ทั้งนี้ภัยแล้งที่เกิดอย่างต่อเนื่องยังมีแนวโน้มที่ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย และในระดับภูมิภาค จะต้องประสบกับวิกฤติภัยแล้ง ท่ามกลางวิกฤตสภาวะฝนตกน้อยลง ปัญหาการใช้น้ำสำหรับผู้บริโภคและการเกษตรจึงถือได้ว่ามีความขาดแคลนในเรื่องการใช้น้ำเกิดขึ้น
ส่งผลให้เกิดนโยบายจากภาครัฐบาล รณรงค์ให้เกษตรกร “งดปลูกข้าวนาปรัง” อีกทั้งยังส่งเสริมให้ปลูกพืช ใช้น้ำน้อย ด้วยนวัตกรรมทางเกษตรใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับภัยแล้ง เพื่อร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐบาลดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม บริษัท อีส เวสท์ ซีด จำกัด ในฐานะภาคเอกชน ที่มีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด
จึงได้จับมือร่วมกับพันธมิตร “คณะเกษตรศาสตร์” มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตัวแทนนักวิชาการเกษตร ตลอดจนเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อจัดทำแปลงสาธิตการส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ใช้น้ำน้อย เช่น การปลูกพริก และมะเขือเทศ เป็นต้น เพื่อแนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรได้คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับวิกฤตสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
การปลูกพืชผักอื่นๆ
บริษัท อีส เวสท์ ซีด จำกัด East West Seed (Thailand) Company Limited ผู้นำด้านการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ และผู้ผลิตพืชผักเมืองร้อน Tropical Vegetable Seeds ในระดับภูมิภาคอาเซียน ได้ตระหนักถึงวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ต่อเนื่องอย่างชัดเจน
ปลูกพืชน้ำน้อย
ทางบริษัท อีส เวสท์ ซีด จำกัด หรือ “ศรแดง” ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กับเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศ และพริก อีกทั้งยังมี รศ.ดร.สุชีดา เตชะวงศ์เสถียร อาจารย์ประจำสาขาพืชสวนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้ร่วมเสวนาเรื่อง “การปลูกผักอย่างไรในวิกฤตแห้งแล้ง” ในครั้งนี้ด้วย
“น้ำ” เป็นปัจจัยหลักสำหรับการเพาะปลูกพืช การปลูกพืชที่มีน้ำเพียงพอ ธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศเหมาะสม และมีการสังเคราะห์แสง สร้างอาหารให้มีผลผลิตที่มนุษย์ต้องการได้อย่างเต็มที่ การปลูกพืชจึงต้องให้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และเหมาะสมตามระยะเวลาที่ต้องการ สภาพการปลูกพืชที่อาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลเพียงอย่างเดียวอาจมีโอกาสที่พืชขาดน้ำในระยะใดระยะหนึ่งได้มาก เช่น เมื่อประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง จนพืชขาดน้ำรุนแรง จนกระทั่งตายได้ ดังนั้นการจัดการให้พืชที่ปลูกอยู่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และเหมาะสม ต้องมีวิธีการให้น้ำกับต้นพืชอย่างถูกวิธี และเหมาะสมในสภาพพื้นที่ที่เกิดความแห้งแล้งของแหล่งน้ำ
ล่าสุดสถานการณ์ภัยแล้งได้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานมีมากถึง 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สกลนคร หนองคาย นครพนม อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ มุกดาหาร อำนาจเจริญ เลย สุรินทร์ อุบลราชธานี และขอนแก่น
