หลังจากพืชมหัศจรรย์ “แก่นตะวัน” เป็นที่รู้จักในนามพืชอาหารสุขภาพที่กำลังมาแรงแล้ว หลายคนจึงผันตัวเองเข้ามาเป็นผู้ปลูก เพราะเห็นว่ารายได้/ไร่หรือผลตอบแทนสูงกว่าพืชชนิดอื่น ซึ่งทำให้เกษตรกรบางรายที่เข้ามาปลูกแก่นตะวันยังขาดการศึกษาตลาดอย่างละเอียด ก่อนลงทุนจึงพบปัญหาตามมาหลายประการ อาทิ ไม่มีสถานที่เก็บผลผลิต ไม่มีผู้รับซื้อผลผลิตที่แน่นอน และผลผลิตมีอายุที่จำกัด เป็นต้น
ขณะที่ผู้ปลูกแก่นตะวันแล้วประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นผู้ปลูกและทำการตลาดเอง อย่าง คุณมาโนตร วิวัชจรัลวงศ์ แห่งไร่บ้านทุ่งแก่นตะวัน ตั้งอยู่เลขที่ 20/4 ม.6 ต.ทับหลวง อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งผันตัวเองจากผู้ปลูกพืชสมุนไพร ดีปลี และกล้วยไข่ บนเนื้อที่จำนวน 10 ไร่ ที่เน้นจำหน่ายผลผลิตในราคาเหมา 20 บาท ตลอดทั้งปี
กระทั่งได้รู้จักกับพืชหัวแก่นตะวันจากการแนะนำของคนรู้จัก ซึ่งเป็นผู้ซื้อแก่นตะวันมาทานแล้วเหลือเศษหัวชิ้นเล็กๆ จึงให้มาไว้ปลูกขยายพันธุ์ จากนั้นคุณมาโนตรจึงศึกษาหาข้อมูลเฉพาะของพืชแก่นตะวันอย่างจริงจัง จนพบว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ และจัดทำวิจัยเป็นผลงานไว้หลายมิติ ทั้งเรื่องสุขภาพ อาหารสัตว์ และพลังงานทดแทน
ทำให้คุณมาโนตรเกิดความเชื่อมั่นก่อนที่จะเริ่มซื้อหัวพันธุ์มาปลูกอย่างจริงจัง กระทั่งแก่นตะวันเริ่มให้ผลผลิต จึงแบ่งหัวสดส่วนหนึ่งไว้ปลูกขยายพันธุ์ต่อ ส่วนหัวสดที่เหลือจะแนะนำขายให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งในและนอกพื้นที่
สภาพพื้นที่ปลูกแก่นตะวัน
หลังจากเปิดตลาดจำหน่ายหัวสดมาได้ระยะหนึ่ง ผลปรากฏว่าลูกค้าเริ่มให้การตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผลผลิตภายในไร่ที่ปลูกไว้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้ตลอดทั้งปี คุณมาโนตรจึงไปรับซื้อหัวสดแก่นตะวันจากจังหวัดเพชรบูรณ์มาขายให้กับลูกค้า แต่กลับพบปัญหาด้านคุณภาพของผลผลิต
เนื่องจากแก่นตะวันที่รับมาส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่มีตาถี่ หัวช้ำง่าย และอายุของผลผลิตสั้น ทำให้เนื้อในฝ่อเร็ว พอขายไม่ทันผลผลิตจึงเสียหาย ไม่สามารถนำไปขายให้ลูกค้าได้อีก
เมื่อพบปัญหาดังกล่าวคุณมาโนตรจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ คือ เน้นปลูกเองทั้งหมด โดยจัดสรรแบ่งพื้นที่ปลูกภายใน 10 ไร่ เพื่อควบคุมทั้งคุณภาพและให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี พร้อมกับลงทุนสร้างห้องเย็นไว้เก็บผลผลิตรักษาความสด และจำหน่ายผลผลิตเองทั้งขายปลีก-ขายส่ง
การปลูกแก่นตะวัน
โดยคุณมาโนตรได้ทดลองนำแก่นตะวันสายพันธุ์ต่างๆ มาปลูกไว้ภายในแปลงเกือบ 10 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อต้องการดูว่าสายพันธุ์ไหนเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก ให้ผลผลิต/ไร่สูง และเป็นที่ต้องการของตลาด
สายพันธุ์แก่นตะวัน
