“ส้มโอ” นับได้ว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณภาพสูงในการส่งออก และทำรายได้ในระดับต้นๆ เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีผู้คนนิยมบริโภคกัน ทั้งตลาดใน และตลาดนอกพื้นที่ ปลูกส้มโอของไทยปัจจุบัน ส่วนมากจะอยู่แถบเขตลุ่มแม่น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในเรื่องของรสชาติ การดูแลส้มโอ
นอกจากนี้ยังมีปลูกกันมากที่ จ.ชัยนาท จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งปลูกแพร่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น กาญจนบุรี สุราษฏร์ธานี เป็นต้น ส่วนตลาดส้มโอของไทยจะมีส่งออกไปที่ประเทศ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้จะนิยมบริโภคส้มโอจากประเทศไทยมาก
การปลูกส้มโอ
คุณสานุ จีนแส เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เล่าว่า ปัจจุบันตนได้ปลูกส้มโอ 50 กว่าไร่ ปลูกทั้งหมด 2 สายพันธุ์ เช่น ขาวน้ำผึ้ง และทองดี และเขายังทำสวนขมิ้น 100 ไร่ ส่วนขมิ้นได้ลงปลูกมาก่อนที่จะลงปลูกส้มโอ ทั้งนี้การปลูกส้มโอนั้นเขาเล่าอีกว่าคุณพ่อของเขาได้ปลูกมาแต่ดั้งเดิมแล้ว หรือปลูกมาตั้งแต่ปี 2532 ประมาณ 25 ปี
ในขณะนั้นได้ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวพวง จำหน่ายออกขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อที่หน้าสวน และนำจำหน่ายส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา เนื่องจากประชาชนหรือพลเมืองของเขาจะนิยมบริโภคส้มโอขาวพวง และเป็นตลาดรองรับอยู่ในขณะนั้น แต่มาระยะหลังการส่งออกส้มโอได้ลดลงมาเรื่อยๆ จนไม่สามารถนำส่งออกไปขายได้ เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่เกษตรกรของประเทศดังกล่าวได้ปลูกส้มโอมากเช่นกัน
สุดท้ายก็ได้ล้มเลิกไป พร้อมทั้งปล่อยส้มโอพันธุ์ขาวพวงทิ้ง “ไม่ได้โค่นทิ้ง และไม่ได้บำรุงดูแลรักษา โดยปล่อยไห้ต้นตายไปเอง ขณะนี้มีเหลือไม่กี่ต้น” หลังจากนั้นจึงหันมาปลูกขมิ้นในพื้นที่ 100 ไร่ ส่งขายไปยังโรงงานผู้ผลิตยาสมุนไพร และนำออกขายตามตลาดท้องถิ่น หรือตลาดทั่วไป มาปัจจุบันนี้ก็ยังได้ปลูกขมิ้นส่งออกขายเช่นเดิม
คุณสานุ จีนแส เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ จ.กาญจนบุรี
สำหรับส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และทองดี ไปได้กิ่งพันธุ์ตอนมาจาก อ.นครชัยศรี นำมาปลูกปี 2547 โดยได้มองทางด้านการตลาดว่าเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ทั้งเป็นที่ต้องการของทางตลาด ทั้งในและนอก ทั้งนี้ การปลูกส้มโอในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ นับว่ายังโชคดี อย่างช่วงเหตุวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปี 2554 น้ำเข้าท่วมไม่ถึง ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบหรือเสียหายเหมือนอย่างสวนที่อื่น ซึ่งขณะนั้นได้เกิดขึ้นกับหลายพื้นที่ หรือในหลายจังหวัด
สภาพพื้นที่การปลูกส้มโอ
