จังหวัดจันทบุรีได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดแห่งผลไม้ แต่ผลไม้ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คิดถึงก็จะมีแต่เงาะ ทุเรียน มังคุด และกล้วยไข่ มากกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ แต่ในขณะที่ “สละ” ก็เป็นผลไม้ขึ้นชื่อในจังหวัดจันทบุรีเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยมีผู้คนกล่าวถึง ถึงแม้สละจะเป็นผลไม้นอกสายตาในหมู่นักท่องเที่ยว
แต่ผู้บริโภคผลไม้อย่างสละก็มีจำนวนไม่น้อย ยิ่งโรงงานผลิตผลไม้แปรรูป อย่าง สละลอยแก้ว ที่เป็นของขึ้นชื่อในจังหวัดจันทบุรี ก็มีความต้องการวัตถุดิบอย่างสละเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสละสามารถมีตลาดระบายผลผลิตในสวน จนสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างสบาย
คุณนันทา วิญญา เกษตรกรผู้ปลูกสละพันธุ์สุมาลี เล่าให้ทีมงานเมืองไม้ผลฟังว่า เมื่อก่อนตนเคยปลูกทุเรียน ต่อมามีเกษตรกรด้วยกันบอกว่าปลูกสละได้ราคาดีกว่า มีผลผลิตทั้งปี ซึ่งในตอนนั้นคุณนันทาปลูกสละพันธุ์เนินวง พอเวลาผ่านไปได้ 10 ปี จึงหันมาปลูกสละพันธุ์สุมาลีแทน
การปลูกสละ พันธุ์สุมาลี ได้กำไรมากกว่า พันธุ์เนินวง
สละมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่รู้จักกันดี คือ สละพันธุ์เนินวง แต่ปัจจุบันมีสายพันธุ์ใหม่ รสชาติหวานเฉียบขาด นั่นคือ สละพันธุ์สุมาลี ส่วนพันธุ์เนินวงจะมีรสชาติอมเปรี้ยว
ช่วงแรกคุณนันทาปลูกสละพันธุ์เนินวง จุดอ่อนของพันธุ์นี้ก็คือ คุณภาพที่ได้จะไม่ค่อยดีนัก จะมีการเกิดอาการสีน้ำตาล หรือดำ ที่เนื้อบริเวณรอยขั้วผล และเนื้อบริเวณส่วนกลางเมล็ดมักยุบตัวลง กลายเป็นตำหนิด้านคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่มีฝนตกชุก ผลสละจะแสดงอาการนี้มาก ส่วนเรื่องรสชาติจะออกเปรี้ยวนำ ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในช่วงนั้น
แต่พอมีสละพันธุ์สุมาลีเข้ามา การปลูกสละพันธุ์เนินวงก็เริ่มลดเหลือน้อยลง จนปัจจุบันที่สวนแห่งนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นพันธุ์สุมาลีทั้งหมดในจำนวน 12 ไร่ และมีการขยายปลูกเพิ่มเติมในอีกพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ทั้งหมด เป็นพันธุ์สุมาลี
จุดเด่นของสละพันธุ์สุมาลี
จุดเด่นของสละพันธุ์สุมาลีมีข้อดีหลายอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับสละพันธุ์เนินวง ทั้งในเรื่องรสชาติ และลักษณะเนื้อที่สวยกว่า “เหมาะนำมาแปรรูปเป็นสละลอยแก้ว” ของขึ้นชื่อเมืองจันท์ เมื่อนำมาทำแล้วได้รสชาติที่อร่อย เวลานำมาบรรจุส่งขาย เนื้อสละที่เห็นก็ทำให้ชวนรับประทาน
เมื่อเปลี่ยนพันธุ์สละจากเนินวงมาเป็นสุมาลีก็ทำให้ได้ราคาสูงขึ้น จากขายเนินวงได้ราคากิโลกรัม 10 บาท แต่เราขายสุมาลีได้ 80 บาท เรามาปลูกสุมาลีดีกว่า เพราะการดูแลเหมือนกัน ทำเหนื่อยเหมือนกันทุกอย่าง แต่ผลผลิตที่ขายสุมาลีได้มากกว่า ก็คิดว่าต้องเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์สุมาลี