พื้นที่ประสบภัยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว รองลงมาเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ และพืชสวน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับปัญหาภัยแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จำกัดการใช้น้ำ และแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาข้าว เป็นการลดความเสี่ยงของเกษตรกรที่ปลูกข้าว และไม่มีน้ำเพื่อให้ข้าวออกผลผลิต อีกทั้งการปลูกพืชตัวอื่นทดแทนสามารถสร้างรายได้ระหว่างรอน้ำจากการทำนาได้อีกด้วย
การให้น้ำระบบน้ำหยด
รศ.ดร.สุชีดา ได้เผยว่า การปลูกพืชโดยใช้พลาสติกคลุมดิน และการใช้ระบบน้ำหยด จะมีข้อดี คือ จะช่วยป้องกันหญ้าขึ้นในแปลง ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และลดการระเหยของน้ำ การให้น้ำโดยการใช้ระบบน้ำหยด ถ้าเปรียบเทียบกับการให้น้ำตามร่องแล้วจะประหยัดได้ถึง 10 เท่า ต้นไม้ 1 ต้น ที่โตแล้วจะต้องการน้ำประมาณ 2 ลิตร/วัน
แต่ถ้าใช้ระบบน้ำหยดจะสามารถใช้น้ำ 2 ลิตร กับต้นไม้ 20 ต้น เลยทีเดียว ถือว่าเป็นการประหยัด และลดต้นทุนการผลิตพืชให้กับเกษตรกรมิใช่น้อย เพราะการลงทุนทำระบบน้ำหยด 1 ครั้ง สามารถใช้ได้นานหลายปี ไม่ต้องลงทุนตลอด จนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชในหน้าแล้ง หรือพื้นที่ที่มีน้ำในการทำเกษตรน้อยได้อย่างยั่งยืน
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
ในฤดูแล้ง โรคและแมลงมักจะระบาดมากกว่าฤดูอื่นๆ การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืช 3 รอบ/ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า พื้นที่ที่ปลูกอาจไม่มีการพักหน้าดินเลย ทำให้กลายเป็นการเกิดการสะสมของโรคและแมลงอยู่ในบริเวณพื้นที่นั้น ดังนั้นการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชก็มีส่วนสำคัญ เพื่อให้ต้านทานต่อโรคและแมลง
ทางบริษัท อีส เวสท์ ซีด จำกัด ในนามเมล็ดพันธุ์ ตราศรแดง จึงต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์พืชเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และพันธุ์ที่ได้จะต้องสร้างผลผลิตให้กับเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้น้อยที่สุด จนสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีกำไร และยืนได้ด้วยตนเองอย่างพอเพียง
“การพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ต้านทานต่อโรคและแมลง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้สารเคมีเพื่อนำมากำจัดโรคและแมลง ลดความเสียหายของโรคไวรัสต่างๆ และสามารถนำไปปลูกได้หลายพื้นที่ อีกทั้งยังต้องทนต่ออากาศร้อน สามารถปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง เพราะเชื่อว่าเรื่องของน้ำก็เป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งเช่นกัน และเมื่อเกษตรกรมีพื้นที่จำกัด แต่ต้องการผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีในเรื่องของสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนั้นยังต้องพึ่งในเรื่องของการจัดการระบบน้ำ การใช้สแลนเพื่ออำพรางแสงแดดที่ส่องเข้ามาภายในแปลงปลูกมากจนเกินไป ทำให้ต้นพืชที่ปลูกอาจไหม้เกิดความเสียหายได้ เมื่อปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งไปแล้วก็สามารถนำพืชตัวอื่นมาปลูกในแปลงเดิม เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรต่อไป โดยที่ปัญหาโรคและแมลงจะน้อยลง เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี” คุณอิสระ วงค์อินทร์ กล่าว
