การเลี้ยงโค
การบริหารจัดการ สายพันธุ์ และอาหาร อาจเป็นองค์ประกอบหลักในการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ และการต่อยอดธุรกิจต่างก็มีบทบาทสำคัญ เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกร อย่าง “ฟาร์มพฤกษะศรี” ฟาร์มต้นแบบเครือข่ายสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน และศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตร เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่ร่วมมือกันได้อย่างลงตัว
การเลี้ยงโค
การบริหารจัดการ สายพันธุ์ และอาหาร อาจเป็นองค์ประกอบหลักในการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ และการต่อยอดธุรกิจต่างก็มีบทบาทสำคัญ เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกร อย่าง “ฟาร์มพฤกษะศรี” ฟาร์มต้นแบบเครือข่ายสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน และศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตร เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่ร่วมมือกันได้อย่างลงตัว
อาจารย์พรวิวัฒน์ พฤกษะศรี เลี้ยงโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน จ.นครปฐม
ฟาร์มพฤกษะศรี เป็นฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันมีถึงระดับD4,D5 ก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์ปรารถนา พฤกษะศรี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโคเนื้อ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนโดยมี คุณนเรศ แสงพรมทิพย์ เป็นผู้จัดการฟาร์ม
อาจารย์พรวิวัฒน์ พฤกษะศรี ลูกชายของศาสตราจารย์ปรารถนา เล่าถึงที่มาว่า ในช่วงที่พ่อของตนเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการอบรมแก่เกษตรกรมากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงโค ซึ่งมีเกษตรกรบางกลุ่มมักพูดว่านักวิชาการหลายคนมีเพียงความรู้วิชาการเท่านั้น หากลงมือทำฟาร์มจริงๆ ก็อาจจะไม่สำเร็จ
ดังนั้นศาสตราจารย์ปรารถนาจึงสร้างฟาร์มเป็นของตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2531 เพื่อเป็นฟาร์มต้นแบบให้แก่เกษตรกรได้เรียนรู้ โดยนำความรู้เชิงวิชาการที่ใช้อบรมเกษตรกรมาใช้ มีการสอดแทรกเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโค เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน และใช้ทรัพยากรในฟาร์มอย่างคุ้มค่า และมีวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่ง คือ ความชื่นชอบส่วนตัว และต้องการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนให้สำเร็จ
สภาพพื้นที่เลี้ยงโค
ทางฟาร์มค่อนข้างโชคดี เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งเหมาะสมกับการทำฟาร์มเป็นอย่างยิ่ง ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อยู่ติดกับคลองชลประทานที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยคลองส่งน้ำอยู่สูงกว่าพื้นที่ตั้งฟาร์ม จึงสามารถต่อน้ำเข้ามาใช้ภายในฟาร์ม และโรงเรือนเลี้ยงโคได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำ
ถือเป็นการประหยัดไฟฟ้าและพลังงาน แต่ถ้าเป็นก๊อกน้ำสูงๆ ที่ต้องใช้แรงดัน ทางฟาร์มจะใช้ “ตะบันน้ำ” ทำจากวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ซึ่งมีแรงดันเทียบเท่าการใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า ซึ่งระบบนี้จะใช้ได้กับพื้นที่ๆ เหมาะสมเท่านั้น วิธีนี้จะเห็นผลในระยะยาว คือ การลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้
