สวนทุเรียน ลดต้นทุน ปุ๋ย-ยา ใน สวนทุเรียน 30 ไร่ รายได้กว่า 10 ล้านบาท/ปี
การปลูกทุเรียน แนวทาง ลดต้นทุน ปุ๋ย-ยา ใน สวนทุเรียน 30 ไร่
“ ทุเรียน ” ราชาผลไม้ของเมืองไทยที่โด่งดังไกลไปทั่วโลก ด้วยรสชาติที่ไม่เหมือนใคร และยังมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ทุเรียนไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น โดยเฉพาะชาวจีนจำนวนมากที่ชื่นชอบรับประทานทุเรียน จนเรียกว่าประเทศจีนเป็นแหล่งตลาดใหญ่ของทุเรียนบ้านเราก็ว่าได้
ผลผลิตที่ออกมาแต่ละปีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่หันมาปลูกทุเรียน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางพาราเก่าแก่ เมื่อประสบกับราคายางตกต่ำถึงขีดสุดก็ได้โค่นต้นยางทิ้ง และหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนแทนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้
นอกจากนี้เหล่าบรรดาคอทุเรียนคงจะรู้ดีกันอยู่แล้วว่าทางภาคตะวันออกของไทยในจังหวัดระยอง และจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกทุเรียนอร่อย ๆ ที่เราได้กินกันทุก ๆ ปี แต่รู้หรือไม่ว่าจังหวัดทางภาคใต้ อย่าง “ นครศรีธรรมราช ” ยังได้รับการส่งเสริมให้ปลูกทุเรียนเพื่อส่งออก รวมถึงการปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆ แทนการปลูกยางพาราที่ราคาตกต่ำอีกด้วย
คุณคมกฤษ คะเชนทร์ ปลูกทุเรียน บนพื้นที่ 30 ไร่ จ.นครศรีธรรมราช
ทีมงาน นิตยสารเมืองไม้ผลและพืชสุขภาพ ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล พบปะพูดคุยกับชาว สวนทุเรียนเมืองคอน ที่หันหลังให้กับการทำสวนยางพารา และหันมาปลูกทุเรียน “ หมอนทอง ” สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้ก็ต้องผ่านร้อน ผ่านหนาว มามาก ด้วยทุเรียนเป็นพืชที่ดูแลค่อนข้างยาก ต้องอาศัยประสบการณ์ และความเอาใจใส่อย่างดี จึงจะให้ผลผลิตที่ดีตอบแทน
“ คุณคมกฤษ คะเชนทร์ ” หรือ “ คุณปู ” ชาว สวนทุเรียน ที่ปลูกทุเรียนมากกว่า 600 ต้น บนพื้นที่รวมกว่า 30 ไร่ที่ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ยอมรับกับทีมงานว่า เดิมทีตนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพารามาก่อน แต่ต้องโค่นต้นยางทิ้งเพราะราคาผลผลิตตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงหันมาปลูกทุเรียน
เนื่องจากเป็นพืชอายุยืน อัตราการให้ผลผลิตสูง อีกทั้งยังขายได้ราคาค่อนข้างสูง จึงเริ่มทำ สวนทุเรียน ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 หรือเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว โดยเน้นปลูกทุเรียนสายพันธุ์ “หมอนทอง” เป็นหลัก แบ่งพื้นที่ปลูกเป็น 3 แปลง อายุต้นทุเรียนประมาณ 20-30 ปี และทุเรียนปลูกใหม่อีก 1 แปลง ในช่วงแรกที่ปลูกจะเป็นการทำทุเรียน “ นอกฤดู ” เพราะผลผลิตที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศจำนวนมาก
แต่ก็ทำได้เพียงปีเดียวเท่านั้นก็ต้องเลิกทำไป เพราะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งภาคใต้มีปริมาณฝนตกค่อนข้างชุก ส่งผลให้ทุเรียนติดลูกได้น้อย หรือลูกร่วงทิ้งหมด ทำให้ต้นทุนการทำทุเรียนนอกฤดูค่อนข้างสูง และทำให้ต้นโทรมเกือบตาย จึงเลิกทำทุเรียนนอกฤดูแล้วหันกลับมาบำรุงดูแลต้นทุเรียนให้ออกในฤดูแทนนั่นเอง
สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียน
สวนทุเรีย นคุณปูซื้อต้นกล้าพันธุ์มาจากบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ในราคาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ต้นละ 15 บาท ขั้นตอนการปลูกจะเตรียมปรับสภาพหน้าดินให้เสมอกัน จากนั้นปลูกในระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 8 x 8 เมตร ซึ่งเป็นระยะมาตรฐานเหมาะสมใน การปลูกทุเรียน
จากนั้นจะขุดหลุมให้ลึกเพียงครึ่งถุงต้นกล้า นำต้นกล้าลงปลูกโดยไม่ต้องรองก้นหลุม กลบดินให้สูงเสมอปากถุงต้นกล้า สาเหตุที่ไม่ขุดหลุมลึกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังต้นกล้า แต่จะใช้วิธีการกลบดินให้สูงเป็นโคกแทน จากนั้นปักไม้ค้ำเพื่อป้องกันลม และใช้กิ่งไม้บังแสง ให้น้ำต้นทุเรียนเช้า – เย็น โดยจะเน้นดูสภาพดินเป็นหลัก รดน้ำให้พอดินชุ่ม ด้วยระบบสปริงเกลอร์จากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ขุดสระเก็บไว้ ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งจะให้น้ำต้นทุเรียนประมาณครึ่งชั่วโมง วันเว้นวัน
การบำรุงดูแลรักษาต้นทุเรียน
หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ ต้นกล้าเริ่มตั้งตัว จึงจะเริ่มให้ปุ๋ยน้ำทางใบ และทางดิน เป็นสูตรเสมอ 15-15-15 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และทางใบสูตร 20-30-30 ทุก ๆ 20 วัน ควบคู่กับการสังเกตใบอ่อน หากพบอาการผิดปกติจะต้องเร่งแก้ไขก่อน เพื่อรักษาต้นให้สมบูรณ์มากที่สุด ทุเรียนจะเริ่มไว้ลูกเมื่อต้นมีอายุได้ประมาณ 4 ปี โดยจะไว้ลูกเพียงต้นละ 50 – 80 ลูก เท่านั้น โดยไม่มีการตัดแต่งลูก
สาเหตุที่คุณปูไว้ลูกทุเรียนต่อต้นน้อยเนื่องจากต้องการบำรุงลูกทุเรียนให้ได้เต็มที่ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3 กิโลกรัมขึ้นไปต่อลูก อีกทั้งการไว้ลูกน้อยยังทำให้ต้นทุเรียนไม่โทรมจากการเลี้ยงลูกเป็นจำนวนมาก
“ที่สวนเราจะไม่แต่งลูก เพราะเดี๋ยวลูกที่ไม่แข็งแรงมันก็จะร่วงเอง ถ้าเราแต่งลูก บางทีลูกที่เราคัดเอาไว้มันก็ร่วง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแต่งลูก อีกอย่างการเลี้ยงลูกต่อต้นน้อย ต้นก็ไม่โทรม ดีกว่าเลี้ยงลูกเยอะ สุดท้ายผลผลิตที่ได้มาก็ไม่ได้คุณภาพ ลูกเล็ก บิดเบี้ยวบ้าง ราคาก็ไม่ได้ สู้ทำคุณภาพไปเลยดีกว่า ราคาดีกว่ากันด้วย” คุณปูให้ความเห็นเกี่ยวกับการไว้ลูกทุเรียน
การใส่ปุ๋ย ต้นทุเรียน
การจัดการที่ดีเน้นการบำรุงป้องกันโรคในสวนทุเรียน ทำให้ในแต่ละปีทุเรียนให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 70-80 ตัน / ปี สร้างรายได้ประมาณ 10 กว่าล้านบาท / ปี เมื่อเทียบกับการปลูกยางพาราที่รายได้ไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว ทุเรียนให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบำรุงดูแลต้นทุเรียนให้แข็งแรง สมบูรณ์
โดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย-ยา ที่มีคุณภาพ อาทิเช่น ปุ๋ยเกล็ด ยิบอินเฟิท ตราใบไม้ สูตร 10-20-30 ของ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ซึ่งผลิตจากแม่ปุ๋ยคุณภาพจากต่างประเทศ เช่น อิสราเอล เยอรมัน ฯลฯ ที่มีคุณสมบัติอันโดดเด่นสามารถละลายน้ำได้ดี พืชดูดซึมเข้าทางราก และทางใบ พร้อมธาตุอาหารเสริมไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว มีธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ครบถ้วน ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ของ บริษัท ชาลีเอสคิวเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นปุ๋ยยูเรียไนโตรเจน ชนิดไบยูเร็ตต่ำ (Low Biuret) เม็ดเล็ก ละลายน้ำง่าย ไม่มีตะกอน เป็นยูเรียชนิดพิเศษที่ผ่านกระบวนการกำจัดไบยูเร็ตและเกลือ ให้มีดัชนีของค่าเกลือต่ำ จึงไม่เป็นอันตรายต่อพืช สามารถใช้ฉีดพ่นทางใบได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการใบไหม้ ซึ่งประกอบด้วยธาตุไนโตรเจนในระดับสูง ช่วยในการเจริญเติบโตทางลำต้น สร้างใบ แตกกิ่งก้าน แตกกอ ได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณคลอโรฟิลด์ ทำให้สังเคราะห์แสงได้ดี ใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ยังมีการให้ธาตุอาหารเสริม อย่าง แคลเซียม โบรอน และแมกนีเซียม ของ บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด เพื่อให้ผลผลิตสมบูรณ์ ช่วยให้พืชแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศ ลดการหลุดร่วงของผลผลิตด้วยเช่นกัน
การป้องกันกำจัดโรคระบาด
แน่นอนว่าโรคปราบเซียนของชาวสวนทุเรียน คือ “โรครากเน่า โคนเน่า” หรือ “ไฟท็อปธอร่า” ที่ทำให้ต้นทุเรียนหลายสวนยืนต้นตาย และหมดไปกับค่าปุ๋ย-ยา ที่ใช้ในการรักษาเป็นจำนวนมากไม่น้อย แต่สำหรับสวนทุเรียนคุณปูนั้น โรคไฟท็อปธอร่าถือเป็นปัญหาเล็กน้อยมาก เพราะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ปราบโรค อย่าง “โพลิ-อาร์-ฟอส400” ของ บริษัท กรีนลีฟส์ จำกัด ซึ่งเป็นสารกำจัดโรคพืช ป้องกันและกำจัดโรคโคนเน่า รากเน่า ลำต้นเน่า เน่าคอดิน ยอดเน่า กิ่งเน่า เน่าเข้าไส้ หรือเน่าดำ เป็นต้น ซึ่งมักระบาดในสวนทุเรียน อัตราในการใช้ 1 – 2 ซีซี. /น้ำ 1 ลิตร ใส่เข็มฝังเข้าต้นทุเรียน โดยต้องอาศัยความชำนาญ และฝีมือในการฝังเข็ม ควบคู่กับการสังเกตอาการของต้นทุเรียนด้วย
นอกจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพในการบำรุงดูแลต้นทุเรียนแล้ว ที่สำคัญเทคนิคการทำให้ทุเรียนมีคุณภาพ และผลผลิตที่ดี ของทางสวนอีกอย่างหนึ่ง คือ การแต่งกิ่งยอดทรงพุ่มต้นทุเรียนให้เรียบร้อย ซึ่งโดยปกติสวนทุเรียนจะมีการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกปี แต่สวนทุเรียนคุณปูจะตัดแต่งทรงพุ่มต้นทุเรียนก่อนติดดอก เพื่อให้ต้นได้ทรงพุ่มที่สวยงาม ให้แสงแดด สามารถส่องถึงโคนต้นได้ดี เพื่อช่วยในการสังเคราะห์แสง ปรุงอาหารได้ดี
ทำให้ต้นทุเรียนไม่สูงจนเกินไป และยังช่วยให้ต้นทุเรียนติดลูกในที่ที่เหมาะสมของต้นอีกด้วย เช่น ในบริเวณใต้ท้องกิ่งในทรงพุ่ม เป็นต้น
“สวนจะตัดแต่งทรงพุ่ม กิ่ง ยอด ต้น ทุกปี เพื่อให้แดดส่องถึงใต้ต้นทุเรียนให้มากขึ้น ถ้าหากเราไม่ตัดแต่งทรงพุ่ม เวลาที่ติดลูกก็จะไปติดที่ปลายกิ่ง ทำให้ต้นทุนในการเก็บเกี่ยวสูงขึ้น เก็บเกี่ยวยาก เพราะอยู่สูงเกินไป ลมพัดมาก็ทำให้กิ่งหัก รับน้ำหนักลูกไม่ไหว และอีกอย่างผมทำทุเรียนมาถ้าขาดผลิตภัณฑ์ตัวนี้ต้นทุเรียนต้องตายยกสวนแน่ๆ เพราะไม่มียาปราบตัวไหนที่ใช้ได้ดีเท่าตัวนี้แล้ว” คุณปูการันตีถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์โพลิ-อาร์-ฟอส 400 ของบริษัท กรีนลีฟส์ฯ
ต้นทุนการผลผลิตทุเรียน
นอกจากนี้คุณปูยอมรับว่าในแต่ละปีหมดไปกับ ค่าปุ๋ย-ยา และค่าจ้างคนงานดูแลสวน 1 คน รวมประมาณปีละ 6 แสนกว่าบาท ซึ่งมองดูเหมือนว่ามูลค่าจะเยอะ แต่เมื่อเทียบกับคุณภาพของผลผลิต คุณภาพของต้นทุเรียน และรายได้ที่กลับเข้ามาถือว่าค่อนข้างคุ้มค่ามากกว่าที่จ่ายไป ผลผลิตของทางสวนทั้งหมดจะมีเหล่าพ่อค้า แม่ค้า จากล้ง ส่งจำหน่ายประเทศจีน มารับซื้อถึงหน้าสวนในราคาส่งโดยตรง ตัดทุเรียนวันละ 10 กว่าตัน ใช้เวลาเพียง 5 – 6 วัน ก็สามารถตัดทุเรียนได้หมดทั้งสวน
อีกทั้งการทำสวนทุเรียนนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะขายผลผลิตไม่ได้ เพราะความต้องการผลผลิตตอนนี้มีมาก ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดด้วยซ้ำ ทุเรียนแม้ทำยาก แค่ทำให้ออกมาดี มาสวย แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทำได้ ราคาดีแน่นอน“การทำสวนต้องอาศัยใจรัก ถ้าเรารักสวน รักต้นไม้ ผลผลิตที่ออกมาก็จะมีคุณภาพ ต้องดูแลเอาใจใส่ แต่ถ้าทำทิ้งๆ ขว้างๆ ปล่อยให้ลูกน้องดูแลฉีดยาเอง เจ้าของสวนไม่ได้ไปคุม ผลผลิตที่ออกมามันก็ไม่ดี ต้องมีความเพียรพยายาม ความขยัน อดทน ใฝ่รู้ ใฝ่ทำ มีความรับผิดชอบ มีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจด้วย ถึงจะประสบผลสำเร็จแน่นอน”
ขอขอบคุณข้อมูล คุณคมกฤษ คะเชนทร์ บ้านเลขที่ 256 ม.5 ต.ห้วยปริก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช โทร.063-586-3022