ปัจจุบันการทำฟาร์ม หรือการทำธุรกิจด้านปศุสัตว์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เนื่องจากมีความเสี่ยงหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องราคาวัตถุดิบ เรื่องโรค และเรื่องสภาพแวดล้อม อีกทั้งปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น การทำฟาร์มจึงจำเป็นต้องทำทุกวีถีทางเพื่อเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน เพื่อความอยู่รอดของตัวเกษตรกรเอง และที่สำคัญต้องคำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตด้วย สูตรอาหารหมูโตเร็ว
นับวันมนุษย์เราเริ่มใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือการบริโภคอาหาร ก็เช่นกัน จะต้องมีการคัดสรรพอสมควร และ “เนื้อสุกร” ถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอดที่คนส่วนมากเลือกบริโภค เพราะหาได้ง่าย และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด
การเลี้ยงหมูในโรงเรือนเปิด
ในขณะเดียวกันเมื่อมีการเลี้ยงสัตว์อย่างแพร่หลาย ย่อมเกิดภาวะเสี่ยงต่อโรคมากขึ้น เพราะโรคนั้นได้มีการพัฒนาของตัวมันเอง ฟาร์มที่อยู่รอดจากอดีตจนถึงปัจจุบันถือว่าเป็นฟาร์มที่มีการจัดการเป็นอย่างดี และมีความอดทนเป็นอย่างมาก
ดั่ง “ศรีสวัสดิ์ฟาร์ม” หรือรู้จักกันในนาม “ฟาร์มเฮียชัย” ที่เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์มากว่า 30 ปี โดยมี คุณสุภชัย ศรีสวัสดิ์ (เฮียชัย) เป็นเจ้าของฟาร์ม เปิดเผยกับทีมงาน นิตยสารสัตว์บก ว่า ก่อนหน้านี้ตนมีอาชีพทำไร่ ทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องตากแดด ตากฝน บางปีฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตที่ได้ตกต่ำ จึงคิดอยากจะเลี้ยงหมู เพราะอย่างน้อยก็เป็นอาชีพที่อยู่ในร่ม จากนั้นได้ทดลองเลี้ยงหมูแม่พันธุ์จำนวน 5-6 ตัว ใช้วิธีเลี้ยงกับพื้นแบบง่ายๆ จากนั้นได้มีการสร้างฟาร์มอย่างชัดเจน บนพื้นที่ 12 ไร่ โดยการสร้างโรงเรือน และต่อเติมเรื่อยมา โดยเป็นลักษณะโรงเรือนเปิด
สายพันธุ์ที่เลี้ยง
“การเลี้ยงหมูถือว่าพัฒนาจากเดิมมาก เพราะสมัยก่อนเลี้ยงหมู 5-6 แม่ ถือว่ามีเยอะพอสมควร เมื่อหมูมีราคาดี ขายได้กำไร ก็นำมาปรับปรุงโรงเรือนให้ดีขึ้น ช่วงที่หมูมีราคาถูกก็หาวิธีแก้ไข และใช้ความอดทน ถือว่าล้มลุกคลุกคลาน แต่สามารถผ่านมาได้” เฮียชัยกล่าวเสริม
สายพันธุ์ที่เลี้ยง คือ ลาร์จไวท์ แลนด์เรซ และดูร็อค โดยซื้อพันธุ์แท้มาจากบริษัทที่น่าเชื่อถือ จากนั้นนำมาทำเป็นแม่สองสาย เพื่อนำไปผลิตหมูสามสายสำหรับจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปขุน ปัจจุบันมีหมูแม่พันธุ์จำนวน 200 แม่ พ่อพันธุ์ 5 ตัว ใช้วิธีผสมเทียมทั้งหมด ในแต่ละเดือนต้องมีการผสม และต้องทำให้เข้าคลอดให้ได้ 40 แม่ มีโรงเรือนทั้งหมด 4 โรงเรือน ได้แก่ โรงเรือนอุ้มท้อง โรงเรือนสำหรับคลอด และโรงเรือนอนุบาล 2 หลัง
โรงเรือนเลี้ยงหมู