ถึงต้นพันธุ์จะมีราคาแพงถึง 400-500 บาท เทียบกับพันธุ์เนินวงเพียงต้นละ 50 บาท แต่ในตอนนี้ก็คุ้ม เพราะที่สวนก็สามารถขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มได้เอง ไม่ต้องซื้อ แล้วรายได้ก็ดีขึ้นหลายเท่าตัว ตลาดก็ต้องการพันธุ์สุมาลีมากขึ้นอีกด้วย” คุณนันทากล่าวถึงจุดเด่นของสุมาลี
การปลูก และบำรุงดูแลรักษา สละพันธุ์สุมาลี
การปลูก สละพันธุ์สุมาลี เป็นผลไม้ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในช่วงนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น เพราะยังมีเกษตรกรและพื้นที่ปลูกน้อย และสละในปัจจุบันมีผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เรื่องของรสชาติก็ดี ถูกปากคนไทยในประเทศ อีกทั้งยังดูแลรักษาง่าย เป็นพืชชอบน้ำ ชอบความชื้น เหมาะกับสภาพดิน และภูมิอากาศ ในจังหวัดจันทบุรี ที่มีฝนตกเพียงพอต่อความต้องการของต้นสละ
อีกทั้งดอกและผลจะออกที่โคนต้นอยู่กับพื้นดิน ทำให้ทำงานได้สะดวก ใช้คนเก็บผลผลิตเพียงไม่กี่คนก็สามารถทำได้ ลดต้นทุนการจ้างคนงานได้อีก ในเรื่องของโรคและแมลงในสละก็มีน้อย ซึ่งการหมั่นดูแลเอาใจใส่ เมื่อสละติดผลก็จะทำให้พบเจอน้อย หรือถ้าพบเจอก็สามารถป้องกันกำจัดได้ทันเวลา
วิธีการปลูก สละพันธุ์สุมาลี
- วิธีการปลูก สวนของคุณนันทาจะเว้นระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 10 ศอก โดยปลูกแบบกอไว้กอละ 2-3 ต้น ขุดหลุมปลูกให้มิดถุงต้นกล้าที่นำมาปลูกพอดี แล้วนำดินกลบต้นกล้าที่ปลูกให้อยู่ระดับเดียวกับผิวดิน
- การพรางแสง สละต้องมีร่มเงาพรางแสงประมาณ 50% ของแสงปกติ อาจทำโดยการปลูกไม้โตเร็ว หรือไม้ยืนต้น ที่เหมาะสม ควรปลูกมากกว่า 1 ชนิด หรืออาจใช้ตาข่ายพลาสติกพรางแสงขึงคลุม
- การดูแลรักษา ให้ปุ๋ย ให้น้ำ ตามที่กล่าวข้างต้นว่าสละเป็นพืชชอบน้ำ ดังนั้นดินต้องมีความชื้นอยู่เสมอ จะทำให้ต้นสละเจริญเติบโตได้ดี และไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะในฤดูหนาว-ฤดูร้อน ต้องให้น้ำมากพอ เพราะดินจะแห้งเร็ว คุณนันทาจะให้น้ำประมาณ 3 วันต่อครั้ง นานครั้งละครึ่งชั่วโมง โดยการให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ แต่ถ้าอากาศร้อนมากๆ ก็จะมีการให้น้ำทุกวัน ขึ้นอยู่กับความชื้นภายในสวน และสภาพอากาศในแต่ละฤดู
- การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นสละ จะให้เดือนละ 1 ครั้ง เป็นปุ๋ยสูตร 16-16-16 และบางครั้งอาจผสมใส่กับปุ๋ยชีวภาพบำรุงดินแบบเม็ด และหว่านภายในสวนพร้อมกัน เพื่อให้สละภายในสวนมีสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ยังมีการใช้ปุ๋ยบำรุงคอกปีละ 1 ครั้ง โดยใช้สูตร 8-24-24 ทำดอกเกสรตัวผู้ และตัวเมีย มีความแข็งแรงพร้อมที่จะผสมพันธุ์
