พูดถึง “ไม้เงินล้าน” ใน “โพลสำรวจ” ต้องมีไม้ประดับทรงคุณค่าอย่าง บอนไซ อยู่ในนั้นด้วยเสมอ เพราะมีความเป็นอมตะ มีความงามด้านศาสตร์และศิลป์ เป็นตัวแปรด้านมูลค่า และไม้ที่นำมาสร้างบอนไซ แต่ละชนิดมีเสน่ห์ มีความสวยงาม แตกต่างกันไป และมีมูลค่าซื้อขายแตกต่างกันด้วย….นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในวงการเพียรหาไม้ประดับมาตอบโจทย์ความคลาสสิค และความเก๋า ที่เซียนทั้งหลายพูดจนติดปาก
ใครจะเชื่อว่าหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่เป็นบอนไซเงินล้านจากทั่วโลก มีไม้บอนไซแบบไทยแท้ๆ อย่าง “ เทียนทะเล ” อยู่ด้วย..!!
นักเล่นมืออาชีพที่เป็นสุดยอดมือโปรฯ แห่งบอนไซเขตร้อนประเทศอินโดนีเซีย อย่าง Robert Stevenให้ฉายาบอนไซที่ทำจาก เทียนทะเล ว่าเป็น“ราชาแห่งบอนไซ” หรือ “King of Bonsai” และ Budi Sulistyo นักเล่นบอนไซชาติเดียวกันได้เปรียบเทียบว่าเป็น “ไข่มุกแห่งบอนไซเขตร้อน”
สำหรับนักเล่นชาวไทยที่หลงใหลเสน่ห์บอนไซเทียนทะเลแล้ว แต่ไม่รู้จะไปหาซื้อ หรือไปหาความรู้เรื่องการปลูกเลี้ยง การสร้าง เทียนทะเล ได้ที่ไหนนั้นไม่ต้องเป็นกังวล และไม่ต้องไปตามหา Robert และ Budi ที่อินโดนีเซีย เพียงมุ่งหน้าไปยังอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี แล้วถามหา ต๋อง บอนไซ ท่านก็จะได้พบกับมือบอนไซเทียนทะเลแห่งภาคตะวันออกที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
คุณอนุพงษ์ อุดมพงษ์ หรือ ต๋อง บอนไซ ชลบุรี เป็นหนึ่งในนักเล่นบอนไซที่มีชื่อเสียงในวงการนี้ จุดเริ่มต้นในวงการบอนไซของนักเล่นมือทองของเขา คือ รู้สึกให้ความสนใจบอนไซ และไม้ดัด มาตั้งแต่สมัยเรียน จึงพยายามเรียนรู้ แม้จะผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ทำให้เขาได้มีความสุข และเมื่อเริ่มทำงานจึงเก็บเงินซื้อบอนไซ ทั้งไม้เล็ก ไม้ใหญ่ ไม้ตอ มาเรียนรู้ด้วยตัวเอง และศึกษาจากช่างเล็ก ระยองหนึ่งในนักเล่นบอนไซมากฝีมือ เริ่มซื้อและสร้างบอนจากไม้ในท้องถิ่น เช่น หมากเล็กหมากน้อย และโมก เป็นต้น
กระทั่งมีโอกาสได้เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง และเพื่อนที่ไปศึกษาดูงานได้นำนิตยสารเกี่ยวกับบอนไซญี่ปุ่นกลับมาด้วย ทำให้ต๋องได้เห็นสไตล์การเล่น และพัฒนาการของประเทศต้นตำรับ….ที่สำคัญทำให้เขาค้นพบสไตล์การเล่นของตนเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“ช่วงที่ผมทำงานในบริษัทญี่ปุ่น มีเพื่อนไปดูงานเขาก็เอาหนังสือบอนไซของญี่ปุ่นมาฝากเรา ส่วนใหญ่เขาเล่นสนจูนิเปอร์ที่เป็นไม้ซาก แล้วหมุนบิดเป็นเกลียว สไตล์ของคิมูระ มือบอนไซอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นมือหนึ่งของญี่ปุ่น ทีนี้เราก็อินน์จัดเลย เหมือนมันเริ่มเข้าเส้นนิตยสารที่ได้มาแปล รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ดูภาพนี่รู้แล้วล่ะว่าชอบแบบนี้ กูจะเอาอย่างนี้ อย่าง คิมูระ นี่ล่ะ” ต๋องเล่าพลางหัวเราะอย่างออกอรรถรส
