การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้
“กล้วยไม้” เป็นสินค้าประเภทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มีความสวยงามโดดเด่น มีมูลค่าสูง โดยอุตสาหกรรมกล้วยไม้ของไทยสามารถสร้างรายได้นําเงินเข้าสู่ประเทศได้เป็นจํานวนมาก
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้เขตร้อนอันดับหนึ่งของโลก ส่วนใหญ่เป็นดอกกล้วยไม้สกุลหวาย มีสัดส่วนของพันธุ์โจแดง เอียสกุล และบอม ประมาณ 70% ซึ่งกล้วยไม้ทั้ง 3 พันธุ์ มีโทนสีใกล้เคียงกัน
ส่งผลกระทบทำให้ราคาตกต่ำ เพราะเกษตรกรผลิตกล้วยไม้พันธุ์เดิม และพันธุ์เดียวกัน ออกมาปริมาณมาก โดยไม่มีพันธุ์ใหม่มาตลอด 4 ทศวรรษ และส่อเค้าวิกฤติระยะยาว
หากแต่กล้วยไม้ของ นิพนธ์ ชัยวงศ์รุ่งเรือง เกษตรกรหัวก้าวหน้า กลับไม่เป็นเหมือนภาพรวมของกล้วยไม้ไทย ทั้งภาคผลิตและตลาดของเขามีภูมิต้านทานที่ดี
นั่นเป็นเพราะเขามีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างรัดกุม โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ มีคุณภาพ มูลค่าจึงสูงกว่ากล้วยไม้ปกติ
นิพนธ์ให้ข้อมูลว่า เริ่มปลูกกล้วยไม้มาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 6 ไร่ สวนแห่งนี้เริ่มจากจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ โดยอาศัยองค์ความรู้ที่เคยศึกษามาประยุกต์ใช้ กอปรกับความชื่นชอบและใจรักในสิ่งที่กระทำ
ด้วยความอุตสาหะ ขยันศึกษา เรียนรู้จากผู้รู้เรื่องกล้วยไม้ เช่น ดร.อุทัย จารณศรี และอ.กิตติ รัตนเทียนชัย ทั้ง 2 คนเป็นปรมาจารย์ด้านกล้วยไม้อย่างแท้จริง พร้อมไปศึกษาดูงานที่ศูนย์พืชสวนต่างๆ หรือไปร่วมงานประชุมต่างๆ เกี่ยวกับกล้วยไม้อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเชิงลึกการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้
“คุณต้องมีวิธีคิดเป็นของตนเอง อย่าไปปลูกตามคนอื่น ผมศึกษาค้นคว้าการผสมกล้วยไม้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3 คอร์ส เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เกี่ยวกับการสอนปลูกกล้วยไม้ธรรมดาแบบชาวสวน และกล้วยไม้ขั้นสูง
“ทำแล้วพยายามรู้ให้ลึก โบราณบอกว่า อันความรู้ รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิด คงเกิดผล”
โดยมีแนวคิดทำเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่ากำไร
“ทำแบบเศรษฐกิจพอเพียง เราอุ้มชูตัวเองได้ พึ่งพาตัวเองได้ มีความมั่นคง แข็งแรง เศรษฐกิจพอเพียงหากทำดีๆ จะเหลือเงินซื้อที่ดินเลยนะครับ เป็นเรื่องที่ในหลวงพูดเป็นเรื่องจริงทั้งนั้น หนี้สินไม่มี ครอบครัวอยู่แบบเข้มแข็ง สุขภาพแข็งแรงไปด้วย”
ตามคำสุภาษิตโบราณกล่าวว่า “ลงทุนสิบได้ร้อย ทำน้อยได้มาก” การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อลงทุนทำใช้ทุนมาก อย่าลงทุนแบบทีเดียว ให้ทำแบบพอเพียงไปก่อน และเมื่อได้กล้วยไม้พันธุ์ดีแล้วจึงเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อไป
การพัฒนากล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่
