ปัจจุบันการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อรายได้ และการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทย เพราะการพึ่งพารูปแบบการเลี้ยงตามธรรมชาติ หรือเลี้ยงแบบไล่ทุ่งเพียงอย่างเดียว อาจไม่ตอบโจทย์ในเรื่องขายได้ราคาต่ำ และสเป็คไม่ตรงตามความต้องการของตลาดโคเนื้อ โคบราห์มัน
การปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อ
ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงเพื่อความมั่นคงของอาชีพ นั่นคือ หันมาให้ความสำคัญในการเลี้ยงรูปแบบการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อ จากโคพื้นเมืองมาเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งโคเนื้อที่ได้รับการพัฒนาและเสาะหาสายพันธุ์ที่เหมาะจะเลี้ยงในประเทศไทยตามท้องถิ่นต่างๆ มีทั้งวัวเนื้อที่ถูกนำเข้ามา
โดยยังคงมีสายพันธุ์แท้ดั้งเดิมของประเทศนั้นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด และวัวเนื้อพันธุ์ผสมที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์แล้ว วัวเนื้อพันธุ์ผสม และวัวเนื้อพันธุ์แท้ต่างประเทศ ที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ วัวเนื้อพันธุ์ตาก วัวเนื้อพันธุ์กบินท์บุรี วัวเนื้อพันธุ์กำแพงแสน วัวเนื้อพันธุ์แองกัส วัวเนื้อพันธุ์อเมริกันบราห์มัน วัวพันธุ์โคจิมะ เป็นต้น
รู้จักปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เพื่อความมั่นคงในอาชีพ
คุณสุวิทย์ รักษ์ชัยภูมิ วัย 61 ปี เกษตรกรดีเด่นปี พ.ศ.2558 สาขาอาชีพปศุสัตว์โค จ.ชัยภูมิ เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่เริ่มต้นเลี้ยงวัวพื้นเมืองแบบไล่ทุ่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 แต่เพื่อความอยู่รอดและมั่นคงในอาชีพจึงต้องปรับเปลี่ยนให้ทันตามยุคสมัยเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทำให้มีรายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อรูปแบบปรับปรุงสายพันธุ์แล้วส่งขายให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยปัจจุบันคุณสุวิทย์พัฒนาสายพันธุ์แล้วส่งขายตลาดได้กำไรงามเฉลี่ย 55,000-100,000 บาท/ตัว
คุณสุวิทย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองไข่น้ำ ต.กะฮาด อ.เนินสง่า จ.ชัยภูมิ จดทะเบียนฟาร์มโคเนื้อในนาม “โนนชัยฟาร์ม” แต่ในวงการจะรู้จักกันในชื่อ “รักษ์ชัยภูมิฟาร์ม” โดยปัจจุบันเลี้ยงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์แล้วส่งขายโดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งโคเนื้อสายพันธุ์ “บราห์มันเลือดร้อย” และลูกผสม รวมจำนวนที่เลี้ยงประมาณ 30 ตัว โดยเลี้ยงบนพื้นที่จำนวน 6 ไร่ มีแบ่งปลูกหญ้าเนเปียร์ไว้ 3 ไร่
นอกจากนี้คุณสุวิทย์ยังมีรายได้เสริม ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเรียกได้ว่า เป็นรายได้หลักอีกช่องทางหนึ่งก็ว่าได้ คือ การเลี้ยงหมูขุนรูปแบบรับจ้างเลี้ยง หรือ “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” กับรายใหญ่ในประเทศ โดยมีจำนวน 2 โรงเรือน จำนวนที่เลี้ยง 1,300 ตัว (650 ตัว/โรงเรือน) และเลี้ยงในฟาร์มปิดระบบอีแวป (EVAP) ที่ได้มาตรฐาน ส่วนการประกันราคาหมูกับคอนแทรคฟาร์มมิ่งรับซื้อราคา 2.60 บาท/กก.
