ชีวิตของ คุณปราณี แมรี เป็นคนหนึ่งที่ชีวิตต้องเจอกับตลิ่งสูง เธอต้องรอนแรมจากบ้างเกิดเมืองนอนไปต่อสู้ชีวิตในต่างถิ่น ต่างภาษา เพื่อเลี้ยงชีวิตและลูก ก่อนจะหันมาจับธุรกิจนำเข้า ไม้ดอกไม้ประดับ จากบ้านเกิดไปขายสร้างรายได้ จนขึ้นมาจากตลิ่งสูงของชีวิตได้ในที่สุด
จริงๆ แล้วทีมงานนิตยสาร ไม้ดอกไม้ประดับ รู้จักคุณปราณีในฐานะ “แฟนพันธุ์แท้” นิตยสาร โดยมีน้องสาวที่อยู่ในไทยส่งไปให้อ่านถึงหมู่เกาะนิวแคลิโดเนีย (อาณานิคมพิเศษของฝรั่งเศส) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เธอมักจะโทรศัพท์ข้ามประเทศมาสอบถามแหล่งผลิตต้นไม้ในเมืองไทยเสมอ เพื่อเป็นข้อมูลและนำเข้าไปขาย
เราจึงสนใจอย่างยิ่งว่าตลาดต้นไม้ที่นั่นเป็นอย่างไร แล้วไม้ตัวไหนที่ขายดี ในโอกาสที่เธอบินมาเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้เราจึงนัดพูดคุยกับเธอ “บ้านเกิดพี่อยู่กาฬสินธุ์ แล้วก็ไปทำงานที่นั่น เป็นลูกจ้างแกะสลักไม้ ตอนนั้นเราไม่มีความรู้อะไร แต่ก็ใช้ความพยายามจนประสบความสำเร็จ ทำอยู่ 7 ปี วันหนึ่งมันก็ถึงจุดอิ่มตัว และจำเป็นต้องย้ายเมือง เราก็เลยมาเริ่มชีวิตใหม่ เราก็ต้องหาอาชีพที่จะสร้างรายได้ใหม่” เธอเล่าเส้นทางชีวิต
การนำเข้ากล้วยไม้ และไม้ตัวอื่นๆ หลากหลายชนิด
ก่อนที่จะเลือกทำ ไม้ดอกไม้ประดับ เพราะดูแล้วว่าภูมิอากาศใกล้เคียงกับภาคใต้ของไทย อีกทั้งยังมีคนนำเข้าไม้จากไทยไปทำตลาดอยู่แล้ว การที่เป็นคนไทยจึงน่าจะหาต้นไม้มาขายได้ไม่ยากนัก “พอพี่ได้ทำพี่ก็รู้ว่าพี่รักอาชีพนี้ ก็เลยยึดอาชีพนี้มาอย่างเดียวเลย”
กล้วยไม้ไทย คือ รายชื่อตัวแรกที่คิดว่าจะนำเข้าจากเมืองไทย เพราะสภาพอากาศที่นั่นกับที่เมืองไทยใกล้เคียงกัน “ถ้าเราจะสั่งกล้วยไม้จากนิวซีแลนด์ ไต้หวัน หรือจีน อากาศเขาจะเย็นกว่าบ้านเรา แต่ที่นี่อากาศค่อนข้างร้อนนะ แต่ไม่ร้อนทีเดียว อากาศก็เหมือนหมู่เกาะทั่วไป เย็นๆ หน่อย เกาะที่พี่อยู่นี่สภาพภูมิอากาศเหมือนกับภาคใต้บ้านเรา ตอนนี้ที่นิวแคลิโดเนียเริ่มเข้าหน้าหนาว ประมาณ 13-17 องศา เย็นนะ แต่ไม่มีหิมะ แต่กล้วยไม้ชอบนะ”
ก่อนที่เธอจะตั้งชื่อสวนว่า “ไปต้าออร์คิดส์”
นอกจากกล้วยไม้แล้วยังมีไม้ตัวอื่นๆ เช่น ชวนชม โป๊ยเซียน และไม้ใบ เป็นต้น เริ่มสั่งต้นไม้ครั้งแรกโดยมีไม้หลักๆ คือ กล้วยไม้ และโป๊ยเซียน น้ำหนักรวมประมาณ 1 ตัน โดยสั่งซื้อจากหลายสวนในเมืองไทย “เชื่อไหมเมื่อต้นไม้ที่สั่งมาถึงพี่ร้องไห้เลย เพราะมันไม่ผ่าน เขาแพ็คไม้ติดขุยมะพร้าว เขาไม่ล้างออกให้พี่ แล้วพี่ต้องไปนั่งล้างเอง แกะไป ร้องไห้ไป กลัวว่าจะตายไหม จะรอดไหม จะเหลือไหมหนอ ผลสุดท้ายมันก็ตายไปตั้งเยอะ แต่เธอก็กัดฟันทนและสู้ เราก็สู้นะ ไม่ท้อ ในเมื่อคนอื่นทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ต้นไม้ที่มาจากบ้านเรามันสวย มันต้องขายได้ราคา”
