การสร้างสวนต้นไม้ต่างจังหวัดนอกพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และภาคกลาง สุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอดอย่างยิ่ง
ก็เมื่อพื้นที่ “ไข่แดง” หรือศูนย์กลางของตลาดซื้อขายต้นไม้อยู่ในโซนปริมณฑลของกรุงเทพ
ขณะที่ตลาดต้นไม้ระดับภูธรในพื้นที่ยังไม่กว้างนัก เพราะต้นไม้ยังคงเป็นสินค้า “ฟุ่มเฟือย” ของคนส่วนมาก
ยิ่งหากเป็นสวนต้นไม้เชิงเดี่ยว คือผลิตพันธุ์ไม้ประดับชนิดเดียว โอกาสประสบความสำเร็จมีน้อย เพราะตลาดหรือ กลุ่มผู้ซื้อแคบ
หากแต่อีกมุมหนึ่ง การริเริ่มสร้างสวนต้นไม้ระดับภูธร โดยเฉพาะไม้พันธุ์ใหม่ ในต่างจังหวัด จะทำให้สวนนั้นกลายเป็น “หนึ่ง” หรือเป็นผู้นำของพื้นที่นั้นๆ
ที่สำคัญเป็นการวัดกึ๋นทางการตลาดของสวน ว่าจะสามารถปลูกและสร้างตลาดได้มากน้อยแค่ไหน
ทุกครั้งเวลาผู้เขียนเดินทางไปต่างจังหวัด ก่อนไปมักจะหาข้อมูลสวนต้นไม้ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อไปสำรวจการผลิตและการตลาดของสวนนั้น
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 ผู้เขียนมีภารกิจเดินทางไปยัง “เมืองดอกบัว” อุบลราชธานี และพบข้อมูลว่าจังหวัดนี้มีผู้ผลิตสับปะรดสีอยู่รายหนึ่ง ในเขต อ.เมือง ชื่อ “สวนไชยธนา” จึงถือโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียน และนำภาพและข้อมูลมาฝากผู้อ่าน
สวนไชยธนามีพื้นฐานมาจาก “สวนบัญชาบรอมีเลียด” ของ อ.บัญชา ฮาดสม ใน จ.ระยอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของ ธนาพร อุดมพันธ์ เจ้าของสวนสับปะรดสีในเมืองดอกบัวแห่งนี้
ธนาพรเล่าว่า เป็นคนอุบลฯ แต่เมื่อไปเยี่ยมพี่ชายที่ระยอง ซึ่งมีธุรกิจโรงแรมชื่อดังของระยองและยังมีสวน ไม้ดอกไม้ประดับ พันธุ์ไม้โดดเด่นก็คือ สับปะรดสี
ระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียวในระยอง ทำให้เขาหลงใหลสับปะรดสีตามรอยผู้เป็นพี่ ก่อนจะค่อยๆ ศึกษาและ เรียนรู้การปลูกเลี้ยงเรื่อยมา และมีความตั้งใจว่าจะนำสับปะรดสีมาเลี้ยงเมื่อกลับบ้านเกิด
แต่พอเอาเข้าจริง ความตั้งใจกลับเปลี่ยน เพราะเมื่อมองจากช่องทางและโอกาสแล้ว เขามองว่าน่าจะสร้าง เป็นสวนสับปะรดสี ในเมืองดอกบัวไปเลย
เนื่องจากไม้ใบตัวนี้มีเสน่ห์เหลือคณานับ ตั้งแต่สีสันสวยงาม ฉูดฉาด รูปร่างหน้าตาแปลกไปจากไม้ประดับชนิดอื่น ที่สำคัญ มีความหลากหลายพันธุ์ และใช้ในงานจัดสวนได้อย่างดี
ถ้าได้ไม้ประดับสวยๆ มีความแปลกและแตกต่าง อย่างสับปะรดสี น่าจะสร้างความนิยมได้มาก
สายพันธุ์สับปะรดสีจากสวนแห่งนี้จึงไม่แตกต่างจากสวนที่ระยองมากนัก คือ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ยอดนิยม อย่าง นีโอรีเจลยา (Neoregelia)
สับปะรดสีสกุล “นีโอเรเจลยา” มีฟอร์มใบโดดเด่นเหนือพันธุ์อื่นๆ ใบเรียงตัวเวียนรอบเป็นวงกลม สีสันสวยงาม และมีให้เลือกหลายพันธุ์
กลุ่มพันธุ์อื่นๆ เช่น แอคเมีย (Aechmea) และบิลล์เบอร์เกีย (Billbergia) เป็นต้น
ทั้งนี้สับปะรดแต่ละสกุลมีความแตกต่างด้านราคา บางกลุ่มเป็นไม้ขยายพันธุ์ง่าย ออกหน่อเร็ว ราคาจึงไม่สูงมากนัด ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งขยายพันธุ์ยางและมีจำนวนน้อย ราคาจึงสูง คอสับปะรดสี หรือ นักเล่นสับปะรดสีนิยม
พันธุ์สับปะรดสีที่ได้รับความนิยมจากคนซื้อทั่วไป จึงเป็นกลุ่มราคาไม่สูง แต่ต้องมีสีสันจัดจ้าน ดังตัวอย่างของ พันธุ์ ไฟร์บอล (Neo.fireball)
เจ้าของสวนบอกว่า สับปะรดสีพันธุ์นี้ราคาเพียงแค่ต้นละ 50 บาท แต่คุณสมบัติและความงามของมันเหลือร้าย คอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อได้อย่างครบถ้วย
คือ เป็นไม้สีใบแดงสด เลี้ยงง่าย ให้หน่อเก่ง และสำคัญคือ สามารถเลี้ยงกลางแจ้ง 100% ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญ
สำหรับผู้ต้องการนำไปใช้งานจัดสวน
เมื่อเลี้ยงไประยะหนึ่ง จะเกิดหน่อหลายๆ หน่อในกระถางเดียว สามารถนำไปแขวนไว้มุมไหนของสวนก็สวยงาม และโดดเด่น
ส่วนสับปะรดสีกลุ่มไม้สะสม ธนาพร ยอมรับว่า ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก เพราะราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 500 -3,000 บาท
“ตัวที่นิยมสำหรับนักล่น เป็นพวกเสือไฮบริด เป็นตัวลูกผสม ต้นละ 1,200 บาท นักสะสมจะชอบ เลี้ยงกลางแจ้งก็ได้”
ด้านการปลูกเลี้ยง เจ้าของสวนข้อมูลว่า ไม้ตัวนี้เป็นไม้เลี้ยงง่าย เพราะโดยธรรมชาติของมันอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง ขณะที่บางพันธุ์เป็นไม้อิงอาศัย พวกมันจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตลอดเวลา แม้จะอยู่ในแหล่งที่ไม่มีอาหารเลยก็ตาม
แต่เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงจึงต้องรู้จักนิสัยพื้นฐานของสับปะรดสี ข้อมูลหลักคือ เครื่องปลูก น้ำ และแสงแดด
เครื่องปลูก เพราะสับปะรดสีเป็นไม้อิงอาศัย และอยู่ที่แล้ง รากจึงทำหน้าที่เพียงยึดเกาะต้นไม้และโขดหินเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ดินปลูก เพียงแค่กาบมะพร้าวสับเล็กๆ ใส่กระถางปลูกก็เพียงพอแล้ว ข้างก็ใช้หินภูเขาไฟ หรือ เปลือกสน เป็นต้น
แต่กาบมะพร้าวมีคุณสมบัติดีที่สุด เพราะอุ้มน้ำ พร้อมๆ กับระบายน้ำได้ดี ที่สำคัญหาได้ง่ายและราคาถูก
น้ำ สับปะรดสี ไม่จำเป็นต้องรดน้ำมากนัก จะสังเกตได้ว่า เวลารดน้ำต้นสับปะรดสีจะเก็บกักน้ำไว้บริเวณซอกกาบใบ และอยู่ได้นานหลายวัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อย 3-4 วัน/ครั้ง
แสงแดด แม้ในธรรมชาติสับปะรดสีจะอาศัยอยู่กลางแจ้งได้ แต่ด้วยถิ่นกำเนิดของสับปะรดสีกับประเทศไทยแตกต่างกัน คือ ไทยมีแดดแรงกว่า จึงไม่สามารถเลี้ยงกลางแจ้ง จำเป็นต้องใช้ซาแรนพรางแสง และสร้างโรงเรือน ธนาพรบอกว่า พื้นที่อุบลราชธานีแดดแรงมากๆ จึงต้องใช้ซาแรนพรางแสงหนาถึง 70% หากต่ำกว่านี้ใบมีโอกาสไหม้ โดยเฉพาะหน้าร้อน
แต่ด้วยการนำสับปะรดสีเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยเป็นเวลานาน ปัจจุบันหลายพันธุ์มีการปรับตัวให้เข้ากับอากาศ จึงทนทานต่อแดดแรงๆ ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มนีโอรีเจลยา และแอคเมีย เป็นต้น ก่อนจะพัฒนาไปสู่การนำมาเป็นไม้จัดสวนสไตล์ใหม่
ปัจจัยรองๆ ของการเลี้ยงสับปะรดสี นอกเหนือนี้คือ ปุ๋ย ทั้งนี้การเลี้ยงสับปะรดสีเชิงเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเลี้ยงให้สมบูรณ์และออกหน่อ ออกดอกง่าย จึงจำเป็นต้องอาศัยปุ๋ย แต่ต้องใช้เป็น ไม่อย่างนั้นจะเสียฟอร์มไม้และสีไม่สวย
“ปุ๋ยเราใส่ปีละครั้งเท่านั้น สูตร 14-14-14 (ปุ๋ยละลายช้า) เพราะเราไม่ต้องการให้ต้นโตจนเกิดไป หากใส่ปุ๋ยมากใบจะยาว ผิดฟอร์ม สีไม่จัด”
เทคนิคสำหรับผู้ต้องการเลี้ยงสับปะรดสีให้ฟอร์มใบสั้นกระชับ สีสวย คือ เลี้ยงแบบไม่ใส่ปุ๋ยเลย รดเพียงแต่น้ำ 3-4 วัน/ครั้งเท่านั้น ต้นจะแคระ เป็นรูปทรงกลม
“อาจจะไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องปลูก เหมือนมันอยู่ในธรรมชาติ กินน้ำอย่างเดียว”
ทิศทางความนิยมในพื้นที่ เจ้าของสวนสับปะรดสีไชยธนา บอกว่า ยังไม่ถึงกับได้รับความนิยมสูงนัก เพราะ เป็น
ตลาดใหม่ ห่างไกลจากตลาดกลุ่มนักเล่น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง จึงต้องสร้างตลาดและกลุ่มนักเล่นขึ้นมาใหม่ รวมถึงตลาดใช้งานเชิงปริมาณ อย่าง งานจัดสวน เป็นต้น
[wpdevart_like_box profile_id=”328462947197738″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]