การจัดการกับพื้นที่ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างรายได้ หรือให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรตลอดทั้งปี ถือเป็นหลักการจัดการเบื้องต้นที่เกษตรกรได้ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน และอาจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องผลิตไม้ผลนอกฤดูเลยก็เป็นได้ เพียงแต่มีการจัดการพื้นที่ให้มีความหลากหลายในรูปแบบของเกษตรผสมผสานที่เหมาะสมก็เพียงพอแล้ว
คุณมะลิ ยิ้มถนอม เกษตรกรชาว อ.สามพราน จ.นครปฐม ผู้ปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ และฝรั่งแป้นยอดแดง ในพื้นที่ 10 ไร่ ที่มีอยู่ โดยมีการจัดการแบ่งพื้นที่ทำการเพาะปลูกอย่างละ 5 ไร่ นอกจากจะมีรายได้หลักจากชมพู่ทับทิมจันทร์ และฝรั่งแป้นยอดแดงแล้ว
คุณมะลิยังมีรายได้จากผักสวนครัวที่ขึ้นเองตามธรรมชาติบนร่องแปลงเล็กๆ ที่ใช้ปลูกพืชหลักไว้ อย่างเช่น มะเขือพวง ปลาตัวใหญ่ในร่องน้ำที่เวียนว่ายไปมาให้เห็นอยู่ตลอด และผักตำลึง โดยเฉพาะผักตำลึงที่สามารถเก็บขายได้ทุกวัน จนสามารถเรียกได้ว่าตอนนี้คุณมะลิมีรายได้หลักอีกทางหนึ่งจากผักตำลึงแล้ว
ต้องขอบอกเลยว่าพื้นที่ 10 ไร่ คุณมะลิได้ผลผลิตที่มากกว่า 10 ไร่ เสียอีก และยังสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี จากที่การสลับการให้ผลระหว่างชมพู่ทับทิมจันทร์กับฝรั่งแป้นยอดแดงที่ให้ผลผลิตคนละช่วง ทำให้การดูแลผลผลิตภายในสวนมีคุณภาพสม่ำเสมอ ทั้งนี้กว่าที่คุณมะลิจะประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
สภาพพื้นที่ปลูกฝรั่งแป้นยอดแดง
ทีมงานเมืองไม้ผลได้มีโอกาสฟังเรื่องราวจากคุณมะลิว่า ชมพู่ทับทิมจันทร์ได้ทำการปลูกมา 15 ปี ส่วนฝรั่งแป้นยอดแดงเองก็เพิ่งปลูกมา 5 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ที่สวนจะปลูกพันธุ์ทูลเกล้า พันธุ์ทูลเกล้าได้รับความนิยมมากมาก แต่เมื่อพันธุ์ใหม่ขึ้นมา อย่าง พันธุ์ทับทิมจันทร์ เข้าตีตลาดชมพู่พันธุ์ทูลเกล้า จึงไม่ได้รับความนิยมดังเช่นแต่ก่อนอีก ที่สวนจึงตัดสินใจเปลี่ยนสวนชมพู่ทูลเกล้ามาเป็นชมพู่พันธุ์ทับทิมจันทร์ และจาก 15 ปีที่ผ่านมา ชมพู่ทับทิมจันทร์ยังได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก่อนที่จะมาปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จะทำเกษตรปลอดภัยมาก่อน คือ การทำเกษตรปลอดภัยจะสามารถใช้เคมีได้บ้างสลับกับอินทรีย์ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่มาช่วงหลังการส่งเสริมสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์เริ่มเข้ามามีบทบาท เป็นที่นิยมของตลาดมากขึ้น เราจึงต้องเปลี่ยนจากเกษตรปลอดภัยมาเป็นเกษตรอินทรีย์แบบเต็มตัว คือ ทุกขั้นตอนต้องเป็นอินทรีย์ทั้งหมด ไม่มีเคมีปนเปื้อนแม้แต่ขั้นตอนเดียว
การใส่ปุ๋ยต้นชมพู่ และฝรั่ง
โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้ปุ๋ย และเป็นปุ๋ยที่กลุ่มในหมู่บ้านหมักขึ้นมาเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เลือกซื้อมาบ้าง แต่มีเคมีปะปนมาด้วย จึงเลิกใช้ไป แล้วหันมาใช้ปุ๋ยที่กลุ่มหมักเองมาตลอดทั้งปี ราคาจะอยู่ที่ 120-180 บาท/ 25 กก. จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีเคมีปนเปื้อนอย่างแน่นอน การใช้ปุ๋ยในช่วงบำรุงต้นเราจะบำรุงไปเรื่อยๆ ให้ต้นชมพู่สะสมอาหารตลอดทั้งปี
ซึ่งช่วงที่ต้นเริ่มให้ดอกเราจะใส่ปุ๋ยน้อยหน่อย กันไม่ให้ต้นแตกใบมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ต้นชมพู่ให้ดอกน้อยกว่าเดิมได้ การเลือกใช้ปุ๋ยขอแนะนำก่อนว่าจากที่เลือกใช้ปุ๋ยมาหลายแบบต้องบอกก่อนเลยว่า หากจะปลูกเชิงธุรกิจ การเลือกใช้ปุ๋ยเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เหมาะสมกับการปลูกพืช อาจทำให้ผลผลิตที่ได้รับนั้นมีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม แต่อาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันแล้ว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการเกษตรแบบอินทรีย์ ตลาด หรือบริษัทต่างๆ จะยังคงรองรับผลผลิตเสมอ แม้ว่าผลจะมีขนาดเล็กกว่าผลผลิตจากเคมีก็ตาม หากไม่มีผลผลิตเกษตรแบบอินทรีย์ ก็ควรผลิตแบบเกษตรปลอดภัยจะดีกว่า
การให้น้ำต้นชมพู่ และฝรั่ง
สำหรับการให้น้ำต้นชมพู่ทับทิมจันทร์ และฝรั่งแป้นยอดแดง จะใช้เรือและติดอุปกรณ์สำหรับฉีดพ่นน้ำตามร่องน้ำ เพราะที่นี่นิยมการปลูกพืชบนร่องแปลง เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ล่ม มีน้ำตลอด ทั้งไหลผ่านมาจากแม่น้ำท่าจีน การให้น้ำฝรั่งแป้นยอดแดงต้องคอยสังเกตจากสภาพอากาศ ฝน และความชื้นภายในดินด้วย ฝรั่งแป้นยอดแดงจะให้น้ำน้อยกว่าชมพู่ทับทิมจันทร์ หากฝนตกจะหยุดการให้น้ำ หากให้น้ำมากอาจมีผลต่อความหวานของผลได้
การป้องกันกำจัดโรค-แมลง และศัตรูพืช
การจัดการศัตรูพืช ชมพู่ทับทิมจันทร์ และฝรั่งแป้นยอดแดง แบบอินทรีย์ เรื่องโรคกับแมลงในผลไม้ย่อมมีมากเป็นธรรมดา ที่สำคัญและพบบ่อยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นแมลงวันผลไม้ เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง โดยเฉพาะแมลงวันผลไม้เป็นที่หลีกเลี่ยงค่อนข้างยาก ซึ่งเราไม่สามารถใช้สารเคมีได้
จึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีป้องกันแบบธรรมชาติ หลักๆ ที่ทำ คือ การฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้กับขมิ้นชันที่หมักเอง และการห่อผลเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดสำหรับชาวสวนผลไม้ เพราะหลังจากห่อผลแล้วแมลงวันผลไม้จะเข้ากินผลไม่ได้ ซึ่งถุงที่ใช้ห่อผลจะนิยมใช้ขนาด 7×15 นิ้ว
แต่หากเป็นฝรั่งแป้นยอดแดงเราจะใช้กระดาษหุ้มทับอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันแสงแดด ผลฝรั่งจะมีสีขาวนวล สวย และการตัดแต่งกิ่งต้นชมพู่ในช่วงพักต้นให้ต้นดูโปร่ง จะช่วยให้การฉีดพ่นสารป้องกันโรคและแมลงทั่วถึงทั้งต้นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราเลือกใช้ “การใช้กับดักแมลงในสวน” ต้องขอบอกก่อนเลยว่าเคยใช้มาแล้ว
