“กล้วยหอมทอง” เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในด้านการตลาด ด้วยคุณลักษณะของกล้วยหอมทองที่มีน้ำหนักดี หวีสวยงาม สีผิวของกล้วยเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง รสชาติดี มีกลิ่นหอม น่ารับประทาน อีกทั้งผลผลิตมีความปลอดภัย ไม่มีสารเคมีตกค้างปนเปื้อน
ทีมงาน นิตยสาร เมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ จึงมีโอกาสเดินทางไป อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี แวะมาชมสวนกล้วยหอมทองของ คุณสนั่น สถวิรวงค์ ในพื้นที่ 4 ไร่ จำนวนกล้วยหอมทองประมาณ 2,000 ต้น ซึ่งในบริเวณแถบนี้จะเน้น การปลูกกล้วยหอมทอง กันเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย และให้ผลผลิตดี ผลตอบแทนที่ได้รับสูง
ต้นทุนการผลิตกล้วยหอมทอง
- หน่อกล้วยหอมทอง+ค่าขุดหลุมปลูก = 7 บาท ต่อต้น 2,000 ต้น = 14,000 บาท
- ไม้ค้ำต้นกล้วยหอมทอง = 10 บาท ต่อลำ 2,000 ลำ = 20,000 บาท
- ค่าปุ๋ย+สารกำจัดโรคและแมลง = 30,000 บาท
- อื่นๆ ค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน = 40,000 บาท
รวมค่าใช้จ่าย = 104,000 บาท
ผลผลิตที่ได้ คือ กล้วยหอมทองลูกละ 2 บาท
- กล้วย 1 เครือ มี 6 หวี มีประมาณ 80 ลูก = 2×80 = 160 บาท ต่อเครือ
- ปลูกกล้วย 2,000 ต้น ได้เงินจำนวน = 2,000×160 = 320,000 บาท ต่อรอบที่ตัด
กำไรที่ได้ = 320,000-104,000 = 216,000 บาท
ด้านการตลาดของกล้วยหอมทอง
กล้วยหอมทองไม่เพียงแต่ขายหวี แต่ยังสามารถขุดหน่อพันธุ์ขายได้อีกด้วย เพราะกล้วยหอมทองมีหน่อจำนวนมาก แถวอำเภอท่ายางขายหน่อละ 2 บาท เท่านั้น ซึ่งจะมีพ่อค้า แม่ค้า หรือเกษตรกร ที่ปลูกกล้วยหอมแปลงใหม่มารับซื้อหน่อกล้วยของคุณสนั่นเป็นประจำ หน่อที่เหลือก็นำมาปลูกใหม่ในสวนของตัวเอง เป็นการลดต้นทุนในการซื้อหน่อกล้วยหอมทอง
ส่วนเรื่องตลาดของผลกล้วยหอมทอง จะมีแม่ค้า พ่อค้า มารับซื้อถึงบ้าน ไปขายแถวตลาดจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งราคาที่รับซื้อจะประมาณลูกละ 1.50 บาท ถึง 2 บาท ถ้าเป็นช่วงเทศกาลจะขายได้ราคาสูงสุดประมาณลูกละ 2.50 บาท
ลักษณะของกล้วยหอมทองที่มีปลูกในประเทศไทย
กล้วยหอมทองที่มีปลูกในประเทศไทย ลักษณะทั่วไปจะมีลำต้นสูงประมาณ 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีดำ ด้านในมีสีเขียวอ่อน มีลายเส้นสีชมพู ก้านใบมีร่องค่อนข้างกว้าง เส้นกลางใบสีเขียว ส่วนของดอก ก้านเครือมีขน ปลีรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายแหลม ด้านบนมีสีแดงอมม่วง
กล้วยเครือหนึ่งจะมี 4-6 หวี หวีหนึ่งจะมี 14-16 ผล ปลายผลมีจุกเห็นชัด เปลือกบาง เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง เนื้อเหลืองเข้ม กลิ่นหอม รสหวานน่ารับประทาน จัดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารครบถ้วนตามหลักทางโภชนาการ อาทิเช่น มีวิตามิน ไฟเบอร์ ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการขับถ่าย
