หม้อข้าวหม้อแกงลิง สีดำดังระดับโลก ของ Rayong Smile Plants , ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง, Black diamond, Rayong Smile Plants, หม้อข้าวหม้อแกงลิงสีดำ ประกิต โพธิ์ศรี
ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับพืชกินแมลง เป็นหนึ่งในศูนย์อบรมที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Young Smart Farmer Rayong ดำเนินงานโดย ประกิต โพธิ์ศรี เจ้าของฟาร์ม Rayong Smile Plants วิสาหกิจชุมชน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
ประกิตมีความตั้งใจต้องการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวน เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับพืชกินแมลง ให้ผู้สนใจมีโอกาสศึกษาหาความรู้ หม้อข้าวหม้อแกงลิง, การปลูกเลี้ยง และการดูแลรักษา ไปจนถึงการขยายพันธุ์สามารถนำไปทดลองปฏิบัติเองได้จริง เพื่อการอนุรักษ์ สายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง ให้คงอยู่ต่อไป
ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจ มีการรวมกลุ่มกันของผู้ ปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิง ในพื้นที่ เพื่อตั้งเป็นกลุ่มเครือข่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 10 คน
ประกิตเล่าจุดเริ่มต้นการปลูก เลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิง ของตนเองว่า พื้นเพเดิมอยู่จังหวัดพิษณุโลก และมาทำงานใน จ.ระยอง ตั้งถิ่นฐานซื้อบ้าน เมื่อมีบ้านก็อยากมีต้นไม้มาประดับ ใช้เวลาว่างจากการทำงานมาปลูกเลี้ยง เริ่มแรกเน้นเลี้ยงกล้วยไม้ป่า ต่อมาบังเอิญพบ หม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่ตลาดไม้ประดับจัตุจักร ด้วยรูปลักษณ์แปลกตาดึงดูดใจ เป็นไม้แปลกแตกต่างจากพืชชนิดอื่น มีหม้อหรือกระเปาะที่ปลายใบ และหลากหลายสายพันธุ์
เป็นเสน่ห์ทำให้เขาเริ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทั้งวิธีการปลูกเลี้ยง การผสมเกสร การเพาะเมล็ด โดยปรึกษาจากผู้รู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และครูพักลักจำมาทดลองปลูกเลี้ยงด้วยตนเอง จนสามารถพัฒนาสร้างเป็นรายได้กับครอบครัว
จุดแข็งของสวน Rayong Smile Plants คือ การพัฒนาสายพันธุ์ เป็นหัวใจของการทำตลาดให้เกิดพันธุ์ลูกผสมใหม่ๆ โดยดึงจุดเด่นของไม้แต่ละต้นออกมา ให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะทรงหม้อและสีสันสวยงาม และไม้แต่ละรุ่นจะผลิตจำนวนจำกัด ทำให้สามารถหาซื้อได้ที่สวนแห่งนี้เท่านั้น
ปัจจุบันฟาร์ม Rayong Smile Plants มี หม้อข้าวหม้อแกงลิง มากกว่า 500 สายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์ไทย พันธุ์ต่างประเทศ และลูกผสมนานาพันธุ์
ประกิตให้ความรู้ว่า ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ หม้อข้าวหม้อแกงลิง หลักๆ แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ หม้อ และส่วนของดอก
หม้อ คือส่วนของใบ ไม่ใช่ดอก คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นดอก ความจริงแล้ว..ไม่ใช่!