ด้านตลาดต้นไม้
เชื่อมั้ยว่าเธอนำต้นไม้จากเมืองไทยเข้าไป ทั้งๆ ที่ยังไม่มีตลาด…!!! “ตอนนั้นเรายังไม่มีตลาดเลยด้วยซ้ำ แต่ที่เราทำ คือ เราเริ่มปลูกในสวนก่อน ก็มีลูกค้ามาดู แล้วเขาก็แนะนำคนอื่นว่าสวนเรามีโน่นนี่นั่น ช่วงที่ยังปลูกอนุบาลไม้อยู่ เราก็มาคิดว่าเราจะขายได้ยังไง
แต่พี่ก็ตัดสินใจลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปก่อน พอคนรู้จัก คนก็เริ่มมา ต้นไม้ก็เริ่มฟื้น เริ่มขายได้ พอเราทำได้ เราก็มีกำลังใจว่าเราทำได้ ทีนี้ก็สู้สิ ทีนี้พี่ก็เริ่มหาตลาด วันอาทิตย์พี่จะออกตลาดนัด แล้วก็มีแผงส่งให้คนที่มารับพี่ไปขายด้วย” แต่ตอนหลังต้องเลิกระบบขายส่ง เพราะลูกค้ามีปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน แล้วหันมาขายเองตามตลาดทุกเสาร์-อาทิตย์ หรือออกขายตามงานเทศกาลต่างๆ เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรคการนำเข้าต้นไม้จากเมืองไทย
ปัญหาหนึ่งของการนำเข้าต้นไม้จากเมืองไทย นอกจากความเสียหายจากการแพ็คและขนส่งแล้ว การที่หาซื้อปุ๋ยและยายาก เพราะที่นั่นการจะนำเข้าสารพิษ หรือสารเคมี เข้าประเทศ ต้องได้รับอนุญาต “พี่เป็นเกษตรกรที่สามารถนำเข้าต้นไม้ได้ ปลูกได้ ขายได้ แต่ไม่มีสิทธิ์สั่งปุ๋ย ยา และวัสดุภัณฑ์ พวกนี้เข้าไป แม้แต่กระถาง ลวดแขวน เราเอาไปได้เฉพาะใช้ในสวนเท่านั้น แต่เราขายไม่ได้ เพราะที่นั่นภาษีนำเข้าร้อยละ 40”
การนำเข้าต้นไม้จากเมืองไทยไปต้องนำไปอนุบาล และพักฟื้น ให้สมบูรณ์ก่อนจะขายได้ เธอยอมรับว่าช่วงแรกๆ ไม่มีความรู้เท่าไหร่ “เราสั่งของ แต่เราไม่มีความรู้ สถานที่เรามีก็จริง แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่พี่ก็อ่านหนังสือนะ พี่รู้จักนิตยสาร ไม้ดอกไม้ประดับ ก่อนที่จะมาทำต้นไม้ พี่ไปอ่านของคนอื่น จากนั้นก็ให้น้องสาวสมัครสมาชิกแล้วส่งมาให้ ครูของพี่ก็คือ หนังสือนิตยสาร ไม้ดอกไม้ประดับ พูดได้เต็มปากว่าคนที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นครู เป็นอาจารย์ ของพี่หมด พี่ได้ความรู้จากหนังสือเล่มนี้มากจริงๆ”
วัสดุปลูกที่คุณปราณีใช้ปลูก คือ กาบมะพร้าว เพราะที่นั่นเป็นหมู่เกาะ มีการปลูกมะพร้าว จึงหาได้ไม่ยากนัก เพียงแต่ต้องปอกเปลือก และสับเอง “บางทีเราก็คิดเหมือนกันนะว่าเราคิดผิด หรือคิดถูก แล้วเราจะทำได้จริงๆ หรือ เราก็บอกตัวเองว่าต้องได้สิ เราก็มีครูอยู่ หนังสือเล่มนี้ที่อยู่ในมือเรา” เธอย้ำ
การซื้อขายต้นไม้จากเมืองไทย
ปัจจุบันสวนของคุณปราณีมีพื้นที่สวนประมาณ 3 เอเคอร์ (1 เอเคอร์=2.53 ไร่) “พื้นที่โรงเรือนของเราไม่ได้เต็มทั้ง 3 เอเคอร์ มีโรงเรือน 2 โรง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 26 เมตรใช้เงินลงทุนไปกว่า 5 ล้านบาท ที่เหลือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น สวนส้ม และโรงจอดรถ”
เธอสะท้อนเรื่องการซื้อขายต้นไม้จากเมืองไทยว่าแม้จะสะดวก เพราะมีข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้ง่ายและสะดวกขึ้น “แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะส่งไม้สวยๆ แบบนั้นให้เราได้ สวน ไม้ดอกไม้ประดับ ในเมืองไทยมีเยอะมากจริงๆ แต่เรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และการแพ็คกิ้ง อาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน” เธอจึงจำเป็นต้องบินมาเมืองไทยอยู่เรื่อยๆ เพื่อไปดูต้นไม้ตามสวนต่างๆ ในเมืองไทยด้วยตัวเอง
เธอสะท้อนปัญหาที่เคยเจอระหว่างการซื้อขายไว้อย่างหลากหลาย “อย่างเรื่องเงิน บางทีเราจ่ายเงินให้เขาแล้ว แล้วเขาส่งไม้อะไรมาให้เราก็ไม่รู้ แบบนี้มีเยอะมาก ถึงเรามาเลือกเองก็เถอะ พอส่งบางทีย้อมแมวให้เราก็มี เคยมีเจ้าหนึ่ง พี่ไปเลือกของเองที่สวน ซื้อเสร็จพี่ก็จ่ายเงิน พอส่งของให้ ไม้หายไป 25 ต้น (แก้วกาญจนา) ราคาสูงมาก แต่ขาดไป 25 ต้น พี่ก็โทรกลับมาบอกเขา เขาบอกว่าไม่มีแล้ว แต่จะส่งไม้อย่างอื่นให้ เขาบอกว่าเขาจะชดเชยให้พี่
พี่ก็เอาใบเสร็จรับเงินให้น้องชายพี่เอาไปให้เขา แต่พอไปถึงเขาก็บอกว่าเขาไม่รับผิดชอบ นี่คือเขาส่งของให้เราไม่ครบ แล้วไม่รับผิดชอบ เขาไม่ซื่อสัตย์ จริงๆ มันเสี่ยงนะ เพราะเราไม่ได้ซื้อแล้วหิ้วไปด้วย พี่ไปเลือกเลยนะ เอานี่ 10 ต้น 15 ต้น จ่ายเงิน แล้วพอถึงวันจะให้คาโก้มารับ พอส่งของกลับส่งของไม่ครบ ขนาดบางสวนที่เคยทำธุรกิจกันมานานตั้งแต่เริ่มเลย เขาก็เริ่มย้อมแมวให้พี่ เขาเอาไม้แก่ แล้วที่มีหนอน ส่งมาให้พี่ พอด่านตรวจเจอ ก็ต้องเอาต้นไม้ไปอบฆ่าแมลง แล้วต้นไม้พี่ก็เสียหาย และบางส่วนตาย เพราะสวนเขาจุ่มน้ำยาฆ่าแมลงไม่ผ่าน อันนี้ส่งกันมาตลอดแล้วก็ไม่เคยบิดพลิ้ว มีครั้งนั้นครั้งเดียว แล้วพี่ก็เลิกสั่งเลย”
กลยุทธ์ในการขายต้นไม้