แนวทางหนึ่งที่เขาค้นพบคือ การพัฒนากล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น โดยมีโจทย์ความต้องการของตลาดเป็นตัวกำหนด
นิพนธ์เล่าที่มาและความสำคัญของกล้วยไม้ตัดดอกว่า เกิดจากไม้รุ่นแรก คือ เอฟวัน (F1) เป็นการผสมครั้งแรกระหว่างกล้วยไม้ป่า 2 ต้น แล้วคัดคุณสมบัติเด่น เช่น ทนทาน ช่อใหญ่ ช่อยาว แต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่รู้ว่าจะเป็นไม้ตัดดอกได้ จึงได้แค่เป็นไม้กระถางเพื่อประดับสวยงามเท่านั้น
จนมีเกษตรกรหัวก้าวหน้าเห็นคุณสมบัติดังกล่าว ทดลองปลูกเป็นไม้ตัดดอก พบว่าช่อดอกแข็งแรง ปักแจกันอยู่ได้นาน จึงนำมาขยายพันธุ์โดยปั่นตาเพิ่ม สมัยนั้นเรียกว่า “ซีซาร์” หลังจากปั่นตาแล้วปรากฏว่ากลายพันธุ์ (โคโมโซมเพิ่มเป็น 2 เท่า) เป็นไม้สีอื่น ทำให้มีความทนทานมากขึ้น
นิพนธ์เล่าอีกว่า สมัยก่อนเกษตรกรยังไม่รู้วิธีการผสมหรือการพัฒนาพันธุ์ที่ถูกวิธี ด้วยความบังเอิญมีชาวสวนนำไม้ที่ปลูกในสวนต้นเก่าๆ ผสมซ้ำเข้าไปอีกที ปรากฏว่าลูกไม้มีลักษณะดี คือ มีคุณสมบัติเด่นหลายประการ ทั้งทน ดก เลี้ยงง่าย ช่อใหญ่ และยาว ก้านช่อแข็ง สวย เหมาะเป็นไม้ตัดดอกอย่างยิ่ง จนมาเป็นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอกเชิงเศรษฐกิจในปัจจุบัน
“จากนั้นมา เวลาจะพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ เราจึงยึดหลักกฎธรรมชาติ 7 ประการ คือ ทน ดก เลี้ยงง่าย ช่อใหญ่ ยาว แข็ง และสวย ทดสอบโดยวิธีแช่น้ำปักแจกัน ดูอายุการใช้งานว่าทนอยู่ได้นานกี่วัน หากไม่ทนบางต้นปักน้ำ 3 วัน ก็ดอกเหี่ยวเลย ถ้าทนมากๆ เกิน 10 วัน” นิพนธ์กล่าว
กล้วยไม้ตัดดอก สายพันธุ์ คือ หัวใจ
เช่นเดียวกับการปลูกเลี้ยงหวายตัดดอก พันธุ์เป็นหนึ่ง “หัวใจ” แท้ กล้วยไม้สกุลนี้จะมีความหลากหลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาเลี้ยงเป็นกล้วยไม้ตัดดอกได้ทั้งหมด ต้องผ่านการคัดสรรแล้วว่าเป็นพันธุ์เลี้ยงง่าย ให้ดอกเก่ง ทนทาน และช่อยาว ดอกบานเยอะ ยิ่งให้ดอกได้ตลอดทั้งปีได้ยิ่งดี
การเลือกต้นผสมเกสร นิพนธ์ให้ข้อมูลว่า ไม้ตัดดอกที่มีเกสรงอกในประเทศไทยมีไม่ถึง 20 ต้น ที่สามารถนำมาผสมเกสรได้ เช่น พันธุ์มังกรสตาร์ และสายบูรณะไวท์ เป็นต้น โดยต้องเลือกต้นที่มีเกสรงอกเป็นสำคัญ จะทำให้ง่ายต่อการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้นั่นเอง
เขายกตัวอย่าง สมมุติมีต้นพันธุ์ดี 2 ต้น เป็นต้น F1 ให้นำทั้ง 2 ต้น มาผสมกัน จะได้ลูกเป็น F2 จากนั้นนำลูกไม้ไปผสมกับไม้ตัดดอกอีกครั้งหนึ่ง โดยไม้ที่นำมาผสมต้องเป็นไม้ 4N เท่านั้น เพื่อให้ได้ลูกไม้ 4N ทุกต้น เป็นสูตรกฎธรรมชาติในเรื่องนี้
คุณสมบัติของกล้วยไม้
การพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 3-4 ปี เพราะต้องทดสอบคัดเลือกต้นที่มีคุณสมบัติทน ดอกดก ให้ดอกเก่ง เลี้ยงง่าย ช่อใหญ่และยาว โดยสังเกตจากพัฒนาการแต่ละช่วงวัย จนถึงต้นโตเต็มวัย ว่าต้นใดมีคุณสมบัติเด่น-ด้อยอย่างไรบ้าง หลังจากได้ต้นลักษณะดีแล้วจึงค่อยขยายกำลังผลิตแบบก้าวกระโดด เช่น ปลูกไว้ 20,000 ต้น ขยายเพิ่มเป็น 2 แสนต้น ก็ง่ายขึ้น แต่ต้องอย่าลืมเรื่องคุณภาพด้วย