สำหรับแม่พันธุ์ที่ใช้โดยเฉลี่ยจะใช้ 6-8 ท้อง ในบางตัวที่ให้ลูกดี เลี้ยงลูกเก่ง อาจยืดระยะการปลดออกไป อาจจะเป็น 9-10 ท้อง เฉลี่ยอัตรารอดหลังหย่านมอยู่ที่ 9.5-10 ตัว/ครอก/แม่/ปี อัตราการสูญเสียไม่เกิน 5% ระยะเวลาการเลี้ยงหมูอนุบาลก่อนที่จะขายให้เกษตรกรนำไปขุนจะอยู่ที่ 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน
การให้อาหารและน้ำหมู
การให้อาหารจะให้ 2 เวลา คือ เช้า และเย็น อัตราการให้ในแม่หมูอุ้มท้อง ระยะแรกจะให้วันละ 1 กิโลครึ่ง ระยะที่ 2 (ช่วงผสม 30-100 วัน) จะเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนเป็น 3 กก./วัน เป็นอย่างต่ำ เพราะระหว่างที่หมูตั้งท้องต้องใช้ในการเจริญเติบโตของลูกด้วย
หากเป็นช่วงที่แม่หมูเลี้ยงลูกจะให้ 3-5 กก./วัน เพราะเป็นช่วงที่แม่หมูต้องกินให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำนมในการเลี้ยงลูก และในช่วงใกล้คลอดประมาณ 3-7 วัน จะลดปริมาณอาหารลง เพื่อลดการสะสมในลำไส้ และไม่ให้ลูกหมูโตเกินไป สามารถคลอดได้ง่าย ส่วนโรงเรือนอนุบาลให้กินทั้งวัน
สูตรอาหารหมูโตเร็ว
สูตรอาหารที่ให้หมูจะแตกต่างกันไป เช่น
- โรงเรือนอุ้มท้องจะใช้อาหารที่มีโปรตีน 14%
- ในโรงเรือนคลอดสำหรับแม่หมูที่เลี้ยงลูกจะกินอาหารที่มีโปรตีน 16-18%
- ส่วนหมูอนุบาลจะเป็นอาหารลูกหมูโปรตีน 21%
โดยอาหารทั้งหมดทางฟาร์มจะผสมเอง ส่วนวัตถุดิบหลักจะเน้นมันสำปะหลัง นอกจากนี้จะมีปลายข้าว รำ และกากถั่วเหลือง ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยซื้อวัตถุดิบมาจาก รศ.อุทัย คันโธ รวมถึงสูตรอาหารของทางฟาร์มก็เป็นของอาจารย์ท่านนี้ และใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เพราะอาจารย์เป็นนักวิชาการ มีการจัดอบรมสูตรอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอยู่เป็นประจำ
แหล่งน้ำที่ใช้จะมีการขุดบ่อใช้เอง ในช่วงที่แล้งทางฟาร์มจะสูบน้ำจากคลองมาพักไว้ในบ่อ แล้วฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำไปใช้ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำ อนาคตจะมีการเจาะบ่อบาดาล เนื่องจากน้ำในคลองชลประทานเริ่มแห้ง
อีกอย่างเส้นทางน้ำจะมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ ทางฟาร์มกลัวน้ำในคลองมีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม หากมีกำไรก็จะมีการต่อเติมและปรับปรุงให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ด้านการขยายฟาร์มคงจะไม่ขยาย แต่จะเน้นการจัดการเพื่อยกระดับคุณภาพตัวสุกรให้สูงขึ้น
การบริหารจัดการฟาร์มหมู
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ของเสียที่ได้จากฟาร์ม เช่น มูล จะมีการเก็บไปตากแดด แล้วบรรจุใส่กระสอบขาย ส่วนน้ำเสียที่ใช้ในกิจวัตรประจำวัน ทางฟาร์มจะมีบ่อพักน้ำเสียเป็นบ่อดินจำนวน 5 บ่อ โดยจะให้น้ำไหลผ่านเพื่อตกตะกอนเป็นบ่อๆ พอน้ำไหลไปถึงบ่อสุดท้าย คือ บ่อที่ 5 จะเป็นน้ำที่สามารถทิ้งลงคลองได้
แต่ส่วนมากเปิดให้เกษตรกรสูบไปใส่ไร่อ้อย ไร่มัน ซึ่งน้ำที่ได้จะมีคุณสมบัติเหมือนปุ๋ยอินทรีย์ มีสารอาหารที่พืชต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ได้ผลผลิตดี ส่วนกากมูลที่ได้จากการตกตะกอนนั้นจะตากแห้งทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จำหน่ายให้ชาวสวนยาง และสวนผลไม้ ในแถบระยอง และจันทบุรี ขายในราคาถุงละ8 บาท (ประมาณ 10 กก./ถุง)
โรงเรือนเลี้ยงหมู
ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมสำหรับทางฟาร์มจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะทางฟาร์มมีการจัดการค่อนข้างดี เมื่อมีอากาศร้อน ทางฟาร์มจะมีการเปิดพัดลม อาบน้ำให้หมู และให้น้ำหยดลงบนตัว เพื่อให้ตัวหมูรู้สึกผ่อนคลาย อากาศภายในโรงเรือนค่อนข้างโปร่ง และถ่ายเทได้สะดวก
ปัญหาด้านแรงงานจะไม่มี เพราะมีสวัสดิการ บ้านพัก น้ำ ไฟ ฟรี และบางครั้งเฮียชัยจะซื้อข้าวของมาฝาก ทางฟาร์มจะมีพนักงานอยู่ 4 คน ช่วยกันทำงานทุกโรงเรือน เนื่องจากทางฟาร์มเลี้ยงหมูในโรงเรือนเปิด การให้อาหารก็ยังใช้แรงงานคน
ในการให้อาหารต้องยกและต้องเข็น “เราจะเลี้ยงเขาแบบพี่น้อง จะไม่ทำแบบลูกน้องกับนายจ้าง คนงานทางฟาร์มถึงอยู่นานนับ 10 ปี ถึงแม้กิจการจะดีขนาดไหน หากไม่มีคนงานก็ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ ถ้าเรามีน้ำใจกับเขา เขาก็จะตอบแทนดูแลสัตว์เลี้ยงให้เราดี ทางฟาร์มจึงไม่มีปัญหาด้านแรงงาน” เฮียชัยกล่าวเสริม
ด้านตลาดหมู
ปัจจัยความเสี่ยงในการเลี้ยงหมู คือ เรื่องราคา ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ยิ่งถ้าหากหมูคลอดเป็นจำนวนมาก และตรงกับช่วงราคาตกต่ำ เกษตรกรก็ได้แต่ทำใจยอมรับ อีกทั้งต้นทุนค่าอาหารปัจจุบันก็แพง แม้กระทั่งในช่วงที่หมูมีราคาถูก แต่ต้นทุนค่าอาหารยังแพงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทางฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 บาท/กก. สุดท้ายเรื่องโรค ทางฟาร์มสามารถควบคุมและมีการจัดการค่อนข้างดี คอยฟังข่าวสารต่างๆ และพร้อมที่จะรับมืออยู่เสมอ
ตลาดที่รับซื้อลูกสุกรขุนจะเป็นฟาร์มแถว อ.ราชสาร จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ และเป็นลูกค้าประจำ ราคาที่จำหน่ายจะยึดตามราคาประกาศ และในเร็วๆ นี้ จะมีการเปิดโรงงานแปรรูป หรือโรงเชือด อย่างครบวงจร
ช่องทางการจำหน่ายหมู
ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ทำอาชีพปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ หรือสัตว์บก โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทราจำกัด” ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ ได้พักหนึ่งแล้ว โดยมีสมาชิกที่เข้ากลุ่มมีประมาณ 30 ราย ปัจจุบันได้วางโครงการและดำเนินงานอย่างจริงจัง ในเรื่องของการรวมกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้นและเดินหน้าทางการตลาด
ปัจจุบันเริ่มสร้างโรงงานอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูป และมีการรวมตัวกันเพื่อให้สหกรณ์ฯซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาจำหน่ายให้กับสมาชิก เนื่องจากหากมีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ราคาวัตถุดิบจะถูกลง ต่อไปในอนาคตสหกรณ์จะมีหน้าที่ผลิตอาหารสัตว์ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงหมู และรับซื้อหมูเข้าแปรรูป ซึ่งคาดว่าจะมีโควตาประมาณ 45 ตัว/วัน
คณะกรรมการสหกรณ์ฯ ที่จะเข้าไปบริหารงาน คือ เกษตรกรที่ทำอาชีพปศุสัตว์ โดยเลือกกันเอง โดยมีระบบคล้ายๆ กับบริษัท ปัจจุบันยังไม่ชัดเจน แต่อนาคตอันใกล้จะมีรูปแบบที่ชัดเจน เพราะเริ่มมีการประชุมบ่อยขึ้น หรือเดือนละครั้ง เนื่องจากเริ่มนับจำนวนประชากรหมูว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จะต้องใช้อาหารจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่จะเอาหมูกลับเข้าไปแปรรูปจำนวนเท่าไหร่ และวางแผนในการจัดจำหน่าย อาจจะให้สมาชิกไปขายเอง เป็นเขียงหมูในชุมชน หรือพื้นที่ใกล้เคียง โดยขึ้นป้ายว่าเป็นของสหกรณ์ฯ เพราะเนื้อหมูของสหกรณ์เป็นเนื้อปลอดภัยจากสารปนเปื้อนแน่นอน การันตีจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งผ่านมาตรฐานที่กรมฯ กำหนด
“เราพยายามหาช่องทางในการทำธุรกิจ เพื่อหลีกหนีตลาดหมูขุนที่มีราคาไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ฟาร์มรายย่อยไม่สามารถกำหนดและต่อรองได้ และที่สำคัญเราอยากให้ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสุกรที่มีคุณภาพ สด ใหม่ และปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดง”
จุดเด่นของศรีสวัสดิ์ฟาร์ม
จุดเด่นของศรีสวัสดิ์ฟาร์ม คือ การดูแลเอาใจใส่หมูทุกตัวอย่างใกล้ชิด ซึ่งเฮียชัยจะเป็นผู้ควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยเน้นให้หมูอยู่อย่างสบาย “การดูแลการจัดการ และการทำความสะอาดคอก ต้องให้สะอาดจริงๆ การทำวัคซีนก็ต้องเคร่งครัด เมื่อเราใส่ใจกับสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี ผลผลิตที่ได้ก็จะดีตามไปด้วย ท้ายที่สุดสิ่งที่ได้ตอบแทนกลับมาถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงไป”
“การทำอาชีพปศุสัตว์ หากเรามีการรวมตัวกันทำเป็นรูปแบบสหกรณ์ ถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด สามารถลดความเสี่ยงในการทำฟาร์มลงได้ การช่วยเหลือจากรัฐบาลก็จะง่ายขึ้น เพราะเราเป็นองค์กร และอยากจะฝากถึงรัฐบาลช่วยดูแลเรื่องราคาหมูด้วย อยากให้เป็นไปตามกลไกของตลาด
เพราะส่วนมากทางรัฐบาลจะเข้ามาควบคุมในตอนที่ราคาหมูสูง ควรจะควบคุมราคาหมูในช่วงที่มีราคาต่ำด้วย เพราะเกษตรกรรายย่อยค่อนข้างเดือดร้อน และฝากถึงกรมปศุสัตว์ “อยากให้ช่วยเข้ามาดูแลเรื่องของวัคซีน เพราะปัจจุบันโรคมีมากขึ้น และเชื้อโรคแต่ละตัวมีการพัฒนาของตัวมันเองไปเรื่อยๆ อยากให้ใส่ใจเกษตรกรมากขึ้น” เฮียชัยกล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กับ คุณสุภชัย ศรีสวัสดิ์ เลขที่ 26/1 ม.13 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120 โทร.088-995-5509