มีสารแทนนิน ซึ่งมีส่วนช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ที่มีชื่อว่า Escherichiacoh ที่เชื่อว่าทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ เป็นต้น สภาพภูมิอากาศของกล้วยหอมทองได้ถูกจัดว่าเป็นผลไม้เขตเมืองร้อน สามารถปลูกได้เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ
ขั้นตอนการปลูก และการดูแลรักษา
1.การเตรียมดินปลูก : โดยการไถพรวนบริเวณพื้นที่ที่จะลงหน่อกล้วยหอมทอง ขุดหลุมขนาดกว้าง 50×50 เซนติเมตร นำหน่อกล้วยที่เตรียมไว้วางกลางหลุม กลบดินกดให้แน่น และรดน้ำตามทันที ระหว่างต้น ระหว่างแถว แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 2×2 เมตร เพื่อสะดวกในการพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ตัดใบ และทำให้อากาศภายในสวนถ่ายเทได้ดี พื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกกล้วยหอมทองได้ประมาณ 500 ต้น
เมื่อต้นกล้วยมีอายุ 20-30 วัน ทำการปาดหน่อเพื่อให้ต้นและใบแตกเสมอกัน ต้นกล้วยอายุได้ 4-6 เดือน จะเริ่มมีการแตกหน่อ หน่อที่เกิดมาเรียกว่า “หน่อตาม” ควรเอาหน่อออก เพื่อไม่ให้หน่อแย่งอาหารจากต้นแม่ เก็บหน่อไว้ประมาณ 1-2 หน่อ เพื่อพยุงต้นแม่ เมื่อมีลมแรงไม่ให้ล้มโดยง่าย
2.การให้น้ำ : ในพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่จะใช้วิธีสูบน้ำจากบ่อบาดาล หรือบ่อกักเก็บที่อยู่ใกล้สวนสูบน้ำ ขึ้นมารดต้นกล้วย การให้น้ำจะให้พอชื้นในช่วงที่ปลูกใหม่ๆ และขณะที่กล้วยตั้งตัว และกำลังติดปลี ติดผล ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้น้ำทุกวันเหมือนพืชชนิดอื่น
“น้ำจะขาดไม่ได้เลย แล้วแต่พื้นที่ว่าเป็นยังไง ถ้าพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายก็จะให้น้ำทุก 7 วัน การให้น้ำจะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นดินด้วย แต่ถ้าเป็นกล้วยหอมทองจะชอบดินร่วนปนทราย ภายใน 1 เดือน ให้น้ำ 5-6 ครั้ง ในชุดแรกที่ปลูก ไม่งั้นจะไม่ขึ้น ที่สวนใช้การรดน้ำแบบ “สปริงเกลอร์” รดให้ชุ่ม รด 1 ครั้ง เกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง เวลาให้น้ำเราต้องดูดินว่าแห้งมากเกินหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละสวนจะแตกต่างกันไป ถ้าให้น้ำไม่ดีระบบรากก็จะไม่เจริญเติบโต” คุณสนั่นกล่าว
3.การให้ปุ๋ย : กล้วยเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารมาก การติดผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาหารและน้ำที่ได้รับ ควรใส่ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รวมทั้งปุ๋ยเคมี ร่วมด้วย ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต
พอกล้วยหอมทองเริ่มมีใบประมาณ 4-5 ใบ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง 2 เดือน เมื่อปลูกไปได้ซัก 3-4 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อเร่งต้น เร่งใบ ให้มีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ กล้วยหอมทอง 1 แปลง ควรใส่ปุ๋ยไม่เกิน 6 ครั้ง ต่อรอบระยะการเก็บเกี่ยว ส่วนปุ๋ยคอกจะเป็นขี้ไก่แกลบ ใส่ 1 กระสอบ ต่อ 3 ต้น ประมาณต้นละ 5 กิโลกรัม ใส่แค่ครั้งเดียว แล้วยืนพื้นด้วยปุ๋ยเคมี
