การปลูกส้ม
ในวงการไม้ผลไทย โดยเฉพาะชาวสวนส้ม ในยุคบุกเบิกคงทราบกันดีว่า “สวนส้มศรีเจริญ” คือ หนึ่งในผู้บุกเบิกทำสวนส้มในพื้นที่ภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่ บนเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ ภายใต้การบริหารจัดการสวนส้มอย่างครบวงจร ทั้งการทำสวนส้ม โรงคัดส้ม โรงแว๊กส้ม และห้องเย็น เพื่อรองรับผลผลิตที่มีมากกว่า 2,000-3,000 ตะกร้า หรือประมาณ 50 ตัน/วัน จนกระทั่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ทราบกันทั้งประเทศ
สภาพพื้นที่ปลูกส้ม
ที่สำคัญสวนส้มในพื้นที่ 1,500 ไร่ นี้ ยังสร้างรายได้ที่ดีให้กับครอบครัวศรีเจริญเป็นอย่างมากเมื่อครั้งในอดีต ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก คุณวิสันต์ สินธุนนท์ ได้นำกล้าพันธุ์มาจากจังหวัดยะลา เพื่อนำมาปลูกในพื้นที่ ม.5 ต.หน้าเขา อ.เขาพนม กระบี่ โดยในช่วงเริ่มแรกได้มีการปลูกส้มโชกุนบนพื้นที่ 170 ไร่ หรือประมาณ 7,000 กว่าต้น เมื่อปี 2534 ภายใต้การดูแลและบำรุงรักษาต้นส้มให้สมบูรณ์ แข็งแรง จนกระทั่งสามารถเก็บผลผลิตได้เป็นครั้งแรกในปี 2537 อีกทั้งยังเป็นช่วงแรกของการทำสวนส้มที่ต้องลองผิดลองถูก เพราะเป็นมือใหม่ที่อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาบ้าง จนกระทั่งเกิดการเรียนรู้เมื่อผลผลิตส้มไม่ดี มีปัญหาส้มร่วง ส้มหัวคว่ำ ที่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาได้ในเวลาต่อมาเมื่อมีทักษะและประสบการณ์ที่มากขึ้น
ต่อมาในปี 2540 ทางศรีเจริญได้มีการขยายพื้นที่การทำสวนส้มโชกุนออกไปอย่างต่อเนื่อง และส้มโชกุนเริ่มติดตลาดปี 2540 ในขณะเดียวกันผลผลิตก็เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง รสชาติเริ่มดีขึ้น ตลาดค่อนข้างสดใสมากช่วง ในปี 2541-2545 ส้มโชกุนเริ่มมีชื่อเสียง ผลผลิตราคาดี จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำสวนส้มกันมากขึ้น “สวนส้มศรีเจริญเราเป็นเจ้าใหญ่ แต่ยะลาเขาปลูกมาก่อน เราเป็นผู้บุกเบิกเจ้าต้นๆ แต่ไม่ใช่เจ้าแรกของส้มโชกุน เพราะเราปลูกหลังสวนนายดำ ถ้านับรายใหญ่เราเป็นเจ้าที่ 3 ในภาคใต้ รองจากยะลา และสวนนายดำ ก็คือ ศรีเจริญ เมื่อส้มราคาดี ทำให้ชาวสวนโค่นปาล์ม โค่นยาง มาปลูกส้ม ไล่มาตั้งแต่สุราษฯไปจนถึงชุมพร” คุณชัยธนัตถ์ สินธุนนท์ เผยถึงที่มาของการทำสวนส้มของศรีเจริญ
ด้านตลาดผลผลิตส้ม
