การส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยร่วมกับ กลุ่ม วังขนาย ปลูกอ้อยด้วย KUBOTA
บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ กลุ่ม วังขนาย และบริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด ส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อย ปลูกอ้อยด้วย KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกทำการเกษตรในทุกขั้นตอน พร้อมให้คำปรึกษา สนับสนุนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อยกระดับศักยภาพชาวไร่อ้อย ให้สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการบริหารปัจจัยการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรครบวงจร หรือ KAS มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรรมของประเทศ โดยที่ผ่านมา สยามคูโบต้า ได้ร่วมมือกับภาครัฐขับเคลื่อนการทำเกษตรครบวงจรด้วยวิธี KAS และการทำเกษตรแบบประณีตมาโดยตลอด เช่น โครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่
สำหรับภาคเอกชน สยามคูโบต้าได้ร่วมมือกับกลุ่ม วังขนาย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร หรือสมาชิก ชาวไร่อ้อย ภายในพื้นที่ และรอบบริเวณโรงงานน้ำตาลกลุ่ม วังขนาย หันมาปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูกอ้อย โดยเฉพาะการ “ปลูกอ้อยออร์แกนิค” เพื่อ “ผลิตน้ำตาลออร์แกนิค” ของ “กลุ่ม วังขนาย ” เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ลดการใช้สารเคมีในไร่อ้อย ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค
อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพชาวไร่อ้อยของไทยให้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้สยามคูโบต้ายังได้ถ่ายทอดการทำเกษตรครบวงจรให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้า ผ่านโครงการ AD Solutions Provider
เพื่อให้ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายมีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำเกษตรด้วยวิธี KAS และการทำเกษตรแบบประณีต เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ส่งต่อไปยังเกษตรกรภายในพื้นที่ของตนเอง ควบคู่ไปกับการแนะนำ และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่การใช้งานของเกษตรกรเป็นหลัก
เพื่อให้การเพาะปลูกของเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการทำเกษตรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
รายได้จากการเก็บเกี่ยวอ้อย
เช่นเดียวกับ “บริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด” ที่ได้นำพนักงานเข้าร่วมอบรมโครงการ AD Solutions Provider แล้วนำองค์ความรู้ KAS ไปใช้พัฒนาการปลูกอ้อยร่วมกับโรงงานน้ำตาล วังขนาย ในปี 2558-2559 ณ บ้านโคกล่าม อ.บรบือ จ.มหาสารคาม จำนวน 8 ไร่ โดยมีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรม คือ ได้ผลผลิตจำนวน 26.64 ตัน/ไร่ ใช้ต้นทุนประมาณ 8,400 บาท/ไร่ และได้กำไรอยู่ที่ 24,000 บาท/ไร่ (ไม่รวมค่าตัดอ้อย และค่าขนส่ง เนื่องจากขายเป็นอ้อยพันธุ์)
การปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาการปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ “กลุ่ม วังขนาย ” ได้ “วัตถุดิบคุณภาพ” ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพ สามารถนำไปผลิตเป็น “น้ำตาลออร์แกนิค” ที่ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย
การให้ความรู้แก่เกษตรกร
สยามคูโบต้า ยังคงเดินหน้าถ่ายทอดการทำการเกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตร ให้มีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการวิจัยการทำเกษตรด้วยวิธี KAS กับพืชอีกหลากหลายชนิด และมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ KAS ให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่าย ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับเกษตรกรต่อไป
สยามคูโบต้า เปิดตัว “ปฏิทินเพาะปลูกข้าว” หนุนชาวนาไทย ทำเกษตรแบบปราณีต
นอกจากนี้ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังเปิดตัวปฏิทินเพาะปลูกข้าว ลิขสิทธิ์เฉพาะของ สยามคูโบต้า ที่ผ่านการคิดค้น วิจัย และพัฒนา ร่วมกับอาจารย์ซึโทมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคนิคการปลูกข้าวจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวนาไทยทำนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า การจัดทำปฏิทินข้าวเกิดจากความตั้งใจของ สยามคูโบต้า ที่ต้องการส่งเสริมให้ชาวนาไทยหันมาทำเกษตรแบบประณีต และเกษตรแม่นยำสูงกันมากขึ้น ซึ่งปฏิทินข้าวนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเหลือเกษตรกรในการตัดสินใจ และวางแผนการเพาะปลูก ใช้เป็นข้อมูลในการควบคุมและวิเคราะห์การเจริญเติบโตของข้าวในแต่ละระยะ
