การปลูกทุเรียน
อาชีพหลักอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดชุมพร คือ อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และยังสามารถส่งผลผลิตเพื่อการส่งออกได้อีกด้วย ไม้ผลที่นิยมปลูก ได้แก่ ทุเรียน ลองกอง มังคุด กล้วยหอม และกาแฟ เป็นต้น จังหวัดชุมพรจึงเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญจังหวัดหนึ่งของประเทศ ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเกษตรเป็นเป้าหมายเพื่อให้บรรลุถึงการพัฒนาจังหวัด “ชุมพรน่าอยู่ สู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์”
คุณสุรินทร์ อินทรวัฒนา เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และทำสวนผสมผสาน ในพื้นที่ 30 ไร่ จ.ชุมพร
ถ้าพูดถึงผลไม้ขึ้นชื่อในจังหวัดชุมพร คงหนีไม่พ้น “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกเป็นจำนวนมาก คุณสุรินทร์ อินทรวัฒนา เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และทำสวนผสมผสาน ภายในพื้นที่ 30 ไร่ โดยเขามีวิธีการปลูก และการดูแล ด้วยการลดต้นทุนค่าปุ๋ย-ยา ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างพอเพียง และไม่เป็นหนี้สินใคร
ช่วงแรกก่อนคุณสุรินทร์จะหันมาปลูกทุเรียนตนได้ปลูกกาแฟ มะละกอ และกล้วยหอม มาก่อน ด้วยสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ขาดแคลนแหล่ง “น้ำ” จึงทำให้ต้องเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อทำอาชีพเกษตรกรรมภายในสวน แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเกิดสภาวะแห้งแล้ง ในช่วงที่กาแฟกำลังออกดอกทำให้น้ำที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ผลผลิตที่ได้จึงไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับต้นมะละกอก็เกิดโรคระบาด คุณสุรินทร์จึงตัดสินใจเลิกปลูกกาแฟ และมะละกอ หันมาปลูกต้นทุเรียนแทน ช่วงหลังก็มีการปลูกลองกอง สละ ส้มจี๊ด และกล้วย แซมภายในสวน เป็นแบบผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี
“ทิศทาง คือ เอาสวนผสมเป็นหลัก แต่กำไรที่ได้จากทุเรียนก็จะเอาไว้ทำทุน ค่าปุ๋ย ค่ายา สวนลองกอง สละ พวกนี้จะเอาไว้เป็นรายได้ภายในครัวเรือน ถ้าปลูกพืชตัวเดียวแล้วเกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาก็จะอยู่ยาก ไม่มีพืชตัวอื่นทดแทน การปลูกแบบผสมผสานก็เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องของผลผลิต เรื่องของตลาด และเรื่องของราคา” คุณสุรินทร์กล่าวให้แง่คิด
สภาพพื้นที่การปลูกทุเรียน
คุณสุรินทร์ซื้อกิ่งพันธุ์ที่เสียบยอดต้นละ 15 บาท (ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว) มาปลูกในพื้นที่ประมาณ 100 ต้น และนำมาปลูกเพิ่ม จนปัจจุบันมีต้นทุเรียนอยู่ประมาณ 300 ต้น