การ ผลิต แก๊สชีวภาพ ไบโอแก๊สจากมูลโคใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตอาหารสัตว์
น้ำที่ใช้ล้างโรงเรือน และมูลโค จะไหลลงสู่บ่อหมัก เข้าสู่กระบวนการของระบบไบโอแก๊สแบบโคเวอร์ ลากูน (Cover Lagoon) ด้านล่างของบ่อจะเป็นพื้นดินคลุมปากบ่อด้วยพลาสติกพีอี ใช้ระยะเวลาในการหมักอย่างสมบูรณ์ประมาณ 80 วัน จะได้ก๊าซมีเทน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิงใช้กับเครื่องยนต์ที่ใช้ในการผสมอาหารสัตว์
น้ำที่ล้นออกจากบ่อหมักจะไหลลงสู่บ่อพักน้ำที่อยู่ติดกัน และปล่อยน้ำชลประทานมาผสมกับมูลโคที่ไหลต่อไป เป็นปุ๋ยแปลงหญ้าสำหรับใช้เลี้ยงโค ส่วนกากมูลจะนำไปต่อยอดโดยการนำไปเลี้ยงไส้เดือนนั่นเอง
ข้อดีของมูลไส้เดือน
“โดยปกติแล้วมูลโค และมูลไส้เดือน มีค่า NPK ที่ไม่มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ในทางเดินอาหารของไส้เดือนจะมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เมื่อไส้เดือนถ่ายมูลออกมา จุลินทรีย์เหล่านั้นก็จะออกมาด้วย ซึ่งเมื่อนำไปใช้กับพืช ก็จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากในมูลไส้เดือนมีสารเร่งการเจริญเติบโตของราก และยังมีโกรทฮอร์โมนที่ทำให้พืชโตเร็ว
นอกจากนี้ในมูลไส้เดือนยังมีสารไล่แมลง เกษตรกรมักจะนำมูลไส้เดือนไปแช่น้ำ แล้วนำไปฉีดพ่นพืชผัก นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมมูลไส้เดือนถึงมีราคาสูงกว่ามูลโค”คุณนเรศกล่าวเสริมถึงข้อดีของมูลไส้เดือน
การให้หญ้าโค
ปัจจุบันทางฟาร์มมีแม่โคประมาณ 30 กว่าแม่ และลูกโค 20 กว่าตัว รวมทั้งหมดประมาณ 60 กว่าตัวสำหรับพื้นที่ๆ ใช้ในการทำฟาร์มมีทั้งหมด 38 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สิ่งก่อสร้าง 8 ไร่ และพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับไว้ให้โคแทะเล็มจำนวน 30 ไร่ ซึ่งจะแบ่งเป็นแปลงย่อยประมาณ 20 แปลง
โดยทางฟาร์มจะเน้นปล่อยให้โคแทะเล็มหญ้าแปลงละ 2 วัน จากนั้นจะวนไปเรื่อยๆ เมื่อครบรอบ หญ้าจะมีอายุ 40 วัน หญ้าที่ปลูกมีทั้งหญ้าขน หญ้าสตาร์ และหญ้าแพงโกล่า รวมกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลาย
ข้อดีและข้อเสียของการทำรั้วไฟฟ้า
จุดเด่นของทางฟาร์ม คือ การนำรั้วไฟฟ้าเข้ามาใช้ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นต่อการทำปศุสัตว์เป็นอย่างมาก เพื่อจำกัดหรือแบ่งเขตไม่ให้สัตว์ออกนอกบริเวณเขตพื้นที่ๆ กำหนด สมัยก่อนอาจขุดคลอง หรือใช้ไม้มาทำเป็นรั้ว ต่อมามีการพัฒนาจนเกิดการนำลวดเข้ามาใช้ มีการนำลวดมาพันกันเป็นลวดหนาม แต่ก็จะมีข้อเสียตรงที่สัตว์อาจโดนรั้วขีดข่วนจนได้รับบาดเจ็บได้ หรือมีการนำลวดมาสานกันเป็นรั้วตาข่าย ซึ่งรั้วลักษณะนี้จะเคลื่อนย้ายค่อนข้างลำบาก
จากนั้นมีการพัฒนามาเรื่อยๆโดยหาวิธีการลดต้นทุนใช้ลวดน้อยที่สุด แต่ได้ผลดีสามารถป้องกันสัตว์ได้อย่างปลอดภัยที่สุด นั่นคือ การนำเอาระบบรั้วไฟฟ้าเข้ามาช่วย ซึ่งจะปลอดภัยกว่าการใช้รั้วลวดหนาม “การใช้รั้วไฟฟ้าในประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยเป็นแบบผลิต และประยุกต์ใช้กันเอง ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยรับรอง และประสิทธิภาพในการป้องกันสัตว์จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันหากสัตว์ หรือคน ไปสัมผัสกับเส้นลวดที่มีกระแสไฟฟ้าสูงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากไม่มีการตัดไฟ” อาจารย์พรวิวัฒน์กล่าวเสริม
