การปลูกเลี้ยงไม้ใบ ไม้ด่าง
ขึ้นชื่อว่า “ไม้ด่าง” ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหนก็ยังขายความแปลกได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะวงการนักสะสม ยิ่งแปลก ยิ่งหายาก ยิ่งเป็นที่ต้องการ แม้แต่ สวนสีทอง 3 โดย จิระ จุกมงคล ก็ไม่พลาดที่จะมีคอลเลคชั่นไม้ด่าง กับเขาเหมือนกัน แต่จะให้ธรรมดาก็คงไม่สมศักดิ์ศรี “เจ้าพ่อไม้ใบ” เพราะขึ้นชื่อว่าจิระต้อง “เล่นใหญ่” เสมอ
ครั้งนี้ดูเจ้าของสวนสีทอง 3 จะติดใจไม้สะสมเข้าแล้วจริงๆ เพราะกำลังซุ่มผลิต ไม้ด่าง หลายชนิด เพื่อตอบโจทย์ตลาด ทั้งงานจัดสวน และคอลเลคชั่น ไปชมกันดีกว่าว่าไม้ด่างตัวไหนกำลัง “ขึ้นหม้อ” สวนสีทอง 3 กันบ้าง
ลักษณะของเบี้ยเศรษฐีด่าง
เบี้ยเศรษฐีด่าง อยู่ในกลุ่มไม้อวบน้ำ เป็นไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งก้านแผ่ออกด้านข้าง คล้ายพืชคลุมดิน เมื่อต้นยังเล็กจะมีลักษณะคล้ายพืชคลุมดิน แต่เมื่อต้นเริ่มโตจะเห็นโคน เหง้า และ ลำต้น ได้ชัดเจนขึ้น
- ลำต้นอวบอ้วน เป็นทรงแท่ง กิ่งอ่อน มีสีน้ำตาลอมแดง ค่อนข้างเปราะ ลำต้น หรือกิ่งแก่ เป็นสีน้ำตาลอ่อน-แก่
- ใบ ออกเป็นคู่ตามกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นแผ่นกลมแบน โคนใบสอบเล็กน้อย เลี้ยงได้ทั้งกลางแจ้ง และร่มรำไร
การขยายพันธุ์ที่ง่ายที่สุด คือ การปักชำ ดูแลรักษาง่าย ไม่มีโรค-แมลงรบกวน รดน้ำ 1-2 วัน/ครั้ง วัสดุปลูกโปร่ง น้ำไม่ขัง
การใช้งานหลากหลาย เป็นได้ทั้งไม้กระถางจัดแต่งสวน ปลูกคลุมดิน ปลูกในกระเช้าแขวน หรือจัดสวนแนวตั้ง กิ่งจะเลื้อยลงมาด้านล่างสวยงามไปอีกแบบ หากเลี้ยงจนได้โคนต้นขนาดใหญ่สามารถนำมาสร้างเป็นบอนไซได้
ลักษณะของไทรใบสักด่าง
ไทรใบสักด่าง อยู่ในสกุลเดียวกับไทร, มะเดื่อ และโพธิ์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเขตร้อนของทวีปอาฟริกา ในยุโรป และสหรัฐฯ เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 10-15 เมตร แต่นิยมมามาปลูกเป็นไม้กระถาง ปลูกประดับในอาคารบ้านเรือน เนื่องจากเป็นไม้ที่สามารถปรับตัวได้ดี ไม่ว่าจะเลี้ยงกลางแจ้ง รำไร หรือแม้แต่ในอาคาร เพียงมีแสงสว่างก็สามารถเลี้ยงไทรใบสักได้
ใบของไทรใบสักมีรูปร่างคล้ายใบหูกวาง หรือไวโอลิน จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Fiddle Leaf Fig มีชื่อไทยๆ ว่า เกตน์นิภา (เกด – นิ – พา) มีความหมายว่า เป็นความรุ่งเรืองแห่งที่อยู่อาศัย ลักษณะพิเศษของใบ คือ ใบแข็ง สีสว่าง (ทั้งสีปกติ และใบด่าง) ให้ความรู้สึกสดชื่น เป็นไม้ประเภทไม่ผลัดใบ (ever green)