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผ่านวิกฤตไปแล้ว เมื่อทางตลาดต้องการส้มโอ แต่ปรากฏว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมีน้อยมาก หรือผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จึงเป็นโอกาสที่เขาจะเร่งผลิตส้มโอส่งออก ทั้งเรื่องของมาตรฐานการผลิต และคุณภาพ เพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้จำนวนมาก เนื่องจากเป็นโอกาสหรือช่องทางของรายได้
โดยเฉพาะขายให้กับ “ล้ง” บริษัทรับซื้อผลไม้ส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ “มันเป็นโอกาสของเรา ตอนที่น้ำท่วมปี 2554 ส้มโอที่อื่น หรือพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกกันมากได้รับความเสียหาย มันเป็นวิกฤตของเขา แต่มาเป็นโอกาสของเรา อย่าง จ.นครปฐม จ.ชัยนาท จ.ปราจีนบุรี เกษตรกรสวนส้มโอที่ปลูกส้มโอนั้นได้ถูกน้ำท่วมส้มโอตายเกือบหมดแทบทุกสวน
ส่วนส้มโอที่ตายไปเขาก็ได้ปลูกแทน หรือนำมาปลูกกันใหม่ ตอนนี้อายุต้นยังไม่ให้ผลผลิต หรือให้ลูก ทำให้ส้มโอขาดตลาด หรือออกสู่ตลาดน้อยมาก ถ้าหากเรามีส้มโอออกสู่ตลาดได้มากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้เราขายได้ และมีราคามากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะต้องนำส้มโอคุณภาพเพื่อนำออกสู่ตลาด” คุณสานุเล่าถึงโอกาสทางด้านการตลาดของตน
การจำหน่ายผลผลิตส้มโอ
อย่างไรก็ตามการผลิตส้มโอแต่ละรอบปีที่ได้นำจำหน่ายออกนั้น ส้มโอออกจากสวนได้ประมาณ 100 ต้น และเริ่มขายมาตั้งแต่ปี 2550 ส้มโอที่ออกขายในขณะนั้นซึ่งเป็นครั้งแรก ได้นำขายตามตลาดท้องถิ่น ในขณะเดียวกันส้มโอราคาจะให้ตามลักษณะรูปร่างผล เช่น ผลใหญ่ เล็ก และผลสวย ไม่สวย ราคาเริ่มตั้งแต่ผลละ 8-15 บาท ส้มโอ 1-2 ผล หรือ 1 ผล ให้น้ำหนัก 1-2 กก. ขึ้นไป กระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ราคาขายอยู่ที่ผลละ 10-18-20 บาท ขึ้นไป
ทั้งนี้จากที่กล่าวส้มโอตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันถือได้ว่าเป็นไม้ผลที่ยังคงราคาไว้ได้ดี หรือราคาไม่แตกต่างกันมาก และการนำส้มโอจำหน่ายออกขายในขณะนี้เขาเล่าว่าหากได้นำออกขายเองนั้นก็จะทำให้ได้ราคาดี แต่ต้องใช้ทุนในด้านแรงงาน ซึ่งทำให้สิ้นเปลือง แต่ถ้าหากขายส่งให้กับพ่อค้า หรือแม่ค้า คนกลาง เพื่อขายส่งต่อกระจายไปทั่วประเทศ หรือขายส่งไปตามตลาดท้องถิ่น หรือขายให้กับ “ล้ง” บริษัทผู้ค้ารับซื้อผลไม้ส่งออกต่างประเทศ
ทั้งนี้ในส่วนผู้ค้าดังกล่าวก็จะเข้ามาคัดเลือกเก็บเกี่ยวผลผลิตเองที่หน้าสวน หรือคัดเอาเกรดตามลักษณะรูปร่างของผล โดยทางเจ้าของสวนไม่ได้ใช้แรงงานซึ่งตรงกันข้ามจากที่กล่าว
“การขายส้มโอที่ผมขายอยู่ทุกวันนี้ ผมจะเน้นขายหน้าสวน และจะขายเป็นกิโล โดยจะไม่นำออกไปขายเอง ส่วนส้มโอทั้ง 2 สายพันธุ์ ราคาก็จะแตกต่างกันไป ที่ผมขายอยู่หน้าสวนขณะนี้ อย่างที่ขายให้กับพ่อค้า หรือแม่ค้า คนกลาง ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งจะขายดีกว่า แต่ได้ขายกิโลละ 10-15 บาท พันธุ์ทองดีขายกิโลละ 8-10 บาท
