ปัจจุบันเนื่องจากเศรษฐกิจมีทิศทางที่ไม่แน่นอน เกษตรกรอย่างเราจะมีวิธีการจัดการสวนอย่างไรให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากใคร หลายๆ สวนอาจประสบกับปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำลงจากปีก่อนๆ ปัญหาผลผลิตลดลงไม่ตรงตามเป้า หรือปัญหาทางด้านเงินทุน ฯลฯ พลังเกษตร ขอนำเสนอการ ทําสวนแบบผสมผสาน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยที่ไม่มีหนี้ และ ไม่เดือดร้อนใคร ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทําสวนแบบผสมผสาน
จุดเริ่ม ทําสวนแบบผสมผสาน
เช่นเดียวกับ ลุงสี ศรีดอกคำ เกษตรกรชาวสวนที่เน้นการทำเกษตรแบบผสมผสาน ส่งผลให้ตนเองและครอบครัวสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นเวลานานถึง 30 ปี อย่างลุงสียอมรับว่าตนเองเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
แต่ในอดีตนั้นตนมีพื้นเพอยู่ที่สุพรรณบุรี แต่ด้วยความจนลุงจึงพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานทำมาหากินเข้ามาอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานีเมื่อปี 2530 ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ทำงานรับจ้างทำสวน รับจ้างทุกอย่าง ที่สามารถทำได้ และปลูกสับปะรดด้วย หลังจากนั้นก็นำผลไม้ และต้นกล้ายางพารา จากทางภาคใต้ ขึ้นมาขายเป็นรายได้เสริม ซึ่งในแต่ละเดือนลุงสีต้องขับรถลงใต้ถึง 3-4 เที่ยว เนื่องจากผลไม้จากภาคใต้ขายได้ค่อนข้างดี
เน้นการทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นศูนย์รวมของพ่อค้า แม่ค้า
ลุงสีประกอบอาชีพอย่างนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2538 จึงเริ่มคิดที่จะทำสวนเป็นของตัวเอง โดยเริ่มปลูกเงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และสะตอ บนพื้นที่ 20 ไร่ จากคำชักชวนของเพื่อนสนิท สาเหตุที่ปลูกผลไม้หลายๆ ชนิดด้วยกัน เพราะคิดว่าต้องการให้บ้านเป็นศูนย์รวมของญาติ เช่นเดียวกับสวนก็ต้องการให้เป็นศูนย์รวมของพ่อค้า แม่ค้า เช่นกัน
เมื่อมีผลไม้หลากหลายตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ จึงทำให้บรรดาพ่อค้าทั้งหลายเลือกที่จะมาซื้อผลไม้จากสวนลุงสี เพราะคิดว่ามาที่เดียวได้ครบตามที่ต้องการ สำหรับพ่อค้าที่ต้องการเข้ามาซื้อผลไม้จะต้องโทรมาจองล่วงหน้าเป็นเดือน หรือเป็นปี เนื่องจากขายในราคาไม่แพงมาก อย่าง ทุเรียน ขายกิโลกรัมละ 40 บาท ราคาเดียวมาถึง 7 ปีแล้ว
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เป็นจุดสนใจของเหล่าพ่อค้า และสร้างความโดดเด่นให้กับสวน ลุงสีกล่าวว่า “ถ้าเราทำอย่างเดียว คนที่มาบ้านเราเขาก็ได้ผลไม้ชนิดเดียวกลับไป อย่างหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านยังสอนให้เราแบ่งสรรจัดส่วนในพื้นที่ของเราออกเป็นหลายอย่าง เราถึงจะสามารถอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนในเศรษฐกิจที่ไม่คงตัวอย่างนี้ ดังนั้นถ้าเราปลูกพืชเชิงเดี่ยวเราก็ได้ผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเราปลูกหลายๆ อย่าง ผลที่ได้ก็มากมายเช่นกัน”
การปลูกผลไม้หลากหลายชนิด
นอกจากผลไม้ที่กล่าวมาแล้ว ลุงสียังปลูกกล้วยไข่แซมไปด้วย สาเหตุที่เลือกปลูกกล้วยไข่ คือ สามารถสร้างรายได้ และเพื่อเป็นร่มเงาให้กับผลไม้ ต้นมังคุดที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้จะไม่ชอบแสงแดด ลุงสีจึงเลือกที่จะปลูกกล้วยเพื่อสร้างร่มเงาให้แก่ต้นมังคุด
