ประเทศไทยเริ่มทำการปลูกสตรอว์เบอร์รีมานานหลาย 10 ปี แต่ยังไม่เป็นการปลูกในเชิงการค้าเท่าที่ควร เนื่องจากสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีในสมัยนั้นที่เรียกว่า “พันธุ์พื้นบ้าน” เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ตอบโจทย์ในเชิงการค้า เนื่องจากผลมีลักษณะนิ่ม มีขนาดเล็ก สีผลออกเป็นสีปูนแห้ง และให้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำอีกด้วย
การสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี เชิงการค้า
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงก่อตั้งโครงการหลวง ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า “มูลนิธิ โครงการหลวง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารของพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ หยุดยั้งการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา โดยหาพืชอื่นมาทดแทนการปลูกฝิ่น และช่วยยกระดับการครองชีพ ตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ดังนั้น “โครงการวิจัยสตรอว์เบอร์รี” จึงเป็นอีกโครงการหนึ่ง
โดยเริ่มดำเนินการในระหว่างปี พ.ศ.2517-2522 โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ระหว่างการวิจัยนี้ได้มีการนำสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ต่างๆ เข้ามามากมาย เพื่อทดลองปลูกตามสถานีทดลองเกษตรที่มีระดับความสูงที่ต่างกัน รวมทั้งศึกษาเรื่องของโรค-แมลง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และตลอดจนทางด้านของการตลาด จนกระทั่งประสบความสำเร็จ
และนำข้อมูลที่ได้มาจากโครงการวิจัยสตรอว์เบอร์รีนี้ได้นำไปใช้ในงานส่งเสริมให้แก่ชาวไทยภูเขา รวมทั้งเกษตรกรพื้นราบในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตสตรอว์เบอร์รี และต้นไหล ด้วย ส่งผลให้ปัจจุบันสตรอว์เบอร์รีจึงถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจพืชหนึ่งที่ทำรายได้ค่อนข้างดี และให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วแก่เกษตรกรผู้ปลูกในทั้งสองจังหวัดนี้
แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าพื้นที่การปลูกสตรอว์เบอร์รีนั้นไม่ได้มีเพียงภาคเหนือเท่านั้น แต่ได้กระจายพื้นที่ปลูกมายังภาคกลาง ภาคตะวันออก มากขึ้น ทั้งๆ ที่สภาพอากาศไม่ได้มีความหนาวเย็นมากนัก นั่นเป็นเพราะสตรอว์เบอร์รีได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ไม่ต้องใช้อากาศหนาวเย็นมากนัก
จนกระทั่งเกิดสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ 80, 88 ขึ้น โดยเป็นสายพันธุ์พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั่นเอง เพื่อให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้มากขึ้น สร้างรายได้เข้าครัวเรือนนั่นเอง
“สตรอว์เบอร์รี” เป็น “พืชเรียกแขก” ให้ตลาดเป็นคนวิ่งเข้าหาเอง
“ ไร่สตรอเบอรี่ สุพันดา” คือ สวนสตอเบอรี่ ในพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดสระบุรี ที่มี คุณไวยาพัน คัมภิรานนท์ หรือพี่ไว เป็นเจ้าของ สวนสตอเบอรี่ แห่งนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากเดิมทีที่ตนเองและครอบครัวประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผักจากตลาดส่ง และนำมาขายต่อให้แม่ค้าย่อยอีกที แต่ถึงแม้ว่าการเป็นพ่อค้าขายผัก เม็ดเงินที่ได้มานั้นจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ราคาผักบางช่วงจะขึ้น-ลงเร็วอย่างกับลูกบาสก็ตาม
แต่สาเหตุหลักที่ทำให้คุณไวหันมาสนใจเป็นเกษตรกรปลูกสตรอว์เบอร์รีนั้น เนื่องจากตนเองอยากหารายได้เสริมเพิ่มขึ้น โดยเลือกที่จะปลูกพืชที่ไม่ต้องวิ่งหาตลาด ให้ตลาดเป็นคนวิ่งเข้าหาเอง หรือที่เรียกว่า “พืชเรียกแขก”
จนกระทั่งมาเจอพืชเมืองหนาว อย่าง “สตรอว์เบอร์รี” ที่เรียกว่าเป็นพืชที่ตอบโจทย์เชิงการค้าที่ดี ราคาผลผลิตต่อกิโลสูง การปลูก การดูแล ค่อนข้างง่าย และที่สำคัญยังเป็นพืชเรียกแขก เรียกตลาด เข้าหาได้ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงเกิด ไร่สตรอเบอรี่ สุพันดา ขึ้นในพื้นที่ ต.ท่าคล้อ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัดสระบุรี ที่นักท่องเที่ยว ลูกค้า สามารถเดินเข้า สวนสตอเบอรี่ และเก็บผลผลิตเองได้