จุดเด่นของ เทียนทะเล
ในช่วงที่ ต๋อง บอนไซ ศึกษาหาความรู้ เรียนรู้เทคนิคการสร้างบอนไซสไตล์ไม้ซากแบบเอนชายนี่เอง เขาได้พบภาพบอนไซที่ถ่ายมาจากงานประกวดในต่างประเทศต้นหนึ่ง มีชื่อว่า เพมฟิส (Pemphis) นับว่าเป็นบอนไซที่มีความสวยงามตรงใจเขาที่สุด ตนจึงเพียรเสาะหาต้นเพมฟิส จนได้พบกับต้นเทียนทะเล ที่จังหวัดตราด มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก
แม้จะไม่แน่ใจนักว่า เทียนทะเล กับเพมฟิส เป็นไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่ แต่ด้วยลักษณะใบ ผิวพรรณของไม้ ที่บ่งบอกความเก๋าได้เป็นอย่างดี ต๋องไม่ลังเลที่จะขุดเทียนทะเลขึ้นมา และตั้งใจปั้นเทียนทะเลให้เป็นบอนไซเทียนทะเลไทยให้เป็นที่รู้จักของวงการบอนไซทั่วโลก
ทีเด็ดของเทียนทะเล คือ ใบมีขนาดเล็ก เปลือก-ผิวพรรณไม้มีลวดลายสวยงาม บ่งบอกถึงความเก่า ความเก๋า ทำไม้ซากได้ดี มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ
แต่เหมือนสวรรค์กลั่นแกล้ง….เทียนทะเลที่มีลีลาราก และลำต้นสวยงามโดนใจ ต๋อง บอนไซ มักขึ้นบริเวณที่เป็นเกาะ แก่ง ซอกหิน แผ่นหินต่างๆ ดังนั้นการจะขุดขึ้นมาพร้อมกับตุ้มดินนั้นมีโอกาสน้อยมาก “ส่วนใหญ่จะติดก้อนหินขึ้นมามากกว่า ไม่มีตุ้มดินเหมือนไม้อื่นๆ หรอก ขุดมาก็ตายหมด เพราะเราเลี้ยงเทียนทะเลไม่เป็น เคยเลี้ยงแต่โป๊ยเซียน เลยเอาดินโป๊ยเซียนปลูก ระยะแรกไม้เริ่มแตกยอดออกมา แต่เป็นยอดที่แตกเพราะน้ำเลี้ยงในลำต้น ไม่นานก็จะค่อยๆ เหี่ยว และตายไปในที่สุด” ต๋องพูดถึงอุปสรรคการเลี้ยงเทียนทะเล
การปลูกเลี้ยงบอนไซเทียนทะเล
เขายอมรับว่าเทคนิคใช้วัสดุเพาะปลูกเทียนทะเลในสวนนี้ได้มาแบบฟลุ๊คๆ..!! “ครั้งหนึ่งผมสั่งเทียนทะเลเข้ามาเป็นร้อยต้น ก็ใช้ดินใบก้ามปูหมักแบบปลูกโป๊ยเซียนเลย ปรากฏว่าดินปลูกหมด เหลือแต่กองกาบมะพร้าวสับกองใหญ่ ก็เลยเอาเทียนทะเลไปบ่มไว้ในกองขุยมะพร้าวกับกาบมะพร้าวสับ เราก็ยุ่งๆ ไม้ก็ถูกทิ้งไว้เป็นเดือนๆ
ปรากฏว่าไม้กลับแตกยอดงาม พอคุ้ยลงไปใบกาบมะพร้าวรากก็แตกดี เราก็เลยมาคิดทบทวนว่าเมื่อก่อนเวลาครูสอนวิชาเกษตรเขาให้เราใช้กาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว ขี้เถ้าแกลบ แกลบ พวกที่โปร่งๆ โล่งๆ ทั้งหลาย มาเป็นวัสดุเพาะชำ จะช่วยให้ไม้แตกรากได้ดี เราก็เลยถึงบางอ้อเลย..!!” เจ้าของสวนพูดถึงการค้นพบการปลูกเทียนทะเลโดยบังเอิญ
จากวันนั้น ต๋อง บอนไซ ก็ค้นพบวัสดุปลูกที่เหมาะสำหรับปลูกเลี้ยง-เพาะชำเทียนทะเล และใช้กาบมะพร้าวสับ กับขุยมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก โดยไม่ผสมอย่างอื่นเลยตั้งแต่นั้นมา