เมื่อทุเรียนมีอายุได้ 4 ปี คุณสุรินทร์ได้เข้าร่วมกับชมรมไม้ผลที่ทุ่งตะโกจัดการประชุมที่สวนนายคำ โดยเป็นโครงการทำทุเรียนทวาย หรือการทำทุเรียนนอกฤดู จนได้รับความรู้กลับมาเพื่อมาใช้ในสวนของตน การทำทุเรียนนอกฤดูโดยใช้สารพาโคลบิวทราโซลเป็นตัวควบคุมให้ทุเรียนเปิดตาดอกก่อนถึงฤดูกาล การดูแลสมัยก่อนก็ยังใช้แต่เคมี มีบริษัทเคมีภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาแนะนำในการใช้ตัวยากับต้นทุเรียน ทำให้มีการลงทุนกับการซื้อยาเคมีมาใช้กับต้นทุเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรหลายๆ คน ก็ “เจ๊ง” ไม่เป็นท่า เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ที่ต้องนำมาใช้ภายในสวนของตน การทำทุเรียนนอกฤดูต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก เพราะใช้สารเคมีที่มากด้วยเช่นกัน ซึ่งจะได้ผลผลิตที่ออกมาจำนวนมากนั่นเอง “ช่วงใช้สารเคมีต้นทุนสูงจริงๆ พอมีเงินเท่าไหร่ก็ไปทุ่มให้กับต้นทุเรียนหมด เดี๋ยวจะไม่ได้ผลผลิต” พอทำทุเรียนนอกฤดูได้ซักประมาณ 5 ปี คุณสุรินทร์ก็ตัดสินใจเลิกทำ เพราะในยุคฟองสบู่แตก ราคาทุเรียนนอกฤดูในตอนนั้นเหลือ 10 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดสภาวะขาดทุนกันในหลายๆ สวน จึงหันกลับมาทำทุเรียนในฤดู แล้วปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยการใช้ทั้งเคมี และชีวภาพ ร่วมกัน เป็นการลดต้นทุน และสร้างรายได้ภายในครอบครัวให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน
การปลูกพืชแซมในสวนทุเรียน
หลังจากที่คุณสุรินทร์ล้มเลิกการทำทุเรียนนอกฤดูหันกลับมาทำในฤดูแทน เพราะมองอนาคตแล้วคงเสี่ยงต่อราคาผลผลิตที่ได้รับ และการลงทุนด้วยสารเคมีที่ใช้กับทุเรียนไม่ไหว จึงต้องรีบปรับตัวเองให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว จากการที่คุณสุรินทร์เป็นคนชอบจดและทำบัญชีครัวเรือน ทำให้เล็งเห็นว่าการใช้สารเคมีในการทำทุเรียนนอกฤดูมีต้นทุนในการทำที่มาก และความเสี่ยงในราคาของผลผลิตที่ได้อาจมีราคาต่ำ ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เสียไป ทำให้เกิดการขาดทุนได้ ทั้งนี้เมื่อทำนอกฤดูไม่เป็นผล การทำในฤดูเขาจึงคิดลดต้นทุนโดยการใช้สารเคมีให้น้อยลง บวกกับการใช้สารชีวภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนออกมามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่วนตัวคุณสุรินทร์เองก็ได้รับสารเคมีน้อยลงด้วย เมื่อลดการใช้สารเคมีภายในสวนทุเรียน และหันมาดูแลควบคู่กับการใช้สารชีวภาพ ทำให้ต้นทุนในเรื่องค่าปุ๋ย ค่ายา ลดไปเกือบเกินครึ่ง เพราะนอกจากการปลูกทุเรียนแล้ว การปลูกพืชตัวอื่น อย่าง ลองกอง สละ และกล้วยหอม แซมไปในพื้นที่ว่าง และสามารถปลูกได้ ทำให้มีการดูแลและควบคุมการใช้สารเคมีไปพร้อมกันได้ การปลูกพืชแซมเพื่อให้ภายในสวนมีพืชหมุนเวียนในการเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่าย ทำให้มีรายได้หมุนเวียนระหว่างรอผลผลิตอีกตัวหนึ่ง จึงทำให้สามารถมีรายรับเข้ามาภายในสวนอยู่ตลอด
การทำปุ๋ยใช้เอง ทั้งสูตรปุ๋ยเคมี และปุ๋ยชีวภาพ เป็นการเรียนรู้และทดลองเพื่อนำมาใช้ภายในสวน แต่ต้องมีการติดตามดูผลงานว่าสูตรที่ทำขึ้นได้ผลมากน้อยแค่ไหน โดยนำเศษอาหารในครัวเรือน เช่น พืชผัก ผลไม้ ที่เหลือมาทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ การทำสมุนไพรใช้ทดแทนสารเคมี โดยวิธีการต้ม กลั่น สกัด การทำฮอร์โมนบำรุงพืช การทำเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคพืช การเผาถ่านเอาน้ำส้นควันไม้มาขับไล่แมลง โดยการใช้สารเหล่านี้จะช่วยทำให้ดินในพื้นที่มีสภาพดีขึ้น และธาตุอาหารจะอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