หม้อ ประกอบด้วย ปาก มีผิวเรียบเป็นมัน มีสีสันและลวดลายสวยงาม ภายในมีต่อมน้ำหวานหรือฟีโรโมนไว้ล่อเหยื่อ ด้านหลังยกขึ้นเชื่อมต่อกับฝา มีต่อมน้ำหวานมากมายอยู่ข้างใต้
เริ่มแรกปลายใบจะผลิเป็นกระเปาะขนาดเล็กก่อน เมื่อหม้อเจริญเติบโตเต็มที่ ฝาจะเปิดออกและจะไม่สามารถปิดได้อีก มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำฝนตกลงไปจนทำให้น้ำย่อยในก้นหม้อเจือจางลง
ส่วนล่อเหยื่อ ประกอบด้วย ตัวหม้อ ปาก และฝา จะมีสีสันและลวดลายสวยงาม มีต่อมน้ำหวานล่อเหยื่อ ส่วนปากหม้อมีผิวเรียบลื่น ทำให้เหยื่อพลัดตกลงไปในหม้อได้ง่าย
ผิวด้านในหม้อที่อยู่ลึกจากบริเวณปากลงไปประมาณ 1ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่งมีสีขาวนวลเรียบลื่นเคลือบด้วยขี้ผึ้ง ทำให้เหยื่อไม่สามารถปีนกลับขึ้นมาได้ จากนั้นแมลงจะจมน้ำตาย และถูกย่อยโดยภายในหม้อส่วนที่อยู่ลึกที่สุด มีต่อมเล็กๆ มากมาย ทำหน้าที่ผลิตน้ำย่อยตั้งแต่ก่อนฝาเปิด มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ สามารถย่อยสลายซากเหยื่อ เพื่อดูดซึมธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต
ดอก หม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นพืชที่มีดอกแยกเพศกัน จึงต้องนำเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียจากคนละต้นมาผสมกันจึงจะสามารถติดเมล็ดได้
สำหรับดอกเพศเมีย ยอดเกสรสีเขียวอยู่บนรังไข่รูปรี ส่วนดอกเพศผู้ อับเรณูอยู่ส่วนปลาย มีละอองเรณูสีเหลือง
ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยงจะเปิดออกให้เห็นอับเรณูสีเหลือง
ดอกเพศเมียที่เริ่มบาน หากมีน้ำหวานเหนียวใสอยู่บริเวณยอดเกสรสีเขียวแสดงว่าดอกพร้อมผสมแล้ว ต่อจากนั้นนำเกสรเพศผู้สีเหลืองมาแตะเบาๆ ที่ยอดเกสรเพศเมีย
เมื่อดอกเพศเมียได้รับการผสมเกสรแล้ว หากผสมติด เกสรเพศเมียจะแห้งไป ยอดเกสรมีสีเข้มขึ้น รังไข่หรือฝักของดอกเพศเมียจะขยายขนาดขึ้น หากต้นมีความสมบูรณ์ ฝักจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 2 เดือน ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หากฝักเริ่มแตก แสดงว่าเมล็ดแก่พร้อมนำไปขยายพันธุ์
การเพาะเมล็ดหม้อข้าวหม้อแกงลิง
เป็นเหตุให้มีไม้ลูกผสมเกิดขึ้นมากมาย และถึงแม้จะมีแม่พันธุ์-พ่อพันธุ์ชนิดเดียวกันก็ยังให้ลูกที่แตกต่างกันได้
ลูกผสมแต่ละต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดในรุ่นเดียวกันมักมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับว่าจะได้ลักษณะเด่นจากต้นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ ทำให้ได้ลูกผสมใหม่ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นเดิม บางต้นอาจสวยงามโดดเด่นเป็นที่ต้องการในหมู่นักสะสม มีคำกล่าวในหมู่ผู้เพาะพันธุ์ไม้ประดับว่า “พ่อให้สี แม่ให้ทรง”