การใช้งานในต่างประเทศนิยมมอบเป็นของขวัญแสดงความยินดีในโอกาสที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือขึ้นบ้านใหม่ ในเมืองไทยใช้ประดับตกแต่งตามบ้านเรือนที่ต้องการความสวยงามเป็นพิเศษ ยังไม่อยู่ในงานจัดสวนได้เต็มตัว เพราะค่อนข้างโตช้า และราคายังสูง
ลักษณะของกล้วยแดงอินโดด่าง
กล้วยแดงอินโดด่าง เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของอินโดนีเซีย มีลักษณะทั่วไปเหมือนกับกล้วยไทย ทั้งฟอร์มต้น รูปทรงใบ ลักษณะการดำรงชีวิต และการเจริญเติบโต จะแตกต่างจากต้นกล้วยไทยตรงใบมีสีแดงสดใส
สำหรับกล้วยแดงอินโดด่างมีลายด่างสีขาว, เหลือง จนถึงสีเขียวอ่อนผสมอยู่ ทำให้เกิดเป็นรอยด่างรูปแบบต่างๆ ซึ่งเจ้าของสวนสีทอง 3 แบ่งตามลายด่างได้หลากหลายดังนี้
– ฝนทิพย์ ใบสีแดงสดด่าง เป็นจุดเส้นๆ คล้ายเม็ดฝน มีทั้งรอยด่างที่เป็นสีเขียวตองอ่อน สีขาว และชมพูถึงแดง แทรกตามใบ
– ลายพรางทหาร มีปื้นสีสดใสกระจายทั่วใบ คล้ายลายพรางทหาร ลายด่าง หลากหลายเฉดสี เช่น สีเหลืองทอง, เหลืองออกส้ม และแดงอ่อนๆ ตัดกับพื้นใบสีแดงจัด
– ทูโทน ใบสองสี คนในวงการเรียกกันว่า “ฮาร์ฟ” เป็นเขียวตองอ่อนกับแดงเข้มบนใบเดียวกัน เป็นลายด่างแบบครึ่งใบ หรือเป็นปื้นด่างขนาดใหญ่
– โกลเด้น (Golden) มีใบสีเหลืองเป็นพื้นทั้งใบ เป็นลักษณะการกลายของใบสีเหลืองทองอร่าม แบบยิ่งสะท้อนแสงยิ่งอร่ามงามตา และยังมีความทนทานต่อแสงแดด แตกต่างจากไม้โกลเด้นทั่วไป
การปลูกเลี้ยงไม่ต่างจากกล้วยทั่วไป ควรได้รับแสงทั้งวัน ไม่ควรปล่อยให้น้ำขัง ควรจะมีการบำรุงดูแลรักษา เช่น กำจัดวัชพืช และตัดแต่งใบกล้วย เป็นต้น
การปลูกเลี้ยงไม้ใบด่างหลากหลายชนิด
นอกจาก ไม้ด่าง 3 ชนิดนี้แล้ว ยังกำลังซุ่มผลิต ไม้ด่าง อีกหลายชนิด เช่น สบู่ดำ, ชมพู่, ฝรั่ง, ต้นนุ่น, โพธิ์ทะเล, โพธิ์ และหูกระจง เป็นต้น
รับทราบโดยทั่วกันว่าปัจจุบันสวนสีทอง 3 ไม่ได้ผลิตเฉพาะไม้ใบเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมีไม้คอลเลคชั่นให้นักสะสมได้แวะเข้าไปเยี่ยมชม เยี่ยมเยียน ได้อีกด้วย ที่สำคัญจิระยัง “เล่นใหญ่” เหมือนเดิม…รับรองไม่ผิดหวัง!!
ขอขอบคุณ คุณจิระ จุกมงคล สวนสีทอง 3 โทร.08-1647-9415