“การลดต้นทุนโดยการลดการใช้สารเคมี และหันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน ตั้งแต่นั้นมามันก็อยู่ได้ พวกชาวสวนทุเรียนที่ใช้สารเคมีทั้งหมด แค่เขาขายทุเรียนกิโลกรัมละ 20 บาท เราก็ขาดทุน ของเราขายกิโลกรัมละ 10 บาท ก็ยังไม่ขาดทุน ก็ยังสามารถอยู่ได้ บางสวนที่มีทุนแล้วก็ต้องไปเอาสารเคมีจากร้านขายยามาก่อน พอผลผลิตออกจึงนำเงินไปจ่าย แต่ถ้าผลผลิตออกมาขายไม่ได้ราคา เงินก็ไม่มีให้ร้านขายยา หลายเจ้าก็ต้องโดนร้านขายยามายึดสวนไปจนต้องล้มเลิกกันไป ทำให้ไม่มีที่ทำกิน” คุณสุรินทร์กล่าวเปิดใจ
การใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาในสวนทุเรียน
การใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาในการควบคุมโรครากเน่า โคนเน่า ในทุเรียน หลายท่านคงเคยได้ยิน หรือเคยลองใช้มาแล้ว และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ความจริงเชื้อที่อยู่ในดินที่เกิดจากเชื้อราในบริเวณสวนทุเรียน เมื่อก่อนใช้สารเคมีราคาแพงในการป้องกันกำจัด ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากต้นอ่อนแอก็กลับมาเป็นใหม่ได้ แต่เชื้อไตรโคเดอร์มาเป็นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา มีหน้าที่ คือ ฆ่าเชื้อรา หรือทำให้เชื้อเติบโตต่อไปได้ แต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องความสมบูรณ์ของต้นไม้ หากมีการใส่เชื้อไตรโคเดอร์มาลงไปในดินอย่างถูกต้องตามวิธีการที่นักวิชาการได้ทดลองมา สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เชื้อจะขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำหน้าที่จัดการเชื้อโรคร้ายที่ทำให้ต้นทุเรียนเกิดโรค โดยอาศัยการเติบโตที่เร็วกว่าเข้าแย่งพื้นที่ ทำให้เชื้อโรคเติบโตไม่ได้ แต่บางครั้งการใช้เชื้ออย่างเดียวไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเราจะมุ่งไปที่การจัดการเชื้อในดินอย่างเดียว ฉะนั้นการที่ใช้วิธีผสมผสานหลายอย่างเข้าด้วยกันจะเหมาะสมที่สุด เช่น ใช้ทั้งสารเคมีรักษาโรคทาที่แผลต้นไม้โดยตรง แล้วใส่ไตรโคเดอร์มาลงดิน และบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ถ้าทำได้โอกาสประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโคนเน่าก็จะมีมากขึ้นกว่าการใช้วิธีเดียว
สรุปความสำคัญของเชื้อราไตรโคเดอร์มาจัดเป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งจุลินทรีย์ และวัตถุอินทรีย์ตามธรรมชาติ เป็นเชื้อที่เป็นศัตรูต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด โดยมีกลไกการต่อสู้กับเชื้อรา สาเหตุโรคพืช คือ แข่งขันกับเชื้อราโรคพืช การเป็นปรสิตต่อเชื้อราโรคพืช การสร้างสารยับยั้ง หรือทำลายเชื้อรา
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นทุเรียน
