ในบรรดาพืชมีหนามถ้าไม่นับทุเรียนเราก็ต้องนึกถึง “สละ” หรือว่า “ระกำ” นี่แหละ….หลายคนก็มีคำถามอีกว่าแล้วตกลงว่า “สละ” กับ “ระกำ” นี่ไม่ใช่ผลไม้แบบเดียวกันหรืออย่างไร ถ้าว่ากันตามข้อมูลที่มีผลไม้ 2 อย่างนี้คล้ายกัน แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน เอาเป็นว่าวิธีแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร เดี๋ยวในเนื้อหาข้างล่างมีให้อ่านกันแน่ๆ
เพียงแต่ว่าวันนี้ที่จะนำเสนอไม่ใช่ในมุมมองว่าสละกับระกำมันต่างกันอย่างไร แต่เราจะนำเสนอในมุมของ “การปลูกสละ” จากเกษตรกรในจังหวัดชุมพร คุณลุงบัวชุม จันทร์ดอน เจ้าของไร่สละ ในเขตอำเภอพะโต๊ะ แต่ผู้ให้ข้อมูลในครั้งนี้ไม่ใช่ลุงชุมนะครับ ลุงชุมนั่งคอยเป็นไกด์พาเราเดินเข้าสวน แต่ก่อนหน้านั้นคุณกุลธวัช จันทร์ดอน ลูกชายของลุงชุม เป็นผู้ให้ข้อมูลเบื้องต้นในคราวนี้ ไปดูดีกว่าครับว่าเนื้อหาเกี่ยวกับ “สละ” ในวันนี้จะมีสาระให้น่าอ่านได้มากน้อยสักแค่ไหน
ลักษณะเด่นของสละ
“สละ” (Salak,Zalacca) ชื่อวิทยาศาสตร์ Salaccaedulis เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม และอยู่ในสกุลเดียวกับระกำ ต้นสละ เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีมากมายหลายกว่า 30 สายพันธุ์ โดยพันธุ์ที่นิยมรับประทานมากที่สุด คือ สละอินโด หรือสละพันธุ์ปนโดะห์ (Salakpondoh) จากเมืองยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และสละพันธุ์บาหลี (Salak Bali) จากเกาะบาหลี แต่ที่ปลูกในประเทศไทยจะมี 3 สายพันธุ์ใหญ่ๆ คือ พันธุ์เนินวง พันธุ์หม้อ และพันธุ์สุมาลี
ลักษณะ ต้นสละ จะมีหนามแข็งแหลมออกจากก้านใบ ดอกแยกเพศสีน้ำตาล โดยสละออกผลเป็นทะลายเรียกว่า “คาน” ซึ่งในแต่ละคานก็จะมีทะลายย่อย ซึ่งเราจะเรียกว่า “กระปุก” ส่วนผลสละมีลักษณะของผลเป็นรูปทรงรียาว ผลอ่อนเป็นสีน้ำตาล ส่วนผลแก่เป็นสีแดงอมน้ำตาล เปลือกเป็นเกล็ดซ้อนกัน และบนผลมีขนแข็งสั้นคล้ายหนาม ข้อมูลจากการสืบค้นระบุว่าสละและระกำเป็นพืชคนละชนิดที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกัน
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ผลไม้ทั้งสองชนิดจัดอยู่ในตระกูลปาล์ม สละมีชื่อว่า Salaccaedulisส่วน ระกำ คือ Salaccarumphii Wall ส่วนข้อมูลจากวิกิพีเดียบอกว่า สละมีต้น หรือเหง้า เตี้ย ยอดแตกเป็นกอ ใบมีลักษณะยาวเป็นทาง ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นมีหนามแหลมประมาณ 1 นิ้ว ออกผลเป็นทะลาย คือ หลายๆ ผลรวมกัน เปลือกผลมีหนามแข็งเล็กๆ รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ
ส่วนระกำเป็นผลไม้ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีในที่ดอน และชุ่มชื้น ชอบที่ร่ม ดังนั้นชาวสวนจึงนิยมปลูกพืชขนาดใหญ่เพื่อให้ร่มเงาแก่ระกำ ฤดูให้ผลผลิตอยู่ระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย. เป็นผลไม้ยอดนิยมของ จ.ตราด จันทบุรี และระยอง โดยเฉพาะ จ.ตราด จัดเทศกาล “วันระกำหวานผลไม้ของดีเมืองตราด” ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. ของทุกปี
วิธีสังเกตความแตกต่างอย่างง่ายๆ ด้วยสายตา ระหว่างระกำและสละ ก็คือ ผลระกำแดงเข้ม หนามเยอะ และยาว ช่อแน่น เมล็ดมีลักษณะป้อมขนาดใหญ่ ผลมักมี 3 กลีบ เนื้อน้อย มีรสชาติเปรี้ยว และทางใบยาว ขณะที่สละมีทางใบสั้น ผลเรียวยาว มี 2 กลีบ เนื้อค่อนข้างมาก รสชาติเปรี้ยว หวาน เป็นสำคัญ
จุดเริ่มต้นการปลูกสละ
ในเขต ต.พระรักษ์ อ.พะโต๊ะ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน พื้นที่แถบนี้ปลูกกาแฟกันเป็นหลัก แต่เนื่องจากเมื่อคนปลูกมาก กาแฟราคาตก จากกิโลกรัมละ 150-160 บาท ลงมาเหลือแค่ 30 กว่าบาท หลายคนก็ล้มกาแฟแล้วหันไปปลูกยาง หรือปาล์ม ที่ให้ราคาดีกว่า
แต่สวนของลุงชุมกลับเลือกที่จะปลูกผลไม้ เนื่องจากมองว่า “ตลาดของทานได้” น่าจะดีกว่า เริ่มจากการปลูกพืช 3 ชนิด คือ มังคุด ลองกอง และทุเรียน แต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ที่จำเป็นต้องมีช่วงแล้ง เพื่อให้พืชออกดอก แต่ภาคใต้มีฝนเยอะกว่าภาคตะวันออก ผลผลิตจึงไม่ดี ปลูกผลไม้ทั้ง 3 อย่าง อยู่ประมาณ 10 ปี ประกอบกับได้ไปเรียนรู้กับทางศูนย์วิจัยพืชจันทบุรี มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของสวนสละในจังหวัดจันทบุรี ก็ทำให้มองเห็นภาพของสละว่าน่าจะเหมาะสมที่จะปลูกในพื้นที่
เนื่องจากไม่ต้องอาศัยช่วงแล้งในการออกดอก ประกอบกับในพื้นที่ไม่มีคนปลูกอยู่ก่อน จึงน่าจะเป็นช่องทางตลาดอันดี เริ่มต้นกับการลงทุนครั้งแรกเป็นพันธุ์สละจากจันทบุรี (คาดว่าจะเป็นเนินวงษ์) ซื้อมาจำนวน 300 ต้น ในราคาต้นละ 300-500 บาท เป็นก้าวแรกของการเริ่มปลูกสละเจ้าแรกในเขตพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
การผสมเกสร ต้นสละ
“สละ” เป็นไม้ผลที่ต้องช่วยผสมเกสร เพราะเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียที่อยู่บนต้นเดียวกันมีความสมบูรณ์เพศไม่พร้อมกัน ทำให้หมดโอกาสที่จะผสมติด สำหรับวิธีผสมเกสรที่ได้ผลดี โดยจะนำเกสรตัวผู้มาผสมลงบนเกสรตัวเมีย แล้วรอเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ เกสรที่ผสมไว้ก็จะเริ่มปฏิสนธิ
วิธีการผสมเกสรหลังจากที่เลือกตัวผู้ที่สมบูรณ์ คำว่าตัวผู้สมบูรณ์ คือ ดูจากลักษณะที่ค่อนข้างพร้อม เกสรตัวผู้ 1 ตัว สามารถหักออกเป็น 3 ท่อน ใช้กับเกสรตัวเมียได้ประมาณ 3 อัน วิธีผสมก็คือ เอาเกสรตัวผู้รูดไปบนเกสรตัวเมีย หลังจากผสมเสร็จก็ต้องคลุมดอกไว้ประมาณ 2 วัน ที่สำคัญอาจจะใช้ริบบิ้นสีผูกติดไว้ เพื่อให้จำได้ว่าเกสรตัวไหนผสมเมื่อไหร่ เพราะการผสมนี่ต้องทำทุกวันในแต่ละต้น ก็มีช่วงเวลาต่างกันไป
หัวใจของการทำสละนอกจากเป็นการเดินเข้าสวนเพื่อช่วยผสมเกสรแล้ว การเดินเข้าสวนทุกวันก็ยังสามารถตรวจตราเรื่องแมลงต่างๆ ที่อาจมารบกวน รวมถึงจัดการกับกิ่งที่ไม่มีคุณภาพให้สละไม่รกจนเกินไป เพราะกิ่งหรือช่อที่ไม่ได้ใช้อาจขวางการเจริญเติบโตของสละ ในขณะที่ยังเป็นลูกเล็กๆ อยู่ได้
สายพันธุ์สละ
1.สละพันธุ์เนินวง เป็นพันธุ์สละที่นิยมปลูกมากที่สุด ขนาดตะโพก หรือลำต้น เล็กกว่าระกำ บริเวณกาบใบมีสีน้ำตาลทอง ปลายใบยาว หนามของยอดที่ยังไม่คลี่มีสีขาว ผลมีรูปร่างยาว หัวท้ายเรียวคล้ายกระสวย หนามผลยาว อ่อนนิ่ม ปลายหนามงอนไปทางท้ายผล เนื้อมีสีเหลืองนวลคล้ายน้ำผึ้ง หนานุ่ม รสชาติหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว รับประทานแล้วรู้สึกชุ่มคอ กลิ่นหอม เมล็ดเล็ก
2.สละพันธุ์หม้อ ขนาดตะโพก หรือลำต้น เล็ก และใบมีสีเข้มกว่าพันธุ์เนินวง ข้อทางใบถี่สั้น หนามยาวเล็ก และอ่อนกว่าพันธุ์เนินวง ช่อดอกยาว ติดผลง่ายกว่าพันธุ์เนินวง ผลคล้ายระกำ เปลือกผลสีแดงเข้ม เนื้อสีน้ำตาล มีลาย เนื้อหนา แต่ไม่แน่น รสชาติหวาน มีกลิ่นเฉพาะ เมล็ดเล็ก ทนต่อสภาพแสงแดดจัดได้ดีกว่าพันธุ์เนินวง
3.สละพันธุ์สุมาลี เป็นพันธุ์ใหม่ ลักษณะลำต้นคล้ายระกำ ทางใบยาว มีสีเขียวอมเหลือง ใบใหญ่กว้าง และปลายใบสั้นกว่าพันธุ์เนินวง หนามของยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่มีสีส้มอ่อน คานดอกยาว ช่อดอกใหญ่ ติดผลง่าย ผลมีรูปร่างป้อมสั้น สีเนื้อคล้ายสละเนินวง เนื้อหนากว่าระกำ แต่บางกว่าพันธุ์เนินวง รสชาติหวาน มีกลิ่นเฉพาะ เจริญเติบโตเร็ว และทนต่อสภาพแสงแดดจัดได้ดีกว่าพันธุ์เนินวง
โดยทั่วไปสามารถปลูกได้ดีเกือบทุกสภาพพื้นที่ แต่พื้นที่ที่เหมาะสมควรมีความลาดเอียงไม่เกิน 15% ไม่มีน้ำท่วมขัง ลักษณะดินควรเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนเหนียว ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี มีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 5.0-6.5 ระยะการปลูกสัมพันธ์กับจำนวนต้นต่อพื้นที่ โดยจำนวนต้นที่เหมาะสมเท่ากับ 100 ต้น ต่อไร่ เช่น หากปลูกสละแบบต้นเดี่ยวควรปลูกในระยะ 4×4 เมตร หรือปลูกแบบกอ ไว้กอละ 3 ต้น ควรปลูกในระยะ 6×8 เมตร เป็นต้น หรือสละ 1 ต้น ใช้พื้นที่ 14-20 ตารางเมตร สละเป็นพืชไม่ชอบแสงมาก จึงต้องมีการพรางแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยมที่สุด คือ การปลูกสละร่วมกับผลไม้ตัวอื่นเพื่อให้ร่มเงา ไม่ว่าจะเป็นมังคุด ขนุน หรือว่าทุเรียน
การบริหารจัดการ ต้นสละ
การดูแล ต้นสละ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ระยะก่อนให้ผลผลิต (อายุ 1-3ปี) ช่วงนี้เน้นใส่ปุ๋ยสูตรเสมอประเภท 15-15-21 หรือว่า 16-16-16 อัตรา 2-5 กิโลกรัม/กอ ใส่ปีละประมาณ 2-4 ครั้ง และเมื่อสละอายุได้ประมาณ 1 ปี จะแตกหน่อออกมาจำนวนมาก หากปลูกแบบกอควรเลี้ยงหน่อไว้เพียงหน่อเดียว (2 ต้น ต่อกอ รวมทั้งต้นแม่) จะทำให้สละตกผลเร็ว
หลังจากนั้นค่อยเลี้ยงหน่อเพิ่มขึ้นให้ได้จำนวนต้นตามต้องการ และคอยหมั่นตัดแต่งหน่อที่ไม่ต้องการออก และการดูแลในระยะให้ผลผลิต (อายุ 3 ปีขึ้นไป) ตั้งแต่ระยะเริ่มมีดอก ก็จะเปลี่ยนสูตรของปุ๋ยให้มีตัวท้าย คือ โพแทสเซียมสูงขึ้นไปจนถึงช่วงเป็นช่อ ก็ยังให้ปุ๋ยตัวท้ายๆ สูงอยู่ เพื่อจะเป็นการขยายช่อให้ใหญ่ และเพื่อให้ผลสละมีรสชาติหวานมากยิ่งขึ้น
ส่วนการบำรุงความสมบูรณ์ของต้นก็อาจใช้ปุ๋ยคอกในปริมาณมากขึ้นประมาณ 30-40 กก./กอ/ปี แบ่งใส่ประมาณปีละ 2 ครั้ง สละที่ให้ผลผลิตแล้วควรไว้ทางใบ 15-20 ใบ และไม่ควรตัดแต่งทางใบที่รองรับทะลายผลจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว สำหรับพวกก้านดอกที่ออกมาในระยะก่อน 2 ปี ควรตัดทิ้ง เพราะผลผลิตที่ได้ในระยะนี้จะไม่มีคุณภาพ การตัดแต่งช่อดอกในแต่ละก้านควรให้เหลือปริมาณพอเหมาะกับความสมบูรณ์ต้น โดยสังเกตจากช่อดอก หากสมบูรณ์จะอวบยาว สีแดงเข้ม กาบหุ้มมีสีดำ หรือสีน้ำตาล
การปลูกสละถือว่ามีความเสี่ยงน้อยมากกับปัญหาเรื่องโรคและแมลง ที่อาจจะมีอยู่บ้างก็จำพวก “มอด” ที่ต้องคอยระวังในช่วงที่ออกดอก หรือว่าพวกหนอนตัวเล็กที่คอยกัดกินภายในของผลอ่อน ไม่จำเป็นต้องป้องกันเพียงแต่คอยหมั่นดู ถ้าพบเจอก็ให้รีบทำลายทิ้ง ส่วนโรคที่สำคัญก็มีเพียงแค่พวกเชื้อรามักจะมาในตอนที่มีปริมาณน้ำฝนเยอะ เชื้อราเหล่านี้ถ้าเจอก็อาจใช้สารกำจัดเชื้อราบ้าง ไม่จำเป็นต้องป้องกันล่วงหน้าเช่นกัน ดังนั้นต้นทุนของการปลูกสละจึงตัดปัญหาเรื่องสารเคมีไปได้มากพอสมควร เพียงอาศัยการตรวจตราดูแลเข้าสวนบ่อยๆ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วครับ
การเก็บเกี่ยวผลผลิตสละ
การเก็บเกี่ยวจะเริ่มทำได้เมื่อผลสละมีอายุประมาณ 37 สัปดาห์ หรือหลังจากดอกบานประมาณ 9 เดือน ในตอนนี้จะเป็นผลสละที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน โดยสังเกตจากสีเปลือกที่จะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลดำกลายเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวแตกลายคล้ายเกล็ดงูชัดเจน ถ้าลองบีบดูแล้วจะรู้สึกว่านิ่ม เนื่องจากมีความแน่นของเนื้อน้อยลง เมื่อทดสอบปลิดผลจะหลุดออกจากขั้วได้ง่าย
การทดสอบรสชาติที่ดีที่สุด คือ การชิม เพราะในแต่ละกระปุกผลสละจะสุกแก่ไม่พร้อมกัน รสชาติก็จะไม่เหมือนกัน ปริมาณการเก็บเกี่ยวสละจากสวนลุงชุมโดยเฉลี่ย คือ แต่ละกอจะเก็บสละไว้ประมาณ 3 ต้น แต่ละกอจะมีสละประมาณ 100 ช่อ เก็บเฉลี่ย/ช่อประมาณ 50 กก.
