นลายจุด เป็นหนึ่งในไม้ที่นักสะสมสับปะรดสีต้องมี
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายสับปะรดสี
ปัจจุบันคุณปาริชาติสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายสับปะรดสีประมาณ 50,000-100,000 บาท/เดือน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากเว็บไซต์ และลูกค้าที่บอกต่อกันปากต่อปาก มีทั้งแบบมาซื้อเองที่สวน และบริการส่งไปรษณีย์ รถทัวร์ รวมถึงรถไฟด้วย มีข้อแม้ว่าถ้าเป็นลูกค้าที่ไม่มารับสินค้าเองต้องโอนเงินมาก่อน จึงจะส่งของให้ เพราะสวนถือว่ามีความเสี่ยงสูง “เราต้องให้ลูกค้าโอนเงินมาก่อน เรามีสวนจริง อยู่ที่นี่ ไม่ไปไหนแน่นอน” เจ้าของสวนพูดติดตลก
คุณปาริชาติเล่าต่อไปว่าทุกวันนี้สับปะรดสียังเป็นไม้ประดับราคาสูง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักสะสม หรือคนที่ซื้อไปจัดบ้านเอง กลุ่มนี้จะเลี้ยงเพื่อความสุข และมีกำลังซื้อสูง ถ้าเป็นแม่ค้าที่รับไปขายเขาต้องการราคาส่ง เพราะฉะนั้นเธอจะส่งเท่าที่ทำได้ และมีกำไร
สวนสับปะรดสี การปลูกและบำรุงดูแลสับปะรดสี
–วัสดุปลูก ใช้กาบมะพร้าวสับล้วน ห้ามใส่ดิน เพราะสับปะรดสีเป็นรากอากาศ ชอบเครื่องปลูกโปร่ง ถ้าใช้ดินเป็นเครื่องปลูกจะแฉะ และแน่นเกินไป อาจทำให้ต้นเน่าได้ หรือเอาไปติดกับต้นไม้/ติดตอไม้ก็ได้
–การรดน้ำ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง เทคนิค คือ ควรรดให้ขังยอดตลอดเวลา ห้ามขาด เพราะยอดอาจจะเสีย แล้วทำให้เกิดหน่อ เนื่องจากทางร้านไม่ต้องการเร่งหน่อ ต้องการให้เป็นไปตามความพร้อมของไม้
–การให้ปุ๋ย สวนเกษตรจอมพลไม่ใช้ปุ๋ยทุกชนิดในสับปะรดสี เพราะการใส่ปุ๋ยทำให้ไม้ฟอร์มเสีย และไม่ออกสี การใส่ปุ๋ยมากเกินไปทำให้ไม้อ่อนแอ (ในกรณีนำไปใช้จัดสวน) ไม้จะไม่แกร่ง ทนแดดไม่ได้ ยกเว้นไม้ด่างที่โตช้าจะใส่ปุ๋ยออสโมโค้ทประมาณ 10-15 เม็ด/ต้น
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
–เพลี้ยหอย ใช้ไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran)
–เชื้อรา ใช้ยาฆ่าเชื้อรา หรือแคปแทน
–ตั๊กแตน ปล่อยแบบธรรมชาติ เพราะเราไม่ได้อยู่ในแหล่งที่มีการทำเกษตรมากๆ ไม่ค่อยมี ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด จึงมีแมลงศัตรูพืชน้อย
–โรงเรือน ควรสร้างให้มาตรฐาน ดึงซาแรนให้ตึง ถ้าดึงไม่ตึงอาจถูกลมตีขาดเสียหายได้ เนื่องจากเพชรบุรีมีลมทะเลและลมภูเขาค่อนข้างแรง ซาแรนสีดำพราง 60%
ขอขอบคุณ คุณปาริชาติ ทิพย์อัปสร สวนเกษตรจอมพล โทร.08-1440-8352 และ 08-0998-8943