ถัดจากนั้นมาทางทิศตะวันออกก็ปลูกต้นมังคุด เพราะช่วงบ่ายแดดร้อนจัด ต้นมังคุดอาจตายได้ นอกจากกล้วยไข่จะให้ร่มเงาแล้วยังสร้างรายได้หวีละ 7 บาท โดยจะมีผู้รับซื้อเป็นคนมาตัดเองที่สวน ปัจจุบันสวนผสมผสานของลุงสีมีไม้ผลทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน 43 ต้น มังคุด 120 ต้น เงาะ 150 ต้น สะตอ 20 ต้น และลองกอง 11 ต้น
คุณสยาม ศรีดอกคำ ลูกชายของลุงสีกล่าวว่า สวนผลไม้ของเราส่วนมากการดูแล การจัดการ และการใส่ปุ๋ยค่อนข้างเหมือนกัน เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลเหมือนกัน การดูแลจัดการจึงค่อนข้างง่าย
ขั้นตอนการปลูกทุเรียน
ทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำขัง และความเป็นกรด-ด่างของดินอยู่ระหว่าง 5.5 ถึง 6.5 การเตรียมพื้นที่ ต้องปรับพื้นที่ก่อนที่จะกำหนดผังปลูกและติดตั้งระบบน้ำ โดยปรับพื้นที่ให้ราบ ไม่ให้มีแอ่งที่น้ำท่วมขังได้ โดยลุงสีเลือกปลูกแบบขุดหลุมปลูก
แต่หลุมไม่ได้มีขนาดที่ลึกมาก เพราะจะทำให้น้ำขัง ซึ่งจะทำให้รากเน่า และต้นทุเรียนตายได้ง่าย ซึ่งวิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น จุดเน้นที่สำคัญ คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีขนาดเล็ก มีระบบรากดี ไม่ขดงอ แต่หากจะปลูกด้วยต้นกล้าขนาดใหญ่ควรตัดแต่งรากที่ขดงอ ทั้งที่ก้นถุง และด้านข้าง
เริ่มตัดแต่งกิ่งหลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 ถึง 1.5 ปี เพื่อให้ต้นทุเรียนมีโครงสร้างและทรงพุ่มที่ดี การตัดแต่งกิ่งจะต้องเว้นลำต้นเดี่ยว และเว้นกิ่งประธานกิ่งแรก สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ไว้กิ่งให้เรียงเป็นระเบียบ เหมาะแก่การออกผล และไม่บดบังแสงแดดซึ่งกันและกัน ต้องควบคุมความสูงของลำต้นไว้ที่ประมาณ 7 เมตร เพื่อง่ายต่อการเก็บผลผลิต และดูแลรักษา
วิธีการปลูกเงาะ
ปลูกโดยวิธีการขุดหลุม เพื่อให้หลุมช่วยเก็บกักความชื้น ความกว้างหลุมประมาณ 80 เซนติเมตร และลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ตากแดดทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ใช้หญ้าแห้งรองก้นหลุม ใส่ปุ๋ยคอกลงไป จากนั้นตามด้วยต้นเงาะ จุดสำคัญ คือ ใช้ต้นกล้าที่มีระบบน้ำดี ไม่ขดงอในถุง
วิธีการปลูกมังคุด
การปลูกมังคุด ลุงสีบอกว่าผลไม้ในสวนทุกชนิดมีหลักการปลูกที่ค่อนข้างเหมือนกัน การปลูกมังคุดก็คล้ายๆ กันกับการปลูกทุเรียน ปลูกโดยการขุดหลุมปลูก แต่หลุมไม่ได้มีขนาดที่ลึกมาก เพราะจะทำให้น้ำขัง รากเน่า และตายได้ง่าย ซึ่งวิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น จุดเน้นที่สำคัญ คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีขนาดเล็ก มีระบบรากดี ไม่ขดงอ
วิธีการปลูกลองกอง
การปลูกลองกองควรจะมีการเตรียมพื้นที่ วางระบบน้ำ และปลูกพืชให้ร่มเงาไว้ล่วงหน้า ก่อนลงมือปลูกลองกอง ซึ่งลุงสีเลือกที่ที่จะปลูกกล้วยไข่แซมในสวนเพื่อเป็นร่มเงาแก่ผลไม้ทุกชนิด โดยถ้ามีการวางระบบน้ำไว้ก่อนสามารถให้น้ำได้ทันที ควรปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน เพื่อจะได้มีเวลาตั้งตัว แล้วเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน
วิธีการปลูกสะตอ
ฤดูปลูก ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน คือ ในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน วิธีการปลูก หลังจากเตรียมหลุมปลูกแล้วให้ใช้จอบขุดดินในหลุมให้มีขนาดพอดีเท่ากับถุงที่ใช้เพาะต้นกล้า กรีดด้านข้างถุงเพาะ แล้ววางลงไปในหลุมปลูก ใช้ไม้ปักแนบลำต้น ผูกเชือกยึดกันลมโยก รดน้ำให้ชุ่มชื้น ทำร่มเงาให้เป็นเวลา 1 ปี
การบริหารจัดการสวนผลไม้
ลุงสีเริ่มปลูกผลไม้ทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ.2538 และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อปี พ.ศ.2542 การดูแลสวนผลไม้ทั้งหมด รวมทั้งการใส่ปุ๋ย ลุงสีกล่าวว่า “การดูแลจัดการสวนทั้งหมด รวมทั้งการใส่ปุ๋ยเหมือนกัน” เมื่อผลไม้ในสวนสามารถเก็บผลผลิตได้ หลังจากการเก็บเกี่ยว 1 เดือน จะต้องมีการตัดแต่งกิ่ง โดยตัดแขนงที่ขึ้นตามกิ่งออก
การใส่ปุ๋ย 1 ปี จะใส่อยู่ 3 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงเดือนตุลาคม หลังจากการเก็บเกี่ยวใส่ปุ๋ยสูตร15-15-15 แล้วใส่อีกครั้งเดือนมกราคม จะเป็นช่วงออกดอกของผลไม้ จะใส่ปุ๋ยสูตร15-15-15 อีกครั้ง และใส่อีกช่วงเดือนเมษายน จะใส่ปุ๋ยเร่งดอก เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ออกลูก แล้วใส่สูตร13-13-21 จากนั้นก็ฉีดน้ำหมัก EM ที่ทำเองในสวนทุก 15 วัน และรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ผลผลิตในสวนทั้งหมดจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายๆ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
แรงจูงใจในการปลูกพืชแบบผสมผสาน
นอกจากสวนผลไม้ข้างต้นแล้ว ลุงสี ยังปลูก “ยางพารา และปาล์มน้ำมัน” โดยแรงจูงใจหลักในการปลูกพืชแบบผสมผสานนี้ ลุงสีกล่าวว่า “ต้องมีรายได้แบบนี้ถึงจะอยู่ได้ ในเศรษฐกิจที่ค่อนข้างผกผันแบบนี้ คือ ต้องมีรายได้ 3 ช่องทาง”
- รายวัน
- รายเดือน
- รายปี
1) รายวัน คือ ยางพารา ซึ่งจะตัด 3 วัน หยุด 1 วัน
2) รายเดือน คือ ปาล์ม ซึ่งปาล์มจะตัดทุก 15 วัน เดือนหนึ่งตัด 2 ครั้ง แต่ปัจจุบันได้โค่นออกแล้ว เนื่องจากก้านใบยาวเบียดต้นไม้อื่น และมีขนาดค่อนข้างหนัก จึงเลิกทำ รายได้หลักปัจจุบันนี้จึงมี 2 ช่องทาง คือ ยางพารา และผลไม้
3) รายปี คือ ผลไม้ในสวน ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 1 ครั้ง จึงมีรายได้คิดเป็นปี
การจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่อย่างนี้ ทำให้ลุงสีสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และสามารถปลดหนี้จาก ธกส.ได้หมด ซึ่งปัจจุบันนี้ลุงสีไม่มีหนี้สินจากการกู้ยืมแล้ว
ซึ่งลุงสีเป็นผู้จัดทำบัญชีเองทุกๆ 15 วัน เพื่อสรุปรายรับ รายจ่าย และแบ่งปันผลให้กับลูก การทำแบบนี้เป็นการสร้างรายได้ และแบ่งบันรายได้ให้สมาชิกในครอบครัวอย่างทั่วถึง ลูกๆ ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอีกด้วย ซึ่งในเศรษฐกิจแบบนี้ลุงสียังเน้นย้ำถึงเกษตรกรว่า “ถึงราคาจะตกต่ำ ขอให้เราอดทน รักษาคุณภาพในการผลิตของเราให้ดี และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนบางส่วนที่ไม่จำเป็น หันมาปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ไว้ทานเอง ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เราก็จะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้”
ขอขอบคุณ
คุณสี ศรีดอกคำ คุณสยาม ศรีดอกคำ คุณสุดา ศรีดอกคำ ที่อยู่ 63 หมู่ 12 ต.คอกควาย อ.บ้านไร่ จ. อุทัยธานี 61140