“บอนไซที่เขาแร้ง ราชบุรี เมื่อก่อนเขาเล่นไม้จบจากป่า คือ ไม้ในป่าที่ถูกวัว หรือสัตว์อื่น กัดกินซ้ำๆ ต้น จนกิ่งเกิดการหงิกงอ หรือแคระแกร็น พอแตกใบออกมาก็กลายเป็นไม้พุ่มโดยไม่ต้องทำ คนก็ขุดมาเล่นเป็นไม้แคระ บอนไซในบ้านเราเริ่มมาอย่างนั้น..!!”
การปลูกเลี้ยงบอนไซ
คุณละมูล รอดอ่อน นักเล่นบอนไซรุ่นลายครามของเมืองไทย ให้ข้อมูลกับทีมงานไม้ดอกไม้ประดับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รับรู้ที่มาของบอนไซไทยยุคก่อน
คนในวงการบอนไซรุ่นใหญ่แทบทุกคน รู้จักชายผู้นี้ดีว่าเขา คือ ลุงละมูล มือบอนไซชาวราชบุรี ที่ฝีมือหาตัวจับได้ยาก
เขาเริ่มเล่นบอนไซมาตั้งแต่อายุ 20 ปี กระทั่งตอนนี้เวลาผ่านไปแล้วกว่า 44 ปี ตอนนั้นการเล่นบอนไซของคนในพื้นที่ยังเป็นการขุดไม้สไตล์บอนไซจากธรรมชาติ ที่เกิดการแคระแกร็นผิดปกติตามธรรมชาติ หรือการกัดแทะของสัตว์มาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับ จึงไม่มีหลักการหรือสูตรใดๆ ในการสร้างบอนไซ
การสร้างโครงสร้างไม้ และกิ่ง บอนไซ
ผ่านไประยะหนึ่งลุงละมูลก็เข้าใจความเป็นจริงว่า หากขืนยังคอยหาขุดไม้จบจากป่าอยู่อย่างนั้น หากวันหนึ่งไม่มีป่า คนเลี้ยงไม้จะหาไม้ได้ที่ไหน…เราต้องรู้จักสร้างเอง..!!
“ทีแรกเราก็ไปขุดตอไม้มานั่นล่ะ ขุดมาเฉพาะตอ ตัดหัวเขียงมาด้วยซ้ำ แล้วมาลองทำดู ลองสร้างไม้แบบผิดๆ ถูกๆ โดยไม่ได้อาศัยหลักการใดๆ เพียงแต่คอยสังเกตไม้แล้วดัดแปลงรูปแบบไปเรื่อยๆ
“ด้วยความอยากรู้เรื่องการสร้างบอนไซ ผมก็ลองไปดูไม้ที่สนามประกวดบอนไซ ดูว่าในสนามเขาต้องการบอนไซแบบไหน แล้วก็ครูพักลักจำรูปแบบการเล่น หลักการสร้างไม้บอนไซจากสนามประกวดนั่นล่ะ
“พอเริ่มเข้าใจหลักการ ก็นำหลักการเหล่านั้นมาปรับใช้ในการสร้างบอนไซของเรา”
ด้วยความที่มีใจรักในการสร้างบอนไซของคุณละมูล ทำให้เขาสร้างบอนไซแต่ละต้นออกมาได้ละเอียด ประณีต เขาเล่าว่าเมื่อใดที่เขาสร้างบอนไซจะรู้สึกมีสมาธิ ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน ไม่ฟุ้งซ่าน และไม่เกิดความเครียด เวลาทั้งหมดที่ว่างเว้นจากการทำไร่-ทำสวนของคุณละมูลจึงอยู่กับการปลูกเลี้ยงบอนไซ
เขาเล่าต่อไปว่าเดิมทีหลักการเล่นบอนไซไทยเน้นการสร้างกิ่งแบบ 1 2 3 แต่ละกิ่งมีระบบ เน้นระเบียบกิ่งเป็นสำคัญ แตกต่างจากการเล่นบอนไซของต่างประเทศที่ไม่เน้นระบบกิ่ง 1 2 3 มากนัก เพียงแต่เมื่อเป็นไม้จบต้องได้ทรงพุ่ม มองในภาพรวมแล้วเป็นโครงสร้างแบบไม้ใหญ่เท่านั้น
จึงไม่แปลกที่นักเล่นบอนไซหลายคนจะยัง “ถก” เรื่องรูปแบบโครงสร้างกิ่ง 1 2 3 ของบอนไซอยู่ เพราะพื้นฐานการเล่นบอนไซของบ้านเราเป็นอย่างนั้น
ทุกแนวคิดไม่มีถูก-ไม่มีผิด เพียงแต่ว่าใครจะชินตาแบบไหนเท่านั้น..!!
ลักษณะบอนไซ ทั้งไทย และต่างประเทศ
บอนไซแบบไทยๆ ก็มีความสวยงามในเรื่องของระเบียบ ลีลากิ่ง เมื่อมองจากด้านหน้าจะเห็นโครงสร้างระบบกิ่งทุกกิ่งอย่างชัดเจน ไม่มีกิ่งใดบดบังกันเด็ดขาด หากกิ่งใดอยู่ในตำแหน่งไม่เหมาะสมก็ตัด แล้วรอให้กิ่งงอกใหม่ จนกว่าจะได้กิ่งในตำแหน่งที่พอใจ
ส่วนบอนไซต่างประเทศมีรูปแบบหลากหลาย ไม่จำกัดรูปแบบการสร้างกิ่ง ทุกกิ่งใช้ได้หมด ถ้ากิ่งไหนอยู่ในตำแหน่งไม่เหมาะสมก็เข้าลวดแล้วโยกกิ่งไปในทิศทางที่เหมาะสม แต่พยายามทำออกมาให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งการสร้างโครงสร้างกิ่งแบบต่างประเทศใช้เวลาน้อยกว่าบอนไซไทยมากทีเดียว
ส่วนตัวของคุณละมูลสนใจไม้ไทย อย่าง ตะโกหนู มะขาม มะสัง เกล็ดปลาหมอ และหมากเล็กหมากน้อย เป็นพิเศษ โดยให้เหตุผลว่าไม้ไทยเป็นไม้พื้นเมือง ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย ราคาถูก และสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้ไม่น้อยไปกว่าไม้ต่างประเทศนัก
ขณะที่ไม้ต่างประเทศราคาค่อนข้างสูง ไม้บางชนิดปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศประเทศไทยได้ไม่ดีนัก ยิ่งถ้าเป็นมือใหม่ด้วยแล้ว โอกาสที่ไม้จะเสียหายก็มีมากขึ้น เว้นแต่ไม้จำพวกไทรจีนต่างๆ ที่ปรับตัวได้ดีในเมืองไทย
การสร้างบอนไซหลากหลายรูปแบบ ทั้งไทย และต่างประเทศ
ในส่วนของคุณละมูลมองว่าการเล่นบอนไซควรเล่นให้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าแบบไทย หรือ ต่างประเทศนอกจากนั้นยังมีการเล่นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นทรงต้น ทรงตกกระถาง ทรงลู่ลม กลุ่มกอ สวนป่า หรือ ป่ารากเดียว เพื่อไม่ให้ตัวผู้เล่นเองเกิดความเบื่อหน่าย ทั้งยังเป็นการสร้างบอนไซรูปแบบใหม่สู่สายตานักเล่น และวงการ ด้วย
พร้อมกับมองอนาคตบอนไซไทยไว้ว่ายังเดินไปได้อีกไกล เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจบอนไซมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะซื้อไม้สร้าง 70-80% เพื่อนำไปสร้างตอเล็กน้อยก่อนเป็นไม้จบ
“คนที่อยากเล่นบอนไซยังมีอีกมาก อนาคตบอนไซจะโตไปเรื่อยๆ มีนักเล่นหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น ไม่รู้ว่าจะมีไม้เพียงพอสำหรับคนรุ่นใหม่หรือไม่ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นต้องมีการปลูกไม้สำหรับสร้างตอบอนไซไว้เป็นรุ่นๆ ไม่อย่างนั้นคนรุ่นหลังอาจจะหาไม้สำหรับสร้างบอนไซได้ยากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่อยากได้ไม้ตอนไหนก็ไปขุดจากป่ามาได้” คุณละมูลออกความคิดเห็น และแสดงความห่วงใย
ฝากถึง…มือใหม่ที่สนใจเลี้ยงบอนไซ
พร้อมกับฝากถึงมือใหม่ที่อยากจะลองเข้ามาสัมผัสวงการบอนไซว่า “การสร้าง และเลี้ยงบอนไซไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ธรรมดาของคนรักไม้ หลังจากซื้อไม้ไปแล้วจะหมั่นดูแล ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แตกต่างจากคนที่ต้องการค้ากำไรจากบอนไซเพียงอย่างเดียว คิดแต่ว่าอยากประกวด อยากขายได้ แต่ไม่หมั่นดูแลเอาใจใส่ ไม่นานไม้ก็จะหมดความสวย เพราะไม่รู้จักการดูแลที่ถูกต้อง
“อยากให้นักเล่นทดลองสร้างไม้หลายๆ แบบ อย่าทำแบบเดียว นอกจากทรงต้นที่เป็นพื้นฐานแล้ว ลองสร้าง ทรงโคนคู่ ทรงตกกระถาง กลุ่มกอ ทรงเอี่ยว ดูบ้าง ลองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ค้นหาความแปลกใหม่ อย่าหยุดนิ่ง แล้วเราก็จะได้รู้ว่าในบอนไซยังมีอีกหลายอย่างให้เราได้ค้นหา
“ในความเป็นจริงการทำบอนไซสามารถทำเชิงปริมาณ เป็นอาชีพได้ แต่ว่าเราอย่าไปยึดติดกับการค้าขายจนเกินไป บางคนทำได้ไม่ดีนักหรอก เพราะคิดแต่จะขาย แต่ถ้าเราทำเพราะรู้สึกว่าอยากทำมันจะออกมาดี แล้วมูลค่าจะตามมาเอง”
ขอขอบคุณ
คุณละมูล รอดอ่อน
โทร. 08-9807-9667