“เกษตรกร คือ ฝากชีวิตไว้กับฟ้า ดิน บ้างก็เจอภัยแล้ง บ้างน้ำท่วม และการต่อสู้กับดินฟ้าอากาศไม่ใช่ง่าย ต้องพบเจออุปสรรคมากมาย คนเราจะอยู่ได้ต้องคิดว่า เขาอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ คิดแบบนี้จึงจะประสบความสำเร็จได้ เพื่อไม่ให้ท้อไปเสียก่อน” นิพนธ์กล่าว
สายพันธุ์กล้วยไม้
กว่าจะได้พันธุ์ใหม่ตรงกับความต้องการของตลาด และง่ายต่อการผลิตเชิงปริมาณ เขาต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี เลยทีเดียว โดยการคัดเลือกจากพันธุ์ที่ตัวเองผสม และจากกลุ่มนักพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้
นิพนธ์อธิบายการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ว่า หาก F1 ออกมาแล้วมีคุณสมบัติตามที่กำหนดก็ใช้ได้เลย แต่หากยังไม่ตรงคุณสมบัติ ให้นำ F1 มาผสมอีกครั้งหนึ่ง จะได้ F2
เมื่อได้ F2 ผลปรากฏว่าเกิดลักษณะเด่นหลายประการ และมีการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ในชื่อว่า “เฉลิมพร” เป็นลูกผสมระหว่าง วอลเธอร์ 4N กับซีซาร์ 4N (มีโคโมโซม 4n : 2 ชุด) ลักษณะเด่น คือ กลีบดอกแข็ง ช่อยาว บานทนนาน จึงใช้ต้นนี้เป็นตัวหลักในการผลิตลูกไม้ต่อไป
“นี่คือพ่อแม่พันธุ์ที่ดีต้นหนึ่ง ต้นนี้เป็นต้น F2 กระจาย ท่าน ดร.อุทัยบอก เนื่องจากไปผสมกับไม้บ้านครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อต้องการทำเป็นไม้ตัดดอก แต่ใบยังใหญ่ไม่พอ ผมก็เอามาผสมให้ใบมันใหญ่ก็สวยแล้ว”
จากนั้นเขาได้นำมาพัฒนาต่อ โดยใช้เฉลิมพรเป็นแม่ไม้ ถือฝัก จนพัฒนาได้สำเร็จ คือ “เฉลิมกรุง” (พันธุ์เฉลิมพร x พันธุ์มังกรสตาร์) มีลักษณะเด่น คือ ฟอร์มดอกกลม ใหญ่ ดอกโทนสีชมพู ช่อดอกยาว กลีบดอกแข็ง ออกดอกดกทั้งปี ก้านช่อดอกยาวมากกว่า 15 ซม. ทำบานเยอะได้ สามารถปักแจกันได้นาน
“ปริมาณไม่พอขาย เนื่องจากเราทำไม้เกรดพรีเมี่ยม คุณสมบัติของไม้ส่งออก ก้านช่อต้องยาว ต้องบานเยอะ ต้องสวย เป็นไม้ไซส์ซุปเปอร์จริงๆ” นิพนธ์พูดถึงการคัดคุณภาพไม้เพื่อส่งออก
อีกพันธุ์หนึ่งที่ตามมาที่ได้รับจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เช่นกัน คือ “โซซีลีน” เป็นลูกผสมระหว่าง (วันเทอร์ 4N x ฟาแลนอปซิส) x (วันเทอร์ 4N x โตมิแด็กคูโบ้) นำคู่แรกผสมคู่สอง มีลักษณะเด่น คือ ดอกสีชมพู กลีบดอกแข็ง ทนทาน ดอกเล็กกว่าเฉลิมกรุงเล็กน้อย ดอกดก ช่อดอกยาว เป็นไม้ช่อกลม ปักแจกันได้นาน
อีกทั้งยังมีคุณสมบัติดี เกสรดอกแข็งแรง ผลิตออกดอกทั้งปี สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
การบำรุงดูแลรักษากล้วยไม้
นิพนธ์อธิบายคุณภาพของกล้วยไม้ในสวนว่า ต้องมีการคัดคุณภาพอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะความยาวของก้านช่อ และจำนวนดอกบาน โดยเลือกตัดกล้วยไม้ดอกบานอย่างน้อย 3 ใน 4 ของช่อ
“เรากำหนดราคาได้ ทั้งปริมาณและคุณภาพมาตรฐาน ต่ำกว่าครึ่งช่อไม่ตัดขาย ไม่ว่ากรณีใดๆ เราควบคุณภาพไม้ของเรา สายพันธุ์ของเราเลย ถ้าของไม่มีคุณภาพ หากขายไปต่อให้คุณลดราคาก็ไม่มีใครเขาซื้ออีก”