กลยุทธ์ในการขายต้นไม้ของเธอ คือ การทำให้ต้นไม้สวย และทรงคุณค่าขึ้น นั่นก็คือ ปลูกในกระถางสวยๆ “ต้นไม้ที่พี่รับเข้ามาจะเอาเข้ามาฟื้นฟู แล้วก็เอามาปลูกในกระถางสวยๆ ตกแต่งด้วยตุ๊กตาสวยๆ เช่น หน้าวัวดอก คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,000 บาท รู้ไหมว่ากว่ามันจะออกมาสวยแบบนี้มันต้องเลี้ยงนานมาก ไปถึงที่โน่นบางทีก็โทรม บางทีต้นก็เน่า มันไม่ง่ายเลยทีเดียว ถ้าเป็นไม้ดอกส่วนใหญ่จะสั่งเป็นไซส์พร้อมออกดอกมา
แต่พอมาถึงดอกก็จะโทรมหน่อย ดอกร่วงก็มี รากก็จะเสียหาย เราก็ต้องเอามาเลี้ยงใหม่ ระยะการพักไม้ก็จะขึ้นอยู่กับไม้ที่เขาส่งมาให้เราด้วยว่าเขาแพ็คดีไหม ถ้าจุ่มน้ำยามาดี ไม่ต้องมาอบรอบ 2 ระยะการพักไม้ก็จะเร็วขึ้น ถ้ามาถึงนี่แล้วไม่ผ่าน ต้องมาอบ มาจุ่มน้ำยา อีกครั้ง หรือไม่ก็จะโทรมลงไปอีก ตาย 50:50 แล้วเราสั่งไม้มานี่ไม่ใช่ว่าจะขายได้ทั้งหมดนะ”
การจำหน่าย ไม้ดอกไม้ประดับ
ดังนั้นราคาต้นไม้ที่เธอตั้งขายจึงต้องบวกหลายเท่าตัว “ต้นไม้ที่มันไปจากบ้านเรา สมมุติราคา 10,000 บาท เราต้องคูณ 4 เข้าไป นี่เป็นค่าใช้จ่ายนะ แต่ถ้าเกิดรายได้ หรือกำไร บวก ลบ คูณ หาร แล้วกำไรมันอาจจะเพิ่มเป็น 3-4 แต่ถ้าเกิดว่ามันเสียหาย กำไรตรงนั้นมันก็สูญหาย เพราะของมันไม่ได้ขายได้ 100% อยู่แล้ว 50:50 เราจะคิดเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายก่อน ถ้าเราขายได้ เราอาจจะบวกกำไรได้ 3-4 เท่า แต่ถ้าเราขาดทุนตรงนี้ ของมันเสียหาย กำไรที่เราควรจะได้ตรงนี้มันก็หายไป หายไปเยอะด้วย เพราะของมันจะเหลือแค่ครึ่งๆ แล้วแต่ละกระบวนการ เราใช้ต้นทุนเยอะเหมือนกัน”
เธอเล่าว่า “สวนพี่ไม่ได้มีชื่อเสียง เป็นสวนโนเนม แต่ที่โน่นเขาจะให้เกียรติเกษตรกร เราเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย วงจรพ่อค้าคนกลางถูกตัดไป แต่เมืองไทยไม่ใช่อย่างนั้น จากเกษตรกรต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง กว่าจะถึงคนซื้อ ต้องผ่านหลายทอด ที่โน่นเกษตรกรผลิตเอง ตั้งราคาเอง ขายเอง ทุกอย่างเราตั้งราคาเองหมด รัฐบาลจะสนับสนุนเรา เขาจะเข้ามาช่วยเรา ถ้าเราต้องการเงินทุน แต่การได้ทุนฟรีตรงนี้นี่เขาจะมีเงื่อนไขผูกมัด ถ้าเกิดเราเอาทุนเขามาแล้ว เวลาที่เขาส่งนักศึกษามาฝึกงาน เราต้องรับ จะต้องสอนเขา ถ้าเวลาเขาต้องการความช่วยเหลือเราก็ต้องช่วยเขา”
ขอขอบคุณ คุณปราณี แมรี สวนไปต้าออร์คิดส์ 71 LotissementCarignan BP 48-98890 Paita Mont Mou, New Caledonia E-mail :[email protected] [email protected]