สำหรับรั้วไฟฟ้า ทางฟาร์มจะนำไปใช้แบ่งเขตแปลงหญ้า โดยใช้ลวดทนสนิม สามารถใช้งานได้นาน เนื่องจากเคลือบด้วยสังกะสี+อลูมิเนียม 5% ติดตั้งเข้ากับเครื่องควบคุมไฟฟ้า ที่มีการเปลี่ยนไฟฟ้าจาก 220 โวลต์เป็น 6,000 โวลต์โดยกระแสไฟฟ้าจะมีความต่างศักย์เท่ากันทั้งหมด การทำงานของกระแสไฟฟ้าจะปล่อยเพียงเสี้ยววินาที และจะปล่อยทุกๆ 1.5 วินาที เพื่อให้สัตว์เกิดความสะดุ้ง และตกใจ เท่านั้น สัตว์จะเรียนรู้ และไม่เข้าใกล้รั้วกั้นดังกล่าว
ดังนั้นเกษตรกรสามารถมั่นใจได้ว่าไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงแน่นอน และที่สำคัญสามารถป้องกันขโมยได้ด้วย หากเกิดเหตุผิดปกติขึ้นกับกระแสไฟฟ้า เช่น ลวดถูกตัด กระแสไฟฟ้ารั่ว หรือมีกิ่งไม้ล้มทับ ระบบจะมีการแจ้งเตือนไปยังคนงานที่อยู่ในฟาร์ม หรือแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือเจ้าของฟาร์ม หรือผู้ดูแล ให้ทราบว่ามีกระแสไฟฟ้าผิดปกติไปจากเดิม และสามารถสั่งปิด-เปิดระบบผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือตรวจสอบการทำงานของระบบได้ตลอดเวลา แม้ว่าอยู่นอกสถานที่ก็ตาม
นอกจากนี้ยังสามารถสั่งงานผ่านรีโมทคอนโทรล โดยที่พนักงานไม่ต้องเสียเวลาในการเดินไปเดินมาหลายรอบ ในขณะที่ซ่อมแซม หรือหาจุดชำรุด ทำให้สามารถประหยัดแรงงาน โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ได้รับมาตรฐานจากประเทศนิวซีแลนด์ และถือเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การรับรอง ส่วนรั้วรอบฟาร์มซึ่งกั้นขอบเขตของฟาร์ม ใช้รั้วตาข่ายทนสนิม อายุใช้งานนานถึง 80 ปี นำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์เช่นกัน
คุณไชยเดช เทพไชย ผู้จัดการสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน
สำหรับการเลี้ยงโคของฟาร์มพฤกษะศรี ตลาดที่รองรับโคทางฟาร์มจะนำเข้าตลาดกลางโคเนื้อกำแพงแสนเป็นหลัก เนื่องจากทางฟาร์มเป็นฟาร์มเครือข่ายของสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน จึงนำโคเข้าร่วมการประมูลเพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมของทางสมาคมฯ
ด้านสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนมีจุดหมายเพื่อพัฒนาโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน ในขณะเดียวกันทางสมาคมก็ได้มีตลาดกลางเป็นของสมาคม โดยที่ทางสมาคมไม่ได้แสวงหากำไร แต่ในขณะเดียวกันสมาคมก็ต้องหารายได้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในสมาคม เช่น ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ในสมาคม เป็นต้น
จากที่มีตลาดกลางทำให้ทราบว่ากระแสของโคพันธุ์กำแพงแสน และโคที่มีเลือดผสมของพันธุ์ชาร์โรเล่ส์จะมีราคาสูงกว่าโคลูกผสมสายพันธุ์อื่น ด้านความต้องการของตลาดมีเพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้โคพันธุ์กำแพงแสนเริ่มมีการขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันทางสมาคมก็มีระบบการจัดการที่ดี และเกษตรกรก็ให้ความสนใจมาศึกษา นำความรู้ไปปรับใช้ในฟาร์มของตน