การพัฒนาพันธุ์ผัก
เมล็ดพันธุ์พืชเป็นธุรกิจที่อยู่คู่ประเทศเกษตรกรรม ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมมีแนวโน้มที่จะลดลง เช่นเดียวกับจำนวนเกษตรกร เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำการเกษตร ดังนั้นความท้าทายของบริษัทผู้ผลิต ก็คือ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ การต้านทานโรค และการให้ผลผลิตเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตในช่วงที่สินค้ามีน้อย แต่ความต้องการสูง ส่งผลให้ราคาขายสูงตาม
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาจึงมุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์ผัก โดยมุ่งสู่กลุ่มลูกค้า 3 กลุ่ม คือ ผู้บริโภค เกษตรกร และอุตสาหกรรมแปรรูป
กลุ่มผู้บริโภคต้องการพืชผักที่หลากหลาย มีคุณภาพ เหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก คุณภาพดี ทั้งรสชาติ และสีสัน ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในขณะที่เกษตรกรต้องการพืชผักที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด และต้านทานศัตรูพืช ส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปต้องการผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของตลาด มีความสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตสูง และต้านทานแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ที่เข้ามาทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพตามความต้องการ
คุณสำเภา โกสมไสย์ เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศ
คุณสำเภา โกสมไสย์ เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศ โดยใช้เมล็ดพันธุ์ ตราศรแดง ในพื้นที่ 1 ไร่ สายพันธุ์ที่ปลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ เพชรชมพู และเทพประทาน ซึ่ง 2 สายพันธุ์ นี้ เป็นที่ต้องการของตลาด และมีความต้านทานโรคและแมลงเป็นอย่างดี
ลักษณะเด่นของมะเขือเทศทั้ง 2 สายพันธุ์
1.มะเขือเทศสีดาลูกผสม เพชรชมพู
ลักษณะเด่น คือ ต้นแข็งแรง ความสูงของต้นปานกลาง ให้ผลผลิตดก ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนได้เป็นอย่างดี และสามารถติดผลได้ แม้อุณหภูมิสูง มีความทนทานต่อโรคเหี่ยวเขียวได้ดี ผลดิบ มีสีขาว ผลสุกจะมีสีชมพู น้ำหนักผลเฉลี่ย 25-28 กรัม ผลของมะเขือเทศชนิดนี้จะมีลักษณะเนื้อหนา แข็ง ทนทานต่อการขนส่งทางไกลได้ดี อายุการเก็บเกี่ยว 65-70 วัน หลังย้ายกล้า
2.มะเขือเทศสีดาลูกผสม เทพประทาน
ลักษณะเด่น เป็นพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคไวรัส ใบหงิกเหลือง ที่มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ รวมทั้งต้านทานโรคเหี่ยวเขียวได้ดี ต้นมีความแข็งแรง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน ทรงผลยาวรี มีสีชมพู น้ำหนักผลเฉลี่ย 25-30 กรัม ผลมีเนื้อแน่น แข็ง ไม่แตกง่าย เมื่อปลูกในฤดูฝน ผลทนทานต่อการขนส่งทางไกล อายุการเก็บเกี่ยว 65-70 วัน หลังย้ายกล้า