นักเล่นบอนไซที่ปลูกเลี้ยงบอนไซเทียนทะเลบางท่านนิยมใช้หินภูเขาไฟเป็นเครื่องปลูก สำหรับการปลูกในเมืองไทยไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะอากาศร้อนจัด ส่งผลเสียต่อราก เช่น รากอาจไหม้ หรือทำให้ระบบรากไม่เจริญเนื่องจากในธรรมชาติอยู่ในสภาพแวดล้อมค่อนข้างชื้นแฉะ
“เวลาผมยกไม้ออกสนาม บางครั้งก็เอาพวกทรายแล้วก็เปลือกหอยมาโรยด้านหน้า คนก็มาถามผมว่าใช้ทรายเป็นวัสดุปลูกหรือเปล่า ผมก็บอกว่าใช้กาบมะพร้าวอย่างเดียว ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อ บางทีหนักกว่านั้น หาว่าผมเอาน้ำทะเลรดก็มี เขาเห็นว่าเทียนทะเลเป็นพันธุ์ไม้ที่พบมากตามชายทะเลไง เทียนทะเลนี่เหมือนกับเขาเป็นไม้ 3 น้ำ อยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม แต่เค็มจัดก็ไม่ดีนะ ปลูกไม่ค่อยขึ้น สังเกตว่าทะเลฝั่งอันดามันจะไม่ค่อยมีเทียนทะเล ไม่เหมือนฝั่งอ่าวไทย ที่ความเค็มน้อยกว่า ถ้าได้ลองเลี้ยงจริงๆ จะรู้ว่าเทียนทะเลชอบน้ำจืดมากกว่า” ต๋องพูดถึงความสงสัยของคนในวงการที่มีต่อการปลูกเลี้ยงบอนไซเทียนทะเล
ในบางครั้งเขาถูกตั้งคำถามแทงใจดำว่า..!! “มีคนบอกว่าเทียนทะเลเลี้ยงยาก ถ้าบ้านไม่ได้อยู่ภาคตะวันออก หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นทะเล ซื้อไปแล้วจะเลี้ยงได้จริงไหม..??”
ต๋องตอบคำถามนี้ว่า เขาค้นพบวิธีการเลี้ยงบอนไซเทียนทะเลแบบนี้มา 20 กว่าปีแล้ว แล้วในวงการก็มีการปลูกเลี้ยงมาตั้งแต่บอนไซได้รับความนิยมในทั่วโลก
ย้อนกลับมาที่คำว่า King of Bonsai เทียนทะเลไม่ได้มีเพียงความสวยงาม แต่ยังมีความอึด ดูแลง่าย “ถ้ามีเวลา รดน้ำวันละ 5 ครั้ง ก็ได้ ถ้าไม่มีเวลาก็ยกทั้งกระถางแช่น้ำไว้ได้ อาหารการกินก็ไม่ยาก มีปุ๋ยอะไรเทียนทะเลก็กินได้ ปุ๋ยคอก ก็ใส่ได้หมด ในธรรมชาติเทียนทะเลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างโหดร้าย เขาเกิดอยู่ตามซอกหิน เกาะแก่ง มีธาตุอาหารน้อย อาศัยน้ำฝนหล่อเลี้ยงลำต้น แล้วก็โตช้ามาก เห็นต้นเล็กๆ แบบนี้บางต้นอายุมากกว่า 3 คนรวมกันอีก นี่เลี้ยงในกระถางได้มาปีกว่าต้นแค่นิ้วก้อย..!! เทียนทะเลเลี้ยงง่าย แต่มันโตช้าแค่นั้นเอง” ต๋องพูดติดตลกตามประสานักเลงไม้
ส่วนเรื่องสภาพอากาศที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงบอนไซเทียนทะเล คุณอนุพงษ์ย้ำดังๆ ว่าเทียนทะเลไม่ได้ปลูกได้เฉพาะที่ใกล้ทะเลเท่านั้น แต่ภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทยก็เลี้ยงได้สวยงามไม่แพ้กัน เขายกตัวอย่างว่า บอนไซเทียนทะเลที่เขาส่งให้ลูกค้าที่เชียงใหม่ 400-500 ต้น เลี้ยงได้ดีกว่าชลบุรีด้วยซ้ำ เลี้ยงที่ปากช่องก็งามกว่าชลบุรี..เขายืนยัน..!!
“สนใบพายสู้ได้สบาย ถึงได้รับการยกย่องว่าเป็น King of Bonsai ไง ไม้ทุกชนิดเอามาทำบอนไซได้หมด มันอยู่ที่ความชอบ อย่างจีนก็นิยมสนใบพาย ไทรจีน ญี่ปุ่นก็นิยมสนจูนิเปอร์ อยู่ที่ว่าใครจะสร้างออกมาให้เป็นแบบไหน สไตล์ไหน ก็ย้อนกลับมาที่ ศาสตร์ ศิลป์ และความอึด ของคนทำ” เซียนเทียนทะเลตอบคำถาม
การสร้างบอนไซ
ไม่ว่าจะฟังเรื่องราวของนักเล่นบอนไซมาสักกี่ครั้ง ก็มักได้ยินเสมอว่าบอนไซเป็นศิลปะ มีชีวิต ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัว การจะสร้างบอนไซทรงคุณค่านั้นไม่สามารถขาดองค์ประกอบใดอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ ส่วนคนที่นึกถึงแต่การค้าจะไม่สามารถสร้างบอนไซออกมาให้สวยงาม และเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณได้..??
ต๋อง บอนไซ ขอค้านทฤษฎีนี้สุดใจ เขายอมรับว่าการทำบอนไซสามารถทำเป็นธุรกิจ และสร้างเป็นอาชีพได้จริง เพียงแต่ว่านักเล่นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัว 2 ส่วนนี้จะสร้างมูลค่าให้กับตัวบอนไซ และตัวนักเล่น เพราะทุกอย่างต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน ใช้จินตนาการ และสำคัญที่สุด คือ ความอึด หรือความทน
ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เขาสร้างบอนไซที่มีทั้งความสวย จากการใช้จินตนาการ จิตวิญญาณ จากความรัก ความเอาใจใส่บอนไซทุกต้น และ คุณภาพ อันมาจากการฝึกฝน เรียนรู้ และหมั่นเปิดโลกทัศน์ให้ตนเองสม่ำเสมอ
การันตีด้วยบอนไซ เทียนทะเล กอใหญ่แบบป่ารากเดียวของเขาที่ปล่อยไปในราคาต้นละ 2.5 ล้าน ในวันเดียวกันนั้น ต๋องขายต้นละ 1.5 ล้าน, 1.3 ล้าน, 1 แสน ต้นละ 45,000 บาท ด้วย เบ็ดเสร็จวันนั้นเขาขายบอนไซคิดเป็นมูลค่า 6 ล้านบาท นับเป็นราคาสูงมากสำหรับวงการบอนไซที่นักเล่นเป็นคนไทย ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย
“พี่ไม่ใช่คนเล่นบอนไซ แต่พี่ทำบอนไซเป็นธุรกิจ ย้ำเลยนะ พี่ทำเป็นธุรกิจ มีทุกไซส์ ไม่ว่าจะเป็นต้นเล็ก ต้นใหญ่ แม้กระทั่งเบี้ย หรือต้นกล้า พี่ก็รักทุกต้น รักเขาให้เท่ากัน แต่พี่ก็ขายทุกต้น ถูก แพง ก็ว่ากันไป นี่คือคอนเซ็ปต์ประจำตัว
บอนไซมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ เขาจะเปรียบเหมือนลูกไม้ใหม่ ไม้ที่ไม่เหมือนไม้ตัวอื่น ถ้าคุณคิดว่าไม้ตัวนั้นดีที่สุด สวยที่สุดของคุณ คุณสามารถเรียกราคาได้ แต่ทีนี้อยู่ที่ว่าไม้คุณต้องมีคุณภาพด้วย เรื่องราคามันก็จะเป็นไปตามกลไก วันนี้ขายไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องขายได้ พรุ่งนี้ขายไม่ได้ มะรืน มะเรื่อง ปีหน้าต้องขายได้ ปีต่อไปต้องขายได้ บอนไซ ยิ่งเก่า ยิ่งเก๋า ยิ่งสวย