4.การค้ำลำต้น : กล้วยหอมทองมักประสบปัญหาเรื่องหักล้มง่าย เครือใหญ่หนัก และคออ่อน เมื่อขาดน้ำ หรือลมพัด ก็หักโค่นเสียหาย จึงต้องใช้ไม้ค้ำยัน หรือดามกล้วย ทุกต้นที่ออกปลีแล้ว และตรวจดูการค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง
หลังจากปลูกกล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา เมื่อกล้วยแทงปลีจนสุดให้ตัดปลีทิ้ง หากไม่ตัดปลีกล้วยทิ้งจะทำให้ผลกล้วยเติบโตไม่เต็มที่
การเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อกล้วยหอมมีอายุได้ประมาณ 7-9 เดือน
การเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อกล้วยหอมมีอายุได้ประมาณ 7-9 เดือน จะเริ่มมีการออกปลีของกล้วย พอเข้าเดือนที่ 10-11 ก็จะสามารถตัดเครือกล้วยหอมทองเพื่อจำหน่ายได้เร็ว สามารถสังเกตได้จากกล้วยหวีสุดท้ายเริ่มกลม สีผลจางลงกว่าเดิม ถ้าปล่อยให้แก่คาต้นมากเกินไปจะทำให้เปลือกกล้วยแตก ผลเสียหาย
การปลูกกล้วยหอมทอง ในแต่ละครั้ง เมื่อเก็บผลผลิตของเครือกล้วยแล้วก็ทำการตัดต้นกล้วยทิ้ง แล้วนำหน่อที่ขึ้นมาใหม่ขุดมาทำต้นพันธุ์เพื่อทำการปลูกครั้งต่อไป
“การเก็บเกี่ยวผลผลิตของกล้วยหอมทองเราจะได้เป็นเงินก้อน 1 ปี สามารถตัดได้ 1 รอบ แต่บางคนที่เขามีที่เยอะๆ เขาจะปลูกลดหลั่น คือ ปลูกได้ 1 ชุด แล้ว อีก 2 เดือน ก็จะปลูกอีก 1 ชุด ตามกันมา ถ้าทำแบบนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวกล้วยหอมทองตลอดทั้งปี แต่คนที่มีพื้นที่น้อยๆ จะปลูกได้แค่ชุดเดียว รอบเดียว แล้วรอหน่อชุดที่ 2 ที่เราตัดเครือแรกไป ขุดมาเพื่อทำพันธุ์ขยายปลูกต่อไป” คุณสนั่นกล่าว
การคัดคุณภาพ การคัดขนาด และการเก็บเกี่ยวกล้วย
การตัดเครือกล้วยให้ใช้มือที่ถนัดมากที่สุดจับมีด และมืออีกข้างหนึ่งจับที่ปลายเครือ แล้วใช้มีดยาวซึ่งคมตัดก้านเครือเหนือกล้วยหวีแรก แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม การผึ่งควรตั้งให้ปลายเครืออยู่ด้านบน โดยวางพิงกันไว้ หลังจากนั้นทำการชำแหละหวีกล้วยเป็นหวีๆ ช่วงขณะชำแหละหวีกล้วยต้องระวังน้ำยางกล้วยเปื้อน ผลกล้วยจะดูไม่สวยงาม อาจชำแหละลงในน้ำแล้วผึ่งให้แห้ง
การคัดคุณภาพ และการคัดขนาด หลังชำแหละกล้วยเป็นหวีๆ แล้วก็อาจจะพบกล้วยบางหวี หรือบางผล มีตำหนิ หรือถูกโรคและแมลงทำลาย ก็ให้คัดแยกออก
บรรจุหีบห่อลงกล่อง หรือเข่งที่บุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใบตองสดก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้กล้วยผิวช้ำ หรือดำได้ ขณะบรรจุจะมีการนับจำนวนผลไว้แล้วเพื่อให้สะดวกในการจำหน่ายแบบนับผล
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