การเพาะเมล็ด ขั้นตอนแรกใส่ขุยมะพร้าวลงในตะกร้าให้หนาพอประมาณ รดน้ำจนชุ่ม โรยเมล็ดให้กระจายทั่ว ไม่หนาแน่นจนเกินไป รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง จากนั้นนำตะกร้าเข้าอบในถุงพลาสติก เพื่อควบคุมความชื้นในระดับหนึ่ง วางที่ร่มรำไร ภายใน 1-2 เดือนเมล็ดจะเริ่มงอก จากนั้นรออีกประมาณ 3 เดือน ให้แน่ใจว่าต้นแข็งแรงแล้วจึงย้ายออกจากถุงอบมาไว้ภายนอก
“การเพาะเมล็ดนั้นไม่ยาก หากเมล็ดสมบูรณ์ เมล็ดงอกแน่นอน และนำไปวางที่แสงแดดเหมาะสม สิ่งที่ยากกว่าคือเทคนิคการเปิดถุงอบ เนื่องจากภายในถุงพลาสติกมีความชื้นสูง หากเปิดถุงกะทันหันโดยเฉพาะเวลากลางวัน ต้นจะปรับตัวไม่ได้ และตาย”
เคล็ดลับคือ ให้ค่อยๆ เปิดปากถุงทีละเล็กทีละน้อย เพื่อต้นปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ระยะแรกผู้ปลูกเลี้ยงอาจช่วยด้วยการสเปรย์น้ำเพิ่มวันละ 3-4 ครั้ง และค่อยๆ ลดจำนวนครั้งลง โดยหมั่นสังเกตว่าวัสดุเพาะมีความชื้นเพียงพอหรือไม่
การปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ประกิตบอกเทคนิคการปลูกเลี้ยงว่า น้ำและแสงแดด เป็นหัวใจสำคัญของ หม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่ช่วยให้ผลิหม้อได้ดีสวยงาม และควรใช้วัสดุที่มีคุณภาพและระบายน้ำได้ดี เพื่อช่วยให้พืชเจริญเติบโตและมีระบบรากแข็งแรง
“ในอดีตนิยมใช้วัสดุปลูกของต่างประเทศ เช่น พีทมอส เพอร์ไลท์ และสแฟกนั่มมอส มีข้อเสียคือต้นทุนสูง จึงคิดค้นว่าหาวิธีลดต้นทุนอย่างไรดี ใช้วัสดุปลูกที่หาง่ายในท้องถิ่น ผมได้ทดลองดินผสมอยู่หลายสูตร ผลปรากฏว่า สูตรที่ใช้ดีที่สุด คือ ขุยมะพร้าวผสมทรายหยาบ ต้นเจริญเติบโตแข็งแรงดี ที่สำคัญลดต้นทุนได้มหาศาล
“แต่ข้อเสียคือ ทรายทำให้มีน้ำหนักมากในการขนส่ง
“จึงคิดต่อว่าจะมีวัสดุปลูกอะไรที่ใช้แทนทรายได้บ้าง พบว่า แกลบดิบ ก็ไม่แตกต่างจากทรายเลย และยังมีน้ำหนักเบากว่า จึงเปลี่ยนมาใช้ ขุยมะพร้าวผสมแกลบดิบ อัตราส่วน 4:1 ทั้งยังลดต้นทุนการขนส่งได้มาก” ประกิตพูดถึงที่มาของสูตรวัสดุปลูกของเขาในปัจจุบัน
สภาพแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้ผลิหม้อ และให้หม้อขนาดใหญ่ หากได้รับความชื้นไม่เพียงพอ ส่วนปลายใบที่เป็นติ่งเล็กๆ จะฝ่อหรือชะงักการเจริญเติบโตไม่พัฒนาเป็นหม้อ
การปลูกเลี้ยงจึงควรรดน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งตอนเช้า ส่วนฤดูหนาวอากาศแห้งควรให้น้ำเพิ่ม เพราะหากปล่อยให้วัสดุปลูกแห้งหรือขาดน้ำนานเกิน 2-3 วัน รากแห้ง ต้นอาจตายได้
ประกิตบอกปัจจัยที่ทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่ผลิหม้อ คือ แสงแดดน้อยเกินไป และการให้ปุ๋ยมากเกินไป
แม้ว่า หม้อข้าวหม้อแกงลิง จะมีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ แต่คนส่วนใหญ่แทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดนี้เลย และมักคิดว่า ถ้าใส่ปุ๋ยเยอะจะทำให้หม้อหรือกระเปาะมีขนาดใหญ่ นั่นเป็นความคิดที่ผิด
“ไม้ประเภทนี้ชอบแดด ชอบน้ำ แต่ปุ๋ยน้อย ผมจะให้ช่วงเปลี่ยนกระถางครั้งเดียวเป็นปุ๋ยเม็ดละลายช้า”
แสงแดด ต้นที่ได้รับแสงแดดเพียงพอจะแข็งแรง หม้อข้าวหม้อแกงลิง ชอบแสงแดดจัด อย่างน้อย 50% ขึ้นไป จะผลิหม้อได้ดี หม้อมีขนาดใหญ่สมบูรณ์ และมีสีสันสวยงาม
ปัญหาศัตรูพืช ได้แก่ แมลงปีกแข็ง และหนอนผีเสื้อ ส่วนโรคเชื้อราแทบจะไม่มีผลกระทบเลย
ลักษณะอย่างไร..?? ที่เรียกว่า “ขายดี”
ประกิตให้ข้อมูลว่า หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่มีรูปทรงกลม ให้หม้อสีแดงสด ยังเป็นที่ต้องการของนักสะสมชาวต่างชาติ โดยเฉพาะต้นที่ให้หม้อค่อนข้างกลมจะมีราคาสูง ถือเป็นไม้เอกลักษณ์ของสวน Rayong Smile Plants เนื่องจากพันธุ์ของต่างประเทศมักเป็นรูปทรงกระบอกเป็นส่วนมาก ส่วนรูปทรงกลมมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
พันธุ์ที่มีลักษณะโดดเด่นของสวนแห่งนี้ คือ พันธุ์ Black diamond ลูกผสมระหว่าง N. ‘Viking’ x N. Ampullaria ‘Black Miracle’
“เราพัฒนาสำเร็จเป็นรายแรกๆ ของโลก ซึ่งเมื่อก่อนจะผลิตไม่ได้พวกไม้ลายดำเลย บังเอิญปีน้ำท่วมใหญ่ มีน้องคนหนึ่งชื่อเบย์ นำเจ้าต้น Ampullaria Black Miracle มาฝากไว้ที่สวน แล้วพอดีต้นมาออกดอกที่สวนของเรา จึงนำมาผสมกับเจ้า Viking ผลปรากฏออกมาได้ทั้งใบดำ และหม้อดำ กลายเป็นไม้พันธุ์แปลกไปเลย เพราะที่อื่นไม่มี
“เป็นไม้มหัศจรรย์ระดับโลก ชาวต่างชาติบินมาขอซื้อ เนื่องจากยังไม่มีใครสามารถผสมแล้วได้ใบดำ ลูกดำ ปากเขียว ถ้าจะมีก็แต่ Ampullaria Black Miracle พันธุ์แท้เท่านั้น เมื่อต้นเติบโตมาส่วนใหญ่ใบจะไม่ค่อยดำ และลูกจะไม่ห้อยลงมา แต่ที่เราได้ดีทุกอย่าง” ประกิตเล่าที่มาของสายพันธุ์ใหม่ที่ผสมด้วยตนเองให้ฟัง
ไวกิ้ง (Viking) ลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ไทย ต้นแข็งแรง เลี้ยงง่าย มีสายดิ่งยาว กระเปาะมีรูปทรงกลมเหมือนเรือไวกิ้ง มีสีออกส้มๆ ไม่ถึงกับแดง ไม่มีความนิ่งของสายพันธุ์ ถือเป็นข้อด้อยในเรื่องสีหม้อ
แอมพลูลาเรีย แบล็ค มิราเคิล (Ampullaria Black Miracle) เป็นแอมพลูลาเรียที่มีสีดำ ปากเป็นลายสีเขียว เมื่อต้นโตเต็มที่จะไม่มีหม้อบน ใบมีขนาดเล็ก กระเปาะขนาดใหญ่ จนเห็นเป็นหม้อผุดขึ้นที่โคนต้น