คุณสุวิทย์เปิดเผยถึงเหตุผลของการเลือกเลี้ยงโคเนื้อตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันยังยึดอาชีพเลี้ยงโคเนื้ออยู่ แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์ให้ทีมงาน “นิตยสารสัตว์บก” ฟังว่า เพราะสภาพพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการทำเกษตร เพราะมีแหล่งน้ำน้อย จึงมองว่าปลูกพืชผักขายคงไม่เหมาะ จึงตัดสินใจเลือกยึดอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมาโดยตลอด
“สมัยก่อนผมเลี้ยงวัวพื้นเมืองแบบไล่ทุ่ง เลี้ยงอยู่ประมาณ 30 ตัว และส่งขายได้ราคาเพียงตัวละ 5,000 บาท ผมจึงเริ่มศึกษาการเลี้ยงรูปแบบปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาเองจากสื่อนิตยสารต่างๆ ถามผู้รู้ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาโดยตลอด อาศัยว่าใจรักอาชีพนี้ไม่ย่อท้อ
การปลูกหญ้าเนเปียร์ ในพื้นที่ 3 ไร่
ปัจจุบันผมใช้พื้นที่ในการเลี้ยง 6 ไร่ ปลูกหญ้าเนเปียร์ 3 ไร่ โดยสร้างโรงวัวประมาณ 1 ไร่ รวมที่อยู่อาศัยของตัวเองด้วย จำนวนวัวที่เลี้ยงประมาณ 30 ตัว ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์บราห์มันลูกผสม มีบราห์มันแท้ประมาณ 4 ตัว มีตัวผู้มี 1 ตัว ไว้คุมฝูง ในส่วนการพัฒนาสายพันธุ์ใช้รูปแบบทั้งผสมจริง และใช้น้ำเชื้อโดยสั่งจากบริษัทที่จัดจำหน่ายชั้นนำราคา 1,000-2,500 บาท/หลอด ซึ่งโอกาสมีทั้งผสมพลาด และผสมติด ซึ่งไม่ว่าจะพลาดกี่ครั้ง แต่หากผสมเทียมติดก็ถือว่าคุ้ม” คุณสุวิทย์กล่าว
อย่างที่กล่าวว่าคุณสุวิทย์เน้นเลี้ยงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์เพื่อยกระดับโคเนื้อแล้วจึงขายลูก โดยตัวเมียตัวไหนสรีระสวยงาม สมบูรณ์ แข็งแรง ตรงตามตำรามาตรฐาน ก็จะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้คุณสุวิทย์เคยร่วมส่งโคเนื้อเข้าประกวดแข่งขันชิงชัยในโครงการและนิทรรศการประกวดโคกระบือตามสถานที่ต่างๆ ในแต่ละปี มีทั้งได้และไม่ได้รับรางวัล แต่ไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่ได้แน่นอน คือ ประสบการณ์ และเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์ในด้านองค์ความรู้ให้คุณสุวิทย์นำกลับมาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป
“การปรับปรุงพันธุ์ เหมาะสำหรับเป็นโคพื้นฐานเพื่อผลิตโคเนื้อคุณภาพดี ซึ่งสำหรับโคพันธุ์บราห์มันนิยมเลี้ยงกันทั่วทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งใช้เป็นโคเอนกประสงค์ทั้งในแง่ผลิตโคพันธุ์แท้ โคลูกผสม โคเนื้อ หรือ โคนม โดยใช้เป็นแม่พื้นฐานในการสร้างสายพันธุ์โคพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะกับโคพันธุ์เนื้อสายเลือดยุโรป เพื่อนำลูกไปเลี้ยงผลิตเป็นโคขุนต่อประเทศไทยเราเอง มีการนำเข้า โคบราห์มัน ทั้งสองสายพันธุ์ คือ อเมริกันบราห์มัน และออสเตรเลียนบราห์มัน เข้ามาเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 40 ปี และจัดเป็นโคพันธุ์หลักพันธุ์หนึ่งที่ใช้ในการผสมพันธุ์เพื่อยกระดับสายเลือดของโคพันธุ์พื้นเมืองของไทยมาโดยตลอด” คุณสุวิทย์กล่าว
ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยง โคบราห์มัน
ข้อดี
1.ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศร้อนของเมืองไทยได้ดี
2.ทนทานต่อโรค และแมลง โตเร็ว
3.เหมาะสำหรับเป็นโคพื้นฐานเพื่อผลิตโคเนื้อคุณภาพดี และโคนม เช่น ผสมกับพันธุ์ชาร์โรเล่ส์เพื่อ
ผลิตโคขุน ผสมกับพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน (ขาวดำ) เพื่อผลิตโคนม และผสมกับพันธุ์ซิมเมนทัลเพื่อผลิตโคกึ่งเนื้อ กึ่งนม
4.สามารถใช้งานได้
ข้อเสีย
1.เป็นโคพันธุ์ที่มีอัตราการผสมติดค่อนข้างต่ำ ให้ลูกตัวแรกช้า และให้ลูกค่อนข้างห่าง
2.ส่วนใหญ่เลือกกินเฉพาะหญ้าที่มีคุณภาพดี เมื่อหญ้าขาดแคลนจะทรุดง่าย ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อ
ปล่อยเข้าแปลงหญ้าจะเดินตระเวนไปทั่วแปลงหญ้าก่อน แล้วจึงค่อยเลือกกินหญ้า
พัฒนาสายพันธุ์ส่งขาย สร้างรายได้ร่วม 6 หลัก!
ปัจจุบัน “โนนชัยฟาร์ม” หรืออีกชื่อ คือ “รักษ์ชัยภูมิฟาร์ม” ของคุณสุวิทย์ มีการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อลูกผสมบราห์มันจนเกือบได้ระดับ F5 แล้ว โดยปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการโคเนื้อที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ของ “รักษ์ชัยภูมิฟาร์ม”
โดยมีจำหน่ายทั้งลูกผสมบราห์มันตัวเล็กราคาขายได้ 55,000 บาท (เลี้ยงอายุ 6 เดือนขึ้นไป) และวัวสาวท้องอายุประมาณ 2 ปีครึ่ง ขายได้ประมาณ 95,000 บาท ทั้งนี้ “รักษ์ชัยภูมิฟาร์ม” ได้รับการสนับสนุนจากปศุสัตว์จังหวัด ในการช่วยประชาสัมพันธ์ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น พร้อมทั้งได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มลูกค้า และตลาดเป็นวงกว้าง
การบริหารจัดการวัว
สำหรับการบริหารจัดการ “โนนชัยฟาร์ม” หรือ “รักษ์ชัยภูมิฟาร์ม” โดยคุณสุวิทย์เล่าว่า ในแต่ละวันช่วงเช้าจะเข้าไปทำความสะอาดโรงเรือน หลังจากนั้นให้ฟาง 3 ก้อน และหญ้าเนเปียร์จำนวนหนึ่ง เพื่อวัวกินตอนเช้า ทั้งนี้คุณสุวิทย์ปลูกหญ้าเนเปียร์เอาไว้ 3 ไร่ สามารถตัดและเก็บเกี่ยวให้วัวมีกินตลอดทั้งปี ส่วนช่วงกลางวันจะเพิ่ม “แร่สำหรับวัว” จำนวน 2 ก้อนๆละ 2 กิโลกรัม เพื่อบำรุงวัว ช่วยในการเจริญเติบโต และความสมบูรณ์พันธุ์
ส่วนโรคไม่มีปัญหาเพราะทำวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์อำเภอ โดยทำปีละ 2 ครั้ง ในส่วนแหล่งน้ำเลี้ยงวัวใช้น้ำบาดาลที่มีความสะอาด ทั้งนี้คุณสุวิทย์บอกว่าการเลี้ยงวัวไม่มีอะไรน่าห่วง นอกจากเข้าสู่หน้าแล้ง หรือในฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนจะมีผลต่อวัว วิธีแก้ปัญหา คือ ไม่ปล่อยให้วัวออกมาในช่วงเวลาแดดจัด
“ผมเลี้ยงวัวรูปแบบปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ ดูแลบริหารจัดการกันแบบครอบครัว มีแฟนกับลูกมาช่วยทำ ข้อดีของการเลี้ยงพัฒนาสายพันธุ์ คือ เราไม่ต้องเฝ้าดูแลทั้งวันเหมือนกับการเลี้ยงไล่ทุ่ง เพราะทุกๆ อย่างเราวางแผนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้มีเวลาเหลือเพิ่มมากขึ้น โดยนำไปบริหารจัดการฟาร์มหมูได้อีกด้วย
นอกจากนี้ผมยังมีบ่อไบโอแก๊ส นำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนได้ โดยลักษณะขุดเป็นบ่อดิน ความยาวบ่อขนาด 17 เมตร ลึกประมาณ 2.50 เมตร ติดตั้งมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว ซึ่งช่วยผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ประหยัดค่าไฟได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างสมัยก่อนไม่ทำบ่อไบโอแก๊ส ต้องเสียค่าไฟ 25,000 บาท/เดือน/หลังคาเรือน แต่ตอนนี้พอมีบ่อไบโอแก๊ส เสียค่าไฟแค่ 2,500 บาท/เดือน/หลังคาเรือน”
การพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อ
เมื่อถามถึงการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อของ “โนนชัยฟาร์ม” หรือ “รักษ์ชัยภูมิฟาร์ม” โดยคุณสุวิทย์บอกว่า ในอนาคตตั้งเป้าหมายปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ให้ถึง “เอฟ 5” (F5) โดยคาดการณ์ไว้อีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ยังยึดรูปแบบการผลิตแม่พันธุ์ และทำตลาดจำหน่ายพันธุ์เช่นเดิม พร้อมกับนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการเลี้ยงโคเนื้อ และทำฟาร์มหมูต่อไป
ท้ายที่สุดคุณสุวิทย์ฝากผู้อ่านนิตยสารสัตว์บก รวมถึงเกษตรกรผู้ที่สนใจ และคิดกำลังจะหันมาประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อว่า อาชีพเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ทว่าต้องถามตัวเองก่อนว่ามีใจรัก พร้อมมีเวลาดูแลเอาใจใส่มากน้อยแค่ไหน แต่หากผู้เลี้ยงต้องการจะประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้แม่พันธุ์ผลิตลูกโคให้ได้จำนวนมาก เช่น โดยปกติแม่โคออกลูกได้ปีละตัว เมื่อเข้าระยะหย่านมลูกโคจะมีขนาดใหญ่ และมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด
ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับระบบ หรือวิธีการเลี้ยงดู การให้อาหารที่เหมาะสม สำหรับโคในระยะต่างๆ และการบริหารจัดโรงเรือนที่ดี มีมาตรฐาน ผู้เลี้ยงจึงจะได้รับผลกำไรตอบแทนที่หวังไว้
สูตรสำเร็จ โคบราห์มัน “โนนชัยฟาร์ม”
เทคนิคการคัดเลือกพ่อพันธุ์
1.โครงร่างสวยงาม รูปร่างได้สัดส่วน ตรงตามลักษณะสายพันธุ์
2.สุขภาพแข็งแรง ขามีกล้ามเนื้อเป็นมัด มีความคึก
3.ลูกลักษณะดี สมบูรณ์ โตเร็ว
เทคนิคการคัดเลือกสายพันธุ์
1.รูปร่างสวยงาม เน้นพันธุ์บราห์มันลูกผสม
2.ให้นมลูกดี เลี้ยงลูกเก่ง แข็งแรง โตเร็ว
3.แม่พันธุ์ที่ดีต้องให้ลูกปีละตัว
การจัดการด้านอาหาร
1.ปลูกหญ้าไว้เลี้ยงโค มีแปลงหญ้าสำหรับตัดให้กิน และแปลงหญ้าสำหรับปล่อยแทะเล็ม
2.การเลี้ยงแบบยืนโรง โดยตัดหญ้าให้กินตอนเช้า ปล่อยให้แทะเล็มหญ้าช่วงบ่าย (15:00-17:00 น.) จะมีเวลาเหลือสามารถไปทำอย่างอื่นได้
ขอขอบคุณ คุณสุวิทย์ รักษ์ชัยภูมิ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ และประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองไข่น้ำ ต.กะฮาด อ.เนินสง่า จ.ชัยภูมิ แห่งฟาร์ม “โนนชัยฟาร์ม” หรือ “รักษ์ชัยภูมิฟาร์ม”