โฮย่า (Hoya) เป็นไม้ดอกที่กำลังมาแรง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกขณะ คนไทยรู้จักกันเพียงไม่กี่ชนิด ทั้งที่ โฮย่าเป็นไม้ดอกที่มีลูกเล่นหลากหลาย ทั้งเรื่องความงาม กลิ่นหอมประทับใจ สีสันดอกเด่นสะดุดตา มีขนาดและรูปร่างของดอกและใบต่างกันตามสายพันธุ์ และยังปลูกเลี้ยงง่ายในทุกสภาพพื้นที่
ปัจจุบันการจัดสวนแนวตั้งกำลังมีบทบาทอย่างมากในการตกแต่งอาคารสถานที่ ใช้พื้นที่น้อย แต่ต้องการพื้นที่สีเขียวมากขึ้น โฮย่าจึงเป็นพันธุ์ไม้ที่ตอบสนองความต้องการต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างลงตัว
การปลูกเลี้ยงโฮย่า
โฮย่าเป็นไม้เถาเลื้อยใบอวบน้ำ ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม จึงมีชื่อไทยว่า “นมตำเลีย” ลักษณะดอกเป็นช่อ ภายใน 1 ช่อ ประกอบด้วยดอกเล็กหลายดอก ตรงกลางของแต่ละดอกมีส่วนที่เรียกว่า “มงกุฎ” ขนาดของช่อดอกและรูปแบบแตกต่างกันแต่ละสายพันธุ์ มีตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กมาก ดอกมีความมันเงา
คุณพีระกิจ พุฒิพิบูล (พี) และ คุณนัทธมน กาหรั่ง (อ๊ะ) สามีภรรยาผู้ผลิตโฮย่า อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มีจุดขายจุดแข็งด้านการตลาดที่โดดเด่นในแบบฉบับของตนเอง และทำไมเขาถึงเลือกปลูกเลี้ยงโฮย่า ในบทความนี้มีคำตอบ ต้องอ่านต่อ!
โฮย่า หลากหลายสายพันธุ์มากถึง 200 สายพันธุ์
สวนหลังบ้านเริ่มมาจากเขาและเธอทั้งคู่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่กรุงเทพฯ และมีความจำเป็นต้องเดินทางมาดูแลพ่อกับแม่ที่บ้านเกิด จ.ราชบุรี อยู่บ่อยครั้ง จึงมีความคิดอยากหางานอะไรทำขณะอยู่ที่บ้านด้วย และประกอบกับภรรยาเป็นคนชอบปลูกเลี้ยงต้นไม้มากมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก
ต่อมาได้รู้จักต้นโฮย่าด้วยความบังเอิญจากร้านกาแฟสด มองว่ามีดอกสวย น่ารัก แปลกตา จึงขอซื้อต่อ โดยใช้พื้นที่เล็กๆ หลังบ้านในการปลูก และซื้อเก็บสะสมพันธุ์มาเรื่อยๆ เมื่อต้นออกดอกสะพรั่ง สวยงาม จึงอยากถ่ายภาพเก็บไว้ลงเฟสบุ๊ก ปรากฏว่ามีคนอยากได้ และติดต่อขอซื้อจำนวนมาก จนวันนี้เรียกได้ว่ารายได้เสริมกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัวไปแล้ว จึงได้ชื่อว่า สวนหลังบ้าน นั่นเอง
ปัจจุบันสวนแห่งนี้ยังเก็บสะสมโฮย่าหลากหลายสายพันธุ์มากถึง 200 สายพันธุ์ โดยโฮย่าของเขามีชื่อพันธุ์ที่ถูกต้อง ติดทุกต้น“ส่วนใหญ่คนไทยมักรู้จักแต่โฮย่าใบรูปหัวใจ แต่จริงๆ แล้วโฮย่ามีความหลากหลายทางสายพันธุ์สูง ในประเทศไทยมีโฮย่ามากกว่า 400 สายพันธุ์ ถ้ารวมทั่วโลกน่ามีถึง 700 สายพันธุ์” คุณพีระกิจกล่าว
ลักษณะของโฮย่า
โฮย่ามีคุณสมบัติเฉพาะตัวด้านความหลากหลายของขนาด และรูปร่าง ใบและดอก สีสันของดอก และรูปทรงของมงกุฎ (corona) ทำให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของคนรักไม้ดอกไม้ประดับ และนักเล่น นักสะสม โฮย่าอย่างมาก
อันดับแรก คือ ดอก โดยเฉพาะสีของดอก ดอกมีลักษณะเป็นรูปดาว มีกลีบดอก 5 กลีบ มงกุฎ 5 แฉกอยู่กลางดอก ออกดอกที่ก้านดอกเดิมเสมอ ก้านดอกใหม่จะมากับกิ่งใหม่เท่านั้น กลีบดอกมีทั้งชนิดมันวาว และชนิดมีขน ขนาดช่อดอกแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น บางสายพันธุ์มีดอกเฉพาะฤดู และบางสายพันธุ์ออกดอกตลอดปี เป็นต้น
กลิ่น มีหลากหลาย เช่น บางพันธุ์มีกลิ่นหอม หอมมาก หอมน้อย บางพันธุ์ไม่มีกลิ่น หรือมีกลิ่นฉุนถึงเหม็น มีกลิ่นหอมช่วงเวลากลางคืน บางพันธุ์มีกลิ่นทั้งกลางวัน และกลางคืน และบางพันธุ์กลิ่นหอมคล้ายผิวเปลือกของผลไม้ เป็นต้น ถ้าไม่มีดอกก็ยังชมความงามของ
ใบ ได้ ด้วยลักษณะของภูมิประเทศแบบต่างๆ ตามแหล่งกำเนิด ทำให้โฮย่ามีลำต้น ทั้งเป็นไม้เลื้อย และไม้พุ่ม มีใบแตกต่างกันออกไป จะเล่นที่ใบก็มีความหลากหลายไม่แพ้ดอกเลย ตั้งแต่รูปแท่งคล้ายดินสอ รูปกลม รูปไข่ รูปใบโพธิ์ รูปขนาน รูปหัวใจ รูปสี่เหลี่ยม แถบกว้าง แถบแคบ บางชนิดมีผิวใบหยาบเหมือนแผ่นหนัง หรือมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม
นอกจากนี้ยังมีลักษณะการเรียงของใบแตกต่างกัน มีทั้งใบเรียงตัวแบบตรงข้าม และใบเรียงตัวรอบข้อ ใบกว้าง มีเส้นใบเรียงจากฐานใบ 5 เส้น, ใบแคบ มีเส้นใบเรียงจากฐานใบ 3 เส้น บางสายพันธุ์มีชื่อและดอกเหมือนกัน มีความแตกต่างกันที่ใบ แบ่งเป็นใบยาว และใบสั้น เกิดจากมีแหล่งกำเนิดต่างถิ่นกัน หรือบางสายพันธุ์ลักษณะต้นเหมือนกัน แต่มีลักษณะดอกต่างกัน บางกลุ่มมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก การแยกสายพันธุ์จะสังเกตใบต้องใช้ความชำนาญอย่างสูง
ด้วยความงามของสีและรูปลักษณ์ที่มีความโดดเด่นและความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน สร้างความน่าสนใจ ดึงดูดสายตา ชวนให้หลงใหลจนมัดใจบรรดานักเล่น นักสะสม อย่างมาก
การพัฒนาสายพันธุ์โฮย่า
โฮย่าเป็นพืชที่ผลิตลูกผสมได้ยากมาก เนื่องจากโครงสร้างของดอกมีขนาดเล็ก และมีเหลี่ยมมุมที่ไม่เอื้อต่อการผสม ทำให้ไม่ค่อยมีลูกผสมในท้องตลาดมากนัก และลูกผสมที่ได้เกือบทั้งหมดมาจากความบังเอิญของผู้ปลูกเลี้ยง
ทำให้ความหลากหลายของต้นโฮย่าเกือบทั้งหมด เป็นความแตกต่างตั้งแต่ดั้งเดิมจากธรรมชาติ (Natural clone) จึงเป็นเสน่ห์ที่สำคัญในการสะสมความแตกต่างหลากหลายชนิดของโฮย่า ที่มีความผันแปรทางพันธุกรรมแตกต่างกันไป ทั้งด้านสีสัน รูปทรง ลวดลาย ขนาด และกลิ่นของดอก
ในทางกลับกันสำหรับนักปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาสายพันธุ์โฮย่าจึงเป็นสิ่งท้าทายความสามารถ ในการคิดหาวิธีผสมเกสร เพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีความแปลกใหม่ ให้ได้ดอกโฮย่าที่มีคุณสมบัติดีเลิศมากยิ่งขึ้น“ส่วนใหญ่ใช้วิธีผสมเกสร และเพาะเมล็ด เมื่อดอกพัฒนาขึ้นสมบูรณ์ต้นจะติดฝัก รอกระทั่งฝักแห้งจึงนำมาเพาะต่อไป เนื่องจากเมล็ดมักมีการกลายพันธุ์ ทำให้พบพันธุ์ใหม่ๆ หรือเป็นการคัดพันธุ์โดยธรรมชาติ ด้วยแมลงนำเกสรของพันธุ์อื่นข้ามมาติดเกสรอีกพันธุ์หนึ่ง ทำให้เกิดลักษณะพิเศษ” คุณพีระกิจกล่าว
เทคนิคการปลูกเลี้ยงโฮย่า
คุณพีระกิจบอกเทคนิคการปลูกเลี้ยงโฮย่าว่าไม้ประเภทนี้เป็นไม้วงศ์เถาวัลย์ จะอาศัยเกาะยึดกับต้นไม้ใหญ่ ไม่ชอบน้ำแฉะ หรือมีน้ำขัง เพราะต้นจะเน่าตาย การดำรงชีพจะใช้น้ำอย่างเดียวสามารถอยู่ได้ ต้องการแสงแดดรำไร สวนจะเลี้ยงภายใต้ตาข่ายพรางแสง 80% เนื่องจากบริเวณสวนเป็นที่โล่งแจ้ง และพื้นที่ค่อนข้างต่ำ อากาศไม่ถ่ายเทเท่าที่ควร
วัสดุปลูก
วัสดุปลูก จึงควรมีคุณสมบัติระบายน้ำ และอากาศดี อุ้มน้ำดี สวนหลังบ้านจะใช้กาบมะพร้าวสับ และขุยมะพร้าว เป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูก ก่อนนำมาใช้ควรแช่น้ำเสียก่อนเพื่อละลายสารแทนนินออกไป เป็นน้ำสีน้ำตาล สารนี้มีผลต่อระบบรากของพืชทำให้ไม่เจริญเติบโต โดยแช่น้ำอย่างน้อย 1 คืน และเปลี่ยนน้ำอย่างน้อย 3 รอบ
การให้น้ำและปุ๋ยโฮย่า
การให้น้ำ ปกติรดวันละ 1 ครั้ง ช่วงเช้า หรือเย็น ถ้าจะให้ดีต้องศึกษาและสังเกตสายพันธุ์ด้วยว่าเป็นโฮย่ามีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด เช่น มาจากโซนป่าฝน ให้รดน้ำทุกวัน เป็นต้น คุณพีระกิจบอกวิธีสังเกตว่าต้นใดชอบน้ำมากหรือน้อย
โดยดูที่ใบ ต้นที่มีใบเล็ก และแข็ง คล้ายกระบองเพชร แสดงว่าต้นนั้นชอบแดดจ้า ถ้าต้นไหนมีใบใหญ่ หนา และแข็ง เป็นโฮย่าที่มาจากป่าฝน จะชอบน้ำมาก และถ้าเป็นโฮย่าโซนเอเชียอาคเนย์จะมีใบแบบทั่วไป และนิ่ม จะชอบน้ำปานกลาง ไม่มากจนเกินไป ส่วนการให้ปุ๋ย ปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอ ทุกๆ 3 เดือน และอาหารเสริม เป็นปุ๋ยน้ำบำรุงต้นและใบให้แข็งแรง
การป้องกันกำจัดโรค-แมลง และศัตรูพืช
ศัตรูพืช แมลงที่พบบ่อย คือ เพลี้ยอ่อน เจาะดูดน้ำเลี้ยงตามปลายยอด และดอก ป้องกันกำจัดโดยฉีดยาฆ่าแมลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นประจำ และจะพบแมลงหวี่ขาวส่วนน้อย จะมาอาศัยอยู่ในวัสดุปลูก ทำให้เสื่อมเร็ว แต่ไม่เป็นอันตรายต่อ โฮย่า ให้คอยเปลี่ยนวัสดุปลูกทุกๆ 3-6 เดือน
โรคปีศาจของ โฮย่า คือ โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose) ทำให้ใบเป็นจุดสีน้ำตาลดำ, โรครากเน่า อาการส่วนบนของต้น ใบ ก้านช่อเหลือง เหี่ยว หรือแห้ง และโรคใบจุด ใบไหม้ หมั่นคอยสังเกตต้นอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคในระยะเริ่มแรกจะทำให้ง่ายในการดูแลรักษา ป้องกันกำจัดโดยฉีดยาป้องกันเชื้อรา
การขยายพันธุ์โฮย่า
มี 2 วิธี คือ การปักชำ และการเพาะเมล็ด ทางสวนจะใช้วิธีปักชำกิ่ง เป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด
การเจริญของรากขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ที่มาจากโซนป่าฝนใช้เวลาเพียง 7-10 วัน ถ้าเป็นพันธุ์จากโซนร้อนใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ กว่ารากจะงอก เป็นต้น “ถ้าต้นมีรากแล้วสวนจะยังไม่ขาย แต่จะรอให้ต้นแตกยอด มีใบจริงก่อน เพราะลูกค้าบางคนยังเป็นมือใหม่ ไม่รู้นิสัยการรดน้ำ โฮย่า แล้วต้นจะเน่าตายง่าย สวนจึงรอให้ต้นมีใบก่อน เท่ากับมีอนาคต ต้นจะโตเร็ว จึงนำมาจำหน่าย” เจ้าของสวนกล่าว
สายพันธุ์โฮย่า
คุณพีระกิจให้ข้อมูลว่าลูกค้าจะเลือกดูลักษณะที่มีดอกขนาดใหญ่ ทรงกลม มีสีสันสดใส คนไทยจะไม่ค่อยชอบดอกที่มีขนาดเล็ก แต่ข้อดีของดอกเล็ก คือ ดอกดก ทรงห้อยลงมาคล้ายเดฟ
สายพันธุ์ยอดฮิตเป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นหอม เพราะสายพันธุ์ โฮย่า ร้อยละ 70 มีกลิ่นหอมทั้งหมด โดยจะแบ่งอีกว่าพันธุ์ใดบ้าง ที่หอมตลอดทั้งวันทั้งคืน พันธุ์ใดหอมเฉพาะช่วงกลางคืน เนื่องจาก โฮย่า เป็นไม้ป่าที่บานกลางคืนและจะมีกลิ่นขณะบานเท่านั้น เมื่อถึงเช้าถูกแสงกลิ่นจะจางหายไป
พันธุ์ที่มีกลิ่นหอมทั้งวัน ทั้งคืน เช่น พันธุ์ Hoya carnosa, Hoya parasitica และ Hoya finlaysonii (กลิ่นคล้ายตะไคร้หอม) เป็นต้น มีกลิ่นที่หลากหลายมาก พันธุ์ที่มีกลิ่นฉุน แต่มีดอกสวย เช่น พันธุ์ Hoya graveolens เป็นต้น
ด้านการตลาดโฮย่า
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักเลี้ยง นักสะสม โฮย่า กลุ่มคนชอบไม้ดอกไม้ประดับ พนักงานออฟฟิศ และกลุ่มพ่อค้าคนกลางประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศแถบยุโรป เช่น สวีเดน บราซิล และตุรกี เป็นต้น
วิธีทำตลาด คุณพีระกิจเล่าว่า “เมื่อปลูกเลี้ยงแล้วต้นมีดอกสวย เราก็อยากให้คนอื่นเห็นด้วย จึงถ่ายภาพลงเฟสบุ๊ก เมื่อคนรู้ว่าเป็น โฮย่า คนก็เริ่มมาติดตามแฟนเพจ และด้วยความที่เราเป็นคนขยัน มีมุมมองในการนำเสนอ ถ่ายภาพด้วยความพิถีพิถัน และมีความประณีตซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพันลวด การล๊อคกระถาง เขียนชื่อสายพันธุ์ทุกต้น ที่สำคัญต้องทราบลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์ และพยายามนำเสนอตรงจุดนั้นให้น่าสนใจ
“ลูกค้าหลายคนกลับมาซื้ออีก เกิดจากการซื้อไป ชอบใจ และบอกต่อ บางท่านซื้อทุกอาทิตย์ที่โพสขาย เพราะ “เราใช้ใจคัดคุณภาพ” อาศัยประสบการณ์ สอบถามผู้รู้ในวงการ ให้คำแนะนำเรื่องการส่งออกต่างประเทศ และถือเป็นเกียรติที่นายกสมาคม โฮย่า จากต่างประเทศ เคยสั่งซื้อ โฮย่า จากสวนของเรา และชมกลับมาอีกด้วย” คุณพีระกิจบอกวิธีมัดใจลูกค้าด้วยคุณภาพ และความซื่อสัตย์
การจำหน่ายโฮย่า
ช่องทางการจำหน่าย สามารถติดต่อสั่งซื้อทางเว็บไซต์ และสิ้นปีนี้สวนจะเปิดให้เข้าชม และเลือกซื้อได้อย่างเพลิดเพลิน มีทั้งขายปลีก และขายส่ง เน้นขายไม้นิ้ว คือ กิ่งชำที่แตกใบแล้ว บางต้นอาจมีดอกให้ด้วย และไม้รุ่นต้นสวย แข็งแรง ราคาขึ้นกับสายพันธุ์ ความหายาก การปลูกเลี้ยง และขนาดของต้น ราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักไม่ถึงร้อย ถึงหลักหลายพันบาท ขายได้ 400-700 ต้น/เดือน แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั่นเอง
เจ้าของสวนแนะนำมือใหม่ว่าให้เลี้ยงพันธุ์ธรรมดาพื้นๆ เช่น พันธุ์ Hoya carnosa และ Hoya densifolia เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เลี้ยงง่าย ออกดอกง่าย เพื่อให้ได้รู้พื้นฐานการเลี้ยงก่อน แล้วจึงค่อยขยับเป็นชนิดที่เลี้ยงยากขึ้น ดอกสวยขึ้น ก็ได้
สถานการณ์ตลาดโฮย่า
ปัจจุบันขณะนี้มีความนิยมสูงมาก พ่อค้า แม่ค้า เริ่มนำมาขายกันมากขึ้น ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของพ่อค้า แม่ค้า มือใหม่ คือ การตั้งราคาสินค้า ทั้งนี้ควรคำนวณจุดคุ้มทุนให้รอบคอบ อย่าตัดราคาคู่แข่งจนตัวเองไม่มีกำไร เพราะหากตั้งราคาสินค้าของเราถูกกว่าความเป็นจริงมากเกินไป อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อมั่น และเป็นการทำลายราคาในท้องตลาด ส่งผลให้พวกเขาเลิกใช้สินค้าของเรา เพราะคิดว่าคุณภาพคงลดตามราคาไปด้วย
รูปแบบของโฮย่า
โฮย่า ไม้ประดับที่มีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ทั้งไม้แขวน ไม้กระถาง หรือไม้จัดสวน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แนวดิ่ง มีพื้นที่จำกัด ปลูกต้นไม้ได้ยาก ถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของไม้ชนิดนี้ เช่น ในพื้นที่ที่เปิดโล่ง ใช้เป็นที่หยุดพักสายตา, มุมสงบส่วนตัวที่จัดวางต้นไม้ไว้อยู่แล้ว หากนำ โฮย่า ไปแขวนเติมเต็มในส่วนที่ว่างด้านบน เพื่อเพิ่มความร่มรื่น และสดชื่น มากขึ้น หรืออาจใช้แบ่งพื้นที่ใช้สอยบังสายตาระหว่างโต๊ะทำงาน เพิ่มความเป็นส่วนตัว เป็นต้น
ขอขอบคุณ สวนหลังบ้าน คุณพีระกิจ พุฒิพิบูล (พี) และ คุณนัทธมน กาหรั่ง (อ๊ะ)
7 ม.8 ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 70130 โทรศัพท์ 08-9922-9467 Line ID: suanlangbang