- โรคและแมลง ที่พบในสวนสละส่วนใหญ่เป็นหนอน มอด และมด ซึ่งคุณนันทาจะใช้วิธีการกำจัด โดยเจอตัวแมลงพวกนี้จะจับออกจากพื้นที่ หรือฉีดยาป้องกันกำจัด ส่วนโรคใน สละพันธุ์สุมาลี นั้นไม่ค่อยพบเจอมากนัก เพราะเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยพบปัญหาในเรื่องนี้
- การตัดแต่งทางใบ สละที่ให้ผลผลิตแล้วควรไว้ทางใบประมาณ 15-20 ทางใบ ไม่ควรตัดแต่งทางใบที่รองรับทะลายผลจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว
- การผสมเกสร เนื่องจากสละเป็นพืชที่ต้นตัวผู้ และตัวเมีย แยกกัน การปล่อยตามธรรมชาติจะผสมติดไม่เกิน 10% ดังนั้นจึงจำเป็นต้องช่วยผสมเกสรตัวเมีย
การผสมเกสรสละ
โดยเริ่มจากการเก็บรวบรวมดอกตัวผู้ที่บานเต็มที่ ซึ่งต้นตัวผู้จะปลูกไว้รอบๆ สวน แล้วนำดอกตัวผู้มาเคาะเบาๆ เพื่อให้ละอองเกสรตัวผู้ร่วงในภาชนะที่เราเคาะใส่ สีของละอองเกสรตัวผู้ของสละจะมีสีออกเป็นสีเหลืองอ่อน หลังจากได้ละอองเกสรตัวผู้แล้ว เก็บในขวดแก้ว ปิดฝาให้สนิท แล้วนำเข้าไปแช่ในตู้เย็น ในช่องฟรีซ อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บรักษาละอองเกสรตัวผู้ได้นานประมาณ 6 เดือน เพื่อนำมาผสมเกสรตัวเมีย
วิธีการใช้ ให้นำเกสรตัวผู้ที่เป็นทั้งสายพันธุ์สละด้วยกัน หรือจะเป็นเกสรตัวผู้ของต้นระกำก็ได้ มาผสมกับเกสรตัวเมีย โดยจะใช้วิธีการนำที่คีบมาคีบผงเกสรตัวผู้แล้วนำไปโรยในเกสรตัวเมียที่บานแล้ว หรืออีกวิธีอาจใส่เกสรตัวผู้ลงในถุง จากนั้นครอบไปที่เกสรตัวเมียแล้วเขย่าให้เกสรตัวผู้และตัวเมียติดกัน จากนั้นก็นำถุงที่ครอบออก เป็นอันเสร็จพิธีการผสมเกสรของต้นสละ
การช่วยผสมเกสรจะทำให้สละติดผลเยอะขึ้น และเนื้อของสละจะมากขึ้นอีกด้วย ในพื้นที่ 12 ไร่ ของคุณนันทา จะปลูกต้นสละสุมาลีที่เป็นตัวเมียไว้ประมาณ 150 ต้น ต้นตัวผู้อีกประมาณ 40 ต้น เพื่อใช้ในการผสมเกสรตัวเมียให้ทั่วถึง และเพียงพอต่อความต้องการ
การเก็บเกี่ยวผลผลิตสละ
เมื่อผสมเกสรตัวผู้และตัวเมียของต้นสละเข้าด้วยกันแล้ว ประมาณ 1 อาทิตย์ ดอกเกสรตัวเมียจะเริ่มกลายเป็นเม็ดเล็กๆ ออกมา นั่นแสดงว่าสละติดลูก กำลังให้ผลผลิต และหลังจากนั้นประมาณ 8-9 เดือน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตของสละจำหน่ายได้
การเก็บผลผลิตของสละ คุณนันทาบอกว่าต้องสังเกตที่สีของเปลือก สีจะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวแตกลายคล้ายเกล็ดงูชัดเจน หรือถ้าไม่แน่ใจให้ใช้วิธีการชิม เพราะถ้ามีรสชาติหวานก็แสดงว่าสามารถเก็บผลผลิตได้ผลผลิตสละของที่นี่จะสามารถเก็บได้ประมาณ 100 กิโลกรัม/1 กอ (1 กอ อาจมี 2-3 ต้น) หรือขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงนั้นๆ
ตลาดส่งโรงงานแปรรูป สละลอยแก้ว และตลาดขายทั่วไป
คุณนันทาจะนำสละที่ตัดแล้วไปส่งที่โรงงาน สละลอยแก้ว 100 ล้าน ของ คุณอิทธิพล ชอบชน เพื่อนำไปแปรรูปเป็น สละลอยแก้ว ดังนั้นสละที่ส่งเข้าโรงงานจึงจะต้องเป็นสละที่มีคุณภาพตามที่ทางโรงงานต้องการ ซึ่งสละที่สวนของคุณนันทาก็ได้ยอมรับจากโรงงานผลิต สละลอยแก้ว เช่นเดียวกัน