แต่วิธีการดักแมลงแบบนี้ก็เหมือนกับการล่อแมลงเข้าที่สวนของเราด้วยเช่นกัน อย่างพื้นที่ที่นี่จะมีสวนผลไม้เยอะมาก สวนของเราเพียงสวนเดียวที่ใช้วิธีการดักแมลง ผลปรากฏว่าแมลงวันผลไม้จากสวนใกล้เคียงต่างเข้ามาที่สวนของเรา และทำให้สวนของเราเสียหายมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้หากจะเลือกใช้วิธีการนี้คงต้องปรึกษากับสวนข้างเคียง หรือไม่ก็ร่วมมือกันทุกสวนได้ วิธีการดักแมลงก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ได้ผลดีเช่นกัน” คุณมะลิแนะนำ
การเก็บเกี่ยวผลผลิตชมพู่ และฝรั่ง
คุณมะลิบอกว่าแต่ก่อนจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ ตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงขั้นตอนการขนส่งผลผลิตเลยทีเดียว ที่สำคัญที่สุดที่ต้องคอยดูแลอย่างสม่ำเสมอ คือ ช่วงที่ต้นเริ่มให้ดอกจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยรุ่นแรกที่ชมพู่ทับทิมจันทร์ให้ผลผลิต คือ หลังจากที่ปลูกต้นไปแล้วประมาณ 1 ปี ต้นจะเริ่มให้ดอก
และหลังจากนั้นอีกประมาณ 3 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตชมพู่ทับทิมจันทร์ได้ในรุ่นแรกแล้ว เพื่อให้ผลผลิตมีขนาดตามที่ตนต้องการช่วงที่ต้นชมพู่ให้ดอก ชาวสวนควรปลิดดอกทิ้งให้เหลือช่อหนึ่งประมาณ 4 ผล เพื่อกันไม่ให้ผลแย่งอาหารกัน เพราะอาจทำให้ผลมีขนาดเล็ก
ช่วงที่ชมพู่ให้ผลผลิตมากที่สุด คือ เดือน ธ.ค.-ม.ค. ราคาชมพู่จะตกมาก หากขายตามตลาด และช่วงนี้ (ก.ค.) เป็นช่วงที่ชมพู่มีราคาดี ตรงกับช่วงเทศกาลหลายเทศกาล เช่น สารทจีน ชมพู่จะขายได้ราคาดี แต่ช่วงนี้ต้นชมพู่จะอยู่ระหว่างการพักต้น ผลผลิตไม่มี หากจะทำ คือ เป็นชมพู่นอกฤดู ทั้งนี้ก็เคยทำมาช่วงหนึ่ง ซึ่งรายรับไม่ได้เท่าที่ควร คือ พอคุ้มทุนเท่านั้น ซึ่งมาจากต้นทุนที่สูงมาก จึงเลิกทำนอกฤดูไป
การบริหารจัดการต้นชมพู่และฝรั่ง
ส่วนฝรั่งแป้นยอดแดงที่มีประมาณ 500 ต้น ในพื้นที่ 5 ไร่ การดูแลจัดการเหมือนกันกับต้นชมพู่ทับทิมจันทร์ เพียงแต่เรามีการบังคับการให้ดอก ออกผล ในฝรั่งแป้นยอดแดงเพิ่มขึ้นมา คือ เราจะใช้วิธีการโน้มกิ่งฝรั่งแป้นยอดแดงลงมัดติดกับค้างไม้ที่ทำขึ้นตามร่องน้ำ
การโน้มกิ่งฝรั่งมัดติดกับค้างเข้าทางร่องน้ำทั้งสองฟากจะทำให้ผลผลิตไม่เน่าเสียเร็ว ทั้งนี้อาจมาจากความเย็นของน้ำที่ผลฝรั่งได้รับ ปริมาณการสูญเสียจึงมีน้อยกว่า ซึ่งเราจะทำการโน้มกิ่งฝรั่งหลังจากที่ปลูกต้นไปแล้วประมาณ 10 เดือน และนับไปอีกประมาณ 6 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตฝรั่งแป้นยอดแดงได้ จะทำการเก็บผลผลิต 7 วัน/ครั้ง ไปเรื่อยๆ หากชุดที่ให้ดอกช่วงหลังก็จะปลิดทิ้งไป เพื่อไม่ได้ต้นโทรม อายุต้นจะน้อย
ที่ผ่านมารายได้ที่ได้มาจากฝรั่งแป้นยอดแดง หากผลผลิตมาก คุณภาพดี รุ่นหนึ่งก็มีรายได้อยู่ในหลักแสนเหมือนกัน นับว่าจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ หากแต่ชาวสวนฝรั่งแป้นยอดแดงต้องคอยควบคุมการให้ผลผลิตฝรั่งต่อต้นประมาณ 100 กว่าผล ก็พอแล้ว
ลักษณะฝรั่งแป้นยอดแดง
“ความแตกต่างระหว่างฝรั่งแป้นยอดแดงกับฝรั่งพันธุ์อื่น” คุณมะลิอธิบายเพิ่มเติมว่า พันธุ์แป้นยอดแดงมีลักษณะผลใหญ่ รสชาติหวาน กรอบ ผิวขาวนวล ต่างจากพันธุ์อื่น เช่น พันธุ์กิมจู ที่แม้จะมีรสชาติหวาน แต่ผลมีขนาดเล็ก ดูแลต้นยาก หรือพันธุ์ยักษ์ ที่ผลมีขนาดใหญ่ หากแต่สุกง่าย เมื่อผลแก่เต็มที่แล้วจะเก็บรักษาได้แค่วันเดียว ซึ่งต่างจากพันธุ์แป้นยอดแดงที่สามารถเก็บได้ถึง 3 วัน
ด้านการตลาดชมพู่-ฝรั่ง และพืชผักอื่นๆ
คุณมะลิเผยเรื่องการตลาดกับทีมงานว่า ช่วงที่เปลี่ยนมาปลูกไม้ผล 2 ชนิดนี้ คุณมะลิเคยไปอบรมมาบ้าง มีอาจารย์ท่านหนึ่งจาก ม.เกษตรศาสตร์ ได้แนะนำตลาดให้มาบ้าง แต่เป็นเพียงตลาดขนาดเล็ก ซึ่งผลผลิตของเรามีจำนวนมาก และมาจากหลายสวน ผู้บริโภคมีน้อย เราจึงต้องกระจายสินค้าออกไป และเริ่มรวมกลุ่มกัน โดยมีตัวแทนที่คอยติดต่อประสานงานเรื่องการตลาดให้กับผลผลิตของเรา ซึ่งตอนนี้เราเองก็มีตลาดสำหรับส่งชมพู่ทับทิมจันทร์ คือ บริษัท เลมอนฟาร์มฯ สำหรับส่งผลผลิตเข้าห้างโดยตรง คุณมะลิอธิบายต่อว่าบริษัท เลมอนฟาร์มฯ จะกระจายสินค้าเข้าห้างดังต่างๆ ที่บริษัทมีเครืออยู่มากกว่า 10 แห่งสำหรับชมพู่ทับทิมจันทร์แล้วเราจะส่งเข้าบริษัท เลมอนฟาร์มฯ เท่านั้น โดยเราเองก็ได้รับการประกันราคาในกิโลกรัมละ 40 บาท ตลอด ราคาไม่ตกแน่นอน
ก่อนหน้านี้เราจะขายส่งให้กับแม่ค้าตลาดไท คือ แม่ค้าจะนำผลผลิตของเราไปขายก่อน จากนั้นค่อยตีราคามาให้เราทีหลัง ซึ่งตัวของเราเองก็คิดว่าการขายส่งวิธีแบบนี้ไม่คุ้มค่าสำหรับตัวของเราเอง จากนั้นจึงมีแนวคิดที่อยากขายเอง ทุกวันนี้เราก็นำไปขายเองที่ตลาด ฝรั่งแป้นยอดแดงจะเก็บผลผลิตอาทิตย์ละครั้ง และจะรับผักจากที่อื่นไปขายด้วย และผักที่เราเก็บขายทุกวันจะมีผักตำลึงด้วย มะเขือพวงด้วย ฝรั่งแป้นยอดแดงหากเรานำไปขายเองในตลาด ราคาจะอยู่ที่ 22-25 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะตัดขายประมาณ 100 กิโลกรัมต่อครั้ง ตอนนี้ก็อยากทำตลาดที่บริษัท เลมอนฟาร์มฯ เหมือนกัน แต่ผลผลิตของเรายังมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถตัดส่งขายได้ต่อเนื่องทุกวัน และยังมีบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด ที่ต้องการผักปลอดสารพิษจำนวนมาก ตอนนี้ก็กำลังรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตผักปลอดสารส่งบริษัท ร้านอาหารต่างๆ อยู่เช่นเดียวกัน
ความคิดเห็นด้าน การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ อนาคต…ผู้ปลูกไม้ผลอื่นๆ
“ความคิดเห็นด้านอนาคตของผู้ปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ และฝรั่งแป้นยอดแดง” คุณมะลิกล่าวทิ้งท้ายว่า ณ ปัจจุบันนี้การพัฒนาสายพันธุ์ผลไม้ใหม่ๆเข้ามามีมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวสวนเองก็ต้องคอยศึกษา สังเกตเรื่องการตลาดอยู่เสมอ เพราะเราเองก็ต้องปลูกไม้ผลที่ต้องอิงกับความต้องการของตลาด พยายามเดินตามให้ทันตลาดก็เพียงพอแล้ว
หากเกษตรกรหรือผู้อ่านท่านใดอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้จาก คุณมะลิ ยิ้มถนอม 52 ม. 7 ต.คลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110 โทร.08-7406-9294
การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์