1.โรคเหี่ยวของกล้วย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบอาการเหี่ยวบนใบอ่อนๆ ของกล้วย และมีอาการหักตรงก้านใบ อาการเหี่ยวจะระบาดอย่างรวดเร็ว หน่อกล้วยที่กำลังจะแตกยอดสีดำ ยอดบิด แคระแกร็น และจะตายในที่สุด แสดงอาการคล้ายโรคตายพราย แต่เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง พบบริเวณใส้กลางตัน และจะขยายไปยังก้านใบ และไปยังเครือกล้วย ผล หน่อ ตา กล้วยจะเหลือง และตายในที่สุด ภายในจะพบเนื้อเยื่อเน่าตายเห็นเป็นช่องว่าง เมื่อตัดกล้วยอ่อนที่เป็นโรคแช่น้ำจะพบเชื้อแบคทีเรียเป็นน้ำขุ่นๆ ไหลออกมา ผลจะเน่าดำ
2.โรคใบจุดของกล้วย เกิดจากเชื้อหลายชนิด แต่ละชนิดแสดงอาการบนใบแตกต่างกัน ดังนี้
2.1ลักษณะอาการเป็นขีดสีน้ำตาลแดงสั้นๆ ขนานไปกับเส้นใบ บางครั้งกระจายไปทั่วทั้งใบ และขยายไปทางกว้าง ทำให้เกิดอาการใบจุดและแผลลามติดต่อกัน ทำให้เกิดอาการใบไหม้ โดยมากเกิดจากริมใบเข้าไปด้านในใบกล้วย
2.2ลักษณะอาการใบจุดรูปไข่สีน้ำตาล มักเกิดกับกล้วยไข่ บนใบจะเห็นแผลมีลักษณะรูปไข่สีน้ำตาล ตรงกลางแผลสีน้ำตาลอ่อนปนเทา ถัดเข้ามามีเส้นวงสีน้ำตาลเข้ม และมีวงสีเหลืองล้อมรอบแผลอีกชั้นหนึ่ง การแผ่ขยายของแผลจะเป็นไปตามความยาวของเส้นใบ
2.3ลักษณะอาการใบจุดกลมรี ทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ แผลมีสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยบริเวณสีเหลือง ตรงกลางแผลมีส่วนสปอร์ของเชื้อราสีดำเกิดเรียงเป็นวง
3.โรคยอดม้วน เกิดจากเชื้อไวรัส และแมลงพาหะ ได้แก่ แมลงประเภทปากดูดทุกชนิด เชื้อโรคจะแพร่กระจายติดไปกับหน่อ หรือส่วนขยายพันธุ์ต่างๆ อาการที่พบ คือ ในระยะแรกๆ จะปรากฏรอยขีดสีเขียว และจุดเล็กๆ ตามเส้นใบ และก้านใบ ใบถัดๆ ไปจะมีขนาดเล็กลง สีเหลือง ใบม้วนที่ปลาย เมื่อโรคนี้ระบาดมากขึ้น ต้นกล้วยจะแคระแกร็น ปลีของต้นที่เป็นโรคจะเจริญเติบโตช้า
แมลงศัตรูที่สำคัญ
1.ด้วงงวงเจาะต้น หรือด้วงงวงไชกาบกล้วย ตัวหนอนจะไชทำลายต้นที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไปถึงประมาณกลางต้น โดยไชต้นเป็นๆ มักชอบทำลายต้นกล้วยที่โตแล้ว หรือใกล้จะออกปลี หรือกำลังตกเครือ จะทำให้เครือหักพับกลางต้น หรือเหี่ยวเฉา ยืนต้นตายได้
2.หนอนม้วนใบ โดยตัวหนอนจะกัดกินจากริมใบให้แหว่งเข้ามาเป็นทางยาว และม้วนใบซ่อนตัวอยู่ จนกระทั่งเข้าดักแด้และมีแป้งขาวๆ หุ้มตัวด้วย ถ้าถูกหนอนทำลายมากๆ จะทำให้ใบขาด
3.แมลงวันผลไม้ หรือที่เรียกกันว่า “แมลงวันทอง” เป็นแมลงศัตรูผลไม้ที่สำคัญ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับผลไม้ที่เริ่มสุก โดยเฉพาะที่ชอบวางไข่กับผลกล้วยสุก หรือมีรอยแผล หนอนที่ออกมาจากไข่จะชอนไชเนื้อกล้วย ทำให้เกิดความเสียหาย เน่าเหม็น
4.เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงปากดูดชนิดหนึ่ง ชอบเกาะกินอยู่เป็นกลุ่มก้อน มักเข้าทำลายบริเวณตามผิวกาบใบ และคอยอด หากมีการทำลายมากจะทำให้ผลกล้วยมีขนาดเล็กลง ผลผลิตจะลดลงตามไปด้วย
วิธีการป้องกันและกำจัดโรคแมลงต่างๆ
วิธีการป้องกันและกำจัดโรคแมลงต่างๆ คุณสนั่นใช้สารกำจัดโรค อย่าง “สกอร์” ผสมน้ำฉีดพ่นแบบเป็นละอองฝอย ป้องกันเดือนละ 1 ครั้ง ห้ามฉีดพ่นน้ำยาแบบหัวสเปรย์เป็นเม็ดน้ำใหญ่ เพราะน้ำอาจไปกระแทกผิวกล้วยให้เสียหายได้
การปลูกกล้วยหอมทอง แซมในสวนฝรั่ง
จากที่คุณสนั่นปลูกพืชผสมผสาน โดยปลูกต้นฝรั่งแล้วนำกล้วยหอมทองปลูกแซมเพื่อสร้างรายได้ได้อีกทาง เพราะ การปลูกกล้วยหอมทอง สามารถปลูกแซมกับพืชอื่นได้อย่างสบาย ดูแลรักษาง่าย เวลาตัดผลผลิตจะได้เงินเป็นก้อน ไม่เหมือนปลูกกล้วยชนิดอื่น
มีตลาดรองรับที่จะส่งขายกล้วยหอมทองเป็นจำนวนมาก เพราะในปัจจุบันมีผู้บริโภคหันมารับประทานกล้วยหอมทองกันมากขึ้น รวมไปถึงมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ทำให้กล้วยหอมทองมีความต้องการในท้องตลาดมากขึ้น และราคาก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ประโยชน์และสรรพคุณของกล้วยหอมทอง
คุณรู้หรือเปล่า “กล้วยหอมทองดีต่อสมอง และระบบประสาท” เป็นที่รู้จักกันดีว่าการกินกล้วยหอมทองจะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ เนื่องจากในกล้วยหอมทองมีสาร “ทริปโตเฟน (Tryptohan)” อันเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งร่างกายคุณสามารถเปลี่ยนให้เป็น “สารเซโรโทนิน (serotonin)” ที่จะทำให้ผ่อนคลาย มีความสุข หายจากความกังวล
การกินกล้วยหอมทองยังลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง จึงช่วยป้องกันการเป็นโรคที่เกี่ยวกับสมองได้ด้วย และยังถือเป็นแหล่งรวมวิตามินบีที่สูงมาก ซึ่งวิตามินบีนี้จะช่วยในการทำงานของระบบประสาท และทำให้การทำงานของสมองได้สมดุล ช่วยในการกระตุ้นความตื่นตัวให้กับสมอง ช่วยทำให้สมองทำงานได้เต็มที่ ดังนั้นถ้าสามารถกินเป็นอาหารเช้าร่วมด้วยจะดีมาก และถ้ากินในช่วงกลางวัน หรือบ่าย จะทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
- คนที่มีอาการเป็นตะคริวบ่อยๆ สาเหตุสำคัญก็คือ การขาดโปตัสเซียม แต่ถ้าคุณได้กินกล้วยหอมเป็นประจำจะช่วยได้เพราะกล้วยหอมมีโปตัสเซียมสูงมาก และยังช่วยบำรุงกล้ามเนื้อไม่ให้อ่อนล้า
- ในช่วงก่อนมีประจำเดือนสาวๆ มักจะหงุดงิดได้ง่าย รวมทั้งมีอาการปวดท้อง ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่การกินกล้วยหอมก็จะช่วยบรรเทาได้
- รักษาอาการถ่ายเป็นเลือด และริดสีดวงทวารได้ ด้วยการนำกล้วยหอมมา 2 ผล โดยไม่ต้องแกะเปลือกออก จากนั้นก็นำมาตุ๋นจนสุก แล้วกินทั้งเปลือก กินเป็นประจำ สักพักอาการจะดีขึ้น
- การกินกล้วยหอมวันละ 3 ครั้ง ในตอนเช้า กลางวัน และเย็น ครั้งละผล ก็จะช่วยในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงให้ค่อยๆ เป็นปกติได้
- รักษาอาการท้องผูกได้ ด้วยการกินกล้วยหอมวันละผลหลังจากตื่นนอนทันที
- กินกล้วยหอมดิบๆ ฝาดๆ จะช่วยรักษาอาการกระเพาะอาหารอักเสบได้
- นำเฉพาะเปลือกกล้วยหอมมาสัก 3 ผล นำมาต้มน้ำดื่ม จะช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ คอแห้ง หรือระคายคอได้
- กินกล้วยหอมกับน้ำผึ้งในตอนเช้า และก่อนนอน ครั้งละ 1 ผล จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
- บรรเทาอาการเมาค้าง ด้วยการกินกล้วยหอมปั่นผสมน้ำผึ้ง ดื่มแบบเย็นๆ ก็ตื่นตัวได้ดี