คุณสุรินทร์เผยว่าการทำทุเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ตลอด แต่มันขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศอีกด้วย นอกจากมีความรู้ที่ “เจ๋ง” ต้องบวกความ “เฮง” เข้ามาด้วย เพราะต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลา “ไม่ใช่ว่าทุเรียนออกดอกมาแล้ว งานนี้รวยแน่ แต่จะต้องดูอีกต่อไปว่าดอกมันจะอยู่หรือเปล่า แล้วลูกมันจะร่วงหมดไหมถ้าขาดน้ำ ถ้าเป็นลูกใหญ่แล้วก็ต้องระวังลม ถ้าลมมาแรงๆ ก็หายหมดเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจอกับสถานการณ์ไหน” แต่เมื่อทุกอย่างมันผ่านมาด้วยดี ผลผลิตที่ได้ก็จะมีจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับขนาด และอายุ ของต้นทุเรียนอีกด้วย
การให้ปุ๋ยและสารอาหารกับต้นทุเรียนควรให้แบบพอดีไม่มาก ไม่น้อย จนเกินไป ถ้าให้น้อยต้นทุเรียนก็จะขาดสารอาหาร แต่ถ้าให้เยอะเกินไปผลผลิตในปีนี้อาจจะมีปริมาณที่เยอะ แต่ปีหน้าต้นทุเรียนจะโทรม และให้ผลผลิตน้อยลง เพราะต้นทุเรียนจะเร่งให้ผลผลิตในปีถัดไปทั้งหมดแล้ว ดังนั้นจึงควรใส่ปุ๋ยและสารอาหารให้พอประมาณ ต้นทุเรียนจะได้รับไปผลิตอาหารได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผลผลิตทุเรียนในทุกปีเป็นไปอย่างเหมาะสม
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน
ราคาจำหน่ายทุเรียนขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะการมีผลผลิตของทุเรียน ถ้าผลผลิตออกมาชนกันมากๆ ราคาผลผลิตก็จะถูก เมื่อเทียบกับการที่ผลผลิตออกมาก่อน หรือหมดทีหลัง การตัดทุเรียนไปส่งที่ “ล้ง” ถ้ามีเกษตรกรตัดทุเรียนมาส่งพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ราคาทุเรียนในวันนั้นก็จะต่ำ แต่ในทางกลับกันถ้ามีเกษตรกรมาส่งทุเรียนน้อยราคาจะสูงขึ้น เพราะปริมาณของผลผลิตทุเรียนมีน้อยจึงได้ราคาสูง ดังนั้นราคาขึ้น-ลงตามผลผลิตที่มี ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เกษตรกรจะนำผลผลิตไปส่งว่ามากน้อยเพียงใด แต่ถ้าขายหน้าสวนจะได้ราคาดีที่สุด ไม่มีขึ้น มีลง ถ้ามีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงสวน การเก็บผลผลิตก็ไม่ต้องลงแรงเอง เขามีคนเก็บเรียบร้อย รอชั่งกับเก็บเงินอย่างเดียว แถมไม่ต้องคัดเกรดเหมือนนำไปส่งล้งอีกด้วย
ด้านตลาดผลผลิตทุเรียน
“ล้ง” จะมีหลายจังหวัดทางภาคใต้นำทุเรียนมาจำหน่าย อาทิเช่น นครศรีธรรมราช ยะลา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ดังนั้นเมื่อผลผลิตทุเรียนออกมามากๆ ก็จะนำมาจำหน่ายกันมาก ไม่ว่าจะทำนอกฤดู หรือในฤดู เพราะถึงเวลาเก็บทุเรียนทุกสวนก็เก็บในระยะใกล้เคียงกัน ช่วงผลผลิตมีมากราคาก็จะต่ำลงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าสามารถทำให้ผลผลิตออกก่อน หรือหมดหลังคนอื่นๆ ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับราคาผลผลิตที่สูงกว่าคนอื่น เช่น “ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำหรับการผลิตทุเรียนให้ได้ปริมาณมากนั้นขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ถ้าเราไม่มีการพักดินดอกก็จะไม่ออก คนใช้เคมีทำนอกฤดูเขาจะเครียด แต่อย่างไรเราไม่เครียด เพราะเราไม่ต้องลงทุนเยอะเหมือนเขา เราก็ไม่กลัว” คุณสุรินทร์กล่าว