ทั้งนี้“กลไกของราคาจะเป็นตัวกำหนดปริมาณโค เมื่อไหร่ที่โคมีราคาดี เกษตรกรจะมีความต้องการเลี้ยงสูงขึ้น และก็ไม่มีใครอยากจะจำหน่ายโคออกจากมือ พอได้ระยะหนึ่งโคก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น เราก็จะมีโคเพิ่มเข้ามาในระบบ ถ้าไม่มีอะไรที่ทำให้โคเสียหาย กลไกราคาโคก็จะยังทรงตัว เกษตรกรจะสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าหากมีการแทรกแซงราคา หรือมีเนื้อนอกเข้ามา อาจทำให้ราคาเนื้อในประเทศเสียระบบ ราคาโคจะลดลง” คุณไชยเดช เทพไชย ผู้จัดการสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน ให้ข้อมูล
และกล่าวต่อว่า “ทางสมาคมฯได้จัดงานประมูลโคมีชีวิตจำนวน 18 ครั้ง ได้รับผลตอบรับกลับจากเกษตรกร และเจ้าของโรงแปรสภาพเนื้อโคดีขึ้นตามลำดับ และผู้สนใจติดต่อเข้ามาสอบถามข้อมูลโคที่นำเข้ามาประมูลอยู่เสมอ”
การจัดตั้งโครงการ Unseen Farm Tour
ส่วนความร่วมมือด้านอื่นๆ ทางฟาร์มมีการเปิดฟาร์มเป็นศูนย์การเรียนรู้ และเป็นฟาร์มต้นแบบ และร่วมพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน นอกจากนี้ทางฟาร์มยังมีโครงการร่วมกับทางสมาคม จัดตั้งโครงการ Unseen Farm Tour และมีโครงการฝึกอบรมหลายหลักสูตรคือ
- หลักสูตรการเลี้ยงโคเนื้อขั้นพื้นฐาน
- หลักสูตรการผสมเทียม
- หลักสูตรการจัดการสุขภาพโค และ
- หลักสูตรการอบรมการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเพิ่มมูลค่ามูลโค เป็นต้น
โดยมีเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ และอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้มีประสบการณ์การเลี้ยงโคของมหาวิทยาลัยฯ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ เพื่อหารายได้เข้าสู่สมาคม
“ในส่วนของการพัฒนา ศาสตราจารย์ปรารถนาจะพูดตลอดว่า เน้นการอยู่แบบพอเพียง ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นการทำอะไรที่ไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน ทุกอย่างที่ทำจึงเป็นไปในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไปตามช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะเป็น และไม่ใช่การหยุดพัฒนา” คุณนเรศกล่าว
การพัฒนาสายพันธุ์โค
“การพัฒนาพันธุ์โคสายพันธุ์ใดๆ ก็ตาม เกษตรกรต้องมีความแน่วแน่ และมั่นคง ในการพัฒนา เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ถ้าเกษตรกรบางรายไม่มีความมั่นคง ก็จะหลงในกระแสของสังคม จึงทำให้เกษตรกรไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องมีการตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และมั่นคง ส่วนเรื่องของการบริโภคเนื้อ ซึ่งตามที่ได้อยู่ในวงการโคเนื้อ ผู้บริโภคต่างชาติยอมรับโคเนื้อของ KU beef ว่าไม่แพ้เนื้อโคของชาติใดๆ และกลิ่นของเนื้อจะไม่เหมือนโคของชาติอื่นๆ ซึ่งจะมีเอกลักษณะเฉพาะของโคพื้นเมืองเรา
แต่สำหรับคนไทยเองมักจะมองว่าสินค้าจากต่างประเทศดีกว่าของในประเทศ จึงอยากให้ผู้บริโภคเปิดใจเนื้อจากเนื้อโค KU beef สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ ผู้บริโภคจะได้บริโภคเนื้อที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง” คุณนเรศฝากแง่คิดทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติม คุณนเรศ แสงพรมทิพย์ ผู้จัดการฟาร์ม เลขที่ 148 ม.6 ต.ทุ่งบัว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม