การปลูกเลี้ยง กล้วยไม้แคทลียา
“แคทลียา” เป็นหนึ่งในตระกูลกล้วยไม้ยอดนิยมของคนไทยและทั่วโลก เนื่องจากมีฟอร์มดอกสวย สีสันสดใสสวยงาม บางสายพันธุ์มีกลิ่นหอมตรึงใจ ทำให้ผู้คนมากมายหลงเสน่ห์กล้วยไม้แสนสวยนี้ได้ไม่ยากนัก
ลักษณะกล้วยไม้สายพันธุ์นี้มีรูปทรงแบบซิมโพเดียล คือ มีเหง้า และระบบรากกึ่งอากาศ ไม่มีรากแขนง เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยหลายลักษณะ บางชนิดลำลูกกล้วยเป็นข้อปล้อง บางชนิดอ้วนป้อม บางชนิดเป็นรูปทรงกระบอก ใบที่เจริญเต็มที่จะมีลักษณะหนา และแข็ง มีดอกเกิดที่ปลายลำลูกกล้วย ก่อนจะออกดอกมักจะปรากฏซองของดอกก่อน แต่บางชนิดก็ไม่มีซองดอก ดอกแคทลียามีทั้งเป็นดอกเดี่ยว และดอกช่อ ในช่อหนึ่งๆ อาจจะมีดอกเพียงดอกเดียว สองดอก สามดอก หรือบางชนิดมีถึงสิบดอก
คุณกษิภัท ภาวนาธนโชติ หรือ คุณโบ้ท นักประกวดล่ารางวัลกล้วยไม้ ผลิตกล้วยไม้ป้อนนักเล่นไทย และต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า เริ่มต้นเข้าประกวดกล้วยไม้มาตั้งแต่เมื่อ 21 ปีที่แล้ว จำได้ว่าเป็นแคทลียา ดอกสีเขียวปากแดง ได้รับรางวัลที่หนึ่ง ณ งานเกษตรเขตภาษีเจริญ
โดยสวนเล็กๆ แห่งนี้ เริ่มต้นจากคุณแม่มีความชื่นชอบกล้วยไม้อยู่ก่อน เมื่อมาเห็นครั้งแรกจึงเกิดความหลงใหล ด้วยรูปลักษณ์ของดอกบานใหญ่ มีกลิ่นหอม จากนั้นมาเริ่มปลูกเลี้ยงอย่างจริงจัง พร้อมกับเก็บสะสมกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์จนมีปริมาณที่มากขึ้น เช่น สกุลหวาย ประเภทไม้แปลกหายาก และกล้วยไม้สายพันธุ์อื่นๆ มีบ้างเล็กน้อย
การเลี้ยงกล้วยไม้นิยมไม้เมล็ด เช่น ไม้ปั่นตา
การเลี้ยงกล้วยไม้นิยมไม้เมล็ด เช่น ไม้ปั่นตา เป็นไม้เมล็ดที่สวย ส่วนคำว่า ไม้แปลก คือ เกิดจากที่ปั่นตา สมมุติปั่นตา 10,000 อาจกลายพันธุ์ 5 ต้น หรือมากกว่า แต่ลักษณะของแต่ละต้นอาจเหมือน หรือต่างกัน ก็ได้ “อย่างแคทลียาเหลืองแฮซอง เกิดจากการกลายพันธุ์ที่มีความโดดเด่น จนเป็นไม้แปลก สะดุดตา มีสีดั้งเดิม คือ แดงล้วนทั้งดอก”
ด้านตลาดกล้วยไม้
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นตลาดต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น
คุณกษิภัทเล่าว่า “ลูกค้าลงทุนถึงขนาดว่านั่งเครื่องบินมาซื้อกล้วยไม้โดยเฉพาะ มีทั้งไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในครั้งแรกผมคิดว่าเขามีความเสี่ยง เพราะต้องโอนค่ามัดจำมาให้เราก่อนด้วย ลูกค้าต่างประเทศมาครั้งหนึ่งจะซื้อกล้วยไม้กลับไปจำนวนมาก เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ราคาต่อหน่วยที่ได้รับค่อนข้างเป็นเงินก้อนมากกว่า
อย่างลูกค้าเวียดนามเขาเอาแค่หน่อ จะล้างราก และแพ็คส่ง ถ้าเป็นลูกค้าไต้หวันจะค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องขอใบผ่านทางเข้าประเทศ แต่มาเลเซียจะมีลูกค้ามารับที่สถานีรถไฟ หรือด่านนอก จะสะดวกกว่า ส่วนตลาดในประเทศมีขายเช่นกัน โดยจะถ่ายภาพต้นที่มีดอกขณะนั้นลงเฟสบุ๊ค หากใครสนใจจะสอบถามทางกล่องข้อความ” คุณกษิภัทพูดถึงเส้นทางการตลาด และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่
การประกวด กล้วยไม้แคทลียา
คุณกษิภัทเล่าว่าในการประกวด กล้วยไม้แคทลียา จะมีเกณฑ์การตัดสินแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทดอกเดี่ยว และประเภทช่อดอก
ในการตัดสินจะดูที่ลักษณะฟอร์มดอกเป็นหลัก เช่น มีดอกใหญ่ ฟอร์มกลม สีสันของดอก ก้านช่อดอก และรอยตำหนิของดอก และต้น หากพบเห็นตำหนิจะถูกคัดออก เพราะถือว่ามีการเลี้ยงดูแลไม่ดี ส่วนประเภทช่อดอกจะดูที่จำนวนความดกของดอก สีสัน และลักษณะฟอร์มดอก องค์ประกอบโดยรวมว่าต้นไหนสวย มีสีสันสวยงาม และปริมาณดอกต่อต้น
โดย กล้วยไม้แคทลียา แบ่งการออกดอกเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบออกดอกทุกลำ โดยจะทยอยบานตลอดปี และแบบออกดอกปีละครั้ง คือ เมื่อถึงฤดูกาลต้นจะออกดอกครั้งหนึ่งหลายๆ ช่อ นั่นคือจุดที่ต่างกัน
เสน่ห์ของแคทลียา
เสน่ห์ของแคทลียา มุมมองของนักประกวดท่านนี้ คือ ดอกมีกลิ่นหอม สีสันฉูดฉาด สวยงาม การเลี้ยงกล้วยไม้ทำให้ใจเย็นสงบลง เพราะกล้วยไม้ต้องมีการดูแลเอาใจใส่ “บางคนบอกว่ากล้วยไม้ปลูกเลี้ยงยาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าเลี้ยงยาก แต่บางชนิดออกดอกได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงนิยมเลือกสายพันธุ์ที่ปลูกง่าย ออกดอกบ่อย” ล้วนเป็นความหลงใหล ประทับใจของนักล่ารางวัลท่านนี้
จึงมาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก เขาศึกษาหาความรู้เรื่องกล้วยไม้จากการไปร่วมงานประกวดกล้วยไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเล็ก งานใหญ่ ในการเข้างานประกวด จะช่วยฝึกสายตาได้เป็นอย่างดี ลักษณะไม้สวยเป็นแบบใด สังเกตการตัดสินของกรรมการว่าทำไมต้นนี้ ต้นนั้น ถึงชนะ และได้รับรางวัลเพราะอะไร เพื่อเป็นทิศทางการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ของตัวเองด้วย
วิธีการเลือกซื้อแคทลียา
ขั้นแรกสุด คือ หาซื้อต้นกล้วยไม้ที่มีดอกบาน เพื่อให้มั่นใจว่าได้พันธุ์ที่ชอบ และถูกใจ “จริงๆ ส่วนใหญ่เวลาซื้อไม้แต่ละต้น พี่จะเห็นดอกที่บานแล้ว ไม่ใช่แค่ดอกตูม เพราะดอกตูมไม่สามารถทราบได้ว่า เมื่อดอกบานออกมาฟอร์มดอกจะสวยไหม ดอกตูมของแคทลียาสามารถคาดคะเนได้เพียงว่าถ้าตูมทรงกลม เมื่อบานแล้วกลีบดอกจะสั้น ฟอร์มดี แต่ก็ไม่รู้สีสันจะเป็นอย่างไรอยู่ดี เช่น ลูกตาเหลือง คอเหลือง บางตัวเป็นปากแดงล้วน เราไม่สามารถกำหนดสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้นทางที่ดีควรเลือกต้นที่มีดอกบานแล้ว ซื้อของแพงหน่อย แต่ถูกใจ เริ่มเล่นใหม่ๆ ก็ไม่เป็นเหมือนกัน เห็นดอกบานมาชอบก็ซื้อ มาตอนหลังเริ่มมาสะสมไม้เมล็ดที่มีปริมาณน้อย สะสมมาเรื่อย” คุณกษิภัทเล่าวิธีการเลือกซื้อกล้วยไม้ในท้องตลาด
เขากล่าวเพิ่มเติมว่าอย่าซื้อกล้วยไม้เพียงฤดูกาลเดียว สมมุติว่า ซื้อกล้วยไม้หน้าหนาว ไม้ต้นนั้นจะออกดอกเฉพาะฤดูหนาว ฉะนั้นพยายามเลือกซื้อต้นที่ออกดอกในช่วงเดือนที่แตกต่างกัน ก็จะเห็นดอกตลอดทั้งปี เมื่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มรู้นิสัยของกล้วยไม้แต่ละสายพันธุ์ว่าเป็นอย่างไร เช่น รับรู้ว่าลักษณะต้นที่ดี สวยงาม เป็นอย่างไร หรือมีกลิ่นหอมช่วงเวลาใด เช่น บางชนิดมีกลิ่นหอมเฉพาะช่วงเย็นถึงค่ำ อย่าง พวกสามปอย, แคทลียาส่วนใหญ่มีกลิ่นหอมช่วงเช้าถึงกลางวัน ยกเว้นจำพวกกล้วยไม้ป่าจะมีกลิ่นถึงกลางคืน เป็นต้น
สภาพพื้นที่ปลูกแคทลียา
เมื่อมีต้นกล้วยไม้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การเลือกบริเวณปลูกเลี้ยง คุณกษิภัทให้ข้อมูลว่าเริ่มปลูกระยะแรกควรเลี้ยงในร่มรำไร คือ ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดประมาณ 40-50% หรือใช้ซาแรนพรางแสง 60% สำหรับการปลูกเลี้ยงบริเวณพื้นที่บ้านเป็นพื้นซีเมนต์ ให้ใช้ซาแรนพรางแสง 65-70% หรือแขวนไว้ตามกิ่งไม้ ใต้ร่มไม้ใหญ่ ชายคาบ้าน ก็ได้
ตัวอย่างฤดูหนาว ถ้าได้รับแสงแดดเต็มที่ โดยเฉพาะในเวลากลางวัน ใบจะไหม้ แต่ถ้าร่ม หรือมืด เกินไป ใบจะมีสีเขียวเข้ม และไม่ออกดอก ถ้าอากาศแห้งมากควรรดน้ำให้บ่อยขึ้น หรือแขวนไว้บริเวณใกล้กับน้ำ เช่น บ่อน้ำ และน้ำตก เป็นต้น กล้วยไม้แคทลียา หากได้รับแสงแดดเต็มที่ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ต้นจะออกดอกได้ง่าย หรือถ้าต้องการให้ดอกหันไปในทิศทางเดียวกัน โดยบังคับให้แสงแดดมาฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ดอกจะบานเรียงในแนวเดียวกัน
เครื่องปลูก ควรมีคุณสมบัติการระบายน้ำและอากาศได้ดี เช่น กาบมะพร้าว, ถ่าน, เปลือกสนนิวซีแลนด์, เฟินหัสดำ, ป๊อปเปอร์ และพองพอง เป็นต้น “ผมพยายามทดลองเครื่องปลูกรูปแบบใหม่ๆ ตอนนี้กำลังทดลองวัสดุปลูกพองพองของเชียงใหม่ ทำจากดินเผา มีน้ำหนักเบา มีรูพรุนมาก ลักษณะคล้ายโฮโดรตรอน เศษดินเผารูก้นกระถาง
ข้อเสีย คือ มีน้ำหนักมากพอสมควร ถ้าปลูกระยะยาวใช้ถ่านจะดีกว่า ที่สวนผมบางต้นใช้เปลือกสนปลูก บางต้นใช้เศษกระถางดินเผาปลูก และบางต้นปลูกด้วยพองพอง เป็นเม็ดดินเผา มันขึ้นอยู่กับไม้ด้วย ถ้าวัสดุปลูกถูกกับไม้ ต้นจะงาม หากพบว่าไม้เริ่มแทงราก หรือเริ่มฟื้นตัว ลำกล้วยเต่งตึง แสดงว่าเครื่องปลูกใช้ได้” คุณกษิภัทพูดถึงวัสดุปลูกที่ดี
การใส่ปุ๋ย กล้วยไม้แคทลียา
นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว สิ่งสำคัญ “เรื่องปุ๋ย” สำหรับคนเลี้ยง กล้วยไม้แคทลียา “สั่งสีได้” เช่น เปลี่ยนสีดอกจากสีชมพูให้เป็นสีแดงได้ “ผมทดลองใช้ปุ๋ยมาก็เยอะ โดยทั่วไปจะเลือกใช้ปุ๋ยที่ต้นกล้วยไม้ แสดงความตื่นตัวตอบสนองอยู่ตลอด เพราะถ้าใช้ปุ๋ยยี่ห้อเดิมๆ จะสังเกตว่าต้นเริ่มนิ่ง ไม่ตอบสนอง ดังนั้นให้ลองสลับยี่ห้อปุ๋ยบ้าง
เนื่องจากกล้วยไม้แต่ละชนิดมีความชื่นชอบปุ๋ยแตกต่างกัน เปรียบเทียบกับไข่ไก่ที่สามารถทำได้หลายเมนู หลายรสชาติ ซึ่งแต่ละร้านแม่ครัวคนละคน รสชาติจึงต่างกันนั่นเอง ดังนั้นถ้าเลี้ยงไม้หลากหลายต้องพยายามค้นหาปุ๋ยทางสายกลาง ที่สามารถใส่ กล้วยไม้แคทลียา ได้ ไม้ลูกผสมก็ดี ต้นไม่โทรม หรือตอบสนองในทางที่ดี ต้องอาศัยประสบการณ์ ต้องลองผิดลองถูกมาพอสมควร กว่าที่จะค้นพบจุดนั้น” คุณกษิภัทพูดแนวทางการเลือกใช้ปุ๋ยกล้วยไม้
ปุ๋ยกล้วยไม้ทั่วไป มีปุ๋ยสูตรเสมอ คือ ปุ๋ยที่มีธาตุ N-P-K ทั้ง 3 ในปริมาณที่เท่ากัน มีประสิทธิภาพในการเร่งใบ ส่วนปุ๋ยสูตรเร่งดอก คือ มีฟอสฟอรัสสูง (P) หรือตัวกลางสูง ถ้าต้องการเร่งสีสันและก้านช่อดอก หรือช่วยให้ดอกบานทนสำหรับไม้ประกวด จะใช้สูตรที่มีโพแทสเซียม (K) หรือตัวท้ายสูง
กรณีฤดูฝนไม่นิยมใช้สูตรปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูง หรือสูตรเสมอ เนื่องจากน้ำฝนจะนำพาไนโตรเจนในอากาศลงมาด้วย สังเกตจากต้นไม้เจริญงอกงามดีเมื่อได้รับน้ำฝน ดังนั้นสามารถหันมาใช้ปุ๋ยสูตรที่มีตัวกลางสูง หรือตัวกลาง และตัวท้ายสูง เช่น สูตร 10-52-10 และ 16-21-27 เป็นต้น และปุ๋ยกล้วยไม้ปกติจะมีโพแทสเซียม (K) ตัวท้ายสูงสุด ถึง 36 เท่านั้น นอกนั้นเป็นแม่ปุ๋ย สังเกตจากสูตรตัวใดตัวหนึ่งเป็นศูนย์
ปกติกล้วยไม้จะให้ปุ๋ยทุกๆ 7-15 วัน/ครั้ง หรือเดือนละ 1 ครั้ง ใช้ปุ๋ยชนิดเกล็ดละลายน้ำ โดยเจือจางปุ๋ยบางๆ ประมาณ 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ไม่หมด เก็บในร่ม ไว้รดครั้งต่อไปได้
คุณกษิภัทเล่าข้อดีของการให้ปุ๋ยสม่ำเสมอว่ากล้วยไม้เปรียบได้กับนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมบ่อย แข็งแรง เคยสังเกตไหมว่า…เมื่อเราซื้อต้นไม้มาจากร้านค้า ทำไมพอมาอยู่บ้านเรา ระยะแรกก็งามดี เมื่ออยู่นานๆ ไปแล้วไม่ได้ใส่ปุ๋ย ต้นเริ่มทรุดโทรม ไม่งาม อย่างตอนซื้อมา ซึ่งก็เปรียบกับนักกีฬาที่ขาดการฝึกซ้อม ขาดการดูแลร่างกาย อาศัยเพียงอาหารเดิมที่สะสมไว้ เมื่อใช้หมดต้นจึงโทรมนั่นเอง
“อย่างผมถ้าไปซื้อกล้วยไม้ตามสวน เขาจะใส่ปุ๋ยละลายช้าไว้ เมื่อจะมาปลูกใหม่ โดยผมเคาะปุ๋ยออกให้หมดก่อน หรือเปลี่ยนวัสดุปลูกไปเลย เนื่องจากการปลูกอยู่ที่บ้าน ไม้ได้รับแสงแดดไม่เต็มที่ และเรามีการดูแลรดน้ำเป็นประจำ จะทำให้วัสดุปลูกเค็มจากปุ๋ยง่าย ทำให้ต้นเน่าง่าย ตอนแรกยังไม่รู้หรอก จนระยะหลังจึงมาสังเกตเห็นว่าไม้ที่นำมาเลี้ยงที่บ้านแป๊บเดียวมีอาการเริ่มเน่า แต่เมื่อนำปุ๋ยละลายช้าออก ต้นเป็นปกติดี เพราะเราไม่ได้ให้ยาป้องกันเชื้อราบ่อยเท่าสวนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ผมจึงไม่แนะนำ” คุณกษิภัทแสดงความคิดเห็น
ส่วนสำคัญทำให้ไม้สวย คือ ปุ๋ยดี ให้สม่ำเสมอ
การป้องกันกำจัดแมลงและศัตรูพืช
ปัญหาศัตรูพืช สวนจะใช้ยาฆ่าแมลงเจือจางน้ำตามอัตราส่วนข้างขวด ฉีดดอกตูมทุกๆ 2-3 วัน และใช้ถุงพลาสติกครอบช่อดอกไว้เพื่อป้องกันนก หนู กระรอก และแมลงต่างๆ เช่น แมลงเข้าทำลายดอกตูม เมื่อดอกบานจึงจะเห็นเป็นหูดสีขาวๆ เกิดเป็นรอยช้ำคล้ายโรคหูดในคน มักเกิดใน กล้วยไม้แคทลียา ดอกขนาดกลาง และขนาดใหญ่
หลังจากปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไปหลายปี กล้วยไม้แคทลียา จะแตกกอใหญ่ขึ้น และมีลำต้นเพิ่มขึ้น อาจทำให้ลำต้นเจริญอยู่นอกกระถาง หรือกระเช้า ควรนำต้นใส่ในกระถาง หรือกระเช้า ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อไม่ให้ลำต้นอยู่นอกภาชนะ ซึ่งจะช่วยให้ได้รับความชื้นเพียงพอ อาจจะตัดแยกให้มีขนาดกอเล็กลง จะได้จำนวนต้นเพิ่มขึ้น โดยผ่าหน่อจากลำหน้า 2-3 ลำ ไปปลูกลงกระถางใหม่ต่อไป
สุดท้ายอย่ามัวแต่คิดว่าเพราะเราเป็นสวนขนาดเล็กแล้วจะไม่มีโอกาสสู้ยักษ์ใหญ่ได้ ในเมื่อ “ไพ่ตาย” ที่ทุกคนมีอยู่ในมือ คือ “ความแตกต่าง” ที่สามารถใช้เป็นจุดขาย หากเราสามารถสร้างความแตกต่าง แม้เพียงเป็นจุดเล็กๆ นั่นคือโอกาสครั้งสำคัญที่พาธุรกิจของเราแซงหน้าคู่แข่งไปสู่ความสำเร็จก่อนหน้าได้อย่างแน่นอน
ขอขอบคุณ คุณกษิภัท ภาวนาธนโชติ 64 ซ.เศรษฐกิจ 33 ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 08-9157-9313