ในพื้นที่ถ้านับสละอย่างเดียวประมาณ 1,200 ต้น หมุนเวียนเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งปี เพราะการผสมเกสรทำคนละรอบในแต่ละปี เก็บผลผลิตได้ 3-4 ครั้ง จำนวนต้น/ครั้งที่เก็บเกี่ยวประมาณ 600-700 ต้น เฉลี่ยต้นละประมาณ 50 กก. ต่อรอบการเก็บเกี่ยวไม่ต่ำกว่า 3,000 กก./รอบ ราคาขายเฉลี่ยประมาณ 60 บาท/กก. แต่ละรอบที่จำหน่ายมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/รอบ
ถ้านับตลอดทั้งปีก็มีรายได้คร่าวๆ ไม่ต่ำกว่า 700,000 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก ยังไม่รวมพืชตัวอื่นที่มีในพื้นที่ เรียกว่าปิดรอบบิลแต่ละปี หลังหักค่าใช้จ่ายสวนลุงชุมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าหลักล้านอย่างแน่นอน
ประโยชน์และสรรพคุณของสละ
สละสามารถรับประทานเป็นผลไม้ หรือทำเป็นน้ำผลไม้ทานก็ได้ สรรพคุณช่วยแก้อาการกระหายน้ำ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย สละเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงสมองเสริมสร้างความจำ (โพแทสเซียม และเพคติน) ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันอาการตาบอดตอนกลางคืน ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียมและฟอสฟอรัส)
สละเป็นผลไม้ที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนัก ช่วยบำรุงและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงเลือด ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยป้องกันอาการหวัด บรรเทาอาการไอ และสามารถใช้เป็นยาขับเสมหะ (เนื้อสละ) ป้องกันรักษาและบรรเทาอาการของโรคท้องร่วง รวมถึงช่วยในการย่อยอาหาร ลดกรดในกระเพาะ ป้องกันอาการท้องผูก
ในต่างประเทศมีการนำใบของ ต้นสละ มาทำเป็นชาผสมกับน้ำผึ้ง เพื่อใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคริดสีดวง สละปกติแล้วนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือที่กำลังนิยมกันอย่างมากก็คือ เอาไปแปรรูปเป็น “สละลอยแก้ว” ที่เพิ่มมูลค่าการจำหน่ายได้อีกไม่ต่ำกว่าแก้วละ 25-30 บาท
การแปรรูปเป็นสละลอยแก้ว
การทำสละลอยแก้ว มันคือ การต่อยอดจากผลไม้ไปสู่เมนูที่น่าสนใจ ที่สำคัญเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้มากทีเดียว สละ 1 กก. ราคาประมาณ 60 บาท สามารถเอามาทำเป็นสละลอยแก้วได้ประมาณ 5-6 แก้ว เป็นอย่างน้อย ราคาขายแก้วละ 25-30 บาท มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสละ 1 กก. จึงเป็น 150-160 บาท หักต้นทุนก็ยังมีเหลือไม่ต่ำกว่า 100 บาท ถือว่าน่าสนใจ ทีนี้เราลองมาดูกันหน่อยดีกว่าว่าการเพิ่มมูลค่าที่ว่านี้มีวิธีการอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ยากที่สุดในการทำสละลอยแก้ว ก็คือ การ “คว้าน” เอาเนื้อและเมล็ดให้แยกออกจากกันอย่างสวยงาม วิธีการก็ไม่ยุ่งยากแค่มีเพียงมีดแกะสลัก ใช้ปลายมีดเจาะเข้าไปในเนื้อสละ ให้ความลึกของมีดถึงประมาณปลายลูกสละ แล้วค่อยคว้านไล่ไปตามเม็ดให้รอบๆ แล้วค่อยๆ ปลิ้นเอาเม็ดออกมา ก็จะได้เนื้อสละที่ปราศจากเม็ด
ส่วนผสมของน้ำเชื่อมก็ไม่มีอะไรมาก แค่น้ำตาลกับน้ำธรรมดาต้มให้เดือด ถ้าจะเลือกทานเนื้อสละแบบนิ่มๆ ก็เทใส่เนื้อสละที่แกะรอไว้แล้วได้เลย หรืออีกวิธีที่นิยมมากกว่า คือ เอาเนื้อที่คว้านเสร็จมาใส่ในถ้วย เอาน้ำเชื่อมมาราดลงไป ใส่เกลือเล็กน้อยเป็นการปรุงรส
แล้วเอากระปุกดังกล่าวไปแช่น้ำเปล่าทันทีเพื่อดึงความร้อนออก พอน้ำในภาชนะเริ่มร้อนก็เปลี่ยนน้ำใหม่ประมาณ 2 น้ำ สละลอยแก้วพออุ่นๆ ก็เอาเข้าแช่ในห้องแข็งทันที ไม่ต้องกลัวว่าสละและน้ำเชื่อมจะแข็ง เพราะว่ามีส่วนผสมของน้ำตาล ทำให้โดนความเย็นก็จะไม่จับตัวกันง่ายๆ วิธีนี้จะทำให้ได้สละลอยแก้วที่กรอบ นุ่ม รสชาติดี และเป็นวิธีที่หลายคนทำขายกันอยู่ในขณะนี้ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณกุลวัช จันทร์ดอน 122 ม.1 ต.พระรักษ์ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร 86186 โทร.08-1778-3689