เมื่อผสมกันแล้ว ปรากฏว่าได้ทั้งข้อดีของพ่อและแม่เลย ต้นลูกที่ได้มีใบและหม้อมีสีดำเข้มจัดกว่าต้นพ่อ และมีสายดิ่งยาวเหมือนแม่ สรุปข้อเด่นคือ ใบดำ สายดิ่งยาว หม้อสีดำ มีความนิ่งในเรื่องสีสัน ปลูกเลี้ยงง่าย ออกหม้อง่ายและดก
การใช้ประโยชน์ สามารถนำมาใช้งานจัดสวนกลางแจ้ง 100% ได้ ทั้งยังมีเอกลักษณ์พิเศษคือ หม้อ มีให้ยลโฉมตลอดทั้งปี ออกใบต้องมีหม้อซึ่งแตกต่างจากไม้ประเภทอื่นที่ต้องรอชมดอกเป็นฤดูกาล
“หลังจากผ่านการพัฒนามาหลายปี ปัจจุบันผลิตได้แล้วมีปริมาณพร้อมจำหน่าย ราคาไม่ได้แพงเหมือนสมัยแรกๆ ที่ขายต้นละ 25,000 บาท ตอนนี้ราคาลดลงเหลือกระถางละ 1,500 บาท”
“ต้นแรกที่ไปนำเสนอสินค้าในต่างประเทศ คือ ลูกผสมพันธุ์สยามไฮบริด ชาวต่างชาติมาขอถ่ายรูปเยอะมาก เขาบอกเป็นลูกผสมที่สวยงาม ตอนนี้เราไปโรดโชว์มา 2 ประเทศแล้ว คือ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย”
การจำหน่าย แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ออกงานศูนย์แสดงสินค้า ห้างสรรพสินค้า งานเกษตรแฟร์ต่างๆ และส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น
“โดยเราเข้าเป็นรีเจนซี่หรือตัวแทนจำหน่ายหลัก และส่งของให้ลูกค้า ประเทศละ 1 รายเท่านั้น ต่อจากนั้นให้เขาไปทำตลาดขายกระจายสินค้าเอง” ประกิตพูดถึงวิธีทำตลาด
ทางสวนจะคัดเลือกต้นอายุประมาณ 2 ปี ที่มีลำต้นแข็งแรง เกิดสีหม้อแล้ว ที่สำคัญต้องมีหม้อติดปลายใบอย่างน้อยต้นละ 6-7 กระเปาะ แพ็คบรรจุกล่องละ 40 ต้น
“เรามีการตั้งมาตรฐานคุณภาพของสวนไว้ว่า ถ้าซื้อไม้จากฟาร์ม Rayong Smile Plants จะได้ไม้ขนาดประมาณนี้เท่านั้น หากไม้ต่ำกว่าสเปคหรือสูงกว่าสเปคมาตรฐานสวนจะไม่ขาย เพื่อตัดปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในภายหลังและให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด”
ราคาของ หม้อข้าวหม้อแกงลิง ขึ้นกับสายพันธุ์ ความหายาก ลักษณะสีของกระเปาะ และขนาดของต้น ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ หลักร้อยบาทถึงหลักหลายหมื่นบาท
ผู้ที่สนใจต้องการซื้อสินค้า หรือศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชกินแมลง สามารถติดต่อสอบถามได้ตามเบอร์ด้านล่างนี้
ขอขอบคุณ
คุณประกิต โพธิ์ศรี
Rayong Smile Plants อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
โทร.08-6818-9590, 09-9154-2609
หม้อข้าวหม้อแกงลิง
ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง, Black diamond, Rayong Smile Plants, หม้อข้าวหม้อแกงลิงสีดำ, การเพาะเมล็ดหม้อข้าวหม้อแกงลิง