แต่การปลูกสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ภาคกลางนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่างที่ทราบสตรอว์เบอร์รีนั้นเป็นผลไม้เมืองหนาว พื้นที่ปลูกต้องมีสภาพอากาศหนาวเย็น จึงจะให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ แต่การนำผลไม้เมืองหนาวมาปลูกในพื้นที่เขตร้อนนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคุณไวเป็นอย่างมาก
ดังนั้นการคัดเลือกสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีนั้นจึงเป็นสิ่งแรกที่คุณไวต้องศึกษาเป็นอย่างดี จนกระทั่งมาจบที่สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 และ 88 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่วิจัยแล้วว่ามีความแข็งแรง สามารถปลูกได้ในพื้นที่ภาคกลาง ไม่จำเป็นต้องมีอากาศหนาวเย็นมาก เมื่อได้สายพันธุ์มาแล้ว แหล่งซื้อต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างหนัก เพราะร้านขายต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี หรือที่เรียกว่า “ไหล” นั้น มีมากมายหลายพันร้าน
สิ่งนี้ก็เป็นปัญหาสำหรับพี่ไวเช่นกัน ก็เกิดการลองผิดลองถูก จนกระทั่งมาเจอ สวนสตอเบอรี่ ที่ผลิตและจำหน่ายต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ (ไหล) แข็งแรง สมบูรณ์ คุณไวจึงทดลองซื้อมาปลูกครั้งแรก 2,000 ต้นในราคาต้นละ 6 บาท ซึ่งก่อนทำการสั่งซื้อต้นกล้านั้น คุณไวจะทำการเตรียมดินไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากไหลสตรอว์เบอร์รีนั้นสามารถลงปลูกดินได้ทันที ไม่จำเป็นต้องอนุบาลก่อน
สภาพพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอร์รี
คุณไวมีวิธีการเตรียมดิน โดยเริ่มต้นจากการวัดค่า pH ของดิน เพื่อให้รู้สภาพของดินที่จะปลูก ซึ่งสตรอว์เบอร์รีนั้นจะชอบดินที่มีค่า pH ประมาณ 6-7 % และเป็นดินร่วนปนดินทราย ซึ่งพื้นที่ของคุณไวนั้นมีค่า pH อยู่ที่ 5% กว่า ถือว่ายังพอใช้ได้ อีกทั้งยังเป็นดินทรายอีกด้วย ทำให้การปลูกสตรอว์เบอร์รีนั้นไม่ใช่ปัญหา
เมื่อวัดค่าดินแล้วจึงเริ่มไถพรวนให้ลึกหมดผาน และตากหน้าดิน 7-10 วัน จากนั้นหว่านปูนขาว อัตรา 100 กก. และปูนโดโลไมท์ อัตรา 50 กก. ทั้งแปลง เพื่อไล่แมลงปีกแข็งที่อยู่ในดินออก และไถแปรดินให้ละเอียด คุณไวอธิบายการเตรียมดินกับทีมงานว่าฤดูกาลปลูกสตรอว์เบอร์รีนั้นจะเริ่มปลูกในเดือนกันยายน ดังนั้นจะต้องเตรียมดินตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพื่อให้ดินสามารถระบายความร้อน และให้ดินได้ดูดซับอาหารให้มากที่สุด
เมื่อเข้าเดือนกันยายนคุณไวจะเริ่มขึ้นแปลงปลูก กว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ยาว 20-25 เมตร และให้มีความกว้างของทางเดิน 50 เซนติเมตร จากนั้นพรวนดินในแปลง และขุดร่องกลางแปลงประมาณ 1 คืบ และนำขุยมะพร้าวสับ และมูลไส้เดือน ผสมกัน ใส่ในร่องแล้วกลบดิน เพื่อช่วยเวลาที่ให้ปุ๋ย ฮอร์โมน และน้ำ ขุยมะพร้าวจะช่วยในการดูดซับสิ่งเหล่านี้นั่นเอง
จากนั้นใช้พลาสติกคลุมดินเพื่อป้องกันหญ้าและวัชพืช โดยจะเจาะรูวงกลมขนาดพอดีกับต้นกล้าที่พลาสติก และเริ่มวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ และระบบน้ำหยด ก่อนลงต้นกล้า เพื่อง่ายต่อการจัดการ จากนั้นนำต้นกล้าสตรอว์เบอร์รีลงปลูกได้ทันที ไม่จำเป็นต้องลงแปลงอนุบาล เพราะต้นกล้ามีความแข็งแรงแล้ว ซึ่งวิธีการสังเกตต้นกล้าที่แข็งแรง ให้ดูจากไหลที่มีอายุ 20-25 วัน และรากออกเดินเต็มถุงเพาะชำเป็นจำนวนมาก แสดงว่าต้นกล้านี้พร้อมที่จะลงดินทันที
การให้น้ำและปุ๋ยใน ไร่สตรอเบอรี่
ใน 1 ร่อง จะปลูกต้นกล้าทั้งหมด 133 ต้น แบบร่องคู่ มีระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร หลังจากที่ลงต้นกล้าในแปลงปลูกแล้วจะต้องให้น้ำทันที โดยใช้สปริงเกลอร์ ให้จนกว่าแปลงปลูกจะแฉะ เพราะพืชสตรอว์เบอร์รีนั้นค่อนข้างชอบน้ำ อีกทั้งสภาวะพื้นที่ของคุณไวเป็นดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำ ดังนั้นต้องให้น้ำมากเป็นพิเศษ ใน 1 วันจะให้น้ำ 3 ครั้ง คือ เช้า กลางวัน และเย็น
โดยการสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักด้านหลัง สวนสตอเบอรี่ มาพักไว้ในบ่อเพื่อให้สารพิษในน้ำตกตะกอน จากนั้นจึงสูบน้ำมาใช้ใน สวนสตอเบอรี่ ได้ หลังจากปลูกสตรอว์เบอร์รีไปแล้ว 20 วันขึ้นไป ต้นกล้าจะเริ่มตั้งใบ ช่วงนี้จะให้ฮอร์โมนบำรุงต้น โดยใช้ฮอร์โมนชีวภาพ ไคโตซาน ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เพื่อบำรุงดิน บำรุงราก ให้แข็งแรง สมบูรณ์ ออกหาอาหารได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีโมเลกุลที่เมล็ดพืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที อัตราการใช้ 20 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
โดยใช้ต่อเนื่องทุก 7 วัน ร่วมกับปุ๋ยน้ำสูตร 30-0-0 บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด อัตราการใช้ 40 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 15 วัน เมื่อต้นสตรอว์เบอร์รีมีอายุได้ประมาณ 45 วัน จะเริ่มตั้งช่อดอก ในช่วงนี้จะเริ่มให้ปุ๋ยเม็ดทางดิน สูตร 8-24-24 ตราหัววัวคันไถ และลดการให้น้ำ เหลือเพียงช่วงเช้า และเย็น ร่วมกับดูสภาพอากาศ และสภาพดิน ด้วย
หากอากาศแห้ง ดินแห้ง จะต้องให้น้ำเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้จะฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันแมลงปีกแข็ง หนอน และเพลี้ยไฟ ไรแดง ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของสตรอว์เบอร์รี จากนั้นประมาณ 7 วัน สตรอว์เบอร์รีจะเริ่มติดผล จะเพิ่มการฉีดพ่นแคลเซียมโบรอนเพื่อให้ผลผลิตสมบูรณ์ จากนั้น 7-10 วัน ผลสตรอว์เบอร์รีจะเริ่มเข้าสีแดง
สตรอว์เบอร์รีนั้นจะสามารถให้ผลผลิตได้นานถึง 4-5 เดือน
ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว สตรอว์เบอร์รีนั้นจะสามารถให้ผลผลิตได้นานถึง 4-5 เดือน จึงจะสิ้นสุดฤดูกาล แต่ก็จะขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา แต่ในช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นไป สวนของคุณไวจะต้องมีการพ่นสปริงเกลอร์หมอกให้ความเย็นกับต้นสตรอว์เบอร์รีด้วย เพื่อให้มีผลผลิตที่ดีต่อเนื่อง
การเลี้ยงผึ้งชันโรงใน สวนสตอเบอรี่
การปลูกสตรอว์เบอร์รีให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้นจะต้องมีตัวช่วยในการผสมเกสรให้ได้คุณภาพ ด้วยเหตุนี้คุณไวจึงนำผึ้งชันโรงมาเลี้ยงไว้ใน สวนสตอเบอรี่ แห่งนี้ด้วย นอกจากช่วยผสมเกสรแล้วยังสามารถนำน้ำผึ้งมาบีบใส่ขวดขายได้อีกด้วย ในราคาลิตรละ 1,500 บาท สร้างรายได้เป็นอย่างดี
การจำหน่ายผลผลิตสตรอว์เบอร์รี-ไหล และต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี
คุณไวยอมรับกับทีมงานนิตยสารเมืองไม้ผลว่า สวนสตรอว์เบอร์รีนั้นจะให้ผลผลิตได้ไม่เกินเดือนมีนาคมของทุกปี ดังนั้นหลังจากสตรอว์เบอร์รีหมดฤดูกาลแล้ว คุณไวมีโครงการจะปลูกพืชตระกูลผักต่อ โดยเฉพาะผักสลัด และผักตลาดทั่วไป เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาติดต่ออยากให้ปลูกผักขายส่งให้เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นโครงการปลูกผักจะเกิดขึ้นหลังจากหมดฤดูสตรอว์เบอร์รีแน่นอน เพื่อให้สวนแห่งนี้เป็น “แลนด์มาร์ค” สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสระบุรีอีกแห่ง นอกจากผลผลิตสตรอว์เบอร์รีแล้ว “ ไร่สตรอเบอรี่ สุพันดา” ยังจำหน่ายไหล หรือ ต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี ไว้บริการแก่คนที่สนใจปลูกอีกด้วย
สนใจเข้าเยี่ยมชม ไร่สตรอเบอรี่ สุพันดา ติดต่อ คุณไวยาพัน คัมภิรานนท์ หรือ พี่ไว 49/4 หมู่ 5 ตำบลหนองโน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โทร.089-089-8097 ไร่สตรอเบอรี่ ไร่สตรอเบอรี่ ไร่สตรอเบอรี่ ไร่สตรอเบอรี่