นอกเหนือจากส่งให้โรงงานทำ สละลอยแก้ว ก็จะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อบ้าง หรือถ้าผลผลิตมีจำนวนมากก็นำไปส่งขายที่ตลาดสี่มุมเมือง
รายได้จากผลผลิต สละพันธุ์สุมาลี
ส่วนในเรื่องของราคาที่จำหน่ายสละสุมาลีก็มีขึ้น-ลงกันตามกระแสตลาด ซึ่งคุณนันทาบอกว่าช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาราคาสละพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 60 บาท แต่ในช่วงหลังจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 40 บาท ยังถือว่าไม่ตกต่ำมากนัก ถ้าเทียบกับการปลูกสละเนินวงที่มีราคาในตลาดประมาณ 10-20 บาท ต่อกิโลกรัม
ซึ่งในปีที่แล้วคุณนันทาสามารถจำหน่ายสละสุมาลีรวมกันทั้งปีได้เงินประมาณ 900,000 บาท เฉลี่ยรายได้ในแต่ละเดือนถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
ส่วนของต้นทุนในการดูแลรักษาต้นสละก็ไม่มีอะไรมากนัก สละเป็นพืชดูแลง่าย มีเพียงการให้ปุ๋ย ฉีดยาฆ่าแมลงบ้างเมื่อพบเจอ ค่าแรงก็ไม่มี เพราะดูแลสวนกันเพียง 2 คน คือ คุณนันทา กับสามี ดังนั้นรายได้ที่ได้มาก็รับกันเต็มๆ ไม่เหมือนกับผลไม้ชนิดอื่น ที่ต้องมีการดูแลเอาใจใส่ การลงทุนจึงต้องสูง บางครั้งเมื่อหักกับรายได้ที่รับมาก็แทบไม่เหลือ
ลมมรสุม…ปัญหาใหญ่ของชาวสวน
การทำอาชีพเกษตรนั้นเป็นพื้นฐานที่ดีของคนไทย หากจะดูเศรษฐกิจแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกสละในจังหวัดจันทบุรีประมาณร้อยละ 60 ได้เปลี่ยนมาปลูก สละพันธุ์สุมาลี กันหมด เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด และการแปรรูป สละลอยแก้ว ได้ทุกขนาด
อย่างไรก็ตามในอนาคตการแปรรูปผลไม้ อย่าง สละ จะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคยังให้ความสนใจ และชื่นชอบในรสชาติ เช่น สละลอยแก้ว เป็นต้น
ส่วนเรื่องอุปสรรคในการปลูก ส่วนใหญ่ชาวสวนสละจะเจอกับปัญหาธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด เช่น เกิดลมมรสุม ทำให้ต้นสละโค่นล้ม มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของต้นสละ และผลผลิตของสละที่ได้จะน้อยลง เพราะระบบรากถูกตัดขาดจากการหาอาหาร เมื่ออาหารไม่เพียงพอผลผลิตก็น้อยตามไปด้วย
แต่ด้วยราคาของสละที่ไม่ผันผวนมากนัก ถ้าเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น และสละเองก็มีผลผลิตออกมาให้จำหน่ายได้ตลอดปี ดังนั้นชาวสวนสละจึงไม่ค่อยกลัวในเรื่องของผลผลิตที่มาก หรือน้อย เกินไป เพราะตลาดยังคงต้องการ ทั้งการแปรรูป และบริโภคผลสด จึงมีแนวโน้มไปในทางที่ดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกสละในจังหวัดจันทบุรี
หากท่านใดสนใจอยากชิม สละพันธุ์สุมาลี รสชาติหวานๆ หรือสนใจในเรื่องของวิธีการปลูกสละ สอบถามและติดต่อได้ที่ คุณนันทา วิญญา 19/1 ม.13 ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหญ่ จ.จันทบุรี 22170 โทร.08-2213-0919