มะเขือเทศทั้ง 2 สายพันธุ์ นิยมนำมาบริโภคผลสด ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและส้มตำเป็นหลัก เพราะคุณลักษณะมะเขือเทศสีดาจะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว และมีน้ำเป็นองค์ประกอบมาก จึงทำให้ตำส้มตำอร่อย ผู้บริโภคนิยมรับประทาน
การปลูกมะเขือเทศโดยใช้น้ำน้อย
1.การเตรียมกล้า จะมีการเพาะ 2 วิธี คือ การเพาะด้วยกระบะ และการเพาะด้วยแปลงเพาะ แต่ที่นี่จะใช้การเพาะด้วยกระบะ โดยการนำดินที่เพาะมาใส่ในกระบะให้เต็มหลุมจำนวน 104 หลุม จากนั้นนำเมล็ดมะเขือเทศมาแช่ในน้ำยากันเชื้อราประมาณ 30 นาที แล้วนำมาหยอดลงกระบะเพาะที่เตรียมไว้ หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศเสร็จ รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ 20 วัน จึงพร้อมย้ายลงมาปลูกในแปลง
เตรียมดินปลูก ควรไถพรวนปรับปรุงหน้าดินประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วปรับให้เรียบสม่ำเสมอกัน จากนั้นยกแปลงให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมปลูกห่างกัน 40-50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยชีวภาพ ผสมด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15
3.คลุมพลาสติกและติดตั้งระบบน้ำหยด ควรมีการให้ปุ๋ยไปพร้อมระบบน้ำ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากระบบน้ำหยดที่มีอยู่แล้ว และเป็นการประหยัดแรงงานในการให้ปุ๋ยอีกด้วย ก่อนปูพลาสติกนั้นเกษตรกรจะต้องทำการโรยท่อน้ำหยดก่อนปูพลาสติกคลุมท่อน้ำหยดอีกที
การปลูกพืชโดยใช้พลาสติกคลุมดิน มีข้อดี คือ จะช่วยป้องกันหญ้าขึ้นในแปลง ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช พลาสติก 1 ม้วน จะมีความยาว 400 เมตร 1 ไร่ จะใช้ประมาณ 3 ม้วนครึ่ง
4.นำกล้าที่เพาะลงปลูกในแปลง ต้องเลือกต้นกล้าที่มีลักษณะดี มียอด และปราศจากโรคและแมลงรบกวน ควรย้ายปลูกในเวลาที่อากาศไม่ร้อน เมื่อย้ายต้นกล้าลงแปลงเสร็จให้รีบรดน้ำตามทันที จะทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น และเปอร์เซ็นต์การตายจะน้อยลง
เมื่อลงปลูกมะเขือเทศไปแล้ว 40-50 วัน จะเริ่มมีดอกขึ้นมาให้เห็นเป็นสีเหลือง จากนั้นอีกประมาณ 10 วัน ก็จะเริ่มมีผลผลิตรุ่นแรกให้เก็บจำหน่ายกันได้บ้างแล้ว
ข้อดีของการทำระบบน้ำหยด
เมื่อพูดถึง “ระบบน้ำหยด” ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย ซึ่งระบบนี้ได้รับความนิยมในต่างประเทศมานานแล้ว โดยเฉพาะในประเทศอิสราเอล
ระบบน้ำหยดเป็นเทคโนโลยีการชลประทานวิธีหนึ่งในหลายวิธี เป็นการให้น้ำแก่พืช โดยการส่งน้ำผ่านระบบท่อ และปล่อยน้ำออกทางหัวน้ำหยด ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นพืช น้ำจะหยุดซึมลงมาบริเวณรากช้าๆ สม่ำเสมอ ในอัตรา 4-20 ลิตร ต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระบบชนิดพืช ขนาดพื้นที่ และชนิดของดิน ทำให้ดินมีความชื้นคงที่ในระดับที่พืชต้องการและเหมาะสมตลอดเวลา ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดีของการทำระบบน้ำหยดภายในแปลงพืช
1.ประหยัดน้ำมากกว่าทุกๆ วิธี ไม่ว่ารดน้ำด้วยมือ หรือการใช้สปริงเกลอร์ และยังช่วยแก้ปัญหาภาวะวิกฤตการขาดแคลนน้ำในบางฤดูกาล ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
2.ประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการ คือ ลงทุนครั้งเดียวแต่ให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว การติดตั้งอุปกรณ์ไม่ยุ่งยาก ติดตั้งครั้งเดียวแต่สามารถใช้งานได้ตลอด
3.ใช้ได้กับพื้นที่ทุกประเภท ไม่ว่าดินร่วน ดินทราย หรือดินเหนียว
4.สามารถใช้กับพืชประเภทต่างๆ ได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นพืชที่ต้องการน้ำขัง
5.เหมาะสำหรับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ต้องการใช้น้ำอย่างประหยัด
6.ประหยัดเวลาทำงาน ไม่ต้องคอยเฝ้า ใช้เวลาไปทำงานอย่างอื่นได้เต็มที่ ไปพร้อมๆ กับการใช้น้ำ
7.ลดการระบาดของศัตรูพืชบางชนิดได้ดี เช่น โรคพืช และวัชพืช
8.ให้ประสิทธิภาพในการใช้น้ำสูงสุด ซึ่งทำให้มีการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยน้ำท่วมขัง และการใช้สปริงเกลอร์
9.ได้ผลผลิตสูงกว่าการใช้ระบบชลประทานแบบอื่น ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็ประหยัดต้นทุนน้ำ ทำให้มีกำไรสูงกว่า
10.ระบบน้ำหยดสามารถให้ปุ๋ยและสารเคมีอื่นละลายไปกับน้ำพร้อมๆ กัน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาใส่ปุ๋ย พ่นยาอีก
สภาพพื้นที่ปลูกมะเขือเทศ
มะเขือเทศจัดเป็นพืชตระกูลพริก มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจอีกพืชหนึ่ง มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในรูปผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ามะเขือเทศมีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณอเมริกาใต้ ส่วนจะเข้าสู่ประเทศเมื่อไหร่นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในปัจจุบันมะเขือเทศมีมากกว่า 1,000 ชนิด มีตั้งแต่ผลขนาดใหญ่จนถึงผลเล็กจิ๋ว
มะเขือเทศส่วนใหญ่จะได้รับการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอบอุ่น เพราะฉะนั้นเมื่อนำพันธุ์มะเขือเทศเข้ามาปลูกในบ้านเราจึงปลูกได้ดี ให้ผลผลิตสูงเฉพาะในฤดูหนาว ส่วนฤดูหนาวและฤดูฝนมะเขือเทศจะไม่ค่อยเจริญเติบโต ให้ผลผลิตต่ำ มักมีโรคและแมลงรบกวน และปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด
แต่ดินที่เหมาะสมที่สุด คือ ดินร่วน ที่มีอินทรียวัตถุสูง และระบายน้ำได้ดี อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 18-24 องศาเซลเซียส ซึ่งตรงกับฤดูหนาวของประเทศไทย ส่วนในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนมักพบปัญหาอุณหภูมิสูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ทำให้ดอกมะเขือเทศร่วง
แต่การปลูกมะเขือเทศในหน้าร้อนควรมีการใช้เทคโนโลยี อย่าง การใช้สแลนเข้ามาช่วยอำพรางแสง และหาพันธุ์มะเขือเทศที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้เป็นอย่างดีมาปลูก และต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาเป็นอย่างดี
รายได้จากผลผลิตมะเขือเทศ
คุณสำเภากล่าวว่า ต้นทุนการผลิตมะเขือเทศในช่วงแรกลงทุนไปประมาณ 30,000 บาท ต่อไร่ เพราะต้องมีการวางระบบน้ำ ไถพรวนดิน ปูผ้าพลาสติก ค่าปุ๋ย ค่าสแลน หลังจากนั้นเมื่อมีการปลูกในรอบที่ 2 การลงทุนก็จะน้อยลงเหลือประมาณ 7,000-8,000 บาท มีค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย
นอกนั้นที่เป็นระบบน้ำ พลาสติกคลุมดิน และสแลน สามารถใช้ได้ตลอดอายุการใช้งาน จึงค่อยเปลี่ยนหรือเพิ่มใหม่หลังจากมีการเสียหาย ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้เป็นจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตจะแตกต่างกันในแต่ละฤดู ในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาในเรื่องโรคและแมลงมาก ทำให้ต้นทุนในเรื่องของสารป้องกันกำจัดทั้งสารเคมีและสารชีวภาพสูงกว่าฤดูอื่น นอกนั้นจะเป็นต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน และค่าปุ๋ยเคมี
การนำเอาหลักการเกษตรที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศแบบการทำ GAP มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการผลิตของเกษตรกร พบว่าต้นทุนการใช้สารเคมีน้อยลง ผลผลิตไม่พบสารพิษตกค้างเลย ในด้านรายได้ที่เกษตรกรได้รับ คุณสำเภาจะเก็บผลผลิตภายใน 3 เดือน 1 ปี จะปลูกมะเขือเทศอยู่ 3 รอบ ภายใน 1 รอบ จะได้รายได้อยู่ประมาณ 7,000-8,000 บาท ต่อไร่ ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลผลิต
ในบางปีถ้าสามารถดูแลรักษาให้ได้ผลผลิตที่ดีและตรงช่วงที่ผลผลิตราคามะเขือเทศสูงถึงกิโลกรัมละ 40-45 บาท จะส่งผลในเรื่องของรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกถึง 100,000 บาท ต่อไร่ เลยทีเดียว แต่ในปัจจุบันราคามะเขือเทศจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 18-20 บาท ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้ให้คุณสำเภาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างพอเพียง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นยังเป็นแบบอย่างให้กับผู้ปลูกมะเขือเทศรายอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างได้อีกด้วย
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจการทำเกษตรแบบใช้น้ำน้อย โดยการใช้ระบบน้ำหยด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสำเภา โกสมไสย์ 23 ม.3 บ้านไคร่นุ่น ต.กุดขอนแก่น อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น 40150 โทร.08-2315-2571
คุณสำลี จันทร์โสดา เกษตรกรผู้ปลูกพริกและปลูกมะละกอเสริม
มาต่อกับเกษตรกรอีกหนึ่งท่าน คุณสำลี จันทร์โสดา เกษตรกรผู้ปลูกพริกและปลูกมะละกอเสริม โดยใช้พื้นที่ภายใน 1 ไร่ ได้อย่างคุ้มค่า และสามารถมีรายได้ได้หลายช่องทาง ระหว่างรอผลผลิตพืชตัวหนึ่งก็ยังมีพืชอีกตัวหนึ่งสร้างรายได้หมุนเวียนได้อยู่ตลอด
คุณสำลีเล่าว่า เมื่อก่อนตนปลูกแตงร้านส่งลูกเรียน เพราะแตงร้านสามารถสร้างรายได้ ภายใน 1 เดือน ก็จะมีเงินส่งให้ลูก พอลูกเรียนจบตนจึงเปลี่ยนมาปลูกพริกแทน การปลูกแตงร้านจะให้ผลผลิตที่เร็วกว่าพืชชนิดอื่น เก็บผลผลิตทุกเดือน ทำให้เหนื่อยล้า พอหมดภาระจากลูกจึงมาปลูกพริกแทน คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับพริก
ซึ่งพันธุ์พริกนั้นมีมากมายหลายชนิดที่ใช้ในครัวไทย สำหรับอาหารแต่ละมื้อมีครอบครัวคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการน้ำปลาพริกมะนาว และหลายคนบอกว่าความเผ็ดของพริกจะช่วยทำให้เจริญอาหาร
ลักษณะเด่นของพริกขี้หนู
พริกที่นำมาปลูก คือ พันธุ์ซุปเปอร์ฮอท พริกขี้หนูพันธุ์ซุปเปอร์ฮอท ตราศรแดง มีลักษณะต้นสูงใหญ่ แตกแขนงดี ขนาดผลยาว 5-8 เซนติเมตร ติดผลดก ทนทานต่อโรค ผลดิบมีสีเขียว ถึงเขียวเข้ม ผลสุกมีสีแดง ถึงแดงเข้ม
เมล็ดพันธุ์พริกขี้หนู 1 กรัม จะมีประมาณ 200-300 เมล็ด เมล็ดพันธุ์ลูกผสม จะใช้วิธีเคลือบสารไทแรมเพื่อป้องกันโรคเมล็ดเน่า สามารถควบคุมโรคได้นานถึง 15-20 วัน แต่ถ้าไม่ได้เคลือบสารกันเชื้อราก่อน เพาะเมล็ดควรแช่น้ำอุ่นนานประมาณ 20 นาที เพื่อลดการติดเชื้อรา แล้วจึงนำไปหยอดหลุมเพื่อปลูกต่อไป
พริกขี้หนูพันธุ์ซุปเปอร์ฮอท 50 กรัม จะสามารถเพาะปลูกพริกได้ประมาณ 1 ไร่ หรือประมาณ 5,000 ต้น “เมล็ดพันธุ์พริกซุปเปอร์ฮอท ตราศรแดง 1 กระป๋อง ราคา 850 บาท สามารถเพาะปลูกภายในแปลง 1 ไร่ และสามารถเพาะขายเพื่อนบ้านได้อีก เพราะเป็นพันธุ์พริกที่มีเกษตรกรนิยมปลูกกันมาก” คุณสำลีให้ความเห็น
วิธีการปลูกและการดูแลรักษา
-เริ่มเพาะต้นกล้าพริก จะมีลักษณะคล้ายกับการเพาะต้นมะเขือเทศ มีทั้งการเพาะในกระบะพลาสติก และเพาะต้นกล้าในแปลงปลูก โดยมีตาข่ายพรางแสง เมื่อเพาะเมล็ดจนมีต้นกล้างอกออกมาได้ประมาณ 1 เดือน จึงสามารถนำมาปลูกลงแปลงปลูกที่เตรียมไว้ได้
-การปลูก ควรยกร่องแปลงสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 40-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแปลง 1.5 เมตร 1 ไร่ สามารถปลูกพริกได้ประมาณ 5,000 ต้น จากนั้นเลือกต้นกล้าที่เพาะได้ 1 เดือน แล้วนำลงมาปลูกในแปลง ควรเลือกต้นพริกที่มีลำต้นแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงติดมา เพื่อไม่ให้มาระบาดภายในแปลงพริก ควรย้ายต้นกล้าพริกไปปลูกในเวลาเย็น จากนั้นต้องรดน้ำทันที เพื่อให้ต้นพริกฟื้นตัวได้เร็ว และมีความเสี่ยงในอัตราการเจริญเติบโตมากขึ้น
-ปุ๋ย ควรใส่หลังจากปลูกไปแล้ว 10 วัน สูตรบำรุงต้นใช้ 15-15-15 สูตรบำรุงดอก ผล ใช้ 16-16-16 เพื่อลดปริมาณปุ๋ยเคมี ควรใช้ผสมกับปุ๋ยหมัก รวมทั้งปุ๋ยคอกแห้ง
-น้ำ จะใช้เป็นระบบน้ำหยดเหมือนการปลูกมะเขือเทศ เพื่อเป็นการประหยัดแรงงานในการรดน้ำในแต่ละวัน และเป็นการประหยัดทรัพยากรน้ำ ในขณะที่เกิดวิกฤตการแห้งแล้งและในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำน้อย หรือต้องใช้น้ำอย่างมีขอบเขต
ด้านการตลาดและจำหน่ายผลผลิตพริก
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 5-6 ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตของพริกขี้หนูซุปเปอร์ฮอทได้ และให้ผลผลิตประมาณ 3-4 ตัน ต่อไร่ ด้านราคาถือว่าดีกว่าพริกพันธุ์พื้นเมือง เพราะคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อโดยตรงที่สวน ราคาที่คุณสำลีขายได้ในช่วงนี้อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 45 บาท
การเก็บผลผลิตของพริกจะเว้นไป 3 วัน จึงเริ่มเก็บพริกอีกครั้ง เพื่อให้พริกมีสีแดงเต็มที่ ในแต่ละครั้งที่เก็บจะสามารถเก็บได้ประมาณ 10-25 ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม ดังนั้นรายได้ในแต่ละปีจึงพุ่งยอดเป็นหลัก 100,000 บาท ถ้าช่วงไหนพริกราคาดี ปีนั้นก็จะมีรายได้เข้ากระเป๋ามากขึ้น ทำให้สามารถเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้อย่างพอเพียง
ท่านผู้อ่านหรือเกษตรกรท่านใดสนใจการปลูกพริกให้ได้ผลผลิตดี ลดต้นทุนการผลิต และใช้น้ำน้อย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสำลี จันทร์โสดา 78 ม.8 บ้านโนนสำราญ ต.กุดขอนแก่น อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น 40150 โทร.08-2108-0017