การแปรรูปทุเรียน
ขณะที่ราคาทุเรียนขายออกจากสวนก็ตกต่ำ “การแปรรูปทุเรียนขาย” จึงเป็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง สำหรับชาวสวนเองที่ต้องการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเพื่อให้สอดรับสถานการณ์ทุเรียนตกต่ำ การทำ “ทุเรียนทอดกรอบ” และ “ทุเรียนกวน” ก็เป็นวิธีการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าได้อีกวิธีหนึ่ง
–ทุเรียนทอดกรอบ ต้องคัดทุเรียนที่ยังไม่สุก หรือสุกประมาณ 70% โดยพันธุ์ที่นิยม คือ หมอนทอง เพราะเป็นพันธุ์ที่มีเนื้อเยอะ น้ำมันที่ใช้ควรเป็นน้ำมันปาล์ม จะช่วยทำให้ทุเรียนทอดกรอบ ไม่เหม็นหืน และชั้นของเนื้อทุเรียนจะกรอบนานกว่าทอดด้วยน้ำมันชนิดอื่น ตลาดอาจหาทำเลวางขายตามแหล่งท่องเที่ยว หรือส่งขายตามร้านค้าต่างๆ
–ทุเรียนกวน ต้องเลือกใช้เฉพาะทุเรียนที่แก่จัด และสุก ไม่เน่าเสีย ไม่มีรสเปรี้ยว และไม่มีเชื้อรา การกวนทุเรียนอาจกวนจากทุเรียนชนิดเดียว หรือกวนจากทุเรียนหลายชนิดผสมกันตั้งแต่ 2 พันธุ์ขึ้นไปก็ได้ กวนจนเนื้อทุเรียนแห้ง เหนียว เนียน จับไม่ติดมือ จากนั้นจึงบรรจุใส่ภาชนะ
รายได้จากผลผลิตทุเรียน
นอกจากชาวสวนทุเรียนจะสามารถหารายได้เพิ่มได้อีกทางแล้ว ผลผลิตที่ออกมามากเกินความต้องการของตลาด หรือราคาที่รับซื้อยังตกต่ำ ก็สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้อีกทาง ด้วยประสบการณ์ทำบัญชีครัวเรือนมานานกว่า 20 ปี เพื่อให้รู้รับ รู้จ่าย รู้ออม รู้การบริหารจัดการตนเอง จนประสบความสำเร็จในการหลุดพ้นจากการเป็นหนี้กับกลุ่มองค์กรต่างๆ จนอยู่ได้ในหลักการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงของเรา โดยมีคำนิยามว่า “บัญชีคือกระจกเงา ที่ทำให้เรารู้จักตนเอง”
คุณสุรินทร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “การที่เรากู้เงินตัวเอง แล้วจ่ายดอกเบี้ยให้เป็นรายได้ของตน ทำให้เราไม่ต้องเสียเปรียบจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร แต่เราต้องยึดหลักความซื่อสัตย์ เพราะการกู้เงินตัวเองเราก็เป็นหนี้ตัวเอง จะใช้หรือไม่ใช้ก็เป็นเงินของเรา ถ้าเราใช้มันก็เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาของเรา”
ดังคติคู่บ้านที่ว่า “ขยันตักน้ำให้เต็มโอ่ง จะได้ไม่ต้องโก่งโค้งขอด ขยันให้ตลอด จะได้ไม่ต้องขอดจนก้นโด่ง” คือ การหมั่นเติมความรู้ หรือทุนทรัพย์ ไว้อยู่โดยตลอด เพื่อที่จะได้ไม่ลำบากในยามยาก พร้อมด้วยขยัน มุ่งมั่น มานะ อดทน ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ คู่ความซื่อสัตย์ หากเกษตรกรมีการพัฒนาตนเอง และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยพึ่งตัวเองก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น จะทำให้สามารถดำรงชีวิต และยืนด้วยตัวของตัวเองได้ ในอนาคตเกษตรกรจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แบบยั่งยืน
หากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจเรื่องราวสามารถติดต่อได้ที่ คุณสุรินทร์ อินทรวัฒนา 76 ม.3 บ้านควนจำปา ต.ถ้ำสิงห์ อ.เมือง จ.ชุมพร โทร.08-6942-4053