“อาชีพเกษตรกรนับได้ว่าเป็นอาชีพที่มีมาแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืน และเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญมาก สำหรับคนไทยหลายๆ คนเปลี่ยนมาทำอาชีพการเกษตร จากพนักงานบริษัท หรือแม้แต่ข้าราชการ ก็หันมาเอาดีด้านการเกษตรแล้วหลายท่าน เช่น คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ อดีตข้าราชการทหาร ด้วยความรักในอาชีพการเกษตร สร้างพื้นที่ 13 ไร่ เปลี่ยนรายได้หลักหมื่นเป็นรายได้หลักแสน กลายมาเป็นเกษตรกรต้นแบบอำเภอหาดใหญ่” การเลี้ยงผึ้งโพรง
คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ เกษตรกรต้นแบบเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา
หลายคนสงสัยว่าพื้นที่เพียง 13 ไร่ สร้างรายได้มหาศาลมากขนาดนี้ได้จริงหรอ? เขาทำอย่างไรบ้าง นี่อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรชาวสวนยางก็ได้ วันนี้ทางทีมงานนิตยสาร “พลังเกษตร” ได้นำเรื่องราวดีๆ มาส่งต่อให้ชาวสวนยางพารา เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างรายได้หลายๆ ช่องทาง ท่ามกลางวิกฤตการณ์ราคาน้ำยางตกต่ำ
คุณนิวัฒน์มีความรักในอาชีพการเกษตร และประกอบอาชีพด้านการเกษตรมาประมาณ 20 ปี โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และนำมาปรับปรุงพัฒนากิจกรรมการเกษตรของตนเองบนพื้นที่ 13 ไร่ จนเกิดผลสำเร็จ สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเกษตรกรตัวอย่าง (Smart Farmer) นำเอาความรู้ที่มีมาถ่ายทอดให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่สนใจมาศึกษาดูงานที่สวนของตนอีกด้วย
การให้ความรู้แก่เกษตรกร
เส้นทางสายเกษตรเกิดขึ้นหลังจากที่เขาปลดออกจากข้าราชการทหาร ประมาณปี 2545 เริ่มปลูกยางเต็มพื้นที่จำนวน 10 ไร่ แต่ก็ต้องประสบปัญหากับฤดูกาล อย่างเช่นหน้าฝน ก็ไม่สามารถกรีดยางได้ จึงทำให้ไม่มีรายได้ในช่วงนั้น อีกทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงมาก ทั้งด้านราคาสินค้า และก็ด้านสภาพแวดล้อม เมื่อเป็นอย่างนี้คุณนิวัฒน์จึงน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปรับใช้ จากปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็หันลำมาทำ “เกษตรแบบผสมผสาน” นั่นเอง
การปลูกพืชแซมสวนยางพารา
เริ่มจากการปลูกพืชแซมยางบนพื้นที่ 10 ไร่ แต่ปัญหาก็คือ พอปลูกได้สักระยะยางมีอายุประมาณ 4 ปี กิ่งก้านเริ่มแตกขยายปลกคลุมสวนยาง แสงทะลุผ่านไปยังพืชไม่ได้ พืชก็ไม่ได้ผลผลิต เขาจึงตัดสินใจลดพื้นที่ปลูกยางไปประมาณ 3 ไร่ แล้วมาปลูกพืชผสมผสาน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และขยับขยายซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3 ไร่ เพื่อมาทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างเต็มรูปแบบ
“เราทำไปทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ ทำ โดยที่ว่าไม่ได้กู้ยืมอะไรมากมาย มีเท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ พูดง่ายๆว่าต้นทุนต่ำ แต่ผลผลิตที่ได้เหมือนกับที่ใส่ปุ๋ยเคมี และมีข้อดี ก็คือ เราเก็บได้ระยะยาว พืชทนฝน ทนแล้ง กว่าการใส่ปุ๋ยเคมี” คุณนิวัฒน์เปิดเผย
การจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตร
จากนั้นเขาได้จัดสรรพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน เพื่อทำสวนเกษตรแบบหลากหลาย ให้สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปีดังนี้
- รายได้รายวัน ได้แก่ ยางพารา ผักกูด ผักหวาน ชะอม
- รายได้รายสัปดาห์ ได้แก่ มะนาว กล้วย
- รายได้รายเดือน ได้แก่ หน่อไม้
- รายได้ 3 เดือน ได้แก่ ผึ้งโพรง
- รายได้ 6 เดือน ได้แก่ สุกร
- รายได้รายปี ได้แก่ ปลา ลองกอง
เคล็ดลับ ทางเลือก-ทางรอด เกษตรกรชาวสวนยาง
คุณนิวัฒน์เล่าว่า “สาเหตุที่เปลี่ยนจากการทำสวนยางพารามาเป็นเกษตรแบบผสมผสาน เพราะการทำอย่างเดียวนั้นไม่มีความแน่นอน ราคาไม่แน่นอนอย่างเดียวไม่ว่า คือ ถ้าฝนตกก็กรีดไม่ได้ พอฝนแล้งก็ต้องหยุดให้ยา ยิ่งมาตอนนี้ยิ่งลำบาก ราคายาง 3 กิโลกรัม 100 บาท” ดังนั้นจึงจัดสรรปันส่วนพื้นที่จำนวน 13 ไร่ ออกเป็น 4 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 พื้นที่ 7 ไร่ ปลูกยางพาราพันธุ์ RRIM 600 ปลูกลองกองร่วมยาง 200 ต้น และเลี้ยงปลา (เน้นบริโภคในครัวเรือน)
โซนที่ 2 พื้นที่ 3 ไร่ ปลูกกล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอมทอง และปลูกผักกูดแซมในสวนกล้วย
โซนที่ 3 พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกชะอม ปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ และปลูกผักหวาน
โซนที่ 4 พื้นที่ 2 ไร่ ปลูกผักกูด และปลูกไผ่หวาน
การเลี้ยงผึ้งโพรง
นอกจากพื้นที่ปลูกพืชผัก ผลไม้ ที่แบ่งออกไปตามโซนแล้ว คุณนิวัฒน์ยังเลี้ยงหมู และผึ้งโพรง เพราะมูลขี้หมูนำมาใส่สวนผักได้ และยังเป็นการเพิ่มรายได้อีกทาง จากการทำเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้รวม 865,500 บาท/ปี นอกจากนี้แล้วเขายังลดต้นทุนด้วยการทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ซึ่งในไร่ของเขาไม่มีการใช้สารเคมี 100% จึงทำให้มั่นใจว่าสินค้าที่ผลิตนั้นเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะสิ่งที่ทำนั้นช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นดิน สัตว์ ชนิดต่างๆ ที่อยู่ภายในสวน และรักษาสุขภาพ ทั้งผู้ปลูก และผู้ทาน ด้วย
การบริหารจัดการสวน
เนื่องจากปลูกพืชที่หลากหลาย การดูแลจัดการและการจัดสรรเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากแบ่งเวลาไม่ได้ก็ไม่สามารถจัดการสวนได้ คุณนิวัฒน์มีการจัดการดูแลสวนในแต่ละสวนดังนี้
1.ผักกูด
ปลูกแบบนำต้นมาปลูกโดยตรง “เมื่อก่อนผักนี้เกิดอยู่ริมคลอง ไปถอนมาประมาณ 40-50 ต้น แล้วมาขยายพันธุ์ต่อ ตอนนี้มีเป็นแสนต้น คนสั่งซื้อเยอะก็ขยายไปเรื่อยๆ” คุณนิวัฒน์เผยวิธีการปลูก ปลูกโดยใช้จอบขุดเพียงครั้งเดียวก็สามารถปลูกได้เลย เพราะพืชชนิดนี้จะอยู่หน้าดิน วิธีการดูแลรักษาในช่วงหน้าแล้งต้องให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง เพราะต้องเก็บความชื้นให้พืช ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนไม่ต้องไปดูแลอะไรเยอะ แค่ใส่ปุ๋ยอย่างเดียว วันหนึ่งเก็บผลผลิตได้ 20 กิโลกรัม
2.ผักหวาน
ปลูกในแปลงโดยเว้นระยะห่างระหว่างร่อง 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร การใส่ปุ๋ยจะใส่ปุ๋ยหมัก และฉีดพ่นน้ำหมัก ที่จัดทำขึ้นเอง ใส่เดือนละ 3 ครั้ง หรือใส่เรื่อยๆ เพราะจะเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกวัน หรือวันเว้นวัน
3.ชะอม
การปลูกชะอมให้ได้ผลผลิตดีต้องมีการจัดการน้ำให้ดี เพราะถ้าชะอมได้น้ำดี ชะอมจะแตกยอดอยู่เสมอโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน การดูแลจัดการใส่ปุ๋ย 15 วัน/ครั้ง แต่ในขณะที่ชะอมกำลังแตกยอดควรใส่ปุ๋ยเสริมให้แก่ชะอมด้วย การให้น้ำตามสภาพอากาศ หน้าฝนอาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ยกเว้นฝนทิ้งช่วงหลายวัน หน้าร้อนควรให้น้ำทุกวัน เพื่อให้ชะอมแตกยอดได้ดี หน้าหนาวจะแตกยอดน้อย วิธีการก็คือ ตัดแต่งกิ่ง หรือรูดใบออกให้มาก จากนั้นใส่ปุ๋ยและน้ำ ยอดก็จะแตกออก
4.มะนาว
ปลูกในท่อซีเมนต์ หากมีแมลงก็จะฉีดพ่นน้ำหมัก เพราะจะไม่ใช้สารเคมี และควรใส่ปุ๋ยหมักเรื่อยๆ เก็บเกี่ยวผลผลิตอาทิตย์ละครั้ง ปริมาณมะนาวที่เก็บได้ 20-30 กิโลกรัม/อาทิตย์ ส่งไปขายยังตลาดกิโลกรัมละ 50-60 บาท ในส่วนของการดูแลจัดการก็จะตัดแต่งกิ่ง แต่การตัดแต่งกิ่งไม่ได้เป็นการตัดทิ้ง ตัดเป็นกิ่งตอน เพื่อขายกิ่งละ 70-80 บาท/ต้น
5.ปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง
ปลูกกล้วยบนพื้นที่ 3 ไร่ สายพันธุ์ละ 1 ไร่ “ผมไม่ได้ปลูกแบบเศรษฐกิจขายส่งนอก แต่ปลูกแบบสามารถตัดต้นนี้ แล้วต้นนี้ก็ออกมา” คุณนิวัฒน์เผยถึงการปลูกกล้วยให้ได้ผลผลิตแบบหมุนเวียน การใส่ปุ๋ยสำหรับกล้วยจะใส่ปุ๋ยอยู่เรื่อยๆ เดือนละครั้ง หรือสองเดือนครั้ง เพราะเมื่อใส่ปุ๋ย กล้วย ผักกูด ที่ปลูกแซมด้านล่างก็จะได้รับปุ๋ยด้วย การจัดการต้องมีการตัดแต่งใบเพื่อไม่ให้ใบหนาเกินไป ส่วนใบที่ตัดออกมาก็นำไปทำปุ๋ยหมักได้ ส่วนต้นไหนที่หน่อเยอะก็ทำการตัดแต่งหน่อ โดยดูว่าหน่อไหนเล็ก ไม่สมบูรณ์ ก็ตัดแต่งด้วยการตัดซ้าย ตัดขวา ไม่ให้ขยายใหญ่ขึ้นมา แต่ถ้าหน่อไหนที่สมบูรณ์ก็จะปล่อยไว้ หรือขุดหน่อมาขาย
6.หน่อไม้หวาน รายได้รายเดือน
การปลูกไผ่เพื่อขายหน่อเป็นเกษตรอินทรีย์แบบปลอดสารพิษ เพราะไม่มีการใช้สารเคมี อีกทั้งยังช่วยลดโลกร้อนดีกว่าต้นไม้หลายชนิด ไม่ต้องมีการดูแลจัดการ เมื่อถึงฤดูออกหน่อก็เก็บไปขาย
7. การเลี้ยงผึ้งโพรง รายได้ 3 เดือน
ผึ้งโพรง เมื่อได้ยินชื่อหลายท่านอาจกลัว เพราะผึ้งเป็นสัตว์ที่มีพิษ ตัวเล็ก แต่เหล็กในที่ฝังบนผิวหนังนั้นเจ็บปวดไม่น้อย “คนเลี้ยงผึ้งต้องมีความเข้าใจ และมีการจัดการที่ดี ค่อยๆ เรียนรู้เขา ศึกษาธรรมชาติของผึ้ง” คุณนิวัฒน์ให้ความเห็นการเลี้ยงผึ้ง เริ่มจากการนำมูลผึ้ง หรือไขผึ้ง บีบใส่ฝารัง ผึ้งก็จะได้กลิ่น ช่วงเวลาที่ผึ้งย้ายรังจะอยู่ในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม เราแค่ทำรังไว้เขาจะเข้ามาอยู่เอง เมื่อผึ้งเข้ามาอยู่ที่ฝารัง ผู้เลี้ยงต้องประมาณการว่ารังจะปริมาณเท่าไหร่ แล้วจัดทำคอน จากนั้นจับจากฝารังย้ายลงคอน เพราะจะง่ายต่อการจับ เมื่อผึ้งมีน้ำหวานปริมาณพอดี การจับผึ้งมี 2 วิธี คือ แบบเปิดฝา และย้ายลงคอน ผึ้งจะหากินตามธรรมชาติ เราเพียงป้องกันศัตรู เช่น มด แมลง หรือจิ้งจก ไม่ให้รบกวน โดยการทำเสาทาน้ำมัน และดูแลจัดการตัดกิ่งไม้ไม่ให้พาดรัง รังผึ้งที่สมบูรณ์ 3 เดือน ก็สามารถเก็บน้ำหวานได้ โดยมีข้อสังเกต คือ แม่ผึ้งจะอยู่บริเวณปากรูเยอะ การกิน การส่งเสียง ของผึ้ง จะแสดงให้เห็นว่ามีน้ำผึ้งในรังเยอะ
8.ขี้หมูทำน้ำหมัก ลดต้นทุน
ก่อนจะได้ขี้หมูก็ต้องเลี้ยงหมูก่อนถูกไหม คุณนิวัฒน์เลี้ยงหมูรุ่นแรกจำนวน 5 ตัว เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้อีกหนึ่งช่องทาง และนำขี้หมูทิ้งมาทำน้ำหมักเป็นปุ๋ยในสวน ระยะเวลาในการเลี้ยงหมูประมาณ 6 เดือน ก็สามารถขายได้ การดูแลจัดการก็ไม่ยาก ให้น้ำ อาหาร และทำความสะอาดคอก จากนั้นนำขี้หมูไปไว้ในบ่อพักให้ย่อยสลาย แล้วนำมารดต้นไม้
9.ลองกองแซมยาง
ลองกองปลูกแซมยางบนพื้นที่ 7 ไร่ มีจำนวน 200 ต้น “ถ้าเราปลูกแบบเดี่ยวๆ โดดๆ กลางแจ้ง ลองกองมันจะออกช่อดอกเยอะมาก แต่ปลูกในป่ายาง แสงจะไม่เยอะ ช่อดอกก็จะออกมาไม่เยอะ เราตัดแต่งนิดหน่อย รดน้ำใส่ปุ๋ย แค่นี้ก็โอเคแล้ว” คุณนิวัฒน์เผยว่าลองกองเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน
10.ปุ๋ยหมักธรรมชาติ
ปุ๋ยที่ใช้ภายในสวนเป็นปุ๋ยที่คุณนิวัฒน์ทำเอง เพราะต้องการปลูกพืชแบบปลอดสารเคมี โดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ วัสดุเศษผัก : ขี้ไก่แกลบอย่างละครึ่ง เศษผักที่นำมาทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมัก คุณนิวัฒน์ได้มาจากตลาดที่เขานำผักไปขาย โดยจะขอเศษผัก ผลไม้ ที่แม่ค้า พ่อค้า ในตลาดทิ้ง เพื่อนำกลับมาทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ โดยเขาจะทำปุ๋ยหมัก 45 วัน หรือ 2 เดือนครั้ง ผลิตครั้งละประมาณ 2-3 ตัน รดน้ำวันละครั้ง และเติมอากาศวันละ 3 ครั้ง
11.น้ำหมักชีวภาพ
สูตรน้ำหมักชีวภาพของคุณนิวัฒน์จะใช้สูตรน้ำหมักปลาแบบเข้มข้น เพราะมีสารอาหารเยอะกว่าสูตรน้ำหมักผลไม้ มีอัตราส่วน 3:1:1:1 คือ ปลา:กากน้ำตาล:เปลือกผลไม้รสเปรี้ยว:น้ำ และเติม พด.2 ในอัตราส่วน 30 กิโลกรัม/ซอง หมักไว้ประมาณ 21 วัน และมีการตีออกซิเจน โดยการใช้จอบแทงขึ้นลง เหมือนกับการสูบลมรถ ประมาณ 3-4 ครั้ง/วัน ส่วนกากของน้ำหมักสามารถนำไปทำปุ๋ยชีวภาพได้อีกด้วย
ประโยชน์ของน้ำหมัก
1.สามารถนำมาเป็นหัวเชื้อในการทำปุ๋ยหมัก
2.ดับกลิ่นบนโถส้วม กลิ่นขี้หมูได้
3.ฉีดพ่นพืชผัก เร่งใบ สร้างความแข็งแรงให้กับลำต้น
การขยายผลสู่เกษตรกร
เนื่องจากคุณนิวัฒน์ทำเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่เพียง 13 ไร่ แต่สามารถสร้างรายได้ถึง 865,500 บาท/ปี จึงทำให้มีเกษตรกรหลายคนสนใจ และอยากมาเรียนรู้ ดังนั้นจึงได้จัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.หาดใหญ่ โดยการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกมาเรียนรู้การทำการเกษตรจากไร่เกษตรของเขา โดยมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นมา ปัจจุบันชาวสวนยางหลายคนหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ทางศูนย์จึงได้สร้างแปลงเครือข่ายในชุมชนขึ้น และมีเกษตรกรในชุมชนเข้าร่วม 10 แปลง รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายตลาดเพื่อรองรับผลผลิตพืชผักอินทรีย์ของเกษตรกร
“ถ้าคุณรักดินที่คุณอาศัยอยู่ อยากให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมรอบๆ จะไม่มีอันตราย เราไม่ทำร้ายพื้นดิน ไม่ทำร้ายที่ที่เราทำมาหากิน ทุกสิ่งก็จะอยู่ร่วมกันได้ และเกื้อกูลกันซึ่งกันและกัน” คุณนิวัฒน์ฝากถึงเกษตรกร
ขอขอบคุณ คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ ประธาน ศพก. อ.หาดใหญ่ ที่อยู่ 98/2 หมู่ 7 ต.ทุ่งเสา อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 เบอร์โทร : 087-390-7426