นอกจากความยาวช่อดอก และจำนวนดอกบานแล้ว คุณภาพของกล้วยไม้แต่ละดอกก็สำคัญ ต้องสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลง หรือดอกผิดรูปทรง จึงต้องคัดคุณภาพอย่างละเอียดทุกดอก
“ถ้าเราทำบานยิ่งมากจะยิ่งสวย เป็นที่ต้องการของตลาด และถ้าเราทำบานเยอะๆ แล้วตลาดต้องการไม้แบบนี้ เราจะขึ้นไปอยู่ด้านบน ขายเดี่ยวๆ ไม่มีคู่แข่งเลย” นิพนธ์พูดถึงความต้องการของตลาด
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกล้วยไม้
เมื่อสามารถผลิตกล้วยไม้คุณภาพสูงได้ ตลาดที่จะส่งป้อนก็ต้องมีคุณภาพด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เขาจึงเลือกส่งขายกับบริษัทส่งออกที่ต้องการกล้วยไม้คุณภาพ และมูลค่าสูง เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา เป็นต้น
ทีมงานถามว่าตลาดยุโรปและตลาดญี่ปุ่น ปัจจุบันมีความต้องการใช้กล้วยไม้แบบใด
นิพนธ์ตอบว่า มีการใช้งานของกล้วยไม้ไม่ต่างกันเท่าไหร่ อย่างทางเอเชียจะชอบดอกสีเข้ม ต้องการกล้วยไม้ ทั้งไซส์ไม้สั้น และไม้ยาว ส่วนทางยุโรปชอบดอกสีอ่อนกว่า ต้องการไม้ช่อยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลด้วย แต่คุณสมบัติที่ต้องมี คือ ความทนทาน ดอกดก และเลี้ยงง่าย
ตลาดที่เขามอง คือ ตลาดยุโรป ลักษณะกล้วยไม้ที่ต้องการ คือ ช่อยาว ดอกบานเยอะ และทนทาน
“ทำกล้วยไม้คุณภาพเราต้องมองถึงตลาดผู้ใช้ สามารถส่งขายระยะทางไกลๆ ได้ ดังนั้นจึงต้องเลือกพันธุ์ที่มีความคงทน”
เมื่อสำรวจราคากล้วยไม้ พบว่าทั้งพันธุ์โจซีลีน และพันธุ์เฉลิมกรุง ราคา ณ ปัจจุบันแพงกว่ากล้วยไม้ปกติถึง 10 เท่า
มูลค่าต่อช่อค่อนข้างสูง ผลิตไม่ทันขาย ราคานิ่งทั้งปี จนต้องมีการทำแปลงกล้วยไม้หลายรุ่น เพื่อให้ออกดอกหมุนเวียนตลอดทั้งปี
“เราก็เพิ่มปริมาณการผลิตเรื่อยๆ ตามตลาดต้องการ ถามว่าตัดเยอะไหม มันไม่ใช่แมสโปรดักส์ จะทำเยอะไม่ได้ เพราะหากทุกคนมุ่งปลูกพันธุ์เดียวกัน ตัดดอกออกสู่ตลาดพร้อมกัน ราคาก็จะถูกลง พืชอื่นก็เหมือนกัน” นิพนธ์พูดถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้สวนกล้วยไม้ของเขาเดินไปไกลผู้ผลิตรายอื่น
ฝากถึงผู้ที่สนใจกล้วยไม้
นิพนธ์พูดด้วยความภาคภูมิใจว่า คนที่ทำมาหากินเป็นชาวสวนกล้วยไม้ทุกวันนี้ เป็นเพราะคนรุ่นก่อนได้ทำคุณูปการไว้มาก ไม่เห็นแก่ตัวในการถ่ายทอดองค์ความรู้ส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นมาเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่ผมคิดจะทำเพื่อประเทศชาติต่อไป
“ถ้าคุณทำแบบพอเพียงแล้ว คุณจะมีความสุข ถ้าไม่คิดร่ำรวยอะไรมากมาย ครอบครัวคุณจะมีความสุข คุณจะแข็งแรง คุณจะมีความต้านทานสูง ลมพัดก็ไม่เจ๊ง น้ำท่วมไปอีกสองหนก็ไม่เจ๊ง และผมก็จะปลูกใหม่
“คนที่สนใจมาคุยกับผมจะถ่ายทอดให้ และผมเคยไปผสมให้หลายคนแล้ว คุณจะได้นำความรู้นี้ไปถ่ายทอดต่อได้
“ลาภและยศ หาบไปไม่ได้แน่ เว้นเสียแต่ต้นทุนบุญกุศล สมบัติฝากไว้กับปวงชน แม้ร่างตนยังเอาไปเผาไฟ” นิพนธ์กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ
คุณนิพนธ์ ชัยวงศ์รุ่งเรือง
32/23 ม.6 ต.บางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี 11140
โทร.08-9689-8631