ซึ่งพันธุ์ กข2 เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก เจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้ดี เข้ากับสภาพดิน อากาศ ในพื้นที่ได้ หัวไม่ค่อยมีตา กลิ่นไม่ฉุน ตลาดมีความต้องการสูง
ขณะที่พันธุ์ กข1 ผลผลิตมีตามาก กลิ่นฉุน พันธุ์ กข3 ผลผลิตหัวเล็ก และพันธุ์ กข4 ผู้บริโภคไม่ค่อยนิยม ด้วยเหตุนี้ทางไร่บ้านทุ่งแก่นตะวันจึงเน้นปลูกแก่นตะวันพันธุ์ กข2 เป็นหลัก
ซึ่งขั้นตอนการปลูกไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อน เริ่มจากเพาะต้นกล้าแล้วนำไปลงปลูกในแปลงที่เตรียมดินไว้แล้ว ปลูกในระยะ 50×70 เซนติเมตร หรือประมาณ 4,000 ต้น/ไร่ หรือบางพื้นที่อาจปลูกถึง 5,000 ตัน/ไร่ แต่คุณมาโนตรบอกว่าผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่มีหัวเล็ก เพราะการปลูกมีระยะถี่เกินไป
การให้ปุ๋ยและน้ำแก่นตะวัน
ส่วนการดูแลแก่นตะวันให้ได้ผลผลิต/ไร่สูง และมีคุณภาพ คือ ช่วงอนุบาล หรือลงแปลงปลูก อายุได้ 20-30 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 เพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้ต้นและใบเขียวสมบูรณ์ ขณะที่การให้น้ำจะดูตามฤดูกาลเป็นหลัก ถ้าปลูกตรงกับฤดูฝนการให้น้ำจะห่าง หรือแทบไม่ต้องให้เลย แต่ต้องคอยระวังเรื่องน้ำแช่ขังอาจทำให้รากเน่า และหัวไม่โตตามไซส์ที่ต้องการ
หากปลูกตรงกับฤดูร้อนและฤดูหนาวจะให้น้ำตั้งแต่ช่วงเจริญเติบโตไปจนถึงอายุได้ 60 วัน จึงเริ่มเว้นระยะให้น้ำน้อยลง เพราะเป็นช่วงแก่นตะวันเริ่มลงหัว ส่วนเรื่องฮอร์โมนหรืออาหารเสริมทางใบ ยาป้องกันหรือกำจัดแมลงไม่ได้ใช้ เพราะไม่มีโรคหรือแมลงรบกวน ทำให้แก่นตะวันเป็นพืชที่ปลอดสาร ดีต่อสุขภาพ
เพื่อเป็นการจัดสรรให้ผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี และช่วยลดความเสี่ยงด้านกระจายผลผลิต ทำให้ทางไร่บ้านทุ่งแก่นตะวันเลือกปลูกไม่เกิน 1 ไร่/สัปดาห์/รุ่นเท่านั้น เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลผลิต/ไร่สูง ไม่ต่ำกว่า 4-8 ตัน/ไร่ ซึ่งปริมาณผลผลิต/ไร่ที่สูง เป็นทั้งผลดีและผลเสียในเวลาเดียวกัน เพราะถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตผู้ปลูกต้องมีตลาดรองรับที่แน่นอน หรือขายผลผลิตให้ทันก่อนจะฝ่อเสียหาย และที่สำคัญต้องมี “ห้องเย็น” ไว้เก็บผลผลิต
ด้านตลาดแก่นตะวัน
เนื่องจากตลาดยังนิยมบริโภคหัวสดอยู่ ดังนั้นการลงทุนห้องเย็นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก คุณมาโนตรจึงยอมลงทุนสร้างห้องเย็นราคาหลักล้านบาท มีความจุไม่ต่ำกว่า 10 ตัน ไว้รองรับผลผลิตภายในไร่ของตัวเอง “แก่นตะวันเป็นพืชตัวใหม่ที่ใครๆ ก็ปลูกไว้บริโภคเองได้
แต่ถ้าปลูกในเชิงธุรกิจ ปัจจัยสำคัญ คือ ต้องมีห้องเย็น เพราะผลผลิตมีช่วงเวลาจำกัด เช่น ปกติอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 120 วัน หากเป็นฤดูหนาวจะเหลือแค่ 90 วัน ก็ต้องเก็บผลผลิต และต้องขายให้หมดภายใน 15 วัน ไม่งั้นผลผลิตจะเริ่มหัวฝ่อ ซึ่งเท่ากับว่าปลูก 1 งาน ได้ผลผลิต 1,500 กิโลกรัม หรือ 6,000 กก./ไร่ จะต้องระบายหัวสดออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม/วัน ถ้าระบายไม่ทันก็จบเหมือนกัน แต่ถ้าจะลงทุนสร้างห้องเย็นไว้เพื่อรองรับตลาดอย่าเสี่ยง!! เพราะค่าไฟฟ้ากินหมด” คุณมาโนตรให้ความเห็น
การจำหน่ายแก่นตะวัน
คุณมาโนตรเผยเทคนิคการตลาดว่า ได้เริ่มจากการแนะนำผลผลิตให้กับลูกค้า โดยการออกบูธเปิดตัวที่งานเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสน ใช้สรรพคุณชั้นเยี่ยมของแก่นตะวันเป็นจุดขาย ได้แก่ ช่วยควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด ลดไขมันในเลือด ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ ลดความเสี่ยงการเป็นโรคความดันโลหิตสูง กระตุ้นการหลั่งของน้ำดี ลดการจุกเสียดแน่นท้อง ป้องกันมะเร็งลำไส้ ลดกลิ่นปากจากเชื้อแบคทีเรีย ช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย และสร้างภูมิคุ้มกันโรค ฯลฯ
หลังจากเปิดบูธแนะนำให้กลุ่มลูกค้ารู้จักอย่างแพร่หลาย ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าหลักมารับซื้อผลผลิตถึงสวนเพื่อนำไปจำหน่ายปลีกในตลาดกรุงเทพฯ ปริมณฑล และขายปลีกให้กับลูกค้าในต่างจังหวัด ซึ่งจะจัดส่งผลผลิตให้ทางพัสดุไปรษณีย์ รถตู้ รถทัวร์ เป็นต้น
“หลายคนเข้ามาปลูก แก่นตะวัน เพราะราคาเป็นแรงจูงใจ คิดว่าปลูกหลายๆ ไร่ จะมีรายได้ถึงหลักล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงทำได้ยาก เพราะไม่มีคนกลางมารับซื้อผลผลิตแน่นอน เหมือนกับข้าวเปลือกที่จะขายผลผลิตเมื่อไหร่ก็ได้ แก่นตะวัน ต้องเริ่มปลูกจากพื้นที่น้อยๆ ก่อน แล้วค่อยสร้างฐานตลาดของตัวเองขึ้น จะช่วยให้มีรายได้มาบริหารจัดการ แต่ถ้าปลูกเพื่อรอให้ลูกค้ามาซื้อนั้นไม่มีคนมาซื้อแน่! ผลผลิตก็จะเสียหาย ผู้ปลูกก็อาจเจ๊งได้” คุณมาโนตรแนะนำ
ขณะที่ผลผลิตภายในไร่ของคุณมาโนตรไม่สามารถกระจายให้ตลาดหลักในกรุงเทพฯ ได้ จึงส่งผลให้ผลผลิตค้างสต๊อกจำนวนมาก รายได้ก็ลดลง จากเดิมที่เคยขายผลผลิตให้ตลาดกรุงเทพฯ ได้มากกว่า 1,000 กิโลกรัม/วัน แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่สามารถขายผลผลิตให้กับลูกค้าในต่างจังหวัดได้ และมียอดสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ จึงช่วยให้ผลผลิตไม่เสียหาย
ด้านอนาคต แก่นตะวัน
ในอนาคตหากความต้องการ แก่นตะวัน มีมากขึ้น กระทั่งนำไปผลิตอาหารสัตว์ และพลังงาน อาจทำให้เกษตรกรสามารถปลูกได้โดยไม่จำกัดจำนวน เพราะมีแหล่งรับซื้อผลผลิตแน่นอน แม้ว่าราคา/กก.อาจไม่สูงเหมือนในปัจจุบันนี้ แต่คุณมาโนตรก็ทิ้งท้ายว่า ราคา 10 บาท/กก. เกษตรกรก็อยู่ได้ เพราะเป็นพืชที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี และให้ผลผลิต/ไร่สูงอยู่แล้ว ซึ่งเปรียบเทียบรายได้กับพืชอีกหลายตัว ยังไง แก่นตะวัน ก็มีอนาคตแน่นอน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณมาโนตร วิวัชจรัลวงศ์ แห่งไร่บ้านทุ่งแก่นตะวัน 20/4 ม.6 ต.ทับหลวง อ.เมือง จ.นครปฐม