ส่วนการขายให้ล้งก็จะขายราคากิโลละ 15-18-20 บาท ขึ้นไป ส่วนใหญ่ผมก็จะเน้นผลิตส้มโอขายให้กับล้ง ส่วนพ่อค้า แม่ค้า คนกลาง และล้ง ก็จะเข้ามาคัดเลือกเอาตามไซซ์ หรือเกรดที่ต้องการเอง เช่น พ่อค้า แม่ค้า ก็จะเลือกเอาทั้งผลขนาดแคระ เล็ก ใหญ่ และผลขนาดใหญ่จัมโบ้ ก็ได้คัดนำออกขายส่งไปทั่วประเทศ ส่วนล้งก็จะคัดเลือกเอาเกรดเช่นเดียวกัน โดยคัดเอา 3 เกรด เช่น ลูกขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อนำส่งขายออกไปยังต่างประเทศ” คุณสานุเล่าถึงการขายตลาดหน้าสวน
การดูแลส้มโอ บำรุงรักษาต้น
ในส่วนกระบวนการผลิตส้มโอ โดยเฉพาะเจ้าของสวนที่เขาต้องเน้นการคำนึงถึงมาตรฐาน คุณภาพ เพื่อจำหน่ายออกสู่ทั้งในและนอกนั้น นอกจากได้ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญแล้ว ยังเกิดผลประโยชน์ทั้งด้านราคา และรายได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตเข้าระบบเกษตรอินทรีย์ในแต่ละปี เป็นต้นว่าการบำรุง การดูแลรักษา ตลอดการป้องกันกำจัดโรคและแมลง ที่ทำให้เกิดเป็นโรคกับส้มโอ และได้เกิดขึ้นกับพื้นที่ ซึ่งมักมาจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล หรือเกิดจากอากาศแปรปรวน เป็นต้น
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
คุณสานุยังเล่าอีกว่าพื้นที่ปลูกส้มโอซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ดอน ทั้งยังได้ติดกับป่าเขา แลได้มีห้วยน้ำ ลำคลอง ผ่านข้างสวน เหมาะแก่การนำมาใช้งานด้านการเกษตร ในส่วนของโรคส้มโอที่พบ เช่น โรคโคนเน่า รากเน่า และโรคแคงเกอร์ รวมทั้งแมลง เข้าทำลาย
ทั้งนี้การกำหนดวิธีการป้องกัน โดยเฉพาะเรื่องของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในแต่ละปีอย่างที่กล่าวเป็นสาเหตุการเกิดโรค และแมลง การเฝ้าดูสังเกตจากข่าวพยากรณ์อากาศเรื่องของสภาพอากาศในแต่ละปี การเตรียมป้องกันการเกิดโรคและแมลง อย่างเช่น หากเกิดว่าฝนมาในเดือนไหนก็จะใช้สารไตรโคเดอร์มา หว่านบริเวณรอบต้น หรือบริเวณโคนต้น เพื่อเป็นการป้องกันเกิดโรคเชื้อรา รากเน่า โคนเน่า พร้อมกับการป้องกันแมลง
ได้ใช้น้ำส้มควันไม้ที่เขาผลิตมาเอง โดยนำเอาน้ำส้มควันไม้ผสมหรือหมักกับสะเดาฉีดพ่นทั่วต้น เพื่อไม่ให้แมลงเข้ามาได้ อย่างไรก็ตามส้มโอหากได้เกิดโรคและแมลงเข้าทำลายนั้น อย่างเช่น โรคเชื้อรา โคนเน่า รากเน่า และโรคแคงเกอร์ นั้น
ส่วนมากมักจะเกิดจากสาเหตุความชื้นของดิน หรือพื้นดินมีน้ำแฉะท่วมขัง เนื่องจากฝนตกชุ่ม และการใช้สารเชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันโรคดังกล่าว ส้มโอบางต้นก็เอาไม่อยู่ หรือตายไปก็มีมากเช่นกัน ทั้งนี้ยังได้นำเอามาปลูกซ่อม หรือปลูกแทน เพื่อไม่ให้เสียต้น และปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่า
การเข้าทำลายของแมลง
ส่วนการเข้าทำลายของแมลงที่มักจะเข้ามาพร้อมกับสภาพอากาศเช่นกัน อย่างเช่น แมลง เพลี้ยไฟ เข้าทำลายผลอ่อน ทำให้ผลเกิดเป็นจุดด่าง หรือเป็นรอยขีดเส้นดำ และหนอนชอนใบเข้ากินใบอ่อน ยอดอ่อน ทำใบเหี่ยวแห้ง เหลือง ร่วงหล่น เป็นต้น รวมถึงแมลงวันทองที่มักจะเข้ามาเจาะผล พร้อมกับวางไข่เป็นตัวหนอนที่เกิดขึ้นกับผล
ทั้งนี้การป้องกันกำจัดก็ได้ใช้น้ำส้มควันไม้ดังที่กล่าว แต่หากเมื่อเข้าระบาดมากๆ ถึงกับเอาไม่อยู่ ก็จะใช้สารเคมีช่วย “ฉีดพ่นเป็นระยะประปราย”โดยจะไม่เน้นการใช้สารเคมีมาก ส่วนการใช้สารเคมีนั้นเขายังได้มีกำหนดด้วยว่าเมื่อได้ใช้แล้วต้องเก็บเกี่ยวเอาผลผลิต ต้องอยู่ระยะที่กำหนดว่าควรเก็บช่วงไหน หรือเดือนไหน เป็นต้น และได้เน้นถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ทั้งนี้การผลิตส้มโอที่สวนได้เน้นผลิตให้กับบริษัทผู้ค้าผลไม้ส่งออกต่างประเทศ การผลิตส้มโอส่งออกก็จะต้องผ่านการตรวจสอบระบบ GAP ทุกครั้ง
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นส้มโอ
ในส่วนการบำรุงดูแลรักษา อย่างเช่น การให้ปุ๋ย โดยเฉพาะช่วงพักต้น หรือหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตหมด และได้ตัดแต่งกิ่งไปแล้วนั้น หลังจากได้ 1 เดือน ส้มโอก็เริ่มแตกใบอ่อน ยอด ออกมา ได้ให้ปุ๋ยคอกมูลค้างคาวผสมกับสารไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นการป้องกันหรือกำจัดเชื้อรา 1 ครั้ง
ทั้งนี้ระยะที่ส้มโอกำลังแตกตาดอก หรือให้ดอก ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ยูเรีย 1 ครั้ง ทั้งนี้ในช่วงระยะที่ผ่านมานั้นเขาได้งดการให้น้ำส้มโอ และมาเริ่มให้น้ำเมื่อส้มโอให้ผลเท่าผลมะนาว ให้น้ำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หรือ 3 วัน/ครั้ง “การให้น้ำต้องดูลักษณะของดินด้วยว่าถ้าพื้นดินแห้งมากน้อยเพียงใดจึงควรจะไห้น้ำ และไม่เน้นการให้น้ำกับส้มโอมาก”
ส่วนการบำรุงปุ๋ยเพื่อเพิ่มความหวานนั้น ใช้ปุ๋ยสูตรเคมี 13-13-21ยูเรีย สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งกระดูกป่นและดินเกลือผสมกัน รวมทั้งเกล็ดปลา และก้างปลา หว่านบริเวณรอบโคนต้น “การบำรุงด้วยกระดูกป่นและดินเกลือผสมกันนั้น ผมไปได้สูตรเดียวกันกับทางอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นกระดูกสัตว์บดหยาบ ไม่ละเอียด ส่วนดินเกลือเป็นดินที่เอามาจากผู้ที่เขาทำนาเกลือ” คุณสานุเล่าถึงสูตรบำรุงความหวานด้วยอินทรียวัตถุ
รายได้จากผลผลิตส้มโอ
อย่างไรก็ตามการผลิตส้มโอจากที่กล่าวมานั้น การลงทุนในรอบปี ซึ่งในแต่ละปีหากหักทั้งค่าปุ๋ย ยา หรือสารบำรุง รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ใช้ในงานเกษตรได้ลงทุนไปไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนรายได้จากผลผลิตที่ส้มโอออกมาได้ 100 ตัน ขณะที่ราคาขาย กก.ละ 8-10-15-18-20 บาท
และนอกจากมีรายได้จากผลผลิตส้มโอขายแล้ว ยังได้ผลิตกิ่งพันธุ์ส้มโอทั้ง 2 สายพันธุ์ ออกจำหน่ายกิ่งละ 50 บาท ขึ้นไป เช่นกัน นับได้ว่าเป็นรายได้ ของเขาที่เป็นเงิน “หลายล้าน” ที่มิใช่น้อย
หากเกษตรกร หรือผู้อ่าน ท่านใด สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสานุ จีนแส 33/1 หมู่ 5 ต.หินดาด อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 71180 โทร.08-4104-3210
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ให้ข้อมูลแหล่งข่าวกับนิตยสารพลังเกษตร