ในช่วงแรกเริ่มก่อนที่ชาวสวนส้มจะประสบปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำในช่วงปี 2547-2548 ส่งผลให้ผลผลิตมีราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 3-4 บาท เพราะเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไม่ได้เป็นคนขาย และผู้ขายผลผลิตไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้ปลูก “เวลาผลผลิตออกมาเยอะ เกษตรกรก็ฝากแม่ค้าขาย เขาจะขายยังไงก็ได้เพื่อให้สินค้าขายให้ได้ โดยไม่สนใจเรื่องราคา เพราะชาวสวนกับแม่ค้าเวลาส่งผลไม้ให้กันไม่ได้มีการคำนวณต้นทุนมาก่อน ไม่คิดราคาตอนส่งสินค้า แต่จะคิดราคาจนกว่าแม่ค้าจะขายผลไม้ได้ว่าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ ถึงจะกลับมาคิดราคาให้กับเกษตรกรว่าราคาเท่าไหร่ ซึ่งจุดนี้ทำให้ช่วงที่ผลผลิตออกมาเยอะ และโดนจำกัดเรื่องตลาด ซึ่งผลไม้ทางใต้ก็มีไม่กี่แห่ง เราส่งไปให้แม่ค้าแย่งกันขาย ราคาขึ้น-ลงตลอด รวมทั้งผลไม้ทุกชนิด ถ้าปลูกกันมากราคาก็จะตกต่ำ การตลาดทุกวันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม ช่วงไม่มีก็ไม่มีผลผลิต แต่ช่วงที่ผลผลิตเยอะก็เยอะมาก แล้วจะเอาไปขายที่ไหน บางทีปล่อยเน่าบนต้นด้วยซ้ำ ช่วงราคา 3-4 บาท ซึ่งตอนนั้นทางบริษัทก็ยังสู้ ยังพออยู่ได้” ผู้บริหารรุ่นใหม่ของสวนส้มศรีเจริญยืนยัน
การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช
จนกระทั่งเข้าสู่ยุควิกฤติของไม้ผลเมื่อปี 2548-2550 ที่ผลไม้ราคาตกต่ำถึงต่ำที่สุด ทำให้เกษตรกรรายเล็ก รายน้อย และรายใหญ่ ที่ไม่เข้าใจในการทำสวนส้มค่อยๆ หายไปจากตลาด เหลือเพียงเกษตรกรรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า และรายย่อยบางรายที่มีการจัดการที่ดี หรือมีสายป่านยาวเท่านั้นที่อยู่รอด ซึ่งวันนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตลาด เพราะหลังจากนั้นต่อมาปี 2553-2554 ราคาผลผลิตส้มโชกุนเริ่มดีขึ้น แต่ปัญหาจะอยู่ที่พื้นที่สวนส้มที่เริ่มประสบปัญหากับโรคและแมลงศัตรูพืชมากขึ้น เนื่องจากมีการปลูกส้มซ้ำในพื้นที่เดิมมานาน จนทำให้เกิดโรคระบาด ทั้งโรครากเน่า โคนเน่า กรีนนิ่ง ที่ชาวสวนทำได้แค่ประคองอาการ แต่ไม่สามารถทำให้เชื้อโรคหายไปได้ เมื่อเริ่มบำรุงต้นส้มให้ฟื้นตัวแล้ว แต่พอต้นส้มให้ผลผลิตแล้วต้นส้มก็จะเริ่มทรุดอีกจนเป็นวัฎจักรเรื่อยมา ดังนั้นการทำสวนส้มจึงมีข้อเสียที่ว่าเมื่อต้นส้มทรุด การที่จะทำให้ต้นส้มฟื้นตัวยาก แม้กระทั่งการโค่นต้นส้มเพื่อปลูกใหม่ในพื้นที่เดิมโอกาสที่ต้นส้มจะฟื้นก็ยากเหมือนกัน
การบริหารจัดการสวนส้ม
ปัจจุบัน “สวนส้มศรีเจริญ” ยังมีพื้นที่สวนส้มอยู่ประมาณ 200 กว่าไร่ จากเดิมที่มีสวนส้มอยู่ประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อให้การทำ “สวนส้มโชกุน” เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้สวนส้มแห่งนี้มีทั้งต้นส้มที่เพิ่งปลูกใหม่อายุ 7-8 ปี ไปจนถึงอายุ 10 กว่าปี ที่สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยในพื้นที่ 