ทำให้สามารถวางแผนจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละแปลง รวมถึงผลผลิตที่ควรจะได้ในแต่ละสภาพพื้นที่ และยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไปได้อีกด้วย โดยสยามคูโบต้าได้นำปฏิทินการเพาะปลูกหลายๆ รูปแบบมาทำการศึกษา
พร้อมกับได้รับคำแนะนำจาก อาจารย์ซึโทมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคนิคการปลูกข้าวจากคูโบต้า ประเทศญี่ปุ่น ถึงหลักการในการทำปฏิทินเพาะปลูกข้าวของประเทศญี่ปุ่น จึงได้นำหลักการนั้นมาศึกษา ทดลอง และปรับใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว และสภาพแวดล้อมของประเทศไทย
พร้อมทั้งนำองค์ความรู้จาก “KUBOTA (Agri) Solutions” เกษตรครบวงจร นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ เข้ามารวบรวมด้วย เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต และรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
ขั้นตอนการทำงานของปฏิทินเพาะปลูกข้าว
สำหรับขั้นตอนในการทำงานของปฏิทินเพาะปลูกข้าวของประเทศญี่ปุ่น จะประกอบด้วยข้อมูลหลักๆ คือ กำหนดเป้าหมายของข้อมูลผลผลิต จากนั้นทำการเก็บข้อมูล ปรับปรุงวิธีการ และทดสอบซ้ำ จนได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำ และสามารถเผยแพร่ให้กับเกษตรกรทั่วไปสามารถใช้ได้
ซึ่งขั้นตอนในการจัดทำปฏิทินเพาะปลูกข้าวสำหรับประเทศไทยนั้น มีขั้นตอนหลักๆ อยู่ 5 ขั้นตอน โดยบริษัทฯ ได้เริ่มต้นจากศึกษาข้อมูล ทำการวิเคราะห์พื้นที่ที่จะทำการทดสอบปฏิทินปลูกข้าวจริง และทำการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงทุกขั้นตอน นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ผล และสุดท้ายนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดทำเป็นปฏิทินเพาะปลูกข้าว
โดยจะพิจารณาจากองค์ประกอบและศักยภาพผลผลิตของข้าวแต่ละพันธุ์ เช่น ตัวอย่าง ต้องการให้ได้ข้าว 1 ตัน จะต้องวางแผนย้อนกลับไปว่าจะต้องมีองค์ประกอบผลผลิตที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง แล้วสามารถทำได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะทำการย้อนกลับไปดูว่ามีการผิดพลาดตรงจุดไหน เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงแปลงในฤดูถัดไป โดย “ปฏิทินการเพาะปลูก” ที่สยามคูโบต้าจัดทำขึ้นประกอบด้วยข้อมูล 2 หน้า
หน้าแรก เป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาหยอดแห้งสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำฝน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
หน้าที่สอง เป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาดำสำหรับพื้นที่ชลประทาน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง อายุ 120 วัน ซึ่งแต่ละหน้าของปฏิทินจะมีองค์ประกอบ 6 ส่วน คือ
- พื้นที่แนะนำสำหรับปฏิทินเพาะปลูกชุดนี้
- พันธุ์ข้าว
- ช่วงเวลาการเพาะปลูก
- ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ
- ระยะการเจริญเติบโตของข้าว
- การปฏิบัติในแปลงและจุดควบคุม โดยรายละเอียดในปฏิทินเพาะปลูกข้าวจะมีการอธิบายถึงวิธีการทำนาในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดวันเพาะปลูก การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย การจัดการน้ำ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการประเมินผลในแต่ละขั้นตอน และตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมของข้าวในแต่ละระยะ
ความโดดเด่นของปฏิทินเพาะปลูกข้าว
“ปฏิทินเพาะปลูกข้าวฉบับนี้ เป็นฉบับแรกที่ สยามคูโบต้า ได้จัดทำขึ้น มีความโดดเด่น คือ ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถวัดผลการเจริญเติบโตของต้นข้าว เพื่อปรับการดูแลรักษาต้นข้าวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ รวมถึงมีคำแนะนำเพิ่มเติมในแต่ละช่วงเวลาสำคัญของการเจริญเติบโต เช่น การงอก ออกรวง เก็บเกี่ยว
โดยในอนาคตบริษัทฯ จะทำการวิจัยและพัฒนาปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวที่แนะนำในแต่ละพื้นที่ และยังคงพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลปฏิทินเพาะปลูกข้าวตัวปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้นอย่างน้อย 2-3 ปี และยังมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังพื้นที่ หรือพันธุ์ใหม่ๆ คู่ขนานกันไป สำหรับในด้านการส่งเสริม สยามคูโบต้า มีเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในหลายภูมิภาค โดยจะนำไปทดลองใช้และพัฒนาต่อในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ได้ปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าวเสริม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kubotasolutions.com
บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด
คุณภัทรา เรืองสวัสดิ์ 09-6246-6635 [email protected]
บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
คุณสุดา ศรีบุศยดี 08-9068-4345 [email protected]