ถ้าสมมุติเรามีบอนไซอยู่ต้นหนึ่ง ลีลาสวยมาก เป็นที่ 1 ในใจเราเลย แต่มีเพื่อนอยากจะได้ ในเมื่อคุณจะเอาของรักของเรา คุณก็ต้องยอมจ่าย พอเราได้ทุนทรัพย์จากตรงนั้นมา เราก็เอาไปทำอะไรที่เรารักมากกว่า หรือสร้างมูลค่าให้มากขึ้น นักเล่นเขาเอาเงินจากการทำธุรกิจมาซื้อบอนไซ แต่พี่ทำบอนไซขายเพื่อเอาเงินไปทำธุรกิจ พี่ปลดหนี้ 10 ล้านได้ ซื้อที่ดิน 10 ไร่ ที่พนัสนิคม ซื้อรถคันใหม่ได้ เพราะทำบอนไซขาย….พี่ถึงบอกว่าบอนไซทำเป็นธุรกิจได้ สร้างเป็นอาชีพได้”
โครงสร้างของไม้ทำบอนไซ เทียนทะเล
สไตล์ไม้ที่นักเล่นในบ้านเรานิยมส่วนใหญ่เป็นไม้ทรงต้น ไม่ว่าจะเป็นทรงต้นเดี่ยว โคนคู่ หรือแม้กระทั่งรากโหย่ง ก็ยังมีลักษณะของลำต้นให้เห็นอย่างชัดเจน ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะบอนไซของจีน และไม้ดัดของไทย ที่ค่อนข้างมีระบบ ระเบียบ ของโครงสร้างกิ่ง แตกต่างจากบอนไซของญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รวมถึงชาติอื่นๆ ที่เข้ามานิยมบอนไซในช่วงหลัง จะมีรูปทรงอิสระ เน้นภาพรวม และความสมดุลขององค์ประกอบ
ปัจจุบันนักเล่นบอนไซส่วนใหญ่เริ่มเปิดรับรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเปิดโลกทัศน์ของคนในวงการ การสื่อสารรวดเร็ว ทันสมัยขึ้น ทำให้เกิดแนวคิด ไอเดีย และการบูรณาการ ผสมผสานศิลปะของท้องถิ่นต่างๆ ได้อย่างลงตัว
“แต่พี่ชอบเล่นไม้สไตล์คลาสสิค อย่างไม้เอนชาย ไม้ซาก เพราะเราต้องการความแตกต่างให้กับคนไทย คนไทยส่วนใหญ่เล่นบอนไซทรงต้น พอเป็นไม้จบส่วนใหญ่จะกลายเป็นทรงหมวกเวียดนาม ส่วนชาติอื่นๆ จะไม่ค่อยมีแบบนี้เลย เขาล้อธรรมชาติแบบเต็มๆ ใจพี่ก็อยากได้สไตล์นี้ล่ะ อยากให้มีความหลากหลาย ไม้พี่เกือบพันต้นรูปร่างไม่เหมือนกันสักต้น ถ้ามาสวนพี่ต้องมาอย่างน้อยใช้เวลาเป็นอาทิตย์ แล้วมาพินิจว่าต้นนี้สร้างอย่างไร ทำอย่างไร ถ้าคนชอบท่องเที่ยวน้ำตก เที่ยวป่า เที่ยวทะเล จะมองออกว่าเป็นไม้สไตล์เดียวกับไม้ในธรรมชาติ แล้วที่สำคัญ จุดเด่นของ เทียนทะเล คือ สามารถเอามาเล่นได้ทุกแบบ มันมีทั้งความแกร่ง ความเก๋า และความพลิ้วไหว” ต๋องว่าอย่างนั้น
คุณอนุพงษ์เล่าว่ามีนักเล่นบอนไซชาวจีนรุ่นเก่าๆ บอกไว้ว่าคนที่เล่นบอนไซใจเกินร้อยทุกคน แต่สไตล์การเล่น การสะสม ของคนๆ นั้น สามารถสะท้อนนิสัยลึกๆ ได้
คนที่ชอบเล่นไม้ทรงต้น มีระบบ ระเบียบ กิ่ง เป็นคนมีความละเอียด เชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมใคร มีระเบียบแบบแผนในชีวิต มีข้อกฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิต
คนที่ชอบเล่นไม้สไตล์ธรรมชาติ ไม้ลีลาพลิ้วไหว เป็นคนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ หรือความเปลี่ยนแปลงได้ดี รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ หรือระเบียบแบบแผน เป็นต้น
เจ้าของสวนอธิบายว่าการเล่นบอนไซไม่จำเป็นไต้ต้องเป็นเทียนทะเลอย่างที่เขาเล่น ชอบไม้ชนิดไหนก็สามารถนำมาทำ เทียนทะเล ได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่จินตนาการ ส่วนมือใหม่ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้การเล่นบอนไซจากพี่ต๋อง ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก หาตัวเอง หาความชอบของตัวเองให้เจอ โดยมีเขาเป็นพี่เลี้ยง
หนึ่งในวิธีการแนะแนวทางให้รุ่นน้อง คือ บอกให้เที่ยวตามธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ป่า หรือน้ำตก เพราะสถานที่เหล่านั้นมักจะมีไม้มีลีลาสวยงาม แล้วให้จดจำภาพเหล่านั้น จำภาพลักษณ์ของสไตล์ไม้ในป่าที่เขาชอบมากที่สุด แล้วมาเริ่มสร้างกับ ต๋อง บอนไซ ชลบุรีได้เลย..!!
ลักษณะของเทียนทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pemphisacidula J.R. &G.Forst.
วงศ์ : Lythraceae
ชื่อสามัญ :
ชื่ออื่น : เทียนเล (สุราษฎร์ธานี) เทียนทะเล
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 3-10 เมตร ขึ้นตามป่าชายหาดทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ออกดอกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ติดผลเดือนสิงหาคม-กันยายน
เทียนทะเล เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เป็นไม้ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 0.3-0.5 ซม. ยาว 1-3.2 ซม. ปลายใบแหลมมน โคนใบสอบ แผ่นใบหนา อวบน้ำ ผิวใบมีขนละเอียด สีเทา ปกคลุมหนาแน่นทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบสั้นสีแดง เรือนยอดพุ่มกลมเตี้ย ลำต้นสั้น กิ่งสีเทาปนเขียวอ่อน มีข้อเด่นชัด เปลือกสีเทาอมดำ หรือน้ำตาล แตกเป็นร่องตื้นตามยาวลำต้น
–ดอก สีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง มีขนสั้นๆ ทางด้านนอก ปลายย่น กลีบดอก 6 กลีบ รูปรีย่น เกสรเพศผู้สีเหลือง ก้านดอกยาว 0.5-1 ซม. มีขน ดอกบานเต็มที่กว้าง 1-1.5 ซม.
–ผลสด แบบมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงไข่กลับ หรือรี กว้าง 1 ซม. ยาว 1.5 ซม. มีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ปลายกลีบเลี้ยงย่นห้อยลง มีขน มีหมวกผล ปลายหมวกผลเป็นก้านของเกสรเพศเมีย ผลสีเขียวอมแดง ผลสุกสีน้ำตาล
–เมล็ด แบนรูปลิ่ม มีหลายเมล็ด
–ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ
ขอขอบคุณ คุณอนุพงษ์ อุดมพงษ์ (ต๋อง บอนไซ) อ.เก้าเลี้ยว จ.ชลบุรี ถนนสายบายพาส เลี่ยงเมืองชลบุรี โทร.08-3900-0377