200 กว่าไร่ จะมีต้นส้มกว่า 60-70% เป็นต้นใหม่ที่มีอายุเพียง 2-3 ปี ที่เป็นความหวังของทางสวนส้มศรีเจริญ และอีกกว่า 30-40% ที่เป็นต้นโต ที่ให้ผลผลิตได้ภายใต้แรงงานประจำ 30 คน ที่เพียงพอ และดูแลได้อย่างทั่วถึง เน้นการบริหารจัดการสวนส้มอย่างเป็นระบบ ทั้งการตัดแต่ง การตัดหญ้า การวางระบบน้ำหยดทุกต้น การให้น้ำ ทำร่องระบายน้ำในสวนส้ม การให้ปุ๋ยทั้งทางใบและทางดินอย่างสม่ำเสมอ การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลง การตัดแต่งผลส้ม การทำไม้ค้ำผลส้ม และการเก็บเกี่ยวที่ดี “ต้นส้มรุ่นใหม่อายุ 2-3 ปีนี้ เราจะพยายามดูแลให้ดีที่สุด เนื่องจากผู้ใหญ่ของเราเองก็ทำชื่อเสียงมานาน ก็อยากอนุรักษ์ตรงนี้ไว้ให้ดีที่สุด ไม่อยากให้หายไป สวนส้มศรีเจริญนี้จะเน้นใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่เป็นฉลากสีฟ้าและเหลืองที่ไม่มีฤทธิ์ต่อคนมากนัก แต่กลิ่นค่อนข้างแรง เพราะต้องไล่แมลง ทำให้บางคนเข้าใจผิด ทั้งที่ยาบางตัวที่ไม่มีกลิ่น แต่อันตรายกว่ามาก” คุณชัยธนัตถ์ชี้แจง
การจำหน่ายผลผลิตส้มโชกุน
อีกทั้งการทำสวนส้มในวันนี้เริ่มจัดการยากขึ้น ด้วยสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตมีราคาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยผลผลิตเฉลี่ยทั้งปี สวนส้มศรีเจริญจะได้ผลผลิตไซซ์ราคา 60-80 บาท/กก. หรือได้ส้มเบอร์ 6-7-8-9 ส่วนผลผลิตตั้งแต่เบอร์ 5-4-3-2 จะมีแม่ค้ามารับซื้อที่โรงคัดส้ม หรือโรงแว๊กส้มศรีเจริญ เก็บผลผลิตได้ที่ 2-3 รุ่น/ปี โดยแบ่งผลผลิตออกเป็น 2 เกรด คือ ผลผลิตเกรด A จะต้องล้างทำความสะอาดผลส้มภายในโรงคัดส้มก่อนติดสติ๊กเกอร์นำเข้าอย่างดีที่ทำจากแป้ง และมีการติดสติ๊กเกอร์ด้วยระบบเครื่องจักรนำเข้า บริษัท ซินแคลร์เพนท์ ประเทศไทย จำกัด ส่วนผลผลิตเกรด B จะล้างทำความสะอาดก่อนติดสติ๊กเกอร์ทั่วไปที่ทำจากกระดาษ โดยผลผลิตทั้ง 2 เกรด ของบริษัท ไม่มีการแว๊ก เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานส้มที่ดี มีคุณภาพ และปลอดภัย เน้นขายผลผลิตเฉพาะภายในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก
ที่สำคัญการทำสวนส้มทางใต้จะดูแลยากกว่าทางเหนือ เพราะทางเหนืออากาศดีกว่า แต่ทางใต้ร้อนชื้น ต้องต่อสู้กับเชื้อโรค เชื้อรา และแมลงศัตรูพืช มากกว่า ทำให้ผลผลิตมีราคาสูงขึ้น 2-3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากผลผลิตน้อยลง และสวนส้มมีการจัดการที่ยาก ทำให้สวนส้มยังมีอนาคตที่สดใส
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สวนส้มศรีเจริญ
99 หมู่ 3 ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ 81140 โทร.075-689-822-3 โทรสาร.075-689-821