- กินกล้วยหอมแล้วจะช่วยยับยั้งการเกิดโรคต่างๆ ในช่องปาก จึงช่วยระงับกลิ่นปากได้ด้วย
- ช่วยลดอาการคัน หรือบวม จากยุงกัด ด้วยการนำเปลือกกล้วยหอมด้านในมาถูบริเวณที่เป็น
- กินกล้วยหอมเพียง 1-2 คำในมื้อเช้า เที่ยง และเย็น จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้
- ลดโอกาสในการเกิดโรคโลหิตจาง ด้วยการกินกล้วยหอม เพราะกล้วยหอมมีธาตุเหล็กสูง ที่จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้ผลิตเม็ดเลือดแดงคุณภาพดี และสามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้เป็นอย่างดี
- หน่วยงานด้านอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาถึงกับอนุมัติให้กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่สามารถลดความดันโลหิตได้ จึงช่วยป้องกันการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ลดการเกิดก้อนนิ่วในไต
- อาหารที่มีโปตัสเซียมสูงอย่างกล้วยหอมจะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการนิ่วในไตได้ เพราะบางทีร่างกายก็จะขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมาก ทำให้ไตมีก้อนนิ่วได้
การปลูกกล้วยหอมทอง แทน การปลูกกล้วยน้ำว้ากับกล้วยหักมุก
เริ่มแรกเดิมทีบริเวณแถว อ.ท่ายาง นิยมปลูกกล้วยน้ำว้า และกล้วยหักมุก แต่เพราะเกิดปัญหาโรคตายพราย (Panama disease) ที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum Cubense แพร่ระบาดเข้าทำลายราก แล้วเจริญเข้าไปอยู่ในท่อน้ำ ท่ออาหาร ของเหง้า และโคนลำต้น ทำให้ท่อน้ำ ท่ออาหาร เกิดอุดตันและเน่า เป็นสีน้ำตาลตัดกับเนื้อเยื่อสีขาวอย่างเห็นได้ชัด ของเหลวจากเซลล์ที่เน่าจะไหลเข้าไปอุดตันท่อน้ำ ท่ออาหาร ด้วยเช่นกัน
เมื่อโรคมีความรุนแรงจะทำให้ท่อน้ำ ท่ออาหาร เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม และแดงม่วง ซึ่งเป็นผลให้การส่งผ่านน้ำและแร่ธาตุอาหารไม่สามารถเป็นไปตามปกติได้ เพราะท่อน้ำ ท่ออาหาร เสื่อมสภาพไป จึงเกิดการขาดน้ำ มีลักษณะอาการเหี่ยวเฉา เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กาบของลำต้นเทียมจะประกบอยู่อย่างหลวมๆ แล้วแยกออกห้อยลงมา การเจริญเติบโตชะงัก ไม่ผลิตดอก ออกผล การปลูกกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทอง
ชาวบ้านจึงเลิกปลูกกล้วยน้ำว้ากับกล้วยหักมุก แล้วจึงหันมาปลูกเป็นกล้วยหอมทองแทน เป็นผลไม้ที่ออกผลได้ตลอดทั้งปี ราคาค่อนข้างคงที่ ไม่เหมือนกับผลไม้อย่างอื่น ซึ่งราคาขึ้น-ลงตามฤดูกาล แล้วแต่ผลผลิตมากหรือน้อย ถ้าปลูกกล้วยหอมทองให้พอขายในตลาดท้องถิ่นตลอดทั้งปี การปลูกกล้วยหอมทอง จะเป็นอาชีพที่เกษตรกรมิควรมองข้ามไป การปลูกกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทอง
สนใจ การปลูกกล้วยหอมทอง ติดต่อสอบถามข้อมูล คุณสนั่น สถวิรวงค์ 308 ม.13 ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 76130 โทร.08-9256-8391 การปลูกกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทอง